นิทรรศการ ‘Mode of Liarsons’ หรือ ‘รยางค์สัมพันธ์’ เป็นนิทรรศการที่จัดโดย BACC และ Japan Foundation เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Condition Report’ โครงการศิลปะที่เป็นการร่วมมือระหว่างภัณฑารักษ์จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแสดงอยู่ที่ชั้น 8 หอศิลปกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคมนี้
‘รยางค์’ ในความหมายที่ราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ในรายการวิทยุ รู้ รักษ์ ภาษาไทย คือ “ส่วนที่ยื่นออกจากส่วนหลักของอวัยวะของสิ่งมีชีวิต เช่น ครีบปลา แขน ขา หนวดและขาของสัตว์ที่มีขาเป็นปล้อง…มีโครงแข็งให้กล้ามเนื้อยึดเกาะเพื่อการเคลื่อนไหว…โครงแข็งของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังเป็นกระดูกและกระดูกอ่อน เรียกว่า กระดูกรยางค์…แต่ กระดูกรยางค์ ของคนไม่ได้หมายถึงเฉพาะกระดูกในแขน ขา มือ และเท้า เท่านั้น หากยังรวมถึง กระดูกสะบัก กระดูกไหปลาร้า กระดูกเชิงกราน ซึ่งยึดระหว่างกระดูกแขนขากับกระดูกแกนของลำตัวด้วย”
นิทรรศการรยางค์สัมพันธ์จึงเป็นนิทรรศการที่มองชิ้นงานศิลปะเป็น ‘ดั่งสิ่งมีชีวิต’ ที่ส่วนที่ยื่นจากแกนกลางสามารถเคลื่อนที่ ปรับเปลี่ยนความหมายไปตามสภาพแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมโยงร้อยเรียงกันภายใต้ความหมายของชิ้นงานแต่ละชิ้น ผ่านเรื่องราวและประเด็นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ร่วมแชร์อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ มายาวนาน
ด้วยวิธีการนำเสนอที่หลากหลาย ตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพยนตร์ ฯลฯ บวกกับประเด็นต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงได้เห็นผลงานที่พูดถึงตั้งแต่ปัญหาของชาวประมงพื้นเมืองเร่ร่อนอูรังลาโว้ย เมืองจำลอง Nid Noi Tan ที่ดูยังไงก็คล้ายว่าจะมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรม และความเชื่อในภูมิภาคแถบนี้ ทั้งอนุสาวรีย์แห่งชาติ เครื่องดนตรีพื้นเมือง ร้านเครื่องดื่มสมุนไพรสินค้าขึ้นชื่อ หรือย่านโคมแดงที่มีวิธีการร่วมรักแบบเฉพาะตัว และเปิดให้คนดูอย่างพวกเราเข้าไปมีอินเทอร์แอคชั่นกับชิ้นงานได้ เราจึงได้เห็นชิ้นงานศิลปะขนาดเล็กที่สร้างสรรค์โดยผู้เข้าร่วมกันเอง อย่าง ‘เจดีย์พลเมือง’ ที่สร้างสรรค์จากอิฐและกระเบื้องหลังคา เป็นเครื่องยืนยันว่าครั้งหนึ่งพวกเขาได้เข้ามาร่วมเป็นประชาชนของ Nid Noi Tan แล้ว หรือจะลองไปร่วมรักแบบชาว Nid Noi Tan ในโซนที่จัดไว้ให้อย่างมิดชิดก็ยังไหว
ใกล้ๆ กันเป็นชิ้นงานที่พูดถึงประเด็นเรื่องเด็กแว๊นบ้านเรา ที่ถูกนำเสนอออกมาได้น่าสนใจ ผ่านบทสัมภาษณ์ และการจัดโชว์วัตถุต่างๆ ที่ถูกพ่นเป็นสีรุ้ง ตามที่ชิ้นงานได้บอกกับเราว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้เป็นสีรุ้งคือความฝันสูงสุดของพวกเขา เรื่องนี้เองเราก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาคิดอะไร ทำอะไร เคยเป็นอะไร และฝันอยากเป็นอะไร ได้ใช้เวลาอยู่กับชิ้นงานนี้สักนิด ก็เหมือนว่าเราจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น
ภาพป้ายโฆษณาว่างเปล่าที่จัดแสดงอยู่รวมกันบนฝาผนังกว้าง พูดถึงอนาคตของมาเลเซียที่รอการเติมเต็ม เมื่อแผน ‘Wawasan 2020’ ที่ถูกดำเนินการและประชาสัมพันธ์โดยรัฐบาลมาเลเซียมาตั้งแต่ปี 1991 เพื่อให้มาเลเซียเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2020 จู่ๆ ก็ดูเหมือนจะถูกแทนที่ด้วยแผน ‘TN50’ ที่มีเป้าหมายคล้ายกัน แต่ต่างกันตรงที่เวลาของเป้าหมายที่ต่างกันอยู่ 30 ปี (ใช่แล้ว TN50 เป็นแผนสำหรับปี 2050) ทำให้เกิดคำถามต่างๆ มากมายว่าสุดท้ายแล้วภาพอนาคตมาเลเซียที่เคยวาดไว้จะเป็นอย่างไร
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่านิทรรศการนี้แม้ชิ้นงานแต่ละชิ้นจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นในสถานที่และเรื่องราวที่แตกต่างกัน เมื่อวางแยกกันก็สามารถตีความแยกกันออกไปได้ แต่ภายใต้ รยางค์สัมพันธ์ มันก็มีชิ้นส่วนบางชิ้น เรื่องราวบางช่วงบางตอน บ้างเล็กบ้างใหญ่ ที่เชื่อมโยงแต่ละงานเข้าไว้ด้วยกัน และได้ออกมาเป็นภาพใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภูมิภาคที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันยาวนาน และยังสร้างเรื่องราวที่คาบเกี่ยวกันเรื่อยมาจนแยกจากกันไม่ได้ กระทั่งในปัจจุบันก็ตาม