เพราะตัวละครคือส่วนประกอบที่สำคัญมากๆ ในเรื่อง เป็นสิ่งที่ทำให้คนติดตามเพราะจะช่วยทำให้เราเห็นภาพว่าชีวิตของคนคนหนึ่งจะเป็นยังไง เขามีชีวิตแบบไหน พบเจออะไรกันมาบ้าง ซึ่งการสร้างพื้นเพของตัวละครให้สมจริงก็น่าจะมีส่วนทำให้คนดูรู้สึกสนุกไปด้วยได้
The MATTER เลยอยากลองสำรวจดูว่าในปี 2019 นี้ตัวละครในทีวีไทยทั้งชาย หญิง LGBTQ ที่มีบทบาทเป็นทั้งตัวละครหลักและตัวร้ายนั้นทำอาชีพอะไรกันบ้าง โดยสำรวจจากละครที่ฉายช่วงไพร์มไทม์ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีเรทติ้งการดูสูงสุด และเก็บข้อมูลละครที่ฉายจนจบบริบูรณ์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนจาก 5 ช่อง ได้แก้ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 8 ช่อง GMM TV ช่อง ONE ช่อง PPTV
สำหรับตัวละครในช่องต่างๆ นั้นก็ยังคงเน้นไปที่เรื่องราวของคู่ชาย-หญิงมากกว่าซึ่งนับเป็น 98% (ในที่นี่เราสำรวจเฉพาะละครที่ฉายออกอากาศทางโทรทัศน์เท่านั้น) และจากผลสำรวจสนุกๆ ของเราก็ยังพบว่าจริงๆ แล้วตัวร้ายมีเพศชาย 50% เพศหญิง 48% และเป็น LGBTQ 2%
และที่เราสนใจมากที่สุดคือเรื่องอาชีพการงานของตัวละครที่หลายคนมักพูดกันว่า “นี่วันๆ พวกเธอไม่ทำงานกันรึไงถึงได้ว่างมาทำอะไรกันแบบนี้” ซึ่งผลสำรวจของเราก็พบว่าจริงๆ แล้วในละครไทยมีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น เราพบอาชีพอย่าง นักออกแบบผลิตภัณฑ์ สตั๊นท์แมน นักวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ฟรีแลนซ์ด้วย
ดูเหมือนว่าละครไทยพยายามนำเสนออาชีพผ่านตัวละครอย่างหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้เดินไปเดินมาเหมือนกับว่าว่างงานเสียทีเดียว อย่างน้อยก็มีละครที่บอกว่าพยายามนำเสนอการทำงานของอาชีพนั้นๆ ขึ้นมาบ้างไม่ว่าจะเป็น ‘หมอฉุกเฉิน’ ในเรื่อง รักติดไซเรน ‘นักจิตวิทยาเด็ก’ ในวัยแสบสาแหรกขาด หรือ TEE ใครทีมันส์ ที่กำลังฉายตอนนี้ก็พยายามเล่าเรื่องของนักโปรกอล์ฟอีกด้วย
ชวนไปดูว่าในปี ค.ศ. 2019 นี้ตัวละครไทยนั้นยังสุขสบายดีอยู่มั้ย แล้วพวกเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง?
