สิ่งที่เคยทำด้วยความสนุก วันนี้กลับไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าครั้งล่าสุดที่ใจเต้นแรง ตาเป็นประกายเกิดขึ้นตอนไหน ไม่ว่าจะงานที่เคยหลงใหล งานอดิเรก หรือสิ่งที่ทำแค่เพราะอยากจะทำ จากแรงผลักดันแปรเปลี่ยนไปเป็นความกดดัน และความคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุด รอยยิ้มที่เคยมีเริ่มถูกแทนที่ด้วยความเจ็บปวดและว่างเปล่า
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ The Menu*
นี่คือความรู้สึกที่สัมผัสได้จากภาพยนตร์ ‘The Menu’ (2022) ที่ผสมความสยองขวัญเข้ากับแนวคอมเมดี้ออกมาเป็นเรื่องราวของเชฟสโลวิก (รับบทโดย Ralph Fiennes) ผู้รักความสมบูรณ์แบบอย่างสุดโต่ง ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นเมื่อเชฟสโลวิกจัด Fine Dining หรูหราบนเกาะอันแสนสงบ ทว่าดินเนอร์ครั้งนี้กลับกลายเป็นมื้ออาหารแห่งการล้างแค้น แต่ละเมนูค่อยๆ เพิ่มระดับความน่าขนลุกขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีใครหนีออกไปจากห้องอาหารแห่งนี้ได้ เพราะนอกจากจะเป็นเกาะแล้ว ยังไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ให้ติดต่อคนภายนอก
แม้หนังเรื่องนี้จะสื่อสารกับคนดูได้หลากหลายแง่มุมและแน่นอนว่าไม่ใช่หนังชวนซึ้ง (แถมยังหลอนอีกต่างหาก) แต่มีฉากหนึ่งเราคิดว่าน่าสนใจ นั่นคือตอนที่มาร์โก้ (รับบทโดย Anya Taylor-Joy) บังเอิญไปเจอภาพเชฟสมัยหนุ่มๆ ที่ยิ้มอย่างมีความสุขในฐานะพนักงานดีเด่นของร้านเบอร์เกอร์ ต่างไปจากภาพชายผู้เยือกเย็นไร้ความรู้สึกในร้านอาหารหรูหราตรงหน้า มาร์โก้เลยลองขอให้เขาทำเบอร์เกอร์แบบร้านข้างถนนที่ห้ามซับซ้อน ห้ามประดิษฐ์ประดอยให้ดูพิเศษจนเกินไป แต่เป็นเมนูแบบร้านฟาสต์ฟู้ดธรรมดาๆ เท่านั้น
ระหว่างที่เชฟสโลวิกค่อยๆ จับขนมปัง ทอดเนื้อ จัดวางวัตถุดิบแต่ละชิ้นออกมาเป็นเบอร์เกอร์แสนธรรมดา ใบหน้าของเขาค่อยๆ ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับแววตาที่ดูอ่อนโยนลงทีละน้อย แม้ไม่ถึงขั้นยิ้มร่ามีความสุข แต่นับว่าเป็นเสี้ยววินาทีที่สัมผัสได้ถึงความรื่นรมย์ ชวนให้เรานึกขึ้นได้ว่าก่อนหน้านี้เขาเองก็คงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ (เคย) สนุกกับการทำอาหาร เดินเข้าครัวด้วยความสุขและภาคภูมิใจ ก่อนจะกลายเป็นเชฟผู้เคร่งเครียดและสะสมความแค้นจนกลายเป็นเหมือนปิศาจที่ไร้หัวใจ นั่นเป็นเพราะชีวิตที่ต้องผ่านทั้งความเจ็บปวด การแข่งขัน ความกดดันจากเจ้าของร้านอาหาร คำพูดเสียดแทงจากนักวิจารณ์ ระบบการทำงานที่ไม่อนุญาตให้เขาได้พักหายใจอย่างเต็มอิ่ม การต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ขณะที่ลูกค้าบางคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเขาเคยทำเมนูอะไรไปบ้าง ทุกอย่างรอบตัวค่อยๆ หล่อหลอมให้เขาตั้งความคาดหวังว่าทุกจานจะต้องออกมา ‘สมบูรณ์แบบ’ รวมทั้งความลุ่มหลงในอำนาจที่ได้เป็นหัวหน้าเชฟฝีมือดีและมีชื่อเสียงโด่งดัง สิ่งเหล่านี้คอยกัดกินหัวใจของเขาทีละน้อย จนตัวตนของสโลวิกได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เบอร์เกอร์แสนธรรมดาในเรื่องนี้เลยเป็นเหมือนตัวแทนของสิ่งที่เชฟสโลวิกทำหายไประหว่างทาง นั่นคือ ความสุขและเหตุผลว่าทำไมเขาจึงเริ่มต้นทำสิ่งนี้มาตั้งแต่ต้น
ความเครียดของเชฟในชีวิตจริง
ถ้าย้อนกลับมามองในชีวิตจริง แล้วลองนึกภาพร้านอาหารที่ผสานทั้งศิลปะและงานบริการ แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทำงานสายนี้ เพราะต้องคอยรักษามาตรฐานที่ดีไว้อย่างไร้ที่ติ ตั้งแต่รสชาติไปจนถึงการบริการ ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นของเชฟในในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2019 พบว่า 8 ใน 10 เคยเจอปัญหาสุขภาพใจในระหว่างการทำงาน โดยสาเหตุอันดับต้นๆ ของความเครียดเหล่านี้ คือการขาดแคลนพนักงาน ขาดแคลนเวลา และงบประมาณที่จำกัด รวมทั้งการทำงานแบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ซึ่ง 41% บอกว่าการไม่ได้ไปเจอแสงแดดข้างนอกเลยส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของพวกเขาได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับเควิน เรย์โนลด์ส (Kevin Reynolds) เชฟที่อยู่ในสายงานนี้มากว่า 2 ทศวรรษ เขาให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่าปัญหาหลักที่ตัวเองเจอ คือการทำงานล่วงเวลา หรือทำงานหนักจนเกินไปทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอและชีวิตขาดสมดุล ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
เมื่อความหลงใหลถูกบั่นทอนไปทีละน้อย
ส่วนอาชีพอื่นๆ ก็มีโอกาสหลงลืมความสุขแบบเชฟสโลวิกได้เหมือนกัน บางคนอาจจะเบื่อหน่าย รู้สึกหมดไฟในสิ่งที่เคยหลงใหลเพราะถูกโลกการทำงานที่บั่นทอนความสุขของเราไปทีละน้อย ซึ่งโมเดล Areas of Worklife ในงานวิจัยของ คริสติน่า มาสลัค (Christina Maslach) และไมเคิล พี. ไลเตอร์ (Michael P. Leiter) อธิบายว่า สาเหตุของอาการหมดไฟ หรือ Burnout มาจาก 6 ด้านหลักๆ ด้วยกัน คือ การทำงานหนักเกินไป ความรู้สึกขาดอิสระในการทำงาน การไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมทั้งด้านการเงินและจิตใจ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความยุติธรรม และมุมมองต่อคุณค่าของงานที่ทำ ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้น เราคงไม่สามารถควบคุมทั้ง 6 อย่างนี้ได้ทั้งหมด เลยไม่น่าแปลกใจที่ความหลงใหลจะหายไปทีละน้อย หรือแม้แต่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดียที่กดดันให้เราอยากจะวิ่งตามให้ทันคนอื่นๆ บ้าง จนลืมถามตัวเองไปว่าตอนนี้มีความสุขดีไหม?
แม้เราจะพูดถึงเรื่องงานเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทุกคนจะต้องรักงานที่ตัวเองทำเสมอไป เพราะบางที ‘โมเมนต์ทำเบอร์เกอร์’ แบบเชฟในเรื่องนี้อาจเป็นการอนุญาตให้ตัวเองได้ทำอะไรธรรมดาๆ แต่มีความสุข เช่นการนั่งดูการ์ตูน วาดรูป กินไอติม หรือวางบทบาทความเป็นผู้ใหญ่ลงไป แล้วใช้ชีวิตสนุกๆ บ้าง เพราะการทุ่มเทเพื่อให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น หรือประสบความสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญและเข้าใจได้ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่เรายังได้ทำสิ่งอยากทำและมีความสุขที่ได้ทำ หรือเรียกง่ายๆ ว่ามี ‘โมเมนต์ทำเบอร์เกอร์’ เป็นของตัวเองไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
ในวันที่โลก (หรือแม้แต่ตัวเราเอง) คาดหวังให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้า ยังพอจำได้ไหมว่าเจ้า ‘โมเมนต์ทำเบอร์เกอร์’ สำหรับคุณหน้าตาเป็นแบบไหน?
อ้างอิงจาก