วัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์เกาหลี หรือ กระแสฮัลยู เข้ามามีอิทธิพลในบ้านเราอย่างมาก ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งจากเพลง ศิลปิน ซีรีส์ และอาหารต่างๆ ที่แพร่หลาย และเป็นที่นิยมอย่างมาก
แต่ในมุมของวรรณกรรม หรือเรื่องสั้นที่แปลจากเกาหลีใต้นั้น เรายังไม่เห็นแพร่หลายมากนัก ซึ่งล่าสุดสำนักพิมพ์ ไจไจบุ๊คส์ ได้เปิดตัวหนังสือ ‘มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม’ (사월의 미, 칠월의 솔) ที่รวมเรื่องสั้นที่คัดสรรจากนักเขียนเกาหลีร่วมสมัย ทั้งหมด 7 เรื่อง และแต่ละเรื่องเองก็ได้สะท้อนสังคมเกาหลีในแต่ละมุมที่แตกต่างกัน
ซึ่งในงานเทศกาลเกาหลีครั้งที่ 10 (The 10th Korean Festival) ที่จัดโดยสาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ ได้เปิดเสวนาที่ชวนผู้แปล อาจารย์ และนักวิชาการมาพูดคุยกันถึงเรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้ ว่าสะท้อนสังคมเกาหลีใต้ร่วมสมัยในมุมไหน และเราเห็นมิติทางสังคมอะไรจากหนังสือเล่มนี้บ้าง
*บทความสรุปงานเสวนานี้ มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบางส่วนในหนังสือเล่มนี้
เรื่องสั้น สื่อที่สะท้อนมิติของผู้คน และการเปลี่ยนแปลงของสังคม
เรื่องสั้นในหนังสือ ‘มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม’ เป็นรวมเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Koreana ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ เช่นอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน และอีกมากมาย ซึ่งเป็นนิตยสารที่สนับสนุนการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในเกาหลีใต้ และทางสำนักพิมพ์ได้เลือกเรื่องสั้นทั้งหมด 7 เรื่อง มารวมเล่มเป็นหนังสือ
อ.อิสริยา พาที อาจารย์สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้ เล่าให้ฟังถึงการแปลว่า ปกติแล้วรวมเรื่องสั้นของวรรณกรรมเกาหลี ยังมีไม่มากนักในประเทศไทย และยังมีคนแปลน้อยอยู่ ส่วนใหญ่ เราจะเห็นสื่อเป็นซีรีส์หรือนิยายมากกว่า
ซึ่ง อ.จักรกริช สังขมณี อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เองก็บอกว่า การอ่านวรรณกรรม ยังทำให้เราเห็นการสื่อสารที่ผ่านชีวิตของผู้คน ได้มองการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ลึกกว่าการอ่าน และศึกษาจากเนื้อหาประวัติศาสตร์ทั่วไปด้วย เพราะในวรรณกรรมของเกาหลีใต้ มักมีการสะท้อนภาพ แนวคิด ความเชื่อของคนเกาหลี และในสื่อบันเทิงเอง ก็มักจะมีการแทรกแซงวัฒนธรรมเกาหลีเสมอ
เรื่องสั้นทั้ง 7 เรื่องนี้ ยังมีการเล่าที่ร้อยเรียงภาพ จากอดีตในยุคโชซอน เปลี่ยนผ่านมาถึงสังคมปัจจุบัน ที่มีความเป็นโลกาภิวัฒน์ ซึ่ง อ.จักรกริชก็ชี้ให้เห็นว่า มันคือภาพการพัฒนาจากสังคมดั้งเดิม ที่มีชนชั้น มีตำแหน่งแห่งที่ ให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมือง โดยเรื่องหลังๆ แสดงให้เห็นภาพของชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐาน กลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมมากขึ้น ในขณะที่เรื่องกลางๆ เอง ก็ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องมีกระบวนการอะไรบ้างผ่านความคิดของผู้คน
ไม่ใช่เพียงแค่สภาพในสังคมเท่านั้น ที่เราเห็นการเปลี่ยนไปจากเรื่องสั้น 7 เรื่องนี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ คอลัมนิสต์และนักประวัติศาสตร์เอง ก็มองว่า เรายังเห็นสภาพที่เปลี่ยนไปของหน่วยในสังคมอย่าง ‘ครอบครัว’ เช่นกัน ทั้งจากรูปแบบของราษฎร ในระบบศักดินา จากที่มีรูปแบบครอบครัวตามขงจื้อ หลังๆ ก็กลายเป็น Neo-ขงจื้อ และได้เห็นรูปแบบของคนในหลายมิติ มีมิติการกดทับที่แตกต่างกัน รวมถึงยังเห็นภาพการสังสรรค์ของประชาชนและรัฐ ที่มีนัยยะบางอย่าง และมีสภาวะความกดดันบางอย่างด้วย
โชซ็อน ระบบในยุคสมัยโบราณที่ยังสะท้อนถึงสังคมปัจจุบัน
‘เมื่อเคียวเห่า’ คือเรื่องสั้นเรื่องแรก และหนึ่งเดียวในหนังสือเล่มนี้ที่มีแบกกราวด์ และบรรยากาศอยู่ในยุคเกาหลีโบราณ หรือยุคโชซ็อน ซึ่ง อ.อิสริยา เล่าเรื่องย่อๆ ไว้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของทาส ที่การรู้ตัวอักษรถือว่าผิดมหันต์ และอันตรายอย่างมาก ซึ่งตัวหลักของเรื่อง เป็นคนที่วาดรูปเก่ง ดังนั้น ชื่อเรื่อง เมื่อเคียวเห่า จึงมีหมายถึงว่า การที่รู้หนังสือหรือว่าตัวอักษรมีพลังอำนาจ จนอาจบอกได้ว่าเคียวที่ไว้ตัด ไว้ตอนสิ่งต่างๆ อาจจะบิดเบือนไปว่ามันสามารถเห่าได้ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องโบราณ แต่ก็มีความเป็นปัจจุบัน ที่เปรียบได้กับสังคมปัจจุบัน อย่างเรื่อง fake news หรือการนำโควทมาบิดเบือน
อ.จักรกริชยังมองว่า เรื่องนี้ยังสะท้อนได้ถึงเรื่องการศึกษาในสังคมเกาหลีด้วย เพราะในอดีต ภาษาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคมได้ เพราะในสมัยโชซอน แม้จะเริ่มมีการใช้ภาษาเกาหลี ที่ปรับจากภาษาจีนให้เข้าใจง่าย กระจายความรู้ไปสู่สังคมมากขึ้น แต่นักปราชญ์เองก็ยังเป็นผู้ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก ยังเป็นภาษาที่ใช้ในราชการ และวรรณกรรม จึงยังเกิดช่องว่างของความรู้
ในเรื่องนี้ เด็กหนุ่มตัวหลักสามารถก็อปปี้ตัวอักษรได้เหมือนมาก แม้จะไม่มีความรู้เลย อาจารย์มองว่า มันมีนัยยะของการ สะท้อนให้เห็นระบบการศึกษา ว่าเวลาผ่านมาเป็น 100 ปี ระบบที่ทำให้คนเลื่อนขั้น เป็นอาวุธที่ดีของสังคมจริงหรือเปล่า เพราะการก็อปที่ไม่มีจิตวิญญาณ ปราศจากความรู้ความเข้าใจ ก็เปรียบเทียบเหมือนที่คนเกาหลีใต้ สามารถทำคะแนนสอบในต่างประเทศได้ดี แต่เมื่อไปเรียนแล้ว ไม่สามารถนำไปใช้จริงๆ ได้ เพราะความรู้เกิดจากการท่องจำ ไม่ได้มาจากจิตวิญญาณจริงๆ
เมื่อเคียวเห่า จึงเป็นเหมือนการกลับตาลปัตรของระบบ ที่ระบบไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะเป็น เป้าหมายไม่ชัดเจน เรื่องนี้จึงมีนัยยะทั้งทางชนชั้น การศึกษา และในแง่นึงวิพากษ์วิจารณ์สังคมปัจจุบัน ผ่านชีวิตยุคสมัยโชซอน
ปัจเจกนิยม เพศ ปัญหาเศรษฐกิจ และการชุมนุม สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเปลี่ยนผ่าน
ความเป็นปัจเจกนิยม ปัญหาที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจ และการชุมนุมทางการเมือง ไปถึงเรื่องเพศทางเลือก ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ของเกาหลีใต้ และสะท้อนผ่านออกมาจากวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้
ชานันท์ ชี้ว่า เรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ ได้ต่อยอดจากเรื่องแรก ที่มีประเด็นเรื่องสภาวะกดทับในครอบครัวของขงจื้อ ที่เรื่องแรกพ่อเป็นทาส ก็สอนลูกให้เป็นทาส และสอนในสิ่งที่ตนเชื่อ มาถึงวัฒนธรรมที่มองว่าผู้ชายต้องเป็นทหารด้วย รวมไปถึงเรื่องที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมขงจื้อ และขัดต่อสังคมเกาหลี อย่างเช่นเรื่องของเพศทางเลือก ที่เราเห็นผ่านในเรื่องสั้นเรื่อง ‘มุม’ ที่แม้ตัวผู้เขียน จะไม่ได้เขียนให้เห็นอย่างชัดเจน แต่มีบรรยากาศของความโฮโมอีโรติก ที่ อ.จักรกริชเอง ก็บอกว่า นักเขียนคนนี้ไม่ได้พูดตรงๆ เหมือนกับที่ประเด็น LGBT ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดตรงๆ ไม่ได้ในสังคมเกาหลี
อาจารย์ยังได้ยกผลสำรวจของ Gallup ที่พบว่าในเกาหลี มีคนรู้จักคนอื่นที่เป็นเพศทางเลือกรอบตัวเพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะคนที่เป็นเพศทางเลือกไม่เปิดเผยตัว และคนรอบตัวไม่เคยถาม หรือไม่อาจจะยอมรับได้ เมื่อพูดไม่ได้ก็จึงเล่าให้ผู้อ่านได้เห็น ผ่านคนที่อยู่ในมุมๆ นึง ถ้าไม่หันไปมอง ก็อาจจะมองไม่เห็น ซึ่งการมองในประเด็นนี้ ก็เป็นการตีความแบบหนึ่งจากการอ่านเรื่องสั้นนี้
ความปัจเจกนิยม เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนขึ้นในสังคมยุคใหม่ รวมถึงในเกาหลีใต้ ที่สะท้อนผ่านเรื่องสั้นที่ชื่อว่า ‘ฉันไปร้านสะดวกซื้อ’ ซึ่งก่อนงานเสวนา ทางสำนักพิมพ์ได้ทำโพล และพบว่า มีคนโหวตว่าชอบเรื่องสั้นเรื่องนี้กันมากที่สุดในบรรดาทั้งหมด 7 เรื่อง
“คิดว่าคนชอบ เพราะทุกคนก็เคยไปร้านสะดวกซื้อ” อ.อิสริยากล่าว โดยอาจารย์คิดว่าทุกคนได้คิดตามเนื้อเรื่องของตัวละคร ที่เข้าไปซื้อของในร้านว่า เราอาจจะไม่รู้มาก่อนว่าการซื้อของ จะทำให้คนได้รู้ข้อมูลของเราไปด้วย ซึ่งผู้หญิงในเรื่องนี้ รู้สึกว่าเธอถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวจากการซื้อของ อาจารย์ยังชี้ถึงโครงสร้างภาษาเกาหลี ที่เชื่อมโยงกับเรื่องสั้นนี้ว่า ภาษาเกาหลีมีคำว่า ‘อูรี’ หรือพวกเรา ที่คนเกาหลีมักพูดสิ่งที่เป็นของฉัน หรือทำให้รู้สึกถึงความเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งร้านสะดวกซื้อในเรื่อง ทำให้ตัวเอกรู้สึกว่า อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็หวงความเป็นข้อมูลส่วนตัว
อ.จักรกริชเองก็มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยกับเรามากที่สุด เราได้เห็นสังคมที่เปลี่ยนผ่าน พื้นที่เมืองแบบใหม่ ครอบครัวที่เล็กลง คนโสดมากขึ้น ที่อยู่อาศัยได้กลายเป็นห้องๆ คนมีปฏิสัมพันธ์น้อยลง ร้านสะดวกซื้อจึงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นเดียวกับชานันท์ ที่มองว่า รูปแบบของร้านสะดวกซื้อมาแทนตลาด ที่สมัยก่อนการสื่อสารของแม่ค้า และลูกค้า เป็นปฐมภูมิมากๆ เป็นพื้นที่ที่มีข่าวสาร รู้ว่าใครเป็นยังไง ทันทีที่เป็นเปลี่ยนเป็นมินิมาร์ท แม่ค้าก็ถูกเปลี่ยนเป็นแคชเชียร์ บทสนทนาก็กลายเป็นแบบสำเร็จรูปตายตัว แต่เราก็เห็นการเปลี่ยนผ่านพัฒนาการของพื้นที่ มีที่กินข้าว ที่ชาร์จแบต มีความเป็นพื้นที่สาธารณะพอประมาณ แต่คนก็ไม่รู้จักกัน มันเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง แต่ความเป็นสาธารณะนี้ ก็กลายเป็นสิ่งใหม่
นอกจากนี้ เรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ ยังสะท้อนให้เห็นประเด็นของพิษเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน คนเล็กคนน้อย ที่สะท้อนว่า แม้เกาหลีจะเจริญ พัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่ในกระบวนการเหล่านั้นก็ทิ้งคนบางกลุ่มที่ต้องดิ้นรนไว้ ในขณะที่มีไอดอลอย่างเกิลส์เจเนเรชั่นมาปลอบใจ ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจ พอจะทำให้ลืมความทุกข์ หรือประเด็นเรื่องเพศ ที่เราเห็นรูปแบบการแต่งงานเปลี่ยนไป มีวัฒนธรรมของการใช้เว็บไซต์จัดหาคู่ด้วย
รวมทั้งประเด็นการเมือง และวัฒนธรรมการประท้วงในเกาหลีใต้ ที่แม้จะมีการประท้วงมาตั้งแต่ในอดีต ในตอนนี้ก็ยังคงมีพื้นที่ และมีการชุมนุมในประเด็นต่างๆ ของประชาชนอยู่ จากแค่การเมือง มามีเรื่องของโครงสร้าง และประเด็นอย่างเพศ และ Feminist ที่มากขึ้นด้วย
มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม เกาหลีใต้ที่กลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม
มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม เป็นเรื่องสั้นเรื่องสุดท้าย และเป็นเรื่องที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ ซึ่ง อ.อิสริยามองว่า เราสามารถตีความเรื่องนี้ได้หลายแบบ ทั้งความรัก การเป็นชู้ หรือเรื่องราวความฝันของผู้หญิง
และประเด็น ‘พหุนิยม’ เอง ก็ถูกนำมาใช้ตีความ และมองภาพของสังคมเกาหลีในเรื่องสั้นนี้ โดย อ.จักรกริชกล่าวว่า ทั้งเรื่องนี้ และเรื่อง ‘อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารูโอะ’ ต่างก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของชาวเกาหลี และชาวต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น และชาวอเมริกัน ทั้งเรื่องของฮารูโอะ ที่เป็นชาวญี่ปุ่นนั้น ยังไม่ได้เกิดในเกาหลี แต่เริ่มฉากในอินเดีย ซึ่งทั้ง อินเดีย และญี่ปุ่นนั้น ต่างเป็นชาติ ที่ผลการสำรวจระบุว่า ชาวเกาหลี รู้สึกไม่คุ้นชิน ไปจนถึงอาจมีนัยยะเหยียดด้วย
ดังนั้น การให้ตัวละครอย่างชาวเกาหลี ไปเที่ยวอินเดีย ถือเป็นการขยายคอมฟอร์ตโซนของเกาหลีมาก และยิ่งไปเจอเพื่อนเป็นคนญี่ปุ่น ยิ่งทำให้เห็นว่า stereotype ของคนชาวญี่ปุ่นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ซึ่งสื่อให้เห็นการเปิดรับทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น
ในขณะที่ เรื่อง มีในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม พูดถึงผู้หญิงเกาหลี ที่ย้ายถิ่นฐานไปแต่งงานกับชาวอเมริกัน และกลับมาบ้านเกิดภายหลัง ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพปัจจุบัน ที่เกาหลีใต้เป็นสังคมสูงวัย ต้องการแรงงานต่างชาติ แต่ถึงอย่างนั้น การยอมรับในชาวต่างชาติก็ยังมีจำกัด ซึ่งในมุมเรื่องเพศ ชานันท์เองก็มองว่า เรื่องนี้ชี้ให้เห็นผู้หญิงที่เริ่มมีอำนาจการตัดสินใจ มีความฝันอยากเป็นเมียชาวต่างชาติ หรือเลือกว่าเป็นแม่หรือเมียที่ดีได้ด้วย
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ จึงเหมือนเป็นการพาเราไปรู้จักการเปลี่ยนผ่านของสังคมเกาหลี ตั้งแต่การเป็นทาส มาสู่การเป็นเมียฝรั่ง ซึ่งแม้แต่ละเรื่องจะสะท้อนประเด็นที่แตกต่างกัน แต่ อ.จักรกริชก็มองว่าชื่อ ‘มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม’ ที่ถูกนำมาเป็นชื่อหนังสือเล่มนี้ เป็นเหมือนการทำให้เราเห็นสังคมเกาหลีโดยรวม ที่ระหว่างเสียง มี และ ซอล มีเสียงฟา ซึ่งเป็นช่องว่างของเสียง ที่เป็นเรื่องราวทั้งหมดให้เรื่องอื่นแทรกได้ ทำให้ได้ตีความ อธิบาย มองการพัฒนาสังคมเกาหลี จากโชซ็อน มาเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมนี้