การจากไปอย่างกะทันหันของนักฟิสิกส์และจักรวาลวิทยาชื่อก้อง อย่าง Stephen Hawking ทำให้ทั่วโลกต่างตกอยู่ในความเสียใจ และตกใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้
ผู้ที่ติดตามงานด้านวิชาการคงจะเสียดายที่ได้เสียบุคลากรผู้เก่งกาจและชำนาญการเรื่องกาล-อวกาศท่านนี้ไป เพราะเขาพลิกมุมมองของโลกวิชาการได้แทบทุกครั้งที่นำเสนอทฤษฏีหรือความรู้
ส่วนคนที่ไม่ได้ตามข่าวของนักฟิสิกส์ท่านนี้แบบเชิงลึกอาจคุ้นเคยเขาผ่านภาพข่าวต่างๆ อย่างการที่ตัวของเขาได้ร่วมกิจกรรม Ice Bucket Challenge เมื่อปี 2014ในฐานะผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis) หรือ โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (Motor Neurone Disease) บ้างอาจคุ้นตาเขาจากภาพข่าวที่เขาได้ไปขึ้นเที่ยวบินไร้แรงดึงดูดในปี 2007
แต่ที่เราจะพูดถึงกันครั้งนี้ อาจเป็นอีกด้านของ Stephen Hawkin ที่ภาพลักษณ์ในวงการวิทยาศาสตร์อาจทำให้หลายคนคิดว่าเขาคงจะตึงๆ เครียดๆ ตลอดเวลา แต่ฮอว์กิงนั้นก็มีด้านบันเทิงเช่นกัน เขาได้มีส่วนร่วมในสื่อบันเทิงมาแล้วหลายอย่าง
ปรากฎตัวบนสื่อบันเทิง ในฐานะคนสำคัญจากโลกวิทยาศาสตร์
ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นสุดยอดนักฟิสิกส์ในยุคปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่ไม่เพียงคนทำสารคดีเท่านั้นที่อยากจะพูดคุยกับเขา สื่อบันเทิงสายวัฒนธรรมป๊อป ก็ได้หยิบยืมตัวตนของเขาไปกล่าวถึง และทำให้เขาได้มีโอกาสไปร่วมแจมในรายการดังหลายรายการ
ตั้งแต่ในงานอนิเมชั่นอย่าง The Simpsons ที่เขาไปปรากฏตัวในฐานะแขกรับเชิญอยู่บ่อยครั้ง โดยเก้าอี้ประจำตัวได้ถูกอัพเกรดให้บินได้และมีหมัดหุ่นยนต์ไว้ใช้ซัดคนที่ขัดคอขัดใจเขา (มีออกมาเป็นของเล่นด้วยนะ) จนทำให้คนอเมริกาส่วนหนึ่งเข้าใจผิดคิดว่าชายที่นั่งบนรถเข็นสุดเฟี้ยวนี้ เป็นแค่ตัวละครสมมติไม่ใช่บุคคลที่มีอยู่จริง และเหมือนว่าตัวของฮอว์คิงจะสนุกกับการทำงานร่วมกับ Matt Groening ผู้สร้าง The Simpsons เพราะเขาได้ไปพากย์เสียงอีกในอนิเมชั่นชุด Futurama ต่ออีกเรื่องด้วย
นอกจากนี้ฮอว์คิงยังได้ไปร่วมแจมฝั่งซีรีส์ที่มีคนแสดงจริงด้วย เช่นใน Star Trek: The Next Generation เขารับบทเป็นโฮโลแกรมของตัวเอง ที่ดวลแข่งโป๊กเกอร์กับ Albert Einstein และ Sir Issac Newton ตัวละคร Data จากซีรีส์ Star Trek ซึ่งฮอว์คิงเป็นผู้ชนะในการดวลด้วย ซีรีส์อีกเรื่องที่เขาได้ปรากฎตัวอยู่หลายตอนก็คือ The Big Bang Theory ที่เขาเล่นเป็นตัวเอง คอยเสวนาเรื่องเนิร์ดๆ (อย่างเกรียน) กับตัวละครหลักในเรื่อง
เบื้องหลังอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการมาเล่นซีรีส์ทั้งสองเรื่องนี้เกิดจากการที่ตัว Stephen Hawking เป็นแฟนรายการทีวีหลายรายการ อย่างในกรณีของ Star Trek เจ้าตัวได้โอกาสมารับเชิญเพราะเคยพบกับ Leonard Nimoy ในงานฉลองภาพยนตร์สารคดี A Brief History of Time ทางตัว Nimoy ที่แสดงเป็น Spock จึงติดต่อทีมงานเพื่อมอบโอกาสให้แฟน Star Trek อย่างฮอว์คิงไปเป็นนักแสดงรับเชิญที่น่าจดจำที่สุดคนหนึ่ง
ทางฝั่ง The Big Bang Theory ก็เช่นเดียวกัน เพราะเคยมีสื่อเจ้าหนึ่งสอบถามฮอว์คิงว่าเคยรับชมซีรีส์เรื่องนี้ไหม เพราะประเด็นหลักของเรื่องนี้มันพูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบว่าเคยดูและสนใจที่จะไปรับเชิญในเรื่อง ทำให้โปรดิวเซอร์กับที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของซีรีส์พยายามติดต่อและสุดท้ายพวกเขาก็ได้ฮอว์คิงมาร่วมเข้าฉากจริงๆ และมาเป็นภาพกับเสียงในอีกหลายๆ ตอน
ในทางกลับกัน มีนักแสดงที่รับบทเป็นสตีเฟ่น ฮอว์คิง แล้วหลายครั้ง มีนักแสดงจำนวนมากทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นที่เคยสวมบทบาทเป็นนักฟิสิกส์คนนี้ในแบบโปกฮา ส่วนในแบบจริงจังนั้น มีสองนักแสดงชื่อดังที่เคยเล่นในภาพยนตร์บอกเล่าชีวประวัติของเขา คนหนึ่งก็คือ Eddie Redmayne จากหนังเรื่อง The Theory Of Everything ที่สมจริงจนคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายมาได้ อีกหนึ่งคนที่หลายท่านคุ้นเคยก็คือ Benedict Cumberbatch จากภาพยนตร์ของ BBC เรื่อง Hawking
ส่วนฝั่งเกม อาจจะเป็นห้วงมิติที่สตีเฟ่น ฮอว์คิง ไปถึงไม่มากนัก ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คงจะเป็น Science Kombat: Super Interessante เกมที่จับเอานักวิทยาศาสตร์จากหลายยุคหลายสมัยมาต่อสู้กันด้วยเทคนิคการต่อสู้ที่ดัดแปลงมาจากการค้นพบสำคัญ ซึ่งตัวฮอว์คิงในเกมใช้หลุมดำกับการเดินทางข้ามห้วงมิติเป็นท่าพิเศษ
Shin Megami Tensei เป็นอีกเกมหนึ่งที่มีตัวละครนั่งรถเข็นและเป็นอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งในภาคหลังๆ เขาถูกตั้งชื่อว่าสตีเฟ่นอันเป็นการแสดงออกชัดเจนว่าเอาต้นแบบตัวละครมาจากใคร (และเป็นบอสพิเศษในส่วนเนื้อเรื่องเสริมของ Shin Megami Tensei IV: Apocalypse ด้วย)
แม้สิ้นเสียง แต่ไม่สิ้นอารมณ์ศิลปิน
หลังจากที่เขามีอาการป่วยเแทรกซ้อนจากโรคปอดอักเสบในปี 1985 ภรรยาของเขาในเวลานั้นตัดสินใจผ่าตัดศัลยกรรมเจาะคอเพื่อใส่ท่อเข้าไปแทนหลอดลม ทำให้เขารอดชีวิตมาได้แต่ต้องเสียทักษะการออกเสียงไป เขาเริ่มสื่อสารกับคนอื่นๆ ด้วยเครื่องสังเคราะห์เสียง หรือ Voice Box นับตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเขาไปโดยปริยาย ถึงกระนั้นในใจของสตีเฟ่น ฮอวคิง ก็ไม่เคยไร้เสียงดนตรี เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าถึงส่วนตัวเขาฟังแต่เพลงคลาสสิกก็จริง แต่เขาคิดว่าตัวเองเป็นแฟนเพลงของ ‘ดนตรีที่มีตัวตน’ (music with character)
ไม่ใช่แค่นิยมฟังเพลงเท่านั้นฮอว์คิงยังไปฟีเจอริ่งกับนักร้องนักแสดงชื่อดังอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นใน เพลง Keep Talking ของวง Pink Floyd ที่ออกมาในปี 1994 ก็ได้หยิบเอาคำพูดของฮอว์คิง (ที่มาจากโฆษณาตัวหนึ่ง) มาประสานลงกับดนตรีของทางวง ซึ่ง David Gilmour นักร้องนำและมือกีตาร์ของ Pink Floyd บอกว่าเขาอยากใช้คำพูดของฮอว์คิง เพราะคำพูดของเขาทรงพลัง และทางวง Pink Floyd ก็หยิบประโยคเดิมมาใช้ซ้ำในเพลง Talkin’ Hawkin ที่ออกมาในปี 2014 ทั้งนี้ตัวฮอว์คิงเคยไปร่วมรับชมคอนเสิร์ตของวง Pink Floyd แบบสดๆ ด้วย
อีกเพลงที่ถือว่านักฟิสิกส์ผู้ล่วงลับได้เข้าไปแจมอย่างเต็มรูปแบบก็คือการคัฟเวอรเพลง Galaxy Song ของกลุ่มนักแสดงตลกสายแซะชื่อดังบนเกาะอังกฤษ Monty Python ที่เป็นเพลงให้กำลังใจคนว่าเรานั้นเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ บนดวงดาวอันมหัศจรรย์ ฮอว์คิงไม่เพียงแค่เป็นนักร้องในเพลงนี้ แต่เขายังร่วมแสดงใน MV เพลงดังกล่าวด้วย โดยมี Brian Cox นักฟิสิกส์ร่วมวงการออกมาบ่นว่าเพลงนี้ไม่เห็นตรงตามหลักวิทยาศาสตร์เลย ก่อนที่ Hawking จะขับรถเข็นของเขามาชน Cox แล้วเริ่มร้องเพลง ราวกับจะบอกความนัยว่าบางอย่างก็ให้มันมีความสุขในฐานะผลงานของมัน ไม่ต้องไปตึงมากก็ได้
นอกจากงานดนตรีที่เป็นการฟีเจอริ่งอย่างเป็นทางการแล้ว ก็มีศิลปินอีกจำนวหนึ่งที่หยิบเอาคำพูดของฮอว์คิงไปสร้างเป็นบทเพลงอยู่เนืองๆ ที่ชัดเจนก็คงจะเป็น MC Hawking ศิลปินฮิปฮอปสาย Nerdcore (ฮิปฮอปที่ทำเพลงเนื้อหาเนิร์ดๆ) ที่จับเอาเลคเชอร์และคำพูดออกสื่อหลายๆ อันของฮอว์คิง มามิกซ์รวมกับท่อนแร็พเพิ่มเติม จนกลายเป็นเพลงฮิปฮอปแนวนักศึกษาสองมหา’ลัยตีกันด้วยความรู้เชิงฟิสิกส์
แต่น่าเสียดายนิดๆ ตรงที่เสียงทั้งหมดที่เขาร่วมสร้างผลงานเหล่านี้เป็นสำเนียงอเมริกัน เพราะสำเนียงดั้งเดิมของ Stephen Hawking เป็นสำเนียงอังกฤษ แต่เจ้าตัวก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าแม้สำเนียงเสียงสังเคราะห์ที่ไม่สอดคล้องกับถิ่นกำเนิดนั้นกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เขาชื่นชอบ และตั้งใจใช้งานมันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวตราบจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
ส่งต่อความรู้ ให้โลกจินตนาการ
ส่วนนี้ตัวของฮอว์คิงอาจจะไม่ได้ปรากฎตัวโดยตรง แต่ผลพวงของการค้นพบหลายๆ อย่างของเขาโดยเฉพาะ ทฤษฏีเส้นเชือก (String Theory) ที่ต่อยอดไปเป็นทฤษฏีเหนือเส้น (Superstring Theory) และกลายเป็น ‘ทฤษฏีโลกคู่ขนาน’ ขึ้นมา ซึ่งทฤษฏีที่ว่ากลายเป็นอุปกรณ์ที่ทั้ง หนัง, การ์ตูน หรือ นิยาย ที่หยิบยกเอามาใช้อยู่บ่อยๆ อย่างที่ในเรื่อง ‘Your Name’ ที่ใช้สัญญะของด้ายในการแสดงความสัมพันธ์ของคู่พระนาง และเนื้อเรื่องก็เล่าในเชิงการสื่อสารผ่านโลกคู่ขนานของพระนางที่มีชะตาคู่กัน หรือการ์ตูนแนวจริงจังอย่าง ‘Q.E.D. อย่างนี้ต้องพิสูจน์’ ก็มีคดีหนึ่งที่อธิบายทฤษฏีเส้นเชือก กับ ทฤษฏีเหนือเส้น อย่างง่ายๆ ให้คนอ่านเข้าใจมากขึ้นก่อนที่ทฤษฏีทั้งสองจะเป็นปมในคดีฆาตกรรมสำคัญในเรื่อง
หรือจริงๆ ถ้าพูดถึงละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่เกศสุรางค์ ได้ไปอยู่ในร่างของแม่หญิงการะเกดในสมัยพระนารายณ์ แล้วไปกระทำเหตุการณ์ล้ำยุคอยู่หลายประการ แต่ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยในอนาคตเปลี่ยนแปลงไป อาจจะเป็นเพราะจริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่การย้อนเวลาแต่เป็นการเดินทางไปยังโลกคู่ขนานโดยบังเอิญ แค่โลกคู่ขนานใบนั้นมีความแตกต่างจากโลกของเราน้อยมากก็พอจะเป็นไปได้อยู่
นอกจากทฤษกีโลกคู่ขนานแล้ว ทฤษฏีอื่นๆ อย่าง ‘รังสีฮอว์คิง’ (Hawking Radiation) หรือ ภาวะเอกฐานเชิงความโน้มถ่วง (Gravitational Singularity) หรือความรู้อื่นๆ ในเชิงกาลอวกาศ ก็ถูกอ้างอิงในสื่อบันเทิง ทั้งการ์ตูน, นิยาย, เกม หรือหนังอยู่เรื่อยๆ บางครั้งอาจไม่ได้ลงลึกไปในเชิงรายละเอียด แต่การนำเสนอเนื้อหา ก็อาศัยการตีความค้นพบของฮอว์คิง อย่างทักษะ Singularity จากเกม Mass Effect ก็พยายามทำเป็นหลุมดำขนาดจิ๋วและสลายตัวไปเอง ที่สอดคล้องกับแนวคิดของ รังสีฮอว์คิง เป็นอาทิ
อารมณ์ขันมากล้น ไม่แพ้ความรู้ที่สรรค์สร้าง
จากเรื่องราวข้างต้นที่เล่าไป เราเชื่อว่าหลายคนอาจจะจับสังเกตได้ว่า แท้จริงสตีเฟ่น ฮอว์คิง ก็เป็นชายหนุ่มที่มีอารมณ์ขันคนหนึ่ง และหลายครั้งปล่อยมุกเด็ดเซอร์ไพรส์ผู้ฟังอยู่เป็นระยะๆ ที่เราคิดว่า ‘เฉียบ’ ก็คงเป็นการปรากฎตัวในรายการ Last Week Tonight with John Oliver รายการตลกที่ดำเนินรายการข่าว ซึ่งในตอนดังกล่าว ทั้งสองคนได้แลกมุกกันอย่างดุเดือด ซึ่งไฮไลต์ที่เราคิดว่าแสบสันต์คือมุกนี้
John Oliver : คุณเคยบอกว่า คุณเชื่อว่าอาจจะมีจักรวาลคู่ขนานจำนวนมาก นั่นหมายความว่า มันจะมีจักรวาลสักแห่งที่ผมฉลาดกว่าคุณงั้นหรือ ?
Stephen Hawking : ใช่ และก็มีจักรวาลที่คุณตลกอยู่ด้วย
ซึ่งไม่ใช่แค่การปล่อยมุกในรายการตลกเท่านั้น ในงานเลคเชอร์สาระๆ อย่าง An Evening with Stephen Hawking, Ideas at the House ที่จัดขึ้นในประเทศออสเตรเลีย ฮอว์คิงได้ตอบคำถามผู้ร่วมงานที่ถามเขาว่า “คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับผลกระทบเชิงจักรวาลวิทยาจากการที่ Zayn (Zayn Malik) ถอนตัวออกจากวง One Direction และทำให้วัยรุ่นสาวทั่วโลกนับล้านหัวใจแหลกสลาย”
แม้พิธีกรบนเวทีออกปากว่าเขาไม่เข้าใจคำถาม (หรือเข้าใจว่า Zayn คือใคร) แต่ตัวพิธีกรเชื่อว่าฮอว์คิงติดตามข่าวบันเทิงมากกว่า และเขาก็ตอบคำถามได้อย่างขำขันและคมคายดังนี้ “ในที่สุดก็มีคำถามที่สำคัญสักที… (คนดูในงานหัวเราะลั่น) คำแนะนำของผมถึงสาวๆ ที่ใจสลาย คือให้ตั้งใจเรียนสาขาฟิสิกส์ทฤษฎี เพราะวันหนึ่งคุณอาจจะพิสูจน์ได้ว่าพหุภพมีอยู่จริง และในมิติที่ไกลออกไปนั้นก็มีสักแห่งที่ห่างไกลจากจักรวาลของเราจะมีอีกจักรวาลหนึ่งอยู่ แล้วในจักรวาลนั้น Zayn ยังคงอยู่ในวง One Direction (คนดูหัวเราะลั่น) สาวน้อย(ที่ส่งคำถามมา) อาจจะอยากรู้ด้วยว่า ในจักรวาลอื่นที่เป็นไปได้นั้น เธอกับ Zayn ได้แต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข”
จากเรื่องต่างๆ ที่ผู้เขียนได้รับรู้แล้วมาเล่าสู่กันฟังต่อนี้ ทำให้ยิ่งรู้สึกว่า เราได้สูญเสียบุคคลที่ยิ่งใหญ่ทั้งในด้านวิชาการ และในด้านสร้างอารมณ์ขันไปแล้ว เราเชื่อว่า ณ ตอนนี้ Stephen Hawking น่าจะเดินทางไปในจักรวาลอื่นใดสักแห่งหนึ่ง และยังคงสร้างความรู้พร้อมกับเสียงหัวเราะให้สถานที่แห่งนั้นอยู่เป็นแน่แท้
อ้างอิงข้อมูลจาก