บางครั้ง พันธะที่เชื่อมครอบครัวไว้ด้วยกันก็เปราะบางไม่ต่างจากเกล็ดหิมะ
เมื่อถามถึงภาพยนตร์สายเทศกาลที่สร้างเสียงฮือฮาได้มากที่สุดแห่งปี หนังสัญชาติฝรั่งเศสอย่าง Anatomy of a Fall น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึง เพราะนอกจากจะคว้า 2 รางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 2023 ล่าสุดยังมีชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำมากถึง 4 สาขา และแน่นอนว่าผลงานขึ้นโรงขึ้นศาลของผู้กำกับ ฌูสตีน ทริเอต (Justine Triet) เรื่องนี้ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวเต็งรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในทุกสถาบันที่เข้าชิงเป็นที่เรียบร้อย
อันที่จริง หากจะจัดประเภทของ Anatomy of a Fall หรือชื่อไทย เขาบอกว่าเธอฆ่า ให้เป็นหนังซึ่งดำเนินเรื่องผ่านการว่าความและชิงไหวชิงพริบในศาลที่เรียกว่า ‘Courtroom Dramas’ ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะถึงแม้ส่วนหลักของเรื่องจะเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดี แต่รายละเอียดต่างๆ ทั้งที่ทนายความ จำเลย และพยานพูดถึงกลับพาผู้ชมไปสำรวจได้ไกลและลึกเกินกว่าจะเรียกว่านี่เป็น Courtroom Dramas ทั่วไป
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ Anatomy of a Fall*
ในช่วงครึ่งชั่วโมงแรก หนังพาเราไปติดตามเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดกับแซนดรา นักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ร่วมกับแซมมวล สามีชาวฝรั่งเศสผู้ชักชวนเธอมาอยู่ด้วยกันที่บ้านบนภูเขาหิมะ พร้อมกับแดเนียล ลูกชายวัย 11 ขวบที่ประสบอุบัติเหตุจนมีปัญหาด้านการมองเห็น และสนูป สุนัขคู่ซี้ที่ช่วยนำทางแดเนียลทุกครั้งที่ออกไปเดินเล่น
และเหตุสะเทือนขวัญที่ว่าก็เกิดขึ้นในขณะที่แดเนียลออกไปเล่นนอกบ้าน โดยทันทีที่กลับมา เขาก็ต้องพบกับศพโชกเลือดของผู้เป็นพ่อที่ตำรวจเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม แต่ถ้าหากเป็นอย่างหลัง ผู้ต้องสงสัยเพียงหนึ่งเดียวของคดีนี้ก็คือตัวของแซนดรา หรือพูดง่ายๆ ว่าจะเป็นเรื่องสลด ‘แม่ฆ่าพ่อ’ นั่นเอง
ถึงตรงนี้ เราเกือบจะปักใจเชื่อไปแล้วว่า Anatomy of a Fall คือหนังสืบสวนสอบสวน หาตัวฆาตกร แก้ปริศนาการฆาตกรรมที่เป็นไปไม่ได้ กระทั่งเรื่องราวบานปลายถึงการขึ้นศาล หนังจึงเปลี่ยนแนวไปเป็น Courtroom แต่จนแล้วจนรอด มันก็ยังไม่ได้ลงเอยสิ้นสุดเพียงแค่การปะทะฝีปากของเหล่าทนายความอยู่ดี
เมื่อผ่านราวหนึ่งชั่วโมง ผู้ชมจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่ผู้สร้างต้องการสื่อ แท้จริงคือความเจ็บปวดและสภาวะกดทับที่ครอบครัวหนึ่งต้องเผชิญ การตายและการห้ำหั่นในคอกพยานเป็นเพียงทางเข้าที่พาเราไปสำรวจตรวจสอบความสัมพันธ์ที่ทุกคนเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำ พูดง่ายๆ ว่านี่คือหนังแบบเดียวกับ Kramer vs. Kramer และ Marriage Story ที่ใช้การตายของสามีเป็นเครื่องมือในการขุดคุ้ยกระแสสำนึกของครอบครัว
