เมื่อสังคมพัฒนาซับซ้อนมากขึ้น ความหลากหลายทางเพศก็ปรากฎมากขึ้น ลื่นไหลง่ายขึ้น ไปจนถึงเริ่มตระหนักระมัดระวังคำพูดมากขึ้นในการใช้คำเรียกไปและประดิษฐ์คำใหม่ๆ สังคมไทยเองเพิ่งจะทำความรู้จักอัตลักษณ์เกย์และคำว่า ‘เกย์’ ก็เมื่อรับวัฒนธรรมอเมริกันและ Americanization หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวๆ พ.ศ. 2500 มานี่เอง[1] โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จากเหตุฆาตกรรม Darrell Berrigan บรรณาธิการชาวอเมริกันแห่งหนังสือพิมพ์ Bangkok World การสืบสวนของตำรวจไม่เพียงนำไปสู่การเปิดเผยเพศสภาพของเขา แต่ยังทำให้โลกภาษาไทยได้รู้จักคำว่า ‘เกย์’ และเริ่มมีคำว่าเกย์พาดอยู่บนหัวหนังสือพิมพ์
อย่างไรก็ตามคำว่า ‘เกย์’ ก็ยังคงถูกใช้ในความหมายถึงอาชีพผู้ชายขายตัวให้กับผู้ชาย และพฤติกรรมทางเพศกับเพศเดียวกันของผู้ต้องขังชายในเรือนจำ ไม่ใช่คำเรียกอัตลักษณ์ทางเพศอย่างที่ใช้ในปัจจุบัน[2] ขณะที่ชายมีเพศวิถีรักเพศเดียวกันยังคงถูกเรียกว่า ‘กะเทย’[3] กะเทยจึงถูกใช้ทั้งกับเพศสภาพและเพศวิถี ซึ่งเป็นคำที่ใช้มานานก่อนหน้านั้น เรียกทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่เพศสรีระของพวกเขาและเธอไม่ตรงกับเพศสภาพกระแสหลัก
กระทั่งครึ่งหลัง ระหว่างพ.ศ. 2510-2520 เริ่มมีนิตยสารเชิงพาณิชย์เกย์และสถานเริงรมย์สำหรับเกย์ผุดพรายขึ้นในกรุงเทพ ควบคู่ไปกับการขยายตัวของประชากรชั้นกลางในเมืองหลวงและกระแสบริโภคของทุนนิยมเสรี ‘เกย์’ จึงเริ่มถูกทำให้เข้าใจคล้ายกับโลกสากล ไม่เพียงหมายถึงชายที่เพศวิถีรักเพศเดียวกัน แต่ยังเป็นกลุ่มชายรักชายชนชั้นกลาง มีการศึกษา อ่านออกเขียนได้ มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและอาศัยในเมือง[4]
อย่างไรก็ตาม ‘เกย์’ ในสังคมไทยก็ยังคงหมายถึงชายรักชายมากกว่าหญิงรักหญิง
จากนั้นก็มีการผลิตคำมาใช้ขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนหลายคำก็แปลมา เช่น ‘ชายรักชาย’ ‘หญิงรักหญิง’ ที่แปลมาจาก Men who have sex with men (MSM) และ Women who have sex with women (WSW) ที่เริ่มใช้ในการแพทย์และสาธารณสุขตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 หลังจากมีการรณรงค์ให้ใช้คำว่า ‘รักเพศเดียวกัน’ แทนคำว่า ‘รักร่วมเพศ’
กระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดการนิยามเพศสภาพเพศวิถีต่างๆ มากมายเต็มไปหมด เช่น ทอมเกย์ หมายถึงทอมที่ได้ทั้งหญิง ดี้ และทอมด้วยกัน, ทอมเกย์คิง คือทอมที่ชอบทอมและเป็นผ่ายรุก, ทอมเกย์ควีน หมายถึงทอมที่ชอบทอมและเป็นฝ่ายรับ ส่วนทอมทูเวย์ ใช้เรียกทอมที่ชอบทอมและเป็นได้ทั้งรุกและรับ นอกจากนี้ยังมี ไบท์, อดัม, แองจี้, เชอร์รี่, สามย่าน (มีจริงดิ) มันก็ดีในแง่ที่การบัญญัติคำใหม่ๆ ไม่ได้ผูกขาดโดยวาทกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข หรือราชบัณฑิตฯ ที่ราวกับเป็นผู้ผูกขาดความเป็นเจ้าของภาษา แต่การที่นิยามประเภท ไบท์ (ผู้หญิงที่ชอบทั้งทอม ทั้งเลสเบี้ยน ทั้งผู้ชาย), อดัม (ผู้ชายที่ชอบทอม), แองจี้ (กะเทยที่ชอบทอม), เชอร์รี่ (ผู้หญิงที่รักเกย์กับกะเทย) หรือ สามย่าน (หญิงที่รักและคบได้ทุกเพศ)[5] อะไรพวกนี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากนัก นอกจากจะบอกว่ามันมีความหลากหลายนะ แต่ก็เป็นความหลากหลายที่เจ้าตัวเจ้าของเพศสภาพเพศวิถีนั้นนิยามเองรึเปล่าก็ไม่รู้ หรือมันเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องตลก ดูอีรุงตุงนังหากปล่อยให้เพศสภาพเพศวิถีมันหลากหลายเกินครรลองสังคม
