จะดีแค่ไหน ถ้าซีรีส์ที่เราดู หนังที่เราติด สามารถกลายมาเป็นวิชาเรียนในโรงเรียนได้
ประเทศไทยเรามีโรงเรียนที่เปิดสอนวิชาจากซีรีส์ และนิยายชื่อดังอย่าง ‘Game of Thrones and Social Studies’ ที่ไม่ได้เพียงแค่เปิดหนังให้ดูในคาบ แต่ยังมีการเอาวิชาการต่างๆ ในสังคมศาสตร์ อย่างประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง เศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องของเพศ มาจับ วิเคราะห์ เปิดวงให้นักเรียนได้พูดคุย ถกเถียงกันในห้อง
และในช่วงที่ใครหลายๆ คนกำลังลุ้นกับ Game of Thrones ซีซั่นสุดท้าย ว่าใครจะตาย ไม่ตาย หรือใครจะได้ครองบัลลังก์ The MATTER ไปชวน ครูแม็ก สุรไกร นันทบุรมย์ และครูคิน ภาคิน นิมมานนรวงศ์ 2 ครูสังคมศึกษา แห่งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ผู้เปิดวิชาเลือกของซีรีส์เรื่องนี้ มาพูดคุยถึงวิชานี้ และ Game of Thrones ในมุมมองของครูสังคมศาสตร์กัน

ครูคิน ภาคิน นิมมานนรวงศ์ (ซ้าย) และครูแม็ก สุรไกร นันทบุรมย์ (ขวา)
The MATTER: ทำไมถึงเกิดเป็นวิชา Game of Thrones and Social Studies ได้
ครูแม็ก: มันเกิดจากความสนใจของครูก่อน คือเราดู Game of Thrones และเราก็ชอบ เพราะว่ามันเป็นซีรีส์ที่ค่อนข้างเข้มข้น และนำเสนอด้านที่เราไม่เคยเห็นซีรีส์เรื่องไหนที่ทำแบบนี้มาก่อน เอะอะคนก็ตาย และก็ตาย ทั้งมันยังเสนอหลายเรื่องมาก ซึ่งเราก็มาถามเพื่อนร่วมงานของเรา คือคินว่าดูเรื่องนี้เหมือนกันหรือเปล่า
เราอยากทำอะไรสนุกๆ เราไปเปิดดูว่ามันมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ในโลก ที่เปิดวิชาเกี่ยวกับ Game of Thrones เช่นที่ Harvard ที่สอนประวัติศาสตร์ยุคกลาง หรือบางที่ที่สอนเกี่ยวกับวรรณคดี เราจึงคิดว่ามันน่าจะเอามาสอนกับเด็กที่โรงเรียนเราได้เราเลยชวนคิน มาเปิดวิชานี้กัน
The MATTER: เนื้อหาที่สอนในวิชานี้มีอะไรบ้าง
ครูแม็ก: อย่าง Harvard เค้าเอาประวัติศาสตร์ยุคกลางมาจับ เพราะว่าแบ็คกราวน์ของเรื่องมันเป็นอย่างนั้น แต่เราไม่ใช่มหาวิทยาลัยเราจะไปเจาะลึกแบบนั้นไม่ได้ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูที่หลักสูตรของม.ปลายในไทย ว่าต้องเรียนอะไรบ้าง เราก็เอาหลักสูตรแกนกลางไปจับเลย ซึ่งสังคมศึกษาก็มี 5 สาระ เราก็เอา Game of Thrones มาใส่กับทั้ง 5 สาระเลย
ดังนั้นเด็กจะได้เรียน ศาสนา-จริยธรรม หน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ทั้งเราก็จะใส่เนื้อหาอื่นที่เราคิดว่ามันเกี่ยวเช่น สุนทรียศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา จิตวิทยาด้วย เด็กก็จะไม่ได้เรียนเกี่ยวกับ Game of Thrones อย่างเดียว แต่จะมี Game of Thrones เป็นฉากมากกว่า แล้วเนื้อหาก็จะไม่ใช่สิ่งที่ซ้ำกับภาคบังคับ แต่เป็นเหมือนความรู้รวบยอดเสริมขึ้นไปข้างบน อันนี้คือวิธีคิดออกแบบวิชานี้
The MATTER: แล้วมาประกอบสอนยังไง
ครูแม็ก: เราจะเรียนกันทั้งหมด 15 สัปดาห์เป็นอย่างต่ำ เราก็เอาเนื้อหาพวกนี้มาขึงเช่นว่า ภูมิศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ควรจะต้องเรียนกี่คาบ แล้วเราก็แบ่งกัน 2 คนตามเนื้อหาที่ถนัด อย่างคินก็จะถนัดการเมืองการปกครอง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา เขาก็จะเอาพาร์ทนั้นไป ส่วนผมถนัด เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จิตวิทยาก็จะเป็นผมสอน
เราเริ่มต้นด้วยการ introduction เนื้อหา ด้วยบอร์ดเกม เพราะรายละเอียดของซีรีส์มันเยอะมาก ทั้งคนสอน คนเรียนก็จำไม่ได้ พอเด็กได้เล่นเกมก็จะจำได้ว่า แต่ละบ้านอยู่ตรงไหน ใครมีจุดเด่นอะไร เด็กจะเห็นภาพประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ทรัพยากร แล้วเราก็จะเข้าสู่พาร์ทภูมิศาสตร์ เพราะว่าถ้าเด็กเข้าใจภูมิศาสตร์ เด็กจะรู้ว่าที่อยู่และสภาพแวดล้อมของประชาชนตรงนั้น ส่งผลต่อชีวิตเขาอย่างไร แล้วค่อยไล่ไปเรื่องอื่นๆ
ตามเป้าหมายของวิชานี้ คือเราไม่อยากให้เด็กเห็นเรื่องบันเทิงเป็นเรื่องไร้สาระ อยากให้เขามองว่าเรื่องรอบๆ ตัวว่า สิ่งบันเทิงหรือศิลปะ มันเป็นสาระได้ ถ้าเขาหาจุดตรงนั้นเจอ คอนเซ็ปต์เราก็คือ พอเด็กดู เด็กเรียน แล้วในชีวิตจริงคืออะไร ปรับใช้ยังไง
The MATTER: จากที่สอนมา 2 ปีแล้ว reaction ของเด็กๆ ที่เรียนเป็นอย่างไรบ้าง
ครูคิน: เทอมแรกจะเป็นเทอมที่ฮิตสุด เพราะเป็นช่วงที่ซีรีส์กำลังฉายอยู่ มีคนลงทะเบียนไม่เยอะ แต่มีคนแวะเวียนมานั่งเรียนด้วยเยอะมาก ซึ่ง reactionโดยทั่วไปค่อนข้างดีมาก เพราะเด็กจำนวนนึงรู้สึกว่า นอกจากตัวเนื้อหาที่แปลกใหม่แล้ว มันยังเป็นสิ่งซึ่งเค้าไม่อาจคิดได้ว่าจะมีในโรงเรียน
โดยเฉพาะพอเป็นซีรีส์แบบ Game of Thrones ทั้งตัวเนื้อหา ตัวหนัง มีที่โดนสกรีนไป มี 18+ พอพวกเขาได้รู้ว่ามันมีวิชานี้เปิดสอน แล้วไม่ได้สอนแค่ให้มาอ่าน มาดู แต่ยังวิเคราะห์ว่าซีรีส์เรื่องนึงมันอธิบายอะไรเกี่ยวกับชีวิต หรือสังคมนึงได้บ้าง
ทุกคนพูดว่าอยากให้มีวิชาแบบนี้กับหนัง หรือภาพยนตร์เรื่องอื่น หรือบางคนก็บอกว่าอยากให้มีวิชาแบบนี้แต่ว่าไม่ต้องอิงกับหนัง เพราะว่าอยากเรียนมาก แต่ไม่ชอบหนังแนวนี้ อยากให้ช่วยเปิดเป็นวิชาอื่นได้ไหม
ครูแม็ก: เราก็มีกันอยู่ 2 คน ตอนนี้ก็ทำได้แค่นี้ก่อน แล้วเด็กโรงเรียนเราก็จะมีลักษณะพิเศษคือ พวกเขามักจะสนใจใคร่รู้เรื่องต่างๆ คือความรู้ที่เราให้เขาในวิชาบังคับมันเยอะอยู่แล้ว แต่ก็จะมีพวกที่อยากรู้ อยากเห็นเพิ่มเติม สนใจการเมือง การปกครอง หรือสิ่งรอบตัวก็จะขอมานั่งเรียนด้วย แบบไม่ลงทะเบียน ส่วนเด็กที่ชอบซีรีส์มาก ก็ยิ่งอยากเรียน อยากมานั่งคุย มันก็ทำให้วิชาเราเกิดมุมมองต่างๆ มากขึ้น
The MATTER: หัวข้ออะไรที่โยนไปในห้องเรียน แล้วเด็กๆ ชอบพูดคุยกันมากที่สุด
ครูคิน: ของผมคงเป็นพาร์ทที่ว่าด้วยความเป็นผู้นำ หรือผู้นำทางการเมือง มีพาร์ทนึงที่เราคุยกันว่าผู้นำที่ดีคืออะไร ชวนคิดจากหลายๆ มุม โดยผมได้ให้เด็กดู 2 ฉากที่ตัดมา เป็นฉากที่ทีเรียนลุกขึ้นมาพูดปลุกใจทหาร ขณะที่มีสงครามแล้วจอฟฟรีย์ที่เป็นกษัตริย์หนีไป ทีเรียนก็สวมบทบาทพูดปลุกใจแทน อีกฉากนึงคือ The Battle of Bastard ที่จอน สโนว์ กับแรมซีย์ ต้องสู้กัน แต่แรมซีย์ไปจับน้องชายจอนมา ปล่อยเด็กวิ่ง ยิงธนูใส่ แล้วก็สู้รบกัน
เราชวนให้เขาวิเคราะห์กันว่า 2 คนนี้ ใครมีลักษณะความเป็นผู้นำมากกว่ากัน ผู้นำที่ดีต้องมีลักษณะอะไร การเป็นผู้นำต้องเท่ากับดีเสมอไปหรือเปล่า แล้วก็โยงเข้ามาสู่บริบทของการเมืองไทย หรือการเมืองโลก โดยผมให้ชื่อผู้นำทางการเมืองไป 4 คน ได้แก่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส, อดอล์ฟฮิตเลอร์, โจเซฟ สตาลิน และ สฤษดิ์ ธนะรัชต์
ให้เด็กแบ่งกลุ่มกันไปหาข้อมูลของคนเหล่านี้ แล้วมาอธิบายให้เพื่อนฟัง และคุยกันว่าคนเหล่านี้มีอะไรร่วมกัน คนเหล่านี้มาจากรูปแบบทางการเมือง หรือวิธีการที่ต่างกันหมดเลย มีทั้งฟาสซิสต์ เผด็จการ และมาจากการเลือกตั้ง แต่พวกเขามีจุดร่วมกันบางอย่างที่มักจะถูกมองว่าเป็นผู้นำที่ไม่ดี เราก็มาดูว่าหมายถึงอะไร แล้วเค้าทำอะไร
พอเราโยนเรื่องพวกนี้เข้าไป เด็กมันจะเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่อยู่ในภาพยนตร์ และในชีวิตจริง ว่าสิ่งที่เรียกว่าความเป็นผู้นำ มันไม่ใช่ว่าต้องดีเสมอไป บางทีมันซับซ้อน มนุษย์คนนึงอาจจะมีหลายแง่มุม และในชีวิตจริงๆ เวลาเราคิดว่าเราอยากจะได้ผู้นำที่ดี มันอาจจะต้องการภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง
ข้อสรุปที่เราได้จากคลาสนั้นคือ ผู้นำต้องขึ้นอยู่กับบริบท ถ้าบริบทที่ต้องทำสงคราม ผู้นำที่เราอยากได้ก็ควรจะมีลักษณะแบบนึง แต่ในบริบทที่มันไม่ต้องทำสงคราม ผู้นำที่เราอยากได้ก็คงไม่ใช่ผู้นำแบบเดียวกับที่จะพาเราไปรบ ซึ่งมันต้องมีคุณลักษณะบางอย่างที่ผู้นำที่จะพาเราไปรบไม่มี
เพราะฉะนั้นการเลือกผู้นำที่ดีต้องอิงกับบริบท ว่าเขานำเราไปสู่อะไร ถ้าเราไม่ถามคำถามนี้ เราจะไม่สามารถเลือกผู้นำที่ดีได้เลย ถ้าคิดว่าคนดี เท่ากับผู้นำที่ดีเสมอไป ก็เจ๊งหมด อันนี้เป็นสิ่งที่สร้างดีเบตได้เยอะมากในคาบนี้
ครูแม็ก: ผมก็ชอบคาบนี้ ผมรู้สึกว่าที่เด็กสนใจ เพราะมันตรงกับบริบทชีวิตของพวกเขา เขาเกิดมาเห็นผู้ใหญ่เถียงกันว่า คนนี้ดี คนนี้ไม่ดี 2 ฝ่ายโยนข้อมูลใส่กันเยอะมาก พอเด็กดูซีรีส์แล้ว เขาจะเห็นว่าทฤษฎีมันบอกไว้แบบนี้ แล้วในชีวิตจริงมันเกิดแบบนี้ ก็มีส่วนช่วยให้เขาเห็นภาพกว้างๆ เด็กๆ จะสามารถเชื่อมโยงได้กับความรู้อันเก่าที่เขาเรียนมาในวิชาต่างๆ ซึ่งการถกเถียงเป็นธรรมชาติในกลุ่มสาระของเรา ที่เรา 2 คน และครูอีกท่านจะเปิดการอภิปราย ให้เด็กคุยกันตลอด
อีกคลาสที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่มีคนพูดถึงในบ้านเราเลยคือ เรื่องเซ็กส์ ทั้งๆ ที่มันเป็นจุดเด่นของซีรีส์เรื่องนี้ เราเลยเอามาสอนว่า เซ็กส์ในทางจิตวิทยามันฟังก์ชั่นยังไงบ้าง เด็กๆ ก็แปลกใจว่ามันมีอย่างนี้ด้วยหรอ ซึ่งเด็กในโรงเรียนเราจะเรียนเรื่องเซ็กส์ในด้านวิทยาศาสตร์ และเซ็กส์ที่ปลอดภัยอยู่แล้ว แต่ทีนี้เราพูดเรื่องเซ็กส์ในด้านจิตวิทยาหรือฟังก์ชันที่เด็กไม่เคยรู้ เด็กก็จะเห็นภาพมากขึ้นว่า มนุษย์ไม่ได้มีเซ็กส์กันตามธรรมชาติเท่านั้น แต่มีในแบบอื่นๆ ด้วย
Game of Thrones มันดึงเด็กเข้ามาในเรื่องนี้ได้ คุณเห็น incest (รักพี่น้องร่วมสายเลือด) ใช่ไหม ตกใจไหม หรือแลนนิสเตอร์ที่เป็น incest กัน ผิดหรือไม่ผิด เราใส่เรื่องศีลธรรมไปด้วย หรืออย่างเราเห็นเซ็กส์หมู่เกิดขึ้นปกติในเรื่องนี้ แล้วในโลกแห่งความจริงมีแบบนี้ไหม เราก็ยกตัวอย่างบางเผ่าที่เขามีเซ็กส์หมู่กันเป็นเรื่องปกติ หรือวคุณคิดว่าผู้หญิงสามารถมีเซ็กส์กับผู้หญิง หรือผู้หญิงเป็นผู้ควบคุมเซ็กส์ได้ไหม มันนำไปสู่หลายๆ ประเด็นได้ในประเด็นนี้
The MATTER: มีวิธีการสอนยังไง ให้ซีรีส์เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสังคมจริง
ครูคิน: แล้วแต่เนื้อหาที่เราหยิบยกว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน แล้วแต่แบ็คกราวน์ของนักเรียนด้วย อย่างเนื้อหาเรื่องความเป็นผู้นำ หรือปรัชญาการเมือง มันมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะโยงสู่ความเป็นจริง แต่ว่าบางเนื้อหาอาจจะต้องใช้ความพยายามมากหน่อย
ของผมจะมีคาบนึงที่เราคุยกันในถึงสำคัญของเรื่อง คือ ‘Winter is coming’ เราชวนคุยด้วยคำถามง่ายๆ ว่าทำไมตัวละครในเรื่องต้องพูดประโยคนี้ ซึ่งแค่คำถามเดียวมันสามารถแตกไปได้ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดีในคาบเดียว โดยเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องนี้ ผมให้นักเรียนไปอ่าน text จากนิยาย ว่าแต่ละฉากที่ตัวละครพูดประโยคนี้เขาพูดในบริบทไหน มันกำลังเกิดอะไรขึ้น และมีความหมายถึงอะไร
เราเห็นว่า เขาไม่ได้หมายถึงแค่ฤดูหนาวกำลังจะมาอย่างเดียว แต่หมายถึงโลกที่กำลังจะชิบหายแล้ว ความตายกำลังจะมา แล้วทำไมคนในเรื่องนี้ถึงคิดว่า ปัญหา ความชิบหาย และความตายโยงกับฤดูหนาวเพื่อจะตอบคำถามนี้ เราก็ไปดูวรรณกรรมเรื่องอื่นที่พูดถึง winter หรือฤดูกาล ไปดูประวัติศาสตร์ยุโรป เอางานศิลปะยุคต่างๆ มาให้ดู ว่าเวลาคนยุโรปพูดถึง winter ไม่ได้หมายความว่า หนาวแบบเชียงใหม่ แต่มันหนาวระดับที่สุดขั้วมาก และมันเชื่อมโยงกับความตาย หรือการอดอยากอย่างไร
พอเราเห็นประเด็นพวกนี้ เราจะเข้าใจ และเห็นการเชื่อมโยง ว่าทุกครั้งที่ตัวละครพูดว่า Winter is coming มันไม่ได้แปลว่าแค่ไวท์วอร์กเกอร์กำลังจะมาฆ่าเรา แต่มันมีบริบทในชีวิตจริงบางอย่างที่ทำให้ตัวละครพูดแบบนั้น มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้มันกลายเป็น motto หลัก โดยเฉพาะของบ้านสตาร์ก ซึ่งถ้าไปดูแผนที่ บริบทของเรื่อง
เด็กก็จะเห็นว่า บางเรื่องที่อยู่ในซีรีส์มันเชื่อมโยงกับบริบทในชีวิตเรา หรือความจริงของมนุษย์อย่างที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แค่เราคิดกับมันเยอะหน่อย ไม่ให้มันจบแค่การดูภาพยนตร์ หรือว่าการอ่านหนังสืออย่างเดียว
ครูแม็ก: เด็กจะมีไอเดียที่กว้างมากขึ้น อย่างถ้าเราพูดถึงคนไทย บ้านเราร้อน Winter is coming เราแฮปปี้ คนไทยหรือคนเอเชียฝั่งเขตร้อนก็จะงง ไม่เข้าใจ ดังนั้นเวลาฝรั่งเขาพูดประโยคนี้เขาเก็ตมากกว่าเรา เด็กก็จะเข้าใจว่า มันก็มีบริบทต่างๆ ที่ต่างกันแม้ว่าจะใช้คำเดียวกัน
สำหรับผม ผมเป็นนักการศึกษา ผมว่าเรื่องการเชื่อมโยงกับความเป็นจริงยังเป็นจุดอ่อนของบ้านเรา เพราะว่าครูไม่ได้ถูกสอนเรื่องบริบทให้มองเนื้อหาต่างๆ ให้เป็นชีวิตจริง เวลาเรียน เราก็เรียนเนื้อหาของมันเลย เช่นถ้าเรียนประวัติศาสตร์ เราก็เรียนเรื่องพระนเรศวร หลักฐานต่างๆ เรียนรัฐศาสตร์ ก็บอกว่าทักษิณอย่างนู้น สุเทพอย่างนี้ แต่ไม่มีการบอกว่าเนื้อหาที่เราเรียนอยู่ ชีวิตจริงมันคืออะไร มันไม่ใช่ความผิดของครูทั้งหมด อย่างที่บอก
หลักสูตรกับการเรียนการสอนมันคือชีวิตของคน มันเป็นความสามารถของครูที่ต้องไปให้ถึงว่า เนื้อหาที่สอนมันเกี่ยวกับชีวิตจริงยังไง ผมคิดว่ามันเป็นข้อดีของวิชาเลือกเสรี ที่เราได้เอาวิชาที่เรียนแล้ว มาใช้คู่ด้วย ทำให้เราได้ใช้ความรู้มากกว่าที่มีในหลักสูตร
เพราะหลักสูตรบางทีมันก็ไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เช่นอย่างวิชาคณิต เรื่องอินทิเกรต ฟังก์ชัน x y แต่ครูก็ต้องสอนไปถึงตรงนั้น วิชาเราโชคดีหน่อยมันคือเรื่องชีวิต เราสอนการใช้ชีวิตอยู่แล้ว
The MATTER: ทำไมโรงเรียนอื่นๆ ถึงไม่สามารถเอา pop culture ไปสอนเชิงวิชาการได้
ครูแม็ก: ตอบในมุมมองของนักการศึกษา ผมว่าครูในประเทศไทยน่าสงสาร เขาไม่ได้สอนอย่างเดียว แต่ต้องทำงานอื่นด้วย โดยระบบที่ไม่มีการแก้ อย่างในประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา จะเห็นว่าครูมีเวลาสอนน้อย มีเวลานอน รวมถึงเวลาค้นคว้ามาก
อย่างในฟินแลนด์ ครูมีวันหยุดครึ่งวัน วันศุกร์ตอนเย็นเขาจะไปค้นคว้า และมาประชุมกัน ว่าเขาจะหาวิธี หรือแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ กันยังไง แชร์ไอเดียกัน แต่สำหรับครูไทย ต้องทำงานอื่น ไม่ใช่งานสอนเป็นหลัก ถ้างานอื่นมาก็ต้องทำงานอื่น แต่งานสอนก็ต้องทำอยู่ เค้าจึงไม่มีเวลาไปค้นคว้า หรือเปิดวิชาที่น่าสนใจ หรือไม่มีเวลาแม้แต่วิเคราะห์เนื้อหา ว่าวิชามันเชื่อมโยงกับชีวิตเด็กยังไง หนังสือมายังไง ก็สอนไปอย่างนั้น
เราอาจต้องลองรื้อระบบ หรือไปดูโรงเรียนอื่นที่ไม่ได้ใช้ระบบราชการในโรงเรียนเต็มขั้น อย่างเช่น โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เราจะเห็นว่ามีวิชาเลือกเต็มไปหมด เพราะเขาให้ครูสอนนิดเดียว แล้วไปเปิดวิชาเลือกเสรีเยอะๆ และไม่ต้องทำงานเอกสารเท่ากับครูในโรงเรียน สพฐ. หรืออย่างโรงเรียนเรา ก็ต้องทำงานเอกสาร แต่เขาค่อนข้างเปิด และให้อิสระเสรีทางวิชาการกับเราเต็มที่
อีกประเด็นนึงคือ สังคมไทยเป็นสังคมค่อนข้างอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ไปดูสัดส่วนอายุครูจะเห็นว่า มีวัย 40-50 ปี และใกล้เกษียณเยอะมาก ซึ่งเขาถูกสอนว่าให้สอนอีกแบบนึง ไม่ต้องมีเนื้อหา มีหนังสือ และวิธีสอนบวกกัน แล้วไปสอนเลย ซึ่งถ้ามันไม่ได้มีหนังสือวิชาเรียนแบบวิชา Game of Thrones, อนิเมชั่น หรืออะไรแบบนี้มันก็เป็นเรื่องของโครงสร้างใหญ่ ที่ไม่ใช่ความผิดที่ครูอย่างเดียว
The MATTER: คิดว่าการเรียนวิชาสังคมศึกษา หรือวิชาอื่นๆ ควรจะเอา pop culture หรือซีรีส์มาสอนเพิ่มขึ้นไหม
ครูแม็ก: จริงๆ เราสอนเรื่อง pop culture ตั้งแต่ ม.4 เป็นพื้นฐาน เราสอนว่ามันคืออะไร แล้วเด็กจะเห็นว่ามันมีอะไรที่เรียนรู้ในโลกใบนี้ได้อีกเยอะมาก เช่น ชอบดูอนิเมชัน หรือชอบ BNK48 มันก็มีเรื่องที่เราเรียนรู้ได้
ทุกวันนี้เราเรียนเพื่อเอาไปใช้ในอนาคต แต่การศึกษาของเรามันมาผิดทาง เราเรียนรู้ปัจจุบัน และหันกลับไปอดีต เราเอาอดีตมามองปัจจุบัน สมมุติว่าเราออกแบบหลักสูตร 12 ปี ต้องเป็น 12 ปีของอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน ทีนี้พอเชื่อมโยงในอนาคต อนาคตก็มีคนทำนายไว้มากมาย เช่น เราต้องแข่งกับหุ่นยนตร์ เราต้องไม่มีแค่ทักษะ single เดี่ยวๆ เราต้องสามารถ relearn unlearn ได้
มันควรจะต้องเปลี่ยนใหม่ คือหลักสูตรของโรงเรียนทั้งหมด วิชาบังคับควรจะน้อยลง วิชาเลือกพวกนี้ควรจะต้องเยอะขึ้น ควรให้เด็กมีทักษะการเรียนรู้ที่หลากหลาย ฝึกฝนการเรียนรู้ การมองโลกต่างๆ ฝึกทักษะที่มันจำเป็นในอนาคต ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องทำ
The MATTER: Game of Thrones จะจบในปีนี้แล้ว ปีหน้าจะยังจะสอนวิชานี้อยู่ไหม หรือจะเปลี่ยนเรื่อง
ครูแม็ก: ผมมองว่าไม่เปลี่ยน เพราะว่าวิชานี้มันมีเนื้อหาของมันอยู่แล้ว มันเหมือนไททานิค เราดูเมื่อ 20 ปีก่อน ทุกวันนี้เราก็ยังดูกันอยู่ แล้ว Game of Thrones มันเป็นซีรีส์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่เคยมีปรากฎการณ์แบบนี้ ที่ทุกคนในโลกดูซีรีส์เรื่องเดียวกันดังนั้นถ้ามีเด็กอยากเรียน เราก็ยังอยากเปิดอยู่เรื่อยๆ
ครูคิน: สำคัญอยู่ที่เด็ก ซึ่งถ้าพูดถึงวิชาเลือก เรามีไอเดียที่จะทำอีกหลายวิชา ถ้าเรามีแรง และมีเวลา อย่างผม กับครูอีกท่านนึงก็คุยกันว่าอยากเปิดวิชาสัมมนาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนวิทยาศาสตร์เดินมาบอกเราเองว่าอยากให้ครูเปิด น่าสนใจที่เด็กอยากเรียนในสิ่งที่เนื้อหา หลักสูตรมันไม่มีอยู่ ผมจึงเห็นด้วยกับพี่แม็กตลอดว่า
ถ้าเราคิดถึงการเรียนรู้ในฐานะการพัฒนามนุษย์ในระยะยาว วิชาบังคับมันเป็นแค่ส่วนนึงจริงๆ ของสิ่งที่เด็กควรจะเรียน แต่ถ้าเราใส่ใจตัวผู้เรียนกันจริงๆ วิชาเลือกนี่แหละ คือทางออกในการที่เปิดโอกาสให้เด็กคิดว่า ความสนใจของเขาคืออะไร
แล้วครูมีหน้าที่ไม่ใช่แค่พาเด็กมาเรียนในสิ่งที่อยากสอนอย่างเดียว แต่มันคือการสอนในสิ่งที่เขาอยากเรียน ไกด์เขาในสิ่งที่เขาสนใจ และผลักเขาไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เขาคิดว่าเขาทำได้
แต่ถ้าเราสอนที่อื่น เราก็คงทำไม่ได้ เพราะที่โรงเรียนนี้ ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ มันจึงเกิดวิชานี้ขึ้น แน่นอนมันมีครูอีกหลายคนที่พยายามทำวิชาหลักของเขาให้สนุกและน่าสนใจ ผมว่าถ้าเรายังสามารถเปิดวิชาแบบนี้ได้ หรือประเมินว่าเด็กที่ดู Game of Thrones มันไม่ได้อยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่มันอาจจะมีบางประเด็นที่เด็กสนใจ และสามารถนำมามีส่วนในวิชาได้
จริงๆ ครูอาจจะต้องลองถามตัวเองด้วยซ้ำ รู้หรือเปล่าว่าในปัจจุบันนี้ ถ้าเด็กไม่ได้อยู่ในห้องเรียน พวกเขาไปอยู่ที่ไหน แน่นอนว่าคำตอบคือโลกออนไลน์ แต่ว่าอยู่ตรงไหน แพลตฟอร์มอะไร ผมว่าถ้าเรายังตามไปไม่ถึง เราไม่มีทางดึงวิชาเรา ไปสู่ชีวิตประจำวันเด็กได้ เราจะทำได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าชีวิตนอกห้องเรียนของเขาอยู่ที่ไหน
นั่นเป็นสิ่งที่พวกผมพยายามทำ คือดูว่า เด็กอยู่ตรงไหนบ้างบนโลกใบนี้ ในขณะที่อยู่นอกห้องเรียน อยู่ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ทำอะไรในนั้น มันมีแพลตฟอร์มมากมายที่คนรุ่นผมก็ตามไปไม่ทัน เช่น Tik-Tok, Line TV หรือ webtoon เราตามไปตรงนั้นแล้วเราดึงตรงนั้นเข้ามาสู่ในวิชาได้
ผมคิดว่าโจทย์อย่างนึงสำหรับครูทุกคน ถ้าเราอยากเห็นการศึกษาที่ดีขึ้น อาจจะไม่ต้องเปิดวิชาขนาดนี้ แต่อย่างน้อยถามตัวเองว่า ผู้เรียนของเราใช้ชีวิตอยู่ตรงไหนบ้างบนโลกแห่งความเป็นจริง ถ้าเราเจอเขาอยู่ที่นั่น เราจะมีทรัพยากรอีกมากที่เราจะดึงเข้ามาอยู่ในวิชาของเรา ต่อให้ไม่ใช่สังคมศึกษา ถ้ารู้จักผู้เรียนของเรามากขึ้น ดึงมันเข้ามาสู่ชีวิตได้ การศึกษาจะเป็นอะไรที่สนุกสนานมาก แล้วเด็กจะเข้าใจว่าเขาเรียนไปทำไม
ครูแม็ก: จริงๆ ประเด็นนี้สำคัญมาก พวกผู้ใหญ่ชอบบ่นว่าทำไมเด็กเรียนจบมาแล้วไม่รู้จักตัวเองเลย ผมว่าเพราะเราบังคับให้เขาเรียนเหมือนกัน เขาจะรู้จักตัวเองได้ยังไง ถ้าสมมติเราเปิดวิชาเลือกเยอะๆ มีกิจกรรมเสริมให้เขา เด็กก็จะรู้จักตัวเองมากขึ้นนะ อย่างเช่น ที่ผมเคยไปฝึกที่ต่างประเทศ ในเด็กมัธยม เขามีวิชาบังคับนิดเดียว แต่วิชาเลือกเต็มไปหมด เด็กอยากเรียนอะไรก็ลงเลย ก็มีเด็กเรียนทำผม ช่างไม้ เด็กจะเตรียมเป็นหมอ แต่มาเรียนวาดรูป
The MATTER: แปลว่าต้องรอการเปลี่ยนโครงสร้างอย่างเดียวหรือเปล่า
ครูแม็ก : ถ้าอยากเปลี่ยนภาพใหญ่ ก็ต้องเปลี่ยนที่โครงสร้าง แต่จะเห็นว่าแต่ละโรงเรียนจะมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน เพราะผู้บริหารแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ถ้าผู้บริหารที่เน้นการศึกษา หรือหลักสูตร เราก็จะเห็นกิจกรรมที่เฟื่องฟูมาก ซึ่งเราโชคดีที่เราอยูในบริบทนั้น
และนอกจากว่า เด็กนักเรียนมาจากไหน เรายังต้องรู้แบ็คกราวน์เด็กด้วย อย่างวิชา Game of Thrones ไปสอนโรงเรียนที่อยู่ข้างสลัมก็ไม่ได้ เราต้องดูชีวิตว่าเด็กเค้าสนใจอะไร เราเอาอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นมาทำให้เป็นชีวิตของเขาได้ไหม เช่น วิชาซ่อมมอเตอร์ไซค์ ซึ่งผมเคยลงเรียนวิชาเลือกนี้ในโรงเรียน เรียนกับเพื่อนเด็กแว้น ซึ่งพวกเขาตั้งใจเรียนมาก ในขณะที่ถ้าเป็นวิชาการพวกเขาจะไม่สนใจ คือเราต้องพยายามเชื่อมแบ็คกราวน์นั้นเข้ามาในวิชาเรียน มากกว่าดึงเด็กมาหาหลักสูตร
ครูคิน : ยังไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้น แต่ต้องอาศัยกำลังจากครูเยอะพอสมควร ที่จะไม่คิดว่าหน้าที่ของตัวเองคือแค่การสอนในสิ่งที่เขาให้มาแล้วจบ อาจจะน่าเสียดายที่หลายคนถูกฝึกมาแบบนั้น เข้ามาพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด แต่ไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่เกิดในคลาสเป็นยังไง
มันเป็นไปได้ที่จะเห็นครูที่ดี ซึ่งเรามักจะเห็นจุดร่วมบางอย่างในครูเหล่านั้น คือเขาใส่ใจสิ่งที่อยู่ในคลาส ไม่ได้ใส่ใจแค่เฉพาะตอนเรียน แต่พยายามทำความรู้จักว่าคนที่เรียนกับเขา ข้างนอกเป็นใคร และใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คนเหล่านั้นเป็น ทำให้การเรียนมีชีวิตชีวา และสนุกสนาน
จริงๆ ภารกิจสำคัญถ้าเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากตรงนั้นจริงๆ ที่ครูต้องถามตัวเองว่ารู้จักนักเรียนดีหรือเปล่า แบ็คกราวน์เขาเป็นยังไง มาจากไหน คำถามพื้นฐานเหล่านี้มันดูเหมือนไม่มีอะไรเลย แต่พวกเราใช้จุดนี้ในการสอนของเรามาตลอด มันมีทรัพยากร หรือวัตถุดิบในชีวิตของผู้เรียน แต่ที่สำคัญก็คือ ครูเห็น และนำมาใช้หรือเปล่า ซึ่งถ้านำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร ไม่ได้ตื่นเต้นแบบ Game of Thrones มันก็จะเป็นวิชาที่สนุกขึ้นกว่าเดิมได้มากกว่าที่แค่เปิดตำรา เรียนรู้เท่าที่มีอย่างเดียว
The MATTER: กลับมาเรื่อง Game of Thrones ในฐานะที่เป็นครูสังคมศาสตร์ มองว่าในซีซั่นสุดท้าย ใครเหมาะที่จะครอง Iron Throne ที่สุด
ครูคิน : ตอบแบบส่วนตัว ก็อยากให้แดเนรีส แต่ถ้าตอบแบบซีเรียส คือใครก็ตามที่ได้รับเลือกภายใต้กติกาที่เป็นธรรม พูดได้ว่าใครจะเหมาะสมครอง Iron Throne มันขึ้นอยู่กับว่าเราอยากให้คนนั้นทำอะไร ถ้าอยากให้แค่ครองบัลลังก์ เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ จะเป็นใครก็ได้ผมก็ไม่แคร์ แต่ถ้าเราอยากเห็นคนที่ครอง Iron Throne เป็นคนที่คิดถึงผลประโยชน์ของคนอื่น ปกครองสังคมอย่างที่คนข้างล่างมีความสุข เราอาจจะต้องดูว่าคนไหนมีคุณสมบัติเหล่านั้น มันอาจจะไม่มีคนที่มีคุณสมบัติทำอย่างนั้นได้เลยตามลำพัง นั้นจึงเป็นเหตุผลให้การเมืองการปกครองที่ดีโดยมาก ไม่ใช่การมอบอำนาจให้กับคนๆ เดียว หมายความว่า มันไม่มีทางที่คุณจะให้คนๆ เดียวที่เป็นคนดีมีอำนาจได้เต็มที่ต่อจะให้เป็นจอน สโนว์ก็เถอะ และระบบการเมืองการปกครองที่เวิร์ก
ผมว่าหลายๆ ที่ทั่วโลกพิสูจน์มาในระดับนึงแล้ว ว่าหน้าที่ของผู้ปกครองไม่ใช่การฉวยผลประโยชน์เข้าสู่ตัวเอง แต่มันคือการคิดถึงผลประโยชน์ของคนอื่น การเข้าใจความต้องการของคนที่อยู่ในสังคม ต้องเป็นสังคมการเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครอง และผู้ถูกปกครองได้พูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นกัน
เพราะมนุษย์ทุกคนมีความรู้ที่จำกัด เราจะให้คนๆ เดียวที่มีความรู้อย่างจำกัด อย่างผม เป็นผู้ปกครอง ผมก็รับประกันว่าพัง เพราะความรู้ของผมก็มีอยู่เท่านี้ ถ้าผมไม่เคยฟังคนอื่น หรือเข้าใจคนอื่น ก็จะทำได้แค่นี้
แต่ถ้าเราอยากเห็น Iron Throne เป็นที่นั่งที่ทำประโยชน์ให้กับคนส่วนมาก อาจจะไม่ใช่แค่ว่าใครเป็นผู้นำ แต่กระบวนการแบบไหนที่นำไปสู่ผู้นำแบบนี้ และคนรอบข้างเขาเป็นใครบ้าง ผมคิดว่าตอบคำถามนี้ มันตอบได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากเห็นคนที่ไปนั่งตรงนั้นเขาทำอะไร
มีคำพูดที่ฮิตๆ ช่วงนี้ คือ ‘ใครจะเป็นผู้นำก็ไม่เป็นไรหรอก เราก็ทำมาหากินของเราไป’ ลองเอาประโยคนี้ไปพูดกับชาวบ้านใน Game of Thrones คงโดนด่าตาย เพราะพอเปลี่ยนผู้นำที ประชาชนก็ตายที เปลี่ยนอีก ก็ตายอีก ชีวิตของคนมันสัมพันธ์กับระบบการปกครองเสมอ มันสำคัญคือ ต้องคิดว่ามีหรือเปล่า ระบบที่ทำให้คนซึ่งเป็นผู้นำ คิดถึงคนอื่นมากหน่อย หรือว่าถ้าเขาเป็นผู้นำที่คิดถึงตัวเอง ก็ต้องมีระบบที่จะขัดขวางไม่ให้เขาได้ทำอย่างนั้นเต็มที่ เรื่องนี้อาจจะสำคัญกว่าใครคนใดคนนึง
ครูแม็ก: บ้านที่ผมเชียร์คือ แลนนิสเตอร์ เพราะผมชอบคนรวย และฉลาด แม้ว่าผมจะไม่ค่อยชอบเซอร์ซี แต่เรื่องนี้มันมีสิ่งที่เราสอน และเราเอาไปเชื่อมกับชีวิตจริงได้ คือ ทุกคนทำเพื่อตัวเองหมด ไม่ว่าจะคนดี หรือชั่วขนาดไหนก็ทำเพื่อตัวเองหมด เซอร์ซี ที่คนมองว่าเลว เขาไม่ได้ทำเพื่อใครเลย เขาทำเพื่อลูก สตาร์กที่บอกว่าตระกูลมีคุณธรรม ก็ทำเพื่อตระกูลตัวเองทั้งนั้น
และเราจะเห็นว่าเรื่องนี้ ในการ role play มันไม่มีประชาชนอยู่เลย ซึ่งเราก็คุยกับนักเรียน ว่ามันมีแต่คนชั้นสูง ขุนนาง และนักรบ ประชาชนอยู่ตรงไหน? ถ้าคุณเป็นประชาชนในเรื่องนี้คุณจะไม่ได้ออกซักฉากเลย หรือออกมาก็ตาย โดนมังกรกิน หรือโดนเผา โดนธนูยิง
ดังนั้นเวลาเราพูดเรื่องการปกครอง ผมเชียร์ว่าทีมไหนก็ได้ที่มีทีเรียน และลอร์ดวาริสอยู่ด้วยกัน เพราะสองคนนี้ พูดอะไรดูเข้าใกล้กับโลกแห่งความเป็นจริงในปัจจุบันมาก ไม่ใช่โลกยุคกลางที่มีกษัตริย์ คือลอร์ดวาริส พูดไว้ครั้งนึงว่า เค้าอยู่ข้างประชาชน เค้าอยู่ฝั่งไหนก็ได้ที่ปกป้องประชาชน เค้าถึงข้ามมาหาแดเนรีส
ส่วนทีเรียน ชีวิตโดนย่ำยี บัดซบมามาก เค้าก็บอกว่า อยู่ข้างไหนก็ได้ที่ทำความถูกต้อง คือไม่ทำให้ชีวิตคนอื่นบัดซบแบบที่ตัวเองเจอมา คือสองคนนี้จะปกป้องคนอื่น พอๆ กับปกป้อง throne ไว้ ดังนั้นผมจึงมองว่าทีมไหนก็ได้ที่มี 2 คนนี้
เราบอกได้ว่าผู้ปกครองในเรื่องนี้ ไม่ได้เห็นหัวประชาชนเลย อย่างที่จอน สโนวชอบบอกว่า ยืนหยัดเพื่อทางเหนือ ยืนหยัดเพื่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่ สู้กับความตายเพื่อสิ่งที่เป็นอยู่ แล้วสิ่งที่เป็นอยู่ของจอน มีอะไรบ้าง ก็มีบ้านสตาร์ก มี 7 kingdoms ประชาชนอยู่ตรงไหนก็ช่างมัน เพราะเขาคิดว่าถ้าบ้านสตาร์กล่มไปแล้ว ประชาชนที่อยู่ฝั่งทางเหนือก็อยู่ไม่ได้ มันเป็นวิธีคิดของคนยุคกลาง แต่จริงๆ ต้องกลับมาดูยุคเราว่า คนเท่ากันแล้วนะ ต้องปกป้องคนให้เท่าๆ กัน แล้วสมมติสู้กับ white walker เสร็จ ผมคิดว่าเราต้องการคนที่ rebuild เก่งๆ เพราะมันคงจะพังหมด เราก็คงต้องการคนที่มาฟื้นฟูใหม่
ครูคิน : อย่างที่บอกขึ้นอยู่กับบริบท เป้าหมาย ว่าเราอยากได้ผู้นำคนไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากให้เขานำเราไปทำอะไร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องถามตัวเองคือเรื่องนั้น
The MATTER: ตอนนี้ Game of Thrones กำลังต่อสู้กัน หาคนครองบัลลังก์ ประเทศไทยเองก็มีการเลือกตั้ง ที่เรายังไม่มีผู้นำ เปรียบเทียบ Game of Thrones กับการเมืองไทย ได้อย่างไร
ครูแม็ก: ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่นักเรียนชอบมาก ความเปลี่ยนแปลงยุคนึง คือเด็กรุ่นนี้มองมิติทางการเมืองหลากหลายมาก ไม่เหมือนรุ่นเรา ส.ส.บ้านเราเป็นใครก็ไม่รู้ จำไม่ได้ แต่เด็กรุ่นนี้สนใจมาก เวลาเราพูดอะไรอย่างนึงเขาจะโยงเข้าเรื่องการเมืองทันทีเลย
จริงๆ Game of Thrones กับการเมืองไทยมันก็มีส่วนที่เหมือน มันมีความวุ่นวาย ต้องขจัดความวุ่นวาย และต้องการการพัฒนา ประเทศไทยก็ต้องการพัฒนา เสียงของเราเลยแตก เราเห็นคนนึงที่บอกว่าต้องการคนที่มาปราบความวุ่นวาย ถ้าคนนี้ออกไปความวุ่นวายจะยังอยู่ แต่บางคนเห็นว่า ปราบความวุ่นวายพอแล้ว ต้องการ การพัฒนา เอาคนใหม่เข้ามาดีกว่า หมดเวลาสร้างความสงบแล้ว ประเทศต้องการการเดินหน้า เราก็จะเลือกคนใหม่มา มันก็เหมือนเป็นการเลือกข้าง
ใน Game of Thrones เราก็จะเห็น นักรบ และ ชนชั้นนำที่เปลี่ยนข้างไปเรื่อยๆ เมื่อเขามองว่าอนาคตของเขาอยู่ตรงไหน เขาก็จะย้ายไปอยู่ตรงนั้น เหมือนการเมืองไทย เราเห็นว่าอนาคตของคนรุ่นนึงอยู่ที่เดิม เขาไม่ได้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติของคน ที่ถ้าอายุเท่านั้นก็คง conservative มากขึ้น แต่ว่าเด็กๆ เขาไม่เห็นบริบทที่ผ่านไปแล้ว เขาก็ต้องการการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าโลกมันเปิดกว้างมากขึ้น เด็กเล่นอินเทอร์เน็ต เขาเห็นว่าฝรั่งเศส เกาหลี หรือฟินแลนด์เจริญไปไกลแล้ว ทำไมบ้านเรายังอยู่เท่านี้ อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เขาก็ต้องการเลือกผู้นำใหม่ ที่ทำให้อนาคตเขาเป็นแบบนั้นได้ ก็เลยต้องไปดูนโยบาย นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์อนาคตที่เขาอยากได้ เขาก็เลือกพรรคนั้น
ในขณะที่คนอีกรุ่นบอกว่า อันตรายมากที่พรรคอนาคตใหม่จะมาเปลี่ยนแปลง คุณจะเดินถือเทียนแท่งเดียวเข้าไปในความมืดไม่ไหว อยู่แบบนี้ไปก็ดีแล้ว จะเปลี่ยนแปลงทำไม เหมือนกับ Game of Thrones แดเนรีสเข้ามาเปลี่ยนแปลง ตอนอยู่เมืองค้าทาสที่เอสซอส ก็มีการต่อต้าน มีกบฏที่พยายามจะล้มแดเนรีส เพราะเธอไปรื้อโครงสร้างที่เขาอยู่อย่างเคยชินกันมาแล้ว แล้วเขาก็มีทั้งคนสนับสนุน และต่อต้านพอๆ กัน อันนี้เป็นสถานการณ์ที่ผมเห็นว่ามันคล้ายคลึงการเมืองไทย
ครูคิน : คือมันทำให้เห็นธรรมชาติของการเมือง สุดท้าย Game of Thrones มันชวนให้เราคิดว่าคนในเรื่องแย่งชิงบัลลังก์กันไปทำไม แล้วในโลกแห่งความจริงคนต่อสู้กันไปเพื่ออะไร แค่เพื่อผลประโยชน์ของเราเองเท่านั้นจริงหรือเปล่า หรือว่าการเมืองมันเป็นเรื่องอื่น อยากจะนั่งบนบัลลังก์ที่สวยงามเท่านั้น หรือการที่ได้นั่งบนบัลลังก์มันนำมาซึ่งผลกระทบต่อชีวิตคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก
ในแง่นึง ถ้าคิดถึง Game of Thrones กับการเมืองไทย คนจำนวนนึงมักจะคิดว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเราใครจะเป็นผู้นำก็ปกครองไปเถอะ ฉันก็จะมีชีวิตของฉัน แต่คิดกับมันดีๆ ไปดูในหนัง แล้วย้อนกลับมาว่า ตกลงเป็นใครก็ได้จริงหรือเปล่า หรือถ้าเราจำเป็นต้องเลือกจริงๆ ว่าผู้นำที่เราอยากเห็น ภายใต้สังคมการเมืองที่เราอยากอยู่ เราอาจจะต้องคิดว่าเพื่อไปสู่สังคมแบบนั้น เราต้องการผู้นำแบบไหน รวมถึงกฎกติกาแบบไหน ความเชื่อแบบไหนที่เราควรจะต้องมี และรักษาร่วมกัน หรือไม่ละเมิดถ้าเราอยากได้สังคมแบบนั้น
สุดท้ายคิดว่า เรื่อง Game of Thrones ถ้าดูจริงๆ มันแสดงให้เราเห็นตัวละคนหลักที่เป็นชนชั้นนำของเรื่อง แต่ว่าถ้าลองสังเกตดีๆ อย่างที่พี่แม็กพูด มันมีตัวละครที่เป็นประชาชนอยู่ แต่ทำไมเราไม่เห็น เพราะถูกฆ่าไปแล้ว ตายไปแล้ว ถูกเอาชีวิตไปแลกเพื่อให้ใครบางคนมีอำนาจ
คำถามก็คือ ในโลกแห่งความเป็นจริง เราเป็นใครใน Game of Thrones เราเป็นคนข้างบน หรือคนข้างล่าง เราพร้อมจะแลกหรือทำอะไรเพื่อใครหรือเปล่า อาจจะต้องย้อนมาดูที่ตัวเราเอง พูดอีกอย่างนึงคนที่ฉลาดมากๆ ในเรื่องนี้ อาจจะเป็นพวกคนที่อยู่นอกกำแพงก็ได้ พวกคนที่คิดว่าชีวิตของเราก็คือเรา และเราไม่พร้อมที่จะยอมแลกชีวิตเรากับใครที่เขาไม่เห็นคุณค่าของเรา
ซึ่งในประวัติศาสตร์ยุคต่อมาก็แสดงให้เห็นว่า ยุโรปเริ่มเรียนรู้มากขึ้น ว่าระบบการเมืองแบบที่เราเห็นใน Game of Thrones มันไม่เวิร์ก เพราะสุดท้ายการเมืองคือเรื่องของเรา แล้วถ้าเราปล่อยให้แย่งชิงบัลลังก์กันไป 7 คน เราก็คงโดนเผา โดนมังกรกิน โดนตัดหัวแบบโง่ๆ ทำไมเราถึงไม่มีสิทธิปกครอง หรือตัดสินใจในชีวิตของเราเอง Game of Thrones มันคือจุดเริ่มต้นของอะไรแบบนั้น ที่สุดท้ายยุโรปเรียนรู้แล้ว