‘จินตนาการ’ สัมพันธ์กับ ‘ความรัก’
เดี๋ยวนี้ ‘ความหมาย’ ของความรัก กินความกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในแง่หนึ่งความรักสัมพันธ์กับจินตนาการอยู่ไม่มากก็น้อย ถ้าเราพูดถึงความรัก เราอาจจะนึกถึงการพบรักกันของชายหนุ่มหญิงสาว ความเข้าใจผิด ก่อนที่จะไปจบลงด้วยความสุขในตอนจบ เป็นความรักที่ ‘เป็นมาตรฐาน’ ในยุคหนึ่ง ยุคที่สื่อยังคงไม่หลากหลายและเปิดกว้างเท่าทุกวันนี้
ไม่แปลกเพราะยุคหนึ่ง เรามีผู้ผลิต มี ‘แพลตฟอร์ม’ และมี ‘พื้นที่สื่อ’ ที่ค่อนข้างจำกัด เราเสพเรื่องราวความรักความสัมพันธ์จากฟรีทีวีที่มีแค่ไม่กี่ช่อง ดังนั้นผู้ผลิตเรื่องราวที่ถูกเล่าก็จะค่อนข้างต้อง ‘ทำตามมาตรฐาน’ ของสังคม รูปแบบความรักความสัมพันธ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาก็เลยต้องเป็นไปตามสูตร ตามมาตรฐาน – ที่แม้ว่าในชีวิตจริงความรักของคนเรามันจะไม่ได้เป็นไปตามละครได้แบบนั้นซักนิดก็ตาม แต่ก็ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้ถ่ายทอดให้เราได้รู้ เหมือนคำที่ว่าเรื่องจริงยิ่งกว่าละคร
พอถึงจุดที่เรามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่คราวนี้ไม่ได้ต้อง ‘แมส’ หรือเป็นไปแค่ตามมาตรฐานเดิมๆ อย่างที่เคย เกิดพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ชมที่มีความต้องการของตัวเอง ได้เล่าและสนุกไปกับเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ที่มีเฉพาะตัวและมีความหลากหลายอยู่ในนั้น
LINE TV เป็นหนึ่งผู้ให้บริการพื้นที่และนำเสนอ ‘สื่อบันเทิง’ ที่มีความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการ เรามีซีรีส์ชวนจิ้นที่ทำมาจากนิยายวาย เรามี ‘ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรีส์’ ที่เล่ามุมมองสนุกๆ จากชีวิตจริงของคุณช่า ไปจนถึงเรื่องราวเข้มข้นของความสัมพันธ์ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดสถานะว่าเป็นเพื่อน คนรักหรือครอบครัวเช่นใน GAY OK BANGKOK Season 2
ด้วยเรื่องราวความรักที่ยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น หลากหลายขึ้น การที่เรามีสื่อที่มีมิติมากขึ้นแบบนี้ อาจนำไปสู่ความเข้าใจว่า ‘ความรักไม่จำกัดเพศ เพศจำกัดความรัก’ ไปสู่คนทั่วไปได้ ให้สังคมไทยได้ยอมรับในความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิดแปลก และพวกเขามีตัวตนในสื่อบันเทิงแค่ตัวตลกและดราม่าเท่านั้น
สาววาย กลุ่มแฟนคลับผู้มีกำลังซื้อเกินคาด
จริงอยู่ว่า ซีรีส์หลายเรื่องก็ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกระแส ‘สาววาย’ กำลังมาแรง นิยายและหนังบางเรื่องถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนอง ‘การจิ้น’ ที่ให้เหล่าสาววายได้จินตนาการถึงความสัมพันธ์ของชายหนุ่ม แต่ว่าในที่สุดถ้าดูภาพรวมของซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเพศที่หลากหลายก็จะเห็น ‘ภาพกว้าง’ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องรสนิยมเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นภาพที่กว้างและถี่ถ้วนขึ้นของคำว่า ‘ความรัก’ ที่สำคัญกลุ่มนี้มีกำลังซื้อที่เกินความคาดหมายของคนผลิตสื่อรุ่นเก่า และหลายครั้งใน Twitter พวกเขาเป็น Trend setter
