จากที่เราเคยกล่าวถึงความพยายามเรียกร้องเพื่อให้มีการปฏิรูปวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย ของกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ ไปแล้วนั้น ในวันนี้ทางกลุ่มก็ได้ทำการเปิดเสวนารวมถึงมีการแถลงข่าวที่ใช้ชื่อว่า “ยื่นข้อเรียกร้อง เร่งพาหนังไทยออกพ้นวิกฤติการณ์” ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไปเมื่อเวลาประมาณ 14.00 – 15.00 น. ที่ผ่านมา
ภายในงานกล่าวถึงความล้าหลังเรื่องการสนับสนุนภาพยนตร์ไทยจากรัฐบาล ในขณะที่เกาหลีใต้ แม้องค์กรคนทำหนังนั้นถูกจัดตั้งขึ้นทีหลังบ้านเรา แต่กลับประสบความสำเร็จกว่า ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวว่า ส่วนหนึ่งคนทำหนังต้องพยายามผลักดันวงการของตนเอง เพราะพวกเขารู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไรและด้านใดที่ขาดแคลน
กอลฟ์ -ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (ผู้กำกับหนังเรือ่ง ‘ปั๊มน้ำมัน’) พูดถึง ภาวะด้านรายได้ในปัจจุบัน ซึ่งทางโรงหนังจะได้ค่าตั๋วไป 55% คนเอาหนังเข้าได้ 45% และมีค่า VPF (ค่าธรรมเนียมการฉายดิจิทัล ซึ่งทางผู้สร้างมองว่าเป็นการเก็บแบบไม่เท่าเทียม เนื่องจากโรงหนังมัลติเพล็กซ์เลิกเก็บค่าใช้จ่ายนี้จากหนังต่างประเทศ แต่ยังเก็บจากผู้ผลิตภาพยนตร์ในประเทศอยู่) ต่างหากที่จะถูกหัก คุณกอล์ฟเทียบเคียงเรื่อง ‘ปั๊มน้ำมัน’ ที่ถือว่าฟอร์มดี ฉายงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกมาแล้ว แต่เปิดตัววันแรกได้เพียง 9,000 พันบาท ในขณะที่กระแสปากต่อปากกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ พอครบ 7 วัน หนังกลับถูกถอดออกจนหมดแล้ว เหลือแต่ที่ House RCA ซึ่งเป็นโรงหนังทางเลือกแทน
ด้านชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับหนังเรื่อง ‘ถึงคน…ไม่คิดถึง (From Bangkok To Mandalay)’ ซึ่งลงทุนไป 25 ล้านบาท หนังทำตลาดในตลาดประเทศพม่ามากกว่า เพราะได้ฉายในไทยแค่เพียง 2-3 โรง ถ้าเทียบกับในไทยที่มีโรงฉายราว 1,000 จอ และหากรายได้รวมของหนังไทยปีหนึ่งมีมูลค่า 4,000 ล้านบาท คนทำหนังจะได้รับรายได้ราว 2 ล้านบาทเท่านั้น ชาติชายยังพูดถึงคนดูหนังในพม่าที่มีกลุ่มคนหลากหลายไลฟ์สไตล์ เช่น คนที่ดูหนังตอนเช้าหลังจากพาลูกไปส่งโรงเรียนแล้ว ไม่ได้มีแต่คนทำงานมาดูเท่านั้น เป็นอาทิ
บุญส่ง นาคภู่ ผู้กำกับหนังอิสระ และ นักแสดง พูดถึงสไตล์การนำหนังเข้าฉายแบบเลือกฉายเฉพาะที่ อย่างเรื่อง มหา’ ลัยวัวชน หรือ ธุดงควัตร เขากล่าวว่าคนดูหนังไทยยังมีอยู่แต่คนดูหนังไทยยังไม่ทันตั้งตัว หนังก็ออกจากโรงไปเสียแล้ว จึงต้องนำหนังเข้าฉายเข้าในโซนที่มีคนรอชมแน่นอนก่อน ส่วนการลุกขึ้นมาต่อสู้ครั้งนี้ก็เพื่อให้คนทำงานหนังรุ่นหลังสามารถอยู่ได้ร่วมกัน “วงการหนังไทยตอนนี้ คนต่างอยู่บ้านใครบ้านมัน ไม่มีใครสู้เพื่อคนอื่น ผมเลยต้องลุกขึ้นมา”
ชาติชาย เกษนัส เทียบเคียงว่าคนทำงานในวงการหนังไทยส่วนใหญ่อายุไม่ถึงครึ่งของ Clint Eastwood ก็ต้องเลิกทำกันหมดแล้ว และมีการสอบถามถึงสมาคมผู้กำกับว่าหายไปไหนหมด
เจนไวยย์ ทองดีนอก ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับก็บอกว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ โยกไปทำละครกันแล้ว ก่อนจะพูดถึงเป้าหมายของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยว่า อยากจะผลักดันให้แก้กฎหมายให้ ‘ภาพยนตร์’ เป็น ‘สื่อมวลชน’ ซึ่งเป็นการผลักดันกันมาหลายรุ่นแล้ว เจนไวย์อิงถึงประสบการณ์ตรงจากการสอนวิชาภาพยนตร์ ว่าส่วนใหญ่นั้นอยู่ในคณะที่คาบเกี่ยวกับการทำสื่อสารมวลชนอยู่แล้วด้วย หากผลักดันสำเร็จ จะทำให้การตรวจสอบทั้งจากทางรัฐและเอกชนชัดเจนและง่ายดายขึ้น
ด้านพัชร เอี่ยมตระกูล ตัวแทนจาก HAL ผู้จัดจำหน่ายอิสระ บอกว่าตามปกติจะจำหน่ายภาพยนตร์ขนาดเล็กจากต่างประเทศ และเพิ่งจัดจำหน่ายหนังไทยในโปรเจ็กต์ ‘Long Story Shorts : Lost In Blue ระหว่างเราครั้งก่อน’ ในฐานะคนนำหนังเข้าฉายก็มีความสงสัยว่า
สัดส่วนการแบ่งรายได้มีความเท่าเทียมหรือไม่ในการนำภาพยนตร์ไปฉายในเครือใหญ่ จากที่สัปดาห์แรก หารกันในสัดส่วน 55-45 (โรงหนัง – คนทำหนัง) ต่อจากนั้นจะเป็นสัดส่วน 60-40 ในสัปดาห์ที่สอง และแยกค่าใช้จ่ายด้านภาษีอีกต่างหาก ซึ่งถ้าเทียบกับโรงเล็กเช่น House RCA หรือ Bangkok Screening จะให้หารครึ่ง 50-50 ทั้งรายได้และภาษี ซึ่งถือว่าไม่มีใครเอาเปรียบใคร คำถามที่อยากถามคือ คนทำหนังควรจะได้การทำธุรกิจแบบเท่าเทียมกันทุกโรงฉายหรือไม่
ฝั่งตัวแทนคนดูหนังที่หาดใหญ่ ที่เคยอาศัยอยู่ในหลายๆ จังหวัด ทั้ง กทม. เชียงใหม่ อุดรธานี และตอนนี้อยู่ที่หาดใหญ่ เมื่อเทียบกับสเกลจังหวัดแล้วยิ่งย้ายไปไกลหนังที่เข้าฉายก็ยิ่งน้อยลง ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจไม่ได้ดูบางเรื่อง หรือดูทางอินเทอร์เน็ตแทนไปเลย จนกระทั่งมีกลุ่มคนในจังหวัดรวมตัวกันเปิด Facebook Fanpage ‘เรื่องนี้ฉายเหอะคนหาดใหญ่อยากดู’ ซึ่งในกลุ่มนั้นมีคนที่สามารถพูดคุยกับคนนำหนังเข้ามาฉายในพื้นที่ได้ ซึ่งกลุ่มคนนี้ก็สามารถเจราต่อรองให้นำหนังบางเรื่องวนเข้ามาฉายในจังหวัดด้วยแล้ว ถึงขั้นที่เคยมีการจัดเช่าพื้นที่ด้วยตัวเองก็มี จองล่วงหน้าก็มี หรือทำการเจรากับโรงใหญ่เพื่อเช่าเหมาโรงในการฉายภาพยนตร์เรื่องหนึ่งก็ทำมาแล้ว
ตัวแทนคนดูหนังจากบางแสน พูดถึงประเด็นคล้ายๆ กันกันว่า โรงหนังในพื้นที่ก็จะจำกัดหนังและนำหนังเข้ามาเพียงเล็กน้อย จึงพยายามรวมกลุ่ม จากกลุ่มนักศึกษาสายภาพยนตร์และคนทั่วไปเพื่อเรียกร้องให้นำหนังมาฉายในพื้นที่มากขึ้น
ชาติชาย ย้อนกลับมาพูดว่า รัฐบาลส่งเสริมภาพยนตร์ก็จริง แต่ส่งเสริมหนังเป็นเรื่องๆ ไป หรือโยนเรื่องให้ทางกระทรวงวัฒนธรรมที่จะเน้นแต่หนังแนวรำไทยหรือมวยไทยอยู่ร่ำไป มีการพูดถึงโควต้าหนังฮอลลีวูดของประเทศจีน ที่ทำให้ผู้ลงทุนจีนสามารถกระโดดเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มที่สามารถแข่งขันกับสเกลระดับโลกได้ ส่วนประเทศที่เล็กกว่าอย่างฝั่งทวีปยุโรปที่ในปัจจุบันตลาด On Demand บูมขึ้นก็เริ่มมีการยื่นข้อเสนอไปยังผู้ให้บริการอย่าง Netflix ว่าต้องมีพื้นที่ให้หนังยุโรป 25% เป็นอาทิ
ทั้งนี้ชาติชายยังพูดถึงการฉายหนังในต่างจังหวัดที่โดน ‘สายหนัง’ ตัดสินและเลือกหนังแทนคนดู ส่วนเครือใหญ่ก็มีแค่ 2 ค่ายที่ค่อยเลือกหนังแทนคนดู สตูดิโอผู้สร้างหนังก็ต้องการหนังไทยมากขึ้นส่วนหนึ่งก็เพื่อไว้ถ่วงดุลย์กับค่ายหนังต่างประเทศที่ถึงเวลาแล้วอาจจะขอดึงยอดขายหนังจากโรงมากขึ้น อีกส่วนก็คืออยากจะขอพื้นที่ให้กับผู้สร้างหนังรุ่นใหม่มากขึ้น ชาติชายเชื่อว่าถ้าไม่คุยเรื่องนี้เวลานี้ อีก 3-5 ปี อาจจะมีปัญหานี้อีกแต่จะอยู่ในภาวะสายเกินแก้ ด้านการสนับสนุนจากรัฐบาลชาติชายแจ้งว่าหนังของเขาเองแม้จะฉายในโซน AEC แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แม้ว่าทีมงานในไทยจะเป็นผู้ชำนาญการระดับที่สามารถทำงานในฝั่งฮอลลีวูดได้
หลังจากจบการเสวนา ทั้งหมดก็ร่วมกันประกาศแถลงการณ์จุดยืนของกลุ่ม โดยมีบุญส่ง เป็นตัวแทนและยืนยันว่าเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ระบบต้องชัดเจน เป็นสากลและเชื่อถือได้ การขับเคลื่อนวันนี้คือก้าวแรกและจะมีการก้าวขึ้นไปอีก เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น ซึ่งตัวจดหมายข้อเรียกร้องนี้จะถูกนำไปยื่นให้กับสมาพันธ์ฯ ในวันศุกร์ที่ 13 นี้เป็นการต่อไป
11 มกราคม 2560
เรื่อง ข้อเรียกร้องจากกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ เพื่อการแก้ไขวิกฤติวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเร่งด่วนที่สด
เรียน ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีว่า ปี พ.ศ. 2557 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดภาพยนตร์ทั้งประเทศ 22% โดยมีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้าฉายทั้งสิ้น 166 เรื่อง ทำรายได้จากโรงภาพยนตร์รวมกว่า 3,372 ล้านบาท ส่วนภาพยนตร์ไทยเข้าฉาย 39 เรื่อง ทำรายได้จากโรงภาพยนตร์รวมกัน 927 ล้านบาท โดยประมาณ
จากนั้นได้ลดลงในปี พ.ศ. 2558 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในภาพยนตร์ทั้งประเทศ 18% และในปี พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดภาพยนตร์ทั้งประเทศเหลือเพียง 13% เท่านั้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2559 ภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ทั้งปีนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 245 เรื่อง ทำเงินรวมกันได้ราว 4,127 ล้านบาท ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยเข้าฉายทั้งปี 38 เรื่อง ทำเงินรวมทั้งสิ้น 565 ล้านบาท โดยประมาณ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดกับภาพยนตร์ไทยในขณะนี้ มีความเกี่ยวข้องกับโรงภาพยนตร์โดยตรง กล่าวคือ โรงภาพยนตร์ไทยในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นระบบมัลติเพล็กซ์ ครอบครองจอฉายจำนวนมาก และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของเครือใหญ่เพียงสองเครือ ส่งผลให้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกและจัดฉายภาพยนตร์ในทุกช่วงเวลา เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ที่โรงภาพยนตร์โดยมากทั่วประเทศ จัดฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ (Block Buster) จากฮอลลีวูด ในเวลาพร้อมๆ กัน และเหลือพื้นที่ให้แก่ ภาพยนตร์ไทย ภาพยนตร์ประเทศอื่นๆ เพียงเล็กน้อย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจของภาพยนตร์เหล่านั้นอย่างร้ายแรง
ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ผู้ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์มักจะมีคำอธิบายให้แก่สังคมในลักษณะที่ว่า โรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจจำเป็นต้องสร้างรายได้ ภาพยนตร์เรื่องใดที่มีศักยภาพทำรายได้ ก็ย่อมจะได้รับโอกาสจากโรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยหรือต่างประเทศ นอกจากนั้นหากภาพยนตร์ไทยสามารถสร้างอย่างมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้ชม โรงหนังก็ยินดีจะนำเข้าฉายและย่อมจะสามารถทำรายได้เป็นที่พอใจแน่นอน
ทว่า ในความเป็นจริง ผู้สร้างภาพยนตร์ท้องถิ่นในทุกประเทศทั่วโลกรู้ซึ้งดีว่าคำอธิบายเหล่านี้ไม่ได้สร้างพื้นที่การแข่งขันยุติธรรมอย่างแท้จริงขึ้นในตลาด เนื่องจาก
- ในความเป็นจริงภาพยนตร์ย่อมมีความหลากหลาย เป็นไปไม่ได้ที่ภาพยนตร์ทุกเรื่องจะสามารถลงทุนอย่างมหาศาลจนมีศักยภาพด้านทำรายได้เทียบเท่าภาพยนตร์ Block Buster ในสายตาของโรงภาพยนตร์
- และแม้จะเป็นภาพยนตร์ที่ดูมีศักยภาพพอสมควร ทว่า เมื่อต้องถูกเบียดบังพื้นที่และระยะเวลาในการฉายจากภาพยนตร์ที่ใหญ่กว่าอยู่เป็นประจำ ก็ย่อมยากจะสามารถทำรายได้ระดับสูงหรือแม้ระดับคุ้มทุน จนเอื้อต่อการพัฒนาต่อๆ ไปให้ยิ่งใหญ่ขึ้น หรือดึงดูดผู้ชมให้มากขึ้นได้
อย่างที่กลุ่มต้องกล่าวปัญหาเชิงระยะยาวด้านวัฒนธรรม ที่ผู้ชมชาวไทยจะถูกบั่นทอนโอกาสในการได้รับชมภาพยนตร์อย่างหลากหลายลงเรื่อยๆ เนื่องจากนักการโรงภาพยนตร์ก็จะกลายเป็นพื้นที่ของภาพยนตร์ขนาดใหญ่ยักษ์มากขึ้นทุกทีและมีทางเลือกอื่นน้อยลงทุกขณะ
จะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจในลักษณะดังกล่าวของโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยไม่เพียงไม่ส่งเสริมให้วงการภาพยนตร์ไทยได้เติบโตอย่างเป็นระบบเท่านั้น หากยังกัดกร่อนโอกาสที่วงการภาพยนตร์ไทยจะได้บ่มเพาะสร้างผู้ชมภาพยนตร์ของตนเอง และโอกาสที่สร้างรายได้ตอบแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดคุณภาพให้เติบโตทัดเทียมวงการภาพยนตร์ในต่างประเทศ
ซึ่งหากปัญหานี้ยังถูกปล่อยปละละเลยโดยทุกฝ่ายต่อไป ก็ไม่ต้องสงสัยว่า วงการภาพยนตร์ไทยจะตกอยู่ในภาวะถดถอยล้าหลังประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในเวลาอันใกล้ แม้ว่าเราจะมีบุคลากรที่มีความสามารถในหลากหลายด้านของงานสร้างภาพยนตร์ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จึงเห็นพ้องต้องกัน ที่จะไม่ปล่อยให้วิกฤตินี้ดำเนินต่อไป เราขอเรียกร้องสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ให้แสดงบทบาทในการกอบกู้วงการภาพยนตร์ไทย ตามข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ข้อเรียกร้องสำหรับการดำเนินการระยะเร่งด่วน
ข้อ 1.1 กำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มัลติเพลกซ์ ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2541 มาตรา 9 (5) ได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติไว้ว่า ออกประกาศกำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ตาม (1) บทของนิยามคำว่าโรงภาพยนตร์ ในมาตรา 4 แต่ที่ผ่านมา มาตราดังกล่าวนี้ได้ถูกละเลยปฏิบัติมาโดยตลอด เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จึงขอเรียกร้องให้มีการกำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มัลติเพลกซ์ เพื่อสร้างสภาวะการณ์แข่งขันทางการตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้สร้างทั้งหลาย โดยกำหนดให้โรงภาพยนตร์ทุกเครือในประเทศไทยต้องจัดสัดส่วนการฉายของภาพยนตร์แต่ละเรื่องไม่เกิน 20% ของจำนวนจอทั้งหมดของเครือนั้น (ยกตัวอย่างเช่น โรงภาพยนตร์เครือ A มีจอฉายทั้งหมด 100 จอ จะต้องจัดฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่องไม่เกิน 20 จอต่อเรื่อง ตลอดระยะเวลาการฉาย)
ข้อ 1.2 กำหนดจำนวนรอบและระยะเวลาการฉายในประเทศไทย เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์เรียกร้องให้โรงภาพยนตร์มัลติเพลกซ์ ต้องวางโปรแกรมฉายให้แก่ภาพยนตร์ไทยทุกเรื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อยที่สุดสองสัปดาห์เต็ม นับแต่วันที่เริ่มฉายภาพยนตร์ตามปกติ ไม่นับรวมระยะเวลาการทดลองฉาย หรือที่เรียกว่าระบบ Sneek Peek และในการฉายโปรแกรมปกตินั้นต้องให้รอบการฉายวันละห้ารอบเป็นอย่างน้อย ตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยได้มีโอกาสสร้างรายได้ตอบแทนทันเวลา และได้มีเวลาบ่มเพาะกลุ่มผู้ชมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ข้อ 1.3 ยกเลิกค่าธรรมเนียมการฉายดิจิตอลหรือ VPF และ/หรือ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการฉายภาพยนตร์ทั้งหมดของภาพยนตร์ทุกเรื่อง ค่า VPF เป็นค่าชดเชยการลงทุนเปลี่ยนเครื่องฉายที่โรงภาพยนตร์โยนภาระให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันได้เริ่มมีการยกเลิกการเก็บจากผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศแล้ว แต่บริษัทผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ระดับรองและภาพยนตร์ไทยกลับยังถูกเรียกเก็บอยู่ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่สมควรเก็บในทุกกรณี เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์จึงเรียกร้องให้โรงภาพยนตร์มัลติเพลซ์ยกเลิกการเก็บค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับระบบฉายภาพยนตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะถูกเรียกด้วยชื่อใดจากผู้จัดจำหน่ายทุกรายและกับภาพยนตร์ทั้งหมดโดยทันที
ข้อ 1.4 แก้ไขระบบผูกขาดในระบบธุรกิจโรงภาพยนตร์ นอกเหนือจากโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การบริหารในเครือใหญ่เพียงสองเครือแล้ว ไทยยังมีระบบ สายหนัง ซึ่งควบคุมการจัดจำหน่ายในพื้นที่ภูมิภาคนอกกรุงเทพ และ ปริมณฑล ผลที่เกิดขึ้นคือ การที่โรงภาพยนตร์มีแต่ภาพยนตร์ที่ถูกเลือกเข้าฉายด้วยทัศนะคติและมุมมองอันจำกัดของเจ้าของโรงและสายหนัง ผู้ชมถูกทำให้อยู่ในฐานะผู้บริโภคที่ไม่มีทางเลือกอันหลากหลายอย่างแท้จริง ยังไม่นับรวมถึงการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การกำหนดราคาบัตรของภาพยนตร์ที่สูงขึ้นทุกขณะ ราคาสินค้าอาหารที่สูงขึ้นทุกขณะ การจัดกิจกรรมเสริมของโรงภาพยนตร์ในลักษณะของการค้า เช่น การทำบัตรสมาชิก บัตรลดราคา ซึ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ผู้บริโภคไม่อาจรู้เท่าทัน สภาพการผูกขาดทั้งหมดนี้กำลังทำลายตลาดและวัฒนธรรมของการชมภาพยนตร์ของประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ จึงเรียกร้องให้ คณะกรรมการการแข่งขันการค้าผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการค้า พ.ศ. 2542 เข้ามากำกับดูแลให้การแข่งขันของธุรกิจภาพยนตร์ให้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมทั้งระบบ เพื่อประโยชน์ของผู้สร้างและผู้ชมภาพยนตร์โดยตรง
ข้อ 2. ข้อเรียกร้องสำหรับการดำเนินการระยะต่อไป เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์เรียกร้องให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติมีบทบาทอย่างจริงจัง ในการสร้างกลไกเพื่อการพัฒนาคุณภาพของทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ไทยและผู้ชมภาพยนตร์ไทย ผ่านวิธีการและการดำเนินในลักษณะต่างๆ โดยให้ผู้สร้างภาพยนตร์เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ อาทิเช่น การตั้งกองทุนส่งเสริมผู้สร้างภาพยนตร์ไทย ที่มีเกณฑ์การพิจารณาอย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลงานภาพยนตร์ไทย ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ขณะเดียวกันก็เกิดผู้ชมที่มีรสนิยมอันหลากหลาย มีจิตใจที่เปิดกว้าง สามารถเพาะบ่มวัฒนธรรมของการชมภาพยนตร์ของประเทศไทยได้อย่างแข็งแรง ทัดเทียมประเทศอื่นทั่วโลกอย่างแท้จริง
ในนามของ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ จึงเรียนมาเพื่อขอเรียกร้องให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ในฐานะผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ไทยโดยตรง โปรดแสดงบทบาทในการผลักดัน ให้ข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ ได้ถูกปฏิบัติให้เป็นจริงอย่างเร่งด่วน เพื่อนำพาวงการภาพยนตร์ไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤติที่ร้ายแรง และสามารถเริ่มต้นพัฒนาตนเองอย่างแท้จริงและจริงจัง
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะดำเนินการในประการอื่นต่อไป หากพบว่า สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ยังคงไม่ตอบสนองต่อเรื่องดังกล่าวภายในระยะอันเหมาะสม
ขอแสดงความนับถือ เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์
หลังจบการประกาศแนวทาง กอลฟ์-ธัญญ์วาริน ทิ้งท้ายในรายการว่า
“สิ่งที่เราเรียกร้องวันนี้ เราไม่ได้ทำเพื่อสร้างศัตรู เราต้องการหาแนวร่วม หาทางออกด้วยกันว่าจะทำอย่างไรให้หนังไทยได้อยู่อย่างยั่งยืน การเรียกร้องของเราไม่ได้ลิดรอนสิทธิของคนดูหนังแม้แต่นิดเดียว คนดูยังสามารถเข้าถึงและเลือกชมหนังที่ต้องการได้อย่างเต็มที่ เราแค่ขอให้หนังไทยได้มีพื้นที่ยืนมากขึ้น”