เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปชมงานนิทรรศการของศิลปินระดับโลกที่มาแสดงงานในเมืองไทย นิทรรศการนี้มีชื่อว่า ‘Tian Tian Xiang Shang : Arts is Learning Learning is Arts เทียนเทียนเซี่ยงซ่าง : ศิลปะ {การเรียนรู้} คือ การเรียนรู้ {ศิลปะ}‘ ซึ่งจัดขึ้นโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ร่วมกับคณะละครเชิงทดลองนานาชาติซูนี ไอโคซาฮีดร็อน (Zuni Icosahedron) แห่งฮ่องกง ด้วยความสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงประจำประเทศไทย
นิทรรศการนี้จัดแสดงผลงานของ แดนนี่ ยุง (Danny Yung) ศิลปินหัวก้าวหน้า นักบุกเบิกและสร้างสรรค์งานศิลปะแนวทดลอง เป็นผู้นำทางด้านวัฒนธรรมผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของฮ่องกง นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้อำนวยการร่วมและผู้ก่อตั้งคณะซูนี ไอโคซาฮีดร็อนอีกด้วย ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา เขามีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะหลากแขนงหลายแนวทาง ทั้งละครเวที การ์ตูน ภาพยนตร์ วิดีโอ ทัศนศิลป์ ศิลปะจัดวาง ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในหลายประเทศทั่วโลก
ในปี ค.ศ. 1970 แดนนี่ ยุง สร้างสรรค์ผลงานในชื่อ ‘เทียนเทียนเซี่ยงซ่าง’ (Tian Tian Xiang Shang) ซึ่งมีที่มาจากประโยคสุภาษิตจีนที่ปรากฏอยู่หน้าประตูโรงเรียนประถมฯ ทุกโรงเรียนในประเทศจีนในช่วงทศวรรษที่ 1950s มีความหมายว่า “เรียนรู้สิ่งใหม่ ก้าวหน้าต่อไป” เพื่อให้นักเรียนทุกคนหมั่นสะท้อนความคิดและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
แดนนี่ ยุง ใคร่ครวญถึงความหมายของสุภาษิตนี้ และคำนึงถึงการขาดไร้ซึ่งความคิดเชิงวิพากษ์ในสถาบันการศึกษาและวัฒนธรรม เขาจึงสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนเชิงความคิด (Conceptual Comic) โดยสร้างเป็นตัวละครเด็กน้อยช่างสงสัย ใฝ่รู้ในทุกเรื่องราว และตั้งคำถามกับทุกสิ่งรอบตัวขึ้นมา โดยมีท่าแหงนมองและชี้นิ้วไปยังอะไรสักอย่างเบื้องบน กระตุ้นเร้าและท้าทายให้ผู้ชมทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วโลกเกิดความสงสัย และตั้งคำถามว่าเขาเหม่อมองอะไรกันแน่ จะเป็นเครื่องบิน แมลงปอ หมู่เมฆ เป็นจินตนาการความคิดฝัน หรือการตั้งคำถามถึงอนาคตของตัวเองและมวลมนุษยชาติกันแน่?
