วันที่ 7 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันกอดน้องหมี (Hug A Bear Day) แต่ใจเย็นก่อนนะ เพราะเว็บที่รณรงค์กิจกรรมหลายแห่งก็เตือนว่า วันดังกล่าวนี้ไม่ได้บอกให้คุณเดินเข้าป่าไปกอดหมีตัวเป็นๆ หรือการไปหาผู้ชายหุ่นไซส์หมีมากอด แต่เป็นการรณรงค์ให้คุณหยิบเอาตุ๊กตาหมี หรือตุ๊กตายัดนุ่นที่คุณมีอยู่มากอดรัดฟัดเหวี่ยงสักครั้งในวันที่ว่านี้ (หรือถ้าจะซักตุ๊กตาหมีล่วงหน้าแล้วกอดให้ตรงวันก็ไม่ผิดนะ)
เป้าประสงค์อีกอย่างหนึ่งของวันนี้คือการเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมได้มีโอกาสกอดคนที่รักไปพร้อมๆ กับการกอดตุ๊กตาหมีด้วย เผื่อว่าใครที่อาจจะขวยเขินในการกอดคนใกล้ชิด ก็ใช้โอกาสในวันนี้กระชับพื้นที่ความสนิทให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคย
หลายคนอาจจะคิดว่า การกอดกับตุ๊กตาเป็นเรื่องที่ดูไม่น่าจะมีผลประโยชน์ต่อชีวิตเท่าใดนัก The MATTER เลยอยากจะพูดถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองเรื่องนี้ แล้วต่อด้วยเรื่องของน้องหมีจากการ์ตูนทั้ง 8 ตัว ที่รับรองว่าน่าไปหามากอดเพื่อชุบชูหัวใจในวัน Hug A Bear Day
วิทยาศาสตร์ของการกอด และประวัติย่อๆ ของตุ๊กตาน้องหมี
การกอดนั้นนอกจากจะมีประโยชน์เชิงสังคมที่ช่วยขยับตัวขยับใจให้ใกล้กันแล้ว การกอดยังมีประโยชน์ในเชิงวิทยาศาสตร์อีกด้วย เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ oxytocin หรือที่มีคนเรียกว่า ‘ฮอร์โมนแห่งรัก’ ทำงานได้ดีขึ้น ฮอร์โมนตัวนี้มีผลหลายอย่างต่อร่างกายที่ทำงานในการเชื่อมโยงทางสังคม ทั้งผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ การคลอดบุตร การผลิตน้ำนมของแม่ และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับบุตร มีนักวิจัยพบว่าฮอร์โมนตัวดังกล่าวจะทำงานคู่กับฮอร์โมน anandamide หรือฮอร์โมนแห่งความสุข ถ้ามองในแง่มุมหนึ่งก็คือ การกอดจะทำให้คนมีความสุขมากขึ้นถ้าไม่มีอะไรล้ำเส้นความเป็นส่วนตัวมากจนเกินไป
นอกจากนี้งานนี้มีการวิจัยเมื่อปี 2015 ระบุว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการกอดเป็นประจำจะมีภูมิคุ้มกันที่มากกว่าคนที่ไม่ได้ทำการกอดเป็นประจำด้วย
ฝั่งตุุ๊กตาหมีอาจจะดูเป็นของใหม่ แต่ถ้านับเฉพาะตุ๊กตา (doll) ปกติทั่วไปก็เป็นของเล่นที่มีมาตั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์เพียงแค่ว่าในยุคนั้นอาจจะเป็นการเอาฟาง ไม้ ขนสัตว์ หรือวัตถุแข็งอย่างอะลาบาสเทอร์มาสร้างเป็นตุ๊กตา แต่ถ้าเป็นตุ๊กตาหมีที่เป็นตุ๊กตาทรงสัตว์นุ่มๆ หรือที่เรียกกันว่า stuffed toy / plush toy ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับวันกอดน้องหมีก็จะมีประวัติศาสตร์ใหม่กว่านั้นสักหน่อย
เชื่อกันว่า stuffed toy / plush toy แบบทำมือมีทำกันในครัวเรือนที่มีความสามารถมาตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 20 แต่มาผลิตแบบอุตสาหกรรมจริงๆ ก็ในช่วงยุค 1880s โดยบริษัท Steiff ประเทศเยอรมนี ที่ในตอนแรกก็ผลิตตุ๊กตาสัตว์ออกมาหลายประเภท ก่อนจะพัฒนา ตุ๊กตาหมี 55PB ซึ่งกลายเป็นสินค้าที่หลายคนจดจำไป
ส่วนตุ๊กตาหมีที่ได้รับความนิยมในอเมริกา เชื่อกันว่าเป็นการที่ มอร์ริส มิชทอม (Morris Michtom) ผลิตตุ๊กตาหลังจากได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องเล่าตามข่าวของยุคนั้นที่ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของอเมริกา ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) หรือที่มีชื่อเล่นว่า ‘เท็ดดี้’ (Teddy) เป็นบุรุษที่นิยมล่าสัตว์ตามยุคสมัย แต่วันหนึ่งในการล่าสัตว์ ผู้ติดตามการล่าเกิดจับลูกหมีได้หนึ่งตัว แต่ตัวธีโอดอร์ปฏิเสธจะฆ่าลูกหมีตัวนั้นด้วยตัวเอง ตุ๊กตาหมีที่จำลองภาพลูกหมีตัวนั้นก็เลยถูกเรียกว่า หมีเท็ดดี้ (Teddy Bear)
นอกจากที่จะน่ารักน่าเก็บสะสมสำหรับผู้ใหญ่ที่ชอบแล้ว ตุ๊กตาหมี หรือตุ๊กตานุ่มๆ นี้ยังเป็นของเล่นที่เหมาะกับเด็กเล็กวัย 1-4 ปี เพื่อใช้เป็นของเล่นที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ ความรู้ และการใช้ภาษาได้อีกด้วย
เมาท์มอยเกี่ยวกับประโยชน์และประวัติของตุุ๊กตามาพอสมควร ถึงเวลาที่เราควรจะเข้าเรื่องของตุ๊กตาหมีจากการ์ตูนดังกันได้แล้ว ไม่เช่นนั้นท่านผู้อ่านคงต่อว่าที่ออกทะเลมาไกลขนาดนี้
Winnie The Pooh
พอพูดถึงหมีจากการ์ตูนที่มีตุ๊กตาน่ากอดน่าฟัด ตัวแรกที่นึกผ่านเข้ามาในหัวก็คงไม่พ้นเจ้าหมีใส่เสื้อแดงไม่ยอมใส่กางเกง แล้วก็มักจะหัวไปจุุ่มอยู่ในโถน้ำผึ้งเป็นประจำ ถึงจะซุ่มซ่าม แต่ด้วยท่าทีซื่อๆ ตรงไปตรงมาก็ทำให้ใครหลายคนหลงรักหมีตัวนี้
หมีพูห์ ปรากฎตัวครั้งแรกในนิยายชื่อ Winine-The-Pooh ของ เอ.เอ. ไมลน์ (A. A. Milne) ที่หยิบจับเอาพฤติกรรมของลูกชายที่เล่นกับตุ๊กตาตาหลายตัว ซึ่งตุ๊กตาตัวโปรดก็คือตุ๊กตาหมีชื่อ วินนี่ (Winnie) ซึ่งลูกชายได้รับแรงบันดาลใจมาจากหมีวินนี่ตัวจริงซึ่งเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์กรุงลอนดอน มาผูกเป็นเรื่องราวใหม่ให้เป็นเรื่องของสรรพสัตว์ที่อยู่ในป่าร้อยเอเคอร์ (The Hundred Acre Wood) กับเด็กชาย คริสโตเฟอร์ โรบิน (Christopher Robin ซึ่งผู้แต่งนำชื่อลูกชายตัวเองมาใช้งาน)
เดิมทีแล้วหมีพูห์ก็เหมือนกับตุ๊กตาหมีทั่วไปที่ไม่ได้เสื้อ จนกระทั่งมีการวาดภาพประกอบในปี 1932 บนปกแผ่นเสียงเพลง Winnie-The-Pooh ก่อนที่ภาพประกอบในหนังสือต้นฉบับจะมาลงสีในฉบับพิมพ์ซ้ำในช่วงเวลาหลัง และแม้ว่าหมีพูห์จะดังมากอยู่แล้วในยุคหลังสงครามอันเป็นช่วงที่นิยายสำหรับเด็กเรื่องนี้วางจำหน่าย แต่ถ้าถามว่า หมีพูห์กลายเป็นหมีระดับโลกตอนไหน คงต้องยกให้ครั้งที่ Disney ตัดสินใจซื้อสิทธิ์ซีรีส์ Winnie-The-Pooh และทำอนิเมชั่นขนาดสั้นเรื่อง Winnie The Pooh And The Honey Tree ออกมาให้ชาวโลกเห็นเป็นเรื่องแรกในปี 1966
หลังจากนั้น หมีพูห์กับผองเพื่อนในป่าร้อยเอเคอร์ก็ได้โลดเล่นทั้งในแบบอนิเมชั่น, คอมิกส์, ภาพยนตร์คนแสดง หรือแม้แต่วิดีโอเกม กล่าวกันว่า Winnie The Pooh เป็นเฟรนไชส์ที่สร้างรายได้เป็นอันดับที่ 3 ให้กับทาง Disney เป็นรองแค่ เจ้าหญิงดิสนีย์ กับ Star Wars เท่านั้น
และปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า จะเป็นตุ๊กตาหมีพูห์ หรือเพื่อนฝูงแบบอียอร์กับทิกเกอร์ก็ชวนให้คนมาคลอเคลียทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นในวันกอดน้องหมี หรือวันไหนๆ ก็ตาม
We Bare Bears
หมีในแดนการ์ตูนที่กวาดความนิยมทั้งคนดูรุ่นผู้ใหญ่และรุ่นเด็กได้อย่างรวดเร็วในช่วงหลังนี้ก็ต้องยกให้เรื่อง We Bare Bears ที่เล่าเรื่องของหมีพี่น้องต่างพ่อต่างแม่ (ซึ่งก็ไม่น่าใช่แหละ) ที่ประกอบไปด้วย กริซลี (Grizzly), แพนด้า (Panda) และ ไอซ์แบร์ (Ice Bear …ไม่ใช่ Polar Bear) หมีป่วนที่ตอนเด็กก็เหมือนจะเคยอาศัยอยู่ในธรรมชาติอยู่หรอก แต่ไปๆ มาๆ ก็อาศัยอยู่ในสังคมมนุษย์ซะงั้นอะ!
กิจวัตรที่หมีสามตัวนี้พยายามทำก็คือการตามรอยความดังของมนุษย์ หรือสัตว์ตัวอื่นๆ ที่ปรับตัวอยู่กับเมืองมนุษย์จนกลายเป็นเซเลบได้แล้ว และก็น่าแปลกใจนิดหน่อยที่หมีสามตัวนี้ที่แต่ละตัวก็มีน้ำหนักไม่เบา ชอบยืนต่อตัวกันเดินทางไปในที่ต่างๆ แต่ด้วยท่าทางที่น่าจดจำนี้ เราก็เลยมักจะเห็นร้านที่ขายตุ๊กตามักจะเอาตุ๊กตาหมีสามตัวมาเรียงเลียนแบบท่าในการ์ตูนอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้และทั้งนั้น นักพากย์ของกริซลีกับแพนด้าก็เคยแซวตัวเองไว้ว่า นักพากย์แบบเขาก็เป็นชายหุ่นรูปร่างหมี จริงๆ ด้วย
Kung Fu Panda
แพนด้ายักษ์ได้รับการพิสูจน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ไปแล้วว่าเป็นสัตว์ในวงศ์ของหมี แม้ว่าการใช้ชีวิตจะสวนทางกับหมีทั่วไป อย่างการเน้นกินต้นไผ่ หรือการไม่จำศีลในฤดูหนาวโดยธรรมชาติ แถมยังขยายพันธุ์ได้ยากก็ตามที
กระนั้นในโลกการ์ตูน หมีแพนด้าเป็นหมีที่หลายคนชื่นชอบต่อให้ไม่ใช่คาแรคเตอร์หลักก็ตามที ดังนั้นเมื่อทาง DreamWorks Animation ตัดสินใจทำการ์ตูนหมีแพนด้าที่ใช้วิขากังฟู หลายคนก็เดาไว้ว่าตัวละครดังกล่าวต้องฮิตพอสมควรเลยล่ะ
แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อ โพ (Po) หมีแพนด้าที่รักวิชากังฟูแต่ดันมีเหตุทำให้เขาไม่สามารถฝึกตนได้ ถึงอย่างนั้นด้วยเหตุบังเอิญหลายอย่างทำให้โพ ได้กลายเป็นยอดยุทธ์ด้านกังฟูจริงๆ ในภายหลัง จนถึงจุดที่เขาสามารถกลายเป็นปรมาจารย์สอนวิชากังฟูให้กับคนอื่นๆ ได้
แม้ว่า Kung Fu Panda จะมีสัตว์ตัวอื่นเป็นตัวละครเด่นอีกหลายตัวก็จริง แต่ตุ๊กตาหมีแพนด้าตัวอวบๆ พุงใหญ่ๆ ก็โดดเด่นน่าฟัดแล้วก็น่าใช้เป็นเป้าซ้อมมือด้วย … อ้าว อย่าเอาตุ๊กตาไปใช้งานให้ผิดวัตถุประสงค์สิ!
Yogi Bear
ถึงในยุค 2010s เจ้าหมีตัวนี้อาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังเท่าเดิม เพราะภาพยนตร์ฉบับล่าสุดก็กระแสไม่ดี รายได้ล่มสนิทในบอกซ์ออฟฟิศ แต่ครั้งหนึ่งเจ้าหมีจากอเมริกาตัวนี้ก็โด่งดังไม่เบา และเป็นหนึ่งในหัวหอกของอนิเมชั่นจากทาง Hanna-Barbera มาก่อน
หมีโยกี้ หรือ Yogi Bear แรกเริ่มเดิมทีเป็นตัวละครสัตว์สมทบในอนิเมชั่นชุด The Huckleberry Hound Show เมื่อปี 1958 แต่ด้วยลักษณะนิสัยอันโดดเด่นของเจ้าหมีตัวนี้ ต่อมาเลยมีอนิเมชั่นแยกเป็นของตัวเองในปี 1961 และข้ามไปแจมกับตัวละครอื่นๆ ในค่าย Hanna-Barbera อีกหลายต่อหลายครั้ง
Yogi Bear เป็นหมีใส่หมวกกับเนคไทสีเขียวอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเยลลี่สโตน (Jellystone – เป็นชื่อสมมติที่ตั้งมาล้อเลียนกับ Yellowstone ที่เป็นอุทยานแห่งชาติของจริง) ที่ผู้คนนิยมมาพักผ่อนตั้งแคมป์ โดยปกติแล้วเจ้าหมีที่อ้างว่าตัวเองฉลาดกว่าหมีปกติจะตามกลิ่นของอาหารตามตะกร้าปิคนิกอยู่เป็นนิจ เกิดเป็นเรื่องวุ่นวายจนหน่วยเรนเจอร์ประจำอุทยานแห่งนี้ต้องคอยมาดูแลและควบคุมให้หมีโยกี้อยู่ในป่าแต่โดยดี
ตุ๊กตาหมีโยกี้มีออกมาหลายเวอร์ชั่น โดยส่วนใหญ่จะเน้นจุดเด่นไปที่หมวกกับเนคไทสีเขียว แต่เพิ่งจะมาเป็นเวอร์ชั่นทันสมัยขึ้นนี้เองที่ทำรูปทรงให้มีความเป็นหมีเหมือนกับในอนิเมชั่นมากขึ้น และแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ควรหาเก็บไว้สักตัวนะ เพราะดูแล้วน่ากอดไม่แพ้หมีตัวอื่นๆ เลย
Paddington Bear
หมีดังจากเกาะอังกฤษอีกหนึ่งตัว ที่หลายคนอาจจะคุ้นว่าเป็นภาพยนตร์คนแสดงเข้าฉายไปไม่นานนัก แต่ความจริงแล้วเจ้าหมีแพดดิงตันเป็นนิยายสำหรับเด็กที่เขียนโดย ไมเคิล บอนด์ (Michael Bond) ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นสื่ออื่นๆ มาหลายต่อหลายครั้ง
เป็นเรื่องราวของหมีที่ครอบครัวบราวน์ (Brown) พบเจอที่สถานีรถไฟแพดดิงตัน หมีน้อยแนะนำตัวอย่างสุภาพว่าเขาเดินทางมาจาก ‘ที่ที่มืดที่สุดของเปรู’ และเดินทางมาถึงเกาะอังกฤษด้วยเรือบด โดยกินแยมมาร์มาเลดของโปรดประทังชีวิต หลังจากฟังเรื่องราวครอบครัวบราวน์ก็สังเกตเห็นว่าเขามาพร้อมกับป้ายห้อยคอที่อยากให้คนช่วยดูแลเจ้าหมีตัวนี้ สุดท้ายครอบครัวบราวน์ก็ตั้งชื่อหมี ‘แพดดิงตัน’ แทนชื่อภาษาเปรูที่ออกเสียงยาก และรับหมีตัวนี้มาดูแล แม้ว่าเจ้าหมีจะซุ่มซ่าม อยู่ผิดที่ผิดทางบ่อยๆ แต่ด้วยความสุภาพกับเจตนาที่ใสซื่อทำให้เจ้าหมีตัวนี้อาศัยอยู่กับสมาชิกครอบครัวบราวน์อย่างละมุนละม่อม
อย่างที่กล่าวไปว่าเจ้าหมีจากเปรูตัวนี้เป็นนิยายสำหรับเด็กก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นงานสต็อปโมชั่น แต่หลายคนจะคุ้นเคยจากการที่หมีตัวนี้ปรากฏในการ์ตูนอนิเมชั่นที่ได้ทีมงานของ Hanna-Barbera มาเป็นผู้สร้าง ก่อนจะโลดแล่นบนหนังจอใหญ่ในปี 2014 และ 2017
ตุ๊กตาหมีแพดดิงตันมีอยู่หลายเวอร์ชั่น ในช่วงหลังนี้เราจะเห็นเวอร์ชั่นที่เป็นเจ้าหมีในเสื้อโค้ตสีน้ำเงินกับหมวกสีแดงและมีป้ายห้อยคอตามท้องเรื่อง ส่วนใหญ่ก็จะมาพร้อมสายตาละห้อยชวนน่าเห็นใจ ซึ่งลูกตาแบบนี้แหละที่ทำให้หลายๆ คนอยากจะรีบเข้าไปกอดปลอบโยนน้องหมีที่มีประวัติน่าสงสารเป็นการด่วน
Tarepanda
Tarepanda คาแรคเตอร์หมีจากทาง San-X เปิดตัวครั้งแรกในปี 1995 ออกแบบโดย สุเอมาสะ ฮิคารุ ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากความเหนื่อยล้าจนอยากจะขี้เกียจกับเขาบ้าง เลยดีไซน์ แพนด้าขี้เกียจ หรือ Tarepanda ออกมาในที่สุด ถึงจะนอนแนบชิดติดพื้นให้เห็นบ่อยๆ แต่หมีแพนด้าผิวนุ่มตัวนี้สามารถกลิ้งไปมาด้วยความ 2.75 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราวๆ 4.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนะ (ระ…เร็ว!)
ถึงเราจะคุ้นเคยกับท่านอนแผ่ แต่ตุ๊กตาหมีทาเระแพนด้าก็มีทั้งท่านั่ง ท่านอน ซึ่งแต่ละท่าก็ชวนกอดรัดฟัดเหวี่ยงเพื่อปลดปล่อยความขี้เกียจออกจากตัวได้ ในช่วงหลังเราจะเห็นว่า ทาเระแพนด้าหายหน้าหายตาไปจากสื่อต่างๆ บ้าง อาจจะเพราะเจ้าหมีตัวนี้มีกิมมิกทับซ้อนกับ Rilakkuma พอดีเลยทำให้หลังๆ เจ้าตัวดังน้อยกว่าหมีรีลัคที่เป็นรุ่นน้องไปโดยปริยาย
แต่ทำเป็นเล่นไป ครั้งหนึ่งอนิเมชั่นเรื่อง TAREPANDA Original Video Animation เคยคว้ารางวัล Excellence Award สาขาอนิเมชั่น จากงาน Japan Media Arts Festival ปี 2000 เลยนะ นี่มันขี้เกียจจนได้โล่ของจริงเลยล่ะ!
Kuma Miko
หลายคนคุ้นหน้ากับหมีจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องนี้มาก จนอาจจะคิดไม่ถึงว่า หมีนัทสึ ในเรื่องคนทรงหมี หรือ Kuma Miko จะมีตุ๊กตาหมีกับเขาด้วย
ตามท้องเรื่องการ์ตูนแล้ว Kuma Miko เล่าเรื่องของ หมู่บ้านคุมาเดะ (เล่นคำกับคำว่า ‘หมีมา’) ที่หมีในหมู่บ้านนี้ พูดภาษาคนได้ และในหมู่บ้านก็จะจัดคนทรงเอาไว้เพื่อติดต่อสื่อสารกับหมีพวกนี้ แต่ในยุคปัจจุบันที่หน้าที่ร่างทรงตกเป็นของ มาจิ เด็กหญิงที่มีพรสวรรค์ในการเข้าทรง ต่อมาเธอพยายามดีลกับคนในหมู่บ้านเพื่อไปเรียนในเมืองใหญ่ แต่ด้วยความเป็นห่วงของนัทสึ หมีประจำศาลเจ้าหมู่บ้านที่ดันรู้เรื่องโลกปัจจุบันมากกว่ามิโกะ (หมีในเรื่องนี้ใช้ไอแพด เล่นทวิตเตอร์เลยนะ) เขาเลยพยายามทำบททดสอบเพื่อให้มิโกะได้เรียนรู้เทคโนโลยี กับสังคมทันสมัย เผื่อว่าสักวันเธอจะไปใช้ชีวิตในเมืองได้
การ์ตูนเรื่องนี้ถูกเขียนเป็นมังงะในญี่ปุ่นตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2013 และได้กลายเป็นอนิเมะในปี 2016 แต่ส่วนใหญ่คงจดจำหมีนัทสึในฐานะ ‘หมี Yes แน่นอน’ … ทั้งที่จริงๆ ในเรื่องไม่ได้มีไดอะล็อกนี้อยู่เลยแม้แต่ประโยคเดียว
ทั้งนี้ขอย้ำอีกทีว่า มีตุ๊กตาหมีนัทสึในร่างลูกหมีออกวางจำหน่ายพักใหญ่แล้ว เผื่อว่าคุณอยากจะกอดในวันกอดน้องหมีบ้าง
Rilakkuma
เห็นกันเยอะแยะไปหมดกับ หมีรีลัค หรือ Rilakkuma จากทาง San-X เปิดตัวเมื่อปี 2003 เจ้าหมีที่ทำท่าชิลๆ สบายๆ นั่งอืดนอนอืดเจ้หมีรีรัคถูกออกแบบมาด้วยไอเดียที่ คอนโดะ อากิ ดีไซน์เนอร์ของเจ้าหมีตัวนี้มีงานยุ่งมากจนอยากจะได้อะไรรีแลกซ์ในชีวิต ซึ่งผลก็อออกมาเป็นเจ้าหมีนอนอืด
ประวัติของเจ้าหมีรีลัคในท้องเรื่องนั้น ทาง San-X ระบุไว้ว่าเป็นชุดหมี (ไม่ใช่หมีจริงๆ) ที่ด้านหลังมีซิปติดอยู่ และนานๆ ครั้งซิปก็จะเผยอออกมาเผยให้เห็นว่ามีชุดลายจุดอยู่ภายใน หมีรีลัคไปอาศัยอยู่ในบ้านของคุณคาโอรุ (Kaoru) และปักหลักอยู่กินชิลๆ ในบ้านอย่างถาวร ต่อมา โคริลัคคุมะ (Korilakkuma) หมีสีขาวแต่มีกระดุมสีแดงติดที่หน้าอกก็ตามมาอยู่ในบ้านด้วย แล้วเจ้าหมีสีขาวที่ไม่น่าจะเป็นหมีจริงๆ ตัวนี้ก็ชอบทะเลาะกับ คิอิโรอะอิ โทริ (Kiitori) นกสีเหลืองที่เป็นสัตว์เลี้ยงของคุณคาโอรุ แต่จู่มาวันหนึ่ง หมีน้อย ชาอิโรโคกุมะ หรือโคกุมะจัง (Chairoiguma / Koguma Chan) หมีตัวเล็กที่หอมกลิ่นน้ำผึ้ง มีเขี้ยวเสน่ห์ แล้วก็น่าจะเป็นหมีจริงๆ มากกว่าอีกสองตัวก็มาอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย
หมีรีลัคกับเพื่อนร่วมห้อง (ยกเว้นคุณคาโอรุ) มีตุ๊กตาออกมาหลายแบบหลายสไตล์ ตามเทศกาลกับฤดูกาลต่างๆ แต่ละตัวก็น่าเอามากอดหรือเอามาหนุนหัวก็ชวนรีแลกซ์แบบสุด ๆ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วเจ้าหมีรีลัคนี่มีการ์ตูนออกมาด้วยเหรอ คำตอบก็คือ มีแล้ว แต่ก่อนหน้านี้จะเป็นอนิเมชั่นขนาดสั้นๆ ในโอกาสฉลองครบรอบ 10 ปี และกำลังจะมีสต็อปอนิเมชั่นแบบซีรีส์ที่ใช้ชื่อ Rilakkuma And Kaoru ออกฉายทาง Netflix ในปี 2019
อ้างอิงข้อมูลจาก