“อยากทำงานที่บริษัทนี้จังเลย”
“ถ้าได้ทำงานที่นี่ อนาคตเราต้องไกลแน่”
เราแข่งขันกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่การแข่งกันว่าใครสูงใครกว่าตอนอนุบาล แข่งกันว่าใครได้เข้าโรงเรียนชื่อดังตอนมัธยม ไปจนถึงแข่งกันด้วย ‘นามสกุล’ ต่อท้ายที่ได้รับจากการทำงานในองค์กรดังในยามที่เราจบมหาวิทยาลัย
ถึงจะเป็นความจริงรสชาติขม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมเรามีการแบ่งชนชั้น (โดยที่เรามองไม่เห็น) อยู่เสมอ การได้ทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียงนั้นทำให้เราได้กลายเป็น ‘ประชากรชั้นหนึ่ง’ ในหมู่คนรุ่นเดียวกัน คนที่ทำงานในองค์กรที่ไม่ว่าใครก็รู้จัก มักจะได้รับแสงมากกว่า ได้รับโอกาสในการอยู่กับคนมีความสามารถและพัฒนาตัวเองไปได้มากกว่า
ก็เลยเกิดเป็นการแข่งขันไม่รู้จบของการล่านามสกุลจากองค์กรดังมาครอบครอง ไม่ว่าจะต้องแลกมากับความเจ็บปวด ความเหน็ดเหนื่อย สุขภาพกายใจที่ต้องสูญเสียไป หรือชีวิตส่วนตัวที่ไม่เหมือนเดิม
เหตุผลของการตามล่านามสกุล
ไม่ว่าใครก็อยากจะก้าวไปให้ไกลที่สุดในสายงานของตัวเอง ดังนั้นองค์กรระดับแนวหน้าก็เป็นที่หมายตาของทุกคน เราได้ทำการสำรวจเหตุผล และความเจ็บปวดของเหล่าคนที่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในองค์กรในฝัน ว่าเขามีเรื่องราวอะไรอยู่เบื้องหลังบ้าง ทำไมถึงเลือกที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้นามสกุลนั้นมา
สำหรับบางคน การตามล่านามสกุลก็เป็นเรื่องของการทำให้คนในครอบครัวสบายใจว่าอยู่ในบริษัทที่พวกเขารู้จัก บริษัทที่คนรุ่นเดียวกับเขามองว่าเป็นบริษัทที่มั่นคง เพราะความคาดหวังของครอบครัวนั้นมีความหมายกับพวกเขา
“เรื่องนามสกุล เราว่ามันก็จริงนั่นแหละ อย่างเราพยายามหางานในบริษัทมหาชน เวลาบอกพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเขาจะได้รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ มันก็แอบเศร้าอยู่นะ คือน้องชายเราได้งานบริษัทสตาร์ทอัป ตอนที่น้องมาบอกพ่อแม่ว่าได้งานแล้ว พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่าน้องทำอะไร สังคมของเขาเวลามีคนถามว่าลูกทำงานอะไร ที่ไหน เขาก็ตอบไม่ถูก” หลานลุงโม่ – 25 ปี (โทรคมนาคม)
บางคนก็อยากเลือกนามสกุลที่ดีที่สุดในสายงานนั้นให้กับตัวเอง แม้ตำแหน่งงานและหน้าที่รับผิดชอบจะเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กรคือระบบงาน ความมั่นคงของงาน และที่สำคัญที่สุดเลยคือคุณภาพของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงลูกค้าที่ถูกคัดกรองมาแล้วจากตัวองค์กรอีกที
“สมัยเลือกที่เรียน ถ้าเป็นไปได้เราก็อยากได้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของแต่ละสาขาวิชา พอมาเลือกบริษัทก็เหมือนกัน เราก็อยากทำงานในบริษัทระดับต้นๆ ของแต่ละธุรกิจ เพราะมันสร้างเครดิตให้เราได้ อีกอย่างคือไม่มีใครรู้เรื่องราวภายในของแต่ละบริษัทหรอก แต่ชื่อเสียงมันทำให้เราอุ่นใจได้ถึงความมั่นคงของงาน คุณภาพของเพื่อนร่วมงานและลูกค้า” หงส์ไทย – 26 ปี (คอนเซาท์)
แต่กับบางคน นามสกุลก็ไม่ได้สำคัญมากนัก แต่ก็ยังอยากอยู่ในบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมของตัวเองเพื่อความมั่นคง ความก้าวหน้า และสวัสดิการที่จะได้รับ แม้ว่าหลายอย่างอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คิดฝันเอาไว้ แต่ก็ต้องอดทนต่อไป
“เรื่องนามสกุลค่อนข้างเฉยๆ เพราะพ่อแม่เคยเอาไปอวดเพื่อน แต่เพื่อนเขามีแต่ลูกเป็นหมอ ก็โดนขิงกลับ สิ่งที่เราคาดหวังกับบริษัทใหญ่ก็มีอยู่แหละ พวกสวัสดิการ นโยบายบริการ ความก้าวหน้าของตำแหน่งอะไรพวกนี้ พอทำที่นี่มาหลายปีเลยรู้หมดว่าหลายอย่างมันไม่เป็นตามที่คาดหวังเลย แต่พอเป็นบริษัทใหญ่มันได้ผลตอบแทนสูง ก็จบที่เงินมันค้ำคอ ก้มหน้าทำต่อไปแล้วส่งอีเมลไปคอมเพลนว่าสวัสดิการกากมาก ปรับปรุงด้วย” โมต้อน – 28 ปี (ยานยนต์)
เมื่องานในฝันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
“หนีไป”
ไม่มีอะไรเป็นดั่งใจฝันได้ทุกเรื่อง เมื่อเราเอาตัวเองมาอยู่ในที่ที่ฝันไว้สำเร็จ ทำงานมานานพอที่จะประดับตัวเองด้วยนามสกุลที่วิ่งไล่ล่ามันมาอย่างเหน็ดเหนื่อยได้ แต่วันหนึ่ง เรากลับค้นพบว่ามันไม่เป็นเหมือนอย่างที่คิด มันมีราคาที่มองไม่เห็นที่เราต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นไฟในการทำงานที่แทบไม่เหลือ สุขภาพใจที่ย่ำแย่ลง จนเมื่อมีใครถามว่าทำงานที่นี่เป็นยังไงบ้าง ด้วยความผิดหวัง และความที่ไม่สามารถพูดอะไรมากได้ คำตอบที่อยากตอบจะมีแต่คำว่า “หนีไป”
ทำไมเราถึงโยนความคิดที่ว่า ‘ถึงจะเป็นองค์กรในฝัน ก็มีต้องข้อเสียบ้างแหละ’ ทิ้งไปในวันแรกที่เราก้าวเข้ามา จนไม่ได้ระวังตัวว่ามีอะไรกำลังจะพุ่งมาชนเราหรือเปล่า เอลเลียต เบิร์กแมน (Elliot Berkman) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยออริกอน ได้ให้ความเห็นกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า เมื่อทำได้ตามเป้าหมายแล้ว เรามักไม่มีความสุขเท่าที่คิด ส่วนหนึ่งก็เพราะเราคาดเดาต้นทุนแฝงที่มักจะมาพร้อมกับเป้าหมายในชีวิตไม่ค่อยเก่ง
ต้นทุนแฝงที่ว่านั้นอาจเป็นเวลาในการทำงานที่หนักกว่าใคร การที่เราต้องตะเกียกตะกายพัฒนาตัวเองตลอดเวลา หรืออื่นใด ซึ่ง อเล็กซานเดอร์ ฮาสลาม (Alexander Haslam) ศาสตราจารย์คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ให้ความเห็นกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า ความพอใจในการทำงานจะเกิดขึ้นได้จากสังคมรอบข้างมากกว่าตัวงานเอง เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ขึ้นมาว่า มีแพทย์คนหนึ่งที่มีแพสชั่นกับงานตัวเองแบบเหลือล้น แต่เมื่อเขาได้ทำงานในโรงพยาบาลที่หันไปทางไหนก็เจอแต่อะไรที่ไม่โอเคไปหมด เขาก็อาจจะรู้สึกว่าการเป็นแพทย์ไม่ได้เหมาะกับเขา (ทั้งที่เขาเคยมีแพสชั่นรุนแรงขนาดนั้น)
ในวันที่เรายังไม่รู้ความอะไร เราคิดเพียงว่าองค์กรนี้จะมอบนามสกุลให้เรา และทำให้เราเติบโตไปได้ไกลแน่ แต่ในวันนี้กลับรู้สึกว่าถูกปฏิบัติด้วยไม่โอเคสมกับเป็นบริษัทดังเลย ซึ่งตัวเราก็มีอยู่แค่ 2 ทางเลือกคือสละนามสกุลนี้ทิ้งไป หรือยอมอดทนเพื่อใช้นามสกุลนี้ต่อ หรือใช้ให้นานพอที่จะไปไล่ล่านามสกุลใหม่ที่เท่กว่าเดิม พร้อมกับบอกคนอื่นด้วยความเหนื่อยล้าว่า “หนีไป” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร
สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาใจเอาไว้ไม่ให้เบิร์นเอาต์และไม่ปล่อยให้งานของเรามาลดทอนคุณค่าของตัวเราเอง
อ้างอิงจาก