***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์***
“เมื่อไรพวกเราจะกลับไปทำหน้าที่สื่อจริงๆ เสียที ไม่ใช่แค่กระบอกเสียงของรัฐบาล!”
คือถ้อยคำที่นักข่าวในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อังกฤษ The Observer ถกเถียงกันในช่วงเวลาที่สังคมอังกฤษแบ่งเป็น 2 ฝ่าย
เอาหรือไม่เอาสงคราม ?
แต่ ‘สื่อมวลชน’ ไม่ใช่อาชีพหลักที่ภาพยนตร์เรื่อง Official Secrets ต้องการโฟกัส ทว่าเป็น ‘นักแปล’ สาวตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับคำถามถึงมโนธรรมสำนึก เมื่อหน้าที่การงานในปัจจุบันของเธอ ทำให้ได้เข้าถึงข้อมูลลับของรัฐบาล และหนึ่งในความลับที่ว่า ก็ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล
แคทธารีน กัน (แสดงโดยเคียร่า ไนท์ลี่) ทำงานอยู่ใน GCHQ หน่วยข่าวกรองของอังกฤษ ในฐานะนักแปลผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนกลาง
ในปี ค.ศ.2003 ระหว่างที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาของจอร์จ ดับเบิลยู บุช และรัฐบาลอังกฤษของโทนี่ แบลร์ พยายามหาเสียงสนับสนุนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้ลงมติทำสงครามกับอิรัก โดยอ้างว่ารัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน มีอาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction – WMD) ไว้ในครอบครอง
ซึ่งถึงตอนนี้เราทุกคนต่างรู้แล้วว่า WMD ของซัดดัมไม่มีจริง
แต่ในเวลานั้น ผู้นำ 2 ชาติมหาอำนาจพยายามทำให้คนทั้งโลกเชื่อว่า มันมีอยู่จริง
ฉากต้นเรื่อง แคทธารีน กันตะโกนด่าโทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า “โกหก!” ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ ที่เขาอ้างว่าจำเป็นต้องทำสงครามกับอิรักเพราะซัดดัมมี WMD ไว้ในครอบครอง และอีกหลายฉากในหนังได้แสดงให้เห็นว่า เธอไม่เชื่อว่าอิรักจะมี WMD และคัดค้านการทำสงคราม เพราะจะสร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก
ระหว่างนั้น ชีวิตการทำงานใน GCHQ ก็ดำเนินไป ก่อนที่วันหนึ่งจะมีเอกสารสำคัญส่งเข้ามาในอีเมลของเธอและคนในทีม ว่าด้วยความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ (ซึ่งรัฐบาลอังกฤษในช่วงนั้นเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น) ในการหาวิธีดักฟังตัวแทนชาติเล็กๆ 6 ชาติ เพื่อดูว่าจะสนับสนุนการทำสงครามกับอิรักในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตามญัตติที่เสนอโดยสหรัฐฯ หรือไม่ – หลังจากอ่านอีเมลนี้จบ เธอยกมือถามหัวหน้าว่าอีเมลนี้ของจริงหรือ หัวหน้าบอกว่า ถ้าเขาส่งเข้าระบบมาก็แสดงว่าจริง จากนั้นเธอก็คิ้วขมวดเงยหน้ามองเพื่อนร่วมงานโต๊ะตรงข้าม ที่พยักเพยิกบอกให้ทำหน้าที่ของตัวเองไป
แต่เรื่องนี้ติดอยู่ในใจของแคทธารีน กันมาตลอด ที่สุด เธอก็ตัดสินใจแอบนำเอกสารลับดังกล่าวส่งไปให้กับสื่อมวลชนอังกฤษหลายฉบับ และฉบับที่ตัดสินใจจตีพิมพ์ก็คือหนังสือพิมพ์ The Observer ผลคือข่าวนี้ดังเป็นพลุแตก!
รัฐบาลอังกฤษรู้ว่าข่าวที่หลุดออกไปมาจาก GCHQ จึงตั้งคนเข้ามาสืบสวน กระทั่งแคทธารีน กัน ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนปล่อยเอกสารลับดังกล่าวออกไปเอง ผลก็คือเธอถูกส่งฟ้องดำเนินคดีฐานทำผิด ‘กฎหมายความลับราชการ’ หรือ The Official Secrets Act ฉบับปี ค.ศ.1989 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งมีอัตราโทษคือจำคุกสูงสุด 2 ปี
คำถามที่น่าสนใจก็คือ หากเป็นตัวคุณที่ได้มีเอกสารลับสำคัญอยู่ในมือ และรู้ว่าถ้าปล่อยข้อมูลออกไปจะได้รับโทษหนัก คุณจะทำเหมือนแคทธารีน กันทำ หรือไม่
ให้แลกระหว่างอิสรภาพของตัวเองกับการที่ประชาชนจะได้รู้ความจริงว่ารัฐบาลปกปิดอะไรคุณอยู่ คุณจะยอมแลกหรือไม่ และภายใต้เงื่อนไขใด ???
ครึ่งหลังของภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นเรื่องราวการเตรียมตัวต่อสู้คดีของแคทธารีน กันในศาลอังกฤษ ที่เส้นเรื่องคู่ขนานจะว่าด้วยการทำงานของสื่อมวลชนและทนายความ ที่มีข้อถกเถียงสำคัญชวนคิดไปตลอดทาง ทั้งเรื่องจุดยืนทางการเมือง ผลประโยชน์ ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ไปจนถึงความเป็นมืออาชีพ
หนึ่งในบทสนทนาที่ผมชอบมาก (เพราะตัวเองเป็นนักข่าว) นอกจากโคว้ดที่ยกไว้ตอนต้นบทความ ยังรวมถึงอีกเหตุการณ์ถกเถียงในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Observer ที่จุดยืนตอนนั้นคือสนับสนุนการทำสงคราม และเสียความสัมพันธ์กับโทนี่ แบลร์ แต่พอได้เอกสารลับจากแคทธารีน กัน บรรณาธิการบริหารก็เปลี่ยนท่าทีทันที เพราะมองว่า “นี่มันข่าวที่โคตรดี โคตรสำคัญเลย ตีพิมพ์ได้!”
เช่นเดียวกับคำที่แคทธารีน กัน บอกกับพนักงานสืบสวนของอังกฤษที่ว่าเธอไม่ได้ทำงานให้รัฐบาลอังกฤษ จึงไม่ได้ทรยศใครในฐานะสายลับ (spy) แต่เธอทำงานให้กับประชาชนชาวอังกฤษต่างหาก
ย้อนกลับไปกฎหมายที่กล่าวหาว่าแคทธารีน กันทำผิด ก็คือ The Official Secrets Act ฉบับปี ค.ศ.1989 ในหนังมีการให้เกร็ดเล็กๆ ว่าถูกแก้ไขหลังมีการนำข้อมูลภายในกระทรวงกลาโหมของอังกฤษมาแฉว่า ในช่วงสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ระหว่างกองทัพอังกฤษ-อาร์เจนติน่าในปี ค.ศ.1982 เรือรบชื่อ ‘นายพลเบลกราโน’ ของกองทัพอาร์เจนติน่าถูกเรือดำน้ำอังกฤษจม จนทำให้ทหารอาร์เจนติน่าเสียชีวิต 323 คน ทั้งๆ ที่อยู่นอกเขตสู้รบทางทะเล แต่จำเป็นต้องจม เพราะสงครามครั้งนั้นจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของนายกฯ อังกฤษเวลานั้น มาร์กาเร็ต แทตเชอร์
ทว่า ไคลฟ์ พอนติ้ง ผู้ที่นำเอกสารลับดังกล่าวมาปล่อย กลับไม่ถูกลงโทษใดๆ เพราะกฎหมายความลับราชการ หรือ The Official Secrets Act ในขณะนั้น ที่เป็นฉบับปี ค.ศ.1911 ยกเว้นโทษให้กรณีที่การเปิดเผยข้อมูลลับดังกล่าวเป็นไปเพื่อ ‘ประโยชน์สาธารณะ’ ผลคือรัฐบาลของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ดำเนินการแก้กฎหมาย ตัดข้อความนี้ออกทันที – คดีของ แคทธารีน กัน จึงอ้างเรื่องประโยชน์ของสาธารณะไม่ได้
กระนั้นในการขึ้นพิจารณาคดีขึ้นแรก หลังจากเธอต้องอกสั่นขวัญแขวนกับคดีความ 8 เดือนเต็มๆ ฝ่ายอัยการกลับขอถอนฟ้องเธอดื้อๆ !??
มีคำเฉลยบอกไว้ท้ายเรื่องว่า รัฐบาลอังกฤษเพียงแค่ต้องการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ เท่านั้น
สิ่งที่แคทธารีน กันทำ คือนำข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทั้งทางกฎหมายหรือทางศีลธรรม แต่รัฐบาลพยายามเก็บไว้เป็นความลับมาเปิดให้สาธารณชนได้รับทราบ ถูกเรียกว่า ‘ผู้เป่านกหวีด’ (whistleblower) และในช่วงเวลาเดียวกันก็มีหลายคนที่ทำเช่นเดียวกับเธอ ไม่ว่าจะเชลซี แมนนิ่ง ผู้นำข้อมูลสำคัญเรื่องการกระทำของกองทัพสหรัฐฯ ในอิรัก บันทึกใส่แผ่นซีดีมามอบให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์ หรือกรณีของเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ที่ออกมาแฉโครงการสอดส่องประชาชนโดย NSA หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ
แต่การ ‘แฉ’ ที่ว่า มีราคาที่ต้องจ่าย
เชลซี แมนนิ่ง ถูกตัดสินให้จำคุกในคดีทำผิดกฎหมายจารกรรม (Espionage Act) ถึง 35 ปี แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบาม่า หลังติดคุกอยู่ 4 ปีเศษ ส่วนเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ต้องลี้ภัยอยู่ในรัสเซียไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้อีก
รัฐบาลและผู้มีอำนาจมักมีความลับที่ตั้งใจปกปิดเอาไว้ไม่ให้ประชาชนรู้
ความลับบางอย่างรู้แล้วก็ต้องเงียบเก็บไว้ เพราะผู้ปกปิดแสดงท่าทีจริงจังจะเล่นงานผู้เปิดเผยอย่างหนักหน่วงและรุนแรง บางครั้งถึงขั้นเอาชีวิต
แต่ whistleblower ก็ยังเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย แม้ทุกคนจะรู้ว่ามีความเสี่ยง – คำถามคือทำไม ?
“เราต้องบอกความจริงกับประชาชน”
“แค่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ไม่ได้แปลว่าคุณจะปั้นเรื่องอะไรขึ้นมาก็ได้!”
แคทธารีน กัน ให้คำตอบเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่อง Official Secrets ทั้งจากคำพูดและจากการกระทำ