ในฐานะคนหนึ่งที่แวะเวียนไปดูหนังบ่อยๆ เวลาเช็คข้อมูลหนังในเน็ตแล้วเราจะพบประโยคคลาสสิคประโยคนึงบ่อยๆ ก็คือ “หนังไทยห่วยๆ มาฉายอีกแล้ว(ว่ะ)”
ฟังดูก็น่าปวดใจและปวดกบาลแทนคนทำหนังอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนลึกในใจของเราเองก็เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่าอยู่ไม่น้อยทีเดียว แต่ครั้นจะไม่อุดหนุนหนังไทยไปเลย ก็ไม่วายเห็นภาพว่าสุดท้ายเราก็อาจจะได้เห็นแค่หนังแนวตลกตีหัวเข้าบ้านไปเรื่อยๆ อีกเช่นกัน และนั่นทำให้เกิดคำถามขึ้นต่อมาว่าพวกเราควรทำอย่างไรระหว่าง “จ่ายเงินให้หนังไทย จนกว่าจะได้หนังไทยที่มีคุณภาพ” หรือ “อย่าจ่ายเงินให้หนังกาก จงจ่ายให้เฉพาะคนที่ทำหนังดี”
พวกเราควรทำอย่างไรระหว่าง “จ่ายเงินให้หนังไทย จนกว่าจะได้หนังไทยที่มีคุณภาพ” หรือ “อย่าจ่ายเงินให้หนังกาก จงจ่ายให้เฉพาะคนที่ทำหนังดี”
เราเชื่อว่าทุกท่านมีคำตอบในใจอยู่กึ่งหนึ่งอยู่แล้ว แต่ลองไปถามคนที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ไทยเพิ่มเติมกันอีกสักหน่อยน่าจะไม่เลวนัก เริ่มต้นกันที่ ‘คาลิล พิศสุวรรณ’ นักวิจารณ์รุ่นเล็กแต่ก็วนเวียนดูหนังมาไม่น้อย ทั้งในฐานะคนดู คนวิจารณ์ และคนศึกษา คาลิลให้ทรรศนะในเรื่องนี้ไว้ว่าตัวของเขาเองไม่ได้เห็นด้วยกับทางใดทางหนึ่งเสียทีเดียว
“ผมว่าการตีตราว่าหนังไทยห่วยก็ไม่ถูกนะ มันดูเหมารวมจนเกินไปที่จะขีดค่าว่าพอเป็นหนังไทยแล้วต้องห่วย พอเป็นหนังญี่ปุ่นแล้วต้องดี เอาจริงๆ ทุกที่มันก็มีหนังห่วยและหนังดีกันหมดครับ แม้แต่จะตัดสินว่าหนังเรื่องไหนห่วยหรือดีมันก็เป็นเรื่องปัจเจก ผมอาจจะชอบหนังที่คุณบอกว่าห่วยก็ได้ แน่นอนว่าการจ่ายเงินเพื่อดูหนังในโรงมันเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ส่วนจะพัฒนาขึ้นหรือไม่อันนี้ก็ตอบแบบชัดเจนไม่ได้ครับ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้มีการสร้างหนังใหม่ๆ ออกมาได้ ไม่ว่าหนังนั้นๆ มันจะห่วยหรือดีสำหรับคุณก็ตาม” คาลิลกล่าว
แน่นอนว่าการจ่ายเงินเพื่อดูหนังในโรงมันเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ส่วนจะพัฒนาขึ้นหรือไม่อันนี้ก็ตอบแบบชัดเจนไม่ได้ครับ แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้มีการสร้างหนังใหม่ๆ ออกมาได้ ไม่ว่าหนังนั้นๆ มันจะห่วยหรือดีสำหรับคุณก็ตาม
เราขยับจากมุมมองของฝั่งคนดูกับคนวิจารณ์ ไปยังฝั่งคนทำงานภายในอย่าง ฝ่ายการตลาดของบริษัทภาพยนตร์แห่งหนึ่งที่ออกมาให้ความเห็นกับเราว่า เขาไม่อยากให้จ่ายเงินให้กับหนังที่ห่วย แต่… ห่วยที่พนักงานการตลาดท่านนี้กล่าวถึงไม่ได้หมายถึงหนังที่พลอตไม่ดีแต่อย่างใด “เราควรจะหยุดซัพพอร์ตหนังที่ไม่มีคุณภาพ ในกรณีนี้หมายถึงหนังที่ไม่ได้อยู่ในระบบสตูดิโอ (อย่าง GDH, Five Star, สหมงคลฟิล์ม ฯลฯ) คืออย่างหนังที่อยู่ในระบบสตูดิโอเนี่ย เขาควบคุมคุณภาพมาระดับหนึ่ง มีการพรูฟบท มีการ Test Screen มีเช็กโน่นนั่นนี่หลายอย่าง คือการที่หนังมันทำเงินได้ ไม่ใช่แค่โรงหนังให้โอกาสฉายแล้วจบนะ แต่คนที่ทำหนังก็ต้องพิสูจน์ตัวเองมาก่อนแล้วขั้นหนึ่งด้วย อย่างระบบการทำหนังของพี่พจน์ (อานนท์) เนี่ย เขาคิดมาแล้ว เขาเกาะกระแสของปีได้ตลอด คนดูก็ยังแฮปปี้กับเรื่องของเขา ถ้ากางยอดฉายให้ดูสุดท้ายเขาก็ทำรายได้ใน กทม. เฉลี่ยเรื่องละ 30 ล้านได้”
“กลุ่มคนทำหนัง Outsider ที่มาทำหนังเพราะชอบหนัง เลยอยากสร้างหนังเอง หรือไม่ก็ถูกหลอกมา อย่าง ขรัวโต หรือล่าสุดอย่าง I Love You ผู้ใหญ่บ้าน หลายท่านเขาทำด้วยความรัก หรือโดนหลอกให้จ่ายเงินลงทุน โดยไม่เข้าใจระบบข้างต้นที่บอกไป คือเขาทำการบ้านมาน้อยไปหน่อย ดังนั้นมันก็มีโอกาสเรียกร้องกับทางโรงภาพยนตร์ต่างๆ ได้น้อย เพราะคุณคิดแล้วทำออกมาโดยไม่ได้มีการทำการบ้าน หรือมีการพรูฟใดๆ เพราะหนังหนึ่งเรื่องเนี่ย โปรดิวเซอร์หรือผู้กำกับไม่ควรเอาตัวเองมาตัดสินใจกระแสของหนัง เพราะคนทำย่อมมองว่ามันดีที่สุด ซึ่งกลุ่ม Outsider เขาจะไม่มีคนที่ไม่รู้เรื่องหนังเรื่องนี้มาช่วยตัดสินใจ แล้วกลุ่มนี้นั่นแหละที่สร้างปัญหาให้อุตสาหกรรมมากกว่า ยิ่งในยุคนี้ที่หนังเข้าฉายสัปดาห์ละ 5-7 เรื่อง ทางโรงที่เขาก็ทำธุรกิจเหมือนกันเขาก็คงไม่ยอมให้เสียเวลาเสียค่าไฟค่าจ้างคนโดยไม่ได้อะไรกลับมาหรอก”
แล้วแบบนี้พนักงานการตลาดท่านนี้เขาเหมารวมไปถึงกลุ่มทำหนังอินดี้ด้วยหรือเปล่า เขายืนยันกลับมาว่าไม่ใช่เช่นนั้น “กลุ่มหนังอินดี้แบบของพี่เจ้ย หรือ ปราบดา หยุ่น เขาเป็นกลุ่มที่รู้ดีว่าตัวเองเก่งมุมไหน เมื่อเขารู้ว่าเขาถนัดทำหนังขายต่างประเทศ เขาก็ขอระดมทุนจากสตูดิโอต่างประเทศไปเลย แล้วเขาก็รู้ว่าการทำหนังของเขาไม่ได้กำไรจากการฉายในเมืองไทยอยู่แล้ว เพราะกำไรของเขามาจากการฉายต่างประเทศและการเอาหนังไปขายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งเนี่ยถือว่าเป็นกลุ่มที่เขารู้ระบบการทำหนังและสามารถเอาตัวรอดได้”
“ทุกปีมันจะมีหนังไม่มีคุณภาพออกมาตลอดๆ จะพูดว่าเป็นเหยื่อประจำปีก็ได้ เราคิดว่าเราต้องเตือนหนังคุณภาพไม่ดี ว่าเราไม่ควรให้โอกาสที่จะเข้าโรง เราอยากจะให้เขาถอยกลับไปคิดก่อน หนังที่มันคุณภาพไม่ดี มันไม่ได้ช่วยพัฒนาวงการในแง่ใดเลยทั้งคุณภาพและการเงิน” พนักงานการตลาดกล่าวทิ้งท้ายไว้เช่นนี้
อีกท่านหนึ่งที่ให้เกียรติมาออกความเห็นกับเรื่องนี้ ‘หมู-ชยนพ บุญประกอบ’ บุคคลที่ทีมงาน The MATTER คิดว่าเขาคือคนทำหนังไทยรุ่นใหม่ในยุคที่คนไทยเลือกดูภาพยนตร์มากขึ้นและเหมือนจะเลี่ยงหนังไทยกันมากขึ้นเช่นกัน เมื่อเราสอบถามว่าควรจะทำอย่างไรกับหนังไทย จะจ่ายเงินให้หนังห่วยไหม หรือดูแค่หนังที่ดีก็พอ ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘เมย์ไหนไฟแรงเฟร่อ’ ก็ตอบกลับอย่างชัดเจนทันที “ผมคิดว่าเราควรจะเลือกดูหนังที่เราอยากดูครับ ถ้ามันไม่ OK เราก็ไม่ควรดูครับ ไม่มีแบ่งแยกหนังแนวไหนทั้งสิ้นครับ”
เมื่อเราถามกลับว่าในฐานะคนทำหนังอย่างตัวคุณหมูเองจะมีทางแก้ไขอย่างไรหรือไม่ คุณหมูจึงขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ “พอหนังมันดีจริงๆ จนถึงมาตรฐานที่ถูกต้องแล้ว คนก็จะมาดูเองครับ คือเราไม่สามารถตัดสินหรือบังคับให้คนมาดูอะไรได้ครับ เราก็แค่ต้องทำหนังให้ถึงมาตรฐานที่คนอยากจะดู คือถ้าเกิดหนังไทยจะสู้หนังที่อื่นๆ ไม่ได้ ก็ต้องยอมรับตัวเองว่ายังทำไม่ได้มาตรฐาน เพราะว่ามาตรฐานมันก็ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ การที่คนดูมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นพวกเราก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำผลงานให้ไปถึงมาตรฐานที่คนดูยอมรับได้ ส่วนใครจะดูหรือไม่ดูก็บังคับไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่านั้นครับ”
คำถามสุดท้ายที่เราสอบถามคุณหมูไป คือคำพูดของใครสักคนที่บอกให้คนไทยทุกคนอุดหนุนหนังไทยไปเรื่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น คุณหมูตอบกลับมาว่า
“ถ้า(คนดู)เขาไม่ดูก็ทำอะไรไม่ได้ และไม่ถูกต้องด้วยครับที่จะไปบีบบังคับเขา คือหนังดีมันประกอบไปด้วยหลายปัจจัยมากๆ ครับ ทั้งตัวหนัง ตัวเนื้อหนัง วิธีการบอกเล่า วิธีการเชิญชวนให้คนมาดู ช่วงเวลาที่หนังเข้า ช่วงเวลาของสังคมในเวลานั้น มันมี Factor เยอะ เป็นเรื่องที่คนทำทั้งคุมได้และคุมไม่ได้ครับ”