นักวิชาการบอกว่า ความรัก-อารมณ์ความรู้สึกของเราเกี่ยวข้องกับมิติทางจินตนาการ และโลกของสื่อบันเทิงอยู่ด้วย คือลองนึกภาพเวลาที่เราจะรัก เราจะอกหักเรามักจะอ้างอิงการกระทำบางอย่างเข้ากับสิ่งที่เราเสพ เช่น ในยุคหนึ่งอกหักแล้วต้องเปิดน้ำฝักบัวร้องไห้ ในทำนองเดียวกันหนังหรือละครที่เราเสพ เป็นพื้นที่ ‘ในจินตนาการ’ ที่ทำให้เราสามารถ ‘นึก/จินตนาการ’ ความเป็นไปได้ (possibility) ต่างๆ มากขึ้น ในมิติของความรัก จากที่เราเคยนึกถึงความรักแบบชายหนุ่มหญิงสาว ก็นำไปสู่ความสัมพันธ์แบบอื่นๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เรานึกออกว่า อ้อ ถึงจะเป็นผู้ชายด้วยกันก็มีความรักกันได้ ในโลกของเพื่อนบางครั้งก็มีความรู้สึกที่มันยุ่งยากซับซ้อนไม่ต่างอะไรกับที่เราเจอในสมัยวัยรุ่น หรือในความสัมพันธ์ทั้งหลายคนเราต่างก็มี ‘ดราม่า’ กันเป็นธรรมดา
จาก ‘เฉพาะกลุ่ม’ สู่ ‘ความแมส’
ผู้จัดงานนิทรรศการหนังสือที่เกี่ยวกับนิยาย Y เคยบอกว่านิยาย Y ไม่ได้จำกัดกลุ่มผู้อ่านว่าต้องเป็นสาววายเท่านั้น บางคนก็ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นสาววายแต่อย่างใด เช่น ผู้ชมทั่วไปที่ดูหนังเรื่องเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ก็รู้สึกว่าหมอวัตสันและนักสืบโฮล์มส์มีซัมติงกันแน่ๆ หรือหลายแฮชแทควายๆ ในทวิตก็มีผู้ชายเข้ามาเล่นสนุกโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นสาววาย แต่ความสำคัญคือการเสพงานนั้นมอบความสนุกสนานให้กับผู้อ่านได้ก็โอเค ในทำนองเดียวกันถึงซีรีส์ที่พูดจากมุมมองหรือเล่าเรื่องราวของเพศที่หลากหลาย สุดท้ายก็คือการเสนอเรื่องราวความรักหรือมุมมองในชีวิตของมนุษย์ที่ใครก็สัมผัสได้
ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ได้รับความนิยม ผู้ชมเองก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นเพศหลากหลายเท่านั้นที่จะสนุกไปกับมุมมองการมองโลกและเรื่องเล่าสนุกสนานของคุณช่าได้ ในทำนองเดียวกัน ‘โจโจ้ ทิชากร’ ผู้กำกับ GAY OK BANGKOK ก็เคยบอกว่าต้องการนำเสนอภาพชีวิตของเกย์ในฐานะคนธรรมดา และในทางกลับกันความธรรมดาที่ว่าก็กินความไปถึงเรื่องราวความรู้สึกที่ใครก็ตามก็สามารถสัมผัสได้ เป็นเรื่องราว ‘ดราม่า’ ที่ใครก็ตามล้วนมีในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงหรือใครก็ตามที่มีความรัก มีเพื่อน มีชีวิตและมีครอบครัว โดยทำลายมายาคติเดิมๆ ของสังคมที่มองว่าเป็นพวกมั่วเซ็กซ์ ใช้เงินซื้อความรัก และที่สำคัญซีรีส์เรื่องนี้ พูดถึงเรื่อง HIV ได้ดีตรงไปตรงมาและไม่ได้มองโดยท่าทีรังเกียจอย่างที่สังคมส่วนใหญ่เป็น
ถ้าจะพูดถึงความหลากหลาย ความหลากหลายไม่เคยเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม เพียงแต่ว่าความหลากหลายนั้นไม่เคยถูกพูดถึง ในเรื่องราวที่แม้ว่าจะมีความรักและความสัมพันธ์ของเกย์เป็นศูนย์กลางของเรื่อง แต่ในที่สุดความสัมพันธ์เหล่านั้นก็เป็นความสัมพันธ์ที่เราพบและเคยผ่านตาหรือแม้แต่เคยเผชิญเองกันมาในชีวิต สรุปแล้วเกย์ก็คือคนๆ หนึ่ง เป็นสมาชิกที่ใกล้ตัวเราในสังคม เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นลูก เป็นคนที่มีความสัมพันธ์ต่อกันจริงๆ
ถ้าเราถอด ‘เพศ’ ออกไปจากสมการ เรื่องราวที่ถูกเล่ามันก็คือเรื่องราวของอารมณ์ ความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน ที่มนุษย์ได้มอบให้แก่กัน แม้ว่าหลายคนที่มองมาจากแว่นตาจารีตเดิมจะเห็นว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม หรือเป็นความเสื่อมของสังคม แต่จารีตค่านิยมเหล่านั้นเป็นของคนส่วนใหญ่ผู้ไม่คุ้นเคย แต่ถ้าเรามองในฐานะความเป็นมนุษย์แล้วทุกคนต่างเหมือนกัน
การปรากฏของซีรีส์เกย์ หรือ Y ใน LINE TV แค่สร้างความแตกตื่นต่อสังคมในวงกว้างเพียงเพราะพวกเขาไม่คุ้นเคย และมองดูด้วยอคติหาใช้หัวใจเท่านั้นเอง
อ้างอิง
https://thematter.co/rave/yaoi-from-then-to-now/8753
https://thematter.co/rave/does-being-gay-ok-in-bangkok/20410
https://thematter.co/rave/sit-and-have-some-chit-chat-about-y-book-fair/27683