เป็นเรื่องที่จินตนาการยากอยู่เหมือนกันถ้าเราจะนึกถึงสังคมที่ไม่มีการแบ่งเพศ เหยียดเชื้อชาติ หรือกีดกันศาสนา โลกจะเป็นแบบไหนถ้าทุกคนยอมรับความหลากหลายของคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างสมบูรณ์ แม้อาจจะยังมองไม่เห็นความหวังในโลกจริง แต่ซีรีส์ Sense8 ก็เหมือนเป็นตัวแทนที่บอกว่าสังคมที่ทุกคนยอมรับกันและกันนั้นเป็นไปได้
คำเตือน : บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนของซีรีส์
แม้ซีรีส์ Sense8 จะฉายจบไปตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 แต่เรื่องราวที่นำเสนอความหลากหลายผ่านคอนเซปต์แบบ sci-fi ก็ยังดูสดใหม่ ยิ่งเป็น pride month ที่เราต่างมาเฉลิมฉลองเสรีภาพทางเพศและความหลากหลาย Sense8 ยิ่งเป็นซีรีส์ที่อยากเชิญชวนให้ใครหลายคนได้ลองไปดูกัน
ความเจ๋งของเรื่องนี้ คือ ตัวซีรีส์เล่าถึงคน 8 คนที่ไม่รู้จักกันเลย แต่ละคนอยู่กันคนละมุมโลก พูดต่างภาษา นับถือต่างศาสนา และต่างเพศ ความพิเศษคือทุกคนลืมตาดูโลกในวันเดียวกัน แถมยังสามารถ ‘เชื่อมจิต’ หากันได้ หากใครคนใดคนนึงได้รับบาดเจ็บ คนอื่นๆ ใน 8 คนนี้ก็จะเจ็บด้วย ถ้าใครสักคนรู้สึกดีใจ คนที่เหลือก็สัมผัสอารมณ์นั้นได้ และไม่ใช่แค่ความรู้สึก ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ภาษา ทักษะ และรสนิยมให้กันได้ Sense8 จึงเป็นซีรีส์ที่ทำให้ความหลากหลายกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
ความน่าทึ่งและดูเป็น sci-fi มากๆ ของ Sense8 มาจากไอเดียของ ลานา วาชาวสกี (Lana Wachowski) และ ลิลลี วาชาวสกี (Lilly Wachowski) หรือที่รู้จักกันว่า พี่น้องวาชาวสกี ผู้กำกับ The Matrix และ Cloud Atlas ซีรีส์ Sense8 จึงเป็นเหมือนการผสมกันของความเป็นวิทยาศาสตร์จากผลงานก่อนหน้านี้ กับประเด็นเรื่องความหลากหลายที่ ลานา วาชาวสกี นั้นอยากจะเล่า เพราะตัวเธอเองก็เป็นหญิงข้ามเพศ (transgender woman) อยู่แล้ว
I am also We
ตอนแรกๆ ของซีรีส์นี้ออกจะดูยากหน่อย เพราะเนื้อเรื่องถูกเล่าอย่างกระจัดกระจายผ่าน 8 ตัวละครที่แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลยในทีแรก เช่น วิล—ตำรวจจากเมืองชิคาโก, ลิโต—นักแสดงดังในอิตาลี, คาลา—นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย หรือ โนมิ—แฮกเกอร์ที่เป็นหญิงข้ามเพศ (ยกตัวอย่างแค่สี่คนก่อนละกันเนอะ) ซีรีส์เหมือนพาเราไปรู้จักคน 8 คนจากคนละซีกโลก แต่ไม่ได้บอกว่าทำไมต้องรู้จักคนเหล่านี้
แล้ว Sense8 ก็เริ่มเปิดเผยบริบทแวดล้อมของแต่ละตัวละครไปทีละนิด เราได้รู้มากขึ้นว่านักแสดงที่รับบทแมนๆ อย่างลิโต ความจริงแล้วเป็นเกย์และกำลังปกปิดความสัมพันธ์ต่อสาธารณชน คาลาคือนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทางออกของความสัมพันธ์ด้วยศาสนา โนมิถูกพ่อและแม่มองว่าการเลือกแสดงออกทางเพศของเธอเป็นเรื่องผิดปกติ เราค่อยๆ ผูกพันกับตัวละครผ่านสังคมและคนรอบตัวของพวกเขา
ความไม่ปะติดปะต่อของเรื่องมาบรรจบกันเมื่อทั้ง 8 คนสามารถเชื่อมจิตหากันได้ จากที่ตอนแรกแต่ละคนมีเรื่องของตัวเอง เราจะได้เห็นทั้ง 8 ตัวละครสัมพันธ์กันมากขึ้น มีตั้งแต่นั่งปรับทุกกัน สวมร่างแทนคนอื่นในบางสถานการณ์ ไปจนถึงมีเซ็กซ์ด้วยกันทั้ง 8 คน ซึ่งทั้งหมดทำผ่านจิตที่เชื่อมกัน
ทุกคนเข้าใจกันและกันโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าใครเพศไหน ใครเป็นใครมาจากไหน เพราะทั้งหมด 8 คน เหมือนเป็นคนคนเดียวกัน ตรงนี้เองที่ Sense8 ทำให้เราเห็นถึงโลกที่ไม่กีดกันความหลากหลาย สังคมที่ทุกคนอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ว่าคนอื่นจะแตกต่างออกไปยังไง สุดท้ายก็คือมนุษย์เหมือนกัน
Amor Vincit Omnia—Love Conquers All
นอกจากการเชื่อมจิตที่เป็นวิทยาศาตร์ Sense8 คือซีรีส์ที่นำเสนอความหลากหลายทางเพศและความเป็น LGBTQ ได้อย่างน่าประทับใจ และคงเป็นความตั้งใจของ ลานา วาชาวสกี ตัวผู้กำกับเองเอง เห็นได้จากฉากขบวนพาเหรดเกยไพร์ดในตอนที่ 1 ของซีรีส์ ที่ทีมงานไปถ่ายกันในงาน pride จริงๆ ฉากในซีรีส์เลยเป็นส่วนหนึ่งของงานในวันนั้นไปด้วย
ภาพของ LGBTQ ยิ่งเห็นชัดขึ้นจากการนำเสนอผ่านตัวละคร เช่น โนมิ ตัวละครหญิงข้ามเพศที่ถูกแม่ของตัวเองมองว่าผิดเพศอยู่ตลอดเวลา แต่โนมิก็โชคดีที่มีแฟนเป็นผู้หญิงที่รักและเข้าใจเธอเป็นอย่างดี แถมความน่าสนใจคือ แฟนของโนมิมีพ่อทั้งหมดสามคน โดยที่ไม่รู้เลยว่าใครเป็นพ่อแท้ๆ กันแน่ แต่พ่อทุกคนเข้าใจกันและอยู่เป็นครอบครัวเดียวกันด้วยความรักที่มีต่อลูก
สุดท้าย Sense8 ให้คำตอบกับเราว่าทุกคนจะอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายได้ด้วย ความรัก (“Love Conquers All”) อาจจะฟังดูเชยไปหน่อย แต่นี่ก็คงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดในการอยู่ร่วมกันในสังคม อาจจะไม่ใช่ความรักในฐานะคู่รัก แต่คือความรักที่เพื่อนมนุษย์จะมอบให้กันได้ เป็นความเข้าใจ ความห่วงใจ และการระลึกอยู่เสมอว่าเราทุกคนก็มีร่างกายและสิทธิเหมือนๆ กัน