“มีการแสดงอยู่สองแบบ, การแสดงในหนัง และการแสดงในชีวิตจริง”
– ชเว ยุน ฮี
The Lovers and The Despot เป็นภาพยนตร์สารคดีตีแผ่ (ใช้คำว่าตีแผ่แล้วดูจริงจังมาก แต่กับบริบทนี้ใช้คำว่าตีแผ่แหละถูกแล้ว) ชีวิตซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่านิยาย ของคู่รัก (Lovers ตามชื่อเรื่อง) นักแสดงและผู้กำกับ ชาวเกาหลีใต้คือ ชเว (Choi Eun-hee) และชิน (Shin Sang-ok) ที่ถูกลักพาตัวไปเพื่อช่วยสร้างหนังให้กับผู้นำเกาหลีเหนือที่ล่วงลับไปแล้ว (Despot ตามชื่อเรื่อง, คำว่า Despot นี้แปลว่าเผด็จการ มาจากคำว่า Despotēs ในภาษากรีก) คิม จอง อิล ในช่วงปี 1978
สารคดีเรื่องนี้ใช้วิธีเล่าเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ผ่านทางการสัมภาษณ์ผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง คือชเว ลูกๆ ของเธอ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรอง นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และผ่านทางเทปบันทึกเสียงที่ชเวแอบอัดเสียงคิมจองอิลมาได้ สิ่งที่อยู่บนหน้าจอใช้วิธีตัดสลับระหว่างความจริงหลากหลายแบบ นั่นคือความจริงอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งคือบทสัมภาษณ์ ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นเช่นการแสดงซ้ำเพื่อเล่าจำลองเหตุการณ์ และความไม่จริงที่ถูกนำมาเพื่อนำเสนอความจริง คือฟุตเทจจากภาพยนตร์ที่ชินกำกับและชเวแสดง
ผู้ติดตามความเกาหลีเหนืออาจเคยทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ผู้นำคิม จอง อิล นั้นมีความฝักใฝ่ในศิลปะด้านต่างๆ อยู่มาก โดยเฉพาะด้านการทำภาพยนตร์
สารคดีเรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ที่คิม จอง อิล ฝักใฝ่ในด้านศิลปะนั้นเป็นไปด้วยการพยายาม ‘เล่นในสนามอื่น’ ที่จะทำให้ตัวเองไม่ถูกเปรียบเทียบกับพ่อ (คิม อิล ซุง) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งชาติ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว คิม จอง อิล ด้อยเสน่ห์กว่าทั้งทางรูปลักษณ์และบุคลิก เขาจึงมองเห็นภาพตัวเองเป็นศิลปิน เพื่อท่ีจะได้ไม่ต้องไปประชันขันแข่งกับผู้พ่อในด้านที่ตัวเองไม่อาจสู้ได้ หากแต่ความเป็นศิลปินนั้นก็ยังถูกพันผูกกับความเป็นชาติอยู่
ด้วยความหมายแบบนี้อาจเรียกได้ว่าคิม อิล ซุง เน้นพัฒนาเกาหลีเหนือด้วย Hard Power แต่คิม จอง อิล ในวัยหนุ่มมารองรับชาติด้วยความคิดที่จะพัฒนา Soft Power นั่นเอง
คิม จอง อิล รู้สึกงุ่นง่านใจที่วงการภาพยนตร์ของเกาหลีเหนือไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร “มีแต่ฉากร้องไห้ ไม่มีเรื่องไหนเลยที่ไม่มีฉากร้องไห้ นี่มันไม่ใช่งานศพนะโว้ย” เขาพูดกับชินในครั้งหนึ่ง “หนังเกาหลีเหนือในยุคนั้น มีแต่ตัวละครเอกที่ตายเพื่อชาติ” อดีตชาวเกาหลีเหนืออีกคนว่า
คิม จอง อิล รู้สึกว่าถ้าจะพัฒนาวงการภาพยนตร์เกาหลีเหนือ เห็นทีจะพึ่งบุคลากรในประเทศไม่ได้ (เพราะถูกผลิตมาด้วยไมนด์เซ็ตแบบเดียวกันหมด – ก็เป็นเผด็จการนี่นา) จึงสอบถามคนสนิทว่าเกาหลีใต้มีผู้กำกับคนไหนที่โด่งดังที่สุด และนักแสดงคนไหนที่เจิดจรัสที่สุด และได้ความว่า มีผู้กำกับชิน กับนักแสดงสาวใหญ่ ชเว นี่แหละที่เป็นดังราชนุกูลแห่งวงการภาพยนตร์ของที่นั่น
คิม จอง อิล ทราบดังนั้น จึงรับสั่งให้ไปเอาตัวสองคนนี้มาเกาหลีเหนือโดยไว และกำชับว่านี่เป็นเรื่องสำคัญมาก
ในช่วงที่เกิดเรื่อง ผู้กำกับชิน ไม่ได้เป็นผู้กำกับฮอตเหมือนตอนสมัยหนุ่มๆ อีกต่อไปแล้ว เขาเข้าขั้นตกอับเลยด้วยซ้ำ ด้วยความที่รัฐบาลเกาหลีใต้ตอนนั้น “ก็เป็นเผด็จการไม่ต่างกัน” (ปากคำของผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่ง) และบริษัทสร้างหนังของชินล้มละลาย ส่วนชเวก็ร้างรักกับชินมาสักพักด้วยเหตุผลชู้สาว เธอพยายามหาโอกาสใหม่เพื่อพลิกฟื้นชีวิตที่เคยรุ่งเรืองให้กลับมาอีกครั้ง แล้วเธอก็ได้ยินข่าวว่ามีเศรษฐินีในเกาะฮ่องกง ต้องการจะออกทุนสร้างหนังให้เธอเล่น เธอจึงเดินทางไปที่นั่นโดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว เศรษฐินีฮ่องกงคนที่ว่าเป็นสายลับของเกาหลีเหนือ ที่ได้รับภารกิจให้ลักพาตัวชเวไปให้ท่านผู้นำ
หลังชเวหายตัวไป ผู้กำกับชินก็เดินทางไปที่ฮ่องกงเช่นกัน โดยบอกกับลูกๆ ว่าจะไปตามหาชเว แต่เหตุผลเช่นนี้ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยอยู่มาก บางส่วนก็เชื่อว่าผู้กำกับชินเองต้องการไปเกาหลีเหนืออยู่แล้วเพื่อไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จึงสร้างเรื่องขึ้นมา ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไรก็ตาม เขาก็หายไปจากเกาะฮ่องกงอีกคน
ชินกับชเวได้รับการปฏิบัติแตกต่างกันมาก ถึงแม้จะดูจับตาเฝ้าดูอยู่ไม่ห่าง แต่ชเวก็ได้รับการปฏิบัติที่ดีพอสมควร เธอได้นอนในบ้านทรงตะวันตกส่วนตัว ใช้เวลาไปกับการปลูกผัก (เพื่อไม่ให้บ้าไปเสียก่อน) เธอเล่าว่า ตอนคิดถึงลูกๆ หรือญาติ เธอจะหันหน้าไปทางทิศใต้แล้วตะโกนเรียกชื่อของแต่ละคน ส่วนชิน ถูกกักอยู่ในที่คุมขังที่โหดร้าย เขาพยายามหนีออกมาแต่ไม่สำเร็จ ยิ่งทำให้ถูกกุมขังเข้มงวดขึ้นอีก เขาจึงคิดแผนการระยะยาว ว่าอย่างไรก็ต้องทำให้คิมจองอิลเชื่อใจให้ได้เสียก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อไป
เวลาผ่านไปห้าปี วันหนึ่ง คิม จอง อิล ก็เชิญชเวมางานเลี้ยงที่บ้าน และที่งานเลี้ยงนั้น ชเวก็ได้พบชินอีกครั้ง คิม จอง อิล หัวเราะร่วนชอบใจฉาก reunite นี้เป็นการใหญ่ โดยไม่รู้ว่า นี่ต่างหากจะเป็นจุดเริ่มต้นของการจากลา จากนั้น ทั้งชินและชเวก็ใจเย็น ค่อยสร้างความมั่นใจ ความเชื่อใจ ให้กับท่านผู้นำทั้งคิมจองอิล และคิมอิลซุง เพิ่มพูนสถานะตัวเองขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับความไว้วางใจ และวันหนึ่ง พวกเขาก็คิดว่านี่แหละ คือโอกาสที่จะหนี…
สารคดีเรื่องนี้สร้างความอึดอัดปั่นป่วนในท้องตลอดเวลาที่ดู ผมพยายามหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร, หนึ่ง คงเป็นเพราะโทนอารมณ์ของหนังชวนให้คิดไปแบบนั้นอยู่แล้ว การตัดต่อฟุตเทจเก่าๆ เร้าอารมณ์ด้วยเพลง และตัวหนังสือที่ปรากฏบนจอด้วยจังหวะที่เย็นเยียบ ก่อนจะเลือนหายไปทิ้งไว้เพียงร่องรอยของบางคำ ขับให้บรรยากาศอึมครึมตลอดเวลาเก้าสิบนาที
แต่เหตุผลที่สำคัญกว่านั้น สอง – มันทำให้ผมนึกถึงห้วงเวลาที่เกาหลีเหนือ ความรู้สึก ‘ถูกจับตาดู’ ‘ถูกเฝ้ามอง’ ‘อย่าล้ำเส้นแม้แต่เซนติเมตรเดียว’ กลับมาเยือนไขสันหลังอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าห้วงอารมณ์ที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งหนึ่งที่ห่างไกลหลายร้อยไมล์ จะกลับมาอีกครั้งเพียงผ่านภาพเคลื่อนไหวไม่กี่นาที แต่มันก็เป็นไปแล้ว ฉากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในเกาหลีเหนือบนจอไม่ต่างจากภาพจำที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่เดือน เด็กยิ้ม เด็กหัวเราะ และการเดินขบวนเป็นจังหวะประสานกันเหมือนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตของประชาชนชาวเกาหลีเหนือก็เหมือนกันไม่มีผิดเพี้ยน ถึงแม้สิ่งที่อยู่บนจอจะผ่านมาเนิ่นนานหลายสิบปีแล้วก็ตาม เกาหลีเหนือก็ยังคงไม่เปลี่ยนไป
เหตุผลที่สำคัญกว่านั้นมาก สาม, ผมขอตอบด้วยฉากหนึ่งในสารคดี
ตอนที่คิมอิลซุงเสียชีวิต ประชาชนเกาหลีเหนือทั่วประเทศโศกเศร้า ร้องไห้ร่ำปานจะขาดใจ น้ำตาหลั่งไหลทั่วทุกสารทิศ เสียงร้องไห้ระงมประสานเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นบทเพลงจากมหาสมุทรเยือกเย็นที่ลึกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เสียงบรรยายบอกเราว่า
“ตอนที่คิมอิลซุงเสียชีวิต – ประชาชนคนใด ที่ไม่แสดงความเสียใจอย่างสมจริง จะถูกลงโทษขั้นสูงสุด
หลายครอบครัวได้สาปสูญไปในวันนั้น”
อย่างเงียบเชียบ เกาหลีเหนือได้สร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ขึ้นมา
“มีการแสดงอยู่สองแบบ, การแสดงในหนัง และการแสดงในชีวิตจริง”
กับการแสดงในหนัง เมื่อสปอตไลท์ดับลง เขาหรือเธอผู้แสดง ก็สามารถเดินออกจากบทบาทมาสู่ตัวตนที่แท้จริงได้ แต่กับการแสดงในชีวิตจริง เราอาจไม่มีวันรู้ตัวได้เลย ว่าเรากำลัง ‘เล่นบท’ อะไร เรากำลัง ‘เล่น’ อยู่ไหม และใครเป็นคนเขียนบท เราอาจไม่มีความกล้าแม้แต่จะตั้งคำถาม ถึงแม้สันชาตญาณบางส่วนจะพยายามแหกคอกออกไปเท่าไรก็ตาม ซ้ำร้าย เราอาจคิดว่าเรารู้ตัวว่าแสดงอะไรอยู่ ในขณะที่แท้จริงแล้ว บทบาทการแสดงนั้นได้หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวตนของเราไปแล้วโดยไม่บอกกล่าว
Illustration by Namsai Supavong
The Lovers and The Despot จัดฉายโดย Documentary Club ติดตามรอบฉายได้ที่เพจ facebook.com/DocumentaryClubTH