ในประเทศที่สมรสเท่าเทียมยังไม่ปรากฏ แต่อุตสาหกรรมวายไทยในคราบซีรีส์ กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนใครหลายคนถึงกับจับตามองว่า นี่อาจเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศเราได้
ทว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่พอหรอกว่าไหม? เราควรต้องขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิง และขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ในทางก้าวหน้าไปพร้อมๆ กันด้วย
แน่นอนว่าเมื่อ ‘ซีรีส์วาย’ ได้รับความสนใจจากทั่วโลกขนาดนี้ มีหรือที่ชาว The MATTER จะพลาดไปได้ ใครหลายคนในพวกเราเองก็มีบ้างที่แอบเป็นสาววายนอนดูซีรีส์จนฟินจิกหมอน ดูไปก็เอ๊ะไป บางคนก็ดูแล้วได้อะไรกลับมาต่อยอดเป็นคอนเทนต์สนุกๆ วันนี้เราเลยขอโชว์ DATA ซีรีส์วายในรอบเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ไปถึงเรื่องที่ลงจอจนจบแล้วภายในวันที่ 30 กันยายน 2566 ฉบับ The MATTER มาให้ทุกคนได้ดูกัน
แต่ช้าก่อน…พวกเราต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ขอบเขตการเลือกซีรีส์วายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำ DATA นี้ ไม่ได้เก็บข้อมูลไปถึงวายเรื่องอื่นๆ ที่ถูกจัดทำขึ้นเป็นมินิซีรีส์วาย เรื่องที่ถูกทำต่อเป็นภาพยนตร์ ซิตคอม ภาคพิเศษ ซีรีส์วายที่จบในตอนเดียว และซีรีส์ที่ไม่ถูกกำหนดว่าเป็น BL&GL ด้วยนะ ส่วนซีรีส์วายที่มีภาคต่อ หรือหลายๆ เรื่องใช้คำว่าซีซั่น 2 เราจะเก็บข้อมูลแต่ละภาคแยกออกจากกันเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งจะยกเว้นเมื่อภาคต่อเหล่านั้นเป็นมินิซีรีส์ หรือเป็นเพียงตอนพิเศษด้วย
เพราะงั้นแล้วอย่ามัวรีรอ ขอพาทุกคนไปสำรวจ DATA ซีรีส์วายไทย จากพวกเราชาว The MATTER กัน!
ซีรีส์วายฟีเวอร์
เราขอประเดิมความยิ่งใหญ่ของข้อมูลชุดนี้ด้วยจำนวนซีรีส์วายทั้งหมดกันก่อน โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมภายใต้เงื่อนไขว่า
- เป็นซีรีส์วายที่มีจำนวนตอนมากกว่า 1 ตอน ไม่ใช่มินิซีรีส์ ซิตคอม ภาพยนตร์ หรือซีรีส์ที่ถูกระบุเป็นประเภทอื่น
- เป็นซีรีส์วายที่ฉายระหว่างปี 2558-2566 และตอนสุดท้ายต้องฉายจบภายในวันที่ 30 กันยายน 2566
- ซีรีส์วายภาคต่อที่มีจำนวนมากกว่า 1 ตอน จะถูกเก็บข้อมูลเป็นอีกหนึ่งเรื่อง
หลังจาก The MATTER สำรวจตลาดวายอยู่นานก็พบว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตซีรีส์วายออกมาแล้วอย่างน้อย 177 เรื่อง แบ่งเป็นซีรีส์วายที่สร้างจากบทประพันธ์ดั้งเดิม 70 เรื่อง คิดเป็น 39.55% และซีรีส์วายที่สร้างจากบทประพันธ์ดัดแปลง (คืออ้างอิงจากผลงานนิยาย, การ์ตูน, ฯลฯ) 107 เรื่อง คิดเป็น 60.45% ทั้งนี้บทประพันธ์ดัดแปลงดังกล่าว ยังแบ่งออกได้เป็นนิยาย 103 เรื่อง คิดเป็น 96.26% และการ์ตูน 4 เรื่อง คิดเป็น 3.74%
ยัง ความยิ่งใหญ่ของมันยังไม่หมดเท่านั้น เรายังนำซีรีส์วายทุกเรื่องมารวมกัน เพื่อหาคำตอบสำหรับคนที่สงสัยว่า ถ้าเราอยากจะเป็นสาววายเต็มขั้นจากการดูซีรีส์วายทั้งหมดนี้ เราต้องใช้เวลากับหน้าจอนานเท่าไร? ซึ่งผลที่ได้ออกมาน่าสนใจมาก เพราะเวลารวมทุกตอน (ไม่นับตอนพิเศษ) ของซีรีส์วายทั้งหมด 177 เรื่องนี้ เท่ากับระยะเวลา 1,425 ชั่วโมง 41 นาที 13 วินาที เทียบได้กับการเดินเท้าไปอิหร่านแบบไม่หยุดพักด้วยความเร็ว 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดระยะทาง 6,576 กิโลเมตร จำนวน 1 ครั้ง เทียบได้กับการต่อสู้กับ ‘นกอีมู’ ของชาวออสเตรเลียในสงครามนกอีมู จำนวน 2 ครั้ง และเทียบได้กับการร้องเพลงชาติไทยความยาว 1:12 นาที จำนวน 71,284 ครั้งเชียว…
รักวุ่นวาย กับการขาย BL&GL
มาต่อกันด้วยข้อมูลที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งคือ จำนวนซีรีส์วายที่เป็นชายรักชายและหญิงรักหญิง ซึ่งพิจารณาจากซีรีส์วาย 177 เรื่องที่เราเก็บรวบรวมมา พบว่าเกือบ 100.00% (คือ 97.74%) เป็นซีรีส์ชายรักชาย ขณะที่ซีรีส์หญิงรักหญิง หรือซีรีส์ที่มีความหลากหลายมากกว่านั้น (คือมีทั้งคู่ตัวละครชายรักชายและหญิงรักหญิงอยู่ในเรื่องเดียวกัน) ปรากฏให้เราเห็นอยู่เพียง 1.13% เท่านั้น
Genre ฮิตติดชาร์ต
ก่อนจะเริ่มสำรวจเนื้อหาในส่วนนี้ เราขอชี้แจงก่อนว่า เนื่องจากซีรีส์วายบางเรื่องไม่ได้ระบุประเภท (Genre) ชัดเจน ข้อมูลบางส่วนจึงจำเป็นต้องอ้างอิงจากทีมงานที่ดูซีรีส์วายเรื่องนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดก็น่าจะพอสังเขปภาพกว้างออกมาได้บ้าง
เราจะเห็นว่าประเภทที่ได้รับความนิยม และถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์วายมากที่สุดคือ Romantic Drama ที่มีจำนวนมากถึง 90 เรื่อง จากทั้งหมด 177 เรื่อง คิดเป็น 50.85% และเป็นประเภทเดียวที่นอกจากซีรีส์ชายรักชายแล้ว ยังมีซีรีส์หญิงรักหญิง และซีรีส์ที่มีทั้งตัวละครชายรักชายและหญิงรักหญิงอยู่ด้วย
ก่อนจะตามมาติดๆ ด้วย Romantic Comedy จำนวน 71 เรื่อง คิดเป็น 40.11% Romantic Fantasy จำนวน 11 เรื่อง คิดเป็น 6.21% และ Drama Action จำนวน 2 เรื่อง คิดเป็น 1.13%
ส่วนประเภทที่อาจไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะมีฉายเพียงประเภทละ 1 เรื่อง หรือคิดเป็น 0.56% คือ Romantic Action, Romantic Horror และ Romantic Mystery
ถอดรหัสชื่อซีรีส์วาย
นอกจากองค์ประกอบในส่วนของเนื้อเรื่องและนักแสดงแล้ว ชื่อเรื่องเองก็เป็นหนึ่งในความโดดเด่น ซึ่งช่วยให้ซีรีส์วายหลายๆ เรื่องได้รับความสนใจ เรียกว่าทำหน้าที่เป็นเหมือนประตูบ้าน ที่เชื้อเชิญผู้ชมทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ให้เปิดใจเข้ามาดู โดยชื่อที่ติดหู จำง่าย ก็จะเป็นจุดขายแรกที่ช่วยให้ผู้ชมเกิดความสนใจ The MATTER จึงไม่พลาดที่จะวิเคราะห์ชื่อซีรีส์วายจากทั้งหมด 177 เรื่อง ซึ่งทำให้เห็นจุดร่วมกันของชื่อ 6 ลักษณะ
*หมายเหตุ จำนวนคำที่เก็บข้อมูลนับรวมคำซ้ำที่ปรากฏทั้งหมด เช่น หากเจอคำว่า ‘รัก’ 25 ครั้ง ก็จะเรียกว่าปรากฏคำว่ารัก 25 คำ
1. คำบอกสถานะความสัมพันธ์
ก่อนจะถึงช่วงแฮปปี้เอนดิ้ง ตัวละครในซีรีส์วายมักจะมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันไป ทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง เพื่อน แฟน และอีกมากมาย มีซีรีส์ 25 เรื่องที่ปรากฏคำบอกสถานะทางความสัมพันธ์ในชื่อเรื่อง และมีด้วยกัน 5 เรื่องที่ใช้คำบอกความสัมพันธ์ถึง 2 ครั้งในชื่อเดียว เช่น Close Friend โคตรแฟน 2 ที่มีทั้ง ‘Friend’ และ ‘แฟน’ ในชื่อเรื่อง
ดังนั้นยอดรวมคำบอกสถานะความสัมพันธ์ จึงมีทั้งสิ้น 30 คำ โดยคำที่ปรากฏมากที่สุดอันดับ 1 คือคำว่า ‘พี่’ ซึ่งถูกใช้ไปทั้งหมด 10 ครั้งนั่นเอง ไม่แน่ว่าซีรีส์แนวรุ่นพี่-รุ่นน้อง อาจเป็นเทรนด์ที่กำลังเจาะกลุ่มตลาดวายอยู่ก็เป็นได้
2. ชื่อตัวละคร
สิ่งสำคัญของซีรีส์วายคงหนีไม่พ้นตัวละคร จึงไม่แปลกที่หลายครั้งชื่อตัวละครจะถูกหยิบยกเอาไปใส่ไว้ในชื่อเรื่อง ยิ่งถ้าเรื่องไหนผู้เขียนตั้งใจสร้างสรรค์ชื่อให้กับบรรดาผู้คนที่ดำเนินเรื่องแล้ว ชื่อตัวละครเหล่านั้นจะถูกหยิบยกมาร้อยเรียงเป็นชื่อซีรีส์วายอย่างน่าประทับใจ โดยซีรีส์วายที่ปรากฏชื่อตัวละครมีทั้งสิ้น 15 เรื่อง แต่หากนับเป็นรายชื่อมี 24 ชื่อ เช่น นับสิบจะจูบ ต้นหนชลธี หรืออย่าเล่นกับอนล
3. คำคล้องจอง
การมีชื่อเรื่องที่เป็นคำคล้องจอง พร้อมเข้าไปคล้องใจสาวกซีรีส์วาย เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าตั้งข้อสังเกต และก็ไม่น่าเชื่อว่ามีซีรีส์วายมากถึง 87 เรื่องที่มีคำคล้องจองในชื่อเรื่อง ซึ่งทุกชื่อต่างสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ในการวางลูกเล่น พร้อมตอกย้ำให้เห็นถึงศิลปะด้านการใช้ภาษา เช่น รักจิ้น ฟินเฟร่อ, มีช็อป มีเกียร์ มีเมียรึยังวะ หรือทฤษฎีสีชมพู
4. การกระทำและความรู้สึกในความสัมพันธ์
เกินครึ่งหนึ่งของซีรีส์วาย มีพื้นฐานเป็นความโรแมนติก ทำให้ชื่อเรื่องหนีไม่พ้นความโรแมนติกด้วยเช่นกัน โดยพบการใช้คำที่แสดงถึงการกระทำ และบอกความรู้สึกในความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจนทั้งสิ้น 114 เรื่อง ซึ่งหากนับเป็นจำนวนคำก็มีมากถึง 118 คำ (บางเรื่องมีมากกว่า 1 ความรู้สึก) และแน่นอนอีกว่าคำที่โดดเด่นขึ้นมาก็ต้องเป็นคำว่า ‘รัก’ ที่ปรากฏซ้ำมากที่สุดถึง 72 คำ นอกจากภาษาไทยแล้ว ‘Love’ เองก็ปรากฏรองลงมาถึง 29 คำ เช่น อกหักมารักกับผม, บังเอิญรัก หรือแปลรักฉันด้วยใจเธอ
5. สรรพนาม
ถ้าขาดการพูดถึงสิ่งนี้ไป ก็เหมือนว่าเราลืมใส่รองเท้าก่อนออกจากห้อง ‘สรรพนาม’ เป็นหนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจ เพราะการใช้สรรพนามสามารถแสดงให้เห็นลักษณะหรือเซตติ้งของเรื่องได้ โดยสรรพนามที่เรานำมาเก็บข้อมูล เป็นเฉพาะสรรพนามที่ใช้เรียกแทนชื่อคน ไม่นับรวมชื่อเฉพาะต่างๆ และเลือกเก็บข้อมูลจากชื่อภาษาไทยเท่านั้น ซึ่งพบการใช้สรรพนามทั้งสิ้น 57 เรื่อง และคำที่พบมากที่สุด คือคำว่า ‘นาย’ ทั้งสิ้น 23 คำ เช่น จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว, รักนะน้องชาย รักนายครับผม หรือเราเห็นนาย
6. คำบอกอาชีพ/การศึกษา
ซีรีส์วายทั้งสิ้น 26 เรื่อง ปรากฏการใช้คำบ่งชี้อาชีพและการศึกษาในชื่อเรื่องเช่นกัน โดยแจกแจงได้ทั้งหมด 32 คำ และคำเกี่ยวกับอาชีพและการศึกษาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เรียกว่าเป็นไปอย่างที่หลายคนคาดเดา ซึ่งคำว่า ‘วิศวะ’ ถูกใช้ในชื่อซีรีส์วายทั้งหมด 6 ครั้ง รองลงมาคืออาชีพ หรือคณะเกี่ยวกับการแพทย์ 5 ครั้ง ทั้งนี้ชื่อเรื่องยังพบบทบาทที่น่าสนใจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มาเฟีย คุณชาย ฯลฯ เช่น เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น, วิศวะสุดหล่อกับคุณหมอของผม หรือร้ายนักนะรักของมาเฟีย
คู่จิ้นที่ใช่ คู่แสดงที่ชอบ
มาถึง ‘คู่จิ้น’ นับเป็นหนึ่งในจุดโฟกัสสำคัญของซีรีส์วาย ในสายตาหลายๆ คนอาจเรียกว่า เป็นจุดสนใจหลักของเรื่องเลยก็ว่าได้ เพราะว่านอกจากการติดตามเรื่องราวของตัวละครแล้ว เหล่าแฟนคลับยังอยากติดตามดูความสัมพันธ์นอกจอของพวกเขาด้วย
ทว่าก่อนจะไปดูกันว่าคู่จิ้นคู่ไหนแสดงด้วยกันบ่อยที่สุด ทุกคนต้องอย่าเพิ่งลืมเกณฑ์การเก็บข้อมูลของเราชาว The MATTER อย่างที่ว่าไปในข้างต้น ทั้งนี้ยังรวมถึงการไม่เก็บข้อมูลการปรากฏตัวของเหล่าคู่จิ้นในฐานะแขกรับเชิญด้วย เพราะฉะนั้นหากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของคู่จิ้นในลิสต์นี้ อาจสังเกตเห็นได้เลยว่า นี่ไม่ใช่จำนวนเรื่องที่พวกเขาแสดงด้วยกันนะ ซึ่งก็เป็นข้อสังเกตที่ถูกต้อง เพราะขอบเขตการเลือกซีรีส์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลนี้ อาจส่งผลให้มีหลายๆ บทบาทการแสดงของบางคู่จิ้นไม่ถูกนับในการเก็บข้อมูลไปอย่างน่าเสียดาย…
เริ่มที่คู่จิ้นอันดับที่ 1 ตีคู่กันมาด้วยจำนวน 6 เรื่องจากทั้งหมด 177 เรื่องคือ คิมม่อน—วโรดม เข็มมณฑา กับคอปเตอร์—ภานุวัฒน์ เกิดทองทวี (#คิมคอป) และโอห์ม—ฐิติวัฒน์ ฤทธิ์ประเสริฐ กับฟลุ้ค—ณธัช ศิริพงษ์ธร (#โอห์มฟลุ้ค) โดย 2 ใน 6 เรื่องของทั้งคู่ล้วนเป็นซีรีส์ภาคต่อ เช่น Gen Y วัยรุ่นวุ่น Y รัก 2 หรือเชือกป่าน ซึ่งเป็นเรื่องราวต่อมาจากด้ายแดง รวมถึง Close Friend โคตรแฟน ที่มี 2 ซีซั่น เรียกได้ว่านอกจากนักแสดงทั้งคู่จะเล่นด้วยกันหลายเรื่องแล้ว เราก็จะได้เห็นเรื่องราวของตัวละครที่เดินไปต่อในทางข้างหน้าด้วยกันอีกด้วย
อันดับที่ 2 ตกเป็นของคู่จิ้นอย่าง บุ๋น—นพณัฐ กันทะชัย กับเปรม—วรุศ ชวลิตรุจิวงษ์ (#บุ๋นเปรม) ด้วยจำนวน 4 เรื่อง และทั้งคู่ยังมีโอกาสไปเป็นนักแสดงรับเชิญในซีรีส์วายเรื่องอื่นๆ ด้วยอีกจำนวน 2 เรื่อง คือ You Never Eat Alone และนิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ
อันดับที่ 3 ของเรามีคู่จิ้น 4 คู่ที่แสดงด้วยกัน ด้วยจำนวนทั้งหมด 3 เรื่องนั่นคือ ออฟ—จุมพล อดุลกิตติพร กับกัน—อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์ (#ออฟกัน) เอิร์ท—พิรพัฒน์ วัฒนเศรษสิริ กับมิกซ์—สหภาพ วงศ์ราษฎร์ (#เอิร์ทมิกซ์) แม็กซ์—ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ กับตุลย์—ภากร ธนศรีวนิชชัย (#แม็กซ์ตุลย์) และยุ่น—ภูษณุ วงศาวณิชชากร กับเล—ทะเล สงวนดีกุล (#ยุ่นเล) ทั้งนี้พวกเขาเองยังมีผลงานอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เกณฑ์การเก็บข้อมูลของเราร่วมกันมากมาย ตั้งแต่ซีรีส์รูปแบบอื่นๆ ไปจนภาพยนตร์ที่แสดงร่วมกัน
บทบาทสุดฟิน
หลังจากได้เห็นนักแสดงที่แสดงคู่กันไปบ้างแล้ว เราเลยไม่พลาดที่จะเก็บข้อมูลบทบาทต่างๆ ของตัวละครมาให้ทุกคนได้ดูกันต่อว่า จากซีรีส์วายทั้งหมด 177 เรื่อง และตัวละครเอกกว่า 200 คู่ 400 ตัวละคร สะท้อนออกมาอันดับที่ 1 เป็นนักศึกษาไปแล้ว 169 ตัวละคร รองลงมาคือวัยทำงาน 142 ตัวละคร นักเรียน 52 ตัวละคร และอื่นๆ อีก 37 ตัวละคร
ทั้งนี้ยังแยกย่อยได้อีกว่าเป็นนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะทันตแพทย์ โดยบรรดาตัวละครที่สามารถระบุคณะเรียนได้กว่า 28 ตัวละคร เป็น ‘นักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์’
ด้านอาชีพการงานก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ นักธุรกิจ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ สถาปนิก มัณฑนากร แพทย์ ทันตแพทย์ ครู-อาจารย์ นักเขียน นักเขียนบทละคร นักแสดง ทนาย ฟรีแลนซ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ บาริสต้า วินมอเตอร์ไซค์ พนักงาน 7-11 พนักงานคุมการโหลดสินค้าเครื่องบิน หรือมาเฟีย ซึ่งอาชีพยอดฮิตที่ตัวละครกว่า 15 ตัวละครทำ คือ ‘นักแสดง’
ส่วนตัวละครในกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือทำงานอะไร ก็มีทั้งเป็นคุณชายในบ้าน ผู้เข้าแข่งขันรายการเซอร์ไวเวอร์ และผู้เข้าประกวดนางงาม
นอกจากนี้ในการเก็บข้อมูล เรายังพบว่ามีตัวละครหลายคู่ที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพี่ว้ากกับน้องปีหนึ่ง เจ้านายกับลูกน้อง เช่น หัวหน้างานและคนในทีม นักศึกษาฝึกงานกับพนักงานประจำที่เป็นพี่เลี้ยงฝึกงาน คุณหนู-คุณชายกับบอดี้การ์ดหรือพ่อบ้านส่วนตัว ไม่เพียงเท่านั้นเรายังพบอีกว่า มีตัวละคร 2 คู่ที่มีความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ครู-อาจารย์กับนักเรียน-นักศึกษา’ จากตัวละครหลักที่ประกอบอาชีพครู-อาจารย์ถึง 6 ตัวละคร
Funfact: ตัวละครกลุ่มอื่นๆ นอกจากมีเรื่องที่ไม่ระบุว่ามีบทบาททางสังคมใดแล้ว บางเรื่องก็มีตัวละครที่เป็นวิญญาณ เทวดา กามเทพ ยมทูต ตุ๊กตาหมีที่กลายร่างเป็นคน แมว หรือชนเผ่าที่แปลงร่างเป็นแมวได้อีกด้วย
เสียงสะท้อนของ LGBTQ+
พูดถึงซีรีส์วายทั้งที จะไม่พูดถึงประเด็นปัญหาของ LGBTQ+ ก็คงไม่ได้ ทั้งซีรีส์ชายรักชายและหญิงรักหญิง มักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า เป็นสื่อบันเทิงที่หากินกับเพศสภาพหรือเปล่า? หรือกำลังกดทับลดทอนสิทธิของ LGBTQ+ หรือไม่? ขนานไปกับการถูกวิจารณ์ว่า สร้างขึ้นเพียงเพื่อขายความฟิน โดยละเลยการพูดถึงสิทธิ (ที่ควรมี) ของคนเพศหลากหลาย
เราจึงสำรวจเสียงสะท้อนของ LGBTQ+ ที่ปรากฏบนซีรีส์วายทั้งหมด 177 เรื่อง แบ่งออกเป็น 12 หมวดหมู่ ซึ่งต้องชี้แจงก่อนว่า ซีรีส์วาย 1 เรื่องนั้นสามารถมีได้มากกว่า 1 ประเด็น ก่อนจะพบว่าซีรีส์วายที่ไม่มีเนื้อหาเล่าปัญหา หรืออุปสรรคที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญเลย มีอยู่ 103 เรื่อง คิดเป็น 58.19% ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า ซีรีส์วายกว่าครึ่งหนึ่งหยิบตัวละครที่มีอัตลักษณ์เพศหลากหลายมาเล่า โดยไม่ได้แตะถึงปัญหาและอุปสรรคที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญเลย
เรายังพบว่าปมของซีรีส์วายหลายเรื่องที่ไม่พูดถึงอุปสรรคของ LGBTQ+ มักเน้นเล่าถึงอุปสรรคที่กีดขวางเส้นทางความรักระหว่างคู่หลักเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี จากซีรีส์วาย 177 เรื่อง เราก็พบว่ามีอยู่ 74 เรื่องเท่านั้น ที่เล่าถึงปัญหาที่ LGBTQ+ ต้องเผชิญ ดังนี้
- ครอบครัวไม่ยอมรับ 26 เรื่อง คิดเป็น 14.69%
- ถูกเหยียดเพศ 18 เรื่อง คิดเป็น 10.17%
- สังคมไม่ยอมรับ 10 เรื่อง คิดเป็น 5.65%
- มีปัญหาในการยอมรับเพศของตัวเอง 10 เรื่อง คิดเป็น 5.65%
- ต้องปกปิดเพศ เพราะกลัวไม่ถูกยอมรับ 10 เรื่อง คิดเป็น 5.65%
- ไร้สิทธิสมรสของเพศหลากหลาย 6 เรื่อง คิดเป็น 3.39%
- ถูกใช้อัตลักษณ์เพื่อหาผลประโยชน์ 6 เรื่อง คิดเป็น 3.39%
- ถูกกดดันให้รักเพศตรงข้าม 4 เรื่อง คิดเป็น 2.26%
- ต้องพิสูจน์ตัวตนเพื่อการยอมรับ 3 เรื่อง คิดเป็น 1.69%
- ถูกตีตราด้วยโรคเอดส์ 2 เรื่อง คิดเป็น 1.13%
- ถูกล้อชื่อเก่า (Misgender) 1 เรื่อง คิดเป็น 0.56%
- ถูกตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ทางเพศ 1 เรื่อง คิดเป็น 0.56%
ปัญหาครอบครัวไม่ยอมรับ เป็นปัญหาหลักที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในซีรีส์วาย ซึ่งมักเล่าผ่านครอบครัวที่ไม่ยอมรับความรัก และอัตลักษณ์ทางเพศของตัวละคร จนแสดงออกถึงท่าที ‘ไม่ยอมรับ’ ผ่านความผิดหวัง ก่นด่า ไปจนถึงพยายามกีดกันไม่ให้ตัวละครรักกัน เพราะเชื่อว่าไม่เป็นไปตามขนบ ตามมาด้วยการถูกเหยียดเพศ ซึ่งสะท้อนผ่านหลายสถานการณ์ เช่น การล้อเลียน และการบูลลี่เรื่องเพศสภาพ
ท้ายที่สุดนี้ อาจจะจริงว่าการไม่พูดถึงอุปสรรค ไม่เท่ากับว่าไม่เห็นปัญหาเหล่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า สังคมเราอยู่ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ที่คาดหวังให้ซีรีส์วายพูดถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศให้มากกว่านี้เช่นกัน