Metaverse น่าจะเป็นคำศัพท์จากข่าวสาย IT ที่ร้อนแรงสุดๆ ในช่วงปลายปี ค.ศ.2021 นี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ทางเฟซบุ๊กได้ทำการเปลี่ยนชื่อของบริษัทตัวเองมาเป็น ‘Meta’ และทาง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้บริหารของ Meta ก็ได้ออกออกปากว่า การเปลี่ยนชื่อบริษัทครั้งนี้มาจากการที่ตัวบริษัทต้องการจะเป็นมากกว่าสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งยังบ่งชี้ว่า บริษัทจะมุ่งหน้าไปสู่ Metaverse หรือโลกเสมือนจริง ที่จะใช้เทคโนโลยีทั้ง Virtual Reality (VR) กับ Augment Reality (AR) ในการสร้างโลกดังกล่าว รวมไปถึงว่า อาจจะดึงเอาเทคโนโลยี Non-Fungible Token (NFT) กับบิตคอยน์มาใช้งานเป็นวัตถุหรือเอกสาร สำหรับการแลกเปลี่ยนชำระหนี้แทนเงินสดในโลกเสมือนนั้นแทน
แต่ก่อนจะวนเวียนไปเรื่องเทคโนโลยีกันมากกว่านี้ เราขอชวนมาพูดกันก่อนว่า ตัวคำว่า Metaverse นั้น ไม่ได้เป็นคำศัพท์ที่พี่มาร์คของเราสร้างขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการหยิบคำศัพท์ที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในนิยาย Snow Crash ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1992 มาใช้งาน โดยคำดังกล่าวเป็นการสมาสคำว่า Meta จากภาษากรีกที่แปลว่า ‘ล้ำหน้า, เหนือกว่า’ กับ คำว่า Universe หรือ จักรวาล ในภาษาอังกฤษ เพื่อใช้อ้างอิงถึงโลกอินเทอร์เน็ตในอนาคตที่สร้างอวตาร์และมีปฏิสัมพันธ์กันได้จริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของโลก IT ในปัจจุบันแล้วนั่นเอง
ด้วยความที่ต้นทางของ Metaverse มาจากวัฒนธรรมป๊อป เราจึงอยากพูดคุยถึงงานจากวัฒนธรรมป๊อปหลายเรื่องที่บรรยายถึงการใช้เป็นโลกที่มนุษย์เข้าไปในโลกนั้น มีอวตาร์แยก สามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานคนอื่นได้ รวมถึงเหล่าโปรแกรมภายในนั้น และมีฟีดแบ็คตอบสนองกลับมาในระดับหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้พอเห็นภาพว่า ในอนาคตข้างหน้านี้ Metaverse จะมีโอกาสนำพาเราไปเจอเรื่องใดได้บ้าง
Ready Player One
ถ้าหากจะยกสื่อที่เล่าภาพในเรื่อง ให้เข้าใจถึงเรื่อง Metaverse ที่เห็นภาพและเข้าถึงได้ง่ายที่สุดเรื่องหนึ่งก็คงไม่พ้นภาพยนตร์ Ready Player One ซึ่งเป็นการดัดแปลงนิยายของ เออรเนสต์ ไคลน์ (Ernest Cline) ซึ่งตัวผู้แต่งนิยายต้นฉบับก็รับหน้าที่ร่วมดัดแปลงและเขียนบทภาพยนตร์อีกด้วย
Ready Player One เล่าเรื่องของโลกในปี ค.ศ.2045 ที่มนุษยชาติใช้ระบบความบันเทิงแบบ VR สมจริง ไม่ว่าจะด้านภาพลักษณ์รวมถึงการสัมผัสตัว ชื่อ OASIS เพื่อหนีความจริงอันโหดร้ายบนโลก จนกระทั่งวันหนึ่ง เจมส์ ฮัลลิเดย์ หนึ่งในผู้สร้าง OASIS เสียชีวิตและประกาศว่า เขาได้ทิ้งเกมเพื่อชิงการเป็นเจ้าของระบบ OASIS เอาไว้ และทำให้ เวด วัตส์ ที่มีอวตาร์ชื่อ พาร์ซิวัล อุทิศตนในการตามหาไข่อีสเตอร์ดังกล่าว โดยต้องแข่งขันกับเหล่าทีมนักล่าของบริษัท IOI ที่ต้องการครอบครองเกมดังกล่าวเช่นกัน
ตัวระบบ OASIS ที่เห็นในเรื่องนั้น ถือว่าเป็นการนำเสนอระบบ Metaverser ที่คล้ายกับ ระบบบนโลกจริงหลายประการ อย่างตัว VR แบบสวมหัวในลักษณะใกล้เคียงกับ Oculus, VR ระบบยึดตัวผู้ใช้ไว้กับ VR เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้ทั้งบนโลกจริง และ VR ที่จะดูเกินจริงแต่ไม่เกินจริง ก็จะมีระบบผิวสัมผัสที่ใช้กับระบบ VR ซึ่งยังไม่มีให้ใช้งานจริงในปี ค.ศ.2021 นี้ แต่ก็มีนักวิจัยเริ่มทำการพัฒนาระบบดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว และคงใช้เวลาอีกไม่นานมากนักที่จะมีการวางจำหน่ายระบบดังกล่าวในเชิงพาณิชย์
อย่างไรภาพยนตร์นั้นมีการปรับลดโทนของ OASIS ในเรื่องลงไปเล็กน้อย เพราะในตัวนิยายดั้งเดิมนั้น VR ดังกล่าวไม่ได้มีแค่ความบันเทิง แต่ยังมีทั้งระบบธนาคาร ระบบเงินตราของตนเอง ระบบการศึกษา รวมไปถึงระบบการเลือกตั้งก็สามารถทำใน OASIS ได้ด้วย และน่าคิดว่า Metaverse บนโลกจริง จะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่
Tron
ยังอยู่ในฟากภาพยนตร์กัน คราวนี้เป็นงานเก่าออกสักหน่อย แต่ก็มีแนวคิดที่ล้ำยุคไปหลายช่วงตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Tron ที่ออกฉายในปี ค.ศ.1982
ตัวภาพยนตร์ต้นฉบับเล่าเรื่องของ เควิน ฟลินน์ อดีตโปรแกรมเมอร์มือดีที่มาเปิดร้านเกมตู้ เพราะถูกขโมยผลงานไปขายต่อ และเขาใช้เวลาว่างในการพยายาม Hack ข้อมูลจากบริษัท ENCOM ที่ขโมยงานเขาไป แต่ทุกครั้งก็ถูก Master Control Program หรือ MCP ขัดขวางไว้ เควิน จึงต้องใช้วิธีลักลอบไปขโมยข้อมูลโดยตรง
ทว่า MCP กลับควบคุมอุปกรณ์ในห้องเซิร์ฟเวอร์และทำการดึงตัวของ เควิน ไปยังโลกดิจิตัลแทน และเขาได้พบกับโปรแกรมที่มีอารมณ์ความรู้สึก ประหนึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต ก่อนที่เขาได้โปรแกรมร่วมมือต่อสู้กับ MCP และเอาชนะโปรแกรมดังกล่าว จนสามารถกลับโลกจริงและได้ข้อมูลว่าเกมของเขาโดนขโมยไปจริง
ถ้าเอาในแง่เทคโนโลยีในภาพยนตร์นั้น Tron อาจจะเล่าเรื่องดูเหนือจริงไปไม่น้อย แต่ก็วางคอนเซ็ปต์ให้เห็นภาพว่า ถ้าวันหนึ่งเทคโนโลยีอาจจะสร้างโลกดิจิตัลที่สามารถสแกนร่างกายคนให้เป็นข้อมูลดิจิตัลได้ เราก็อาจจะได้พบเจอโลกเสมือนขั้นเหนือกว่าได้แบบที่ภาพยนตร์นำเสนอไว้
ภาคต่อของภาพยนตร์อย่าง Tron Legacy ยังได้ขยายแนวคิด Metaverse ต่อไปจากภาคแรก แต่มีพื้นเพใกล้เคียงความจริงมากขึ้น เพราะในภาคต่อ เควิน ได้ใช้ระบบที่สแกนคนไปสู่โลกดิจิตัล ทำการดึงตัวเองเพื่อไป โลกดิจิตัลที่ชื่อว่า เดอะกริด (The Grid) ขึ้นมา ตัวโลกดังกล่าว เต็มไปด้วยระเบียบ ปราศจากโรคภัย และห้วงเวลาในโลกใบนี้ไหลเวียนแตกต่างจากโลกมนุษย์ปกติ
ทำให้ในมุมหนึ่ง โลกใบนั้นถือว่าเป็นอุดมคติเลยทีเดียว และเป็นไปได้ที่จะสามารถดึงมนุษย์คนอื่นเข้ามาร่วมใช้งานได้ นอกจากนั้นในโลกใหม่ดังกล่าวยังมี ISO (Isomorphic Algorithm) สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่โปรแกรม และเกิดขึ้นมาเองในโลกดิจิตัล หลังจาก เควิน ปรับปรุงโลกดิจิตัลไประดับหนึ่งแล้ว
อีกจุดที่ Tron Legacy ตีความได้ดีก็คือ เป็นไปได้ที่มนุษย์กับโปรแกรมจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิตัลร่วมกันได้ เพียงแค่ว่า โปรแกรมนั้นต่อให้มีความรู้สึกนึกคิด ก็ยังอยู่ในกรอบเท่าที่มนุษย์ระบุขอบเขตที่ทำได้เท่านั้น
แน่นอนว่า Metaverse ในระดับของ Tron กับ Tron Legacy จะอยู่ห่างไกลจากเทคโนโลยีของมนุษย์อยู่มาก แต่ ณ จุดที่โลกปัจจุบันนี้มีนักวิจัยของทาง MIT เริ่มพัฒนา Augmented Eternity หรือการประมวลข้อมูลของบุคคลให้กลายเป็น A.I. ที่สามารถโต้ตอบกับมนุษย์ในโลกจริงได้ ดังนั้น เรื่องของสิ่งมีชีวิตดิจิตัลอาจจะยังไม่เป็นจริงง่ายๆ แต่ตัว A.I. ที่โต้ตอบประหนึ่งสิ่งที่มีอารมณ์คงไม่ใช่อะไรไกลเกินตัวขนาดนั้นแล้ว
Free Guy
หาก Tron และ Torn Legacy คุยเรื่องโปรแกรมมีชีวิตจิตใจไปแล้วเรามีภาพยนตร์อีกเรื่องที่อาจจะลดสเกลของโลกเสมือนให้เล็กลงจนเหลือแค่เกมออนไลน์เกมหนึ่ง แต่ไปขยายประเด็นเกี่ยวกับโปรแกรมมีชีวิตเพิ่มขึ้น แม้ว่าโครงเรื่องหลักของภาพยนตร์เรื่อง Free Guy จะเล่าในสไตล์ตลกผสมแอ็กชั่นก็ตามที
Free Guy เล่าเรื่องของ กาย ชายในเสื้อเชิ้ตสีฟ้า ผู้เป็นพนักงานในธนาคารที่โดนคนใส่แว่นกันแดดปล้นเป็นประจำ และตัวเขาก็เฝ้าเหม่อถึงหญิงสาวในฝัน แต่จริงๆ แล้วเขาเป็นตัวละครที่ผู้เล่นควบคุมไม่ได้ (NPC – Non-Player Character) ภายในเกม Free City และหลังจากพบหญิงสาวในฝันคนนั้น กายก็พยายามใช้ชีวิตออกนอกกรอบมากขึ้น จนเขาข้ามผ่านจาก NPC เป็นปัญญาประดิษฐ์ ที่มีความรู้สึกตัวตนจริงๆ ขึ้นมา แถมยังเกลี้ยกล่อมให้ NPC ตัวอื่นๆ พัฒนาตนเองเข้าได้
ถ้าเอาในแง่ โลกเสมือนแล้ว Free Guy ไม่ได้เล่าอะไรที่สมจริงนัก ด้วยเหตุที่ว่าตัวเกมก็ไม่ได้เป็นระบบ VR แต่เริ่ม อย่างไรก็ตามรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมในเกมที่มีเรียนรู้และเติบโตขึ้นมาเองนั้น พอจะมีเค้าโครงความจริงอยู่บ้าง เพราะเทคโนโลยี Machine Learning ในโลกปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แล้ว ทั้งยังมีการพัฒนาการต่อดยอดแขนงงานวิชาการดังกล่าวไปอีก
และในวันที่ Metaverse กลายเป็นที่นิยมวงกว้างแล้ว A.I. ที่มีความสามารถสูงก็น่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือมนุษย์ดูแลโลกใหม่ที่กว้างใหญ่ได้ กระนั้น คงจะต้องใช้เวลาอีกระยะใหญ่ที่เราจะเห็นปัญญาประดิษฐ์ที่ทั้งน่ารักและป่วนใจแบบเหล่าตัวละคร NPC ในภาพยนตร์เรื่องนี้
Black Mirror : Striking Vipers
พูดถึงเรื่องราวความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกันทั้งที จะไม่พูดถึงซีรีส์ที่มีไอเดียตั้งต้นเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์เทคโนโลยี จะทำให้คนเราเปลี่ยนแปลง (ส่วนใหญ่จะเป็นทางร้าย) ได้ขนาดไหนอย่าง Black Mirror กระนั้นเราขอหยิบจับตอนใหญ่ของซีรีส์ที่เราคิดว่า เป็นตอนที่รู้สึกใกล้ตัว และชวนให้ครุ่นคิดต่อในหลายทิศทางอยู่ไม่น้อยว่า Metaverse อาจทำให้ความสัมพันธ์ของคนขยับเขยื้อนไปในทิศทางที่ไม่คาดฝัน อย่าง Striking Vipers
Black Mirror ตอนดังกล่าวพูดถึงแดนนี่กับธีโอ เพื่อนสองคนที่เคยสนิทสนมแถมยังเป็นคู่ดวลวิดีโอเกมต่อสู้ที่ชื่อ Striking Vipers แต่เวลาและพันธะทำให้พวกเขาแยกห่างกัน จนกระทั่ง 11 ปี ให้หลัง ทั้งสองมาพบกัน และธีโอได้ซื้อเกม Striking Viper X เกมภาคต่อที่ต้องใช้อุปกรณ์ VR ในการเล่น โดยตัว VR ที่ว่านั้นสร้างความรู้สึกและสัมผัสเหมือนจริงอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายจริงๆ ของผู้เล่นก็ตาม แต่กลายเป็นว่า การกลับมาดวลเกมต่อสู้กันทำให้เพื่อนสองคนอาจจะข้ามเส้นความสัมพันธ์ที่ในเวลาปกติพวกเขาไม่อาจจะทำกันได้
หากเทียบตามมาตรฐานของ Black Mirror แล้ว ตอนนี้อาจจะไม่ได้มืดมนมากนัก แต่ประเด็นความสัมพันธ์ที่เกิดในโลกเสมือนจริง ระดับที่รูปลักษณ์ และสัมผัสที่เปลี่ยนไป จะทำให้ความรู้สึกในใจของคนจริงเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่นั้นน่าสนใจไม่น้อย เพราะแค่ในปัจจุบันนี้ ผู้คนที่พบเจอกันในโลกสมมติอย่าง เกมออนไลน์ หรือบริการนัดบอด ก็ยังเคยเผลอใจไปชอบบุคคลที่ไม่ได้สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดเดิมของตัวเองได้
แล้วถ้ามีระบบ Metaverse ที่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปอย่างไรก็ได้ จิตใจของคนเราจะมั่นคงในตัวตนดั้งเดิมสักแค่ไหน หรือบางทีคนเราอาจจะเปิดใจกันมากขึ้นเพราะโลกเสมือนเหล่านั้นก็เป็นได้
Sword Art Online
ข้ามฟากจากฝั่งภาพยนตร์คนแสดง มายังวัฒนธรรมป๊อปฝั่งญี่ปุ่นกันบ้าง เพราะหลายๆ คนที่ติดตาม มังงะ, อนิเมะ, ไลท์โนเวล รวมถึงเกมต่างๆ อาจจะไม่ได้รู้สึกแปลกใหม่นักเมื่อได้ยินเรื่อง Metaverse เพราะประเด็นนี้ ถ้าอธิบายขำๆ ก็ต้องบอกว่าวัฒนธรรมป๊อปฝั่งญี่ปุ่น หยิบยกมาใช้งานกันบ่อยครั้ง จนแทบจะกลายเป็นเรื่องสามัญธรรมดากันไปแล้ว
เพราะฉะนั้นถ้าจะหยิบยกงานแมสๆ มาสักเรื่องที่มีกลิ่นอายและองค์ประกอบแบบ Metaverse ตัวเลือกเลยมีจำนวนมากมาย แต่ถ้าจะหยิบจับงานสักเรื่องที่ชัดเจนว่า โลกเสมือนนั้นไปไกลได้ขนาดไหนและกระทบกับชีวิตผู้คนได้อย่างไร เรื่องแรกที่เราขอหยิบมาพูดก่อนก็คือ Sword Art Online นั่นเอง
ณ ช่วงต้นของ Sword Art Online เล่าเรื่องของโลกในปี ค.ศ.2022 ที่มีเครื่องเกมซึ่งสามารถเชื่อมต่อระบบประสาทของผู้ใช้งาน เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงไปยังประสาทสัมผัสทั้งห้าได้ อย่างไรก็ตามตัวเกม Sword Art Online ที่เป็นเกมออนไลน์สำหรับผู้เล่นจำนวนมากเสมือนจริง หรือ VRMMO เกมแรก กลับกลายเป็นตัวก่อเหตุร้ายที่ทำให้ผู้เล่นเกมเรือนหมื่นติดอยู่ภายในเกม พร้อมทั้งเงื่อนไขว่า ถ้าตายในเกมก็จะตายในโลกจริงด้วย และผู้สร้างเกมได้วางเงื่อนไขว่า การจะออกจากเกมนี้ได้ก็คือการพิชิตเกมแห่งนี้ให้สำเร็จเท่านั้น
SAO อาจจะโดนพูดถึงและจดจำในฐานะความ ‘เทพทรู’ ของเหล่าตัวละครภายในเรื่อง แต่ถ้าในฝั่งนิยายต้นฉบับ คุณคาวาฮาระ เรกิ ก็ได้ลงรายละเอียดในแง่เทคโนโลยีตามท้องเรื่องอยู่บ้าง อย่างประเด็นของโปรแกรมที่เกิดและมีชิวตในเกมคล้ายๆ กับที่ Tron Legacy รวมไปถึงเทคโนโลยี VR กับ AR น่าจะไปใช้กับกลุ่มคนเปราะบางอย่างไร เป็นอาทิ
ส่วนที่น่าเสียดายนิดหน่อยก็น่าจะเป็น การที่ตัวละครในเรื่องอาจจะรับรู้ว่า โลกเสมือนกระทบกับโลกจริงอย่างมากเช่นไร ด้วยเหตุที่ Sword Art Online โฟกัสไปที่เรื่องราวของตัวละครมากกว่านั่นเอง
Den-Noh Coil
อย่างที่บอกกล่าวไปก่อนหน้านี้ครับว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นงานจากวัฒนธรรมป๊อปจำนวนมากเหลือเกินที่ชวนให้นึกถึง Metaverse ยกตัวอย่างเช่นงานที่เกี่ยวข้องกับเกมแนว VRMMORPG อย่าง Overlord, Log Horizon, .//hack หรือ Infinite Dendrogram ไปจนถึงงานที่มีองค์ประกอบในเรื่องที่เหมือนเป็น Metaverse อย่างเช่นใน Psycho-Pass หรือมีกลิ่นอายชวนให้คิดว่า ‘นี่ควรนับเป็น Metaverse หรือเปล่านะ?’ อย่าง Digimon หรือจะหยิบเอางานที่แบ่งเส้นระหว่างโลกจริงกับโลกอินเตอร์เน็ตอย่าง Serial Experimental Lain ดี?
อย่างไรก็ตาม เราตัดสินใจหยิบงานที่อาจจะเป็นที่รู้จักน้อยกว่าเรื่องอื่นสักหน่อยอย่าง Den-Noh Coil มาแนะนำแทนนั้น เพราะเราเห็นว่า อนิเมะเรื่องดังกล่างเล่าเรื่องของเด็กในยุคหน้า ที่พวกเขาอาจจะไม่ได้มอง Metaverse เป็นเรื่องแปลกแยก แต่เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของพวกเขาไปเลย
Den-Noh Coil เล่าเรื่องของโลกในปี ค.ศ.2026 ที่ระบบคอมพิวเตอร์พัฒนามากพอที่จะสามารถทำให้คอมพิวเตอร์ถูกติดตั้งในแว่นตาได้ และอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้ใช้งานและสัมผัสโลก AR ได้ อย่างไรก็ตามในระบบดังกล่าวนั้นยังมีความผิดพลาดหรือที่ในเรื่องเรียกว่า ‘อิลลีกัล’ (Illegal) อยู่ด้วย และเด็กๆ ในเรื่องต่างพยายามทำความเข้าใจว่ากลุ่มความผิดพลาดนั้น สามารถนำทางไปสู่ ‘โลกอีกด้านหนึ่ง’ ที่มีความลับเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติ
ตามที่กล่าวไปครับว่า Den-Noh Coil เล่าเรื่อง Metaverse แถมยังมีความพร่าเลือนในโลกสองใบอย่างจริงจัง เพราะในกลุ่มตัวละครเอกซึ่งเป็นเด็กนั้น ถูกวางตัวชัดเจนว่าเป็นเด็กยุค Digital Native ที่คุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์ทันสมัยอย่างปกติ เราจะได้เห็นทั้งเด็กๆ ที่เข้าใจว่า Bug ในระบบ AR คืออะไร, การรับมือกับการแฮ็คต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่คนอายุน้อยชำนาญกว่า, ในทางกลับกัน ผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีล้ำยุคก็มีอยู่เช่นกัน แม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้อาจจะถูกฉาบเคลือบด้วยเนื้อเรื่องที่คล้ายจะเป็นเรื่องลึกลับแบบผีสางก็ตามที
ประเด็นหนึ่งที่ตอนอนิเมะออกฉายครั้งแรกในปี ค.ศ.2007 อาจจะโดนมองข้ามไป แต่ ณ ช่วงหลังนี้ก็ทำให้เราชวนคิดถึงมากขึ้นก็คือ เด็กในยุค Digital Native จะพบเจอปมปัญหาอะไรกันจากโลกเสมือนได้บ้าง เพราะในอนิเมะเรื่องนี้ทำให้เห็นว่า มีผู้ใหญ่จำนวนไม่มากนัก ที่ตามปัญหาของเด็กเหล่านี้ทัน และเมื่อวันหนึ่งที่ Metaverse เข้าถึงมือเด็กได้จริง ก็ยากที่จะคาดเดาได้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาบ้างในช่วงเวลานั้น
Summer Wars
ภาพยนตร์ที่ออกฉายครั้งแรกในปี ค.ศ.2009 อย่าง Summer Wars เป็นงานอนิเมะจากญี่ปุ่นที่เล่าเรื่องของ Metaverse ได้เห็นภาพว่า หากโลกเสมือนมีจริง และโลกดังกล่าวยังสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย โลกใบนั้นจะสร้างผลกระทบทั้ง ดีและร้ายต่อโลกแห่งความจริงได้อย่างไรบ้าง
โครงเรื่องของ Summer Wars นั้นออกจะวุ่นวายสักหน่อย แต่โลกในภาพยนตร์นั้นมีโลกจำลองบนอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อได้จากอุปกรณ์หลากหลาย ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือฝาพับสไตล์ญี่ปุ่น ไปจนถึงระบบ VR หรือแม้แต่โทรทัศน์ก็สามารถเชื่อมระบบที่ใช้ชื่อว่า OZ ได้
และกิจกรรมแทบทุกอย่างบนโลก ไม่ว่าในส่วนของภาครัฐกับภาคเอกชน ก็สามารถทำงานต่างๆ บนระบบนี้ได้ จนเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นในฤดูร้อนหนึ่งที่มีปัญญาประดิษฐ์ชื่อ เลิฟแมชชีน (Love Machine) เข้ามายึดครองอวตาร์ของผู้ใช้งานใน OZ จนทำให้เกิดปัญหาภายในระบบดังกล่า และมีเพียง โคอิโซะ เคนจิ กับ เหล่าสมาชิกในตระกูลใหญ่ ที่สามารถหาทางหยุดยั้งหายนะครั้งนี้
OZ ภายใน Summer Wars ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นภาพลักษ์ณของ Metaverse ในอุดมคติ นับตั้งแต่การสร้างอวตาร์ที่สร้างได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องมีรูปลักษณ์ทรงมนุษย์เท่านั้น, มีการแปลภาษาด้วยเครื่องจักร, มีการแยกกลุ่มสังคมตามความชอบ และอวตาร์ในโลกดังกล่าว สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย ทั้งยังกระทบต่อโลกโดยตรง อย่างที่ในเรื่องก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อโดนเลิฟแมชชีนปั่นป่วน OZ ก็ทำ ระบบการจราจร, ระบบประปา, ระบบธนาคาร, ระบบสาธารณสุข ฯลฯ เกิดปัญหาอย่างมหาศาลแทบจะทันใด
และอีกสิ่งที่ Summer Wars บอกเล่าได้ดีก็คือ ต่อให้มีระบบที่ทันสมัย แพลตฟอร์มที่ล้ำยุค แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ก็ยังมีความจำเป็นต้องเข้าถึงด้วยการเปิดใจระหว่างคนด้วยนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
YouTube Channel: CineFix