เห็นใครนั่งจมกับตัวเอง เหม่อมองด้านหน้า มือพลางคีบบุหรี่ ทอดอารมณ์ราวกับไม่มีใครอยู่ข้างๆ ภายใต้แสงไฟสลัว แล้วมันอดไม่ได้ที่อยากจะแซวว่าเขากำลังกระทำความหว่องอยู่หรือเปล่านะ
ความหว่องที่ว่านั้น มาจากชื่อของผู้กำกับผู้มีลายเซ็นชัดเจนบนผลงานของเขาอย่าง ‘Wong Kar-Wai’ ที่เราคุ้นเคยที่จะเรียกเขาในชื่อ หว่องกาไว นั่นเอง กระทำความหว่องจึงเป็นการกระทำอย่างตัวละครในภาพยนตร์ของหว่องกาไว ที่ถ่ายทอดความเหงาออกมาได้อย่างงดงามและเหงาจับใจอย่างเป็นธรรมชาติ แต่โดยรวมแล้วอะไรกัน ที่ทำให้หนังของหว่องกาไวมันให้ความรู้สึกเหงาถึงขนาดนั้น
ค.ศ. 1962 หว่องกาไว ในวัยเพียง 4 ปี เขาย้ายถิ่นฐานพร้อมครอบครัวจากเซี่ยงไฮ้มายังฮ่องกง การพลัดพลากจากบ้าน มาสู่พื้นที่ใหม่ ที่จะเป็นบ้านหลังต่อไปนี้ ทำให้เราหวนคิดถึงตัวละครในหลายเรื่องของเขา ที่ต้องใช้ชีวิตจมอยู่กับความคิดถึงบ้านเกิด ตัวละครที่มีเส้นเรื่องต้องจากบ้านมาไกล หลังจากย้ายมาแล้ว เขาใช้เวลากับแม่ในการดูหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่า หนังจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งฮอลลีวูด ฝรั่งเศส อิตาลี ล้วนผ่านตาของเขามาตั้งแต่เด็ก หล่อหลอมให้เขามีความหลงใหลในโลกภาพยนตร์ติดตัวมาเรื่อยๆ ไม่ว่าเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม จนกระทั่งเขาได้เริ่มงานในวงการด้วยการเขียนบทภาพยนตร์ หลังจากนั้น ผลงานการกำกับเรื่องแรกของเขาก็ยังคงเป็นหนังแอ็กชั่น พอเป็นเรื่องที่สอง ‘Days of Being Wild’ ถึงจะเป็นหนังหว่องอย่างที่เราคุ้นเคยกัน หลังจากนั้นก็ตามมาด้วย Chungking Express, Fallen Angels, Happy Together และ In the Mood for Love ผลงานสร้างชื่อที่ย้ำถึงเอกลักษณ์ที่เป็นเหมือนลายเซ็นในภาพยนตร์ของเขาอย่างความเหงา
ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราเกิดนึกถึงหว่องกาไวขึ้นมาเฉยๆ แต่ว่าวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ เป็นวันคล้ายวันเกิดของเขานั่นเอง เลยอยากจะพามาสำรวจความเหงาอันเป็นเอกลักษณ์ในหนังของเขากันอีกครั้ง ว่าทำไมกันนะพูดถึงหว่องขึ้นมาแล้วมันต้องเป็นภาพแทนของความเหงา แล้วทำไมหนังของเขาถึงถ่ายทอดความเหงาออกมาได้อย่างลึกซึ้งขนาดนี้กัน
หรือจะเป็นเพราะความเหงาของตัวละคร
ความรักที่เกิดขึ้นในสถานการณ์แปลกประหลาด ความรักในเงื่อนไขที่ยากจะทำใจ ความรักที่ไม่อาจเห็นปลายทางอันสวยสดงดงามได้ เหล่าตัวละครในหนังหว่องจึงพากันมองฝนรำไร ใต้แสงไฟสลัว เพราะเนื้อเรื่องส่วนใหญ่ในหนังของเขา มักจะวนเวียนอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่อาจหาทางลงได้ง่ายนัก หรือความสัมพันธ์ที่ไม่อาจหาทางเดินต่อตั้งแต่แรกแล้ว และอีกความเหงาที่เกิดขึ้นของตัวละครในหลายเรื่อง คงหนีไม้พ้นความคิดถึงบ้าน ตัวละครหลายตัวต่างมีภูมิหลังต้องพลัดพลากจากบ้านมาไกล คุ้นๆ ใช่ไหมล่ะ เพราะหว่องกาไวเอง ก็ต้องย้ายจากเซี่ยงไฮ้มายังฮ่องกงตั้งแต่ยังเด็ก มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น จึงเป็นอีกความเหงาที่เราได้เห็นความเชื่อมโยงของตัวละครกับตัวผู้กำกับเอง ทั้งคนดูและตัวละครต่างรู้อยู่เต็มอกว่าเรื่องราวนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร จึงเลือกที่จะปล่อยความหม่นหมองในใจออกมาทางสีหน้า ท่าทาง และการกระทำ หรือแม้แต่เทคนิคการใช้ voice-over ของพวกเขาแทน
หรือจะเป็นเฉดสีของความเหงา
สีของไฟที่ดูเหมือนจะไม่ได้ต้องการเน้นความสว่างในทุกพื้นที่ แต่ต้องการอาบไล้ซีนนั้นรวมถึงห้วงลึกของตัวละครให้กลายเป็นสีเดียวกัน เราเลยได้เห็น neon-drenched ในหนังของเขาอยู่บ่อยๆ จนมันกลายมาเป็นอีกหนึ่งรายละเอียดที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปเลย ยิ่งฉากไหนที่ต้องการดึงอารมณ์ของตัวละครออกมาให้มาก เฉดสีจึงเข้ามาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกอย่างกลมกล่อมเข้าด้วยกัน
หรือจะเป็นเพราะภาพฝันอันไม่ชัดเจน
ไม่รู้จะใช้คำไหนให้เข้าใจ แต่อยากให้เข้าใจว่าภาพฝันที่ว่านั่น ไม่ใช่การนึกถึง การฝันกลางวัน แต่มันคือ Blurry Frame ที่เห็นแล้วชวนให้คิดว่านี่คือภาพในความฝัน ที่เนิบช้า เลือนลาง ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคงจะเป็น Fallen Angels และ Chungking Express นี่แหละ ที่เรามักจะได้เห็นภาพงงๆ เบลอๆ คอยสอดแทรกมาในบางซีน รวมถึงการวางตำแหน่งของภาพ ที่มักจะเลือกให้มีวัตถุบางอย่างวางขวางหน้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะใน In the Mood for Love โดยเขาได้เล่าถึงเหตุผลของเรื่องนี้ ว่าเป็นความตั้งใจของเขาเองที่อยากให้มีอะไรสักอย่างคอยบังอยู่ด้านหน้าตัวละคร ให้เหมือนกับว่าเราแอบมองตัวละครลอดผ่านอะไรสักอย่างอยู่นั่นเอง
และรายละเอียดทั้งหมดนั้นจะกลมกล่อมอยู่ในภวังค์ความเหงาเดียวกันไม่ได้ ถ้าขาดเทคนิคการเล่าเรื่องของเขาไป หว่องเองเป็นอีกคนที่ชื่นชอบในวรรณกรรม มากเสียจนหยิบกลิ่นอายการเล่าเรื่องของวรรณกรรมมาไว้ในหนังของตัวเอง โดยเฉพาะของ Manuel Puig นักเขียนชาวอาร์เจนตินา ที่มีอิทธิพลในการเล่าเรื่องของเขามากอีกคนหนึ่ง
โดยรวมแล้ว มันคือความตั้งใจทำให้เหงา โดยอาศัยรายละเอียดและเทคนิคหลายๆ อย่างประกอบเข้าด้วยกัน ให้ออกมาเป็นความเหงาแบบหว่อง ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน แม้ความเหงาในโลกภาพยนตร์จะมีอยู่มากมาย แต่ความเหงาแบบหว่องนั้นชัดเจนในใจของผู้ชมเสมอมา เพราะเราทุกคนล้วนเต็มไปด้วยความเหงาในวันที่เราอยู่ในเมืองใหญ่ที่พบเจอแต่คนแปลกหน้า หว่องจึงเล่นกับความรู้สึกของคนเหงาในเมืองได้เป็นอย่างดี
ปลายนิ้วเคาะจรดแป้นพิมพ์ จนถึงบรรทัดสุดท้าย เช่นเดียวกับบุหรี่ที่เผาไหม้ไปเกินครึ่งมวน ฝนด้านนอกกำลังจะหยุดลง ทั้งสามสิ่งนี้อาจจบลงพร้อมกันอย่างบังเอิญ หว่องปะ?
อ้างอิงข้อมูลจาก