ทั้งบทอันเฉียบคม ผสมดนตรีประกอบที่ใช้อย่างไม่ฟุ่มเฟือย ร่วมด้วยการแสดงที่สมจริงของผู้ที่รับบทแม่อย่าง ซานดรา ฮึลเลอร์ (Sandra Hüller) ผู้ที่แสดงเป็นพ่ออย่าง ซามูเอล ธีส (Samuel Theis) ลูกชายอย่าง ไมโล มาชาโด กราเนอร์ (Milo Machado Graner) และเจ้าเมสซี (Messi) น้องหมาที่แสดงเป็นสนูป ก็ส่งให้เรื่องราวทั้งหมดถูกร้อยเรียงอย่างเข้มข้น พร้อมกระโจนเข้าใส่ความรู้สึกของผู้ชมอย่างไม่บันยะบันยัง จนเมื่อหนังจบ อารมณ์อันหนักอึ้งและการรับรู้ถึงหัวอกของทั้งพ่อ แม่ และลูกชาย ที่ต่างก็มีปัญหาของตัวเองคงสร้างความรู้สึกบางอย่างให้กับผู้ชมไม่มากก็น้อย
ในวันที่ ‘แม่’ ตกเป็นเหยื่อ
ณ จุดหนึ่งของเรื่อง เราจะได้ทราบว่าซานดราผู้เป็นแม่ไม่เคยต้องการมาใช้ชีวิตบนภูเขาที่มีเพียงความขาวโพลนของหิมะ ปราศจากผู้คน การมีอยู่ของเธอใจกลางบ้านไม้เป็นไปเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของสามีที่หวังประหยัดค่าใช้จ่ายผ่านการซ่อมแซมบ้านของตระกูล ไม่มากก็น้อยที่เธอรู้สึกเปลี่ยวเหงา เพราะถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และด้วยอาชีพนักเขียนของเธอทำให้ในหลายครั้งเธอถูกคู่ชีวิตกล่าวหาว่าคัดลอกผลงานของเขาไปตีพิมพ์ ทั้งที่เธอย้ำมาตลอดว่านำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจ และเขาเองก็อนุญาตเธอตั้งแต่แรก
ยิ่งไปกว่านั้น การหมดเวลาไปกับการทำงานเลี้ยงชีพก็ทำให้เธอไม่สนิทสนมกับลูกชายมากเท่าพ่อ ทั้งหมดนี้จึงพอจะสรุปได้ว่าเธอกำลังถูกแรงกดทับจากอีก 2 แรงในครอบครัว ผัวก็ด่า ลูกชายก็มีท่าทีห่างเหิน สิ่งนี้เองที่นำไปสู่แรงจูงใจที่ทนายฝ่ายตรงข้ามพยายามเล่นงานว่า เธอนี่แหละที่ลงมือฆ่าสามีของตัวเอง
แต่ขณะเดียวกัน ซานดราเองก็เป็นฝ่ายสร้างแรงกดดันให้กับสามีและลูกชายด้วยเช่นกัน เธอกล่าวโทษว่าแซมมวลคือต้นเหตุที่ทำให้ลูกมีความบกพร่องด้านการมองเห็น ซึ่งต่อให้เรื่องนี้จะมีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่เพราะคำพูดที่ถาโถมก็ค่อยๆ กัดกินคู่รักของเธอทีละเล็กละน้อย และในเวลาเดียวกันนั้นเอง เธอก็ยังแอบมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นเพราะรู้สึกโหยหาการมีเพศสัมพันธ์ในวันที่คู่สมรสไม่สามารถให้ได้ จริงอีกเช่นกันที่นั่นเป็นความต้องการที่แท้จริงของเธอ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันกำลังทำลายคำว่าครอบครัวที่อยู่ตรงหน้า
และในด้านความสัมพันธ์กับลูกชาย ซานดราก็เป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะอยู่กับงานมากกว่าลูก และทำให้ลูกเกิดความรู้สึกเหินห่าง ทั้งหมดทั้งมวล เธอจึงเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ ไม่ต่างจากพวกเราที่บางครั้งก็โดนคนในครอบครัวทำร้ายความรู้สึก แต่บางคราวก็เผลอกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้อีกคนรู้สึกแย่
เมื่อพ่อกลายเป็นผู้ถูกกระทำ
พร้อมกันกับที่ได้เรียนรู้ตื้นลึกหนาบางของซานดรา ผู้ชมก็ค่อยๆ มองเห็นชัดเจนขึ้นว่า ตัวละครพ่ออย่างแซมมวลก็เต็มไปด้วยบาดแผลเช่นเดียวกัน เขาทั้งโทษตัวเองและถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกอยู่ในสภาพที่แทบจะสูญเสียประสาทสัมผัสการมอง จึงตัดสินใจลดภาระงานอาจารย์ พับเก็บความฝันที่จะเป็นนักเขียน เพื่อมาดูแลลูกชายเต็มตัว
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาดำเนินไป ค่านิยมที่ปลูกฝังว่าเพศชายต้องเป็นผู้นำครอบครัวก็ค่อยๆ กัดเซาะจิตใจของเขาทีละน้อย และยิ่งต้องมาเห็นภรรยาของตัวเองประสบความสำเร็จในสายงานเดียวกัน เขาก็ยิ่งรู้สึกไร้ค่าหมดราคา ความนับถือตัวเองที่เคยมีพากันลดลงเรื่อยๆ บ้านก็ซ่อมไม่เสร็จสักที งานเขียนที่อยากจะเริ่มก็ไม่มีความมั่นใจอีกต่อไป กลายเป็นว่าไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยแม้แต่อย่างเดียว แถมนี่ยังเป็นความปวดร้าวที่เขาต้องโอบรับแต่เพียงผู้เดียวอีกด้วย
ข้อเท็จจริงที่เกิดกับแซมมวลนำไปสู่ความสนุกของหนัง นั่นคือความเป็นไปได้อีกอย่างของโศกนาฏกรรมบนกองหิมะ เพราะนอกจากภรรยาจะเป็นผู้ต้องสงสัยหมายเลขหนึ่งแล้ว เมื่อได้ล้วงลึกเข้าไปยังจิตใจของผู้ตาย เราก็จะพบว่าอาจเป็นไปได้เช่นกันที่เขาจะเลือกจบชีวิตของตัวเองเพราะไม่อยากจมอยู่กับความผิดหวังหดหู่อีกต่อไปแล้ว
แม้มองเผินๆ พ่อจะเป็นเหมือนเหยื่อของปัญหาภายในบ้าน เราก็ต้องยอมรับอยู่ดีว่า สิ่งที่เขาแสดงออกมา ไม่ต่างอะไรจาก ‘การแพ้แล้วพาล’ ซึ่งทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ คนดูอาจเห็นใจในสิ่งที่เขาพบเจอ ทว่านั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เขาจะสามารถนำไปใช้เพื่อเสียดสีแดกดันภรรยา แถมยังตำหนิในสิ่งที่เคยตกลงกันไว้ก่อนแล้วได้
จากทั้งฝั่งภรรยาและสามี คนดูคงเชื่อมโยงกับตัวเองได้ว่า ในบางทีเราเองก็เป็นฝ่ายที่โดนกระทำ แต่ในบางครั้งก็เราเป็นคนกระทำมันเสียเอง เรานำความปวดร้าวส่วนตัวมาระบายจนบรรยากาศส่วนรวมเป็นพิษ เราทำด้วยความเคยชินจนลืมไปแล้วว่า ทำไมถึงทะเลาะกันทั้งที่ลึกๆ ก็ผูกพันและรักกันมาก
ทางรอดของคนเป็นลูก
เมื่อพ่อเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา แถมแม่ยังถูกสงสัยว่าอาจจะเป็นฆาตกร เด็กวัย 11 ผู้มีปัญหาด้านการมองเห็นอย่างแดเนียลเองก็ไม่แน่ใจว่าควรจะทำยังไง และควรต้องรู้สึกแบบไหน ฉากในชั้นศาลไม่เพียงทำให้เราคนดูเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านกลางภูเขาหิมะ แต่ยังบีบให้ลูกชายได้รู้ความลับ ความคิดเห็น และความรู้สึกที่แท้จริงของพ่อกับแม่ของตัวเอง ซึ่งหลายต่อหลายเรื่อง เด็กอย่างเขาก็ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน
ทีแรก เขาไม่คิดว่าพ่อจะฆ่าตัวตาย และพร้อมกันนั้นก็ไม่ได้คิดว่าแม่จะเป็นคนฆ่าพ่อ แต่พอได้ฟังการสืบพยานหลักฐานไปเรื่อยๆ เขาก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ตัวเองรู้จักกับชายหญิงผู้เลี้ยงดูเขามาจริงหรือไม่ เขารู้เรื่องที่แม่นอกใจ แต่ถ้าไม่ขึ้นให้การสนับสนุนเธอ เขาก็อาจจะกลายเป็นเด็กชายผู้กำพร้าทั้งพ่อและแม่ เพราะฉะนั้นเชื่อใจแม่อาจจะดีกว่า แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเขามีส่วนช่วยให้แม่พ้นผิด พ่อของเขาก็ไม่ฟื้นขึ้นมาอยู่ดี แถมเขายังไม่สามารถมั่นใจได้เลยว่า นี่จะไม่ใช่คนที่พรากชีวิตพ่อผู้เป็นที่รักไปจากเขา
เราคงพอพูดได้เป็นเสียงเดียวว่าแดเนียลคือเด็กชายผู้โชคร้าย เป็นปลายน้ำของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว แต่กระนั้น เขาก็ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่มีส่วนให้ความไม่รงรอยของพ่อกับแม่ยังดำเนินต่อไป เรารู้ดีว่าแดเนียลไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่อุบัติเหตุที่เกิดกับดวงตาของเด็กชายก็เหนี่ยวรั้งให้ผู้เป็นพ่อไม่สามารถทำตามความฝันได้อย่างเต็มที่ เขากลายเป็นข้ออ้างที่พ่อกับแม่ใช้เล่นงานกันและกัน หรือในอีกแง่คือเขาตกเป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการกระทำความรุนแรงโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า บางทีพันธะที่ยึดโยงครอบครัวก็อาจเปราะบางราวกับเป็นเกล็ดหิมะทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริง
ทั้งตำรวจและศาลสูงอาจมีบทบาทหน้าที่ในการตัดสินว่าใครคือคนร้ายในคดีต่างๆ แต่ในสุด เมื่อถึงปลายทางของ Anatomy pf a Fall เราคงมองเห็นกลายๆ ว่าไม่มีทางที่คนนอกจะตัดสินถูกผิดแทนคนในครอบครัวได้ เช่นเดียวกัน เราคนดูเองก็คงไม่สามารถตอบได้อย่างเต็มปากว่าใครถูก ใครผิดกันแน่ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครที่ถูกไปซะทุกเรื่องหรือผิดไปซะทั้งหมด ต่างคนก็ต่างมีเหตุผลของตัวเอง เพียงแต่ความคิดและการกระทำของคนต่างส่งผลซึ่งกันและกันเป็นทอดๆ เราโดนมาแบบนี้ จึงแสดงออกไปแบบนั้น แล้วก็วนเวียนต่อกันไปโดยตอบไม่ได้ว่าตรงไหนคือต้นตอ แต่ที่พอจะตอบได้คือนี่เป็นสัจธรรมของโลก
อย่างไรเสีย ทุกคดีย่อมต้องมีผลตัดสินไม่ว่าผู้ที่อยู่ในศาลจะเห็นชอบพอใจหรือไม่ก็ตาม ในภาพยนตร์หลายเรื่อง คนดูจะได้เห็นภาพความสุขปรากฏขึ้นบนใบหน้าของผู้ที่ชนะคดี ทว่าในหนังเรื่องนี้กลับไม่มีเสียงหัวเราะหรือถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะ ที่สำคัญคือไม่ว่าผลตัดสินจะออกมาอย่างไร ความรู้สึกของสมาชิกที่เหลือในบ้านก็ไม่มีทางเหมือนเดิม
เปรียบดังเกล็ดหิมะเปื้อนเลือดที่ยากจะขจัดสีแดงให้เลือนหาย ทำได้เพียงหวังว่ากาลเวลาจะหลอมละลายจนบาดแผลได้รับการเยียวยาในสักวัน…
อ้างอิงจาก