ทุกวันนี้ คุณซื้อตั๋วหนังในราคาเท่าไหร่กันนะ?
ราคาตั๋วหนัง เป็นประเด็นที่คนวนมาพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ เมื่อตั๋วหนังเรื่องนึงในโรงภาพยนตร์แฟรนไชส์ที่คนเข้าดูได้ง่าย ก็ปาเข้าไป 200-300 บาทต่อเรื่อง ยิ่งที่หนังบุหนังดีเท่าไหร่ ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดีเท่าไหร่ มีความเป็นส่วนตัวไปอีกเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีราคาแพงขึ้นไปเท่านั้น บางเรื่องทะลุหลัก 400 ปลายๆ กว่าบาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของประชาชนชาวไทยเราอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน
ด้วยราคาที่พุ่งขึ้นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะตั้งคำถามกับ ‘ราคาของตั๋วหนัง’ ซึ่งเป็นหนึ่งในความบันเทิงง่ายๆ ที่หลายๆ คนเลือกจะไปรับชม
ยิ่งกว่านั้น หลายคนยังมักเทียบราคาตั๋วหนังในอดีต ที่แตกต่างจากปัจจุบันราวฟ้ากับเหว (ซึ่งแน่นอนว่า มีเรื่องค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง) แต่หลายคนก็มองว่า เดิมทีการดูหนัง 3-4 เรื่องต่อเดือน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดหนักอย่างที่เป็นในปัจจุบัน
เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างนี้ The MATTER อยากชวนไปฟังเสียงของผู้คนหลากหลายช่วงวัย ที่มีประสบการณ์ และความคิดเห็นต่อราคาของตั๋วหนังแตกต่างกันออกไป
โอนิกิริ อายุ 14 ปี นักเรียน
“ค่าตั๋วหนังแพง ปกติซื้อที่ราคา 260 บาทขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้วางแพลนอะไรนะ ปกติจะขอเงินแม่มา 1,000 บาท แล้วก็ไปบริหารเอาในวันนั้น ไม่ค่อยได้ใช้ส่วนลดด้วย แล้วก็อยากให้ตั๋วหนังราคาถูกลงกว่านี้”
“แต่ผมก็ยังไปดูในโรงหนังอยู่ดี เพราะว่าดูในโรงสนุกกว่า”
แม็กซีน อายุ 22 ปี นักศึกษา
“แต่ก่อนซื้อตั๋วประมาณ 90-120 บาท ทุกวันนี้ซื้อ 190-220 บาท แพงมากกกก อยากให้กลับไป 90-120 บาทเหมือนเดิม”
“เรื่องโปรโมชั่น เมื่อก่อนเราจำได้ว่าหนังลดทุกวันพุธ สำหรับราคานักศึกษา แล้วก็หาในแอพฯ อื่นๆ บ้าง แต่ตอนนี้ไม่ได้ไปเลยไม่ได้ติดตามเท่าไหร่ ไม่ค่อยเห็นโปรโมชั่นด้วย”
“ทุกวันนี้เลยกลายเป็นว่า ไม่อยากดูหนังในโรงอีกต่อไป เพราะไม่มีเงิน ตอนนี้มีทางเลือกในการดูหนังเยอะด้วย อย่าง Netflix HBO Disney+ ก็ไม่จำเป็นต้องง้อโรงหนังแล้ว คิดว่าเดี๋ยวมันก็เข้าแอพฯ พวกนี้แหละ แค่ได้ดูช้ากว่าเพื่อน จะไปดูในโรงก็แค่เรื่องที่อินมากๆ เฉยๆ อย่างล่าสุดก็มีเรื่อง Harry Potter ที่ได้ไปดูในปีนี้”
สลิ่มโกะโจ อายุ 25 ปี กองบรรณาธิการ
“เราเป็นคนเชียงใหม่ ตอนมัธยม ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 60-80 บาท แต่พอขึ้นมหาวิทยาลัยก็ราคา 100-120 บาท เป็นราคาแบบสมาชิก แต่ล่าสุดไปดูโคนันมา ราคาไปถึง 260 บาทแล้ว แถมทุกวันนี้ เราก็จ่ายค่าสตรีมมิ่งเดือนนึง 530 กว่าบาท แต่ราคานี้ดูหนังได้แค่ 2 เรื่องเอง กลายเป็นว่า ราคาตั๋วหนังที่เราเคยจ่ายมันไม่คุ้มไปแล้ว”
“แต่บางครั้งเราก็คิดว่า ต้องรีบไปดูก่อนนะ เพราะกลัวจะโดนสปอย แต่เรื่องนี้นานๆ จะเกิดขึ้นที ส่วนใหญ่แล้วก็คิดว่ารอดูในสตรีมมิ่งได้แหละ”
“เรื่องโปรโมชั่น มันจะมีบัตรสมาชิกที่ได้ราคาถูก แต่เราไม่ได้ทำแล้ว เพราะรู้สึกว่าหลังๆ ได้เข้าโรงหนังน้อย เลยไปหาโปรโมชั่นที่อื่น อย่างมีช่วงนึงที่ซื้อตั๋วแล้วจ่ายผ่านบัตรเดบิตจะได้ส่วนลด หรือบางทีก็ได้โปรฯ จากค่ายมือถืออยู่บ้าง แต่เพื่อนก็เคยกด AirPlay ให้อยู่นะ บางคนก็กดโค้ดใน Shopee เป็นเทคนิคให้ได้ตั๋วหนังถูกๆ”
เมโลดี้ จาง อายุ 25 ปี คอนเทนต์ครีเอเตอร์
“ตั๋วหนังเมื่อ 5-6 ปีก่อน ราคาประมาณ 160-200 บาท สำหรับเราก็ถือว่าแพงแล้ว เพราะส่วนใหญ่จะชอบรอโปรฯ วันพุธ 80 บาท หรือเลือกดูโรงหนังที่ไม่แพงมากเหมือนพวกโรงหนังในเมือง เลยเลือกดูโรงรอบนอกเอา เพราะบ้านเราอยู่ชานเมือง แต่ก็มีข้อเสียที่ทำให้ต้องดิ้นรนไปดูในเมืองหรือโรงใหญ่ๆ บ้าง เพราะโรงหนังเล็กหนังจะมีแต่พากย์ไทย”
“แต่พอมาช่วงปีที่ COVID-19 ระบาด เราไปดูโรงหนังแบบพวกเฮาส์ ราคาค่าตั๋วหนังจะอยู่ที่ 120-160 บาท ซึ่งถือว่าถูกในระดับที่พอใจมาก แต่ก็มีบ้างที่จะไปดูหนังในห้างซึ่งดูราคาแล้วก็กลับมาดูหนังเฮ้าส์ดีกว่า แม้ว่าโรงพวกนี้จะไกล เสียค่าเดินทางแต่คิดแล้วราคาตั๋วก็ถูกกว่าอยู่ดี”
“จนมาช่วงหลังโควิดที่โรงหนังกลับมาเปิด กลับมาฉาย ราคาพุ่งไม่ไหว ขึ้นกันหมดทั้งโรงเฮาส์ โรงอื่นๆ เข้าใจว่ามีการเว้นระยะห่าง ทำให้โรงหนังจำกัดที่นั่งคนดูน้อยลง รายได้ที่ได้ก็ลดเลยต้องเพิ่มค่าตั๋ว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันโรงเฮาส์ก็กลับมาราคาปกติแล้ว 160 บาท แต่โรงอื่นก็ยังไม่ลด”
“ล่าสุดเพิ่งดูหนังในห้างเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ค่าตั๋วราคาแบบไม่รวมโปรโมชั่นอยู่ที่ 190 บาท ยิ่งถ้าโรงหนังใหญ่บางที่ทะลุไป 330 บาท ซึ่งแพงไปมากจริงๆ จะดูแบบปล่อยใจ อยากไปก็ไปเลย ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะถ้าจะดูหนังต้องดูว่าวันไหนถูก วันไหนแพง ดูพวกโปรโมชั่นต่างๆ”
“แต่เดี๋ยวนี้โปรโมชั่นรู้สึกจะเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะว่าแต่ก่อนต้องไปรอตรงเคาน์เตอร์จองถึงจะรู้ว่ามีโปรอะไรบ้าง แต่เดี๋ยวนี้จองออนไลน์ จองผ่านแอพฯ หรือผ่านโค้ดส่วนลดใน Shopee แต่บางครั้งก็ยังแพงอยู่ดี”
“ตั๋วหนังไทยแพงนะ พูดในฐานะที่ไม่เคยดูหนังเมืองนอก แต่ถ้าเทียบกับค่าครองชีพคนไทย ทำงานขั้นต่ำวันละ 300 ค่าตั๋วก็ 200 แล้ว ไม่นับจุกจิกค่าน้ำ ค่าเดินทาง ออกจากบ้านดูหนังครั้งหนึ่งพก 300 บาทไม่พอ”
“บางคนก็จะบอกว่า งั้นก็อย่าไปดู เอาเวลาไปทำงานหาเงิน แต่การดูหนังมันคือความบันเทิงที่ให้ความสุขกับตัวเองอย่างหนึ่ง อย่าจำกัดว่าคนที่ดูหนัง คือสิทธิของคนมีเงิน ถ้างั้นก็เท่ากับว่าคนจนในประเทศนี้ไม่มีสิทธิหาความสุข หาความบันเทิงให้ตัวเองไม่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเลยเหรอ”
แม่มากิ อายุ 47 ปี แม่บ้าน
“เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เราจะดูหนังวันศุกร์ เพราะวันศุกร์เลิกเรียนเร็ว แฟนก็จะพาไปดู ซื้อตั๋วราคา 50 บาทก็หรูแล้ว แต่ถ้าเอาถูกๆ ก็ต้องนั่งติดจอเลย จะได้ราคา 30 บาท แล้วราคามันก็จะเรียงกันไป 40, 50, 80 บาท ตามที่นั่ง ถ้าตรงกลางสูงๆ ก็จะแพงหน่อย แต่เราจะนั่งราคา 50 บาท เพราะกำลังซื้อเราพอดีแล้ว”
“แต่ก่อนไม่มีโปรโมชั่นลดราคาอะไร ถ้าอยากดูถูกๆ ก็ต้องเลือกแถวหน้าเอา ไม่มีส่วนลด ไม่มีบัตรนักเรียน ซื้อหน้าโรงแล้วก็เข้าไปดู แต่ละโรงราคาไม่ต่างกันมาก เราจะดูที่ลิโด้ สกาลา แล้วก็ที่มันทุบทิ้งไปแล้ว ตรงสะพานหัวช้างของเครือไฟว์สตาร์ แต่ราคามันเท่ากันหมด แต่ไม่ค่อยเข้าไปดูในห้าง เลยจำไม่ได้ว่าราคามันต่างกันไหม ในห้างเพิ่งจะมามีตอนหลังๆ เอง ซึ่งเราก็ไม่ได้เข้าไปดูแล้ว เพิ่งรู้ว่าทุกวันนี้ราคาตั๋วหนัง 200 กว่าบาท อันนี้แพงเกินไปแล้ว”
ศิริ อายุ 34 ปี รับจ้าง
“ตอนนี้ราคาตั๋วหนังแพงมาก หลังๆ เราเลยไม่ค่อยดูหนังในโรงเลย เพราะรู้สึกว่าดูที่บ้านก็ได้ ไม่รีบ แล้วตอนนี้ก็ราคาเวอร์ไปมาก ตั๋วหนังเรื่องนึงราคาจะ 300 กว่าบาทแล้ว”
“ส่วนตัวเราคิดว่า ราคาตั๋วหนังที่กำลังพอดีๆ คือประมาณ 100-150 บาท แต่ตอนนี้มันแพงเกิน”
พลอยรุ้ง อายุ 26 ปี เจ้าของ co-learning space
“จำได้ว่าช่วงมัธยมไปดูหนังธนาซินิเพล็กซ์ก็แค่ 100 บาทเอง ช่วงมหาลัยที่ไปดูใน SF หรือ Major ก็ไม่เกิน 140 บาท จนกระทั่งช่วงหนังมาร์เวลแบบ Avengers: Endgame เป็นคนแบบต้องดูวันแรก กลัวโดนสปอยล์ ก็คือพุ่งไป 250 บาทเลยมั้ง แล้วเราชอบนั่งแถวหลังๆ ก็เลยยิ่งแพงขึ้นไปอีก”
“เราว่าทุกวันราคาตั๋วหนังแพงมาก เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทคือเกินเบอร์ไปมากๆ กับการเข้าถึงความบันเทิงแบบนี้ ชีวิตควรได้ดูหนังแบบไม่ต้องคิดมากเรื่องราคาสิ สำหรับเรา คิดว่าถ้าเป็นนักเรียนแค่ 100 – 120 บาทก็กำลังเหมาะนะ”
“แล้วปกติ เราเป็นคนชอบไปดูหนังซ้ำๆ ถ้าเป็นเรื่องที่ชอบมาก เพราะโรงหนังเป็นเซฟโซนเราประมาณนึง แต่พอตั๋วแพง เซฟโซนนี้หายไปเลย บวกกับเดี๋ยวนี้สตรีมมิ่งก็เอาหนังที่ฉายในโรงมาเข้าเร็วมากขึ้น ถ้าไม่ใช่แบบต้องดูในโรงเท่านั้น ก็จะไม่ค่อยไปแล้ว ยกเว้น หนังในโรงอิสระ อันนี้ยังไปอยู่เพื่อซัพพอร์ตพวกเขา”
“ถามว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง ก็คงแบ่งเป็น ฝั่งโรงหนังก็ต้องคิดราคาตามความเป็นจริงหน่อย ไม่เอากำไรเกินไป เอาหนังเข้ามาหลากหลายกว่านี้ ดูเฮ้าส์เป็นตัวอย่างก็ได้ โรงใหญ่ ราคาพอรับได้ หนังหลากหลาย แล้วฝั่งภาครัฐก็ต้องไปซัพพอร์ทโรงหนังด้วยเหมือนกัน จะเป็นกองทุนสนับสนุนอะไรก็ได้ รวมไปถึงการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น สมเหตุสมผล มีสวัสดิการพื้นฐาน คนก็จะมีเงินไปใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องเจียดเงินไปดูหนังเท่าไหร่
หนุ่ม อายุ 52 ปี นักเขียน
“เคยซื้อตั๋วหนังหลากหลายมาก ในยุคนี้ที่ถูกสุดคือ 100 บาท แบบแพงก็อาจจะเฉียดหลักพัน แต่ถ้าช่วงปี 2530 ทำได้ว่าเคยซื้อที่ราวๆ 15-25 บาท”
“ถ้าเทียบค่าตั๋วหนังกับราคาทองคำ ก็ถือว่าแพงขึ้น แต่แพงขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สมัยที่ซื้อตั๋วหนังราคาราว 25 บาท ทองคำบาทละประมาณ 5,000 บาท ตั๋วหนังหนึ่งใบจึงเท่ากับทองคำ 0.5% ส่วนปัจจุบันตั๋วหนังทั่วไป ราคาอยู่ที่ราว 200 บาท ทองคำอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ตั๋วหนังหนึ่งใบจึงเท่ากับทองคำ 0.7% ถ้าคิดที่ราคานี้ ถือว่าไม่ได้แพงขึ้นมากนัก จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนยังคงดูหนังอยู่ แต่ถ้ามีการขึ้นราคาตั๋วหนังไปอีก สัดส่วนที่ว่าก็จะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องบอกด้วยว่า คุณภาพของโรงภาพยนตร์ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก”
“จำไม่ได้ว่าสมัยก่อน (ช่วง 2530s) มีโปรโมชั่นอย่างไรบ้าง คิดว่าตัวเองไม่ค่อยได้สนใจโปรโมชั่นเท่าไหร่ แต่จะเลือกดูเฉพาะหนังที่อยากดู ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่หนังดังที่คนนิยมดูเยอะๆ จำได้ว่าเคยไปดู The Krays ติดกัน 5 วัน คือดูทุกวัน ราคาตั๋วหนังก็เหมือนเดิม ไม่ได้มีวันไหนที่มีโปรโมชั่นอะไรเป็นพิเศษ ส่วนในตอนนี้ ถ้าหนังเรื่องไหนหาตั๋วยากๆ เช่น ไม่มีรอบตรงกับที่ว่าง หรือโรงเต็ม ก็ไม่ดูครับ”
“ทางแก้ไข คิดว่า เรื่องตั๋วหนังไม่ใช่เรื่องปัจจัยพื้นฐานหรือ Social Safety Net ดังนั้น รัฐอาจจะเข้ามาสนับสนุนอะไรมากไม่ค่อยได้ หลักๆ คือคงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด สิ่งที่รัฐจะทำได้ ก็คือทำให้ทั้งสังคมดีขึ้นตั้งแต่รากฐานก่อน เราอาจจะมองว่า เรื่องภาพยนตร์เป็น soft power อย่างหนึ่งก็ได้ แต่ soft power จะเป็นไปได้ ก็ต้องเกิดจากคนเล็กคนน้อยที่รัก เข้าใจ และมุ่งมั่นทำงานของตัวเองอย่างเต็มที่ คำถามก็คือ จะทำอย่างไรให้สังคมนี้เปลี่ยนจากแนวคิดแบบท็อปดาวน์มาเป็นสังคมที่อำนาจกระจายในแนวราบมากกว่านี้ แล้วทุกอย่างจะเป็นไปได้โดยอัตโนมัติของมันเอง”