มีเรื่องสั้นชื่อ ‘Rip Van Winkle’ เป็นวรรณกรรมอเมริกันเล่าเรื่องชายหนุ่มที่ไปดื่มน้ำวิเศษทำให้หลับไป 20 ปี ตื่นมาอีกทีโลกก็เปลี่ยนไปแล้ว พอได้ฟังว่า เรื่องเพศและเรื่องการแต่งงานเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ การแต่งงานเป็นเรื่องของคนสองเพศ ไม่ใช่คนสองคน เราเองก็รู้สึกว่า ความคิดแบบนี้คงหลับจากองค์ความรู้ของโลกมาสัก 100 ปีได้
แม้เราจะรู้สึกว่า เออ โลกเขายอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศจนกลายเป็นภาคปฏิบัติ กลายเป็นกฎหมาย กลายเป็นเรื่องธรรมดาใหม่ที่เข้าใจว่า เรื่องการแต่งงาน เรื่องเพศ มันมีเงื่อนไขที่หลากหลาย ครอบครัวมีหลายรูปแบบไม่ได้จำกัดแค่ชายหญิง
ความเป็นธรรมชาติ ความ ‘ปกติ’ ที่ว่ามนุษย์ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ครอบครัวต้องจบลงแบบนั้นแบบนี้เหมือนโฆษณาสมัยที่ทีวียังจอโค้ง ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะยังมีให้เห็น
ถือซะว่าเป็นโอกาสที่จะได้กลับไปทบทวนคอนเซปต์หลักๆ ที่เปลี่ยนโลกมาแล้ว แนวคิดที่อันที่จริงแล้วสถาปนาขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษก่อนหน้าว่า เอ้อ เพศและสถาบันการแต่งงานมันเป็นเรื่องเชิงสังคม เป็นวัฒนธรรม (Culture) คือมีเงื่อนไขเฉพาะไปตามแต่วัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงได้ไปตามกาลเวลา ไม่ใช่ธรรมชาติ (Nature)
ในวันที่คำว่าธรรมชาติกลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง The MATTER จึงชวนกลับไปทบทวนคอนเซปต์ว่าด้วย Gender studies ไปจนถึงทฤษฎีเควียร์ (queer theory) ผ่านงานเขียนเชิงทฤษฎีสำคัญ (key texts) ที่ร่วมกันปูทางความเข้าใจ ตั้งคำถามกับความปกติและเปิดทางให้กับความหลากหลาย โดยคำว่าความเป็นธรรมชาติที่ว่าก็อาจจะเป็นเงื่อนไขที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุควิกตอเรียน เป็นแนวคิดที่สัมพันธ์กับการผลิตในระบบทุนนิยม ทบทวนตั้งแต่ความแตกต่างของเพศ (sex) และเพศสถานะ (gender) ไปจนถึงแนวคิดเรื่องรักต่างเพศ (heteronormativity) ความยอกย้อนวุ่นวายของเพศสถานะ ว่าในที่สุดแล้วเราเองไม่ได้จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เพราะเป็นเพศอะไร ความปกติ (norm) กลับเป็นสิ่งที่เราต้องไขว่คว้าหรือแสดงมันออกมา
The Origin of the Family, Private Property and the State (1884)
Friedrich Engels
เรารู้จัก ฟรีดริช เองเงิลส์ ในฐานะมือวางอันดับสองรองต่อจาก คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งก็น่าน้อยใจหน่อยๆ ทีนี้ ทำไมมาร์กซ์และเองเงิลส์จึงสำคัญ สิ่งที่ทฤษฎีฝ่ายซ้ายเสนอไม่ได้มีแค่การปฏิวัติหรือพลวัตรทางการเมืองของแรงงาน-พรรคการเมือง แต่ยังเสนอและศึกษามิติทางทฤษฎีและวัฒนธรรม คือ อธิบายว่า สังคม ความคิด ความเชื่อที่เราเชื่อและเราดำเนินอยู่ในสังคมนี้นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ระบบทุนนิยมที่กำลังผลิตซ้ำตัวเองให้การกดขี่ขูดรีดมันเป็นไปได้ ดังนั้น ข้อแรกเลย การมองโลก ความเชื่อ ภาคปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราเป็นผลมาจากความคิดของระบบทุนนิยมที่ปลูกฝังเราขึ้นมา เป็นของใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ทีนี้ หนึ่งในงานที่เรารู้จักว่าเป็นเชิงทฤษฎีของเองเงิลส์ก็คือเล่มนี้ The Origin of the Family, Private Property and the State เขียนขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เองเงิลส์ชี้ให้เห็นว่า ครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) แบบที่เราคุ้นเคย คือ พ่อ-แม่-ลูก การมีผัวเดียวเมียเดียวผ่านสถาบันการแต่งงานเป็นรูปแบบชีวิตหรือเป็นประเพณีแบบใหม่ที่สัมพันธ์กับระบบทุนนิยม คือ ครอบครัวถูกสร้างขึ้นเป็นหน่วยย่อยที่สุดของโครงสร้างทุนนิยม มีการสถาปนาระบบชายเป็นใหญ่และกดขี่ผู้หญิงให้อยู่ในบ้านและทำหน้าที่เป็นเหมือนข้าทาส สิ่งหนึ่งที่เองเงิลส์ชี้ให้เห็นคือในสังคมยุคก่อนหน้าไม่ใช่สังคมชายเป็นใหญ่ แต่ว่ามีผู้หญิงเป็นใหญ่ในระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมก่อนไปสู่โลกอุตสาหกรรม ระบบใหม่ที่ชายเป็นใหญ่เน้นการเข้าทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและถือครองทรัพย์สินของผู้ชาย ซึ่งก็คือ นายทุน (bourgeois) งานชิ้นนี้จึงถือเป็นงานสำคัญที่กลับมามองประเด็นเรื่องบทบาทและสถานะทางเพศที่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจและการผลิต
The Second Sex (1949)
Simone de Beauvoir
งานเขียนสำคัญของ ซีมอน เดอ โบวัวร์ ชิ้นนี้อาจจะถูกจัดให้เป็นงานแนวเฟมินิสต์ เน้นการอภิปรายเพื่อปลดแอกผู้หญิง ในแง่ของเพศสถานะศึกษา (Gender studies) งานเขียนชิ้นนี้สำคัญตรงที่การแยกความเป็นเพศสถานะ (gender) ออกจากเพศสภาพ (sex) ซึ่งวลีที่สำคัญที่สุดที่เราเองก็ยังใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ของโบวัวร์ก็คือ “เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง แต่เราค่อยๆ กลายเป็นผู้หญิง” (One is not born, but rather becomes, a woman)
แปลว่าอะไร? สิ่งที่โบวัวร์ชี้ให้เห็น คือ เพศ ความเป็นเพศในที่นี้ก็คือผู้หญิง เป็นสิ่งที่คนคนหนึ่งจะต้องถูกสังคมกล่อมเกลา—หรือบังคับ—ว่า คุณเกิดมาเป็นผู้หญิง คุณต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้นะ คุณต้องเรียบร้อย ขวยอาย เก่งเรื่องเย็บปักถักร้อย ต้องใส่กระโปรง ไว้ผมยาว ถักเปีย กลายเป็นแม่และเมียในบั้นปลาย ซึ่งอันที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ ‘กลายเป็น’ (become) ในเวลาต่อมาของชีวิต ดังนั้นความเป็นเพศในเชิงคอนเซปต์ก็คือ gender หรือเพศสถานะ หมายถึง การที่สังคมสังคมหนึ่งคาดหวังหรือบังคับให้เพศหนึ่งๆ เป็นอย่างไรไปตามครรลองสังคมนั้น ดังนั้น เพศสถานะกับเพศกำเนิดจึงเป็นคนละเรื่องกัน และแน่นอนว่าเป็นเรื่องทางสังคม คือ มีการบังคับกะเกณฑ์ในภายหลัง ไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิงในทันที ไม่ใช่เรื่องตามธรรมชาติ
ซึ่งความเป็นวัฒนธรรมนี้ก็ไม่เชิงว่าเป็นสิ่งที่มีสารัตถะ มีเนื้อใน หรือมีความเป็นธรรม โบวัวร์แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์และบริบททางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่มีการกดขี่ผู้หญิง ไปจนถึงการที่ผู้หญิงค่อยๆ ถูกแย่งชิงอำนาจไป และชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เราเห็นกันเป็นปกตินั้นมีนัยของความผิดธรรมชาติซึ่งกดทับผู้หญิงไว้อย่างไรบ้าง
The History of Sexuality (1978)
Michel Foucault
เราอาจจะรู้จัก มีแชล ฟูโก จากเรื่องอำนาจ ความรู้กับอำนาจ แต่ด้วยความที่ฟูโกต์ศึกษาเรื่องความปกติ-ความผิดปกติ รวมถึงการควบคุมผู้คนของสังคมด้วยกระบวนการและความรู้อันซับซ้อน ซึ่งไอ้ความปกติและวิทยาการการควบคุมนั้นมันสัมพันธ์กับการมาถึงของยุคสมัยใหม่ (modern era) จากการสถาปนาองค์ความรู้ทั้งการแพทย์และวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทีนี้ ด้วยการกลับไปสืบเสาะว่า ความปกติหรือเรื่องที่เราบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันไม่ใช่อะไรที่เป็นธรรมชาติเลยนี่นา แต่มันมีการค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นในยุคที่ไม่ได้ไกลขนาดนั้น แค่ยุกวิคตอเรียนเอง แล้วความปกติหรือความผิดปกตินั้นมันกลับมาควบคุมบงการมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง ทำให้ฟูโกถือเป็นนักคิดที่ปูทางให้กับทฤษฎีเควียร์ คือ การสืบเสาะและโต้แย้งว่าไอ้ความปกตินั้นมันไม่มีจริง แต่เป็นกระบวนการของสังคมสมัยใหม่อย่างหนึ่ง
ทีนี้ ในแง่ของเพศ ฟูโกก็มีงานศึกษาว่าด้วยเพศ (sexuality) โดยตรงด้วย ชุดงานเขียนสำคัญคือ The History of Sexuality ซึ่งก็คล้ายกับฐานความคิดของนักทฤษฎีคนอื่น คือ ฟูโกไปสำรวจว่าประเด็นเรื่องเพศ เช่น ความรู้เกี่ยวกับเพศหรือวิทยาการทางการแพทย์นั้นไปสัมพันธ์กับความคิดของชนชั้นกลางและระบบทุนนิยม หลายส่วนชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของความเชื่อทางศาสนา ไปจนถึงความรู้ทางการแพทย์ที่มีนัยการรับเอาศีลธรรมและวิธีคิดของระบบทุนนิยม ซึ่งถ้าเรามองย้อนไปในยุคแรกๆ การแพทย์เรื่องเพศจะมีทั้งความเชื่อแปลกๆ เช่น การห้ามสำเร็จความใคร่ การปลดปล่อยความปรารถนา ฟูโกชี้ให้เห็นว่ารัฐเข้ามาควบคุมบงการมนุษย์จนถึงในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ของความปรารถนา การมีกิจกรรมทางเพศต้องสัมพันธ์กับการผลิต (production-reproduction) การมีกิจกรรมทางเพศที่ไม่นำไปสู่ผลผลิต เช่น การสำเร็จความใคร่ หรือการมีเพศสัมพันธ์ในช่องทางอื่นๆ จึงถูกห้าม
Compulsory Heterosexuality and Lesbian Existence (1980)
Adrienne Rich
ทศวรรษ 1980 เป็นยุคที่ทฤษฎีเฟมินิสม์และเพศสถานะศึกษาค่อนข้างเฟื่องฟู แต่ในแง่ของเกย์และเพศหลากหลายยังคงมีปัญหาทั้งในด้านการยอมรับกระทั่งการมองเห็น ถ้าเรามองในปัจจุบันเวลาเราพูดเรื่องเพศหลากหลาย เราเองก็มักจะลืมกลุ่มเลสเบี้ยนไป งานเขียนชิ้นนี้ของ เอเดรียน ริช เป็นงานที่ค่อนข้างก้าวหน้า คือ การเสนอเรื่องผู้หญิงที่ไปไกลจนถึงการพูดเรื่องผู้หญิงที่ถูกกดขี่ในมิติของการความสัมพันธ์ในฐานะรักต่างเพศ ผู้หญิงแง่หนึ่งถูกทำให้ไม่เข้าใจความปรารถนาไปจนถึงร่างกายของตัวเอง และเธอเองก็ขยายไปจนถึงการรับรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่พึ่งพาผู้ชายอีกต่อไป
ในข้อเสนอสำคัญหนึ่งของงานเขียนนี้ตามชื่อเรื่องเลย คือ เธอเสนอว่า แนวคิดหรือภาคปฏิบัติของการเป็นรักต่างเพศ (Heterosexuality) ไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นและบังคับ (compulsory) ประเด็นพิเศษที่ริชสนใจก็คือการมีอยู่ของเลสเบี้ยนและกลุ่มผู้หญิงที่ปรากฏตัวอยู่เสมอตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ความปรารถนาและความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันนี้ในที่สุดจะถูกห้ามและถูกกดทับไว้ ในกรณีนี้ตัวอย่างในการศึกษาต่อๆ มา เราจะเห็นความสัมพันธ์พิเศษของผู้คนที่พ้นไปจากเพศชายหญิงหรือรักต่างเพศ ความปรารถนาในเพศเดียวกัน ไปจนถึงธรรมเนียมต่างๆ ที่พ้นไปจากขนบรักต่างเพศ เช่น นักรบในยุคกรีก ความสัมพันธ์ของซามูไรและเด็กหนุ่ม ความสัมพันธ์ของกลุ่มผู้หญิงในปกรณัมต่างๆ
Epistemology of the Closet (1990)
Eve Kosofsky Sedgwick
หลังทศวรรษ 1980 ทั่วโลกโดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาเกิดกระแสความเกลียดชังเกย์ขึ้น มีการรุมทำร้ายไปจนถึงฆาตกรรมอันเนื่องมาจากรสนิยมทางเพศที่ต่างออกไป งานเขียนชิ้นนี้ของ อีฟ โคซอฟสกี เซดจ์วิก ถือเป็นงานที่กรุยทาง ชื่อเรื่องพูดถึงญาณวิทยา โดยว่าด้วยการสืบหาที่มาและความยอกย้อนของ ‘closet’ จากวลี “Coming out of the closet.” หมายถึง การที่คนที่มีรสนิยมหรือตัวตนที่แตกต่างต้องเก็บงำตัวตนไว้ในตู้เสื้อผ้า นำออกมาแสดงในพื้นที่สาธารณะไม่ได้ งานศึกษาชิ้นนี้เป็นกึ่งวรรณกรรมศึกษา คือ กลับไปสำรวจการสร้างและกดทับกลุ่มเกย์ในฐานะคนกลุ่มน้อยทางสังคมผ่านยุคสมัยและตัวบทวรรณกรรมสำคัญต่างๆ
ประเด็นสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้นอกจากการชี้ให้เห็นการให้ความชอบธรรมในการกดเหยียด เกลียดชังและทำร้ายเกย์ในฐานะคนกลุ่มน้อยทางสังคม ในทางทฤษฎีงานเขียนชิ้นนี้ยังเน้นแสดงให้เห็นการสร้างคู่ตรงข้าม เช่น ชาย-หญิง, เกย์-รักต่างเพศ, พื้นที่ส่วนตัว-พื้นที่สาธารณะ ซึ่งผู้เขียนแสดงการแยกคู่ตรงข้ามในฐานะมุมมองโดยทั่วไป แต่พร้อมกันนั้นเธอก็แสดงให้เห็นว่าคู่ตรงข้ามนั้นมีความคลุมเครือ เรามีภาวะในระหว่าง คือ มีลักษณะที่ระบุลงไปในคู่ตรงข้ามฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้โดยเด็ดขาด
Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity (1990)
Judith Butler
งานเขียนที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของยุคสมัย ไม่ว่าจะสนใจเรื่องเพศสถานะศึกษาหรือไม่ Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity เป็นงานทฤษฎีที่รวบยอดเรื่องเพศเข้ากับทฤษฎีหลังสมัยอื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบ และวางรากฐานความเข้าใจเรื่องเพศ เพศสถานะ และความหลากหลายทางเพศอย่างซับซ้อนต่อไป อันที่จริงงานของ จูดิธ บัตเลอร์ ค่อนข้างยากและซับซ้อนเพราะพูดถึงมิติของเพศ เพศสถานะ รวมถึงเควียร์ที่ไปสัมพันธ์กับทฤษฎีอื่นๆ เช่น เรื่องภาษา จิตวิเคราะห์ ไปจนถึงมิติทางการเมืองอื่นๆ งานเขียนของบัตเลอร์ย้ำและสร้างทฤษฎีทั้งเรื่องความไม่เป็นธรรมชาติของเพศทั้งและหญิง การแสดงให้เห็นว่าเรื่องเพศสัมพันธ์กับการเมือง เป็นเรื่องของอำนาจและการสถาปนาความรู้ ความเป็นเพศที่ไม่แน่นอนตายตัวและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
แนวคิดสำคัญบัตเลอร์คือการใช้ชี้ให้เห็นความไม่แน่นอนของอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นที่มาเรื่อง ‘ความเลื่อนไหล’ ของเพศที่เราได้ยินบ่อยๆ ในปัจจุบัน ยุคที่เราเห็นว่าความเป็นชาย ความเป็นหญิง ไปจนถึงความเป็นเพศ ยาวไปถึงความสัมพันธ์ทางเพศต่างๆ นั้นเลื่อนไหลไปมาโดยยากจะนิยามและจับต้องได้ บัตเลอร์เสนอแนวคิดนี้ว่าเป็นการ กลายเป็น (becoming) ซึ่งเป็นการใช้แนวคิดแบบหลังสมัยใหม่ไปตอกย้ำทฤษฎีของ ซีมอน เดอ โบวัวร์ โดยอีกหนึ่งแนวคิดเรื่องการแสดง (performance) บัตเลอร์เสนอว่าในมิติเรื่องเพศนั้น การที่เราออกไปข้างนอกหรือใช้ชีวิตในนิยามของอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรืออะไรก็ตามเป็นการลอกเลียน หรือเป็นการแสดงบทบาทอย่างหนึ่ง ซึ่งก็แปลว่าอัตลักษณ์นั้นเราเปลี่ยนแปลงได้ มีหลายเฉด
Illustration by Krittaporn Tochan