ช่วยด้วย—คือความหมายของคำว่า Mayday ที่คนทั่วโลกเข้าใจตรงกัน โดยคำๆ นี้มีที่มาจากภาษาฝรั่งเศส venez m’aider ซึ่งแปลตรงตัวว่า come and help me เมื่อตกอยู่ในอันตราย เหล่านักบิน กะลาสีเรือ หรือเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติภารกิจใดๆ จะกล่าวคำสั้นๆ คำนี้ผ่านเครื่องมือสื่อสาร แล้วความช่วยเหลือจากอีกปลายสายจะถูกส่งไปในทันที
ทว่าในตอนแรกที่ได้รู้จัก เราคิดไปเองว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า Mayday นั้นไม่ได้กำลังขอความช่วยเหลือ แต่พวกเขากำลังช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคมต่างหาก เพราะหนุ่มสาวทั้งห้าเปิดตัวเพจเฟซบุ๊ก Mayday ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางในเมืองกรุงด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟ หรือเรือ แล้วได้รับการแชร์อย่างล้นหลามจนเกิดเป็นคอมมิวนิตี้ของกลุ่มคนที่มาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน
ด้วยความคิดตั้งต้นเช่นนั้น เราติดต่อขอเข้าไปสัมภาษณ์ทีม Mayday อันประกอบด้วย หนูลี—สุชารีย์ รวิธรธาดา และ อุ้ม—วิภาวี กิตติเธียร สองสาวฝ่ายวิชาการความรู้แน่น แวน—วริทธิ์ธร สุขสบาย กราฟิกดีไซน์เนอร์ควบกูรูด้านรถเมล์ไทย เนย—สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล นักเขียนอิสระมากประสบการณ์ และ ศา—ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ชักนำทุกคนมารู้จักกัน ณ Once Again Hostel และ Trawell สององค์กรที่มุ่งมั่นแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนซึ่งเขาร่วมดูแลอยู่
แต่เมื่อได้คุยกัน เราจึงพบว่าตัวเองเข้าใจผิดมหันต์—Mayday ไม่ได้มาช่วยพวกเรา แต่พวกเขามาชวนเราไปช่วยกัน
The MATTER : Mayday เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
หนูลี : พวกเราทำงานด้วยกันที่ Once Again Hostel ส่วนตัวเราสนใจเรื่องภาพรวมของขนส่งสาธารณะ พอได้คุยกับพี่ศาว่า อยากทำเรื่องรถเมล์ เรื่องขนส่งสาธารณะ พี่ศาก็แนะนำให้รู้จักกับน้องแวนผู้เป็นกูรูด้านรถเมล์ และอุ้มซึ่งจบด้าน transport มา (เป็นความถนัดหนึ่งในภาควิชาผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์—ผู้เขียน) แล้วก็มีเนยซึ่งมาช่วยเกลาข้อมูลดิบให้อ่านรู้เรื่อง ให้เป็นภาษาคน
ศา : ก่อนหน้า Mayday เราทำงานเรื่องชุมชน เรื่องเมือง แล้วเราเห็นว่าปัญหามันเชื่อมโยงกันไปหมด ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในชุมชน เรื่องความยากจน เรื่องรายได้ หรือเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ มันหนีไม่พ้นที่จะมาแตะเรื่องขนส่งด้วย ซึ่งถ้าขนส่งสาธารณะดี คนก็ไม่ต้องไปติดกับดักเป็นหนี้ซื้อรถ และถ้ามันดี ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนหลายๆ อย่าง เช่น เวลา ตอนนี้ทำงานได้ 8 ชั่วโมง เพราะต้องติดอยู่บนรถ 2-3 ชั่วโมง เขาก็อาจจะทำงานได้มากขึ้น ได้เงินมากขึ้น
The MATTER : ปัญหาเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนในบ้านเราที่ Mayday อยากแก้ไขคืออะไร
เนย : เบื้องต้นคือเรื่องการสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการที่ยังไม่เชื่อมโยงถึงกัน คือเราคิดกันว่า สิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คืออะไร เรายังไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างระบบการเดินทางพื้นฐานแบบที่รัฐบาลทำได้ แล้วเราทำอะไรได้บ้าง เรามีกราฟิกดีไซน์เนอร์ เรามีคนที่มีความรู้ มีข้อมูล เราเองก็เป็นนักสื่อสาร เลยคิดว่างั้นเอาสิ่งที่มันมีอยู่แล้วมาเล่าให้คนที่ยังไม่รู้ หรือคนที่เข้าใจไม่ดีพอ ให้เขาเข้าใจมากขึ้น กล้าใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ศา : เรื่องขนส่งสาธารณะใครๆ ก็รู้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐเยอะมาก และไม่ใช่แค่รัฐแค่หน่วยงานเดียวด้วย มันมีทั้งขสมก. และอะไรอีกหลายอย่าง มันคงจะใหญ่เกินไปถ้าเราจะบอกว่า เราจะแก้ไขทุกอย่าง ทีนี้มันเลยเป็นที่มาของสโลแกนคมกริบที่เนยคิด Small Change, Big Move คือเราจะสนใจอะไรที่เริ่มตอนนี้ได้เลย อาจจะยังไม่ต้องคิดระบบ GPS มาติด แต่ดูว่าวันนี้ทำอะไรได้บ้าง
ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในชุมชน เรื่องความยากจน เรื่องรายได้ หรือเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ มันหนีไม่พ้นที่จะมาแตะเรื่องขนส่งด้วย
The MATTER : แล้วสิ่งที่ Mayday ทำอยู่ในตอนนี้มีอะไรบ้าง
แวน : ที่ทำออกมาเป็นรูปธรรมแล้วก็คือป้ายรถเมล์ ป้ายแรกที่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน ทำร่วมกับสจส. (สำนักการจราจรและขนส่ง) และป้ายที่สองที่อนุสาวรีย์ชัย ทำร่วมกับ YAK เอกชนผู้ได้รับสัมปทาน ตามคอนเซ็ปต์ Small Change, Big Move เรายังใช้โครงป้ายเดิม แต่ทำป้ายใหม่ที่บอกรายละเอียดมากขึ้น บอกว่าตอนนี้ยืนรอรถเมล์ที่ไหน มีสายอะไรผ่านบ้าง แล้วแต่ละสายจะพาเราไปไหนได้บ้าง
เนย : นั่นเป็นพาร์ทออฟไลน์ ส่วนออนไลน์ก็มีเพจที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะรูปแบบต่างๆ โดยทำเป็นภาพหรืออินโฟกราฟิกง่ายๆ ที่ผ่านมามีเรื่องรถเมล์ที่ขึ้นทางด่วน ซึ่งมีคนไม่รู้มาก่อนเยอะมาก บางคนก็เข้ามาบอกว่าไม่เชื่อ ไม่เคยเห็น แต่ความจริงเพราะมันวิ่งเป็นช่วงเวลา บางคนก็บอกว่าจะไปลองนั่ง บางคนก็มาช่วยเพิ่มข้อมูลให้ เรารู้สึกว่ามันเป็นสังคมที่ดี ที่ทุกคนสนใจและช่วยกันแชร์ นอกจากนี้ก็ทำเรื่องรถเมล์ที่วิ่งไปสนามบิน ช่วงนี้ทำเกี่ยวกับรถเมล์ก่อน เดี๋ยวในเฟสถัดไปก็จะมีขนส่งสาธารณะอื่นๆ เพิ่มเข้ามาเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น
The MATTER : ตั้งแต่เริ่มโปรเจ็กต์มา เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง
หนูลี : จริงๆ ด้วยตัวโปรเจ็กต์อาจจะยังไม่เห็นชัดขนาดนั้น แต่จากเพจเฟซบุ๊กที่เราทำ มันพิสูจน์ว่าถ้าคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ และเราสามารถทำให้คนเข้าใจข้อมูลนั้นได้ มันจะเกิดการนำไปใช้ การตั้งคำถาม การพัฒนา การต่อยอด เพราะจริงๆ ทุกอย่างมันมีอยู่จริงอยู่แล้ว เราแค่ไม่รู้ อย่างเรื่องรถเมล์ทางด่วนที่เนยเล่าให้ฟังเมื่อกี้
อุ้ม : เรารู้สึกว่าการสื่อสารของเราเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเลือกเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าเราไม่มี Google Maps แต่ป้ายรถเมล์มันบอกข้อมูลอะไรบางอย่าง อย่างน้อยเราก็จะรู้ว่าสายไหนไปทางไหน เราจะสามารถวางแผนการเดินทางได้ แต่ถ้าป้ายรถเมล์มันไม่บอกอะไรเลย ทางแก้เดียวคือเรียกแท็กซี่ ดังนั้นถ้าเราสื่อสารข้อมูลออกไป ทำให้คนเข้าใจง่าย มันจะมีผลต่อการเดินทางที่เกิดขึ้นในเมือง
พอมันมีป้ายที่บอกข้อมูลมันจะเพิ่มความมั่นใจ เขาจะรู้สึกว่าเขาพึ่งพาและไว้ใจการเดินทางด้วยรถเมล์ได้
The MATTER : มีแผนการอะไรต่อจากนี้บ้าง
อุ้ม : จริงๆ เราอยากให้มองโปรเจ็กต์ป้ายรถเมล์ที่เราทำเป็นโครงการระยะยาว เราอยากให้ทั้งกรุงเทพฯ แปะป้ายอันนี้ให้ได้ ที่เราเลือกบริเวณแยกคอกวัวก่อน ก็เพราะอิงกับงานพระราชพิธีของในหลวงรัชกาลที่ 9 บริเวณนั้นมีคนข้างนอก คนต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาเยอะมาก เราเลยอยากรู้ว่าถ้ามีการให้ข้อมูลอย่างนี้ การเดินทางมันจะดีขึ้นไหม สะดวกขึ้นบ้างหรือเปล่า แล้วเราจะใช้โมเดลนี้ไป apply กับส่วนต่างๆ ของกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ต่างจังหวัดเองก็ตาม เลยคิดว่าถ้ามีการให้ข้อมูลอย่างนี้ การเดินทางมันจะดีขึ้นมั้ย จะเกิดความสะดวกขึ้นมาบ้างหรือเปล่า
หนูลี : อย่างเมื่อวานไปดูฟีดแบ็กป้ายที่แยกคอกวัว มีนักท่องเที่ยวจีนกำลังจะไป Central World คือเขารู้อยู่แล้วว่าต้องขึ้นสาย 511 แต่เขาแค่เดินมาดูที่ป้ายเพื่อ Make Sure ว่ามันจอดป้ายนี้จริงๆ พอมันมีป้ายที่บอกข้อมูลมันจะเพิ่มความมั่นใจ เขาจะรู้สึกว่าเขาพึ่งพาและไว้ใจการเดินทางด้วยรถเมล์ได้
The MATTER : ภาพความเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นในท้ายที่สุดคืออะไร
แวน : ถ้าถามผม มันต้องเล่าย้อนไปตอนที่ผมตัดสินใจทำ Mayday มันคือวันที่ 14 ตุลาคมปีที่แล้ว หนึ่งวันหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต วันนั้นทุกคนพุ่งสู่สนามหลวง ผมเองก็ไปขึ้นรถเมล์ที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ มันเป็นรถเมล์เก่าๆ คันหนึ่ง แล้วผมขึ้นไปเจอผู้บริหารและพนักงานบริษัทที่ผมเคยฝึกงานนั่งอยู่เต็มคันเลย ผมเลยคิดว่าถ้าเขารู้ว่ามันมีรถเมล์ และมันใช้ได้ เขาก็จะใช้ ดังนั้นภาพในท้ายที่สุดผมอยากให้คนเปลี่ยนค่านิยม การมีรถส่วนตัวหรือมีคอนโดติดรถไฟฟ้าอาจไม่เวิร์กที่สุด รถสาธารณะมันทำได้มากกว่านั้น และเมื่อคนหันมาใช้มากขึ้น ก็อยากให้รถสาธารณะเห็นคุณค่าในตัวเองแล้วพัฒนาตัวเองมากขึ้น สองฝ่ายมาเจอกันตรงกลาง ถ้าถึงวันนั้นผมก็มีความสุขแล้ว
หนูลี : อย่างที่เมืองนอก ที่สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ หรือเนเธอร์แลนด์ คนมีฐานะเขาก็สามารถขึ้นรถเมล์ได้ โดยรู้สึกอยากจะขึ้นด้วยซ้ำ ไม่ใช่โดนบังคับให้ขึ้น เพราะเขารู้สึกว่ามันใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นวิธีการเดินทางปกติ ไม่ใช่ระบบที่ทำไว้ให้คนจนเท่านั้น แต่ในบ้านเราคนส่วนใหญ่มองว่า คนขึ้นรถเมล์คือคนจน หรือคนชนชั้นกลาง lower middle class ลงไปเท่านั้น แต่เราคิดว่าจริงๆ แล้วคนระดับไหนๆ ก็สามารถใช้ขนส่งสาธารณะได้ เพราะคำของมันคือสาธารณะ มันต้องทั่วถึงทุกคน
เมื่อคนหันมาใช้มากขึ้น ก็อยากให้รถสาธารณะเห็นคุณค่าในตัวเองแล้วพัฒนาตัวเองมากขึ้น สองฝ่ายมาเจอกันตรงกลาง
ศา : ตอนแรกเราคุยกันนานมากว่า Mayday จะสโคปแค่ไหน จักรยานด้วยไหม มอเตอร์ไซค์รับจ้างล่ะ แต่สุดท้ายเราคิดว่า เราจะมุ่งเรื่องระบบขนส่งสาธารณะระบบหลักซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของการเดินทางในเมือง ก็เลยสรุปกันเป็นรถ เรือ ราง แค่สามระบบ แล้วคุยกันต่อไปอีกว่า ประเด็นมันใหญ่ระดับเมือง งั้นเริ่มจากพื้นที่ที่เราคุ้นชินและทำงานร่วมกับหลายๆ คนอยู่ ก็เลยโฟกัสแค่เฉพาะเกาะรัตนโกสินทร์ก่อน ดังนั้นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือ อยากให้คนในเกาะรัตนโกสินทร์ใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งก็ต้องหาข้อมูลว่าตอนนี้มีคนใช้อยู่เท่าไหร่
หนูลี : แล้วพอเราทำโปรเจ็กต์ของเราเสร็จแล้ว เราก็จะมาดูกันว่าจำนวนมันเพิ่ม มันลด มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร ซึ่งเป้าหมายก็คือลดการใช้รถส่วนตัว เพิ่มการใช้ขนส่งสาธารณะ
เนย : แล้วพอมีคนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้ให้บริการ หรือใครหลายๆ คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ คนที่ควรจะต้องทำมันให้ดีจริงๆ หันมาสนใจ แล้วก็ปรับปรุงมันให้ดีขึ้น อีกอย่างเมื่อมีคนใช้มันมากขึ้น ก็น่าจะมีคนอย่างเรามากขึ้น คนที่มีความทนไม่ได้ว่า เฮ้ย ทำไมมันไม่ดีอะไรขนาดนี้ มันต้องแก้อะไรได้บ้าง แล้วมาช่วยกันหาวิธีแก้ไขด้วยกันมากขึ้น น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า Mayday แค่ 5 คน
The MATTER : มองเรื่องการอยู่รอดของตัวเองไว้อย่างไร
ศา : พวกเราแต่ละคนไม่ได้ต้องการให้มันเป็นธุรกิจหาเงิน เรามองหาวิธีให้มันอยู่ได้ในระยะยาว โดยที่ทำตามเป้าหมายได้ด้วย แต่จะเป็นองค์กรอะไรค่อยว่ากันอีกที ตอนนี้ที่คิดกันคืออยากต่อยอดเป็นเว็บไซต์ที่ให้คนช่วยกันโยนไอเดีย เวลาเจออะไรไม่ดีก็เสนอไอเดียมาว่าแล้วอะไรดี แล้วรัฐอาจจะมา pick up ไอเดียเพื่อเอาไปพัฒนาต่อก็ได้ เป็นสิ่งที่คิดกันอยู่ แต่ว่ายังไม่ตกผลึก
หนูลี : คือแต่ละโปรเจ็กต์มันต้องมีต้นทุนอยู่แล้ว เราอาจต้องทำ crowd funding หรือจริงๆ เราคิดไกลถึงขั้นว่า ถ้ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีงบประมาณอยู่แล้วมารับไปทำเลยจะเป็นไปได้ไหม จริงๆ มันก็มีอีกหลายๆ ทางที่ทำให้โปรเจ็กต์ของเรามันเกิดขึ้นได้
เราเป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่ว่าเราเชื่อว่าของธรรมดาๆ มันสามารถสร้างคุณค่าได้ และสามารถสร้างมูลค่าได้เช่นกัน
ศา : จริงๆ มันก็ต้องมาดูว่าต้นทุนคืออะไร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมันเป็นต้นทุนเวลา ดังนั้นเราก็ต้องแบ่งเวลางานของเรามาทำโปรเจ็กต์นี้ แต่ถ้ามันมีต้นทุนเรื่องเงิน อันนี้ก็ต้องมาดูว่าเท่าไหร่ แล้วจะหาเงินอย่างไร มันก็มีวิธีการมากมาย ตั้งแต่ขอทุนในองค์กรต่างๆ เราคิดว่าเงินไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำต่อ เพราะเราสามารถเคาะต้นทุนออกมาและจัดการมันได้หมดเลย เราคิดว่าถ้าไอเดียมันไม่ดีพอ มันก็คงไม่เกิดขึ้นได้จริงอย่างทุกวันนี้ ถ้าเรายังทำต่อ ยังคิดไอเดียดีๆ อื่นๆ ได้อีก ไอเดียดีๆ เหล่านี้มันสามารถหาเงิน มันสามารถอยู่รอดได้อยู่แล้ว
หนูลี : ใช่ คือไอเดียมันมีคุณค่าในตัว มันสามารถหาเงินได้ สิ่งที่พวกเราทำมันดูโลกสวยมากเลยนะคะ (ยิ้ม) แต่ถ้าโลกไม่สวย มันก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรแบบนี้ ทุกคนบอกว่ามันแย่ แล้วคุณทำอะไรได้บ้างล่ะ เราเองก็เป็นคนธรรมดา เวลาเราไปเล่าให้คนอื่นฟังว่าเราทำอะไรอยู่ ช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ได้ไหม หลายคนจะถามเราว่า แล้วพวกคุณเป็นใคร พวกคุณ 5 คนทำอะไรได้ คุณเป็นองค์กรเหรอ เป็นหน่วยงานเหรอ สังกัดอะไร เราเจอคำถามพวกนี้บ่อยมาก ซึ่งเราก็ตอบไปว่าเราเป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่ว่าเราเชื่อว่าของธรรมดาๆ มันสามารถสร้างคุณค่าได้ และสามารถสร้างมูลค่าได้เช่นกัน
เราแค่ไม่อยากจะชินกับโลกใบนั้น แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แค่เริ่มทำ หรือว่าเริ่มคิด
The MATTER : สุดท้ายนี้อยากบอกอะไรกับคนอ่านไหม
แวน : อยากได้การทดลองใช้และฟีดแบ็กจากคนใช้ ถ้าเรามีโอกาสทำต่อ เราจะได้พัฒนาให้มันเอื้อกับคนใช้ให้ได้มากที่สุด
อุ้ม : เอาจริงๆ ถ้ามองว่าเรารวมกันจากคนที่มาจากความแตกต่างมากๆ แต่ละคนไม่ได้มีพื้นฐานเดียวกันมาเลย แต่ว่ามีพื้นฐานเดียวกันอย่างนึงคือ เราไม่ชอบอยู่ในโลกที่เราไม่อยากจะอยู่ เราจะไม่ชินกับโลกที่เราไม่อยากจะอยู่ เราทำเรื่องแค่นิดๆ หน่อย แต่มันเปลี่ยนได้ ก็ยังดีกว่าพยายามทำตัวให้เคยชินไป ดีกว่าว่ารถเมล์มันไม่ดี ซื้อรถแล้วกัน เพื่อจะได้อยู่รอดไปวันๆ แต่เราแค่ไม่อยากจะชินกับโลกใบนั้น แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แค่เริ่มทำ หรือว่าเริ่มคิด คิดออกแล้วก็แค่หาทางปล่อยมันออกมาให้คนอื่นได้รู้ มันอาจจะเวิร์กจริงๆ ก็ได้
ศา : ตั้งแต่เราคิดโปรเจ็กต์นี้ เปิดเพจ ทำคอนเทนต์แรก จนมาถึงตอนนี้มันเพิ่งผ่านมา 3 เดือนเอง แต่มันเกิดความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เกิดป้ายรถเมล์ที่บอกทางได้ดีขึ้น อย่างน้อยมันสะท้อนว่า ถ้าคุณเห็นปัญหา แล้วคุณทำแบบที่เราทำ เช่นดูว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง เริ่มจากตรงนั้น แล้วก็พยายามผลักดัน หาช่องทาง อย่างเรื่องขนส่งสาธารณะเรารู้ว่าเกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานครโดยตรง เราก็เอาสิ่งที่เราคิดไปเสนอ จะเห็นว่าเวลา 3 เดือนมันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Mayday ได้ที่ www.mayday.city