จนถึงทุกวันนี้ คงเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Koreeda) ถือเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ระดับ ‘ปรมาจารย์’ เขามีผลงานที่คว้ามาทั้งเสียงชื่นชมและรางวี่รางวัลมากมาย (อาทิ Nobody Knows, Like Father Like Son และ Shoplifters) อีกทั้งยังมีลายเซ็นที่ชัดเจน ไม่ว่าจะการได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่กำกับนักแสดงเด็กเก่งที่สุด หรือการสำรวจเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบของสถาบันครอบครัวได้อย่างคมคาย
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าผลงานว่าด้วย ‘ครอบครัวเว้าแหว่ง’ ของโคเรเอดะมักมีลักษณะคล้ายๆ กันไปเสียหมด อย่าง Shoplifters (2018) ที่คว้ารางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์นั้นผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าเป็นหนังที่ดี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับมันมากนัก เพราะมันเหมือนหนังที่ ‘รวมฮิต’ องค์ประกอบทุกอย่างที่เคยเห็นมาแล้วในหนังของโคเรเอดะ
ซึ่งดูเหมือนโคเรเอดะก็พอจะรู้ตัวว่าควรมูฟไปสู่ phase ถัดไปของอาชีพ เขาเลยเปลี่ยนบรรยากาศไปทำหนังนอกญี่ปุ่น ทั้งเรื่อง The Truth (2019) หนังฝรั่งเศสเกี่ยวกับแม่กับลูกสาวที่ไม่ลงรอยกัน ที่ดูจะเป็นหนังสบายๆ แบบทำคั่นเวลา หรือ Broker (2022) หนังเกาหลีเล่าถึงตู้ทิ้งเด็กสำหรับแม่ไม่พร้อม (baby box) ที่ออกจะคลี่คลายเรื่องราวง่ายดายและสวยงามเกินไป
มีเรื่องตลกร้ายว่าหนังของโคเรเอดะที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือ Maborosi (1995) หนังยาวเรื่องแรกและเป็นผลงานเรื่องเดียวที่เขาไม่ได้เขียนบทด้วยตัวเอง หนังสร้างจากนิยายของ เทรุ มิยาโมโตะ (Teru Miyamoto) ว่าด้วยหญิงสาวที่สามีฆ่าตัวตายโดยไม่ได้ทิ้งจดหมายลาตายใดๆ ไว้ มันเป็นหนังสุดแสนมืดหม่นและหนักหน่วงชนิดลืมไม่ลง จนครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยโพสต์เฟซบุ๊กทำนองว่า “โคเรเอดะน่าจะกลับไปทำหนังที่ไม่ได้เขียนบทเองบ้างนะ”
ไม่อาจทราบว่าคุณโคเรเอดะมาเห็นสเตตัสของผู้เขียนหรืออย่างไร เพราะ Monster (2023) เป็นผลงานที่เขาใช้บทจากปลายปากกาของผู้อื่นครั้งแรกในรอบ 28 ปี นั่นคือ ยูจิ ซากาโมโตะ (Yuji Sakamoto) นักเขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดัง ไม่ว่าจะ Still, Life Goes On (2011), Quartet (2017) หรือ My Dear Exes (2021) (สองเรื่องหลังสามารถดูได้ทาง Netflix)
ส่วนใหญ่แล้วบทของซากาโมโตะมักจะเป็นแนวเมโลดราม่าหรือดราม่าคอเมดี้ หากแต่ Monster กลับมีเนื้อหาที่ซีเรียสเข้มข้น เป็นเรื่องของซิงเกิ้ลมัมที่พบว่าลูกชายมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป และเธอก็สงสัยครูประจำชั้นของลูก ขณะเดียวกันหนังก็ต่างจากหนังที่ผ่านมาของโคเรเอดะ แม้เขาจะเคยทำหนังที่มีโทนดาร์คๆ มาบ้างอย่าง Distance (2001) หรือ The Third Murder (2017) แต่น่าจะเรียกได้ว่า Monster เป็นหนังทริลเลอร์เต็มรูปแบบของเขา ซึ่งโคเรเอดะออกปากเองว่าเขาไม่มั่นใจการกำกับหนังแนวนี้นัก หากแต่เชื่อในตัวบทฝีมือซากาโมโตะ ซึ่งหนังก็ได้รางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์
หนึ่งในจุดเด่นของ Monster ของโครงสร้างของหนังที่แบ่งเป็น 3 ตอนและเล่าผ่านมุมมองของสามตัวละคร ตอนแรกคือมุมมองของแม่ ตอนสองคือคุณครู และตอนสามคือลูกชาย หนังจึงถูกแบรนดิ้งไปโดยปริยายว่าใช้วิธีแบบ Rashomon Effect (การเล่าเรื่องเดียวกันผ่านหลายมุมมอง ซึ่งมักขัดแย้งกันเอง มีที่มาจากหนังเรื่อง Rashomon (1950) ของอากิระ คุโรซาวะ (Akira Kurosawa) หรือชาวไทยอาจคุ้นเคยวิธีการนี้จากหนังเรื่อง อุโมงค์ผาเมือง (2011))
ปกติแล้ว Rashomon Effect มักมุ่งเน้นให้คนดูจับผิดว่าตัวละครไหนพูดจริง คนไหนโกหก หรือแสดงให้เห็นว่าตัวละครมักเอามุมมองของตัวเองเป็นใหญ่ ถึงกระนั้นผู้เขียนมองว่าวิธีการเล่าของ Monster ไม่เน้นการสืบสวนสอบสวนขนาดนั้น แต่สังเกตได้ว่าสองตอนแรกเป็น ‘มุมมองของผู้ใหญ่’ ที่โทนหนังจะค่อนข้างขึงขัง มีการปะทะกันของตัวละคร และเนื้อหาว่าด้วยการพยายามรักษาสถาบันของตัวเอง ทั้งการค้ำจุนครอบครัวของแม่ หรือการรักษาภาพพจน์โรงเรียนของพวกครูใหญ่
หากแต่ตอนที่สามที่เป็น ‘มุมมองเด็ก’ จะผ่อนคลายความเป็นทริลเลอร์ลง มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น เล่าถึงโลกใบเล็กๆ และพื้นที่ส่วนตัวของตัวละครเด็กสองคน เช่นนั้นแล้ว Monster คือการเล่าถึงโลกของเด็กที่ผู้ใหญ่เข้าไม่ถึงและไม่เข้าใจ และความไม่เข้าใจนี้เองที่ค่อยๆ ทำให้โลกของเด็กต้องพังทลายลง ผู้เขียนจึงมองว่าตอนที่สามอาจมีความลึกลับน้อยที่สุดแต่ก็เป็นตอนที่เจ็บปวดที่สุด
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ Monster ของดนตรีประกอบฝีมือ ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Sakamoto Ryuichi) (เขาเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อมีนาคม 2023) โคเรเอดะให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากร่วมงานกับซากาโมโตะมานานแล้ว และตั้งใจว่าหากอีกฝ่ายปฏิเสธเขาก็จะให้หนังเรื่องนี้ไม่มีดนตรีประกอบไปเลย แต่เนื่องจากซากาโมโตะป่วยด้วยโรคมะเร็ง เขาจึงแต่งเพลงให้ Monster เพียง 2 เพลงเท่านั้น เพลงที่เหลือโคเรเอดะใช้วิธีเลือกแทร็คต่างๆ จากอัลบั้มก่อนหน้าของซากาโมโตะ
ซึ่งสกอร์ของซากาโมโตะที่มีลักษณะวน Loop ก็เข้ากันดีกับวิธีการแบบ Rashomon ที่เล่าซ้ำถึงเหตุการณ์เดิมๆ ด้วยมุมมองที่ต่างกันไป นอกจากนั้นทำนองเพลงน้อยนิดแบบมินิมอลก็สอดรับกับหนังที่ไม่ต้องการชี้นำคนดูมากเกินไปทั้งในเชิงอารมณ์และเนื้อหา เพราะระหว่างดูเราอาจสับสนและไม่เข้าใจนักว่าทำไมตัวละครถึงเลือกกระทำเช่นนั้น หรือพวกเด็กๆ คิดและรู้สึกอย่างไร ซึ่งปริศนาทำนองนี้ยังดำเนินต่อไปกระทั่งตอนจบของหนัง
บทความต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์
