หนังวัยรุ่นสยองขวัญเรื่อง ‘สยามสแควร์’ ที่เข้าโรงอยู่ตอนนี้มีกระแสค่อนข้างดี หนังเล่าเรื่องปมปัญหาของวัยรุ่น อันเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุวุ่นวายต่างๆ โดยมีสยามสแควร์เป็นฉากหลัง
หนังเรื่องสยามสแควร์ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ใช้สยามสแควร์เป็นฉากหลักของเรื่อง รักแห่งสยาม เองก็ใช้สถานที่สำคัญใจกลางเมืองแห่งนี้เป็นตัวเดินเรื่อง หรือถ้าย้อนกลับไปปี 1984 หรือ พ.ศ. 2527 ก็เคยมีหนังที่เคยใช้ชื่อ สยามสแควร์ เล่าเรื่องชีวัยวัยรุ่นสมัยนั้นเช่นกัน
แต่กว่าที่จะมาเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าวัยรุ่น สยามแสควร์เคยเป็นอะไรมาก่อน สยามในแต่ละยุคมีหน้าตาเป็นยังไง ถนนวัยรุ่นยุคแม่ กับสยามสแควร์ในยุคเราเหมือนหรือต่างกันมั้ย ไปดู
ยุค 1950 : ก่อนวัยรุ่นจะเที่ยวสยาม พวกเขาไปเที่ยวที่ไหน?
พื้นที่ที่เราเรียกว่า ‘สยามสแควร์’ ในปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้วเป็นพื้นที่ภายใต้ความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ถูกประชาชนจับจองทำเป็นสวนผัก รวมถึงเป็นพื้นที่ชุมชนแออัด
วัยรุ่นในช่วงยุค 1950 ตอนปลาย ถึง 1960 ตอนต้น จึงเดินเที่ยวอยู่ในพื้นที่วังบูรพากันเสียมากกว่า แฟชั่นยุคนั้นตามเทรนด์ ของ เอลวิส เพรสลีย์ หรือ เจมส์ ดีน เสยผมบนหัวด้วยน้ำมันแล้วเซตให้อยู่ทรงแบบง่ายๆ บ้างก็ปล่อยปอยผมข้างหน้าให้ยื่นออกมา ใส่เชิ้ตยีนส์เท่ๆ อย่างเจมส์ ดีน ไม่ก็ขาบานรองเท้าโตๆ อย่างเอลวิส ส่วนสาวไทยในยุคนั้น ถ้าไม่ใส่ขาบานๆ กับเสื้อตัวโคร่ง ก็ใส่เดรส Mod Look สีสันสดใสสไตล์ไทยๆ หน่อย ไม่ก็ชุดกรุยกรายลายดอกๆ ไปเลย
ยุค 1960 : ก่อร่างตั้งสยามสแควร์
การพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์เริ่มขึ้นเมื่อราวปี 1962 หรือ พ.ศ. 2505 เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ในพื้นที่ชุมชนแออัด ก็มีการเจรจาให้ผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ออกไป
จากนั้นทางจุฬาฯ ก็ได้ว่าจ้างบริษัท เซ้าท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง หรือ ซีคอน มาพัฒนาที่ดินราว 63 ไร่ (บางแห่งกล่าวว่าเพียง 52 ไร่) ที่ได้กลับคืนมาให้กลายเป็นศูนย์การค้าเชิงราบ เปิดโล่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยอาคารพาณิชย์ ราว 3-4 ชั้น ให้ชั้นล่างเป็นร้านค้า ส่วนชั้นบนใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงยังมีแผนสร้างตลาด โรงหนัง โบว์ลิ่ง ไอซ์สเกต มาให้บริการ ซึ่งซีคอนได้พัฒนาพื้นที่เสร็จสิ้นในปี 1963 หรือ พ.ศ. 2507 ใช้ชื่อว่า ‘ปทุมวันสแควร์’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘สยามสแควร์’ ให้ดูยิ่งใหญ่สมเป็นพื้นที่ระดับประเทศตามความตั้งใจของ กอบชัย ซอโสตถิกุล ประธานบริษัทซีคอนในยุคนั้น
ในพื้นที่อีกฟากหนึ่งของถนนก็มีการสร้างโรงแรมบางกอกอินเตอร์-คอนติเนนตัล โรงแรมห้าดาวที่ตัวโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเนนตัล ตามการเปลี่ยนชื่อของปทุมวันสแควร์
ยุค 1970 : โรงหนังเฟื่องฟู ห้างสรรพสินค้าเริ่มเปิด
สยามสแควร์ยุคนี้เริ่มมีร้านค้าจากถิ่นอื่นๆ มาเปิดจนเต็มอัตรา แต่กว่าวัยรุ่นจะมูฟเข้ามาเที่ยวโซนนี้แบบเต็มกำลัง ระดับที่ว่าต้องต่อรถจากต่างจังหวัดเข้ามาเช็กเทรนด์ก็ช่วงยุค 1970 เมื่อโรงหนังเปิดตัวในพื้นที่สยามสแควร์ถึง 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สยาม (เปิดตัวในปี 1967) โรงภาพยนตร์ลิโด (เปิดตัวในปี 1968) และโรงภาพยนตร์สกาล่า (เปิดตัวในปี 1970) ซึ่งเดิมทีมีโครงการพัฒนาเป็นลานไอซ์สเก็ตแต่เกิดปัญหาบางประการขึ้นจึงปรับเปลี่ยนเป็นโรงหนังแทน
ส่วนห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์นั้นเปิดให้บริการในปี 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ซึ่งไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งในยุคนี้ก็คือการแข่งขันดนตรี ‘วงชาโดว์’ ที่ตั้งชื่อและสไตล์ของวงตามวง The Shadows ของประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการแข่งขันวงดนตรีแนวสตริงคอมโบในเวลาต่อมา
ในยุค 1970 ของไทย สไตล์ลายดอกสีสันยังคงได้รับความนิยม แต่การแต่งกายแบบฮิปปี้ กางเกงขาบานก็ฮิตกันมากขึ้น ส่วนฝ่ายชายอาจไม่ได้ทำผมเสยเหมือนยุคก่อนหน้า แต่ก็ยังนิยมนุ่งยีนส์ตามสไตล์เจมส์ดีนอยู่
ยุค 1980 : เงียบเหงารับ ‘ตุลา’ และการเปิดตัวครั้งแรกของ ‘มาบุญครอง’
ผลพวงจากเหตุการณ์ทางการเมือง ทั้ง 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้เรื่องราวของสยามสแควร์ หายไประยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งปี 1977 หรือ พ.ศ. 2520 สยามสแควร์ก็ได้ตัดริบบิ้นโรงโบว์ลิ่งแห่งแรกในสยาม แต่เพียงไม่กี่ปี ก็ถูกปรับปรุงพื้นที่ในปี 1984 หรือ พ.ศ. 2527 ให้กลายเป็นโรงแรมโนโวเทลสูง 21 ชั้น และในปีต่อมา ศูนย์การค้ามาบุญครองก็ได้เปิดให้บริการในวันวาเลนไทน์
กว่าที่สยามแสควร์จะมีอะไรครบเต็มพื้นที่แบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันก็ก้าวย่างมาถึงช่วง 1980 แล้ว แฟชั่นวัยรุ่นยุคนี้เน้นสีสันจัดจ้านมากขึ้น ทั้งชายทั้งหญิงแต่งตัวเท่ นิยมทั้งเสื้อยืดแนวสบายตัวคล่องแคล่ว และเสื้อเชิ้ตโอเวอร์ไซส์ สาวๆ เริ่มใส่ขาสั้นกันมากขึ้น และทรงผมถ้าไม่เลือกตัดสั้นกระฉับกระเฉง ก็ต้องบ็อบพอประมาณ ส่วนทรงผมรากไทรของหนุ่มๆ ก็เริ่มฮิตกันในช่วงนี้ แต่มาดยังต้องคลีนๆ อยู่นะ
ยุค 1990 : สยามยุคออกสื่อ
ในช่วง 1990 สยามสแควร์ที่อายุอานามเข้าหลัก 30 ปี ก็กลายเป็นแหล่งบันเทิงและแหล่งความรู้สำหรับวัยรุ่นไทยโดยสมบูรณ์ ด้วยความที่โรงเรียนสอนพิเศษหลายแห่งเริ่มมีชื่อขึ้นมาในยุคนี้ ดารานักร้องก็วนเวียนมาโปรโมตตัวเองที่ ‘ดีเจสยาม’ มากขึ้น ร้านของกินเจ้าใหม่ๆ ก็มักมาเปิดสาขาทดลองกันในสยาม หรือถ้าจะดูคอนเสิร์ต ก็มีเวทีคอนเสิร์ตเคยเปิดให้บริการที่ชั้นบนของศูนย์การค้ามาบุญครองด้วย
อีกเหตุผลที่วัยรุ่นมาเดินสยามกันมากขึ้นก็เพราะเหล่าแมวมองที่มาสอดส่องในพื้นที่ เพื่อชักชวนวัยรุ่นหน้าตาดีเข้าทำงานสู่วงการบันเทิง (สมัยนี้ก็ยังมีนะแต่อาจจะน้อยลง) ส่วนการก่อสร้างอาคารนั้นมีการปรับปรุงลิโดหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในปี 1993 หรือ พ.ศ. 2536 จากเดิมที่เป็นโรงหนังเดี่ยว กลายเป็นหลายโรงมาจนถึงปัจจุบัน
สถานที่อีกสองแห่งที่เปิดตัวขึ้นในช่วง 90s ก็คือ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่มาพร้อมกับการเดินหน้าตอกเสาเข็มสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรก ที่ทำให้รถติดทั่วทั้งกรุง เมื่อรวมกับเศรษฐกิจในยุคนี้ที่เข้าสู่ช่วงฟองสบู่แตก ทำให้สยามสแควร์เงียบเหงาลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้
แลนด์มาร์คอีกแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในช่วงปี 90 ก็คือ ‘เซ็นเตอร์พ้อยท์’ ที่เปิดตัวในปี 1998 และป็อปยาวไปจนยุค 2000 กลางๆ
ส่วนเสื้อผ้าก็ต้อง Body Glove ไม่ก็เสื้อยืดกราฟิกการ์ตูน แบบทาทา ยัง ในอัลบั้มแรกงี้ ทรงผมหนุ่มๆ ยุคนี้ก็ต้องแสกกลางตามสไตล์ดาราสุดฮิตของยุค ไม่อย่างนก็ตัดสกินเฮดเรียบๆ แบบ เคียนู รีฟส์ ไปเลย
ยุค 2000 : แวะเที่ยวเซ็นเตอร์พ้อยท์ แล้วเดินหรูๆ ที่ สยามพารากอน
สยามสแควร์ก้าวเข้าสู่ยุค 2000 ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าบีทีเอสในปี 1999 หรือ พ.ศ.2542 นั่นเอง เซ็นเตอร์พ้อยท์ยุคนี้จึงกลายเป็นสถานที่นัดพบสุดฮอตของเหล่าวัยรุ่นชิคๆ ก่อนจะปิดตัวไปในปี 2007 หรือ พ.ศ. 2543 โดยพื้นที่ดังกล่าวถูกปรับปรุงเป็นอาคาร ‘ดิจิตอล เกต์เวย์’ ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน
เมื่อเข้าขวบปีที่ 40 สถานที่บางแห่งจึงมีการปรับปรุง มาบุญครองก็มีการปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่และเปลี่ยนชื่อมาเป็น เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ในปี 2000 หรือ พ.ศ. 2543 ส่วนโรงแรมสยามอินเตอร์-คอนติเน็นตัล กับ เดอะมอลล์กรุ๊ป ก็สร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ นาม ‘สยามพารากอน’ เปิดให้บริการในช่วงปี 2005
ด้วยการเดินทางที่ง่าย มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ร้านค้ามากมาย ทำให้สยามสแควร์กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าร้านค้าเก่าๆ จะปิดตัวไป หรือโยกย้ายไปบ้างตามวลาและการขึ้นค่าเช่าของจุฬาฯ ในปี 2005 หรือ พ.ศ. 2548
ในด้านแฟชั่น วัยรุ่นชายยุค 2000 ไม่ได้โดดเด้งจากยุค 90s นัก แต่ผู้หญิงนั้นมีเทรนด์ ‘สายเดี่ยว เกาะอก’ ตามสไตล์การแต่งตัวของวง ไทรอัพม์ คิงก์ดอม ที่สมัยนั้นถือว่าแร้งแรง จนผู้ใหญ่จากหลายฝ่ายต้องออกมาห้ามปราม อย่าง รตอ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่ในดูแลเรื่องระเบียบสังคมในยุคนั้นก็ได้ฉายา ‘มือปราบสายเดี่ยว’ จากการพยายามห้ามปรามวัยรุ่นไม่ให้แต่งตัวหวือหวาเกินไปนั่นเอง
ยุค 2010 : รีโนเวทสยามสแควร์อีกครั้ง
ยุค 2010 อาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่สงบนักของสยามแสควร์ อันเป็นผลจากการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมอยู่บริเวณแยกราชประสงค์และสุดท้ายขยายยาวจนถึงสี่แยกปทุมวัน
แม้ว่าร้านค้าในพื้นที่ส่วนหนึ่งยังให้บริการตามปกติ แต่เมื่อมีเหตุรุนแรงมากขึ้นในช่วงสลายการชุมนุม โรงหนังสยามและพื้นที่โดยรอบก็ได้รับความสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2010 หรือ พ.ศ. 2553 จนอาคารทรุดพังทลายและต้องทุบทิ้งไปทั้งหมด
ผลจากความเสียหายนี้ทำให้มีแผนการพัฒนาพื้นที่ใหม่มาเป็น สยามสแควร์วัน ที่เปิดให้บริการมานับตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน
สไตล์การแต่งตัวของคนเดินสยามยุค 2010 นี้ หลายคนบอกว่าเป็นการย้อนกลับไปเอาสไตล์ของยุคก่อนๆ มาใช้อีกครั้ง แต่จะพังค์ จะร็อค จะฮิปสเตอร์ หรือจะแต่งตัวชิลๆ ก็ได้หมด
ถึงจะอยู่ยืนยงมามากกว่า 50 ปีแล้ว สยามแสควร์ก็จะยังเป็นศูนย์กลางของเทรนด์วัยรุ่นต่อไปอีกนานเลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
สำนักงานจัดการทรัพย์สิท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Facebook Fanpage : เปิดกล่องนิตยสารเก่า
ความเป็นมาของสยามแสควร์ คัดลอกจาก สกุณา ประยูรศุข หน้าชุมชนเมือง หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๕