หนุ่มโสดในฝัน
พระเอกมิวสิควิดีโอ
นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Someone from Nowhere (เขียนบทและกำกับโดย ปราบดา หยุ่น)
เป็นเพียงบางส่วนจากบทบาทเบื้องหน้าของ อะปอม – พีรพล กิจรื่นภิรมย์สุข ที่คงปะปนทั้งชอบมาก ชอบน้อย หรือทำไปตามหน้าที่ คำให้สัมภาษณ์ในที่ต่างๆ บอกไว้ว่า นอกจากที่ยกตัวอย่างมา ศาสตร์ที่เขาหลงใหล ทุ่มเท และลงลึกมาหลายปีแล้วคือ ‘ละครเวทีโรงเล็ก’ ทั้งในฐานะนักแสดง ผู้กำกับ และบทบาทอื่น
เมื่อชัดเจนในสิ่งที่สนใจ เขาลดงานเบื้องหน้า และใช้ชีวิตอยู่กับโปรดักส์ชั่นเล็กๆ ที่ตัวเองเชื่อว่ามีพลัง
“หากคนไร้บ้านคือคนที่เคยมีทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป ทุกคนก็อาจจะมีโอกาสที่ต้องรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิตได้เช่นกัน คุณแน่ใจแล้วหรือว่าชีวิตคุณจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้” เป็นบางส่วนของคำประชาสัมพันธ์ในหน้าอีเวนต์เฟซบุ๊กของละครเวทีเรื่อง ‘Plan B’ ที่เขาเคยกำกับการแสดงเมื่อต้นปีที่แล้ว
“Plan B สำหรับผมมันก็คือแผนสำรอง แต่ลองมองให้มันใหญ่ขึ้นเป็นเรื่องแผนการใช้ชีวิต หลายๆ คนก็คงมีเป้าหมาย มีความตั้งใจและพยายามทำตามความฝันให้เป็นจริง แต่ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะทำสำเร็จ บางคนมีแผนอื่นรองรับ แต่บางคนไม่มี หรือบางคนถูกทำให้ไม่มี บางทีคนที่ออกมาเป็น Homeless ก็เพราะนี่อาจจะเป็น Plan B ของเขา” เป็นคำพูดของเขาที่ปรากฏอยู่ใน madamefigarothai.com
เดือนมกราคม 2559 เป็นครั้งแรกที่ ‘Plan B’ เปิดการแสดง เวลาผ่านไปเกือบสองปี จากคำชักชวนของ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ที่มีบทบาทงานเกี่ยวกับคนไร้บ้านโดยตรง ละครเวทีเรื่องเดิมกำลังจะกลับมาแสดงอีกครั้งที่ Democrazy Theatre Studio ในเดือนธันวาคม 2560 ที่จะถึงนี้ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.facebook.com/events/1756670291040853)
ผมนั่งคุยกับผู้กำกับละครเรื่องนี้ที่ Democrazy Theatre Studio – โรงละครขนาดเล็กที่เกิดจากคนหนุ่มสาวฝันขนาดใหญ่ เพื่อนำบางส่วนของความตั้งใจที่มีต่อ ‘Plan B’ ละครเวทีที่กำลังจะแสดงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า มาเล่าให้พอเห็นภาพเพื่อเรียกน้ำย่อย
The MATTER : คุณมาเป็นส่วนหนึ่งกับ Democrazy Theatre Studio ได้ยังไง
อะปอม : หลังจากเรียนจบ (คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) คนทำงานศิลปะจะมีช่วงว่างงานอยู่สักพัก อาจารย์ที่ปรึกษาของผมมาเป็นผู้กำกับละครที่นี่ เขาเลยชวนมาเล่น เล่นอยู่หลายเรื่องจนคุ้นชิน ขยับมาช่วยงานด้านโปรดักส์ชั่นต่างๆ แล้วก็อยู่ยาวเลย
The MATTER : สนใจงานกำกับตั้งแต่เรียนเลยหรือเปล่า
อะปอม : ถ้ามีให้เลือก เราเลือกกำกับก่อน พอออกมานอกมหาวิทยาลัย การกำกับเปิดกว้างกว่าต้องทำหนึ่ง สอง สาม สี่ แต่มีวิธีต่างๆ เต็มไปหมดเลย เราอยู่กับงานเธียเตอร์มา มันไม่เหมือนการกำกับแบบการแสดงเพื่อให้เกิดสื่อการแสดงบางอย่าง แต่มีวิธีบางอย่างมากขึ้น เธียเตอร์มีความพิเศษ พาผู้ชมไปอยู่ในพื้นที่และเวลาเดียวกับชิ้นงาน ผู้ชมไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นส่วนหนึ่งกับการแสดง
The MATTER : เป็นผู้กำกับเต็มตัวตอนไหน
อะปอม : คืองาน Plan B ครั้งที่แล้ว กำกับปี 2015 เล่นจริง 2016 เป็นเรื่องแรกที่เริ่มจากศูนย์ เริ่มจากประเด็นที่สนใจ หาข้อมูล เขียนโครงสร้างเรื่อง เราสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
The MATTER : ชอบงานแสดงหรืองานกำกับมากกว่ากัน
อะปอม : จริงๆ ชอบทั้งสองแบบ นักแสดงก็ให้โมเมนต์หลายอย่างที่เป็นปัจจุบันขณะ (เงียบ) จริงๆ สองศาสตร์นี้ลิงก์กันอยู่นะ นักแสดงก็ต้องกำกับตัวเองขณะเป็นนักแสดง การเป็นผู้กำกับต้องสวมบทบาทการเป็นผู้กำกับ ต้องมีพลังงานบางอย่าง ฮึบ! เอาหน่อยเว้ย มีความต้องการ มีทิศทาง มันลิงก์กันเกื้อหนุนกันอยู่
The MATTER : จากคำให้สัมภาษณ์ในที่ต่างๆ คุณค่อนข้างหลงใหลศาสตร์ละครโรงเล็กเอามากๆ เสน่ห์ของมันคืออะไร
อะปอม : ไม่พูดเรื่องรายได้นะ (หัวเราะ) ในฐานะนักแสดง งานละครโรงเล็กมันใกล้กับคนดูมากๆ มีขอบเขตค่อนข้างเฉพาะตัว เหมือนเพื่อนที่อยู่ในห้องเดียวกัน เราไม่ต้องแผ่ทุกอารมณ์ความรู้สึกออกไปอย่างละครโรงใหญ่ แค่หันหลัง ก้มหน้านิดหน่อย ก็เป็นการสื่อสารแล้ว เป็นการแสดงที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริงมาก ไม่จำเป็นต้องแสดงออกว่า “ฉันรู้สึกแบบนี้!” เป็นการใช้เวลาร่วมกันของมนุษย์กลุ่มหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง มันเป็นความท้าทายด้วย ขณะที่การถ่ายทำยังทดลองได้ ตัดต่อได้ แต่เธียเตอร์เป็นอะไรที่สด เดี๋ยวนั้น ขณะนั้น อยู่ในพื้นที่นั้น มีความดิ้นรน ต้องเอาตัวรอดเหมือนงานมันมีชีวิตของมันเอง
The MATTER : กังวลเรื่องความอยู่รอดบ้างไหม
อะปอม : เรียนจบใหม่ๆ มีคอนเนคชั่นกับวงการคอมเมอเชียล ตรงนั้นเหมือนไว้หาเงิน เรามีความสุขกับงานละครโรงเล็ก เลยให้ความสำคัญกับงานนี้เป็นหลัก สิ่งที่พยายามทำมาตลอดคือทำให้ที่นี่หาเงินได้ด้วย ก็พยายามเซ็ตอัพระบบให้มีความเป็นธุรกิจ แต่ไม่เสียส่วนที่รักไป ช่วงนี้กลับไปทำงานคอมเมอร์เชียลบ้าง เราโตขึ้น รู้วิธีที่คุยกับเขา ไม่ได้คุยเพื่อเอาตัวรอดนะ แต่เป็นการคุยว่า “เฮ้ย พี่ วิธีการทำงานแบบนี้มีปัญหา” คนเคยทำงานร่วมกัน ก็แชร์อะไรน่าสนใจกันได้
The MATTER : Plan B ครั้งแรกเกิดขึ้นได้ยังไง
อะปอม : ช่วงหนึ่งผมออกจากบ้านมา ทำงานที่นี่ เช่าบ้านอยู่ ไม่กลับบ้าน บางทีก็นอนที่โรงละคร มันมีความเร่ร่อนบางอย่าง ด้วยความเป็นละครเวทีโรงเล็ก งานก็เปลี่ยนบริบทไปเรื่อยๆ โปรดักส์ชั่นนี้เป็นนักแสดง ต่อไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ต่อไปเป็นวีดีโอครีเอเตอร์ มันระเหเร่ร่อน ภาวะตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ Belong กับอะไรเลย ฉันเป็นใคร อยู่ในฐานะไหน ทำอะไรอยู่ แล้วการทำงานศิลปะ มันมีความไม่แน่นอน ช่วงนึงมีงานเยอะ รวยเลย อีกช่วงงานน้อย จนเลย มันมีความไม่มั่นคงสุดๆ ในทางเศรษฐกิจ และเป็นช่วงอายุที่โดนกดดันให้ทำอะไรบางอย่าง ปลายปี 2014 เลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เราสนใจสภาวะการไม่ Belong ตัวเองไม่มีหลักแหล่ง เป็นผีล่องลอย ผมรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นโฮมเลส เลยออกมาเป็นโปรเจ็คต์นี้
The MATTER : ตอนนั้นเข้าใจว่าโฮมเลส หรือคนไร้บ้านคืออะไร
อะปอม : ก็คือคนไร้บ้าน คนบ้า คนเสียสติ ไม่มีหลักแหล่ง ไม่เอาถ่าน พอมีความสนใจเรื่องโฮมเลส ผมนั่งอยู่หน้าโรงละคร มีพี่คนนึงเดินกะด๊อกกะแด๊กมา เรารู้สึกว่าไม่ได้ต่างกันเลย ตอนแรกๆ ก็กลัว กลัวการที่ดีลไม่รู้เรื่อง เขาไม่ได้มาเฉยๆ บางทีมาคุย มาไหว้ มาก้มกราบ (ทำท่ากราบ) เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นผมหลบๆ เข้าบ้าน ล็อคประตู ใช้เวลาสักพัก จนเริ่มเห็นว่าโฮมเลสก็มีหลักแหล่ง เขาทำอาชีพบางอย่าง พี่คนนี้บอกว่าตัวเองชื่อสายันต์ บางวันมานอน ตัวเลอะไปด้วยอ้วก บางช่วงก็มีสติดีมาก เก็บขยะ เริ่มแต่งตัว แต่งดีด้วย แฟชั่นมาก ดูเป็นคนเก็บขยะขายธรรมดา แล้วก็กลับไปไม่มีสติอีก เมาเละ สักพักก็มีสติอีก บางครั้งมาขอบุหรี่ คุยปกติมาก เอาเหล้าขาวมาให้กิน “ผมชื่อสายันต์นะ ถ้าผมมีตังจะเลี้ยงคนทั้งซอย” ก็เริ่มคุย เข้าใจกันมากขึ้น ปัจจุบันก็ยังอยู่ ถ้าวันไหนไม่มีสติก็คุยไม่รู้เรื่องอยู่ดี ตอนนี้ไม่ค่อยกลัวแล้ว ผมกลัวคนอื่นไปทำร้ายเขามากกว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นโรงละคร ถ้ามาในช่วงคนเยอะๆ เดินฝ่าเข้ามาในหมู่คนดู กลัวคนไม่รู้ว่าจะดีลกับเขายังไงไปทำร้าย
The MATTER : เคยกลัวจนไม่กลัว ตอนนี้มองกลับไป คนไร้บ้านน่ากลัวไหม
อะปอม : (เงียบคิด) ไม่ต้องคนไร้บ้าน ไม่ต้องคนรูปลักษณ์สกปรกหรอก ทุกคนน่ากลัวนะ คนที่เราไม่รู้จริงๆ ว่าคิดอะไรอยู่ ไม่รู้ว่าทำอะไรมา มันน่ากลัวในแง่ว่า เขาเชื่อว่าทำแบบนี้ดีมาก นี่คือความดี ฉันทำความดี แต่สิ่งที่ทำมันไปส่งผลกระทบกับคนอื่นๆ เขาก็ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นกระทบกับคนอื่นยังไง เพราะเขาเชื่อไปแล้วว่าตัวเองกำลังทำดี คนที่น่ากลัวไม่จำเป็นต้องคนไร้บ้าน
The MATTER : คนไร้บ้านมักถูกมองว่า “จนอยู่แล้ว ยังจะเมาอีก เอาเงินซื้อเหล้าไปซื้อข้าวดีกว่าไหม” คุณคิดยังไง
อะปอม : เมื่อก่อนก็คิดนะ เอาไปซื้ออย่างอื่นดีกว่าไหม แต่พอเราโตขึ้นมา เฮ้ย บางครั้งเราก็อยากกินเหล้า อยู่ในสภาวะที่ไม่โอเคจนทางออกคือการกินเหล้า นึกออกไหม มันต่างอะไรกับคนไร้บ้าน บางครั้งเขาอาจไม่โอเคกับชีวิต แล้วทางออกคือการกินเหล้าเพื่อลืม ถ้าเรามีสิทธิกินเหล้า ทำไมเขาถึงไม่มี
The MATTER : พอเริ่มรู้จักคนไร้บ้าน คิดว่าคนๆ นึงจะออกจากบ้านเพราะอะไร
อะปอม : (เงียบ) มันมีหลายเหตุผลที่ใครสักคนจะออกมาใช้ชีวิตข้างถนน วันแรกที่ไปตรงเสาชิงช้า รถหมูแดงของมูลนิธิกระจกเงามาแจกอาหาร ประมาณปี 2015 คนไร้บ้านเต็มไปหมดเลย ผมไปสังเกตว่าเป็นใครจากไหนกันนะ แป๊บเดียว ผมคิดกับเขาทางนี้ไม่ได้แล้ว ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง บางคนมาจากครอบครัวที่ไม่โอเคกับเขาที่ป่วยเป็นโรคทางจิต แล้วการเป็นโรค ทำให้คนในบ้านรู้สึกว่าเขาไม่ปลอดภัย ทำให้เขาไม่โอเคกับการถูกขัง เลยต้องออกมา หรือบางคนมาจากต่างจังหวัด เพื่อหางานทำที่กรุงเทพฯ แล้วการมาครั้งนี้ดันพลาด กลับไม่ได้ ยังรอโอกาสอยู่ เหตุผลเยอะมากที่คนเราจะหลุดออกจากคนมีบ้าน
The MATTER : มันพัฒนากลายเป็นงาน Plan B ได้ยังไง
อะปอม : ตั้งแต่ปี 2015 ผมก็หาไปเรื่อยๆ มาชั่งน้ำหนักกับสิ่งที่เธียเตอร์เป็น และการเป็นไปได้กับการเป็นคนไร้บ้าน ก็เกิดการทดลอง แล้วสิ่งที่เวิร์คคือพอทดลองจึงรู้ว่าอะไรไม่เวิร์ค กระทั่งออกมาว่า วิธีนี้พูดถึงคนไร้บ้านได้ดีที่สุดแล้ว
The MATTER : ครั้งนั้นคาดหวังให้คนดูได้อะไร
อะปอม : (หัวเราะ) เป็นคำถามหลักในการแสดงรอบนี้เลยนะ ถ้ารอบที่แล้ว สิ่งที่เราต้องการให้ผู้ชมได้รับคือ ประสบการณ์ เพื่อให้เขามีทัศนคติมีมุมมองที่เปลี่ยนไปต่อปัญหา ครั้งนั้นคือปัญหาคนไร้บ้าน เราพาผู้ชมมาอยู่ในบริบทที่มีส่วนร่วมกับคนไร้บ้าน แล้วเขาจะมีมุมมองที่เปลี่ยนไปกับคนไร้บ้านไหม
The MATTER : ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง
อะปอม : คนดูประเภทว่า การแสดงเรื่องนี้บอกอะไรนะ ก็เหวอเลย เพราะผมไม่ได้ต้องการบอกว่า คนไร้บ้านเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่ผมต้องการให้คนมีประสบการณ์เกี่ยวกับคนไร้บ้านจริงๆ รู้สึกว่าการถูกระบบกีดกันออกมาเป็นยังไง
The MATTER : เป็นการสร้างบรรยากาศและการมีส่วนร่วมให้ผู้ชมรู้สึกราวกับตัวเองเป็นคนไร้บ้าน พูดแบบนี้ได้ไหม
อะปอม : จะพูดอย่างนั้นก็ได้ แต่มันมีสเปซพอให้คนไม่อยากอยู่ยังเฝ้ามองอย่างเดียวได้
The MATTER : คิดว่าครั้งที่แล้วจำลองได้สมจริงแค่ไหน
อะปอม : พูดยาก
The MATTER : หรือว่าประสบการณ์นี้จำลองไม่ได้
อะปอม : ผมบอกแทนคนไร้บ้านจริงๆ ไม่ได้หรอก บอกไม่ได้ว่าแบบนี้ถูกต้องไหม ผมแค่ออกแบบโครงสร้างหรือระบบบางอย่างที่แข็งแรงมากๆ แล้วมันจะปฏิเสธสิ่งที่ไม่เข้าพวก เวลาเรามีโครงสร้างที่รันอยู่ คุณสมบัติอย่างหนึ่งคือ มันจะปฏิเสธสิ่งที่ไม่พอดีกับความต้องการนั้น การแสดงจะมีภาวะแบบนั้น
The MATTER : คุณเคยไปทำงานต่างประเทศมาบ้าง มองว่าคนไร้บ้านที่อื่นกับที่นี่เหมือนหรือต่างกันยังไง
อะปอม : ตอนไปเยอรมัน ผมเจอคนไร้บ้านชวนผมทำงานด้วยนะ ที่นั่นจะมีโรงละครตามหัวเมือง ถ้าตั๋วเหลือจะเอาไปให้คนที่ไม่มีสิทธิเข้าถึง พอการแสดงเสร็จ เขาก็มาคุย ตอนแรกผมคิดว่าเขาเป็นศิลปินด้วยซ้ำ พอบอกไปว่า ผมเคยทำงานเรื่องโฮมเลส เขาก็บอกว่า “สนใจเรื่องโฮมเลสมาก เราเป็นโฮมเลสมานานแล้ว” แล้วเล่าว่าโฮมเลสของที่นั่นพักที่ไหน คนไร่บ้านในต่างประเทศยังเข้าถึงโอกาสประมาณนึง แค่ได้เข้ามาดูละครเวที ชวนเราทำงาน หรือการอยู่ในตึกๆ นั้นได้โดยไม่มีใครไล่ ความรู้สึกของการอยู่ได้กับอยู่ไม่ได้มันต่างกับบ้านเรา ตอนไปญี่ปุ่น ผมเห็นคนไร้บ้านนั่งหลบฝนหน้าโรงละคร เราสนใจเรื่องนี้พอดี เลยถามล่ามที่ทำงานด้วยกัน “ยู คนไร้บ้านที่นี่เป็นยังไง” ถามด้วยความสงสัย แต่เขาตอบกลับมาว่า “ก็คนไร้บ้านไง ไม่ได้ทำงาน ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เขาได้รับเงินจากรัฐ ยังมีสิทธิ” มันไม่ใช่สิทธิพิเศษนะ แต่เป็นสิทธิที่ยังมีในฐานะคนๆ นึง ความรู้สึกต่างจากคนไร้บ้านที่บ้านเรานะ เราจะรู้สึกว่าน่าสงสาร ไม่มีหนทาง บางทีจบง่ายๆ เลยว่า ก็ขี้เกียจไง ไม่ยอมทำงาน เราไม่พูดถึงอะไรที่อยู่เบื้องหลังการเป็นคนไร้บ้าน
The MATTER : ถ้ามีคนเชื่อว่า คนๆ นี้ไร้บ้านเพราะกรรม เพราะขี้เกียจ อยากบอกอะไรกับเขา
อะปอม : ยากนะ เราเชื่อต่างกันแล้ว ผมตั้งคำถามกับบุญบาป บุญอาจเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นมาไหม หรืออะไรก็ว่าไป แต่ถ้าเขาเชื่อว่า มันเป็นบาปๆๆ เราก็ไม่รู้จะคุยยังไง สิ่งที่ละครเวทีโรงเล็กทำได้ คือการให้ประสบการณ์ ดังนั้น มาดูโชว์รอบนี้ดีกว่า (หัวเราะ)
The MATTER : การกลับมาอีกครั้งของ Plan B เกิดขึ้นได้ยังไง
อะปอม : พี่เอ๋ (สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา) ติดต่อมา เป็นรอบที่อยากให้ข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาทดลองอยู่ในการแสดง มันอินเทอร์แอ็คทีฟจนเหมือนเป็นเวิร์คช็อปอะไรบางอย่าง
(สิทธิพล ชูประจง ที่นั่งอยู่ข้างๆ อธิบายเพิ่มเติม) เราอยากชวนคนทำงานราชการมาดู เปิดประสบการณ์ว่ามีเรื่องบางเรื่องเป็นปัจจัยส่งผลให้คนๆ ต้องออกจากบ้าน ผมคิดว่าตัวการแสดงทำให้เห็นภาพมากกว่าอ่านหนังสือ มากกว่าเห็นจากวีดีทัศน์ การแสดงครั้งก่อนผมมาดู มันพอที่จะบอกอะไรได้บ้างว่า มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดคนไร้บ้านขึ้น
The MATTER : คิดว่าการดูละครเรื่องนี้ กับการลงพื้นที่ เหมือนหรือต่างกันยังไง
อะปอม : มันแตกต่างตรงที่วิธีการแบบเธียเตอร์มีพื้นที่ว่าง นอกจากเรื่องคนไร้บ้านแล้ว มันยังมีพื้นที่มากพอที่จะพาไปสู่เรื่องอื่น ไปได้ไกลกว่าเดิม คนชายขอบ ภาวะความเป็นชายขอบ การรู้สึกถูกกีดกัน พาผู้ชมไปยังเรื่องอื่นๆ ได้อีก
The MATTER : การกำกับสองครั้งให้อะไรคุณบ้าง
อะปอม : ผมมองประเด็นคนไร้บ้านเปลี่ยนไป รอบที่แล้วมีเรื่องความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ฉันมีอะไร ฉันถือครองอะไร ฉันมีอะไรมารับประกันความมั่นคงบ้าง รอบนี้ไม่ใช่แค่นั้น จะไปถึงวิธีคิด ตัวสภาพแวดล้อม ตัวไอเดียหลักของสังคม มันกำลังสร้างอะไรบางอย่าง และกีดกันบางอย่างออกไป ผมชัดเจนขึ้น คนไร้บ้านเป็นเหยื่อของระบบ เหยื่อของความพังๆ บางอย่าง ที่ไม่มีการรองรับให้พวกเขาอยู่ในสังคมแบบหนึ่งได้
The MATTER : ทำงานทำการก็เครียดจะแย่ ดูแล้วจะมีความสุขไหม การมารู้จักโครงสร้างอะไรเนี่ย
อะปอม : แล้วการไม่รู้จักจะทำให้เรามีความสุขเหรอครับ (ยิ้ม)
Photos by Asadawut Boonlitsak