GELBOYS สถานะกั๊กใจ ซีรีส์วายที่น่าจับตาและให้ฉายากันว่า เป็นรักแห่งสยาม ที่กลับมาเล่าชีวิตและความรักวัยรุ่นของเด็กหนุ่มที่มีความหลากหลายและความเลื่อนไหลทางเพศ
แถมครั้งนี้ยังมีหลายประเด็นให้ติดตาม ทั้งการใช้ไอโฟนในการถ่ายทำ โดยเป็นผลงานกำกับของบอส—นฤเบศ กูโน ผู้กำกับแปลรักฉันด้วยใจเธอ และวิมานหนาม
ตัวซีรีส์นี้มีจุดเด่นมากมายสำหรับคนเจน Y แบบเราๆ ซึ่งเตะตาคนที่โตมากับรักแห่งสยาม คราวนี้ตัวเรื่องได้เชื่อมโยงกับคนเจน Y อยู่บ้าง ด้วยบทบาทที่คนเจน Y กลายเป็นคนรุ่นพ่อแม่ และนำเอามรดกวัฒนธรรมจากยุคก่อนหน้า เช่น เพลงของกามิกาเซ่ กลับมาเล่าใหม่ในบรรยากาศวัฒนธรรมของเด็กเจน Z ภาพรวมของสไตล์และงานอาร์ตของซีรีส์เรื่องนี้ก็ยังถือว่าสวยงามน่าประทับใจ
ดังนั้น การกลับมาของสยามในฐานะพื้นที่การใช้ชีวิต รวมไปถึงเป็นการกลับมาของตัวตน และความหลากหลายทางเพศของวัยรุ่นไทยในอีกเกือบ 20 ปี ที่ในครั้งนี้แกนสำคัญของเรื่องคือการ ‘กั๊ก’ ความสัมพันธ์ ซึ่งอันที่จริงความฉูดฉาดและความชัดเจนถือเป็นตัวตนของวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน และความชัดเจนในความรักและความสัมพันธ์ของวัยรุ่นนี่แหละ ที่ในที่สุดก็ถูกนำมาเป็นบทเรียนเรื่องปัญหาของความรัก เป็นความท็อกซิกที่แม้จะรู้ว่าใจเจ็บ แต่ก็ยังก้าวต่อไป

ภาพจาก LOOKE
ความชัดเจนที่แสบตา
ถ้าถามว่า GELBOYS มีจุดเด่นที่ไหน หรือต่างจากวัยรุ่นสยามยุคโต้ง-มิวอย่างไร สำหรับวัยรุ่นเจน Z ในตอนนี้แทบจะทุกอย่างของซีรีส์ คือความชัดเจน ความฉูดฉาด การที่ทุกอย่างถูกเห็นได้อย่างชัดเจน ตรงนี้อาจเป็นนัยของฉากแรกๆ ที่กระทั่งตัวละครยังมักปรากฏในลักษณะเปลือยเปล่า ชถูกมองเห็นได้
วัยรุ่นทุกคนในเรื่องแทบจะประกาศตัวตนของตัวเองออกมาแบบตะโกน เราจะเห็นสติกเกอร์ เห็นความสนใจ เห็นการใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยตัวตนและความเลื่อนไหล โดยเฉพาะความเลื่อนไหลทางเพศสถานะและอัตลักษณ์ โฟร์มด (แสดงโดยนิว—ชยภัค ตันประยูร) อาจจะเคยคบผู้หญิง ภาษาที่ตัวละครใช้เป็นภาษาที่ไม่มีขอบเขต และหลายครั้งก็เป็นภาษาที่ไม่ระบุเพศ ไม่เฉพาะเจาะจง ในขณะเดียวกันตัวละครก็มีลักษณะที่ไม่สังกัดไปที่เพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น โฟร์มดเล่นดนตรี เชียร (แสดงโดยไป๊ป—มนธภูมิ สุมนวรางกูร) ก็เล่นกีฬา มีกลุ่มเพื่อนผู้ชาย มีวงดนตรี แต่ก็ใช้ภาษากะเทยได้อย่างช่ำชอง ไม่เขินในการใช้ภาษา หรือแต่งตัวในลักษณะที่ฉูดฉาดไร้เพศ
ถ้ามองไปที่ 10 กว่าปีก่อน รักแห่งสยาม คือความคลุมเครือ ตัวตนของวัยรุ่นคือการที่ตัวละครต่างๆ ต้องตีความ และถูกกักเก็บไว้ GELBOYS ในฐานะส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าด้านความหลากหลายและค่านิยมของสังคม จึงทำให้เราเห็นว่า วัยรุ่นมีอิสระในการแสดงตัวตนได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ทว่าพื้นที่ของคนเจน Y อันที่จริงก็กรุยทางด้านการแสดงตัวตนและความหลากหลายไว้เช่นกัน ถ้าพูดว่าคนรุ่นพ่อแม่โฟร์มดก็คือคนรุ่นโต้ง-มิว หรือเพลงที่กลับมาอย่างกามิกาเซ่ ส่วนใหญ่ก็พูดเรื่องตัวตนที่ฉูดฉาด การปลดปล่อยความรู้สึก ความรัก ไปจนถึงความฝันไม่ต่างกับเด็กเจน Z ในปัจจุบัน

ภาพจาก LOOKE
รู้ว่าเจ็บแต่ก็ก้าวต่อไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘ความคลุมเครือ’ เป็นปัญหาความรักของเพศหลากหลายใน 10 ปีก่อน เราไม่รู้ว่าตัวตนเป็นอย่างไร อีกฝ่ายคิดกับเราแบบไหน เราต้องอยู่ในกรอบที่สังคมขีดไว้ให้ แต่งตัว เดิน คิด เลือกตุ๊กตาอย่างที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น นั่นคือปัญหาของความสัมพันธ์ และเป็นจุดเริ่มของความรักของคนรักเพศเดียวกัน
แต่ GELBOYS ให้ภาพการถูกมองเห็น กระทั่งตัวตนและความสัมพันธ์ก็ถูกนำมาคลี่ นิยาม และประกาศ เพื่อสร้างความตกลงของคน 2 คนอย่างค่อนข้างชัดแจ้ง ดูเป็นความสัมพันธ์ที่เข้าใจได้ในโลกที่เราพยายามจะนิยามความสัมพันธ์แทบทุกอย่าง และทำความเข้าใจความสัมพันธ์ด้วยศัพท์เฉพาะมากมาย
กรณีของโฟร์มดกับเชียร และที่กำลังจะลุกลามไปยังเพื่อน คือความสัมพันธ์ที่ดูจะเริ่มยุ่งขิง ซึ่งไม่ได้มาจากปัญหาของความคลุมเครือ และความจำเป็นต้องตีความ แต่อาจมาจากการนิยามที่ครั้งนี้จะไม่นิยาม เป็นความสัมพันธ์ของสถานะที่ไร้สถานะ
ประเด็นคือตัวเรื่องแทบจะดำเนินตามกรอบความคิดเรื่องความสัมพันธ์ร่วมสมัย มีการพูดคุย ทำความเข้าใจ มี ‘การตกลงยินยอม’ (consent) ตัวละครอย่างเชียรเองบอกทุกอย่าง โฟร์มดก็รู้ แต่รู้ทั้งรู้ว่าเส้นทางความสัมพันธ์เป็นเส้นทางของความสัมพันธ์ที่ท็อกซิก มีการยักย้ายถ่ายเทความรู้สึก การเรียกร้องความสนใจ การเล่นเกม การเอาคนใกล้ตัวมาเป็นตัวแทน (เช่น คนที่ชอบทำอะไรก็เอามาทำกับอีกคนที่ไม่ได้ชอบ ไม่ได้มีสถานะจริงจัง)

ภาพจาก LOOKE
หายนะของเรื่อง แม้จะเป็นความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ แต่ในความอลเวงของความสัมพันธ์ของเหล่าคนที่ไม่ใช่ และการทำให้เรื่องบานปลายด้วยการดึงคนอื่นเข้ามาอยู่ในสมการความสัมพันธ์ เรื่องราวที่เต็มไปด้วยการรักเขาข้างเดียว การหายาทาหัวใจจากคนรอบข้าง การสร้างความหึงหวง และการเล่นเกมรักไม่รู้จบ ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นเรื่องรักวัยรุ่นที่เราล้วนเคยเจอ และก้าวผ่านพ้นมันมาได้
ตรงนี้เป็นแค่การคาดการณ์ เรายังน่าสงสัยว่าในที่สุด คีย์เวิร์ดสำคัญที่ตัวละครพยายามนิยาม และนำมาทำความเข้าใจอาจกลายเป็นปัญหาของความสัมพันธ์ คือในที่สุดนิยามทั้งหลาย หรือพิธีกรรมทั้งหลาย เช่น การให้สถานะว่าจะไม่ให้สถานะ การลงวงเขียวหรือโคลสเฟรนในอินสตราแกรม การกอด จูบ หรือกระทั่งการให้สถานะนั้น กรอบต่างๆ อาจขัดแย้งกับความรู้สึกของแต่ละคน ซึ่งมีความซับซ้อนยอกย้อนกับนิยามความสัมพันธ์ทั้งหลายก็ได้
สุดท้ายแล้ว แม้ว่าภาษาของภาพ ภาษาของเด็กเจลบอยทั้งหลายจะเป็นภาษาสมัยใหม่ แต่เราเองอาจเริ่มได้กลิ่นตุๆ ของชุดความสัมพันธ์จากเค้าลางของเรื่อง ที่ในครั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะยังคงลงเอยเป็นโศกนาฏกรรมจากความรักไม่สมหวังเพราะความคลุมเครือ ไปสู่โครงข่ายของความรู้สึก และความสัมพันธ์ท็อกซิกที่ติดต่อเนื่องกันไปเป็นทอดๆ จนในที่สุดกลายเป็นความยุ่งเหยิงของวัยรุ่นที่ไม่มีใครไม่เจ็บสักคนไหม