ในปี ค.ศ. 1979 เขาจัดนิทรรศการ Tian Tian Xiang Shang ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ศูนย์ศิลปะฮ่องกง (Hong Kong Arts Centre) โดยมีเป้าหมายเพื่อนิยามความเป็นศิลปะของการ์ตูนขึ้นใหม่ และสำรวจพรมแดนระหว่างภาษาและภาพวาด หลังจากนั้น เขาเริ่มพัฒนาแนวคิดการ์ตูนของเขาเรื่อยมา จนในที่สุดก็กลายเป็นประติมากรรมสามมิติ เขาเชื่อว่าประติมากรรมเหล่านี้จะเป็นสะพานที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น
“จุดกำเนิดของผลงานชิ้นนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1970 ผมเริ่มต้นวาดการ์ตูนช่องเดียวที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการคิดและการพูดขึ้นมา ต่อมาผมเริ่มพัฒนาการวาดเป็นการ์ตูนเก้าช่อง แล้วก็กลายเป็นประติมากรรมสามมิติขึ้นมา และชักชวนให้เพื่อนๆ ศิลปินชาวฮ่องกงหลายคนมาร่วมตีความผลงานชุดนี้ และสร้างสรรค์มันขึ้นมาใหม่ในสไตล์ของตัวเองตามใจชอบ ในจำนวนนั้นก็มีทั้งคนทำหนังอย่าง ฉีเคอะ (Tsui Hark) แฟชั่นดีไซเนอร์อย่าง วิเวียน แทม (Vivienne Tam) อ้อ ยังมีตัวการ์ตูนเจ้าหมู McMug ของ อลิส มัก (Alice Mak) และ ไบรอัน เซี่ย (Brian Tse) มาร่วมแจมด้วย”
“ผมดีใจมากที่สามารถเปิดให้คนอื่นเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะของผม และมาร่วมไม้ร่วมมือกันทำมันขึ้นใหม่ ผมคิดว่าความคิดสร้างสรรค์ของคนเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาไม่รู้จบ สำหรับผม การมีปฏิสัมพันธ์และการร่วมไม้ร่วมมือกัน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการทำงานศิลปะ”
เช่นเดียวกับนิทรรศการที่จัดขึ้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ที่นอกจากจะมีผลงานศิลปะการ์ตูนเทียนเทียนฯ ในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังมีการรวบรวมผลงานประติมากรรมสามมิติ ในรูปของตุ๊กตาเทียนเทียนฯ ที่ออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยศิลปินหลากหลายสาขา ทั้งจากฮ่องกง และนานาประเทศ ร่วมกับผลงานสร้างสรรค์ของศิลปิน สถาปนิก นักออกแบบ ภัณฑารักษ์ และนักสร้างสรรค์ชาวไทยในหลากหลายสาขา อาทิ ภัทราวดี มีชูธน, ดาว วาสิกศิริ, นักรบ มูลมานัส, ประธาน ธีระธาดา, ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ, สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์, ธีระวัฒน์ มุลวิไล หรือแม้แต่พรรคการเมืองต่างๆ อย่าง พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคสามัญชน, พรรคพลังท้องถิ่นไท, พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ ไปจนถึงนักศึกษานักกิจกรรมอย่าง แฟรงค์-เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ก็มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับเขาด้วย นอกจากนี้ยังเปิดให้บุคคลทั่วไปที่มาชมนิทรรศการ โดยเฉพาะเด็กๆ มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในบริเวณเวิร์กช็อปของนิทรรศการ และนำมาจัดแสดงในพื้นที่หอศิลป์ร่วมกันด้วย
“ผมรู้สึกดีใจมาก ที่ผลงานของผมชุดนี้ไม่ได้มีแค่ศิลปินมาช่วยสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังมีคนทำงานในสาขาอาชีพอื่นๆ อย่างเช่น นักการเมือง ครู ฯลฯ มีผลงานชิ้นนึงทำโดยเด็กที่เป็นออทิสติกด้วย การร่วมกันทำงานแบบนี้เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนบทสนทนา และทำให้พวกเขารู้สึกว่าศิลปะเป็นอะไรที่เท่าเทียมกัน อย่างงานที่ทำโดยนักการเมือง ก็เป็นการโปรโมทสโลแกนของพรรคของเขา เหมือนเป็นการหาเสียงไปในตัว (หัวเราะ) หรืองานของผู้บริหารสถาบันศิลปะ ก็พูดถึงสถาบันศิลปะของเขา ซึ่งก็เป็นเหมือนการโฆษณาอย่างหนึ่ง ซึ่งโอเคนะ ผมเปิดรับทุกสิ่งทุกอย่างแหละ หรืองานของสื่อมวลชนคนนึง เธอเขียนถ้อยคำที่เธอยากเขียนลงหนังสือพิมพ์แต่โดนเซ็นเซอร์ บนตุ๊กตาก็เลยเต็มไปด้วยคำสบถต่างๆ ซึ่งมันน่าสนใจมาก ว่าสิ่งที่เคยถูกห้ามไม่ให้แสดงออก ก็ได้มาแสดงออกที่นี่ได้”
ส่วนเหตุผลที่ตัวละครเจ้าหนูเทียนเทียน ทำท่าชี้นิ้วนั้น แดนนี่ ยุง เฉลยให้เราฟังว่า
“เมื่อเราเป็นเด็กเล็ก ภาษากายแรกๆ ของเราคือการชี้นิ้ว เด็กๆ มักจะชี้นิ้วแล้วบอกว่า แม่จ๋าๆ หนูอยากได้โน่น อยากได้นี่ ผมเลยใช้การชี้นิ้ว เป็นภาษากายของการ์ตูนตัวนี้ ซึ่งเป็นภาษาสากลที่เป็นที่รู้จักกันในหลายชาติหลายภาษาและวัฒนธรรม การแหงนหน้ามองของตัวการ์ตูนก็เป็นอากัปกิริยาของเด็กเล็กๆ เช่นเดียวกัน เพราะเด็กๆ มักจะแหงนหน้ามอง แล้วก็ชี้นิ้วและคิดว่า นั่นคืออะไร? นี่คือพื้นฐานของการออกแบบตัวละครตัวนี้ รวมถึงประติมากรรมเทียนเทียนด้วย แล้วเมื่อคุณเป็นคนชี้นิ้วเอง คุณจะชี้ไปที่อะไร ชี้ไปที่เจ้านาย ชี้ไปที่นายกรัฐมนตรี ชี้ไปที่พ่อแม่ ชี้ไปที่ครู ชี้นก ชี้เมฆ หรือชี้ไปที่พระเจ้ากันแน่? ผมคิดว่ามันเป็นแบบฝึกหัดที่ดีสำหรับเราในการทำความรู้จักกับจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้”
“ไม่ว่าศิลปินจะทำงานศิลปะอะไรออกมา งานศิลปะเหล่านั้นก็เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนตัวตนของศิลปินคนนั้น ไม่ว่าพวกเขาจะพูดถึงเรื่องศิลปะ เรื่องสังคม การเมือง หรือประสบการณ์ส่วนตัว หรือแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ ทุกอย่างย่อมถูกแสดงออกมาผ่านผลงาน ประสบการณ์ที่เป็นกลุ่มก้อนเหล่านี้ถูกนำเสนอบนพื้นที่เดียวกัน ให้ศิลปินเหล่านี้ได้เปรียบเทียบ สนทนา และตั้งคำถามซึ่งกันและกันว่าพวกเขาทำงานเหล่านี้ขึ้นมาได้อย่างไร และทำไมถึงทำมันขึ้นมา”
“ผลงานที่ผมนำมาแสดงในครั้งนี้ มีทั้งผลงานของศิลปินจากฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ แวนคูเวอร์ (แคนาดา) และสหรัฐอเมริกา มาจัดแสดงร่วมกับศิลปินไทย โดยไม่มีการแบ่งแยกออกจากกัน เพราะผมคิดว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน นอกจากนี้ยังมีผลงานของเด็กๆ ในกรุงเทพฯ ที่ทำขึ้นในเวิร์กช็อปที่จัดขึ้นทุกๆ วันเสาร์ และจะมีการจัดเวิร์กช็อปต่อเนื่องไปจนจบนิทรรศการ ซึ่งจะเห็นว่าตรงพื้นที่แสดงงานจะมีที่ว่างเว้นเอาไว้ เพื่อให้นำผลงานที่เด็กๆ ทำเวิร์กช็อปมาจัดแสดงเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ผมชอบงานที่เด็กๆ ทำออกมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่เด็กเล็กๆ ทำออกมา มักจะน่าสนใจที่สุด”
แดนนี่ ยุง กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการศิลปะนี้ของเขาว่า
“เป้าหมายของเทียนเทียนเซี่ยงซ่าง คือการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความคิดเชิงวิพากษ์ และทำให้ตัวเองมีความสงสัยใคร่รู้ตลอดเวลา เพราะเมื่อเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็ยิ่งมีความสงสัยน้อยลงเรื่อยๆ เราไม่เปิดใจให้กว้าง และไม่พยายามตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์”
เมื่อเราถามถึงสถานการณ์เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและการเซ็นเซอร์ หลังจากที่ฮ่องกงกลับคืนสู่ประเทศจีน แดนนี่ ยุง กล่าวว่า
“การเซ็นเซอร์มีอยู่ในทุกๆ หนแห่ง แม้จะเป็นประเทศเสรีก็ตาม หัวใจสำคัญก็คือ เราจะรับมือการการเซ็นเซอร์ได้อย่างไร การเซ็นเซอร์มักจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ประเทศที่มีการพัฒนามากขึ้น การเซ็นเซอร์ในประเทศเหล่านั้นก็จะผ่อนคลายมากขึ้น อย่างเวลาเราไปดูหนัง ในโรงหนังก็จะมีการจัดเรตติ้งตามอายุ คุณลองนึกดูว่า เมื่อ 50 ปีที่แล้วไม่มีการจัดเรตติ้งแบบนี้ ดังนั้นเรตติ้งเป็นทางออกอย่างหนึ่งของปัญหาการเซ็นเซอร์ ผมคิดว่าคนมักจะใช้การเซ็นเซอร์ในนามของการปกป้องเด็กเล็กๆ ดังนั้นเราควรจะตั้งคำถามว่า เด็กเหล่านั้นจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจปัญหาสังคมได้ตอนอายุเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการศึกษา ถ้าระบบการศึกษาของเรายิ่งก้าวหน้าเท่าไหร่ การเซ็นเซอร์ก็จะยิ่งผ่อนคลายลงมากเท่านั้น วัฒนธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ต้องดูว่าวัฒนธรรมในสังคมของเรามีธรรมชาติที่เปิดกว้างแค่ไหนสำหรับการทดลองสิ่งต่างๆ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศจะช่วยในการสร้างพื้นที่ใหม่ๆ ในการทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ อย่างเช่น ถ้ามีสองประเทศ ที่ประเทศหนึ่ง มีความเข้มงวดในการเซ็นเซอร์ กับอีกประเทศที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า ถ้าพวกเขาได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน มันก็จะช่วยให้ประเทศที่มีความเข้มงวดเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายความเข้มงวดลงได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”
ศิลปินชาวฮ่องกงผู้นี้ยังออกปากฝากความในใจถึงหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานทางศิลปวัฒนธรรมด้วยว่า
“มันเป็นความท้าทายของผมในการทำงานร่วมกับสถาบันที่ทำงานด้วยยากที่สุด นั่นก็คือรัฐบาล การร่วมงานระหว่างสถาบันของผมกับรัฐบาลจึงเป็นอะไรที่ท้าทายและใช้เวลามากๆ ในวันเปิดงาน ผมเชิญรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมาร่วมงาน เพราะ แคร์รี่ หลำ (Carrie Lam / ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง) เอง ก็มาเป็นประธานในงานเปิดด้วย ถ้าผู้นำของไทยเหล่านั้นมา ก็เป็นโอกาสที่พวกเขาจะแสดงวิสัยทัศน์และการสนับสนุนด้านวัฒนธรรมของประเทศนี้ แต่พวกเขาก็ไม่มา อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มีวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ หรือไม่แน่ ก็อาจจะเป็นเพราะ แฟรงค์—เนติวิทย์ มาร่วมแสดงในงานนี้ด้วย พวกเขาเลยไม่กล้ามามั้ง! (หัวเราะ) ซึ่งน่าสนใจว่านักกิจกรรมทางการเมืองอย่าง แฟรงค์—เนติวิทย์ ทำให้ผมนึกไปถึงนักศึกษานักกิจกรรมทางการเมืองของฮ่องกง อย่างขบวนการร่ม (Umbrella Movement) ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะเรียนรู้จากนักกิจกรรมไทยเกี่ยวกับเรื่องของความผ่อนคลาย ผมคิดว่าคุณควรจะเครียดให้น้อยลง และผ่อนคลายให้มากกว่านี้น่ะนะ (หัวเราะ)”
“อีกอย่าง ผมดีใจที่ได้มาแสดงงานที่ BACC มันทำให้เกิดความหมายที่พิเศษ เพราะผมรู้ว่าหอศิลป์แห่งนี้กำลังเผชิญกับสถาการณ์ที่เสี่ยงต่อความอยู่รอด ผมอยากบอกกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่รัฐบาลว่า พวกเขาควรแสดงกึ๋นและกล้าให้ศิลปินบริหารหอศิลป์แห่งนี้ และอย่าถอนการสนับสนุนเช่นนี้ ที่พวกเขาทำแบบนี้ก็เพราะพวกเขาเป็นคนที่ตายด้าน ไร้ความรู้สึก และไม่มีอะไรในหัว นอกจากการเล่นการเมืองเท่านั้นเอง”
แดนนี่ ยุง กล่าวทิ้งท้ายถึงนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“ปัญหาของคนเราก็คือ ตอนที่เราเป็นเด็ก เรามีความคิดสร้างสรรค์มากๆ แต่เมื่อเราแก่ตัวลงเรื่อยๆ เรามักจะมีความคิดสร้างสรรค์น้อยลง และเคร่งเครียดยิ่งขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมวาดการ์ตูนตัวนี้เป็นเด็กๆ เสมอ เพราะเด็กๆ มักจะมีความสงสัยใคร่รู้ในทุกๆ สิ่ง ตอนเป็นเด็กคุณจะมองเห็นสีสันมากมาย เห็นที่ว่าง เห็นความเคลื่อนไหว เห็นพื้นผิว เห็นแสง เห็นผู้คน แต่พอคุณยิ่งโตขึ้น คุณจะเห็นแต่ในสิ่งที่คุณอยากเห็นเท่านั้น
“ผมคิดว่าศิลปะไม่ควรจะมีขอบเขตพรมแดน คุณเองก็มีความคิดสร้างสรรค์ได้พอๆ กับผม ต่างกันตรงที่ใครใช้เครื่องมืออะไร บางคนอาจใช้ปากกาเขียน บางคนอาจใช้พู่กันวาดรูป ใช้ร่างกายเคลื่อนไหว ใช้ปากพูด ทุกคนต่างก็มีความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนคุณเป็นเด็กๆ นิทรรศการนี้เป็นโอกาสอันดีที่คุณจะได้เข้ามาเยี่ยมเยียนช่วงเวลาแห่งความเป็นเด็กของคุณอีกครั้ง”
แถมท้าย การหายสาบสูญของเทียนเทียนฯ
ถึงแม้ภาพรวมของนิทรรศการนี้ดูออกจะเป็นอะไรที่น่ารักสดใส แต่ภายใต้ความน่ารักสดใสเหล่านี้ ผลงานหลายชิ้นก็แฝงประเด็นทางการเมืองอันเข้มข้นและดุเดือด และผลงานที่ดุเดือดโดนใจที่สุดในนิทรรศการนี้เราขอยกให้กับผลงานของศิลปินศิลปะการแสดงร่วมสมัยระดับแนวหน้าของไทยอย่าง พิเชษฐ์ กลั่นชื่น โดยเขาแสดงแค่บรรจุภัณฑ์เปล่าๆ ของตุ๊กตาเทียนเทียนฯ ที่ไร้ตัวตุ๊กตา วางในกล่องกระดาษเคียงคู่กับใบแจ้งความ ที่แจ้งว่าตุ๊กตาได้หายไป คราวแรกที่เราเห็นงานของเขาชิ้นนี้ เราคิดว่ามันคงเป็นการเล่นกับประเด็นเก๋ๆ เกี่ยวกับการหายไปของศิลปวัตถุแต่เพียงเท่านั้น แต่เมื่อขุดลึกลงไปเราก็พบว่า ผลงานชิ้นแฝงประเด็นทางการเมืองที่ลึกกว่านั้นหลายขุม โดยพิเชษฐ์กล่าวถึงแนวความคิดเบื้องหลังผลงานชิ้นนี้ของเขาว่า
“ช่วงเวลาที่ผมได้รับการเชื้อเชิญให้เอาตุ๊กตาไปทำใหม่ เป็นเป็นช่วงเวลาใกล้กับข่าวของอดีตนักเคลื่อนไหวและอดีตนักโทษการเมือง สุรชัย แซ่ด่าน กับคนสนิท ถูกฆ่าถ่วงน้ำแล้วศพหายไป สำหรับผม เหตุการณ์สะเทือนใจเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ครั้งที่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร หายตัวไปอย่างลึกลับ จนวันนี้ก็ยังหาไม่พบ ปรากฏการณ์คนหายสาบสูญไปเฉยๆ ในสังคมไทยเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบก็ไม่สามารถทำอะไรได้ สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกคนรู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ไม่มีใครปริปากพูด”
“เมื่อผมรับปากตกลงว่าจะทำงานชิ้นนี้ ผมอยากให้งานชิ้นนี้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้น ให้เป็นมากกว่าการเอาตุ๊กตามาตบแต่ง เหมือนงานประกวดกระทงหรือรถบุปผชาติ ตอนแรกผมคิดจะเอาตุ๊กตามาทุบให้เป็นผุยผงเพื่อนเปลี่ยนสภาพ แล้วส่งกลับไปจัดแสดงในนิทรรศการ แต่สารก็ยังไม่ชัดเจนพอ เพราะผมต้องการสื่อถึงการหายไปโดยไม่หลงเหลืออะไรเลย ก็เลยตัดสินใจสร้างกระบวนการให้เป็นเรื่องราวมากขึ้น และแฝงแง่มุมในเชิงสังคม”
“โดยผลงานชิ้นนี้จะแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก เป็นงานที่กำลังจัดแสดงอยู่ คือ ‘สูญหาย’ โดยผมไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่ามีของหาย และถูกตำรวจสอบสวนอยู่นานกว่า 20 นาที แล้วลงบันทึกใบแจ้งความที่นำไปแสดงในนิทรรศการ ผมต้องการให้ผู้ชมงานสร้างกระบวนการทางจินตนาการเอาเองว่าตุ๊กตาของเขามันควรเป็นอย่างไร ช่วงที่สอง ‘กลับคืน’ ในช่วงเวลาหนึ่งอาทิตย์ก่อนที่นิทรรศการจะจบลง ผมจะเอาตุ๊กตาไปส่งคืนที่หอศิลป์ เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ แต่จะทำให้มันอยู่ในสภาพเดียวกับภาพร่างของคนสนิทของสุรชัยที่ถูกฆ่ามัดถ่วงน้ำ ตามที่เห็นในข่าว เพื่อต้องการให้งานศิลปะชิ้นนี้กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความสงสัย ค้นหา ตรวจสอบ และตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา”
นิทรรศการ เทียนเทียนเซี่ยงซ่าง: ศิลปะ {การเรียนรู้} คือ การเรียนรู้ {ศิลปะ} จัดแสดงที่ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 12 เมษายน 2562 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Tel. 02 214 6630-8 ต่อ 501 หรือ Facebook: baccpage, Instagram: baccbangkok
ขอบคุณภาพจาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทสัมภาษณ์ศิลปิน จาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร