ช่วงนี้มีเรื่องราวจากท้องทะเลหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ทะเลยังคงเป็นตัวแทนของพื้นที่ปริศนาที่ทั้งน่าหลงใหลและน่าสะพรึงสำหรับมนุษย์ มีคำกล่าวว่า เรารู้จักพื้นผิวดาวอังคารมากกว่าพื้นที่ก้นทะเลของโลกเราเองซะอีก ทั้งนี้ท้องทะเลยังเป็นทั้งจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และเป็นดินแดนที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน
นอกจากความเวิ้งว้างของผืนน้ำแล้ว ความน่าสะพรึงกลัวของท้องทะเล คือสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ผืนน้ำอันเป็นปริศนานั้น หนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ถูกเล่าขานและจินตนาการถึงเรียกว่า คราเคน (Kraken) สิ่งมีชีวิตที่เป็นตำนานและเป็นเหมือนจุดตัดระหว่างความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ สัตว์ที่แปลกประหลาดในตัวมันเองของอาณาจักรสัตว์ทะเล (หมึก) และยังมีเรื่องเล่าเก่าแก่นับพันปีที่สัมพันธ์กับการพบเห็นสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดนั้น
เพื่อต้อนรับอีกหนึ่งอนิเมชั่นที่อาจจะมีนางเงือกเป็นตัวร้าย ส่วนคราเคนน่าจะเป็นตัวเอกอย่าง Ruby Gillman, Teenage Kraken กำลังจะเข้าฉายในวันที่ 29 มิถุนายน 2566 นี้ The MATTER จึงชวนนั่งเรือท่องไปยังน่านน้ำโบราณ จากตำนานของสแกนดิเนเวียถึงเรื่องราวในปกรณัมกรีก จากการพบเห็นหมึกยักษ์ถึงตำนานอสุรกายที่มีท่อนบนเป็นสตรีและมีท่อนล่างคล้ายหมึก
คราเคน อสุรกายขนาดใหญ่เท่าเกาะ
หากลองนึกภาพการเดินเรือออกทะเลในอดีต ทะเลเป็นพื้นที่แห่งความสยองขวัญ บางครั้งชั่วร้าย แปรปรวน และจ้องจะเอาชีวิต คราเคนเป็นสัตว์ตำนานปรัมปราที่ค่อนข้างถูกเล่าถึงในวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้ชิดกับทะเล ประเทศที่เป็นเกาะหรือมีการเดินเรือเกือบทั้งหมด มักจะเล่าถึงสิ่งมีชีวิตประหลาดที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ โดยพวกมันจ้องจะเล่นงานเหล่าเรือและกะลาสีทั้งหลายอยู่เสมอ
ตำนานว่าด้วยคราเคนมีความเก่าแก่มาก เล่ากันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 โดยหลักฐานที่มักกล่าวถึงคือ ตำนานของนอร์เวย์ที่เล่าเรื่องสัตว์ประหลาดยักษ์ ปัจจุบันภาพของคราเคนสำหรับเรา เป็นสิ่งมีชีวิตที่เหมือนกับหมึกขนาดมหึมา ดุร้าย และทำให้เรือของผู้โชคร้ายที่บังเอิญเดินทางไปทับที่มันเข้านั้นจมลง ทว่าในช่วงแรกๆ คราเคนค่อนข้างเป็นภาพคลุมเครือของอสุรกายแห่งท้องทะเล บ้างก็บรรยายว่าคล้ายหมึก มีรยางค์หรือแขนมากมาย บ้างก็คล้ายหมึกกล้วย บ้างก็เป็นหมึกยักษ์ บ้างก็บอกว่าหน้าตาเหมือนสัตว์เปลือกแข็งจำพวกปูหรือกุ้ง และบ้างก็ว่าหน้าตาเป็นทรงคุ่มๆ คล้ายวาฬ แต่ลักษณะโดยรวมคือ เป็นปีศาจแห่งท้องทะเลที่มีขนาดใหญ่จนถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพื้นแผ่นดินและมีความดุร้าย
งานเขียนหรือหลักฐานสำคัญของคราเคนคือ งานเขียนชื่อ Speculum Regale แปลเป็นชื่อไทยว่า กระจกของพระราชา (King’s Mirror) คาดว่าเขียนขึ้นช่วงทศวรรษ 1180 ตำนานพูดถึงกษัตริย์นอร์เวย์ซึ่งเล่าเกี่ยวกับวาฬต่างๆ ในทะเลที่อยู่ระหว่างสแกนดิเนเวีย กรีนแลนด์ และไอซ์แลนด์ เมื่อเล่าถึงจุดหนึ่งก็พูดถึงปลาประหลาดที่เรียกว่า Hafgufa เป็นเหมือนสัตว์ทะเลหรือวาฬขนาดมหึมาที่แม้แต่กษัตริย์เองก็ครั่นคร้าม ในเรื่องเล่าว่าพบเจอเพียง 2 ครั้ง และคาดว่าน่าจะสืบสายพันธุ์ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นปลาขนาดใหญ่เช่นนั้นคงเต็มมหาสมุทร
