ผู้กำกับภาพยนตร์แต่ละคน มักจะมีลายเซ็นของตัวเองที่เป็นที่จดจำแทรกไว้ในผลงานเสมอ ถ้าเป็น ‘เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson)’ ลายเซ็นที่ชัดเจนของเขาคงไม่พ้นงานภาพ ที่แสนจะสมมาตร วัตถุถูกวางไว้ตรงกลางอย่างตั้งใจ จนทำให้เรายิ่งดูยิ่งรู้สึกว่า ตรงกลางแบบนี้แหละ เป๊ะแบบนี้ มันช่างสวยจริงๆ (satisfy) แล้วทำไมคนเราถึงมักจะพึงพอใจเมื่อได้ดูภาพสมมาตรแบบนี้กัน?
ก่อนจะไปเข้าใจถึงเหตุผล มาทำความรู้จักภาพสมมาตรกันอย่างคร่าวๆ ก่อน ถ้าเป็นความหมายทางกายภาพ มันคือสิ่งที่ หากมีเส้นผ่านศูนย์กลางตัดผ่าน จะมีทั้งสองด้านเท่ากัน แต่ถ้าในเชิงสุนทรียศาสตร์ มันคือ ความสมดุล ความสมบูรณ์แบบ (อะไรทำนองนั้น)
แล้วทีนี้ หนังของเวส แอนเดอร์สัน ใช้ความสมมาตรนี้ มาเป็นไอเดียตั้งต้นในการกำหนดทิศทางของภาพ ทั้งสองฝั่งของภาพมีองค์ประกอบเท่ากัน วัตถุถูกนำมาไว้ตรงกลางอย่างตั้งใจ เพื่อเน้นให้มันโดดเด่นขึ้นมาเหมือนโดนปากกาไฮไลต์ระบายทับ แบบนี้
และแบบนี้
จริงๆ หนังของเขาจะมีเรื่องสีที่โดดเด่นไม่แพ้กัน แต่เราอยากคุยเรื่องความสมมาตรของภาพของเขากัน ไม่ใช่พูดถึงว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้ภาพแบบนี้ แต่คุยถึงที่มาที่ไปว่าทำไมเราดูแล้วถึงรู้สึกว่าภาพแบบนี้มันช่างสวยและลงตัวเหลือเกิน
ชอบโดยสัญชาติญาณ
เราชอบความสมมาตรกันมาตั้งแต่เกิดแล้วล่ะ มนุษย์ส่วนใหม่ มีความหลงใหลในความสมมาตรอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ในภาพยนตร์ แต่หมายถึงทุกอย่างที่สมมาตรจริงๆ รูปทรง วัตถุ หรือแม้แต่ใบหน้าของใครสักคน ยิ่งใบหน้านั้นสมมาตรมากเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกว่าใบหน้านั้นคือ ใบหน้าที่มีความงดงามมากเท่านั้น และใบหน้าที่สมมาตรนั้นแสดงถึงแนวโน้มของยีนที่ดีอีกด้วย
อีกอย่างคือ ตอนมนุษย์เราเติบโตช่วงเอ็มบริโอ (embryo) เนี่ย เราเจริญแบบสองฝั่งประกบเข้าหากัน ตอนอาบน้ำ ลองสังเกตหน้ากระจกกันเล่นๆ ว่าร่างกายของเราสมมาตรจริงไหมนะ
วัตถุกลางภาพคือตัวเอก
ความสมมาตรขับให้วัตถุกลางภาพเป็นจุดสนใจ เมื่อน้ำหนักทั้งสองด้านของภาพเท่ากัน สิ่งที่อยู่ตรงกลางจุดเดียวจะโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางความสมดุลนั้น และหนังของเวส แอนเดอร์สัน มีทั้งสองอย่างเลยล่ะ
เขามักจะวางบุคคลไว้ตรงกลางแบบเป๊ะๆ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาพสมมาตร ไม่มีส่วนประกอบที่ไม่จำเป็น เพราะมันอาจทำให้น้ำหนักของพื้นหลังทั้งสองฝั่งไม่เท่ากันเกินไป อาจมีไม่เท่ากันบ้างเพื่อความไม่แข็งทื่อ แต่จะไม่เทน้ำหนักไปที่ฝั่งใดมากกว่าอย่างชัดเจนแน่นอน
ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับหรือไม่ ที่หยิบเอาข้อสนับสนุนเชิงชีววิทยามาใช้ในงานกำกับให้ภาพออกมาสมมาตร แบบที่คนส่วนใหญ่หลงใหล อาจเป็นความชอบส่วนตัวในเชิงสุนทรียศาสตร์อย่างเดียวก็ได้ แต่ความพิศวงเล็กๆ คือ แม้แต่เรื่องของความชอบ เราอาจถูกขัดเกลาให้รู้สึกแบบนี้จากเหตุผลเล็กๆ ทางวิทยาศาสตร์ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก