แทบจะทุกทิศทางที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ถูกห้อมล้อมไว้ คือพื้นที่สำคัญทางธุรกิจ รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าระดับต้นๆ ของประเทศตั้งตระหง่านอยู่เคียงข้าง ถึงอย่างนั้น ด้วยที่ตั้งเช่นนี้ มันก็ยิ่งทำให้หอศิลป์ฯ มีความโดดเด่นและแตกต่างไปจากบริบทรอบข้าง
ถึงแม้จะเป็นเวลามากกว่า 10 ปีที่หอศิลป์ฯ ได้เปิดพื้นที่ให้ศิลปินและงานศิลปะต่างๆ ได้วนเวียนมาจัดแสดงมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เราต้องยอมรับคือ จนถึงวันนี้ก็ยังคงมี ‘กำแพง’ ที่ปิดกั้นให้ผู้คนรู้สึกกลัวและไม่อยากที่จะเข้าถึงศิลปะ
ภารกิจทำลาย ‘กำแพง’ ที่ว่าจึงเกิดขึ้น เมื่อผู้อำนวยหอศิลป์กรุงเทพฯ คนใหม่อย่าง ‘ครูป้อม’ ปวิตร มหาสารินันทน์ เข้ามารับตำแหน่ง The MATTER ได้มีโอกาสคุยกับครูป้อมถึงความฝันของเขา ที่อยากทำให้ศิลปะได้เข้าถึงผู้คนที่หลากหลาย และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
คิดว่าฟังก์ชั่นหลักของหอศิลป์ในเมืองคืออะไร
เคยมีศิลปินชาวอิสราเอลคนนึงบอกว่า เขาประหลาดใจมาก ไม่เคยเจอมาก่อนเลย ถึงแม้ กทม. จะไม่ได้มีย่านดาวน์ทาวน์ที่ชัดเจน แต่เพราะความร่วมมือของศิลปินและคนที่รักศิลปะที่ช่วยต่อสู้ร่วมกันเกินสิบปี พื้นที่ตรงนี้เลยไม่ได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้า
พอหอศิลป์ฯ อยู่ในใจกลางเมือง แถมยังเป็นพื้นที่มีมูลค่าธุรกิจสูงแบบนี้ มันอาจจะฟังดูคลีเช่นะ แต่ผมคิดว่าเรามีภารกิจที่ต้องทำให้มันเป็นสถานที่ที่ทุกคนเข้าชมได้ หรือใครที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็สามารถมาใช้พื้นที่ในการนำเสนอ โครงสร้างหอศิลป์ฯ อาจออกแบบมาเพื่องานทัศนศิลป์ แต่เราก็ยังมีพื้นที่มีอีกเยอะที่ทำงานได้หลายด้าน เช่น การแสดง หรือกิจกรรมงานเสวนา
ดูเหมือนว่าอาจารย์สนใจเรื่องความหลากหลายเป็นพิเศษ
เพราะโลกปัจจุบันมันไปไกลกว่าคำว่าหลากหลาย แต่เป็น inclusivity คือไม่ใช่แค่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน แต่เราต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้คนที่แตกต่างสามารถรวมอยู่ในสังคมเดียวกันได้ด้วย
คืออยากให้คนมาหอศิลป์ฯ ได้ประสบการณ์ที่หลากหลายมากขึ้น
ตอนก่อนที่จะมารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการที่นี่ ผมเคยเดินขึ้นจากลานจอดรถมาถึงชั้นหนึ่งก็ตกใจมากคือเห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่เยอะเลย เพราะตอนนั้นมันเป็นช่วงที่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับศาสนา แต่พอขึ้นมาชั้นบนก็เจอกับนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องพื้นบ้านของชาวอีสานด้วย
ถ้าลองเปรียบเทียบเวลาเราเข้าไปในวัด ไม่ใช่แค่ศาสนาอย่างเดียว มันคือชีวิตความเป็นอยู่ด้วย มันมีศิลปะหลายๆ แขนง ส่วนคนที่ไปวัดก็ไม่ได้ไปเพื่อทำบุญเพียงอย่างเดียว
บางคนมาหอศิลป์ก็เพื่อทานไอศกรีมเพียงอย่างเดียว บางคนทานกาแฟอย่างเดียว หรือบางคนมาดูงาน ดูละคร แต่ไม่ได้ดูนิทรรศการ นโยบายที่ต้องการไปสู่ inclusivity ของเราเลยต้องการตอบโจทย์นี้ คืออยากให้ทุกคนทำมากกว่าหนึ่งอย่าง มันเป็นความท้าทายของผมและทีมงานทุกคน เพื่อให้คนที่เข้ามาเห็นและรู้สึกว่า งานศิลปะที่อยู่ชั้นบนๆ มันมีความเชื่อมโยงกับชีวิตของเขาด้วย
ในฐานะ ผอ.หอศิลป์ฯ คนใหม่ อาจารย์อยากทำอะไรมากที่สุด
นโยบายหลักของผมคือ art appreciation คือทำให้คนรู้สึกว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัว ผมเพิ่งจำประโยคของใครสักคนขึ้นที่เขาบอกว่า art is in every heart แต่ในความเป็นจริงคือ ระบบการศึกษาของบ้านเราไม่ได้สอนว่าศิลปะเป็นของทุกคน แต่ถูกทำให้คิดว่ามันเป็นเรื่องของศิลปินหรือคนที่เรียนและทำงานศิลปะเท่านั้น
ต่างประเทศเขาพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องปกตินะ เขาพานักเรียนไปทำกิจกรรมต่างๆ ผมอยากให้ทุกโรงเรียนเป็นแบบนี้
ไม่ใช่แค่ครูศิลปะที่พานักเรียนมาหอศิลป์ฯ ผมอยากให้ครูวิทยาศาสตร์พานักเรียนมาหอศิลป์ฯ ด้วย ผมไม่ได้ต้องการให้นักเรียนสายวิทย์ฯ มาเล่นดนตรีหรือวาดรูป แต่อยากให้เขาเห็นว่าศิลปะมันจะมีประโยชน์ต่อการเรียนของเขายังไง ขณะเดียวกัน ผมก็อยากให้นักเรียนสายศิลป์เข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์ด้วย ผมคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหาที่เกิดจากการแบ่งแยกนักเรียนออกเป็นสายวิทย์และสายศิลป์
เมื่อหอศิลป์ฯ มันตั้งอยู่ในกลางใจเมือง พวกเราจึงมีหน้ารับผิดชอบกับคนทุกคนด้วย เราต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่านี่เป็นสถานที่ที่ใครก็เข้ามาได้ ช่วงแรกที่หอศิลป์ฯ เปิดคนก็จะกลัวว่าเข้าไปแล้วจะเข้าใจไหม เพราะการเรียนการสอนเรื่อง art appreciation ในบ้านเรามันยังล้าหลังประเทศอื่นๆ คนยังรู้สึกกลัวศิลปะในขณะที่ประเทศอื่นๆ เวลาหนุ่มสาวเขาชวนไปเที่ยวกัน เขาก็ชอบไปพิพิธภัณฑ์ หรือไปดูละครเวทีด้วยเหมือนกันนะ คือพวกเขามีทางเลือกอื่นๆ นอกจากไปห้างสรรพสินค้า โจทย์ของเราคือจะทำยังไงให้คนรู้สึกว่า ถึงแม้ไม่ต้องคิดอะไรมากก็เข้ามาที่นี่ได้
ตั้งเป้าว่าอยากให้คนได้ความรู้สึกแบบไหนกลับไปจากหอศิลป์ฯ
อย่างแรกเลยคืออยากให้เขามีความสุข อย่างเมื่อวาน ผมใช้รถไฟฟ้าเดินทางไปทองหล่อตอนหกโมงเย็น มันแน่นมากเลยนะ ผมเลยมานั่งคิดว่า แทนที่เราจะรีบกลับบ้านกัน ถ้าเราได้มาหอศิลป์ก็น่าจะผ่อนคลายและมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นความสุขจากการนั่งเฉยๆ ได้อยู่คนเดียวเงียบๆ ชมงานศิลปะ ซึ่งหอศิลป์ฯ ก็ให้เขาได้โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าแม้แต่บาทเดียว
ขั้นต่อมาคือทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ ด้วยการที่เราทำงานศิลปะร่วมสมัยมา เราไม่มีเป้าหมายชัดเจนว่า เราอยากให้คนรู้สึกแบบนั้นแบบนี้ เพราะมันเปิดโอกาสให้เกิดการตีความได้ด้วยตัวเอง แต่ละคนใช้เวลาและทำกิจกรรมในหอศิลป์ไม่เหมือนกัน แต่มันก็เป็นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาได้
คิดว่าพื้นที่แบบนี้มันช่วยเยียวยาชีวิตเราได้รึเปล่า
ผมดีใจที่ประเทศของเรามีพื้นที่แบบนี้ มันเป็นแหล่งพักผ่อนทั้งทางกาย จิตใจ และสมองด้วย เพราะความเงียบในหอศิลป์ฯ มันค่อนข้างเงียบมากเมื่อเทียบกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบ ด้วยความเงียบแบบนี้มันช่วยให้คนทำอะไรได้เยอะมากเลยนะ แม้แต่นักศึกษาบางคนที่เอาการบ้านมาทำ หรือมาติวหนังสือกัน เขาก็น่าจะเห็นงานศิลปะที่เราวางอยู่ตามผนังต่างๆ เขาน่าจะมีความสุขและเกิดแรงบันดาลใจ นี่คือสิ่งที่หอศิลป์ฯ ทำได้
อาจารย์พูดถึงคำว่าแรงบันดาลใจหลายครั้ง คิดว่าในมุมของศิลปะแล้วสิ่งนี้มันสำคัญกับผู้คนในปัจจุบันอย่างไรบ้าง
สมัยนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่า visual overload คือ สายตาเรารับอะไรหลายอย่างเข้ามาเยอะมากในแต่ละวัน ในโทรศัพท์มันไม่ใช่แค่เครื่องมือโทรหากันอย่างเดียว แต่มันมีอะไรเข้ามาในสายตาเราเยอะมาก คำถามก็คือว่า พอมันเยอะอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้มันสร้างแรงบันดาลใจไหม ผมคิดว่าบางอย่างมันก็สร้างนะ แต่มันก็มีบางอย่างที่จบอยู่แค่นั้น
บางทีคนเราก็ต้องการที่พักผ่อนทางใจ ช่วงแรกๆ ในฐานะคนดู เวลาเข้ามาหอศิลป์ฯ ก็รู้สึกว่า ทำไมหอศิลป์มันถึงขาวจัง แต่พอมาทำงานที่นี่ ก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วชีวิตเราก็ต้องการความขาวแบบนี้ด้วยเหมือนกัน บางทีก็มีคนบอกว่า ทำไมเข้าทางชั้น 3 มาแล้วมันดูโล่งๆ ถึงวันนี้ผมก็คิดว่า บางทีมันโล่งไปบ้างก็ดี เพราะเราก็สามารถได้รับแรงบันดาลใจจากความโล่งเช่นนี้ เพราะว่าพอออกไปข้างนอกมันก็วุ่นวายแล้ว บางทีเราก็ได้รับแรงบันดาลใจจากพื้นที่ที่เงียบๆ สงบๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นวัดก็ได้เหมือนกัน
มองแรงบันดาลใจที่ได้รับจากศิลปะว่ามันสำคัญกับคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง
แต่ละคนไม่เหมือนกัน หลายคนอาจถามว่าทำไมงานศิลปะมันต้องเข้าไปดูในหอศิลป์ แต่จริงๆ แล้วถ้ามาดูกันที่นี่ก็จะสัมผัสอะไรได้หลายอย่างที่โลกเสมือนมอบให้ไม่ได้ ทั้งเรื่องพื้นที่ เวลา ระยะห่างมุมมองที่เรามองศิลปะ ในยุคที่เราใช้เวลาอยู่ในโลกเสมือนมากยิ่งขึ้น เราก็ยังต้องการใช้ชีวิตในแบบที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้นด้วย
มันเลยตอบคำถามได้ว่า ทำไมเราถึงยังอยากไปคอนเสิร์ตอยู่ทั้งที่เราฟังเพลงผ่านออนไลน์ต่างๆ ได้แล้ว หรือถึงแม้ว่าเราดูหนังผ่านมือถือได้ แต่หลายคนก็ยังชอบไปโรงหนัง
ผมคิดว่าแต่ละคนได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน หรือบางคนก็อาจจะไม่ได้แรงบันดาลใจก็ได้นะ แต่ที่สำคัญคือ พวกเขาจะได้พักผ่อนและออกมาจากชีวิตประจำวันที่วุ่นวายสักพักหนึ่ง และมันก็น่าจะช่วยให้เกิดกำลังใจและพลังงานเพิ่มเติมขึ้นมา เพราะบางทีชีวิตของเราก็ต้องการช่องว่างสักช่วงหนึ่งเพื่อมีแรงทำอะไรต่อไป
ในทางกลับกัน คิดว่าอะไรคือกำแพงที่ปิดกั้นคนออกจากหอศิลป์ รวมถึงการเข้าชมศิลปะในที่อื่นๆ
มันคือคำว่า ‘ศิลป์’ นี่แหละ เขามักเข้าใจว่าหอศิลป์ฯ เป็นสถานที่สำหรับศิลปินหรือคนทำงานศิลปะเท่านั้น แต่เขายังไม่เชื่อว่าศิลปะเกี่ยวข้องกับทุกคน ในทางตรงกันข้าม ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจศิลปะได้ ทุกคนได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของทีมงานของหอศิลป์ฯ และศิลปินทุกคนที่มาแสดงงานที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใดก็ตาม ก็ต้องทำให้คนเข้าใจและเชื่อได้ว่า ศิลปะมันมีความหมายกับพวกเขา ประเทศนี้มีศิลปินมากพอแล้ว เราอยากได้คนดูศิลปะ และคนที่สนับสนุนงานศิลปะ
เราอยากได้คนดู และอยากให้เขาได้รับแรงบันดาลใจ อย่างตัวผมเองวาดรูปไม่ได้เรื่องเลย แต่ก็ชอบไปเดินดูงานศิลปะนะ ซึ่งมันก็ทำให้เราได้เกิดความคิด แรงบันดาลใจ อยากไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะต่างๆ
ไลฟ์สไตล์คนยุคปัจจุบัน มีส่วนทำให้คนเราห่างไกลกับงานศิลปะมากขึ้นไหม
ก็ทั้งมีส่วนและไม่มีส่วนนะ ถ้าเป็นสมัยก่อนถ้าครูพูดอะไรมาในห้องแล้วเราอยากรู้อะไรเพิ่มก็ต้องเข้าห้องสมุด แต่ยุคนี้เด็กนักเรียนเขาเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้นนะ ซึ่งก็เป็นเรื่องดีเหมือนกัน คืออยากรู้เรื่องอะไรก็ค้นหาในอินเทอร์เน็ตได้แล้ว แต่คนเราในทุกวันนี้ก็ยังต้องการการอยู่ในพื้นที่จริงๆ เดียวกันกับงานศิลปะเหมือนกัน
งานที่เราวางแผนกันเอาไว้ มันก็จะมีแนวโน้มของการเชื่อมโยงศิลปะเข้าไปสู่ชีวิตประจำวัน ให้ศิลปะแต่ละแขนงมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เช่น งานที่เรากำลังทำนิทรรศการอีสาน เราก็จะมีทั้งการแสดงดนตรีที่หน้าหอศิลป์ฯ ซึ่งเราก็ตั้งความหวังว่า แฟนดนตรีที่มางานนี้เขาจะขึ้นไปดูงานนิทรรศการด้วยบ้าง ในทางกลับกันคนที่มาดูงานนิทรรศการศิลปะ เขาก็จะมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมอื่นๆ ด้วย มันจะมีกิจกรรมให้ทุกคนทำเยอะมาก ความท้าทายอย่างหนึ่งคือเราอยากให้คนกลับมาอีก
จากเดิมที่อาจารย์สอนเรื่อง art appreciation ในมหาวิทยาลัย คิดว่าโจทย์ในตอนนั้นกับตอนนี้ที่หอศิลป์ฯ มันต่างหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง
โจทย์มันกว้างกว่าเยอะมาก จากเดิมผมมีลูกศิษย์ปีละ 400 กว่าคน มันฟังดูเยอะแต่มันน้อยนะ ถ้าเราเปรียบเทียบกับคนที่เข้ามาหอศิลป์ฯ อย่างเมื่อปีที่แล้วมีคนเข้ามาหอศิลป์ฯ ราวๆ 1.7 ล้านคน โดยหน้าที่ของทีมงานหอศิลป์ฯ คือนอกจากทำให้คนเข้ามามีความสุขแล้ว เราก็อยากให้เขาเข้าใจทุกอย่างที่เรานำเสนอและได้รับแรงบันดาลใจในแบบของตัวเอง มีการตีความในแบบของตัวเอง มีความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ได้จากการชมงานศิลปะ
ผมเชื่อว่ามันคือรากฐานของประชาธิปไตย เพราะระบบประชาธิปไตยเราต้องการพื้นที่ที่คนสามารถแสดงความคิดเห็น หรือได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ทางสังคมและการเมือง เพราะจริงๆ แล้วศิลปะกับวัฒนธรรมมันแยกกันไม่ได้
ถ้าหากที่นี่ใช้ชื่อว่าหอศิลปะอย่างเดียว ผมเองก็คงไม่ได้มาทำงานอยู่ที่นี่ เพราะมันอาจจะเป็นศิลปะแบบที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
ธรรมชาติของคนไทยชอบความสนุกนะ แต่พอมันติดชื่อว่าศิลปะและวัฒนธรรมมันก็ยิ่งทำให้ดูเครียด แต่จริงๆ แล้ววัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่งก็คือความสนุก มันเลยเป็นหน้าที่ของผมอีกอย่างคือ หากใครเข้ามาที่หอศิลป์แล้วรู้สึกสนุกผมเชื่อว่าถ้าคนไทยได้ไปที่แล้วสนุก เขาก็อยากจะกลับมาอีกและมาบ่อยๆ
ที่ผ่านมา หอศิลป์ฯ ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องการให้พื้นที่ด้านการแสดงการเมืองจุดยืนของอาจารย์ในเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง
เท่าที่ผมเคยมาร่วมกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายของศิลป์ฯ ผมเชื่อว่าที่นี่ไม่มีสี ถึงแม้ว่าเราจะจัดตั้งในสมัยที่พรรคการเมืองหนึ่งเป็นผู้ว่าฯ แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเป็นพื้นที่ของพรรคนั้น หรือวิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองนั้นไม่ได้ คือศิลปะร่วมสมัยมันขึ้นอยู่กับการตีความ ซึ่งมันก็เรียกร้องและเชิญชวนให้ผู้ชมมีความเห็นแตกต่าง หรือเกิดการวิพากษ์วิจารณ์
ที่ผ่านมาก็เคยมีผู้ใหญ่หลายท่านที่เตือนเรื่องกิจกรรมทางสังคมของหอศิลป์เหมือนกัน แต่พอกิจกรรมมันเกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม ที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ความคิดเห็น และปัญหาของคนทั่วไป
เวลาที่คนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตามที่ประสบปัญหาในชีวิตประจำวัน บางทีเขาก็อาจแสดงมันออกมาในรูปแบบของงานศิลปะได้ อาจจะออกมาเป็นภาพวาด หนังสั้น อ่านบทกวี หรือการแสดงดนตรี ซึ่งการที่เราเป็นหอศิลป์ เราจึงสามารถนำเสนอตรงนี้ได้ ซึ่งคนที่เข้ามาชม เขาก็อาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับงานเหล่านั้นก็ได้ งานศิลปะมันก็มีทั้งงานศิลปะบริสุทธิ์ ที่เขาทำให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างชัดเจน หรือมันก็มีงานศิลปะที่มันมีแง่มุมด้านการเมืองและสังคมต่างๆ
ส่วนศิลปะร่วมสมัยมันไม่ได้เน้นที่ความสวยงามเท่านั้น แต่ละคนมองคุณค่าของศิลปะร่วมสมัยไม่เหมือนกัน ตรงนี้มันเลยกลับมาย้อนที่คำว่าศิลปวัฒนธรรม เมื่อมันมีคำว่าวัฒนธรรมอยู่ มันจึงตีความได้
photo by Watcharapol Saisongkhroh