ตัวละครชาย
ถึงแม้จะมีความหลากหลายมากขึ้น มีอาชีพที่ถูกกล่าวถึง 20 อาชีพ แต่อาชีพอันดับหนึ่งสำหรับตัวละครชายหลักยังคงเป็น ‘นักธุรกิจ’ ที่มีกิจการเป็นของตัวเอง ซึ่งในละครนั้น บางเรื่องก็ระบุชัดเจนว่าเป็นธุรกิจแบบใด เช่น ธุรกิจขายน้ำสมุนไพร เจ้าของโรงแรม แต่บางเรื่องก็ไม่ได้บอกกล่าวมากนักนอกจากเดินเข้าบริษัทหรือเซ็นเอกสาร ตามมาด้วยอาชีพ ‘ตำรวจ’ เป็นอันดับสอง และอันดับสามคือยังคงเป็น ‘นักเรียน/นักศึกษา’
แต่ก็มีอาชีพอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น นักออกแบบอัญมณี หรือคนออกแบบผลิตภัณฑ์ สตั้นท์แมน และในตัวละครชาย ไม่มีใครที่ไม่ประกอบอาชีพหรือว่างงานเลย
ตัวละครหญิง
ทางฝ่ายตัวละครหญิงมีอาชีพทั้งหมด 27 อาชีพ ซึ่งนับว่าหลากหลายกว่าตัวละครชาย โดยอันดับหนึ่งก็ยังคงเป็นการทำธุรกิจส่วนตัว แต่น่าสนใจว่า อันดับที่สองคือ ว่างงานหรือไม่ได้ทำงานอะไร บางตัวละครเป็นเพียงลูกสาวกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน และอันดับสามคือการเป็นนักเรียน/นักศึกษา
แต่ในปีนี้มีการนำเสนอตัวละครหลักเป็นโสเภณี อย่างละครเรื่อง ‘กรงกรรม’ หรือดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหญิงเป็นหลักอย่าง ‘วัยแสบสาแหรกขาด’
ผู้หญิงยังได้รับบทเป็นผี/วิญญาณ มากกว่า และบทบาทที่ยังต้องปลอมตัวเป็นชายก็ยังพบได้อยู่ด้วยเช่นกัน
LGBTQ
ตัวละคร LGBTQ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงหลายปีนี้ และมีบทบาทสำคัญๆ ในซีรีส์ ส่วนละครนั้นก็เริ่มมีการให้พื้นที่ของ LGBTQ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
มีงานวิจัยพบว่ากลุ่มผู้ชมเห็นด้วยมากถ้าละครเรื่องใดไม่มีตัวละครรักร่วมเพศละครเรื่องน้ันจะไม่สนุกสนาน และการนำเสนอตัวละครรักร่วมเพศในละครโทรทัศน์บ่อยๆ ทำให้สังคมมองเรื่องรักร่วมเพศเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ยังมีการนำเสนอว่าความรักของกลุ่ม LGBTQ นั้นไม่ค่อยจะสมหวัง มีเพียงส่วนน้อยที่จบอย่างมีความสุข และความสนุกจากการมีตัวละคร LGBTQ ก็อาจจะทำให้ภาพของคนกลุ่มนี้ถูดมองอย่างผิดเพี้ยนไปว่าต้องเป็นคนเอนเตอร์เทนเท่านั้น
ในการสำรวจครั้งนี้มีเพียงละคร 2 เรื่องที่ตัวละครหลักเป็น LGBTQ คือ ทฤษฎีจีบเธอ ของช่อง GMM TV และ ใบไม้ที่ปลิดปลิว ของช่อง One นอกนั้นมักได้รับบทเป็นตัวประกอบ เช่นเป็นคนในที่ทำงาน หรือเพื่อนสนิทของนางเอก และส่วนมากมักเป็นกะเทย เกย์ และทอม
ส่วนอาชีพของ LGBTQ มีทั้ง ข้าราชการ พนักงานบริษัท ช่างแต่งหน้า สไตล์ลิสต์ในค่ายเพลง เจ้าของร้านเหล้า ผู้จัดการของนางแบบ
ตัวร้าย
สำหรับตัวร้ายเองนั้นมีอาชีพด้วยกัน 25 อาชีพที่ปรากฏในปีนี้ อันดับหนึ่งยังคงเป็น นักธุรกิจ ที่เป็นธุรกิจสีเทาหรือผิดกฎหมายเป็นหลัก ตามมาด้วยอันดับสองคือ ว่างงาน และอันดับสามคือไม่ทราบอาชีพแน่นอนเนื่องจากไม่มีการระบุรายละเอียดชัดเจนของละคร หรือไม่ก็เป็นเจ้าขุนมูลนายจากในละครพีเรียด
โดยปมปัญหาของตัวร้ายมีทั้งความขัดแย้งทางอุดมการณ์กับตัวละครหลัก นอกจากนี้คนร้ายยังคงถูกนำเสนอว่าต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมายเช่น ค้ายาบ้า มาเฟีย ข้าราชการที่โกงกิน แต่ในทางหนึ่งตัวร้ายของละครไทยในปีนี้ก็มีความสีเทามากขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการตามฆ่าคนเนื่องจากถูกทำร้ายจากคนคนนั้นมาก่อน
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก