ช่วงนี้น่าจะไม่มีใครไม่รู้จัก บุพเพสันนิวาส ละครที่ดัดแปลงมาจากนิยายอิงประวัติศาสตร์ของไทย ได้กลายเป็นกระแสฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าความสำเร็จของละครนั้นเกิดจากการตั้งใจทำงาน ไม่ดูถูกคนดู มีการยอมรับปัจจัยบางอย่างที่ทำให้ซีรีส์หรือละครต่างชาติได้รับความนิยมในบ้านเรา มาผสมกับความเป็นละครไทยที่ยังต้องมีเรื่องราวความรัก กับปัญหาดราม่าในครอบครัวคู่พระนางอย่างลงตัว
และในช่วงเดียวกันนี้เอง ผมยังได้พบว่ามีละครไทยอีกหลายเรื่องที่ออกมาแล้วมีความตั้งใจในการทำงานรวมถึงเก็บข้อมูลอย่างดี แถมยังนำเสนอเรื่องกลุ่มสังคมย่อยอย่างกลุ่มโอตาคุได้เป็นอย่างดี ไม่เลือกนำเสนอในเชิงดูถูกอย่างที่หลายๆ เรื่องชอบทำกัน แถมยังใส่รายละเอียดปลีกย่อยให้ปรากฎในเรื่องอีกมาก จนผมเองรู้สึกว่า นี่อาจเป็นนิมิตหมายอันดีของการทำละครในบ้านเรา
ละครเรื่องนั้นคือเรื่อง Notification เตือนนัก..รักซะเลย ซึ่งผมจะขอนำมาพูดถึงกันในวันนี้รับช่วงหลังวันหยุดยาวครับ
ขอต้อนรับสู่โลกของโอตาคุ ความรัก และการทะลุเวลา
เรื่องราวของ Notification เตือนนัก..รักซะเลย เริ่มขึ้นจากการที่มิน (แสดงโดย อาย กมลเนตร เรืองศรี) โอตาคุสายวาดการ์ตูนที่มีลุคภาคนอกสุดเนิร์ด ไปทำรายงานของมหาวิทยาลัยกับเพื่อนอีกสองคนในกลุ่ม คือ ซอนญ่า (แสดงโดย ขญาณี ฉลาดธัญญกิจ) โอตาคุสายข้อมูลและชอบเขียนไลท์โนเวล กับ ต๋อง (แสดงโดย ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์) ชายหนุ่มคนเดียวในกลุ่มที่เป็นโอตาคุสายโมเอะและเหมือนจะสนสาว 2D มากกว่า
ระหว่างที่ทำงานกันอยู่นั้น ต๋องก็ดันทำมือถือของ มิน พังจนใช้งานไม่ได้ และซอนญ่าก็ค้นในห้องจนเจอมือถือสำรองที่กลับมีความแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งก็คือ มือถือเครื่องสำรองนั้นดันมีโนติฟิเคชั่นที่แจ้งว่า มิน ได้เป็นแฟนกับ นภัทร (แสดงโดย วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์) รุ่นน้องสุดหล่อขวัญใจทั้งมหาวิทยาลัย มาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้ว ทั้งๆ ที่หนุ่มหล่อคนนี้ไม่น่าจะมีโอกาสมารู้จักมักจี่โอตาคุแบบมินได้ จนกระทั่งวันถัดมาที่โอตาคุทั้งสามได้พบว่า นภัทร มาร่วมเรียนคลาสเดียวกับพวกเขา นั่นหมายความว่า โนติฟิเคชั่นที่เด้งมานั้นเป็นข้อความจากอนาคต
แต่เมื่อข้อความนั้นมาจากอนาคต นั่นก็หมายความว่ามันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความชุลมุนวุ่นวายปั่นปวนหัวใจจึงเริ่มต้นขึ้น
ลงทุกดีเทลของความเป็นโอตาคุ
ผลงานละครเรื่องนี้เป็นงานการสร้างของ ภาพดีทวีสุข ทีมงานที่เคยทำ สารคดี Let Me Grow พลิกชีวิตเด็กติดเกม และก็มีละครหลายเรื่องอย่างเช่น The Collector คนประกอบผี ที่ตัวงานเหล่านี้บอกกล่าวได้ว่า ผลงานของทีมผู้สร้างทีมนี้ค่อนข้างละเมียดในการพูดถึงกลุ่มคนกระแสรองได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในเรื่องนี้ทางทีมงานก็ยังทำงานออกมาได้อย่างดี ตั้งแต่ฉากแรกที่เปิดตัวละครมาก็ระบุถึงรายละเอียดความชอบของตัวละครแต่ละตัวอย่าง มิน ที่ชอบเขียนการ์ตูนก็มีระบุไว้ในเรื่องว่า ตัวเธอมีเส้นต้นแบบมาจากงานของ อาจารย์โฮชิโนะ คัทสึระ ผู้เขียนมังงะเรื่อง D.Gray-man, ซอนญ่า ที่เป็นสายข้อมูลก็มีบทชัดเจนว่า เธออ่านหมดทุกแนวตั้งแต่ คำสาปฟาโรห์ ไปจนถึงงานของ อ.จุนจิ อิโต้ และ อ.เทะสึกะ โอซามุ, ต๋อง ที่พูดคุยด้วยศัพท์แสงของชาวโอตาคุเป็นระยะ อย่างในตอนที่ นภัทร ไปเล่นเทนนิส เขาก็แขวะว่า “เก่งจริงมึงใช้เทะสึกะโซน ให้กูดูสิ”
ความโอตาคุยังปรากฎอยู่ตามฉากหลังของเรื่อง นับตั้งแต่ห้องนอนและร้านประจำของสามตัวละครโอตาคุที่มาเต็มทั้งโปสเตอร์, ฟิกเกอร์ รวมถึงหนังสือการ์ตูนต่างๆ, การนำเสนอในฉากทั้งหลายทั้งตัวบทพูดที่ตั้งใจใช้คำเฉพาะทาง, การตัดต่อในหลายซีนก็ชวนให้นึกถึงการ์ตูน หรือบางจังหวะก็ตัดไปเป็นซีนอนิเมชั่นง่ายๆ ไปเลย และเมื่อสังเกตดีเทลพวกของประกอบฉากก็พบว่า สินค้ามีทั้งส่วนที่เป็นสินค้าจริงที่มักจะถูกอ้างอิงในเรื่อง อย่างหนังสือการ์ตูนเรื่อง Orange, Path Of Fujiko Fujio ที่ถูกอ้างถึงในฐานะการ์ตูนที่มีการส่งข้อความจากอนาคตไปยังอดีต
หรือ ของใช้ในเรื่องอย่างถุงผ้าของซอนญ่า (ตัวละครในละคร) ที่เป็นรูปตัวละคร ซอนญ่า จากการ์ตูนไทย ครอบครัวเจ๋งเป้ง และอีกส่วนที่ผมได้ทราบภายหลังก็คือ สินค้าม็อคอัพเพื่อมาใช้ในเรื่องเท่านั้น อย่างเรื่อง Blue Cosmos กับ Venus Sphere
อีกส่วนนอกจากด้านข้อมูลสายการ์ตูนที่ถูกต้อง ก็ยังมีรีแอคชั่นของตัวละครคนทั่วไปที่ปฏิบัติต่อกลุ่มสามตัวละครโอตาคุ อย่างเช่น ตัวประกอบในเรื่องที่จะแสดงความแปลกใจจนถึงขั้นชี้นิ้วให้ดูพฤติกรรมโอเวอร์แอคติ้ง หรือ ตัวละคร ลลิน (แสดงโดย สุพิชชา สุบรรณพงษ์) ที่ถือว่าน่าจะเป็นตัวละครขวางทางรักของคู่พระนาง ที่ว่ากระทบถึงงานการ์ตูนว่าไม่ใช่งานศิลป์ที่เหมาะสมกับงานสถาปัตย์ฯ
แน่นอนว่ามันอาจจะเป็นการกระทำที่ดูแล้วไม่ดีแต่การนำเสนออย่างตรงไปตรงมาทั้งสองฝั่งก็ทำให้เห็นในมุมมองบุคคลที่ 3 ขึ้นมาว่า แท้จริงคนอาจจะไม่ได้รังเกียจโอตาคุ พวกเขาแค่ไม่เข้าใจความชอบ และในทางกลับกันคำพูดที่แสดงถึงความไม่เข้าใจก็เป็นการเข้าไปทำร้ายจิตใจของผู้ที่ชื่นชอบอะไรอย่างตรงมาตรงไปเหมือนกัน
หรือวัฒนธรรมโอตาคุจะเข้ามาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักแล้ว ?
เมื่อพบว่าละครเรื่องนี้จัดหนักจัดเต็มเรื่องวัฒนธรรมโอตาคุ งั้นหมายความว่า วัฒนธรรมนี้กลายเป็นกระแสหลักแล้วใช่ไหม ?
ประเด็นนี้อย่าว่าคนไทยเลยครับ แม้แต่ชาวต่างชาติยังเคยพูดมาแล้ว เนื่องจากมีเซเลปดังๆ อย่าง Kim Kardashian ที่ชอบรับชมอนิเมะแม้แต่เรื่องในเทรนด์ปัจจุบันอย่าง DARLING in the FRANXX หรือดาราดังอย่าง John Boyega ก็ออกตัวมาว่าเป็นแฟนของเรื่อง นารุโตะ และเพิ่งตกหลุมเป็นแฟนกันดั้มมาไม่นานนัก หรือถ้าเอาดาราในไทยก็มีตัวอย่างแบบ เกรท วรินทร ที่มีห้องเก็บฟิกเกอร์ P.O.P. ของเรื่อง One Piece โดยเฉพาะ เป็นต้น
คำตอบโดยส่วนตัวของผมคงบอกได้ว่า การ์ตูนเป็นสือบันเทิงที่คนรู้จักกันทั่วแล้ว แต่ ‘วัฒนธรรมโอตาคุ’ ที่ต้องคุยเรื่องการ์ตูนในแบบลงลึก ตามเก็บสินค้าที่เกี่ยวกับการ์ตูนอย่างดุเดือด แบบนี้คงยังถือว่าเป็นกระแสรองแน่นอนครับ
ถ้ายกตัวอย่างจากละคร Notification เตือนนัก..รักซะเลย ก็มีหลายต่อหลายอย่างที่คนดูทั่วไปยังจะงงๆ กัน อย่างคำพูดหลายคำในเรื่อง คนทั่วไปก็น่าจะงงกันอยู่ไม่น้อง (อย่างคำว่า โมเอะ / โลลิ เป็นอาทิ) โชคดีคือ คุณปัฏฐา ทองปาน ผู้กำกับของเรื่องเข้าใจการสร้างละครให้คนทั่วไปสามารถดูได้อย่างสนุสนาน และในขณะเดียวกันผมเชื่อว่าตัวผู้กำกับก็มีความเป็นโอตาคุอยู่ในตัวไม่มากก็น้อย จึงสามารถผสมเรื่องราวสองด้านออกมาได้อย่างลงตัว
งั้นละครเรื่องนี้จะพาเราไปที่ไหน? เรามั่นใจว่าละครเรื่องนี้คงไม่สามารถพากระแสโอตาคุให้ไปไกลแบบที่ละครบุพเพสันนิวาสทำ คือจุดกระแสความเป็นไทยให้บูมขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ละครเรื่องนี้จะมอบให้กับคนดูอย่างแน่นอนก็คือการหาจุดตรงกลางระหว่างโอตาคุกับคนที่ไม่ใช่โอตาคุ เพื่อให้ทั้งสองฝั่งได้เข้าใจซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้นนั่นล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก