เมื่อการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำให้หนังสือล้มหายตายไปอย่างที่ใครหลายๆ คนคาดการณ์กันเอาไว้ กลับกัน อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรักษาบรรยากาศของการอ่านหนังสือเอาไว้ให้ยังคงอยู่ในทุกๆ ช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์
‘Readery’ เป็นอีกหนึ่งร้านหนังสือออนไลน์ที่กำลังทำให้การอ่านหนังสือกลายเป็นเรื่องที่เซ็กซี่และไม่น่าเบื่อ พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่ อะไรคือ passion เบื้องหลังร้านหนังสือออนไลน์แห่งนี้
Young MATTER ชวน ‘โจ้-อนุรุจน์ วรรณพิณ’ และ ‘เน็ต-นัฏฐกร ปาระชัย’ สองผู้ก่อตั้งของ Readery มานั่งคุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงของกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้พัดพาหนังสือไปในพื้นที่และดินแดนใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
The MATTER : ทำไมสโลแกนของร้านถึงต้องเป็น “Reading is sexy”
โจ้ : สำหรับเราคำว่า ‘เซ็กซี่’ หมายถึงความน่าตื่นเต้น กระตุ้นความรู้สึก หรือน่าดึงดูดใจให้หันมามอง ทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า สนุกสนานแล้วก็ทำให้เราเปิดกว้างไร้ขีดจำกัด ซึ่งคำว่า ‘เซ็กซี่’ ทั้งหมดที่พูดไปเราพบได้จากการอ่านหนังสือทั้งนั้นเลย การอ่านหนังสือมันเป็นแบบนี้แหละ มันทำให้เราสนุกขึ้น สดชื่นขึ้น
เน็ต: พูดในมุมของแบรนด์และของร้านแล้วกัน ‘Reading is sexy’ เป็นสโลแกนที่เราคิดขึ้นมาตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านเลย เพราะว่าตอนแรกร้านเปิดตัวด้วยการเอาหนังสือวรรณกรรมมาเป็นหนังสือที่มาสร้างคอนเทนต์ เน้นมาเสริมบุคลิกของแบรนด์ ทำให้คนรู้ว่า Readery สนใจงานวรรณกรรมนะ
แต่ว่าภาพลักษณ์ของงานวรรณกรรมดั้งเดิม มันจะดูสูงส่งไปนิดนึง จะรู้สึกว่าอ่านยาก แล้วก็ต้องมีความรู้สักนิดนึงในการเข้าถึง แต่เราอ่านงานวรรณกรรมมาในแบบที่ไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น เป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง ก็เลยรู้สึกว่าจะทำยังไงให้ความขึงขัง จริงจังของมันลดระดับลงมาเพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย ก็เลยเป็นที่มาของ “Reading is sexy” ให้มันรู้สึกว่าเข้าถึงง่าย เฟรนด์ลี่ แล้วทุกคนก็สามารถเซ็กซี่ได้ด้วยการอ่าน โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจ หรืออ่านแล้วไม่รู้เรื่อง เราสามารถด่าหนังสือสักเล่มได้มั้ย อยากจะให้มันดูสบายๆ
โจ้ : ถ้าจำได้มีอยู่ยุคหนึ่ง เราพูดถึงการอ่านว่า อ่านหนังสือแล้วดี อ่านหนังสือแล้วได้ปัญญา ซึ่งอันนั้นก็เป็นสิ่งที่ดีจริง แต่สิ่งที่คนไม่ค่อยได้พูดถึงในยุคนึง คืออ่านหนังสือแล้วมีความสุข ก็เลยคิดว่า มาอ่านหนังสือเพื่อความสุขกันบ้างนะ
The MATTER : คิดว่าคาแรคเตอร์ของ Readery เป็นยังไง? เราแตกต่างจากร้านออนไลน์อื่นๆ ยังไง?
โจ้ : เรารู้สึกว่าคาแรคเตอร์ของเรา คือเป็นนักอ่าน คำว่า ‘Readery’ มาจากคำว่า ‘reader’ เติม y มันก็คือเริ่มต้นจากเราเป็นนักอ่านอยู่แล้ว ดังนั้นคาแรคเตอร์ของเราก็คือเป็นเพื่อนนักอ่านกับนักอ่านนั่นแหละ
เน็ต :มันมาจาก ‘reader’ แล้วก็จุดเริ่มต้นของมันก็มาจากการที่เราเป็นคนอ่านหนังสือก่อนที่จะเป็นพ่อค้าหนังสือด้วยซ้ำ เพราะงั้นมุมมองทุกอย่างที่เราใส่ลงไปในทั้งตัวร้านแล้วก็สิ่งที่สื่อสารออกไปในงานคอนเทนต์ มันก็จะเป็นมุมมองของเพื่อนนักอ่านซะเป็นหลัก
The MATTER : งั้นเหมือนจะพูดได้ว่า สำหรับ Readery แล้วช่องว่างระหว่างคนขายกับคนอ่านน้อยลง
โจ้ : หรือไม่มีเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าเราเองก็เป็นคนซื้อหนังสือในร้านนี้อ่านเหมือนกันนะ
เน็ต : ทำให้เหมือนกับซื้อกับเพื่อน ก็คือขายเพื่อน แต่ไม่ใช่ขายเพื่อนอย่างนั้น แต่แบบมันก็ชวนคุยกันก่อนที่จะ เฮ้ย ซื้อมั้ย มันก็เลยเป็นทั้งน้ำเสียงของเราแล้วก็วิธีการนำเสนอของเรา
โจ้ : มันก็เลยเป็นเหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน
เน็ต : เรื่องหนังสือ
The MATTER : การไม่มีหน้าร้านหนังสือส่งผลต่อเรายังไงบ้าง
โจ้ : เรามีหน้าร้านนะแต่หน้าร้านเราแค่อยู่ออนไลน์เท่านั้นเอง มันมีการจัดการหน้าร้านเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้หน้าร้านของเราอยู่บนออนไลน์แต่อนาคตก็ไม่แน่ เพราะว่าเราอาจจะมีได้อีกหลายช่องทาง
เน็ต : สิ่งที่เหมือนกันของร้านหนังสือแบบ physical กับ ร้านหนังสือออนไลน์ คือมีการจัดการร้านหนังสือเหมือนกัน เช่น เอาหนังสือเข้าร้านยังไง มีหนังสือหัวไหนบ้างที่เป็นหนังสือแนะนำของร้าน จัดชั้นยังไง ถ้าพูดในแง่ของร้านหนังสือ เราทำงานเหมือนกัน
แต่งานที่ไม่เหมือนกันคืองานหลังบ้าน เช่น ถ้าเกิดเป็นร้าน physical ก็ไม่จำเป็นต้องดูแลเว็บไซต์ ไม่ต้องมีการเติมสต็อกเข้าไปในเว็บ เพราะการซื้อขายเกิดขึ้นในร้าน แต่ว่างานร้านออนไลน์ ลูกค้าจ่ายเงินผ่านเว็บแล้วมันมีงานข้างหลังนั้นอีกหลายวันเลย เช่น จะจัดหนังสือตามออเดอร์ของลูกค้าลงกล่องยังไง จะเช็กความถูกต้องทั้งหมดยังไง จะติดต่อแผนกจัดส่งยังไง อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างออนไลน์กับร้านจริงๆ ว่า “งานมันจบคนละที่กัน”
แต่ถ้าถามถึงข้อดีข้อเสีย ด้วยความเป็นร้านหนังสือเหมือนกัน ออนไลน์อาจจะประสบการณ์น้อยหน่อย คือ ‘การที่เราได้สัมผัสหนังสือ’ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องนำเสนอประสบการณ์แบบอื่นให้เขา เช่น ออนไลน์เราอยู่ในโซเชียลทุกแพลตฟอร์ม เราสามารถเอาหนังสือไปอยู่ในชีวิตที่เขาใช้ในแต่ละแพลตฟอร์มได้ยังไงบ้าง
หรืออย่างของเรา เราก็ขยายต่อไปเป็นบุ๊กคลับ หรือไปเป็นอะไรอื่นๆ ที่มันจับต้องได้ หรือกล่องของเรา มันคือจุดเดียวที่ลูกค้าจับเราได้จริงๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราส่งไปได้ก็คือ กล่อง ของที่อยู่ในกล่อง หรือบริการที่ดีในการทำหีบห่อหนังสือยังไงเพื่อให้เขารู้สึกประทับใจเหมือนเดินเข้าร้าน
โจ้ : ถ้าอยากชวนคุยเรื่องความออนไลน์-ออฟไลน์ ร้านออนไลน์มันก็ไม่มี ‘space and time’ เช่น จะซื้อหนังสือ 24 ชั่วโมง 7 วันเมื่อไรก็ได้ ตี 3 ตี 4 ก็ซื้อกันอยู่ หรือ space ก็เป็นเรื่องของการที่ตัวอยู่ที่ต่างจังหวัดแต่สามารถซื้อหนังสือที่นี่ได้ มันไม่มีเรื่อง space and time น่ะ
เน็ต : หรือสมมติเราเป็นแฟนร้านหนังสือจริงๆ ร้านนึง ปีนึง เราได้ไปร้านเขากี่ครั้ง สมมติว่าปีนึงไปครั้งเดียว แต่สิ่งที่เราจำได้คืออารมณ์ที่เราเดินไปในวันนั้นแล้วเราอาจจะกลับมาซื้อออนไลน์ของร้านนั้นก็ได้
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นร้านออนไลน์ หรือร้าน physical คือ ‘ประสบการณ์’ เพียงแต่ว่าเราจะทำให้เขาประทับใจกับประสบการณ์ครั้งแรกแล้วกลับมาหาเรา ไม่ว่าจะช่องทางไหน ในครั้งต่อๆ ไปได้ยังไง ของฝั่ง Readery เองก็พยายามทำอย่างนี้ ก็คือทำให้เขารู้สึกมีประสบการณ์ร่วมกับเราทุกวัน ทั้งวัน ได้ยังไงบ้างโดยที่มีหนังสือเป็นตัวนำ
โจ้ : แล้วกับโลกใหม่ถ้าพูดเรื่องนี้ เร็วๆ นี้มันจะไม่มีออนไลน์-ออฟไลน์แล้ว ทุกคนจะมีทุกสิ่ง เดี๋ยว Readery เองก็จะมีหน้าร้าน คือเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่หน้าร้านทุกเจ้าก็จะมีออนไลน์ มันเป็นเรื่องปกติของโลกยุคใหม่น่ะครับ
The MATTER : เรามีวิธีหรือลูกเล่นในการนำเสนอหนังสือที่มีมากมายหลายปกในร้านค้าออนไลน์ให้เหล่านักอ่านได้เห็นอย่างไรบ้าง
เน็ต : เรามองว่าถ้าเกิดลูกค้าซักคนใช้แค่เฟซบุ๊กอย่างเดียว สิ่งที่เขาอาจจะเห็นจากโพสต์ของร้านก็คือ วันนึงมีหนังสือซักประมาณ 4 เล่ม หรืออย่างมากก็จะเป็นโพสต์ที่แนะนำกรุ๊ปหนังสือ อาจจะเป็น 10 20 เล่ม แต่หนังสือที่อยู่ในระบบของเรามีประมาณเกือบ 10,000 เล่ม ตัวคอนเทนต์เองอาจจะนำเสนอความหลากหลายได้ทั้งหมดตลอดเวลาไม่ได้ เพราะฉะนั้นกลับมาสู่ที่เว็บ ตัวเว็บเราสามารถเข้าถึงหนังสือทั้งหมด 10,000 ปกได้ยังไงบ้าง
อย่างในเว็บของ Readery เองมันก็จะเป็นหมวดหมู่ที่เราต้อง curate หนังสือลงไปอยู่ตามหมวดหมู่ตามความสนใจ วิธีการมีค่อนข้างเยอะ ถ้าเข้าเว็บร้านหนังสือทุกร้าน หมวดหมู่มีหมด แต่ว่ามันก็จะมีวิธีการอื่นๆ ที่จะทำให้เขาสนใจในหนังสือเป็นกลุ่มๆ ได้ยังไงบ้าง เช่น ลิสต์หนังสือมั้ย พูดง่ายๆ ก็คือพวก best-seller ลิสต์ ง่ายสุด เพราะว่าอันนี้เป็นวิธีการที่ร้านหนังสือทุกร้านยังไงก็ต้องมี เพื่อให้รู้ว่า ช่วงนี้กระแสของเล่มไหนเป็นยังไงบ้าง แต่คราวนี้นอกจาก best-seller ลิสต์แล้วเราทำอะไรอื่นๆ ที่เป็นลิสต์ได้อีกบ้าง เช่น ลิสต์ตามความสนใจมั้ย อย่างคอนเทนต์ที่แชร์วนไปวนมาสองสามวันนี้ก็คือเรื่อง ประเภทของความเหงา อย่างตอนนี้ที่เราเตรียมอยู่ แล้วหนังสือล่ะ หนังสือเหงาแต่ละประเภทมันมีหนังสือเล่มไหนตอบโจทย์เขาบ้าง
โจ้ : หลักการในการโปรโมตของเราคือคำว่า ‘เพื่อน’ คำเดียวเลย อย่างเช่นเรารู้จักเพื่อนสักคนนึง ชอบอ่านหนังสือประมาณนี้ เราก็จะบอกได้ว่า มีอีกเล่มประมาณนี้นะ น่าอ่าน มันก็คือ เพื่อนกับเพื่อนอะ เราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่สื่อที่เรามีหนังสืออยู่กลุ่มนึง มีคนอ่านอยู่กลุ่มนึง ถ้าเรารู้จักสองกลุ่มนี้ ดูว่าคนไหนเหมาะกับอะไรแล้วจับมาให้รู้จักกัน ทุกคนจะแฮปปี้หมดเลย
ลิสต์ตามหมวดหมู่หนังสือทั่วๆ ไปมันน่าเบื่อไปแล้ว เพราะบางทีมันไม่ได้เสิร์ฟอารมณ์เรา มันเสิร์ฟแค่ความสนใจ ณ ตอนนั้น
The MATTER : อารมณ์มันคล้ายๆ กับการฟังเพลงใน Spotify เลย
โจ้ : เยส อย่างนั้นเลย
เน็ต : มันก็จะมี Spotify for books อะไรอย่างนี้
โจ้ : อีกหน่อยเราก็คงมี Spotify for books
เน็ต : เพราะมันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะอ่านหนังสือ 10,000 เล่มในชีวิตนี้ หนังสือ ‘ประวัติศาสตร์วรรณกรรม’ จะพูดว่า “คนเรามีโอกาสอ่านหนังสือวรรณกรรมได้แค่ 600 เล่มในชีวิต” เอาแค่ 600 เล่มก็เยอะมากแล้ว
เมื่อกี้ที่พูดมาว่า Spotify เนี่ยดีมากเลย เพราะว่า เราดูพฤติกรรมการฟัง Spotify เราก็ได้ว่า ในวันนี้เราเข้าไปเลือกเพลย์ลิสต์สักเพลลิสต์นึงเพราะอะไร บางทีอาจจะเพราะฝนตกก็ได้ หรือบางทีอาจจะเพราะวันนี้อยากฟังศิลปินคนนี้คนเดียวก็ได้ มันมีวิธีการมากมายที่จะทำกรุ๊ปหนังสือที่น่าสนใจสำหรับความสนใจ อารมณ์ และสภาพแวดล้อม หรือข้อมูลข่าวสารที่ได้รับในวันนั้น
ก็แอบโฆษณาไว้แล้วกันว่า Spotify for books จะเป็นโปรเจกต์ต่อไปของ Readery แน่นอน ลิสต์ตามหมวดหมู่หนังสือทั่วๆ ไปมันน่าเบื่อไปแล้ว เพราะบางทีมันไม่ได้เสิร์ฟอารมณ์เรา มันเสิร์ฟแค่ความสนใจ ณ ตอนนั้น สมมติว่า อยากอ่านนิยายประวัติศาสตร์ ถ้ามองในมุมของการทำลิสต์ให้น่าสนใจ มันไม่ใช่การโยนหนังสือประวัติศาสตร์ทุกเล่มเข้ามา แต่อาจจะโยนเข้ามาสัก 10 เล่ม ในวันที่เราดูบุพเพสันนิวาสแล้วอิน แล้วอาจจะอยากจะรู้เรื่องแผ่นดินพระนารายณ์ หรืออยากรู้เรื่องอาหารที่อยู่ในยุคนั้นมันจะต้องเป็นการจัดลิสต์ให้เรานิดนึง
โจ้ :จะเป็นยังไงถ้า Readery ของแต่ละคนหน้าตาไม่เหมือนกัน ถ้าคุณเป็นผู้ชายเหงาๆ ก็จะมีลิสต์พรืดขึ้นมาแบบนี้เลย
เน็ต : อีกอย่างนึงคือ หนังสือมันสะท้อนบุคลิกของเราออกมาได้ด้วย แทนที่คนจะเข้ามาส่องโปรไฟล์เรา เดี๋ยวอีกหน่อยเราอาจจะมีหน้า Readery ให้คุณดูว่า นี่คือสิ่งที่เราอ่านอยู่ ช่วยดูหน่อยว่าเราเป็นคนสไตล์ไหน
โจ้ : แล้วอันนี้แหละ มันจะก่อให้เกิดบทสนทนา สมมติว่า อ่านแฮรี่พอตเตอร์เล่มนี้แล้วชอบ ต้องอ่านอันนี้เลยต่อเลยนะ การสนทนานี้แหละจะทำให้เราสนุกกับการอ่านหนังสือมากขึ้นครับ
The MATTER : แล้วเรามีแผนที่จะนำเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ Big data มาใช้ด้วยหรือเปล่า
โจ้ : ใช่ คำนี้เลยๆ เราการันตีว่า AI ต้องมาแน่นอนกับ Readery มันเลี่ยงไม่ได้ เป็นเรื่องปกติของโลกยุคใหม่ที่ต้องอาศัย Big data หรือ AI เข้ามาช่วย ซึ่งเราก็ไม่เคยปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ๆ เลย ต้องการระดมสมองต้องการระดมไอเดียด้วยซ้ำ
The MATTER : แล้วมีการสังเกตพฤติกรรมของคนซื้อไหม มันช่วยอะไรบ้างในการทำธุรกิจ
โจ้ : อย่างแรกเลย กลุ่มคนซื้อ หรือกลุ่มคนอ่านเป็นคนเติม passion ให้เรานะ ด้วยความเป็นมนุษย์ของเรา เราไม่มีทางรู้จักหนังสือทุกเล่มได้ แต่ว่าเหมือนพอเราเริ่มรู้จักเพื่อนนักอ่านของเรา เราก็จะแนะนำเราว่า เล่มนี้ดีมากเลย แปลเล่มนี้แล้วแปลเล่มนั้นด้วยสิ เราก็เอาข้อความนี้ไปบอกสำนักพิมพ์ว่า หยิบเล่มนี้มาแปลสิ ทุกคนก็วิน-วินกันหมดเลย คำถามคือ เราได้อะไรจากพฤติกรรมพวกนี้ เราว่าเราได้ passion นะ
มันเป็นเรื่องที่ challenge มากสำหรับเราในการเอาพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งหมดมาวิเคราะห์ว่า คอนเทนต์ที่อยู่ในหนังสือมันจะแมตช์กันยังไงได้บ้าง มี recommended engine ยังไงบ้าง
เน็ต : เมื่อกี้คุยเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค AI และ big data มาช่วย ให้มองว่าหนังสือเป็นคอนเทนต์ที่พวกทำ big data ชอบมากเพราะมันมีปริมาณข้อมูลอยู่มหาศาลเลย หนังสือมันบรรจุข้อมูล คีย์เวิร์ด และคลังคำมหาศาลมากที่จะเอามา analyze กับพฤติกรรมของคน เพราะฉะนั้น
ย้อนกลับไปที่ว่า “มนุษย์มีโอกาสอ่านหนังสือ 600 เล่มในชีวิต” เอาแค่ว่า เอา AI มาช่วยวิเคราะห์กับข้อมูลส่วนตัวของเราแล้วหนังสือ 600 เล่มเป็นลิสต์หนังสือสำหรับเราโดยเฉพาะ ถ้าได้ 600 เล่มนี้มาก็เจ๋งแล้ว ชีวิตนี้ทั้งชีวิต คือเอาตาม follow list นี้ได้แล้ว แต่มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัว AI อย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ทั้งหมดที่เราจะใส่เข้าไปในการลิงก์ระหว่างคนกับหนังสือมาแมตช์กันให้เจอ นี่ก็เป็นอีกโปรเจกต์หนึ่งที่เรากำลังสนุก
โจ้ : เพราะเราตอบได้นะ อย่างเช่น มีผู้หญิงคนนึงอยู่ปี 4 ชอบกินชาบู ชอบ BTS กำลังแพลนว่าจะไปเกาหลีเป็นครั้งแรกแล้วเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ เราสามารถตอบได้เลยว่า เขาจะอ่านเล่มนี้แน่ๆ
เน็ต : recommended engine จะทำให้ว้าวได้ทุกครั้งที่มันกดส่งหนังสือเล่มใหม่มาให้เรา
The MATTER: ฟังแล้วคล้ายๆ Tinder เลยนะครับ
เน็ต : ปัดซ้ายปัดขวาเนอ
The MATTER : คิดว่าการเข้ามาของสื่อเอนเตอร์เทนเมนต์ใหม่ๆ อย่างเช่น Netflix ส่งผลอะไรกับการอ่านหนังสือบ้างไหม? อ่านกันน้อยลงไหม หรืออ่านกันมากขึ้น?
โจ้ : มันมองได้หลายแบบ แต่แบบนึงที่อยากบอกคือ มันส่งผลให้คนรู้จักสตอรี่นั้นมากขึ้น อย่าง The Handmaid’s Tale เนี่ยชัดเจนเลย คนรู้จัก The Handmaid’s Tale จาก Netflix ก็ไม่น้อย แบบ อ้าวมีหนังสือด้วยน่าอ่านจังเลย แล้วซื้อไปอ่านก็มี มันเป็นเรื่องของความคึกคักของการที่ได้รู้จักสตอรี่ที่ดี
เน็ต : Netflix มันไม่ได้แย่งเวลาอ่านหนังสือหรอก แต่มันแย่งเวลาดูละครไป ถ้าพูดในมุมของคนอ่านหนังสืออยู่แล้ว การจัดการเวลาในการอ่านหนังสือซักเล่ม คนอ่านหนังสือมักจะ reserve สล็อตเวลาไว้กว้างๆ สำหรับหนังสือ
แต่อย่างที่บอกว่า Netflix มาเป็นอุปสรรคสำหรับคนอ่านหนังสือมั้ย คิดว่า ‘ไม่’ แต่ว่าคนอ่านหนังสือที่เคยดูละครอยู่ด้วยเขาจะเห็นคอนเทนต์ Netflix ที่น่าสนใจกว่าแล้วไม่ดูละครมาดู Netflix แทน แต่เรายังเชื่อว่าคนที่เคยอ่านหนังสือก่อนนอนครึ่งชั่วโมง เขาก็จะยังมีเวลาครึ่งชั่วโมงสำหรับการอ่านหนังสืออยู่ มันอาจจะไม่ได้แย่งเวลาการอ่านหนังสือโดยตรงหรอก แต่มันจะแย่งเวลาอย่างอื่นที่มีคอนเทนต์ใกล้เคียงกันกับ Netflix มันคือการเสพทางจอ สิ่งที่แย่งก่อนก็คือ เวลาดูทีวี
โจ้ : แต่เรามองคนละมุม อีกประเด็นคือเรื่องของการตลาด คือ Netflix หรือวงการเอนเตอร์เทนเมนต์จะมีงบการตลาดที่ค่อนข้างสูงถึงสูงมาก แต่วงการสิ่งพิมพ์มีงบค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก ทีนี้เวลาหนัง หรือละคร หรือซีรีส์บางเรื่องที่ถูกโปรโมตให้ดัง วงการหนังสือก็ได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วยเต็มๆ เลย อย่างเช่น เรื่อง Goblin ที่กงยูเล่นน่ะ พอซีรีส์ Goblin ออกปุ๊ป หนังสือ Goblin ขายดีมากเลย นี่คือผลดีที่เกิดมาจากทั้งซีรีส์และ Netflix
คนจะไม่ตั้งคำถามนี้หรอกถ้ารู้สึกว่าหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว ตอนนี้ที่คนตั้งคำถามเพราะรู้สึกว่า ‘หนังสือไม่จำเป็น’ เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นสิ่งแรกที่เขาตัดออกได้
The MATTER : มาที่เรื่องราคาหนังสือกันบ้าง Readery มีความคิดเห็นยังไงกับราคาหนังสือในประเทศไทย
โจ้ : เราคิดว่าวงการหนังสือโดยรวมแล้วยังไม่เข้าใจ 3 คำ หรือยังไม่เข้าใจการตีราคาสามสิ่งนี้ หนึ่ง คือค่าครีเอทีฟ สอง คือค่าดีไซน์ และสาม คือค่ามาร์เกตติ้ง ตอนนี้สิ่งที่ ‘คนหนังสือ’ เก่งอยู่ มีสามค่า คือ ค่าโปรดักชั่น (ค่าผลิตหนังสือ) ค่า distribution (การจัดจำหน่าย) และค่าโลจิสติก อันนี้เป็นสิ่งที่คนในวงการหนังสือเข้าใจ แต่เราคิดว่า เรายังตีราคามันไม่ค่อยเป็น ไม่ใช่แค่วงการหนังสือหรอก เมืองไทยยังตีค่าดีไซน์ไม่ถูกเลย สมมติว่าจ้างน้องคนนี้ทำปกควรจะให้เงินเขาเท่าไหร่วะ ราคาหนังสือในปัจจุบันจึงเป็นราคาหนังสือที่ให้ความสำคัญโดยเอียงไปที่โปรดักชั่นค่อนข้างมาก
เน็ต : คนจะไม่ตั้งคำถามนี้หรอกถ้ารู้สึกว่าหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว ตอนนี้ที่คนตั้งคำถามเพราะรู้สึกว่า ‘หนังสือไม่จำเป็น’ เพราะฉะนั้นมันก็จะเป็นสิ่งแรกที่เขาตัดออกได้
สมมติว่ามีสักสี่ห้าอย่างเอาเรื่องจำเป็นของชีวิตไปก่อน ถ้าถามพวกเราก็อาจจะบอกว่าหนังสืออยู่ลำดับที่สองสามก็ได้ ซึ่งจะมีราคาจะเท่าไหร่เราก็ต้องหาเงินมาเพื่อซื้อมันอยู่ แต่ว่าใน mindset ส่วนใหญ่ของคนทั่วไปหนังสือมันไปอยู่ลำดับที่ 10 ใช่มั้ยครับ คนก็เลยจะตั้งคำถามกันตลอดเวลาว่า “เราจะต้องเอาค่าข้าวกี่มื้อไปจ่ายเงินซื้อหนังสือเล่มนึง” มันคิดสวนทางกัน เพราะฉะนั้นสำหรับเราเอง หรือกลุ่มของคนที่อ่านหนังสือกันเองอยู่แล้วหนังสือมันจะไม่ได้อยู่ในจุดท้ายๆ ของสิ่งจำเป็นในชีวิตเขา เพราะฉะนั้นเขาอาจจะมองว่าราคาถูกกว่าตั๋วหนังอีก บางวันซื้อตั๋วหนังราคา 300 บาท หนังสือ 240 เพราะฉะนั้นหนังสือถูกแล้ว
โจ้ : เคยได้ยินคำว่า ‘ขายไต’ ปะล่ะ
เน็ต : เรารู้สึกว่าราคาปัจจุบันมันก็สมเหตุสมผลของมันอยู่แล้ว ถ้ามองในแง่มุมของคนทำหนังสือเราจะรู้ว่าเขาไม่ได้ add ราคาเพิ่มเติมเท่าไหร่จากราคาในการผลิตหนังสือแต่ละเล่ม
อาจจะเคยได้ยินว่า “หนังสือเล่มละบาท” ถ้าพูดเป็นชิ้นงานแล้วมันถูกนะ แต่ว่าถ้ามองเป็นมูลค่ารวมหนังสือเล่มหนึ่ง สมมติ 200 หน้า 200 บาท มันมีงานที่อยู่ข้างหลัง และคนที่อยู่ข้างหลังในกระบวนการผลิตหนังสือเล่มนั้นเขาก็ต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพเหมือนกัน
แต่ถ้าในมุมของคนอ่านและคนขาย ราคาตอนนี้มันเมกเซนส์อยู่ แต่มันจะไม่เมกเซนส์ก็ต่อเมื่อหนังสือกลายไปเป็นจุดที่ไม่จำเป็นในชีวิตของพวกเขา แล้วรู้สึกว่าเขาตัดทิ้งได้ ไม่ต้องจ่ายราคานี้ก็ได้
โจ้ : คือถ้าเราชอบเราก็จ่าย แล้วสำหรับเราหนังสือไม่ใช่กระดาษ เราไม่ได้ขายกระดาษ เราขายคอนเทนต์ที่อยู่ในนั้น ดังนั้นการตีราคาก็ไม่ใช่การตีราคากระดาษ
เน็ต : แต่ว่าเดี๋ยวนี้วงการหนังสือไทยก็ขยับขึ้นไปอีกขั้นแล้ว ตอนนี้เราจะเห็นหนังสือที่สวยขึ้น น่าถือ น่าหยิบ น่าสะสมมากขึ้น ก็คิดว่าวงการหนังสือไทยก็กำลังให้ความสำคัญกับ creativity การดีไซน์ที่อยู่ในนั้นค่อนข้างเยอะ นอกจากตัวเนื้อหาแล้ว ส่วนข้อสรุปก็อยู่ที่ความจำเป็นว่า เรามองว่า “หนังสือมันยังจำเป็นมั้ย”
The MATTER : งานสัปดาห์หนังสือในแต่ละครั้งส่งผลอะไรกับร้านค้าออนไลน์แบบเราบ้าง
โจ้ : งานสัปดาห์หนังสือส่งผลดีในแง่ยอดขายกับเราทุกครั้ง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกว่า เล่มนั้นก็น่าอ่าน เล่มนี้ก็น่าอ่าน แล้วความคึกคักของบรรยากาศการอ่านหนังสือเนี่ย เมื่อไหร่คึกคักมันส่งผลดีเสมอ
เน็ต : ต้องมองอย่างนี้ว่างานสัปดาห์หนังสือจัดที่โลเคชั่นเดียว อย่างงานหนังสือที่จัดที่กรุงเทพฯ จังหวัดใกล้เคียงอาจจะมาได้ แต่อีก 10 กว่าจังหวัดที่มาไม่ได้ล่ะ ถ้าตอบในแง่ธุรกิจก็อยากให้มีงานหนังสือตลอดเวลา
โจ้ : มีทุกสัปดาห์เลยได้มั้ย
เน็ต : เพราะว่ามันมีกระแส มีหนังสือออกใหม่ มีคนพูดถึงหนังสือ คนสนใจหนังสือกันจังเลย ประกอบกับการมีโซเชียลด้วยครับมันก็เลยทำให้คนทั่วประเทศได้รับข่าวสารเดียวกัน แต่ว่าพอได้ข่าวสารแล้วเขาอาจจะมาไม่ได้ไง ก็เลยต้องพึ่งร้านออนไลน์ หรือร้านใกล้บ้าน อันนี้ก็เป็นผลโดยตรงทำให้ร้านออนไลน์มียอดสูงขึ้น
The MATTER : คิดว่าการทำคอนเทนต์จำเป็นมั้ยสำหรับร้านหนังสือออนไลน์
โจ้ : ข้อแรกนะมันจำเป็นในแง่ของตัวเองเลย เพราะเราเป็นคนชอบคุยเรื่องหนังสือ คุยถึงเรื่องราวในหนังสือ เรื่องราวรอบๆ หนังสือ เรื่องนักเขียน เรื่องปกสวย เรื่องสำนักพิมพ์ โปรดักชั่นยังไง จุดเริ่มต้นของพี่ไม่ได้ทำเพราะต้องการขายหนังสือแต่ต้องการพูด คือถ้าไม่พูดเรื่องพวกนี้เหมือนมันจะอกแตกตายเอาน่ะ
เราก็ไม่ได้ต้องการขายหนังสือตลอดเวลา แต่เราต้องการสร้างชุมชน ต้องการเปิดพื้นที่พูดคุย หรือหาประเด็นต่างๆ ให้มันรู้สึกว่า มีบทสนทนาเรื่องหนังสือวนเวียนอยู่ในโซเชียลตลอดเวลา
The MATTER : ก็เป็น passion ส่วนตัวที่ไม่ได้ต้องการจะขายอะไรขนาดนั้น
โจ้ : เราไม่ได้เริ่มมาจากว่า เราขายเล่มนี้กันเถอะ ทำคอนเทนต์นี้กันเถอะ เราคิดแบบนั้นไม่ค่อยเป็น รู้ว่าเล่มนี้เราอ่านแล้วเล่มนี้สนุกจังเลย หนังสือแบบนี้ คนกลุ่มประมาณนี้ชอบแน่ๆ เลย ก็จะชวนคุยเรื่องพวกนี้ เช่น วันนี้วันเกิดของคาฟคาล่ะ แล้วทำไมคาฟคาเขาอ่านยากจังนะ Kafkaesque เป็นยังไง ทำไมคนทั่วโลกถึงชอบคาฟคากันจัง ก็เป็นการชวนคุย
เน็ต : ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ Readery ละกันว่า จุดเริ่มต้นของเรา คืออยากทำโซเชียลเน็ตเวิร์กของคนอ่านหนังสือก่อน แล้วพอเว็บนั้นไปต่อไม่ได้เราก็เลยเอามาทำ Readery ต่อ มันก็เลยเป็นคอนเซปต์ที่อยู่ข้างใต้ว่า เราไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็น e-commerce มาตั้งแต่วันแรก แต่เราต้องการทำโซเชียลเน็ตเวิร์คของคนอ่านหนังสือ
ยกตัวอย่างให้ดูว่าในเว็บเมื่อ 6-7 ปีที่แล้วของเรา ถ้าเกิดเข้าหน้าโปรไฟล์ตัวเองสิ่งที่จะเห็นก็คือ หนังสือที่ เราสนใจ คอนเทนต์ที่เราชอบ เราตามนักเขียนคนไหนบ้าง หรือถ้าอนุญาตให้คนอื่นเข้าไปดู library ของเราจะเจอหนังสืออะไรบ้างที่เราอ่านนั่นเป็นสิ่งที่จะแสดงตัวตนของคนอ่านนั้นๆ อยู่ อย่าง Goodread ก็เป็นไอเดียที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำ Readery
โจ้ : นั่นคืองานอดิเรกของเราเมื่อ 6-7 ปีก่อน
เน็ต : เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันยังอยู่เสมอ การเปิดพื้นที่ให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับหนังสือ คอนเทนต์หนังสือ หรือตัวนักเขียน
โจ้ : หรือต่อให้เราไม่มีร้าน Readery นะพวกเราสองคนก็พูดอย่างนี้ในหน้าเฟสบุ๊กของตัวเองแน่ๆ อยู่แล้ว ก็คงถ่ายรูปหนังสือ ทำกราฟิกกันเอง
เน็ต : บางทีจะเห็นคอนเทนต์ของ Readery ในมุมของเซลล์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง ถ้าเกิดเจ้านายเรามาดูก็คงถามว่า “โพสต์นี้ขายอะไร” เพราะเบื้องหลังของมัน เราก็ไม่ได้ต้องการขายหนังสือตลอดเวลา แต่เราต้องการสร้างชุมชน ต้องการเปิดพื้นที่พูดคุย หรือหาประเด็นต่างๆ ให้มันรู้สึกว่า มีบทสนทนาเรื่องหนังสือวนเวียนอยู่ในโซเชียลตลอดเวลา
The MATTER : แล้วมีเกณฑ์อะไรในการเลือกว่าจะยกคอนเทนต์แบบไหนขึ้นมาเขียนบ้าง
โจ้ : จริงๆ คอนเทนต์กับหนังสือเราก็เขียนได้ทั้งหมดนั่นแหละ เรื่องราวในหนังสือก็ได้ สนุกไม่สนุกยังไง เรื่องราวรอบๆ หนังสือ เรื่องของนักเขียน เรื่องของสำนักพิมพ์ เรื่องปก เรื่องบรรยากาศการอ่าน เรื่องกระทบต่อสังคม การอ่านหนังสือเล่มนี้มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร ก็พูดได้ทั้งหมด
เน็ต : ถ้าถามเราว่ามีเกณฑ์ยังไง คือคอนเทนต์ที่เราส่งต่อออกไปก็จะต้องเป็นคอนเทนต์ที่รู้สึกว่า หนังสือมันจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ มันจะส่งต่อผ่านคนแต่ละแต่ละรุ่นๆ ยังไงบ้าง
ยกตัวอย่างๆ นี้ละกัน วันสองวันก่อน เป็นวันเกิดของ ฟรันซ์ คาฟคาใช่มั้ยครับ คือหนังสือมันครบรอบร้อย หรือร้อยยี่สิบปีไปแล้ว แต่ว่าตัวหนังสือเองมันยังอยู่ในแต่ละยุคแต่ละช่วงเวลายังไง ด้วยวิธีการนำเสนอแบบไหนบ้าง อย่างเช่น เล่มดังของคาฟคาก็จะเป็น ‘เมตามอร์โฟซิส’ เป็นเรื่องที่อยู่มาวันหนึ่ง คนตื่นขึ้นมากลายเป็นแมลงสาบ เป็นเรื่องของชนชั้นแรงงาน และอีกหลายๆ อย่างที่อยู่ในนั้น ถ้าจะเอาแค่ประเด็น หรือตัวข้อความแค่นี้มานำเสนอกับคนอ่านยุคนี้ก็จะน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ
แต่ว่าจะเป็นยังไงถ้ามันถูกลงเสียงเป็น audiobook โดย Kumberbach คนที่แสดงเป็นเชอร์ล็อกโฮล์ม แล้วคนก็อินกับพระเอกคนนี้ แต่เขาไม่เคยอ่าน ‘เมตามอร์โฟซิส’ แต่มันถูกส่งต่อจากร้อยกว่าปีที่แล้วมาสู่ audiobook ที่ลงเสียงโดย Kumberbach แล้วมันก็กลายเป็นกระแสว่าคนกลับมาอ่าน ‘เมตามอร์โฟซิส’ เพราะ audiobook ชิ้นนี้ ซึ่งความดีงามอย่างหนึ่งของหนังสือในกลุ่มงานวรรณกรรมก็คือ “มันไม่ตายง่ายๆ” มันจะถูกส่งต่อไปยุคต่อยุคด้วยคอนเทนต์เนื้อหาที่อยู่ข้างในนั้น เพียงแต่ว่าเนื้อหานั้นกับยุคสมัยมันยึดโยงกันด้วยประเด็นทางสังคมเรื่องอะไร
ถ้าถามว่าเรามีหลักเกณฑ์ในการทำคอนเทนต์ยังไง พาร์ทนึงละกัน คือการทำให้รู้สึกว่า หนังสือไม่ว่าจะเก่าแค่ไหนตัวประเด็นมันยังอยู่ เพียงแต่ว่าเราจะเอามาโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ณ วันนั้นยังไงบ้าง ยกตัวอย่างข่าววันสองวันนี้ก็ได้ที่มีข่าวว่าจะเปลี่ยนชื่อรางวัลวรรณกรรมที่อิงตามชื่อของ ‘ลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์’ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง ‘บ้านเล็กในป่าใหญ๋’ เพราะในเรื่องมีการเหยียดสีผิวอยู่ในนั้น พอมาอ่านในยุคนี้แล้วเรื่องการเหยียดสีผิวมันก็เป็นเรื่องของสังคมในยุคนั้น แต่พอมันผ่านมายุคนี้แล้วเรื่องการเหยียดสีผิวเป็นเรื่องที่รับไม่ได้แล้วในสังคมยุคปัจจุบัน ในข่าวมันก็คือ รู้นะว่าหนังสือเล่มนี้มันมีคุณค่ามันบันทึกประวัติศาสตร์สังคมในช่วงนั้น แต่ว่าสังคมยุคนี้ไม่ยอมให้มีรางวัลนี้ติดบนหน้าหนังสืออีกแล้วเพราะว่า มันมีประเด็นเรื่องเหยียดสีผิวอยู่
นี่คือสิ่งที่กำลังจะบอกว่า ตัวหนังสือ ตัวเนื้อหามันอยู่ในการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุคสมัยแต่ว่า ตัวเล่มหนังสือมันยังถูกอ่านโดยคน แต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ประเด็นทางสังคมน่ะมันจะเอามาจับกับประเด็นเนื้อหาในเล่มนั้นยังไงบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับยุคนั้น อันนี้คือสิ่งที่เราอยากนำเสนอว่า “หนังสือมันไม่ตาย มันอยู่ต่อไปเรื่อยๆ”
The MATTER : แล้วมีคอนเทนต์แบบไหนบ้างที่คนชอบ? แล้วคิดว่าอะไรเป็นเหตุผลบ้างที่ทำให้คนชอบ
เน็ต : ง่ายๆ เลยคือ ‘โควต’
โจ้ : คอนเทนต์ที่คนชอบ ถ้าจะพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ คอนเทนต์ที่ดี คำถามก็คือ คอนเทนต์ที่ดีคือคอนเทนต์ยังไงต่างหาก ซึ่งก็คือสิ่งที่เราทุกคนรู้กัน 1) good-story stelling 2) มีครีเอทีฟไอเดียมั้ย matter opinion มั้ย มีความเห็นที่มัน matter ต่อสังคมบ้างหรือเปล่า
เน็ต : กับอย่างสุดท้ายเราขอเสริมก็คือ คอนเทนต์ที่มันโยงเข้ากับอารมณ์ของคน ความ emotional ของเนื้อหาบางทีอาจจะเข้าถึงคนมากกว่า
โจ้ : ต้องเป็นบทความ หรือคอนเทนต์ที่กระตุ้นให้เรารู้สึกอะไรบางอย่าง คอนเทนต์ที่กระตุ้นให้เราได้ขบคิดเกี่ยวกับปัญหาชีวิต หรือคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลอะไรใหม่ๆ บ้าง
The MATTER : ในฐานะที่ Readery เป็นร้านหนังสือออนไลน์ ทำไมเรายังอยากเปิดร้านหนังสือแบบ physical ในเมื่อในยุคนี้ก็มีอีกหลายๆ ร้านที่ปิดตัวกันลงไป หรือที่เขาชอบพูดกันว่า “ร้านหนังสือกำลังจะตาย”
เน็ต : ไม่ตายหรอกครับ เรายังอยากทำร้านหนังสือจริงๆ
โจ้ : คือแน่นอนแหละมันก็มีร้านที่จะหายไปจริงๆ แล้วก็ร้านที่อยู่ได้ เหมือนธุรกิจก๋วยเตี๋ยวหน้าปกาซอยนั่นแหละ มันก็จะมีร้านที่อยู่ได้ ร้านที่อยู่ไม่ได้ตามประเภทของธุรกิจ ร้านไหนที่ปรับพฤติกรรมเข้ากับผู้บริโภคได้ก็จะอยู่ได้ ถ้าตอบกว้างๆ คือมันก็ยังอยู่แหละ เพราะพวกเราก็ยังมี goal ที่จะทำร้านหนังสือกันด้วยครับ
ร้านหนังสือยังอยู่แต่ว่าฟังก์ชั่นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ครับไม่เหมือนสมัยก่อน ตอนนี้เราสั่งออนไลน์จากร้านก็ได้ เพราะฉะนั้นมีเหตุผลอะไรล่ะที่เรายังไปร้านหนังสือนั้นอยู่? มันก็ยังจะมีฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่สามารถมาอยู่ในร้านหนังสือได้ เช่น มันอาจจะเป็น community ใหม่ อาจจะเป็นชุมชน อาจจะเป็นพื้นที่แบบอื่นๆ ที่มีหนังสือเป็นแกนกลาง เป็นที่จัดบุ๊กคลับแทน
The MATTER : ก็คือ อาจจะไม่ได้แค่ขายหนังสือ แต่เป็นการขาย experience ไปด้วย
โจ้ : ถูกเลย experience ต่างหากที่ผู้บริโภคชอบ หรือสมมติ เราไปร้านหนังสือ ก็อาจจะไม่ได้หยิบหนังสือกลับบ้านแต่หนังสืออาจจะรออยู่ที่หน้าประตูบ้านแล้วก็ได้ แล้วเราจะไปร้านหนังสือเพื่ออะไร อันนี้ล่ะครับคงต้องรอดูว่าถ้าเกิด Readery จะมีร้านหนังสือมันจะเป็นยังไง
The MATTER : ก็เลยมาเป็นอีเวนต์
โจ้ : ก็เลยมาเป็นอีเวนต์ด้วย ตลอดชีวิตมาก็ดูหนังที่มีบุ๊กคลับอยู่ตลอด อยากคุยเรื่องหนังสือกับเพือนนั่งกินกาแฟกันไป มาถึงวันนึงพวกเรามีร้านหนังสือแล้วเราทำสิ่งนี้ได้ ก็ทำ พอทำก็ปรากฏว่ามีคนมาร่วมมากมาย เขาก็อยากมีสิ่งนี้กัน อยากนั่งคุยเรื่องหนังสือกัน
สุดท้ายสิ่งที่ทุกคนได้คือ ‘เพื่อน’ ทุกคนไม่รู้จักกันเลยนะมานั่งคุยถึงหนังสือเล่มเดียวกันน่ะ
The MATTER : แล้วมีฟีดแบคยังไงบ้างหลังจากการจบลงของแต่ละอีเวนต์
โจ้ : โอ้ ฟีดแบคดีมาก ข้อหนึ่งก่อน พอทำเราก็พบว่าจริงๆ แล้วกิจกรรมการอ่านหนังสือ เราไม่ได้ทำคนเดียว เราทำกันหลายๆ คนสนุกกว่า แล้วโลกยุคนี้เป็นยุคโซเชียลที่ทำให้การอ่านหนังสือไม่ได้เป็นการอ่านคนเดียวอีกต่อไป เราอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วชอบ เราแชร์ไป หลังจากทำบุ๊กคลับกันมาสักพักหนึ่ง เราพบว่าสุดท้ายสิ่งที่ทุกคนได้คือ ‘เพื่อน’ ทุกคนไม่รู้จักกันเลยนะมานั่งคุยถึงหนังสือเล่มเดียวกันน่ะ ทำอย่างนี้กันไปซ้ำๆ เขาเป็นเพื่อนสนิทกันไปเฉยเลย
The MATTER : เราคาดหวังอะไรจากการจัด ‘บุ๊กคลับ’ ที่เป็นการชวนให้เหล่าเพื่อนนักอ่านมาพบปะกันเอง ทั้งคนแปลกหน้าที่สนใจหนังสือเล่มเดียวกัน หรือแม้กระทั่งการพบปะกับตัวนักเขียนเองก็ตาม
โจ้ : เราไม่ได้คาดหวังอะไรไปมากกว่าความสุขเลยนะ จริงๆ เราทำบุ๊กคลับ เพราะเราอยากทำ เราสนุกที่จะทำ ก็คาดหวังให้คนรักหนังสือมาเจอกัน คาดหวังว่าหนังสือเล่มที่เราชอบจะถูกชอบต่อไปในวงกว้าง คาดหวังว่าทำให้วงการหนังสือมันคึกคักขึ้น เวลาพูดถึงหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้
เน็ต : แต่ก่อนนักอ่านไม่เคยมีบทบาทสำคัญมากเท่ายุคนี้ เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงวงการหนังสือ คนจะโฟกัสไปที่ผู้ผลิตหนังสือ สำนักพิมพ์ นักเขียน โรงพิมพ์ ร้านหนังสือ จบแล้ว วงจรชีวิตไม่ค่อยโฟกัสมาที่คนอ่าน แต่ว่าสิ่งที่เราทำกันมาทั้งหมดนี้จะด้วย ความคิดเบื้องหลัง ตัวชื่อเอง หรือคอนเทนต์และกิจกรรมที่เราทำ เราพยายามดึงนักอ่านให้มีตัวตน ให้มีเสียงมากขึ้น แล้วมันมาพร้อมกับยุคสมัยโซเชียลที่ผู้คนพร้อมจะส่งเสียง พร้อมจะแชร์ พร้อมที่จะให้ฟีดแบค พร้อมที่จะเป็นเสียงใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานต่อๆ ไป เพราะฉะนั้นพื้นที่นักอ่านตอนนี้มันเลยค่อนข้างสำคัญ แล้วส่งเสียงดังด้วย
โจ้ : เมื่อก่อนเราเป็นนักอ่านใช่ปะเราก็จะกรี๊ดนักเขียนที่เราชอบ เราก็จะตัวสั่นไปขอลายเซ็นเขา เราอยากเมาท์ว่าหลังจากเป็นเพื่อนกับนักเขียน สำนักพิมพ์ นักเขียนก็ตื่นเต้นที่จะได้เจอนักอ่านเหมือนกัน เราจัดบุ๊กคลับมาหลายครั้งแล้ว นักเขียนทุกคนจะรู้สึกแฮปปี้มากที่ได้เจอนักอ่านของเขา
The MATTER : คิดว่าโมเดลที่เราใช้อยู่ตอนนี้ อย่างเช่น การทำคอนเทนต์ หรือการจัดอีเวนต์ มันเวิร์กมั้ย
โจ้ : ถามว่าเวิร์กมั้ย มันเวิร์กในแง่ของความสุขใจแน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ แต่ว่าถ้าเห็นผลกับในแง่หนังสือในการสร้างความคึกคักให้บรรยากาศการอ่านหนังสือมันสนุกขึ้น แล้วเราไม่ได้อ่านอยู่คนเดียว อ่านแล้วได้คุยกัน แล้วอะไรแบบนี้มันส่งผลในวงอ้อมกลับมาที่ยอดขาย
The MATTER : เรามองเห็นเทรนด์ร้านหนังสือออนไลน์ยังไงบ้าง ยังไปได้อีกไกลไหม ใกล้ถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง
โจ้ : ถ้าพูดถึงร้านหนังสือแบบวงกว้างเราตอบว่า ‘ไม่รู้’ แต่ถ้าถามว่าแนวโน้มของ Readery จะเดินไปทางไหน ตอบเลยว่า ‘AI’ เราจะเดินไปในทางเทคโนโลยีแน่ๆ เพราะเราชอบ เราสนใจเรื่องนี้ กำลังหมกมุ่น กำลังคิดเรื่องพวกนี้ทั้งวี่ทั้งวันว่าเราจะใช้ชุดข้อมูลมาช่วยให้เราอ่านหนังสือสนุกขึ้นได้ยังไง
เน็ต : ร้านหนังสือออนไลน์ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัวหรอกครับ มาร์เก็ตแชร์ของมันอยู่ในช่วงที่กำลังจะขึ้น ไม่ต้องพูดถึงร้านหนังสือก็ได้ มองดูในเรื่องของ e-commercec แบบอื่นๆ เราจะเห็นได้ว่าช่วงปีสองปีที่ผ่านมามันคึกคักขึ้นมาก คือถ้าเรามองว่า “หนังสือเป็นสินค้าอย่างหนึ่งแล้วทำไมหนังสือจะไม่อยู่บนออนไลน์ล่ะ” ยังไงออนไลน์ก็เติบโตตามพฤติกรรมคนในยุคนี้ แล้วก็ยังน่าจะมีหนทางไปต่ออีกไกล เพราะคนเรายังไม่หยุดอ่านหนังสือนี่ แต่ถ้ามีกระแสออกมาเมื่อไหร่ว่า คนหยุดอ่านหนังสือแล้ว หนังสือจากเดิมที่พิมพ์ 5,000 เล่มลดเหลือน้อยเล่ม หรือไม่พิมพ์แล้ว มันถึงจะรู้สึกว่าไม่มีทางไป
โจ้ : ซึ่งมันเป็นมายาคตินะ เวลาคนพูดกันว่า “หนังสือตายแล้ว” หรือหนังสือพิมพ์น้อยลง แต่ตาม fact คือเล่มที่พิมพ์จำนวนมากขึ้นก็มี มันมีเล่มที่สำนักพิมพ์เคยพิมพ์น้อยๆ แล้วก็เอากลับมาพิมพ์เพิ่มขึ้น จาก 5,000 เล่ม เพิ่มเป็น 7,000 เล่ม หรือ 10,000 เล่มก็มี
แต่เราชอบเลือกข่าวร้ายแล้วเอามาพูดกันอยู่นั่นแหละ มันก็มีอยู่จริงที่ตาย แต่ที่เกิดใหม่ก็มีจริงเหมือนกัน นี่คือธรรมชาติของธุรกิจ