คำนิยามเหล่านี้อาจจะถูกใช้ในเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของย่อยอีกที แต่ก็ไม่แพร่หลาย เพราะลำพังความพยายามที่จะเสนอความหลากหลายทางเพศด้วยคำเหล่านี้ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดของความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากยังคงเป็นการนิยามที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบคู่ตรงข้าม ชาย-หญิง, รุก-รับ. ทอม-ดี้. คิง-ควีน หรือรักต่างเพศ-รักเพศเดียวกันอยู่ดี ซึ่งการแบ่งอะไรเป็นคู่ตรงข้ามคือความไม่ซับซ้อนอย่างหนึ่งเหมือนแบ่งโครงสร้างออกเป็นขาวกับดำ แล้วเพิ่มสีสันด้วยการไปโยงจับคู่สลับไปมาระหว่างเพศสภาพนั้นเพศสภาพนี้
เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง มีความพยายามจัดระเบียบเพศสภาพเพศวิถี ผ่านเพศสรีระที่เป็นเพศทางกายภาพชีวภาพ บุคลิกทางเพศ และรสนิยม ไขว้สลับไปมา ระหว่างชาย หญิง กะเทย คนสองเพศ และคนไร้เพศ ในฐานะตัวแปรต้น จนได้เป็น 63 เพศสภาพ หนึ่งในนั้นคือ Masculine Female-Attracted Hermaphrofemale หมายถึงคนที่มีทั้งอวัยวะเพศชายและเพศหญิงทางกายภาพแต่ปรากฎลักษณะของผู้หญิงมากกว่า ชื่นชอบและมีความต้องการทางเพศกับผู้หญิงที่มี ‘ความเป็นชาย’ หรือมีแม้กระทั่ง Feminine Bisexual Andromale และ Androgine Bisexual[6] …งงเด้ ซึ่งก็มีชะตากรรมเดียวกับทอมเกย์คิง ทอมเกย์ควีน เชอร์รี่ คือไม่มีใครบ้าจี้นำมาใช้
ความพยายามไม่มานั่งเลือกรสนิยมทางเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ นำมาสู่ ‘ไบเซ็กชวล’ (bisexual) ที่บุคคลหนึ่งสามารถรักเพศเดียวกันก็ได้ รักต่างเพศก็ได้ ซึ่งคนไทยบางคนก็ชอบใช้คำว่า ‘เสือไบ’ อย่างไรก็ตาม bisexual ก็ยังคงยืนบนโครงสร้างแบบขั้วตรงข้ามที่มีรักต่างเพศกับรักเพศเดียวกันอยู่ดี
การไม่จำเพาะเจาะจงความต้องการทางเพศกับเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ และการก้าวข้ามระบบทวิภาค (binary) หรือทวิลักษณ์ (dualism) ทางเพศ ก็นำไปสู่การนิยามตนเองของปัจเจกบุคคลว่าเป็น ‘pansexual’ หรือบุคคลที่สามารถรัก มีเพศสัมพันธ์ ออกเดทกับเพศใดก็ได้ไม่เกี่ยงว่าคนๆ นั้นจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด เพศสรีระแบบใด หรือเพศวิถีแบบใด ซึ่ง pan เป็น prefix ที่หมายถึงทั้งหมด ขณะที่ prefix คำว่า bi หมายถึง 2 ในมิติของทฤษฎี pansexual จึงเป็นการยืนหยัดที่จะปฎิเสธการเลือกเพศสภาพเพศวิถีใดหนึ่งเท่านั้นโดยเฉพาะเช่นเดียวกับ bisexual เพียงแต่ bisexual ยังยึดอยู่กับกรอบแบบคู่ตรงข้ามเท่านั้น แต่ pansexual พยายามพร่าเลือนเส้นแบ่งเพศต่างๆ ซึ่งก็เป็นเพศวิถีนี้มีมานานแล้ว แต่กลับมาเป็นที่นิยมพูดถึงอีกครั้งเมื่อนังเหมยลี่ Miley Cyrus ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารต่างๆ เช่น ELLE และ PAPER ว่าเธอมีเพศวิถีแบบ pansexual ในปี 2015[7] หลังจากที่ Sigmund Freud เคยได้ใช้คำนี้เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 บนสำนึกที่เพศเป็นพื้นฐานทุกสิ่ง
ความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศจึงไม่ได้อยู่ที่ไปสร้างกล่องหลายๆ ใบเช่น กล่องอดัม กล่องแองจี้ กล่องสามย่าน แล้วเที่ยวไปจับคนนั้นคนนี้ยัดใส่กล่องนั้นๆ หากแต่ปล่อยให้เจ้าตัวนิยามตัวตนของเขาเองโดยไม่ต้องมีกล่องหรือกรอบมาครอบ
แต่แม้ว่าขนาด pansexual อุตส่าห์ไม่พยายามจำกัดตัวเอง ไม่แสวงหาอัตลักษณ์เดียว ไม่วายก็ยังมีคนหวังดีถวายธงเพศวิถีให้ เป็นธง 3 แถบสี มีสีชมพู (แทนผู้หญิง) เหลือง (แทนเพศที่ไม่ใช่คู่ตรงข้ามแบบชายหญิง) และฟ้า (แทนผู้ชาย)
มีความเข้าใจผิดมากมายว่า คนที่นิยามตัวเองว่าเป็น pansexual คือพวกสำส่อน เอาไม่เลือก อันที่จริงใครจะสำส่อนยังไงมันก็ไม่ผิด แต่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเพศวิถีนี้ พอๆ กับที่ pansexual ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนคนหลับนอนในเวลาเดียวกันหรือระบบหลายผัวหลายเมียเสมอไป หากแต่ pansexual เป็นเพียงเพศวิถีแบบ Non-binary identities ที่ใครคนนั้นจะสามารถเดท หลงรัก และมีเซ็กซ์กับเพศสภาพเพศวิถีใดก็ได้ อาจจะเป็น ชาย หญิง เกย์ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศไม่ว่าจากเพศไหนสู่เพศไหน หรืออาจจะไม่มีเพศใดๆ เลย ด้วยเหตุผลที่ว่า ณ ขณะนี้ฉันรักคนนี้ ฉันอยากคนนี้ ฉันคลิกกับคนนี้ เพราะเขาคนนี้ ไม่ใช่เพราะเขามีเพศสถานะเพศวิถีใด มีหรือไม่มี แต่ก็ไม่รวมถึงเอากับศพ เอากับสัตว์นะ เพราะว่าเป็นเพศสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่การยินยอมพร้อมใจของผู้ที่จะยิ้มด้วย
ขณะเดียวกันคนที่เป็น pansexual เองอาจจะเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง แปลงเพศแล้ว แต่งกายข้ามเพศ หรือมี 2 อวัยวะเพศ เขาและเธออาจจะเป็นรักเพศเดียวกันสักระยะ แล้วมารักต่างเพศ เมื่อเลิกกับแฟนรักต่างเพศแล้วก็อาจจะมาคบกับคนข้ามเพศ เมื่อเลิกกับคนข้ามเพศก็สามารถไปแต่งงานจดทะเบียนสมรส และพอต่อมาเกิดหย่ากันก็อาจจะไปคบกับคนรักเพศเดียวกันอีกที
เพราะไม่เพียงแต่เพศสภาพเพศวิถีจะหลากหลาย แต่มันยังลื่นไหล และไม่ใช่ความสับสนทางเพศ เอาเข้าจริงไม่มีใครสับสนทางเพศหรอก หากแต่ต่างมีเสรีภาพที่จะแสวงหาประสบการณ์และสนองรสนิยมตนเอง บางที ‘ความสับสนทางเพศ’ อาจหมายถึงบุคคลที่ไม่เข้าใจหรือไม่ยอมทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศมากกว่า
เหมือนกับพวกที่ชอบบ่นอุบว่า เดี๋ยวเพศนั้นไปได้กับเพศนี้เดี๋ยวเพศนี้ไปได้กับเพศนั้น สังคมชักจะอยู่ยากขึ้นทุกวัน เอาเข้าจริง มันก็ไม่ยากหรอก ที่มันยากก็เพราะไปคุ้นชินกับโครงสร้างสังคมไม่ซับซ้อนที่ยังแบ่งออกเป็นคู่ตรงข้ามเอง แล้วเด๋อคิดว่าเพศเป็นสิ่งที่ถูกจัดระเบียบไว้ให้เป็นเช่นนั้นแล้ว จะเปลี่ยนแปลงอะไรเองไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Jackson, Peter A, An Explosion of Thai Identities: Global Queering and Reimagining Queer Theory, Culture, Health and Sexuality, vol. 2, no. 4, (2000), pp. 405-424.
[2] Jackson, Peter A. An American Death in Bangkok: The Murder of Darrell Berrigan and the Hybrid Origins of Gay Identity in 1960s Thailand. GLQ: A Journal of Lesbian and Gay Studies 5.3 (1999) pp. 361-411.
[3] เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. วาทกรรมเกี่ยวกับ “เกย์” ในสังคมไทย พ.ศ. 2508-2542. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. ศิลปศาสตร์ (ประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[4] นฤพน์ ด้วงวิเศษ, ขบวนการเคลื่อนไหวของเกย์ในสังคมไทยภาคปฏิบัติการและกระบวนทัศน์. กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์ สังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิต (การบริหารสังคม)คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553.
[5] teen.mthai.com/variety/70861.html ; webboard.news.sanook.com/forum/?topic=3733011 ; starvegas-slotonline.net
[7] www.elleuk.com/life-and-culture/news/a27013/miley-cyrus-elle-uk-october-2015/ ; www.huffingtonpost.com/2015/06/09/miley-cyrus-sexuality-paper-magazine_n_7543810.html