จากตำนานเก่าแก่ บันทึกในยุคใกล้ๆ กันก็เริ่มใช้ทั้งคำว่า Hafgufa และคำว่าคราเคนเช่นกัน เช่น ในศตวรรษที่ 14 มีตำนานวีรบุรุษชื่อ Örvar-Odds ในเรื่องพูดถึงปีศาจ Hafgufa อีกครั้ง โดยมีลักษณะก็คล้ายๆ กันบอกว่าเป็นอสุรกายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กินวาฬและจมเรือเป็นกิจวัตร ในช่วงนี้เองที่ตำนานวีรบุรุษเรื่องดังกล่าวค่อนข้างดัง และเริ่มมีการเรียกปีศาจทะเลจากนอร์เวย์ด้วยคำว่าคราเคน ซึ่งในภาษาแถบเยอรมันหมายถึง สัตว์จำพวกหมึก ทำให้ภาพของคราเคนที่สัมพันธ์กับหมึก มีรยางค์ และถูกเรียกในความหมายเดียวกันชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพของคราเคนก็ถูกวาดใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่วาดคราเคนหลากหลายรูปแบบ
ปีศาจสตรีและจุดตัดของวิทยาศาสตร์
คราเคนเป็นเหมือนทั้งเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับการค้นพบสัตว์ทะเลจริงๆ ส่วนหนึ่งคือการค้นเจอหมึกที่นอร์เวย์ในยุคกลาง ซึ่งร่วมสมัยที่เล่าตำนานคราเคนขึ้น ในยุคนั้นมีบางปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การเจอซากของสัตว์ โดยเฉพาะหมึกตามชายฝั่ง และคนในยุคนั้นอย่างพวกกะลาสีมองว่าเป็นสัญญาณ ทั้งจากพระเจ้าและปีศาจ หมึกที่ถูกน้ำซัดขึ้นฝั่งมาแบบหมึกกล้วยยักษ์ ในวัฒนธรรมตะวันตกเรียกว่าเป็นนักบวชแห่งท้องทะเล หรือบางทีก็เรียกว่านางฟ้าหรือปีศาจของท้องทะเล
ความซ้อนทับของตำนานจึงเหลื่อมกับศาสตร์สำคัญคือ ธรรมชาติวิทยา ในยุคศตวรรษที่ 16-18 สมัยที่นักวิทยาศาสตร์สำรวจและแยกแยะสิ่งมีชีวิตนอกจากสัตว์ทั่วไปแล้ว แน่นอนว่าหมึกนับเป็นสิ่งหนึ่งที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เองก็มองพวกมันในฐานะสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ ภาพเขียนจากนักธรรมชาติวิทยาในศตวรรษที่ 16 จึงวาดสิ่งมีชีวิตจำพวกหมึกนี้เป็นสัตว์ผสมระหว่างมนุษย์กับหมึก
Ruby Gillman, Teenage Kraken ที่กำลังจะเข้าฉาย เรื่องราวที่ว่าด้วยสาวน้อยคราเคนที่นอกจากจะเป็นหมึกเต็มตัวแล้ว หมึกกล้วยที่เป็นหมึกยักษ์ (Giant Squid) ด้วยหน้าตาของมันเองจึงทำให้นักชีววิทยาและผู้คนในยุคหนึ่งมองมันว่า มันคือลูกครึ่งมนุษย์ระหว่างปีศาจกับรยางค์ของหมึก เป็นภาพของปีศาจที่มีครึ่งบนเป็นมนุษย์ และครึ่งล่างเป็นหมึกที่สอดคล้องกลับไปในตำนานของกรีกโรมัน
ในมุมวิทยาศาสตร์ สัตว์จำพวกหมึกเป็นที่รู้จักและถูกจำแนกแยกย่อยมานานแล้ว สำหรับกรีกและโรมันเรียกว่า รู้จักมานานตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลอย่างในสมัยอริสโตเติล ก็แยกหมึกกล้วยธรรมดาออกจากหมึกกล้วยยักษ์ หรือในยุคโรมันเองก็แยก Octopus ออกจาก Squid แล้ว
ตำนานกรีกเองก็มีปีศาจที่อยู่ในทะเลหลายตน และหนึ่งในนั้นคล้ายกับคราเคนคือ ตำนานโอดิสซี (The Odyssey) พระเอกอย่างโอดิสซีอุสต้องไปปราบปีศาจทะเลนางหนึ่งชื่อซีล่า (Scylla) นางอสูรที่มีท่อนบนเป็นสตรี มีท่อนล่างเป็นหัวหมาโผล่ออกมา 3 หัว ถัดลงไปเป็นรยางค์เหมือนกับหมึก ตำนานซีล่าเก่าแก่กว่าคือ การปรากฏเป็นภาพวาดบนไหโบราณตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลที่วาดออกมาคล้ายกับเออร์ซูลา และก็มีเรื่องเล่าคล้ายปีศาจสาวตนอื่น เช่น เมดูซ่า เป็นนางพรายที่มีหน้าตาสะสวยมาก่อนจะถูกสาป
ในภาพรวมของคราเคน ไม่ว่าจะเป็นอสูรหมึกที่เต็มไปด้วยรยางค์แล้ว พวกมันมักจะไม่ได้ทำอะไร เพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ และยังไม่ได้ชอบกินมนุษย์ (คือไม่ได้ล่าเพราะอร่อย) แต่พวกมันแค่ตัวใหญ่และเขมือบทุกอย่าง บางตำนานเล่าว่าคราเคนมีวิธีล่าเหยื่อของตัวเอง เช่น ปล่อยกลิ่นเพื่อล่อปลาแล้วค่อยเขมือบปลาทั้งฝูง บ้างก็บอกว่าพวกมันใช้วิธีสร้างน้ำวน เพื่อดูดกลืนและเขมือบสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเข้าไปเป็นอาหาร
อันที่จริง สัตว์จำพวกหมึกนับเป็นสิ่งมีชีวิตประหลาด ที่สร้างความงุนงงให้มนุษย์เรามาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลจนกระทั่งปัจจุบัน ตำนานคราเคนจึงเป็นหลักฐานของความสนใจและการพบเจอสิ่งมีชีวิต ซึ่งเหมือนมาจากนอกโลกและทำให้พวกเราหลงใหลมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิงจาก