ย้อนกลับไปเมื่อปี 2001 ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 11 กันยายน วันทำงานธรรมดาของที่หลายคนยังเร่งรีบไปทำงาน เดินทางไปโรงเรียน ก่อนมีเสียงดังสนั่นไปทั่วกรุงนิวยอร์ก จากเหตุเครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกแฝดเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ดังขึ้น ตามมาด้วยข่าวคราวที่ระบุว่ามีเครื่องบินอีกลำพุ่งเข้าชนอาคารเพนตากอน ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา และเครื่องบินลำที่สี่ตกลงบนทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งไม่ได้พุ่งกระทบอาคารใด เหตุการณ์ดังกล่าวถูกรายงานออกไปทั่วโลกในฐานะสัญญาณอันตรายจากการก่อการร้ายในยุคปัจจุบันที่อุกอาจเหี้ยมหาญอย่างที่เราเคยคิดว่คงมีอยู่แค่ในภาพยนตร์ แต่ในวันนั้นมันได้กลายเป็นความจริง
เหตุการณ์ดังกล่าวที่ถูกเรียกกันด้วยคำพูดสั้นๆ ติดปากผู้คนว่า 9/11 (ไนน์วันวัน, ไนน์อีเลฟเว่น) ซึ่งในเวลาต่อมาเราเข้าใจมากขึ้นว่านั่นคือการก่อการร้ายโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย อัลกออิดะฮ์ ที่มี อุซามะฮ์ บิน ลาดิน เป็นผู้นำคนสำคัญ ตามมาด้วยการที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้าย (War on Terror) ด้วยการส่งทหารของตนเองบุกเข้าไปในพื้นที่หลายแห่งที่พวกเขาเชื่อว่า บิน ลาดิน ซ่อนตัวอยู่ ก่อนที่ภารกิจไล่จับกุมตัวจะกลายเป็นภารกิจล่าสังหารในภายหลัง ซึ่งข่าวกับข้อมูลที่ประชาชนได้รับก็คือภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายนี้สำเร็จผลไปแล้วเปราะหนึ่ง
จนถึงวันนี้ ผ่านไปหลายสิบปี เราจะเห็นได้ว่ามีภาพยนตร์ที่พูดเรื่องราวของวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 ไม่เยอะมากเท่าใดนัก ซึ่งอาจมีเหตุผลมาจากการที่เรื่องราวนั้นยังกระทบกับหลายๆ คนมากเกินไป แต่ภาพยนตร์ที่มีให้ติดตาม ณ เวลานี้ ก็พูดถึงหลายๆ มุมที่เหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งดังกล่าวส่งผลกระทบ และเราเชื่อว่าแต่ละเรื่องมีความน่าสนใจไม่น้อย จนเราอยากจะแนะนำให้คุณหาโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เหล่านี้กัน
World Trade Center – แด่ผู้คนที่ช่วยเหลือประชาชน ณ อาคารที่ถูกทำลาย
ผู้ที่ออกมาทำหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้คนอย่างเร่งด่วนในเหตุการณ์ 9/11 ก็คือกลุ่มตำรวจ, นักดับเพลิง และบุคลากรในหน่วยงานฉุกเฉินของพื้นที่นิวยอร์ก ที่รีบเข้าไปช่วยคุ้มกันเส้นทางหลบหนีให้คนทั่วไป และในคนเหล่านี้ก็มีกลุ่มคนตะลุยเข้าไปในอาคารเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์ที่ถูกเครื่องบินชน จนบางคนต้องติดค้างอยู่ใต้ซากอาคารที่ถล่มลงมาในภายหลัง ซึ่งตัวหนังจะโฟกัสไปที่สมาชิกสองคนที่ติดอยู่ในซากตึกนับตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเขาไปช่วยผู้คนจนตัวของพวกเขาต้องมารอความช่วยเหลือภายใต้เศษซากอาคารซะเอง
หนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นโดยปรึกษากลุ่มตำรวจ, นักดับเพลิง, ทหาร และบุคลากรในที่เข้ามากู้ภัยหลายต่อหลายคน ผสมกับการแต่งเรื่องเสริมอรรถรสเล็กน้อยเพื่อเป็นการสรรเสริญให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกู้ภัยทุกคนในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001
ถึงหนังจะตั้งใจเก็บข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีจุดหนึ่งที่ผิดพลาดไปอันเป็นผลพวงจากความจำและข้อมูลที่ไม่ชัดเจนก็คือ นักแสดงที่รับบทเป็นทหารนาวิกโยธินที่เข้ามาช่วยตัวเอกในเรื่องทั้งสองคนนั้นเป็นนักแสดงผิวขาว ซึ่งไม่ตรงกับความจริงที่ตัวนาวิกโยธินอย่าง เจสัน โทมัส (Jason Thomas) เป็นคนอเมริกาเชื้อสายอัฟริกา แต่ทีมสร้างหนัง รวมถึงตำรวจสองท่านที่ติดอยู่จำสับสนกับทหารนาวิกโยธินอีกคนหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีดราม่ากับกลุ่มคนทำงานกู้ภัยหลายคนที่มองว่าเรื่องในหนังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ถูกจดจำจากคนดู รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ว่านำเสนอมุมมองของคนธรรมดาที่พอจะมีทักษะอะไรติดตัวอยู่บ้าง แล้วมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าในนาทีนั้นคนที่มีปัญหาอยู่จะเป็นใครก็ตาม
United 93 – เรื่องเล่าจากเที่ยวบินที่ขัดขืนจนนาทีสุดท้าย
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้ในวันที่ 11 กันยายน 2001 และมีคนสร้างภาพยนตร์อุทิศให้ก็คือ กลุ่มผู้โดยสารบนไฟลท์ที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ด ซึ่งเป็นเครื่องบินหนึ่งในสี่ลำที่สมาชิกกลุ่มผู้ก่อการร้าย อัลกออิดะฮ์ พยายามปล้นเพื่อนำเครื่องบินเข้าพุ่งชนใส่สถานที่สำคัญในเมืองนิวยอร์ค แต่กลุ่มผู้โดยสารได้ตกลงร่วมมือกันเข้าต่อสู้กับโจรก่อการร้าย ทำให้เครื่องบินไฟลท์นี้เครื่องบินลำนี้ไปตกที่รัฐเพนซิลเวนเนียแทน แม้ว่าแผนการก่อการร้ายจะถูกระงับไว้ได้ แต่ก็แลกกับการที่ต้องเสียทุกชีวิตบนไฟลท์บินดังกล่าวไปแทน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเขียนบทโดยอ้างอิงจากข้อมูลเท่าที่รายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบเหตุการณ์ 9/11 (9/11 Commission Report) จัดทำเอาไว้ ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นเทปบันทึกการบิน ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ที่ ญาติ ของผู้เสียชีวิตนำมาเสนอเพิ่มเติมให้กับทีมผู้สร้างหนัง ดังนั้นข้อมูลในหนังโดยส่วนใหญ่จึงใกล้เคียงกับความจริง ยกเว้นเหตุการณ์บางส่วนที่ถูกตัดทอนรายละเอียดไป อาทิ การเสียชีวิตของนักบินกับผู้ช่วยนักบิน ที่ในหนังตีความว่าถูกสังหารตั้งแต่โจรก่อการร้ายยึดเครื่องบินเอาไว้ได้ กับ เหตุการณ์ของผู้เสียชีวิตบางคนที่ญาติไม่ยินยอมในการตรวจสอบความถูกต้อง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความชื่นชมอย่างมากโดยเฉพาในหมู่ผู้ชมชาวอเมริกัน ความอินอาจจะมีน้อยกว่าในหมู่ผู้ชมชาติอื่น และนักวิจารณ์บางคนกล่าวด้วยว่าตัวหนังนั้นออกจะดูไม่ให้อะไรเป็นพิเศษนอกจากการเล่าเรื่องตามข้อมูลตรงๆ โดยไม่ได้ดัดแปลงเลย แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นบันทึกที่ชัดเจนเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 9/11
Fahrenheit 9/11 – สารคดีที่ชวนคิดถึงอีกมุมของการต่อสู้ต่อต้านก่อการร้าย
ไมเคิล มัวร์ (Michael Moore) เป็นผู้กำกับสายแซะที่ทำหนังสารคดีจิกกัดการเมืองการปกครองของอเมริกามาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่เขาทำสารคดีวิพากษ์การได้ปืนแสนง่ายของมะกันชนในเรื่อง Bowling For Columbine ไปจนถึงสิ่งที่อเมริกาควรไปยึดมาใช้งานเองในเรื่อง Where To Invade Next
ส่วนในภาพยนตร์เรื่อง Fahrenheit 9/11 เขาได้พยายามบอกเล่าเรื่องของ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีในช่วงที่เกิดเหตุ 9/11 ว่ามีการถือผลประโยชน์อะไรทับซ้อนกับการมีตัวตนอยู่ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์ ก่อนพาดโยงไปจนถึงสิ่งที่รัฐบาลอเมริกาได้จากการบุกเข้าโจมตีหลายๆ ประเทศ และรวบตึงเข้าในช่วงท้ายว่ารัฐบาลอเมริกาส่งทหารไปโดยมีเหตุผลไม่ชัดแจ้งบ่อยเกินไป และสุดท้ายประชาชนคนหมู่มากเท่านั้นที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของชนชั้นผู้นำ
ภาพยนตร์ได้รับการตอบรับอย่างดีในช่วงที่ฉาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีการออกมาโต้แย้งว่ามุมมองในสารคดีมีบางส่วนที่เลือกเล่าอย่างบิดเบือน อย่างกรณีที่หนังบอกเล่าว่าในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 จอร์จ ดับบลิว บุช ทำการอ่านหนังสือให้เด็กๆ ในโรงเรียนประถม จนเหมือนไม่ใส่ใจโลกภายนอก ก็มีการมาถกเถียงว่า แม้จะดูไม่เร่งรีบก็ออกจะดูดีกว่าแสดงอาการตื่นตูมออกให้เห็นในภาวะที่สถานการณ์ไม่แน่ชัด เป็นอาทิ
ถึงหนังจะมีดราม่าช่วนโต้แย้งอยู่เยอะว่าข้อมลถูกหรือไม่ แต่จุดที่สำคัญที่สุดของการมีภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ก็คือการที่เราได้เห็นการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ และต่างฝ่ายก็ต่างก็หยิบเอาข้อมูลในมุมของตนมานำเสนอและถกเถียงกันอย่างเปิดเผยระดับหนึ่งนั่นเอง
Reign Over Me – ผู้มีอาการ PTSD จาก 9/11 ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ
9/11 ก่อความเสียหายให้คนเราในทางใดทางหนึ่ง โชคดีหน่อยเราก็แค่เสียดายที่ไม่ได้เห็นตึกสำคัญที่โดดเด่นในนิวยอร์คด้วยตาตนเอง ส่วนคนที่โชคร้ายหนักนั้นต้องเสียสมาชิกครอบครัวไปในเหตุการณ์ดังกล่าว จนเหลือแค่ตัวคนเดียว และก็มีภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เล่าเรื่องของคนโชคร้ายแบบนั้น
Reign Over Me เริ่มต้นเรื่องในปี 2006 เมื่อ อลัน ทันตแพทย์ที่ดูประสบความสำเร็จในชีวิตได้มาพบกับ ชาร์ลี เพื่อนเก่าโดยบังเอิญ ซึ่งหมอฟันคนนี้ก็สังเกตได้แทบจะทันทีว่าเพื่อนที่เคยประสบความสำเร็จในการงานคนนี้ตอนนี้ใช้ชีวิตแบบมอซอ พร้อมที่จะฟังเพลง เล่นเกม เล่นดนตรี ทั้งวี่ทั้งวัน เหมือนกับเด็กนักเรียนปิดเทอม เพื่อหลบหนีความจริงที่ว่า ชาร์ลี ได้เสียสมาชิกครอบครัวคนอื่นไปในเหตุการณ์ที่เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกแฝด มิหนำซ้ำ เขายังเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการรักษากับจิตแพทย์มาโดยตลอด โชคดีเล็กน้อยที่การได้พบเพื่อนเก่า ทำให้ อลัน ได้กลับมาเข้าใจว่าอะไรที่ตัวเองขาดหายและพยายามหาทางรักษา ชาร์ลี เพื่อให้เขากลับมายอมรับความจริงและสามารถใช้ชีวิตในสังคมตามปกติได้อีกครั้ง
ปกติเรามักเห็น อดัม แซนด์เลอร์ มารับบทบาทในหนังแนวโปกฮา แต่ในเรื่องนี้ถึงตัวละครที่เขาแสดงยังมีนิสัยแบบเด็กๆ เขาก็แสดงบทบาทนี้ในลักษณะคนที่มีอาการ PTSD หรือ ภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรงระยะหนัก แม้ว่าหนังจะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้มากนัก แต่การที่เราได้เห็นผู้สร้างหนังที่คำนึงว่า แม้เวลาจะผ่านไปนาน ก็ยังมีอีกหลายๆ คนที่ทรมานกับการสูญเสียจนอาจก้าวข้ามเรื่องเหล่านั้นด้วยตนเองไม่ได้ การยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นอาจจะเป็นคำตอบที่ดีไม่น้อย
Extremely Loud & Incredibly Close – ความทรงจำของเด็กชาย บิดา 9/11 และชาวนิวยอร์ก
ออสการ์ เด็กชายที่มีกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ มักจะถูกพ่อชวนเล่นเกมขุดค้นหาสมบัติ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการฝึกฝนลูกชายให้คุ้นเคยกับการเข้าสังคมใหญ่ ปริศนาสุดท้ายที่พ่อของเด็กชายทิ้งไว้ก็คือการค้นหา ‘เขตที่หกของนิวยอร์ก’ ก่อนที่ผู้เป็นพ่อจะเสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 ซึ่ฃเหตุการณ์นี้ทำให้เด็กชายกับแม่คุยกันน้อยลง เพราะแม่ไม่สามารถอธิบายให้เด็กชายที่มีกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ได้ว่าอะไรทำให้พ่อของเขาตายไป เรื่องบังเอิญเกิดขึ้นเมื่อออสการ์ทำแจกันที่พ่อเก็บไว้ตกแตก แล้วพบกุญแจดอกหนึ่งที่เขาคิดว่าเป็นสมบัติที่พ่อทิ้งให้ไว้ การหาสมบัติครั้งสุดท้ายจึงเริ่มขึ้น แล้วการหาสมบัติครั้งสุดท้ายของ ออสการ์ นี่เองที่พัดพาเอาความทรงจำทั้งดีและร้ายสู่ชาวนิวยอร์กที่ช่วยเขาไขปริศนา และสมบัติชิ้นที่พวกเขาทุกคนได้รับคือการเยียวยาต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นของชาวเมืองแห่งนี้
จากจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ที่เหมือนเล่าเรื่องส่วนตัวของครอบครัวสมมติครอบครัวหนึ่ง ค่อยๆ ขยายเป็นเรื่องราวของชาวนิวยอร์กที่ลึกลงไปทุกคนก็มีความหวาดกลัวและเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวเมืองแห่งนี้ เพียงแค่พวกเขาไม่อาจสามารถเรียบเรียงคำพูดออกมาแบบชัดถ้อยชัดคำได้ เมื่อเรื่องของหนังใช้เด็กที่มีกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์มาเป็นคนเล่าเรื่อง ก็เหมือนทำให้ทุกคนได้แสดงอารมณ์ในใจได้อย่างละเอียดขึ้นตามวิธีการพูดของตัวเอก และหนังก็เล่าเรียงความสัมพันธ์กับความทรงจำของคนในเมืองให้คนดูที่ต่อให้ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ก็สามารถน้ำตาไหลรินได้กับเรื่องราวที่บอกเล่าในหนังได้
Brick Lane – ผลกระทบของ 9/11 ต่อชนชาติอื่น
หนังเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าจะเป็นผลงานที่มีเรื่องราวอยู่ในอเมริกาเป็นหลัก ส่วนภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์จากเกาะอังกฤษ และยังโฟกัสไปยังชีวิตของชาวอังกฤษเชื้อสายบังกลาเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ผ่านมุมมองของ นาซนีน หญิงสาวชาวบังกลาเทศที่ถูกบังคับแต่งงานและย้ายมาอาศัยอยู่ในอังกฤษตั้งแต่อายุ 18 ปี หลังจากที่เธอยินยอมทำตัวตามคำพูดคนอื่นมาตลอด 20 ปี เธอก็ได้เจอผู้ชายอื่นนอกจากสามีจนเผลอมีสัมพันธ์ แต่เมื่อเหตุการณ์ 9/11 ได้เกิดขึ้นในอเมริกา คนในสังคมย่อยของเกาะอังกฤษก็พาลลำบากไปจากการถูกเหมารวมแล้วเริ่มรวมตัวกันเพื่อปกป้องตัวเองด้วยกำลังมากขึ้น แต่จุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์นี้ก็ทำให้ นาซนีน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยเช่นกัน
เราอาจคิดว่าเหตุการณ์ 9/11 ส่งผลกระทบชัดเจนกับชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในช่วงนั้น (หรือแม้แต่ในตอนนี้) ต่างได้รับผลกระทบจากคนที่นับถือศาสนาเดียวกันซึ่งพวกเขาไม่รู้จักกระทำเอาไว้ และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เอาประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศมาช่วยโฟกัสว่า ชายชาวมุสลิมในเรื่องนั้นจากเดิมทีที่ไม่คิดต่อสู้ด้วยกำลัง ก็จำต้องมาป้องกันความรุนแรงจากกลุ่มเหยียดผิวด้วยการรวมกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง คนที่อยากให้ความสงบต่อสู้กลับต้องเป็นผู้ถอยหนีจากหน้าสังคม ส่วนหญิงสาวที่เคยนิ่งเงียบให้กับทุกสิ่งอย่าง นาซนีน ก็เริ่มพูดในสิ่งที่เธอรู้สึกออกมาให้คนรอบตัวได้เห็นบ้าง แม้ว่าตอนจบของหนังจะดูเป็นฉากที่มีความสุขเพราะนาซนีนได้ทำตามสิ่งที่ใจคิด แต่ภาพก็เฟดดำลงไปจนชวนให้คิดว่าอนาคตหลังจากนั้น เธออาจพบกับปัญหาอีกมากมายก็ได้ และความเปลี่ยนแปลงนั้นก็มาจากเหตุก่อการร้ายในดินแดนอีกฟากทะเล ที่สุดท้ายกลับกลายเป็นแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก
11’09″01 September 11 – เมื่อพูดถึงช่วงเวลานั้น ผู้คนบนโลกคิดเห็นอย่างไร
สำหรับคนอเมริกัน นี่คือช่วงเวลาที่พวกเขาจะจดจำไปตลอดกาล สำหรับผู้ที่มีญาติพี่น้องเสียชีวิต มันคือเหตุที่พวกเขาต้องการรับรู้ว่าความจริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วสำหรับคนชาติอื่นๆ หรือคนที่ไม่ได้เสียใครไปในเหตุการณ์ 9/11 พวกเขาจะคิดเช่นไร ?
เรื่องราวเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่รวมเอาคนทำหนังจาก 11 ชาติ มาบอกเล่าเรื่องราว 11 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับวันที่ 11 เดือนกันยายน ด้วยเหตุนี้ตัวภาพยนตร์จึงออกมาหลายแบบหลากสไตล์ และมีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน บางชาติก็รู้สึกมันกระทบกับพวกเขาไม่แพ้กับคนอเมริกัน บางชาติก็รู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวอะไรเท่าไหร่ บางชาติก็คิดว่าตัวเองวุ่นวายกับเหตุรุนแรงในบ้านเกิดก็เกินพอแล้ว บางชาติอาจเจ็บช้ำมากกว่าเพราะพวกเขาทั้งชาติโดนกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
ผลงานที่น่าจดจำในหนังชุดเรื่องนี้สำหรับเราก็มีผลงานของ Claude Lelouch จากฝรั่งเศสที่เล่าเรื่องคู่รักที่ฝ่ายหนึ่งเป็นหญิงสาวหูหนวกที่ทะเลาะกับคนรักที่ออกไปทำงานที่ตึกเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ เนื่องจากเธอไม่สามารถได้ยินเสียงข่าวในทีวีได้ เธอจึงไม่ทราบเลยว่าเหตุร้ายได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าเธอไม่ได้ตั้งใจปิดกั้นตัวเองจากข่าวก็ตามที หรือผลงานของ ฌอน เพนน์ (Sean Penn) ที่เล่าเรื่องชายชราที่ยังอาลัยรักต่อภรรยาที่จากไป จนคอยพูดจากับผู้หญิงที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งถ้ามองจากมุมหนึ่งเขาคงเป็นคนที่เริ่มเสียสติสัมปชัญญะไป จนกระทั่งวันหนึ่งที่แดดส่องลงมายังห้องของเขา ทำให้ดอกไม้ในกระถางที่ภรรยาเคยปลูกเบิกบานอีกครั้ง… เช้าที่ชราดีใจที่สุด และเป็นเช้าที่เขาระลึกได้ว่าภรรยาไม่อยู่แล้ว มันเป็นวันเดียวกันกับที่ตึกแฝดถล่มจนไม่บังทางแดดที่สาดมายังห้องนั่นเอง และผลงานของ เคน โลช (Ken Loach) ที่เล่าเรื่องของชายชาวชิลีที่หนีมาอาศัยในอังกฤษ ที่กำลังระลึกความหลังและเขียนจดหมายบอกเล่าอเมริกาเกี่ยวกับเหตุการณ์ วันที่ 11 เดือนกันยายน ของปี 1973 ที่อเมริกาเข้ามาแทรกแซงการรัฐประหารในชิลี และผลของเรื่องนั้นทำให้เกิดการสังหารโหด ทำให้ชาวชิลีส่วนหนึ่งต้องละทิ้งบ้านเกิด สิ่งที่เขาร้องขอในตอนท้ายก็คือ ขอให้อเมริกันชนจดจำเหตุร้ายแรง ที่เกิดขึ้นในชิลี เฉกเช่นเดียวกับที่พวกเขาจดจำเหตุร้ายแรงที่พวกเขาประสบเช่นกัน
ภาพยนตร์ชุดนี้ได้รับรางวัลจาก UNESCO ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิสในปี 2002 และยังบ่งบอกได้ดีว่า โลกยังต้องการการพูดคุยกันมากกว่านี้ เพื่อความเข้าใจต่อกันและกันที่มากขึ้นในภายภาคหน้า เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมีเหตุการณ์แบบวันที่ 11 เดือนกันยายนปี 2001 เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ใดบนโลกใบนี้ก็ตามที
Illustration by Kodchakorn Thammachart