ความตายของสัตว์เลี้ยงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของสื่อบันเทิง โดยเฉพาะหนังและวรรณกรรม จนมีข้อสังเกตว่า การตายของสัตว์ทำงานต่อความรู้สึกของผู้ชมอย่างลึกซึ้ง ยิ่งกว่าการตายของผู้คนหรือตัวละครต่างๆ ในเรื่องอีก เช่น หนังเอาตัวรอดที่มีสัตว์เลี้ยงอย่างอัลเซเชียน ซึ่งร่วมเอาตัวรอดจากซอมบี้ใน I Am Legend หรือแมวที่โผล่มาเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจาก A Quiet Place: Day One
การตายของสัตว์เป็นเรื่องใหญ่กว่าการตายของคนโดยเฉพาะในหนัง นอกจากการใช้สัตว์แล้ว ยังมีความกังวลเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ เมื่อสัตว์มีผลกระทบและมีความสัมพันธ์กับมนุษย์อย่างซับซ้อน ในแง่หนึ่ง เป็นความสัมพันธ์ซึ่งมนุษย์มักจะหาประโยชน์จากสัตว์ การนำสัตว์มาใช้ในสื่อบันเทิงจึงมักถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องหรือจริยธรรม ทั้งในแง่ของสื่อ และในแง่ของความเป็นมนุษย์ด้วย
กรณีของซีรีส์ที่มีการใช้และนำเสนอภาพของสัตว์ต่อการดำเนินเรื่องจึงมีความน่าสนใจ หลายข้อวิจารณ์มองว่า การใช้สัตว์ไม่ว่าจะเพียงบ่งชี้เรื่องยาพิษ หรือกรณีการนำสัตว์มาเป็นสิ่งประกอบเพื่อความสวยงาม บทบาทของสัตว์ที่มีต่อการดำเนินเรื่องและสุนทรียะ จึงอาจเป็นสิ่งที่เราใช้ตั้งคำถาม และทบทวนความซับซ้อนของการนำเสนอ การใช้ภาพการตายและความตายของสัตว์ในมิติของความบันเทิงของเรา
การถกเถียงเรื่องการชม หรือใช้ภาพการตายของสัตว์ เป็นสิ่งที่ถูกถกเถียงทั้งในแง่ศิลปะภาพยนตร์ และในมิติทางปรัชญา จากบทความทำไมเราถึงชมสัตว์ตาย (Why Look at Dead Animals?) หนึ่งในบทความสำคัญว่าด้วยการเสพภาพจากสื่อบันเทิง ถึงบทความว่าด้วยสูตรการตายที่หมาและแมวมักมีองค์ประกอบต่อเรื่องต่างกัน ไปจนถึงการตั้งข้อสังเกตของหนังเวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ว่าเขาเกลียดแมวหรือเปล่า จากฉากโยนแมวออกจากตึกใน The Grand Budapest Hotel และความตายของหมาที่มักปรากฏในงานของเขาเอง แต่คำตอบของบทความพบว่า การตายของสัตว์นั้นมีความหมายมากกว่าแค่การนำสัตว์มาตายอย่างไร้เหตุผล
ผู้เสพความตายและความหมายของการดูความตาย
ถ้าการดูหนังคือความบันเทิง แล้วอะไรคือความสุข หรือความชมชอบในการชมสิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะสิ่งที่อาจจะไม่ได้สวยงามน่าดู หนังสยองขวัญ การฆ่าฟัน ความเจ็บป่วย และแน่นอนสัตว์ที่ตาย การชำแหละร่าง หรืออาการป่วยไข้ หนังหรือสารคดีหลายเรื่องให้ภาพสัตว์ที่ตายและถูกชำแหละแหวะร่างออก ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความพยายามเข้าใจสุนทรียะของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศิลปะแขนงใหม่ของศตวรรษที่ 20 ว่าพวกมันกำลังทำงานกับเราอย่างไร เราดูแล้วมีความสุข หรือเรื่องราวนั้นๆ ถูกใช้ในหนังอย่างไร
ประเด็นเรื่องการตายของสัตว์ นอกจากความรู้สึกของผู้ชมที่รู้สึกว่า การที่สัตว์ตายสลักสำคัญกับเรามากกว่าคน การนำเสนอภาพการตายของสัตว์ยังเป็นประเด็กถกเถียงทางภาพยนตร์ ซึ่งขยายไปถึงการถกเถียงทางปรัชญา โดยบทความสำคัญหนึ่งคือ งานเขียนในปี 2016 ชื่อ Why Look at Dead Animals? ของซาราห์ โอไบรอัน (Sarah O’Brien) งานเขียนทางภาพยนตร์ศึกษาซึ่งล้อกับงานเขียนปรัชญาที่สัมพันธ์กับสัตว์ระดับตำนานคือ Why Look at Animals? ของจอห์น เบอร์เกอร์ (John Berger)
งานเขียนทั้ง 2 ชิ้นดังกล่าวพาไปสำรวจความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ โดยงานเขียนของซาราห์ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมวงการหนังถึงมีความหมกมุ่นกับการเสนอและเสพภาพการตายของสัตว์ เช่น สารคดีสัตว์โลกที่ให้ภาพการตาย และการถูกชำแหละของสัตว์ป่า ไปจนถึงการสำรวจหนังจำนวนมากที่ใช้การฆ่าและชำแหละเชือด รวมถึงโรงเชือด ด้วยคำถามสำคัญคือ ทำไมความรุนแรงและการฆ่าจึงถูกนำเสนอ ทำไมหนังที่ควรจะให้ความรื่นรมย์ (pleasure) กับเรากลับนำเสนอภาพเหล่านี้แทน และทำไมเราถึงจ้องมองไปที่ร่างและการตายของสัตว์ตามชื่อบทความ
ประเด็นการถกเถียงเรื่องการเสนอและเสพภาพร่างของสัตว์ค่อนข้างซับซ้อน แต่ที่บทความชี้ให้เราเห็นถึงภาพที่ไม่น่าดูนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการให้ภาพความตายที่ล้อไปกับการตายของมนุษย์ คือใช้ร่างของสัตว์เป็นภาพแทนความตาย และความเป็นไปทางธรรมชาติของเรา หลายครั้งสายตาของกล้องกำลังท้าทายกับจริยธรรมของการนำเสนอความตาย ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามผ่านภาพความตายของสัตว์ คือเรามักจะไม่พูดถึง หรือดูภาพการตาย แต่สัตว์ที่ตายนับเป็นสุนทรียะอย่างหนึ่ง โดยในหลายความคิดยังมองว่า ลึกๆ แล้ว เราเองก็ชอบดูสิ่งที่ไม่สวยงามและรุนแรง
ในแง่การให้ภาพการตายของสัตว์โดยทั่วไปนั้นเป็นภาพทางเทคนิค ไม่ได้นำสัตว์มาแสดงภาพความทรมาน หรือเสี่ยงตายจริง เรื่องนี้ด้วยตัวมันเองถือเป็นอีกหนึ่งการถกเถียงที่ยาวนาน และความตายของสรรพสัตว์บนหน้าจอนั้น ก็มีความหมายกับมนุษย์เราในระดับปรัชญาอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง
ความลึกซึ้งของการตายของสัตว์เลี้ยง
จากการตายซึ่งเป็นที่ถกเถียงด้านปรัชญา ส่วนหนึ่งสะท้อนการทบทวนเรื่องความสัมพันธ์ การฉวยใช้ และความเอารัดเอาเปรียบที่มนุษย์เรามีต่อสัตว์ หรือความสัมพันธ์ซับซ้อนในแง่อื่นๆ การตายของสัตว์เลี้ยงในหนังและวรรณกรรมจึงเป็นสิ่งที่มักปรากฏอยู่ และมักส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชมแบบเราๆ แม้บางครั้งการตายของสัตว์จะเป็นตัวการ์ตูน เป็นอนิเมชั่น ซึ่งไม่มีอยู่จริง โดยก็มีบทความเขียนถึงการตายที่มีผลต่อเรา เช่น บทความทำไมความตายของสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริงทำให้เราเศร้านัก (Why Do Fictional Animal Deaths Make Me So Sad?)
บทความดังกล่าวบอกโดยสังเขปว่า การตายของสัตว์ในหนังและวรรณกรรมมักถูกวางให้เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง ส่วนหนึ่งความตายของสัตว์ถือเป็นตัวแทนของการสูญเสีย การสะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึก เมื่อเรารับรู้ว่าสิ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา กระทั่งถ้าเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์อื่นๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องหรือมนุษย์ พวกมันยิ่งเป็นตัวแทนของมิตรภาพ การรักตัวกลัวตาย การตกเป็นเหยื่อ ซึ่งการตายเหล่านี้มักเป็นบทเรียนของชีวิตที่เราได้เรียนรู้ธรรมชาติ ความเป็นไปของโลก หรือกระทั่งความโหดร้ายของมนุษย์ที่มีต่อสรรพชีวิตอื่นๆ
ในด้านหนึ่งจึงอาจพูดได้ว่า เมื่อเราผ่านความรู้สึกละเอียดอ่อนของการนำเสนอภาพการตายของสัตว์ต่างๆ เหล่านั้นแล้ว จะทำให้ความรู้สึกของเราได้รับการขัดเกลาขึ้น อ่อนโยนขึ้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นบทบาทที่น่าสนใจในการใช้ภาพความตายของสัตว์ในสื่อบันเทิง
Cartrifice ปมปัญหาเรื่องการฆ่าแมว
แม้ว่าโดยลึกๆ ผู้สร้างหนังรวมถึงงานเขียนต่างๆ จะไม่ได้ทรมานสัตว์จริง แต่การตายของสัตว์โดยเฉพาะการฆ่าแมวเองก็ยังเป็นประเด็นปัญหา หมายความว่าไม่ต้องเอาแมวจริงๆ มาแสดง มาทรมานจริง แค่มีการลงมือฆ่าแมวก็เป็นเรื่องราวที่ผู้ชมและนักวิจารณ์สามารถนั่งขบคิดและวิพากษ์ได้ หนึ่งฉากในการฆ่าแมวสำคัญคือ การโยนแมวลงจากตึกใน The Grand Budapest Hotel ซึ่งเป็นการฆ่าแมวในหนังเพื่อผลประโยชน์ของการเล่าเรื่อง โดยมีนิยามเรียกว่า Cartrifice หรือการสังเวยแมว
จากการฆ่าแมว ซึ่งในเรื่องเป็นการโยนแมวลงจากตึกโดยไม่มีฉากหล่น ฉากโยนเป็นคอมิก แล้วค่อยตัดฉากเป็นภาพร่างแมวบนพื้นแบบไกลๆ (The Grand Budapest Hotel เป็นหนังฉูดฉาดและเซอร์เรียล) แต่การตายดังกล่าวก็ทำให้เกิดบทวิจารณ์ว่าด้วยสัตว์ในหนังหลายชิ้น
เช่นบทความ The Difference Between (Dead) Cats and Dogs in Film เปิดประเด็นจากกระแสความไม่เท่าเทียมที่ฮอลลีวูดกำลังตื่นตัว โดยชี้ให้เห็นว่า ในโลกของสัตว์ หมาและแมวถูกนำเสนอภาพและถูกใช้ในเรื่องไม่เท่ากัน การสังเวยแมวในตัวเรื่องของเวสนั้นมีนัยปลูกฝังความรุนแรงก็จริง แต่ภาพการตายของแมวกลับมีลักษณะรวดเร็ว ไม่อินังขังขอบ และออกไปทางชวนหัวตลกขบขัน ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า การตายของสัตว์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของหมา ซีนการตายที่แช่มช้า เป็นฮีโร่ โดยการตายที่เศร้าที่สุดในหนังล้วนเป็นหมาไปแล้ว 5 ใน 10 เช่น หมาจาก I Am Legend หรือจาก Marley and Me และก็มีสปีชีส์จากแมวที่ไม่ได้เป็นแมวแค่ตัวเดียวคือ มูฟาซาจาก The Lion King
และจากความตายของแมวในหนังเวส ก็เกิดบทวิจารณ์ที่มีชื่อน่าสนใจจากนิวยอร์กเกอร์ว่า ตกลงแล้วเวสเกลียดแมวไหม? (Does Wes Anderson Hate Cats?) โดยสรุปแล้วนักวิจารณ์ชี้ให้เห็นว่า การนำเสนอภาพการตายของสารพัดสัตว์ จากปลาทอง หมา ถึงแมว ที่ดูไร้แก่นสาร แท้จริงแล้วหนังของเวสใช้การตายที่เฉยชาและชวนหัวเหล่านั้นเป็นตัวแทนของประสบการณ์ร่วม ใครหลายคนอาจเคยต้องเอาปลาไปทิ้ง ฝังแมวลงในผืนดิน สรรพสัตว์ตายและถูกทิ้งไป สุดท้ายไม่ใช่แค่พวกมัน แต่คือพวกเราเองที่จะต้องถูกทิ้งและลืมเลือนหายไปไม่ต่างกัน
สุดท้ายจากการนำเสนอและใช้การตายของสัตว์บนหน้าจอ ถ้าเรามองย้อนไปอย่างยาวนาน มนุษย์และสัตว์มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน ความตาย และการเสพความตาย ไปจนถึงการฉวยใช้ความตายของพวกมัน เป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยความหมาย
ข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจคือ การใช้ความตายซึ่งคือความรุนแรงของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นเรื่องสลักสำคัญ ถูกทำอย่างไม่สลักสำคัญนั้น จึงเป็นอีกส่วนของการวิจารณ์ต่อมุมคิด ทัศนคติ และความรับผิดชอบในฐานะมนุษย์ เป็นการสำรวจความหมายของความเป็นมนุษย์จากปฏิบัติการของเราที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่น
อ้างอิงจาก