หากมีใครสักคนถามว่า ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ชอบที่สุดในชีวิตของผมคือใคร คงมีหลายชื่อที่ผมนึกขึ้นได้ในทันที
หนึ่งในนั้นคือ Bela Tarr ผู้กำกับชาวฮังการีผู้เป็นที่จดจำจากการถ่ายหนังด้วยเทคนิค Long Take ที่จดจ้องความเป็นไปของโลกตรงหน้าอย่างเงียบเชียบ นิ่งเรียบ และยาวนาน ถือเป็นผู้กำกับที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผมมากที่สุดคนหนึ่ง
ว่ากันตามตรง หนังของ Tarr ออกจะประหลาด เรียกร้องทั้งพลังใจและสมาธิในการจับจ้องที่ค่อนข้างสูง แม้หลายๆ ครั้งฉากหรือเหตุการณ์คล้ายจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากสังเกตุให้ดี เราจะเห็นรายละเอียดเล็กน้อยที่ Tarr จัดวางไว้อย่างแม่นยำ ซึ่งผมจำได้ว่าครั้งแรกที่ดู The Turin Horse หนังปี 2011 ที่คล้ายจะเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องสุดท้ายของเขา เรื่องราวของสองพ่อลูกที่บังเอิญไปพบม้าตัวหนึ่งเข้า พวกเขานำมันมาเลี้ยงที่บ้าน และสิ่งที่ปรากฏขึ้นตรงหน้าจอตลอดเวลากว่าสองชั่วโมงครึ่งนั้น คือการจดจ้องไปยังกิจวัตรประจำวันที่เวียนซ้ำของสองพ่อลูก พวกเขาตื่นนอน กินมันฝรั่งต้มชืดๆ ย่ำเดินไปตักน้ำกลับมาบ้าน ก่อนจะออกไปให้อาหารม้าแปลกหน้า วนเวียนเช่นนั้นทุกวันราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ราวกับเรานั่งดูความเบื่อหน่ายของชีวิตที่หมุนกรออย่างไม่มีที่สิ้นสุด และผมแทบจะหมดพลังเมื่อดูหนังเรื่องนั้นจบ
ตลอดชีวิตผู้กำกับ Tarr ทำหนังเพียงสิบกว่าเรื่อง บางเรื่องเขาก็เขียนขึ้นเอง บ้างก็ได้มือเขียนบทคู่บุญมาร่วมเขียนไปกับเขา ซึ่งมือเขียนบทคนนี้แหละครับที่ผมจะพูดถึงในคอลัมน์ประจำสัปดาห์นี้ เขาเป็นนักเขียนชาวฮังการีที่ชื่อว่า Laszlo Krasznahorkai ครับ
ในช่วงหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า Krasznahorkai ไม่ใช่ชื่อที่คุ้นเคยนักไม่ว่าจะต่อนักอ่านชาวไทย หรือวงการวรรณกรรมโลก และแม้จะตีพิมพ์ผมงานมาแล้วหลายเล่ม ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษแทบจะทั้งหมด แต่ชื่อของเขาเพิ่งจะมาโด่งดังและเป็นที่รู้จักในระดับโลกจริงๆ ก็ปี 2005 เมื่อ Man Booker International มอบรางวัลให้กับเขา
งานของ Krasznahorkai ขึ้นชื่อว่าอ่านยาก เรียกร้องการทำงานของสมองและสมาธิค่อนข้างสูง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ควรค่าต่อการศึกษาโดยเฉพาะเรื่องของเครือข่าย โครงสร้าง การวางกับดัก และจุดพลิกผันในเรื่องที่จัดวางได้อย่างฉลาด และน่าสนใจ นอกจากนี้ อีกจุดเด่นสำคัญที่กลายเป็นลายเซ็นประจำตัวของ Krasznahorkai ไปแล้ว คือการที่นวนิยายของเขาแทบจะไม่มีย่อหน้าให้เห็นเลย ติดพรืดกันเป็นแพ ถ้าจะเทียบกับวรรณกรรมไทยก็อาจคล้ายๆ กับ ‘เงาสีขาว’ ของแดนอรัญ แสงทองนั่นแหละครับ
แถม Krasznahorkai ยังเรียกร้องพลังจากคนอ่านด้วยการเลือกจะเขียนแต่ละประโยคให้ต่อเนื่อง และยืดยาว ขยายแล้ว ขยายเล่า พรรณาแล้ว พรรณาเล่า จนกว่าจะเจอจุด full stop ให้พักหายใจกันสักครั้งก็เล่นเอาเหนื่อยทีเดียว อย่างบางเรื่องนี่ กว่าจะเจอจุด full stop สักที ก็อ่านไปหลายสิบหน้า จนเกือบจะจบบทเลยทีเดียวครับ (ล่าสุดที่ผมเจอเข้ากับตัวคือประโยคใน The World Goes On นวนิยายเรื่องล่าสุดของเขา จนมีนักวิจารณ์วรรณกรรมชาวต่างชาติคนหนึ่งถึงกับล้อว่า “The World Goes On, So the sentence” แน่นอนว่าผมยังอ่านไม่จบ)
ผลงานของ Krasznahorkai ที่ผมหยิบมาพูดถึงในสัปดาห์นี้ คือนวนิยายเล่มดังที่ชื่อว่า ‘Satantango’ ครับ เล่าอย่างคร่าว Satantango หรือ ‘การเต้นแทงโก้ของซาตาน’ เล่าเรื่องราวของหมูบ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในฮังการี ภายหลังการล่มสลายของระบบนารวม (Collective Farm) ภายใต้การปกครองของโซเวียต ชายคนหนึ่งสะดุ้งตื่นจากฝันเพราะได้ยินเสียงระฆัง คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าไม่ติดที่ว่ารอบๆ หมู่บ้านที่เขาอยู่ไม่มีที่ไหนมีระฆัง ขนาดว่าโบสถ์ใกล้ๆ ที่น่าจะมี ก็ชำรุดผุพังไปตั้งนานแล้ว แล้วเสียงระฆังมาจากไหน?
ผ่านฉากเปิดเรื่องที่ปกคลุมไปด้วยความหวาดระแวง ที่ Krasznahorkai ค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราวอย่างใจเย็น เสียงระฆังปริศนาได้นำพาเราไปสู่การมาเยือนของ Irimias ชายหนุ่มที่ทุกคนในหมู่บ้านต่างเชื่อว่าเขาตายไปแล้ว ซึ่ง Krasznahorkai ก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเขาอย่างตรงไปตรงมา แต่ยั่วล้อกับความไม่วางใจของชายที่ถูกปลุกด้วยเสียงระฆังว่า ตกลง Irimias ที่นึกว่าตายไปแล้วคนนี้เป็นใครกันแน่ เป็นมนุษย์ หรือปีศาจ เป็นศาสดาผู้อาจเข้ามาชำระไถ่บาป หรือเป็นเพียงนักต้มตุ๋นที่หลอกลวงกระทั่งความตายของตัวเอง
ผ่านการมาถึงของหนุ่มปริศนานี่เอง ที่เราได้ค่อยๆ รับรู้ถึงความผิดปกติของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ผ่านตัวละครแปลกๆ อย่างชาวนาผู้สิ้นหวังในชีวิต หมอผู้ลุ่มหลงกับการลอบมองพฤติกรรมชาวบ้าน และเด็กสาวที่หวังจะฆ่าแมวของเธอ ฟังดูเพี้ยนๆ และน่าขนลุกขนพอง และชวนให้งุนงนไปพร้อมๆ กันนะครับ แต่ผ่านความสับสนเช่นนี้เองที่กลายเป็นเสน่ห์ของ Krasznahorkai บ่อยครั้ง นวนิยายเล่มนี้ก็ชวนให้นึกถึงงานเขียนของ Franz Kafka (ซึ่งเป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลต่อ Krasznahorkai ที่สุดคนหนึ่ง) โดยเฉพาะการนำเสนอภาพชีวิตที่ถูกกดขี่ผ่านอำนาจแบบรัฐสมัยใหม่ ที่ไม่ได้กดขี่ประชาชนอย่างตรงไปตรงมา แต่ผ่านโครงสร้างทางอำนาจที่ซับซ้อนแนบเนียน จนผู้ถูกกดขี่เองอาจไม่รู้ตัว เช่นกันที่ Satantango เองก็ฉายภาพการล่มสลายของสังคมนารวมได้ชัดเจน จนรับรู้ได้ถึงความแร้นแค้นและสิ้นหวัง ผ่านตัวละครที่วิปริต และหมู่บ้านที่อาคารต่างๆ ล้วนพากันชำรุดผุพังและล่มสลาย คล้ายว่าเป็นภาพสะท้อนต่อโลกที่กำลังพังทลาย และสิ่งที่เราทำได้ก็เพียงเฝ้ามองมันด้วยสายตาอ่อนล้า สิ้นหวัง ไร้พลัง
Satantango ได้ถูกทำเป็นหนังด้วยนะครับ ซึ่งผู้กำกับก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ Bela Tarr นี่แหละครับ เพียงแต่ว่าเวอร์ชั่นหนังเองมีความยาวถึง 7 ชั่วโมงเลยทีเดียว ส่วนใครที่สนใจอยากอ่านฉบับนวนิยาย แม้ตัวเล่มจะไม่หนามาก (274 หน้า) แต่เมื่อพิจารณาจากทั้งเนื้อหาที่หม่นหมองสิ้นหวัง ประโยคที่ยาวเฟื้อยจนแทบจะไม่ได้พักหายใจ แถมย่อหน้าก็ไม่ค่อยจะมีอีก Satantango จึงอาจไม่ใช่นวนิยายที่จะอ่านเพื่อความบันเทิงหรือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจนัก แต่ค่อนไปทางประสบการณ์เสียมากกว่า ซึ่งผมเชื่อเลยครับว่า คุณจะไม่มีวันลืมประสบการณ์จากหนังสือเล่มนี้แน่นอน