กีเยร์โม เดล โตโร (Guillermo del Toro) เป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และคนเขียนบท ชาวเม็กซิโก ที่คนดูภาพยนตร์หลายคนน่าจะจดจำผลงานของเขาได้จากการสร้างโลกแฟนตาซีที่มีทิวทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ และมีสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดที่โดดเด่น
กล่าวกันว่าที่ชายผู้นี้ตั้งใจเนรมิตสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์ทั่วไปจะเรียกขานว่า ‘สัตว์ประหลาด’ นั้น มาจากความชื่นชอบการ์ตูนและภาพยนตร์แนวสยองขวัญมาตั้งแต่วัยเด็ก ผสมปนเปกับประสบการณ์ส่วนตัวของ กีเยร์โม เดล โตโร ที่เคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ตัวเขานั้นมีโอกาสได้เจอพบเจอเรื่องราวทั้งที่โหดร้าย และเหนือธรรมชาติมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ทำให้เขามีภาพที่น่ากลัวอยู่ภายในหัวของเขาไม่น้อย และเมื่อเขาได้มีโอกาสสร้างภาพยนตร์ของตัวเอง เขาจึงนำเอาสิ่งที่พบเห็นมาสร้างเป็นภาพที่ยากจะหาใครมาสร้างซ้ำได้
ในเร็วๆ นี้ ภาพยนตร์เรื่อง ‘Scary Stories To Tell In The Dark’ ที่ กีเยร์โม เดล โตโร เป็นโปรดิวเซอร์กับร่วมเขียนบทกำลังจะเข้าฉาย ในขณะเดียวกันเขาก็กำลังง่วนอยู่กับการสร้างภาพยนตร์สต็อปโมชั่น ‘Pinocchio’ (พิน็อคคิโอ) ที่หลายคนคาดว่าคงไม่ออกมาเป็นเรื่องราวใสๆ แบบนิทานหรือการ์ตูนที่เคยรับชมกัน
ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากจะพูดถึงเหล่าสิ่งมีชีวิตประหลาดที่ กีเยร์โม เดล โตโร มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ หรือ ปรับปรุงรายละเอียดของตัวละครสิ่งมีชีวิตประหลาดให้มีเรื่องราวในตัวของพวกมันเอง และทำใหหลายคนจดจำสัตว์ประหลาดเหล่านั้นได้ แม้จะดูหนังจบไปนานแล้วก็ตามที
Judas Breed จากภาพยนตร์ Mimic
แมลงพิสดารที่เกิดจากการนำเอาแมลงสาบมาดัดแปลงใส่ DNA ของ ปลวก กับ ตั๊กแตน มารวมกัน จนกลายเป็นแมลงพันธ์ Judas ที่ในตอนแรกนั้นถูกสร้างมาเพื่อใช้กำจัดแมลงสาปที่ปล่อยเชื้อโรคร้าย และจะสูญพันธ์ในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะถูกดัดแปลงให้มีอายุขัยที่ไม่มากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป แมลงดังกล่าวก็วิวัฒนาการตัวเองจนสามารถแพร่พันธุ์ได้ มีอายุขัยยาวนานขึ้น และเหยื่อของเหล่า Judas ไม่หยุดแค่แมลงกันเอง แต่เริ่มกินมนุษย์เป็นอาหาร ทำให้พวกมันวิวิฒนาการด้วยการยืนตัวตรง แล้วห่อปีกตัวเองจนดูเหมือนมนุษย์ใส่โค้ทยาว ก่อนจะลากผู้โชคร้ายไปเก็บไว้ในรังของพวกมัน และทำให้มนุษย์ผู้สร้างมันขึ้นมาต้องกลับมาฆ่าล้างพันธุ์อีกครั้ง
ความจริงแล้ว สัตว์ประหลาดตัวนี้อาจถือว่าไม่ใช่ผลงานการสร้างของตัว กีเยร์โม เดล โตโร ด้วยตัวคนเดียวเลยเสียทีเดียว เพราะตัวภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ เดวิด เอ. โวลไฮม์ (Donald A. Wollheim) แต่ กีเยร์โม ได้ร่วมกับทีมงานสร้างภาพยนตร์ทำการปรับเปลี่ยนดีไซน์ของสัตว์ประหลาดตัวนี้ให้เข้ากับภาพที่เขาอยากนำเสนอบนจอภาพยนตร์ และคงต้องยอมรับว่าแมลงสาบยักษ์มาเดินเนียนกับผู้คนมันเป็นอะไรที่ชวนขนลุกจริงๆ
และภาพยนตร์เรื่องนี้ถือว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ กีเยร์โม เดล โตโร ได้พบกับ ดั๊ก โจนส์ (Doug Jones) นักแสดงที่มีร่างกายผอมบางและชำนาญการใส่ชุดเอฟเฟคท์พิเศษ เลยทำให้นักแสดงท่านนี้ได้ร่วมงานกับ กีเยร์โม เดล โตโร อีกหลายต่อหลายครั้ง
Santi จากภาพยนตร์ The Devil’s Backbone
Santi คือผีเด็กชายที่ปรากฏตัวอยู่ภายในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าชาย ท่าทางภายนอกของผีตนนี้ มีหน้าซีดเซียว บนศีรษะด้านซ้ายมีรอยร้าวที่เห็นได้ชัดเจน และมีเลือดไหลย้อนแรงโน้มถ่วง พร้อมกับเสื้อผ้าที่ดูคล้ำหมองจากการจมน้ำมาอย่างยาวนา ที่มองผ่านๆ อย่างไร ก็รู้สึกน่ากลัวอยู่ทุกการเคลื่อนไหว
ผู้ที่เห็นผีของเด็กชายตนนี้บ่อยครั้งที่สุดก็คือ เด็กชาย Carlos ที่เพิ่งมาอาศัยอยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งนี้ได้มานาน ด้วยความที่ Carlos ไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้มากนัก ทำให้เขารู้สึกระแวง Santi อย่างมาก แต่ภายหลังเรื่องก็ค่อยๆ เฉลยว่า ตัว Santi นั้นไม่ได้มีเป้าหมายที่น่ากลัว แต่เขายังวนเวียนอยู่ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อทำความเข้าใจว่าใครเป็นคนสังหารเขา
ที่มาของผี และเรื่องราวส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ มาจากประสบการณ์ของกีเยร์โม เดล โตโร เอง แม้ว่าตัวของผี Santi นั้นจะไม่มีอะไรพิสดารมากนัก ถ้าเทียบกับเหล่าสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดจากภาพยนตร์เรื่องอื่น แต่ก็มีรายละเอียดหลายอย่างที่ตัวผู้กำกับคนนี้ตั้งใจจะใส่เข้าไป อาทิ สถานที่ที่ผี Santi จะปรากฏตัวนั้น มักจะมี ‘รอยคราบน้ำ’ วนเวียนอยู่เสมอ และลักษณะภายนอกกับการเคลื่อนไหวของ Santi ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ซาดาโกะ จากภาพยนตร์ ‘The Ring’ ของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง
Reapers จากภาพยนตร์ Blade II
Reapers คือแวมไพร์ที่ได้รับไวรัสดัดแปลงพันธุกรรมของตัวเอง โดยมีเป้าหมายที่จะเอาชนะแสงอาทิตย์ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญ แต่การพัฒนานั้นไม่สำเร็จผล แม้ว่าจะทำให้ร่างกายของแวมไพร์ทนทานต่ออาวุธเงิน กับกระเทียม และทำให้ผู้ได้รับไวรัสดัดแปลงพันธุกรรม กลายเป็น Reapers ที่ทรงพลังแทน ภายนอกของ Reapers มักจะเป็นแวมไพร์หัวล้าน ดูมีความกระหายเลือดกว่าปกติ และมีจุดเด่นที่ชัดเจนก็คือ เวลาที่เหล่า Reapers จะดูดเลือด ปากของแวมไพร์จะอ้าออกในลักษณะที่เปิดกรามล่างแล้วใช้ลิ้นที่กลายเป็นกล้ามเนื้อที่เข้มแข็งมากพอที่จะสูบเลือดจากมนุษย์และแวมไพร์ ได้อย่างง่ายดาย
กิลเยอร์โม เดล โตโร มีโอกาสได้กำกับภาพยนตร์ที่ดัดแปงลงจากการ์ตูนของ Marvel มาตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 2002 และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็บ่งบอกได้ดีว่า ถึงตัวผู้กำกับท่านนี้จะต้องทำงานกับตัวละครที่มีมาก่อนแล้ว เขาก็ยังหาทางใส่ความสร้างสรรค์ของตัวเองลงไปได้ แม้ว่าบทของภาพยนตร์ภาคนี้ จะมี เดวิด เอส โกเยอร์ (David S. Goyer) เป็นผู้เขียนและสร้างตัวละคร Reapers แต่ตัวผู้กำกับก็มาร่วมออกแบบลักษณะของกลุ่มตัวละครดังกล่าว รวมไปถึงเครื่องแต่งกายของตัวละครหลักตัวอื่นด้วย
Angel Of Death จากภาพยนตร์ Hellboy II : The Golden Army
Hellboy เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้กำกับ กีเยร์โม เดล โตโร มีโอกาสได้ดัดแปลงหนังสือการ์ตูนให้มาเป็นภาพยนตร์คนแสดง และถึงหนังจะมีตัวละครจำนวนมากให้เลือกใช้งานจากต้นฉบับ แต่สุดท้ายก็มีสิ่งมีชีวิตพิสดารที่ผู้กำกับท่านนี้เพิ่มเติมเข้าไปจากไอเดียของตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน และสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ Angel Of Death
Angel Of Death ในภาพยนตร์ Hellboy มีลักษณะผิดแผกจากภาพลักษณ์ของเทวทูตที่ควรจะมีรูปโฉมงดงาม แต่กลับมาท่าทางเหมือนโครงกระดูกที่มาพร้อมปีกสองคู่ บนใบหน้านั้นไม่มีดวงตา และมีลักษณะด้านบนของศีรษะคล้ายแผ่นป้ายหลุมศพ กับช่วงปากที่เหมือนร่างเนื้อติดกระดูกจนเห็นฟันชัดเจน ดวงตาที่อาจจะไม่อยู่บนหน้าก็จริง แต่บนปีกนั้นจะมีดวงตาอยู่ถึงหกคู่ ที่ขยับและเฝ้ามองทุกสิ่งอย่างได้ไม่ต่างกับดวงตาปกติที่คุ้นเคย
Angel Of Death หรือ เทวทูตแห่งความตาย เป็นหนึ่งในไอเดียของกีเยร์โม เดล โตโร ที่คิดเอาไว้มานานแล้วและเนื่องจากเนื้อเรื่องของหนัง Hellboy II ต้องการให้เทวทูตตนนี้มาตอบรับตัวละคร Hellboy ที่แม้จะต่อสู้ปกป้องโลก แต่ก็เป็นตัวแทนจากนรก ดังนั้นตัวเทวทูตที่ดูแลความเป็นตายของ Hellboy จึงมีลักษณะแบบเทวทูตจากนรกมากกว่ามาจากสวรรค์
Faun จากภาพยนตร์ Pan’s Labyrinth
Faun คือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในเขาวงกตหิน และเป็นผู้ทดสอบเด็กหญิง Ofelia ที่ตัวของเขาเชื่อว่าเป็นเจ้าหญิง Moanna เจ้าหญิงแห่งโลกใต้พิภพที่ขึ้นมานโลกและกลายเป็นวิญญาณที่กลับมาเกิดใหม่ ลักษณะภายนอกของ Fuan นั้นถ้ามองจากใบหน้าแล้วจะชวนนึกถึง แกะ กับ แพะ ผสมกัน แต่มีโครงหน้าแบบมนุษย์ ดวงตามีสีขาวขุ่น ร่างกายนั้นมีเหมือนเป็นส่วนผสมระหว่างรากไม้กับหิน ส่วนขานั้นมีความคล้ายแกะกับแพะเช่นเดียวกับใบหน้า เจ้าตัวพกกระเป๋าสะพายข้างที่เก็บของหลายชิ้น กับกล่องไว้เก็บแฟรี่ และสภาวะร่างกายของ Faun นั้นจะดูอ่อนเยาว์มากขึ้น เมื่อ Ofelia ผ่านบทดสอบแต่ละบท
ที่เราใช้คำว่า Faun ในการพูดถึงสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดตนนี้ ก็เพราะว่า ตัวชื่อภาพยนตร์ดั้งเดิมในภาษาสเปนคือ El Laberinto Del Fauno (เขาวงกตของ Faun) แต่มีการปรับชื่อเป็น Pan’s Labyrinth ในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาสเปน เพราะตัวผู้กำกับ กีเยร์โม เดล โตโร เห็นว่า Pan จะเป็นชื่อที่คุ้นเคยมากกว่าสำหรับคนในประเทศอื่นๆ แม้ว่าตัว Faun ในภาพยนตร์จะมีความแตกต่างจาก Pan ที่อยู่ในปกรณัมของกรีก หรือ Peter Pan ก็ตามที และตัว Faun ในภาพยนตร์นั้น แม้ว่าจะแสดงความหลงรักในตัวของ Ofelia หรือ Moanna แต่ตัวผู้กำกับระบุว่า Faun นั้นไม่ใช่ตัวละครที่เป็นคนดี หรือคนร้าย แต่เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ทดสอบ Ofelia เท่านั้น
ที่มาที่ไปของ Faun นั้นมาจากสิ่งที่ กีเยร์โม เดล โตโร ระบุว่า เป็นสิ่งที่เขาเคยเจอตอนสมัยเด็กๆ ที่เขาระบุว่า เวลาที่ไปอยู่บ้านของตายาย (หรือปู่ย่า) ทุกเที่ยงคืนเขาจะเจอสัตว์ประหลาด Faun ออกมาจากนาฬิกาเรือนเก่าของที่บ้านของตายายเขานั่นเอง
The Pale Man จากภายพนตร์ Pan’s Labyrinth
สัตว์ประหลาดที่หลับใหลอยู่ภายในเขาวงกตหิน ที่ Ofelia ต้องเผชิญหน้า ลักษณะภายนอกของมันนั้นมาพร้อมกับเรือนกายสีขาวซีด ผิวหนังเหี่ยวย่นชวนให้ระลึกถึงคนชรา บนศีรษะมีรูจมูกที่ชัดเจน ปากที่พร้อมอ้าเพื่อเขมือบบางสิ่ง แต่กลับไม่มีดวงตาบนใบหน้านั้น แต่เมื่อใดที่มีเด็กเข้ามาลิ้มลองของกินที่ดูสดฉ่ำอยู่บนโต๊ะ สัตว์ประหลาดตนนี้จะหยิบจับเอาลูกตาไปประกอบบนลงเบ้าตาที่อยู่บนอุ้งมือ และเอามันมาทาบบนหน้าเพื่อจ้องมองเหยื่ออันโอชะ ของโปรดที่สัตว์ประหลาดตนนี้ชื่นชอบก็คือเด็กชาวมนุษย์นัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าสัตว์ประหลาดตนนี้จะไม่กินสิ่งมีชีวิตอื่น ดังที่ในภาพยนตร์ได้แสดงว่าสิ่งมีชีวิตตนนี้คว้าเอาแฟรี่มารับประทานดุจอาหารว่างเช่นกัน
แม้ว่า The Pale Man จะปรากฏตัวอยู่บนจอภาพยนตร์อยู่ไม่กี่นาที แต่ลักษณะภายนอกกับการกระทำของสัตว์ประหลาดตนนี้ก็ทำให้หลายคนจดจำมันได้อย่างแม่นยำ ไม่เว้นแม้แต่ สตีเฟน คิง (Stephen King) นักเขียนนิยายสยองนามอุโฆษที่รับชมภาพยนตร์ Pan’s Labyrinth พร้อมกับตัวผู้กำกับกีเยร์โม เดล โตโร ซึ่งจากที่ตัวผู้กำกับชาวเม็กซิโกเล่าเปรียบเปรย ในช่วงที่ The Pale Man ปรากฏตัวนั้น สตีเฟน คิง ถึงกับกรีดร้องด้วยท่าทีที่ชวนให้รับรางวัลออสการ์
ที่มาของสัตว์ประหลาดตัวนี้ มาจากภาพวาด ‘Saturn Devouring His Son’ ของศิลปิน ฟรันซิสโก โกยา (Francisco Goya) ณ ตอนแรก ตัว กีเยร์โม เดล โตโร ออกแบบให้เป็นสัตว์ประหลาดผิวย่นน่ากลัวใกล้เคียงกับภาพวาด ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ด้วยการเอาแนวคิดจากภูตพรายของญี่ปุ่น Te No Me (เทะโนะเมะ – ตาที่มือ) ที่มีดวงตาอยู่บนฝ่ามือมาผสมในภายหลัง เพื่อให้เข้าวิสัยทัศน์ของผู้กำกับที่เชื่อว่าสัตว์ประหลาดที่มีความเปลี่ยนแปลงนั้นดูน่ากลัวกว่า และมันก็ออกมาน่ากลัวเกิดคาดจริงๆ
Kaiju และ Jaeger จากภาพยนตร์ Pacific Rim
กีเยร์โม เดล โตโร มักจะใช้ความชอบในวัยเด็กมาเป็นเชื้อไฟในการสร้างผลงานภาพยนตร์ของเขา เช่นเดียวกับภาพยนตร์ Pacific Rim ที่เกิดขึ้นจากความชื่นชอบสัตว์ประหลาดยักษ์ กับ หุ่นยนต์ยักษ์จากญี่ปุ่น และประสบการณ์จากการทำภาพยนตร์ก่อนหน้านั้นทำให้เขาสามารถเอาบรรยากาศแปลกประหลาดในลักษณะเดียวกับนิยายของ เอช.พี. เลิฟคราฟท์ (H.P. Lovecraft) มาผสมปนเปด้วย และทำให้เจ้าตัวทำหน้าที่เป็นทั้ง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และ โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Pacific Rim
ในช่วงแรกนั้นตัว กีเยร์โม เดล โตโร วางคอนเซปท์ของ Kaiju ที่เป็นสัตว์ประหลาดยักษ์ กับ Jaeger ที่เป็นหุ่นยนต์ยักษ์ เอาไว้ค่อนข้างชัดเจนแล้ว โดยตั้งใจให้เหล่า Kaiju มีลักษณะคล้ายกับปลาวาฬที่มีหัวซ่อนอยู่ข้างใน ส่วนตัวหุ่นนั้นมาพร้อมกับคอนเซ็ปต์ที่มนุษย์สองคนต้องทำการขับหุ่นเพราะการเชื่อมโยงประสาทหุ่นยักษ์กับมนุษย์คนเดียวนั้นจะเป็นภาระร่างกายมากเกินไป และการเชื่อมโยงนั้นก็จะทำให้ตัวละครหลักอย่าง Mako ที่เป็นคนญี่ปุ่น ค่อยๆ เข้าใจ Raleigh ที่เป็นคนอเมริกา ได้ จากแรกเริ่มที่คุยกันไม่รู้เรื่อง จนสุดท้ายต่างคนก็เข้าใจภาษากันและกันได้
กระนั้นเมื่อคอนเซ็ปต์ของเรื่อง คือการที่ทั่วทั้งโลกต้องรับมือสัตว์ประหลาดหลากชนิด จึงมีการปรับดีไซน์ของทั้ง Kaiju และ Jaeger ให้มาจากทีมงานชุดใหญ่จากหลายประเทศเป็นผู้ออกแบบ ก่อนจะมีการโหวตว่าจะใช้งานแบบไหนในเรื่อง ส่วนตัวรายละเอียดของการเชื่อมโยงจิตใจในการขับหุ่นกันก็ต้องลดทอนลงไปให้พอดีกับเวลาฉายของหนัง ทำให้เรื่องกำแพงภาษาโดนลดทอนลงไป แต่ยังเก็บประเด็นการสื่อใจกันและกันไว้ดังเดิม
แม้ตัวหนังจะพัฒนาไปมาก แต่หัวใจหลักของหนัง Pacific Rim ภาคแรกก็ยังมาจากตัว กีเยร์โม เดล โตโร อยู่ดี ทำให้แนวคิดของเขากระจายอยู่ในหนังทั้งเรื่อง และผู้กำกับยังไปพากย์เป็น Kaiju ในเรื่องถึงสามตัว ที่เจ้าตัวระบุว่า Kaiju ที่ชื่อว่า Leatherback เป็นตัวที่เขาชอบที่สุด
สารพัดผี ณ Allerdale Hall จากภาพยนตร์ Crimson Peak
อีดิธ คุชชิ่ง (Edith Cushing) นักเขียนสาวชาวอเมริกา ได้ตกหลุมรัก โทมัส ชาร์ป (Thomas Sharpe) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ และทั้งสองได้แต่งงานกัน เธอย้ายไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษซึ่งมี ลูซิลล์ ชาร์ป (Lucille Sharpe) ร่วมอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ Allerdale Hall แต่เมื่อมาอาศัยที่นี่ เธอได้พบว่า คฤหาสน์แห่งนี้ถูกเรียกด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า Crimson Peak ซึ่งเป็นชื่อที่อีดิธจดจำได้ดีจากการที่ผีของแม่เธอเคยเตือนเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ไว้
อีดิธได้พบว่าในคฤหาสน์หลังนี้มีผีซุกซ่อนอยู่หลายตน แต่ละตนนั้นปรากฏตัวในร่างสีแดงฉานดั่งเลือด และเหมือนจะมาหลอกหลอนอีดิธ ทั้ง ผีหญิงสาวที่คลานอยู่บนพื้น ผีหญิงสาวที่ถูกตัดนิ้ว ผีหญิงสาวที่อุ้มทารก และผีหญิงชราที่มีปังตอหั่นเนื้อปักอยู่บนหน้าผาก แต่ในภายหลังอีดิธก็ได้พบว่า ผีเหล่านั้นไม่ได้หลอกหลอนเธอ แต่มาเพื่อบอกอะไรบางอย่าง ก่อนที่เธอจะเป็นอะไรไป
ภาพยนตร์เรื่อง Crimson Peak อาจจะแตกต่างจากภาพยนตร์ของ กีเยร์โม เดล โตโร อยู่พอสมควร แม้ว่าเรื่องนี้จะยังมีผีที่มีรูปลักษณ์พิสดาร แต่เนื้อแท้ของภาพยนตร์นั้นคือ เรื่องราวความรักในธีมโกธิค ที่นางเอกของเรื่องมีสัมผัสพิเศษมองเห็นผีได้นั่นเอง ไอเดียของผีในเรื่องนี้ กีเยร์โม เดล โตโร เคยสัมภาษณ์ว่า เป็นการเอาประสบการณ์ส่วนตัวที่เจ้าตัวเคยเจอผีในโรงแรมมาขยายต่อให้เป็นเรื่องราวที่ชวนสะดุ้ง แต่ก็มีความอบอุ่นด้วยไอรักอยู่นั่นเอง
Amphibian Man จากภาพยนตร์ The Shape Of Water
Amphibian Man อมนุษย์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่ถูกกองทัพอเมริกาจับตัวมาจากลุ่มน้ำอเมเซอน ลักษณะภายนอกเป็นเหมือนปลาที่มีร่างกายเป็นมนุษย์ มีครีบทั้งบนแขน บนขา และแผ่นหลังมีครีบ แม้ว่าจะมีรูจมูกบนใบหน้า แต่ก็มีเหงือกอยู่บริเวณหูยาวไปถึงลำคอ ทำให้หายใจได้ทั้งบนบกและในน้ำ แต่โดยหลักแล้วสิ่งมีชีวิตประเภทนี้ยังต้องอาศัยอยู่ในน้ำอยู่ดี และดูเหมือนว่าจำเป็นจะต้องอาศัยอยู่ในน้ำเกลืออีกด้วย อมนุษย์ครึ่งบกครึ่งน้ำยังมีความเป็นสัตว์ป่าอยู่ในตัวไม่น้อย อย่างการมีเล็บคมกริบที่สามารถสังหารเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้อย่างไม่ยากเย็น อีกทั้งยังมีความสามารถพิเศษในการเยียวยาร่างกายของผู้อื่น ด้วยของเหลวเรืองแสงที่ตัวเขาสามารถผลิตได้ จึงไม่แปลกนักที่คนในท้องถิ่นเดิมของสิ่งมีชีวิตตนนี้จะนับถือเขาดุจเทพเจ้า
เบื้องหลังการสร้างภาพยนตร์และสิ่งมีชีวิตตนนี้ มาจากความชื่นชอบของ กีเยร์โม เดล โตโร ที่มีต่อตัวละคร Gil-Man สัตว์ประหลาดจากใต้น้ำที่ปรากฎตัวในภาพยนตร์ ‘Creature From The Black Lagoon’ ฉบับปีค.ศ. 1954 ทว่าในภาพยนตร์เรื่องนั้นจบลงด้วยการที่ตัวสัตว์ประหลาดในเรื่องถูกขับไล่ไปและไม่สมหวังในความรัก ตัวผู้กำกับเลยอยากสร้างภาพยนตร์ให้สัตว์ประหลาดสมหวังในรักกันบ้าง
ส่วนการออกแบบตัวละครนั้นถ้าเอาในแง่มุมหนึ่งก็มีการพูดแบบติดตลกว่าเป็นการออกแบบเพื่อเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ของทาง Universal Pictures แต่ในอีกแง่หนึ่ง การออกแบบ Amphibian Man ถือว่าเป็นการพัฒนาตัวละครจากการที่ Abe Sapien ในภาพยนตร์ ‘Hellboy’ โดยมีการลดความเป็นมิตรลง ทำให้พูดไม่ได้ เพิ่มความเป็นสัตว์ป่ามากขึ้น แต่ยังคงการออกแบบในแนวคิดที่ว่า สัตว์ประหลาดในภาพยนตร์ต้องมีความเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญเหนืออื่นใด สุดท้ายแล้ว สัตว์ประหลาดในหนังเรื่องนี้สมหวังในความรัก และส่งให้ กีเยร์โม เดล โตโร คว้ารางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมกลับติดมือไปได้ด้วย
The Toe Zombie, The Pale Lady, Harold The Scarecrow และ Jangly Man จากภาพยนตร์ Scary Stories To Tell in the Dark
สัตว์ประหลาดสี่ตนที่ปรากฏตัวในภาพยนตร์ Scary Stories To Tell in the Dark ที่อ้างอิงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันที่เขียนโดย อัลวิน สวารทซ์ (Alvin Schwartz) ที่เดิมทีแล้ว เรื่องราวแต่ละเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องสั้นที่จบในตัวให้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน และมีการผสมวัตถุดิบหลายอย่างจากต้นฉบับมารวมกันเป็นเรื่องเดียว แต่ถ้าเอาสัตว์ประหลาดที่เห็นได้ชัดๆ ก็จะมีตัวละครเหล่านี้
The Toe Zombie เดิมทีปรากฏตัวในเรื่องสั้นชื่อ The Big Toe ในฉบับนิยายนั้นเป็นสัตว์ประหลาดที่ถูกเด็กขโมยนิ้วเท้าไปแล้วพ่อแม่ไปทำเป็นซุปมากิน ก่อนที่สัตว์ประหลาดเจ้าของนิ้วเท้าจะตามมากินเด็กชายเป็นการล้างแค้น
The Pale Lady เดิมทีปรากฏในเรื่องสั้นชื่อ The Dream ที่เล่าเรื่องของหญิงสาวที่ฝันเห็นสัตว์ประหลาดหญิงตัวอ้วนผิวซีด ก่อนที่เธอจะได้เจอสัตว์ประหลาดนั้นในชีวิตจริง
Harold The Scarecrow หุ่นไล่กาที่ถูกตั้งชื่อตามเพื่อนบ้านที่เจ้าของไร่เหม็นหน้าและใช้งานหุ่นไล่กาตัวนี้เป็นที่ระบายอารมณ์ของตัวเอง
ตัวละครสัตว์ประหลาดในเรื่องนั้น อ้างอิงมาจาก ภาพวาดของ สตีเฟน แกมเมล (Stephen Gammell) ที่วาดให้กับฉบับหนังสือ แต่ก็มีการปรับให้เหมาะสมกับท้องเรื่องภาพยนตร์มากขึ้น อย่าง The Toe Zombie นั้นก็มีการปรับให้มีร่างกายดูผอมเพรียวและเดินลากขาเพราะให้เข้ากับการไม่มีนิ้วเท้า Harold The Scarecrow ที่ดีไซน์แล้วสมเป็นหุ่นไล่กามากขึ้น ส่วน The Pale Lady นั้นแทบจะไม่โดนดัดแปลงอะไรมากนัก เพราะแค่ทำให้รูปลักษณ์ตรงกับภาพในหนังสือก็น่ากลัวเกินพอแล้ว
แต่ด้วยความที่ กีเยร์โม เดล โตโร เป็นโปรดิวเซอร์ แถมยังเกือบจะมาเป็นผู้กำกับเอง ทีมผู้สร้างภาพยนตร์จึงได้สร้างสัตว์ประหลาดตัวใหม่อย่าง Jangly Man ที่เป็นการรวมองค์ประกอบของสัตว์ประหลาดที่อาจจะไม่มีภาพประกอบในเรื่อง มาผสมกับสไตล์วาดภาพของ สตีเฟน แกมเมล จนกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่มีแขนขายาวที่มีกำลังเยอะและดูน่าขยะแขยงแต่ก็ดูทรงพลังเช่นกัน แม้ว่าภาพยนตร์จะถูกกำหนดเรตไว้ที่ PG-13 ซึ่งอาจจะทำให้ฉากในเรื่องนั้นไม่ได้อุดมด้วยความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ แต่ก็ยังคงความชวนขนหัวลุกไว้อยู่ดี
และเราก็เห็นได้ว่า ถ้ากีเยร์โม เดล โตโร เข้ามาร่วมงานที่มีสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตที่แปลกประหลาดเมื่อใด เขามักจะมาด้วยหัวใจที่อยากทำให้สัตว์ประหลาดเหล่านั้นมีตัวตน มีชีวิต เพื่อทำให้คนดูรู้สึกเข้าใจการหลอกหลอน และสนุกไปกับภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เขามีส่วนร่วมนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ Guillermo del Toro Cabinet of Curiosities
Youtube Channel: kaptainkristian
Youtube Channel: The New Yorker