ประเด็นที่ Monster ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือการนำเสนอเรื่อง LGBTQ ผ่านตัวละครเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏบ่อยนักในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น อันที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ความลับสุดยอดอะไร เพราะหนังได้รับรางวัล Queer Palm จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ อันเป็นรางวัลที่มอบให้กับหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ LGBTQ
แต่โคเรเอดะก็สัมภาษณ์ว่าเขาไม่อยากให้ผู้ชมสนใจเรื่องเพศวิถีของตัวละครมากจนเกินไป เพราะเด็กวัยนี้อาจยังไม่ได้มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แน่ชัดหรืออยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง (ซึ่งก็ตรงกับคอนเซ็ปต์ของ Queer ที่ไม่ตีกรอบเพศสภาพของตัวเอง) “ผมไม่ได้อยากเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของเด็กทั้งสองจนเกินไป ผมไม่อยากให้มันเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ แต่ผมคิดถึงการแสดงออกถึงความรู้สึกและความเจ็บปวดของคนที่เราสนิท คนที่เข้าใจเรา แล้วก็ปลีกตัวออกไปจนเกิดระยะห่างขึ้นมา”
ส่วนสิ่งที่ชวนอภิปรายและถกเถียงมากที่สุดของ Monster คงเป็นตอนจบของหนังที่เป็นภาพเด็กสองคนวิ่งเริงร่าท่ามกลางต้นไม้พงไพรหลังจากผ่านพายุและดินถล่มมาได้ เราไม่อาจแน่ใจได้ว่านี่คือความจริงหรือฉากเชิงจินตนาการกันแน่ บ้างอาจตีความแบบหดหู่ว่าที่จริงเด็กทั้งสองได้ตายไปแล้ว และสิ่งที่เห็นคือภาพฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง เพศสภาพที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคมของเด็กๆ จะยังถูกผู้ใหญ่บางคนมองว่าเป็น ‘ปิศาจ’ ต่อไป (แน่นอนล่ะว่าผู้ใหญ่ที่คิดเช่นนั้นต่างหากที่ควรได้ชื่อว่าปิศาจ)
โคเรเอดะกล่าวว่าคนดูจะตีความไปทางไหนเขาก็ยอมรับได้ แต่ส่วนตัวแล้วเขารู้สึกถึงความหวังในฉากจบของ Monster โดยมองว่ามันคือเรื่องราวของเด็กๆ ที่ต้องการให้โลกนี้จบสิ้น เพื่อที่พวกเขาจะ ‘เกิดใหม่’ ได้ พวกเขาจะเกิดใหม่และมุ่งหน้าสู่อนาคตที่แตกต่างออกไป “หรือพูดอีกแบบคือ ผมอยากจะคิดว่าเหล่าตัวละครเอกยืนยันกับตัวเองได้ว่ามันมีตำแหน่งแห่งที่ที่พวกเขาสามารถพูดได้ว่ามันโอเคสำหรับเขา”
ท้ายสุดนี้ผู้เขียนขอปิดบทความด้วยสุนทรพจน์บางส่วนของ จอห์น คาเมรอน มิตเชลล์ (John Cameron Mitchell) ประธานกรรมการตัดสินรางวัล Queen Palm (ซึ่งเขาคือผู้กำกับหนังเควียร์ในตำนานอย่าง Hedwig and the Angry Inch (2001)) เขากล่าวถึง Monster ว่า “นี่คือหนังที่บันทึกถึงความเปล่าเปลี่ยว ความเจ็บปวด ความหวาดกลัว ของเหล่าภูตผีที่รู้สึกแตกต่างและไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว(กับสังคม) แต่สำคัญกว่านั้นคือการแสดงถึงความซื่อสัตย์ ความปราณี และการให้อภัยที่ช่วยให้เหล่าตัวละครปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์ทรมานที่มาจากโครงสร้างสังคมอันแข็งทื่อ”
เขากล่าวสรุปว่าบทเรียนแก่นหลักของ Monster คือ “ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการที่เราส่งต่อถึงความเข้าอกเข้าใจ”