เราแอบเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเป็นแบบนี้ รู้สึกเหนื่อยมากไม่ไหวแล้ว อยากมีเวลาออกไปพักยาวๆ นั่งปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้แหละ มันมีเรื่องให้คิดเยอะแยะไปหมด จะขอลางานไปพักก็เกรงใจเพื่อนร่วมงาน เลยฝืนลุยงานต่อไปอีกก็แล้วกัน
คือการอยากหยุดแต่หยุดไม่ได้เนี่ย ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานคนยุคนี้ไปแล้วเนอะ ซึ่งเราอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือหยุดพักไม่ได้เพราะหาเวลาที่ลงตัวไม่ได้จริงๆ กับ หยุดไม่ได้เพราะเกรงใจเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย
อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับมิตรสหายจำนวนไม่น้อย เราก็พบว่า การหยุดพักไม่ได้ทั้ง 2 แบบนั้นก็สามารถเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในสถานการณ์เดียวได้เช่นกัน กล่าวคือ ไม่กล้าหยุดเพราะไม่มีเวลาผสมกับเกรงใจเพื่อน
เอาเข้าจริงๆ แล้วภาวะการทำงานเช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนไทยเราเท่านั้น เพราะมันยังเกิดขึ้นกับผู้คนในหลายประเทศ จนมีคำศัพท์ที่เรียกเป็นการเฉพาะเลย ซึ่งนั่นก็คือคำว่า ‘Presenteeism’
เพราะล้าเกินไปแต่ไม่ได้หยุด ปัญหา Presenteeism ในที่ทำงาน
ในช่วงหลายปีมานี้ มีบทความจำนวนมากที่พูดถึง Presenteeism กันอยู่เรื่อยๆ หลักแล้ว เราอาจจะนิยามมันแบบเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า มันคือ ภาวะการฝืนไปทำงานตลอดเวลาไม่ได้หยุดพัก แม้ว่าร่างกายและจิตใจจะไม่ไหวก็ตาม
มีสถิติที่จัดทำในประเทศอังกฤษ ซึ่งพบว่า พฤติกรรมกมรทำงานของผู้คนนั้นเริ่มจะลางานกันน้อยลงเรื่อยๆ และหลายคนตัดสินใจมาทำงานทั้งที่สุขภาพร่างกายและจิตใจนั้นกำลังป่วยอยู่ โดยกลุ่มตัวอย่าง 83 เปอร์เซ็นต์ ยอมรับว่าบริษัทพวกเขามีการทำงานกันแบบ Presenteeism จริงๆ ขณะที่ 25 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ปัญหานี้ในบริษัทกำลังรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม
Sarah Mitchell-Hume พนักงานบริษัทอายุ 24 ปี บอกกับ BBC ว่า เธอไม่เคยรู้อะไรมาก่อนเลยเกี่ยวกับเรื่องภาวะทางจิตใจ (Mental Health) จนกระทั่งอาการแพนิคมันจู่โจมเธอบนโต๊ะทำงาน เธอเล่าว่า งานที่ทำอยู่นั้นไม่ได้แย่อะไร แถมมันยังเป็นงานที่เธอรักมากๆ อีกด้วย แต่เมื่อทำงานติดต่อกันหนักๆ เรื่อยมา ปัญหาสุขภาพก็เลยกลายเป็นเงาที่เกิดขึ้นตามตัว
“ฉันรู้สึกเหมือนมีแรงดันให้กลับไปทำงาน แม้ว่าฉันจะลาป่วยก็ตาม” เธอเล่า “ในทางร่างกายแล้วฉันไปทำงานแหละ แต่ในทางจิตใจแล้ว ฉันไม่ได้ทำอะไรเลย”
เสพติด (การไปทำ) งาน กับความเสี่ยงที่ทำให้เราหมดไฟ
น่าจะเป็นที่เข้าใจและเคยประสบการณ์มาบ้างแล้ว กับการเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งงานวิจัยและการศึกษาหลายๆ ชิ้นที่ชี้ภาพไปในทางเดียว ถึงปัจจัยด้านความเหนื่อยล้าทางร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ตลอดจนคุณภาพการทำงาน
ภาวะที่ต้องไปทำงานทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ไหวแล้วนั้น ยังเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เราขาดการฟื้นคืนทางสภาพร่างกาย (Recovery after work) อีกด้วย คือเมื่อร่างกายโหยหาและเรียกร้องการพักผ่อน แต่ตัวเราในฐานะเจ้าของมันก็กลับปฏิเสธ แถมดึงดันที่จะฝืนมันต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งผลของวงจรชีวิตเช่นนี้ย่อมทำให้เราหมดไฟได้เร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
ผลกระทบของ Presenteeism ต่อองค์กร
ทางฝั่งสหรัฐฯ กันบ้าง มีบทวิเคราะห์จาก American Productivity Audit ที่ประเมินว่า Presenteeism มันก็มีผลในแง่ลบกับทางองค์กรหรือบริษัทเหมือนกัน โดยตีค่าเป็นมูลค่าที่ทำให้องค์ทั้งประเทศเสียประโยชน์รวมกันไป กว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กันเลยทีเดียว (โดยวิเคราะห์จากตัวแปรสำคัญ อย่างประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของพนักงานที่ฝืนมาทำงานทั้งๆ ที่ร่างกายไม่พร้อม
ปัญหาเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งข้อมูลก็พบว่า พนักงานญี่ปุ่นที่ฝืนไปทำงานทั้งที่ตัวเองไม่ไหวนั้น อาจสร้างผลกระทบให้บริษัทมีรายได้ลดลงราวๆ 3,100 ดอลลาร์ต่อปี
ข้อมูลเหล่านี้น่าจะช่วยให้เราเห็นภาพได้ไม่น้อยเลยเนอะ การฝืนไปทำงานทั้งที่ร่างกายและจิตใจของเราเองนั้นไม่ไหวแล้ว มันมีผลกระทบต่อทั้งตัวเราเอง เพื่อนร่วมงาน กระทั่งประสิทธิภาพโดยรวมของบริษัทด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าบริษัทต่างๆ จะไม่รู้ถึงเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งเราก็คงไม่สามารถพูดได้อย่างง่ายๆ ว่า “ถ้าเหนื่อยก็ไปพักสิ” หากแต่สิ่งสำคัญคือ ระบบการทำงานและวัฒนธรรมการทำงานในแต่ละแห่งแต่ละที่ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญครอบอยู่และทำให้ Presenteeism มันยังดำรงอยู่ได้ และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก
แก้ไข Presenteeism ยังไงดี?
เว็บไซต์ Brand Buffet เคยรายงานสถิติที่พบว่า มีคนไทยถึง 9 ใน 10 หรือราว 89 เปอร์เซ็นต์ ที่ยอมรับว่าตัวเองจะเข้ามาทำงาน ถึงแม้ว่าจะเจ็บป่วยก็ตาม ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 67 เปอร์เซ็นต์
ปัญหาหลักๆ ที่ทำให้ผู้คนไม่กล้าลาพักงาน คือกลัวการโยนภาระของตัวเองให้กับคนอื่น และกลัวว่าการให้คนอื่นทำงานแทนนั้นจะหมายถึงความไม่ใส่ใจ หรือการเอาเปรียบแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับ การมีภาระงาน Workload ที่มากเกินไปจนไม่สามารถปล่อยวางสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้
สิ่งสำคัญมากๆ คือสร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานเป็นทีม ทีมในความหมายที่ไม่ใช่เพียงแค่เดินไปสู่ความสำเร็จพร้อมกัน หากแต่เป็นทีมที่ทุกคนสามารถช่วยกันประคองกันเพื่อนร่วมงานกันเสมอ และรู้ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้พักเพื่อซ่อมแซมตัวเอง
ในเชิงรูปธรรมนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า วิธีแก้ไขที่ดีคือการจัดวางระบบที่การทำงานสามารถทดแทนกันได้จริงๆ พูดอีกแบบคือการกระจายงานให้ไม่กระจุกตัวอยู่กับใครคนไหนคนหนึ่ง (ซึ่งเหมือนจะพูดง่ายแหละเนอะ แต่นี่ก็คือโจทย์ที่แต่ละที่ต้องไปไขปริศนากันให้ได้จริงๆ)
ขณะเดียวกัน การเพิ่มโควต้าลาป่วย ที่เป็นการลาแต่ยังไม่ถูกหักเงินในเดือนนั้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็นด้วย เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หลายๆ คนนั้นไม่กล้าลาหยุดเพราะโควต้าการลาป่วยหมดลงแล้ว อีกทั้ง มันจะเป็นการลาที่จะกระทบต่อเงินที่จะได้อีกด้วย
ส่วนเว็บไซต์ The Balance Careers แนะนำว่า ในแง่วัฒนธรรมการทำงานนั้น อาจเริ่มต้นได้จากหัวหน้างานทำเป็นตัวอย่าง ถ้าป่วยจริงๆ ก็ต้องลาแหละ ไม่ไหวก็คือไม่ไหว
บางครั้งภาวะผู้นำก็ไม่จำเป็นต้องสะท้อนความเข้มแข็งตลอดเวลา ถ้าหัวหน้าเป็นคนแสดงให้เห็นหรือคลายปมนี้ให้กับคนทำงานในทีมได้เห็นแล้ว คนที่ทำด้วยกันก็น่าจะกล้าพักมากขึ้น
อ้างอิงจาก