คริสต์มาสทำไร ดู Love Actually อีกและ!!! มาดูกันซิว่าเขาวิเคราะห์ Love Actually กันไว้อย่างไรบ้าง
1. รู้ไหมว่าปีนี้ Love Actually อายุครบ 13 ปีแล้ว (อื้อหือ ใครทันดูนี่แปลว่า…) มันเป็นหนังรักที่กำเนิดสูตรหนังแบบประกอบกันหลายเรื่องโดยแท้ (คืออาจจะมีเรื่องก่อนหน้านี้นั่นแหละ แต่เท่าที่ย้อนความทรงจำไปได้ ก็คือเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็ตามมาเป็นพรวน เช่น Valentine’s Day, Mother’s Day อะไรต่างๆ กำลังจะรอดูว่าจะมี Mahabhusha Day ไหม…)
2. Love Actually เป็นหนังรักที่ประกอบด้วย 9 เรื่องย่อย เล่าเรื่องสัปดาห์ก่อนที่จะถึงคริสต์มาสในสหราชอาณาจักร ซึ่งนอกจากจะรวบรวมดาราดัง (ทำให้หลายคนตกหลุมรักคีร่า ไนต์ลีย์) แล้วก็ยังมีฉากจำมากมาย (เช่น ฉากที่แอนดรูว ลินคอล์น ชูป้าย You’re Perfect ให้คีร่า หรือฉากร้องเพลง All I Want For Christmas ตอนจบ) อีกด้วย ทำให้มันเป็นหนังที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน
3. มีความพยายามรวบรวมสถิติว่าหลัง Love Actually แล้ว ดาราคนไหน “ทำเงิน” ได้เยอะที่สุด โดยดูจากรายได้ของหนังที่เล่นหลังจากนั้นรวมกัน ห้าอันดับแรกตกเป็นของ Liam Neeson (แหงสิ) Alan Rickman Bill Nighy Emma Thompson และ Martin Freeman ตามลำดับ
4. ส่วนอันดับความดีงามของหนังหลังจาก Love Actually โดยดูจากคะแนนเฉลี่ยของ IMDB นั้น ปรากฏว่าต่อมา Alan Rickman, Emma Thompson, Meg Wynn Owen, Martin Freeman และ Chiwetel Ejiofor ไปปรากฏตัวในหนังที่ดีที่สุดต่อๆ มา (อ้าว Liam Neeson หายไปไหน อิอิ)
5. มีความพยายามพล็อตกราฟดูด้วยว่าถ้ามองด้วยทฤษฎีกราฟเนี่ย ใครเป็นศูนย์กลางของหนังอย่างแท้จริง ก็ปรากฏว่า แอนดรูว ลินคอล์น ที่เป็นศิลปินที่ไปตกหลุมรักคีร่าเนีย อยู่กลางกราฟเลย แล้วกราฟก็จะแบ่งออกเป็นสองฝั่งชัดเจนพอสมควรคือฝั่งลอนดอน A กับ ลอนดอน B คือฝั่งคนมีตังค์กับคนจน (กว่า)
6. แต่ถ้าวัดว่าใครคือดารานำตัวจริงของ Love Actually โดยวัดจาก จำนวนตัวละครอื่นๆ ที่พูดด้วยละก็ อันดับจะตกเป็นของ Laura Linney พูดกับตัวละครอื่นๆ 32% ตามด้วย Andrew Lincoln 28% Emma Thompson 24% แต่ถ้าวัดตามจำนวน “นาทีที่ปรากฏตัว” อันดับจะเปลี่ยน กลายเป็น Emma Thompson ปรากฏร่างเยอะสุด 32 นาที ตามด้วย Hugh Grant 31 นาทีและ Alan Rickman 28 นาที
7. อย่างที่รู้ว่า Love Actually มีประเด็นหลังหนังฉายหลายอย่าง เช่นบอกว่าฝันเกินไป หรือดาราขาวเกินไป (คือผิวขาวกันเกือบหมดเลย เหลือที่ยืนไว้ให้ผิวสีอื่นๆ บ้าง) แต่ประเด็นที่โดดเด่นที่สุดคือประเด็น Stalker โดยตัวละครของ Andrew Lincoln (ที่ชูป้ายนี่แหละ) ที่ดูเผินๆ เหมือนจะโรแมนติก แต่พอคิดดีๆ แล้วนี่มันสตอล์กเกอร์นี่หว่า
8. โดยมีงานวิจัยออกมาด้วยนะว่าผู้หญิงที่ได้ดูหนังที่ผู้ชายตามสตอล์กแบบนี้ จะยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวได้มากขึ้นในชีวิตจริงด้วย เฮือก หมายถึงว่าหนังมันไปทำให้พฤติกรรมการสตอล์ก “ดูปกติ” (ตัวอย่างหนังไทยที่หลายคนนึกถึงก็อาจจะเป็นแฟนเดย์?) และกลายเป็นคิดว่านั่นคือโรแมนติกไปได้
9. ซึ่งบทความใน Guardian ก็พูดถึงพฤติกรรม Stalk ในหนังอีกเรื่องที่เข้าโรงบ้านเราอยู่ตอนนี้ด้วย แต่จะ! ไม่! สปอยล์! หรอก! ว่า! คือ! เรื่อง! อะไร! (อย่าคลิกลิงก์ข้างล่างดูละกัน)
10. ตอนนี้ดาราไปทำอะไรบ้าง Chiwetel Ejiofor อาชีพการงานไฮโซ ก็ไปดังจากการเล่น 12 Years a Slave, January Jones ไปเล่น Mad men, Martin Freeman ไปเล่น Sherlock, Hobbit, Bill Nighy ไปเล่นเป็น Rufus ใน Harry Potter, Andrew Lincoln ก็ไปตีหัวซอมบี้ใน Walking Dead, Thomas Brodie-Sangster เจ้าเด็กคนนั้นก็ไปเล่น Game of Thrones ไงล่ะ
เรียบเรียงจาก
http://fivethirtyeight.com/features/the-definitive-analysis-of-love-actually-the-greatest-christmas-movie-of-our-time/
.
https://www.theguardian.com/film/2016/feb/03/rom-coms-women-stalker-myth-study
.
https://www.theguardian.com/film/filmblog/2016/dec/22/passengers-film-men-creepy-love-stories