ฉากนี้มันคุ้นๆ นะ เหมือนเคยเห็นในหนังเรื่องไหนสักเรื่อง คุ้นตั้งแต่ท่าทาง อาร์ตไดเร็กชั่น ไปจนรายละเอียดอื่นๆ เอ๊ะ หรือนี่เราจะเจอการก็อปงานกันเข้าให้แล้ว แต่วงการภาพยนตร์ก็อปกันเองแบบนี้ได้จริงหรอ? หรือนี่จะเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า ‘ทรีบิวต์ (tribute)’ ที่มันไม่ใช่การก็อปกันเพราะอยากหยิบฉวยไอเดีย แต่เป็นการแสดงความเคารพถึงต้นฉบับ แล้วทั้งสองอย่างระว่าง ‘การเคารพบูชา’ กับ ‘การลอกเลียนแบบ’ มันจะมีเส้นแบ่งยังไงเนี่ย?
เรื่องก็อปหรือไม่ก็อปเนี่ย มักจะเป็นประเด็นกันอยู่บ่อยๆ จนเราอาจคุ้นเคยกับประโยคทำนองว่า “โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของดั้งเดิม ทุกสิ่งล้วนถูกหยิบฉวยเอาจากที่ไหนสักแห่ง ที่สะท้อนออกมาเป็นแรงบันดาลใจ เป็นเชื้อเพลิงให้กับจินตนาการ” แต่อันนี้เป็นคำพูดของ จิม จาร์มุช ( Jim Jarmusch) ผู้กำกับรุ่นเก๋าที่พูดถึงเรื่องก็อปไม่ก็อปได้อย่างน่าสนใจ
เราเอง ต่างมีประสบการณ์กับเหตุการณ์ สิ่งของ บุคคล สถานที่ ในแบบของตัวเอง ทั้งหมดถูกกักเก็บไว้ในความทรงจำ ที่อาจไม่เที่ยงตรงได้เหมือนตอนแรก เมื่อเราสร้างสรรค์ผลงานใดๆ ขึ้นมาสักชิ้น ก็มีความเป็นไปได้ (หรือความตั้งใจ) ที่เราจะหยิบเอาความทรงจำตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย มาผสมรวมกันแล้วปั้นขึ้นมาเป็นของใหม่
อย่างโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่มีรูปแบบซ้ำกันอย่างนับไม่ถ้วน ดวงตา ใบหน้า คนยืนหันหลัง และอีกสารพัดรูปแบบ ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของการไม่ได้ก็อปนะ แต่จะให้ทำไงล่ะ มันต้องสื่อสารแบบนี้ อยากให้มันออกมาเป็นแบบนี้ จะให้แต่ละโปสเตอร์ไม่สามารถเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกันได้เลยก็คงยาก เมื่อภาพยนตร์บนโลกนี้มีอยู่นับไม่ถ้วนและจะยังมีอีกต่อไปเรื่อยๆ
มันก็เลยไม่มีอะไรเป็นของใหม่อย่างแท้จริง
จะมีก็แต่ของเก่าเอามาเล่าแบบใหม่
แต่การทรีบิวต์ในวงการภาพยนตร์มันอาจไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว
การทรีบิวต์ในภาพยนตร์ เป็นอีกสิ่งที่เราเห็นกันบ่อยๆ เป็นการจงใจหยิบเอาฉาก องค์ประกอบ บางอย่างจากภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมาใส่ในผลงาน เอ๊ะ แล้วมันไม่เรียกก็อปตรงไหน ตรงที่การทรีบิวต์ จะนำเรื่องราว องค์ประกอบที่ว่านั่น ‘มาอย่างชัดเจน’ ว่าเนี่ย หยิบมาใช้เลยนะ จงใจให้เหมือนเลยนะ เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อหนังเรื่องนั้น บางครั้งก็มาแบบเบอร์ใหญ่ หยิบเอาวิธีการเล่าเรื่อง มูฟเมนต์ตัวละครในฉากนั้นๆ บางครั้งก็มาแบบชิ้นเล็กชิ้นน้อย เป็นคำใบ้เล็กๆ สำหรับคนช่างสังเกต
เช่นแบบนี้
แต่การลอกเลียนแบบเนี่ย มันคือการหยิบมาบางส่วน หยิบมาเล็กๆ น้อยๆ เหมือนไม่ได้หยิบ ไม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าหยิบมาแล้วนะ และการแสดงออกสำหรับความน่าสงสัยนี้คือ การบอกว่าไม่ได้ก็อปจ้า ฉันคือเจ้าของความคิดนี้เอง
เอาจริงๆ เราไม่อาจบอกได้ชัดเจน เป็นกฎเกณฑ์ 1 2 3 4 ได้ ว่าเท่านั้นเท่านี้จึงเข้าข่าย ความตั้งใจ หรือเจตนาจึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะให้ผู้ชมตัดสินได้ว่านี่คือทรีบิวต์ หรือตั้งใจลอกเลียนแบบ เพื่อมาเป็นของตัวเองกันแน่ การทรีบิวต์มักจะไม่ค่อยปิดบังกันเท่าไหร่ (เพราะมันคือการตั้งใจใส่ลงไปอย่างชัดเจน) เราอาจสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ตอนดูหนัง หรือได้ฟังบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ แต่การลอกเลียนแบบ ค่อนข้างจะไม่มีความชัดเจนอย่างที่บอกไป
การทรีบิวต์มีในเกือบทุกวงการ เห็นบ่อยๆ ก็ภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม ศิลปะ แต่ละวงการก็แสดงออกถึงความเคารพต่อผลงานแตกต่างกันไปตามรูปแบบของชิ้นงาน และการก็อปไม่ก็อปก็มีอยู่ทั่วทุกวงการเช่นกัน และก็ยังมีการลอกเลียนในเจตนาอื่น อย่าง ‘พาโรดี้ (parody)’ ที่ลอกมาเพื่อล้อเลียนอีกด้วย
มันก็วนกลับมาที่โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของดั้งเดิม ทั้งหมดล้วนเป็นของเก่านำมาเล่าแบบใหม่นั่นแหละ แต่ทรีบิวต์คือการเอาของเขามาเล่าใหม่ด้วยความยกย่องต่อสิ่งนั้น และการก็อปก็คือการหยิบเอาผลงานของคนอื่นมาเป็นของตัวเองเอาดื้อๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก