รูปถ่ายขาว-ดำแสงจัดจ้าน เส้นสายและสัดส่วนโค้งเว้าของเรือนร่าง Nude & Muses นิทรรศการที่รวบรวมงานภาพตลอดการทำงานของ Ralph Gibson ช่างภาพผู้มองโลกด้วยภาษาสีขาวดำ ซึ่ง Gibson ต้องการให้ภาพถ่ายเป็นเรื่องของศิลปะ เป็นสิ่งที่อยู่บนผนัง และสามารถมองมันได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก
Ralph Gibson ช่างภาพระดับโลกที่ทำงานมาแล้วนับทศวรรษ เขาเกี่ยวข้องกับงานถ่ายทำตั้งแต่สมัยเด็ก เพราะพ่อของเขาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังให้กับอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) เขาเลยมีโอกาสได้คลุกคลีกับงานในกองถ่าย โดย Ralph หลงไหลในพลังของเลนส์ กล้อง แสง ซึ่งต่อมาเขาได้ศึกษาการถ่ายภาพขณะอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ และสถาบันศิลปะซาฟรานซิสโก เขาเริ่มต้นอาชีพช่างภาพด้วยการเป็นผู้ช่วยช่างภาพข่าว Dorothea Lange
ด้วยประสบการณ์และการทำภาพถ่ายให้เป็นศิลปะอย่างจริงจัง Ralph จึงมีผลงานที่ได้รับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มากกว่า 170 แห่งทั่วโลก รวมถึงงานนิทรรศการเดี่ยวกว่าร้อยครั้ง
The MATTER ชวนคุยกับ Ralph Gibson ถึงเสน่ห์ของภาพขาวดำที่เขาถ่ายอยู่เป็นประจำ งานในกองถ่ายส่งผลอะไรต่อการถ่ายรูปของเขา และเขาคิดอย่างไรกับกล้องดิจิทัล
The MATTER : อะไรคือเสน่ห์ของภาพขาวดำ?
Ralph Gibson : ต้องเข้าใจก่อนว่าโลกใบนี้ปรากฏในสเกล 100% มีลักษณะเป็นสามมิติ และเป็นสี ซึ่งถ้าเราลดทอนโลกนี้มาเป็นภาพถ่าย ลดขนาด และให้กลายไปสีขาวดำ สิ่งที่เราจะได้คือ ความ Dramatic
The MATTER : การเติบโตในกองถ่ายทำภาพยนตร์ของคุณ ส่งผลต่อมุมมองและผลงานอย่างไรบ้าง?
Ralph Gibson : ตอนที่เป็นเด็ก พ่อผมทำงานในกองถ่ายของวอร์เนอร์ บราเธอร์ ตอนนั้นผมเป็นตัวประกอบ สิ่งที่ผมเห็นเป็นประจำของารถ่ายทำยุคนั้นคือการใช้แสงจัดๆ ซึ่งในช่วงปี 50s ที่กองถ่ายมักจะจัดไฟแรงมากๆ เพื่อส่องฉากที่ใช้ถ่ายทำ ซึ่งตรงนั้นเองที่อาจทำให้ผมชอบถ่ายภาพโดยใช้แสงพระอาทิตย์จัดๆ
The MATTER : ดูเหมือนภาพของคุณจะเน้นเรื่องการจับจังหวะภาพถ่ายแบบแคนดิด?
Ralph Gibson : ผมไม่ได้สนใจเรื่องการแคนดิดเท่าไหร่ งานถ่ายบางช่วงของผม เช่น งานปี 1966 ผมให้ความสำคัญกับรูปแบบ รูปทรงเรขาคณิต ซึ่งการถ่ายแคนดิดไม่ได้สำคัญสำหรับผม ผมต้องการความจริงทางภาพถ่าย (Photographic truth) มากกว่าการมุ่งเน้นไปที่ภาพถ่ายแคนดิต แม้ว่าเราจะมองเห็นโลกใบนี้เป็นสี แต่สายตาของผมส่วนใหญ่มองโลกใบนี้เป็นขาวดำ ผมปรับสายตาไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งมุมมองนี้ก็เหมือนกับภาษา ที่คุณอาจคิดเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษ สำหรับผมการมองโลกด้วยสีขาวดำก็เป็นแบบเดียวกัน
The MATTER : ทำไมถึงเลือกถ่ายภาพเปลือย
Ralph Gibson : ผมใช้การถ่ายภาพเปลือยเพื่อฝึกฝนการถ่ายภาพของผม การถ่ายภาพเปลือยผู้หญิงเป็นเรื่องของทรวดทรง ความโค้ง ส่วนภาพเปลือยผู้ชายเป็นเรื่องของรูปทรง เส้นและมุม การถ่ายภาพเปลือยจึงเป็นเหมือนเรื่องวิชาการที่ผมศึกษาฝึกฝน ซึ่งจริงๆ งานเปลือยเป็นเพียงแค่ 20% ของงานทั้งหมดของผมเท่านั้น
The MATTER : ความสำคัญระหว่างอุปกรณ์และความคิด
Ralph Gibson : ภาพเกือบทุกภาพของผมถ่ายด้วยเลนส์ 50mm. ไม่มีการบิดเบือน เพราะผมอยากได้มุมที่เป๊ะไม่บิดเบี้ยว และเหมือนจริงที่สุด ซึ่งสมัยก่อนช่างภาพส่วนใหญ่ถ่ายภาพด้วยเลนส์ระยะ 50mm. กับกล้อง rangefinder
The MATTER : ฟังดูเหมือนคุณจะชอบฟิล์มเป็นพิเศษ คิดอย่างไรกับดิจิทัล
Ralph Gibson : ผมก็ชอบนะ ชอบการถ่ายภาพในระบบดิจิทัล แต่ดิจิทัลก็เป็นระบบๆ หนึ่ง ที่ตอบสนองกับการคิด การมองโลกของผมได้อย่างรวดเร็ว แต่การสร้างภาพของตัวระบบก็ค่อนข้างต่างไปจากกล้องฟิล์ม ระบบดิจิทัลจึงเป็นเหมือนอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งข้อผิดพลาดของการถ่ายภาพดิจิทัลคือการไปทำให้มันดูเป็นแบบฟิล์ม ผมชอบให้ภาพดิจิทัลเป็นแบบดิจิทัล ไม่ได้อยากให้มันเป็นแบบฟิล์ม
นอกจากนี้ The MATTER ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณปิยทัต เหมทัต curator ของนิทรรศการนี้ ถึงไอเดียในการจัดการและการจัดเรียงรูป
The MATTER : ทำไมถึงนำงานของ Ralph Gibson มาจัดนิทรรศการ
ปิยทัต : ผมติดตามงานของเขามาตั้งแต่ผมเป็นนักเรียน งานเขาเหมือนเปิดประตูไอเดียให้กับช่างภาพต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงเส้น แสง กราฟิก มินิมอล ซึ่งตอนเห็นงานเขาครั้งแรกผมทึ่งมาก ไม่นึกว่างานภาพถ่ายที่เป็นมินิมอล กราฟิก สามารถที่จะประกอบอาชีพได้ ผมเลยติดตามงานเขามาตลอด และได้เห็นว่าเขาทำงานหลากหลาย ทั้งภาพ nude, object, still life บางทีก็ถ่ายสถาปัตยกรรมที่โดยใช้เลนส์แคบ 50/90 ถ่าย เลยเห็นดีเทลต่างๆ ของสถาปัตยกรรมซะส่วนใหญ่
สำหรับงานครั้งนี้ผมก็อยากจะรวมงานเขาหลายๆ อย่าง มากกว่าเอาด้านในด้านหนึ่งมา เพื่อที่จะให้เห็นความสามารถที่กว้างของเขา และเป็นโอกาสที่จะได้เห็นงานที่ทำตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบางรูปก็เป็นรูปสี ที่เป็นรูปล่าสุดที่เขาทำ
The MATTER : การวางรูปแต่ละรูปมีที่มามีที่มายังไง
ปิยทัต : ผมพยายามคิดคล้ายๆ ที่ราฟคิด เพราะงานเขาจะมีสัญลักษณ์เล็กๆ ซ่อนอยู่ในงาน เวลาที่วางคู่กันเราจะเห็นถึงองศาของสิ่งต่างๆ ที่มันเชื่อมกัน นอกจากนี้เรายังเล่นกับพาทิชั่นต่างๆ เช่น รูปที่เล่นกับพื้นที่ ซึ่งผมไม่ได้วางแต่ละรูปเป็น section เพราะรูปของเขาทั้งหมดเข้ากันได้ดีอยู่แล้ว
งานนิทรรศการ Nude and Muses จัดขึ้นที่ ไลก้า แกลเลอรี แบงค็อก (Leica Gallery Bangkok) บริเวณชั้น 2 ของศูนย์การค้าเกษรวิลเลจตั้งแต่วันนี้จนถึง 25 มิถุนายน 2561
Content by Vanat putnark and Asadawut Boonlitsak
Illustration by Yanin Jomwong