ภาพยนตร์ น้อง.พี่.ที่รัก เพิ่งเข้าฉายวันนี้เป็นวันแรก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่เรื่องนี้เป็นผลงานของผู้กำกับที่หลายคนคุ้นเคย แถมด้วยความอินกับภาวะความเป็นพี่น้องที่เหมือนลิ้นกับฟันแต่ก็ต้องอยู่ด้วยกัน หรือแค่อยากรู้ว่าความสัมพันธ์ชวนวุ่นวายแบบในเรื่องจะลงเอยยังไง ก็น่าจะทำให้หลายคนตัดสินใจตีตั๋วเข้าไปดู
พูดมาขนาดนี้ก็ไม่ได้จะสปอยล์หนังใหม่เข้าโรงแต่อย่างใด แต่เพราะความสัมพันธ์แบบพี่น้องเป็นเรื่องที่วงการหนังพยายามนำมาถ่ายทอดให้เห็นกันอยู่ตลอด The MATTER จึงมาแนะนำหนังอื่นๆ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับพี่น้องเรื่องอื่นๆ และบางเรื่องก็ทำให้นึกถึงสิ่งสำคัญในชีวิตที่เรียกว่าครอบครัว
*มีการสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์ที่กล่าวถึงในบทความ แต่ไม่มีสปอยล์ น้อง.พี่.ที่รัก แต่อย่างใด*
Rain Man
แม้ห่างไปนาน แต่ความเป็นพี่น้องไม่เปลี่ยนแปลง
ผลงานภาพยนตร์เมื่อปี 1988 เกี่ยวกับ ชาร์ลี แบบบิตต์ ที่ใช้ชีวิตแบบไม่สนใจครอบครัวมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งพ่อของเขาเสียชีวิตลง ชาร์ลีจึงไปจัดการเรื่องมรดกและพบว่าเขาได้รับแค่รถคันเดียว ส่วนทรัพย์สินที่เหลือกลับตกไปอยู่ในการครอบครองของหมอประจำโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง และเขาก็ได้พบกับ เรย์มอนด์ แบบบิตต์ พี่ชายที่ชาร์ลีไม่เคยทราบว่ามี และพี่ชายคนนี้ยังมีภาวะออทิสติก ซาวองก์ (Autistic Savant) ทำให้ชาร์ลีเคืองหนักว่าทำไมสมบัติมีมูลค่าถึงตกอยู่กับคนที่ไม่น่าใช้งานเงินได้ เพื่อให้ได้สมบัติมาครอง ชาร์ลี จึงตัดสินใจลักพาตัวเรย์มอนด์ เพื่อให้หมอที่ดูแลมรดกยอมยกทรัพย์สินครึ่งหนึ่งให้กับชาร์ลี แต่การเดินทางกับผู้มีอาการออทิสซึมโดยต้องทำอะไรซ้ำๆ ทุกวันนั้น ทำให้แผนการของชาร์ลีไม่งอกเงยดังผล แต่การเดินทางที่เชื่องช้า จึงเป็นจังหวะดีที่ทำให้ชาร์ลีกับเรย์มอนด์ ค่อยๆ ฟื้นความสัมพันธ์ และส่วนหนึ่งต้องขอบคุณทักษะเฉพาะตัวของเรย์มอนด์ ที่สามารถจดจำได้ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งสองคนจึงกลับมาเป็นพี่้น้องอีกครั้งในที่สุด
นอกจากที่หนังจะมีการแสดงอันยอดเยี่ยมของ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน ที่ต้องรับบทเป็นผู้มีอาการออทิสซึม ทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยมในปี 1989 เมื่อลองนับอายุของดัสตินกับพระเอกเทพบุตรอย่างทอม ครูซ ที่ห่างกันถึง 25 ปี ก็ชวนให้คิดในช่วงแรกว่าเราจะเชื่อภาพลักษณ์ของพวกเขาในฐานะพี่น้องได้อย่างไร แต่เมื่อถึงฉากที่พี่น้องทั้งสองคนย้อนความทรงจำกันว่า ในนาทีสุดท้ายก่อนที่เรย์มอนด์จะย้ายออกจากบ้านไปอาศัยในโรงพยาบาลจิตเวช ก็ทำให้เรารู้สึกเชื่อได้ว่าพวกเขาเป็นพี่น้องที่ห่างจากกันไปนาน ความจริงยังมีเยื่อใยต่อกันเสมอ
ทั้งนี้สำหรับคนที่สงสัยว่าหนังเรื่องนี้หมายถึงยอดมนุษย์เรียกฝนหรือเปล่าถึงตั้งชื่อนี้ ขอบอกเพิ่มเติมอีกนิดว่า ชื่อเรื่อง Rain Man มาจากชื่อ เรย์มอนด์ (Raymond) ที่ตัวละครชาร์ลีฟังและเรียกผิดในวัยเด็ก ซึ่งสะท้อนว่าจริงๆ ทั้งสองคนเคยอยู่ด้วยกันและสนิทกันระดับหนึ่ง
How to Win at Checkers (Every Time)
ถึงจะอยู่ใกล้กันตลอด แต่กว่าจะรู้ว่ารัก อาจจะเป็นตอนที่ผ่านเวลาขมขื่นไปแล้ว
ชื่ออังกฤษอาจจะไม่ชวนคุ้นเท่าไหร่เพราะในชื่อไทยของหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อ ‘พี่ชาย My Hero’ ในการฉายแทน หนังไทยที่มีทีมงานหลากสัญชาติร่วมกันสร้างเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวอันหลากหลายในสังคมได้อย่างน่าสนใจ กระนั้นประเด็นสำคัญของเรื่องก็คงไม่พ้นความเป็นพี่น้องของเอกกับโอ๊ต ที่นอกจากจะกำพร้าพ่อแม่แล้ว พวกเขายังผูกพันกันด้วยการเล่นหมากฮอส ที่สอดคล้องกับชื่ออังกฤษของเรื่อง ด้วยความที่หนังบอกเล่าหลายประเด็น ทั้งเรื่องความป็นเกย์ของเอก การเกณฑ์ทหารที่กลายเป็นตัวพลิกชีวิตของตัวละครในเรื่อง ฯลฯ เลยอาจจะไม่มีเวลาไปเล่าความสัมพันธ์วัยเด็กของพี่น้องคู่นี้ไม่มาก แต่ก็มีหลายช่วงของเรื่องที่บอกเล่าว่า ตัวพี่ชายอย่างเอกก็ยังคงห่วงน้องชายในแบบที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งพอจะคิดได้ ทั้งยังพยายามทำงานหลายอย่างเพื่อช่วยให้ป้าของเขาสามารถมีเงินเลี้ยงดูน้องชายของตัวเองได้ และไปไกลจนถึงขั้นยอมสละตัวเองเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
หนังเริ่มต้นและจบลงด้วยด้วยความหม่นหมองกับช่วงเวลาที่ผ่านไปหลายปีจนโอ๊ตกำลังจะต้องไปจับใบดำใบแดงเป็นทหาร และเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานนี้เองที่ทำให้น้องชายตระหนักถึงความรักที่พวกเขามีให้กันและกัน แม้จะไม่มีโอกาสได้พบกันอีกก็ตาม
Our Little Sister
พี่น้องสี่ใบเถา แค่มาจากคนละแม่
โคเรเอดะ ฮิโรคาซุ ถนัดนักในการกำกับหนังที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งในเรื่อง Our Little Sister นี้มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ เพราะเรื่องนี้ผู้กำกับชายในอายุวัยหลัก 50 ได้ทำการบอกเล่าเรื่องราวของ ซาจิ โยชิโน กับจิกะ พี่น้องสามใบเถาที่พ่อหายตัวไปอยู่กับครอบครัวใหมตั้งแต่พวกเธอยังเด็ก จนวันหนึ่งที่ได้ข่าวเรื่องงานศพของพ่อ ทั้งสามคนจึงต้องเดินทางไปงานศพและได้พบกับน้องสาวร่วมพ่ออย่าง ซุสุ ที่สามพี่น้องรู้สึกมีความสัมพันธ์บางอย่าง พวกเธอจึงเชิญชวนให้น้องสาวคนละพ่อมาอาศัยอยู่ด้วยกันที่จังหวัดคามาคุระ
หนังบอกเล่าความสัมพันธ์ของพี่น้องที่ไม่เคยเป็นพี่น้องมาก่อนอย่างเชื่องช้าโดยตั้งใจ เราจึงได้เสพมุมมองอันสวยงามของคามาคุระ เช่นเดียวกับตัวละครซุสุที่ไม่เคยรู้จักเมืองแห่งนี้มาก่อน ในขณะเดียวกันความช้าของการเล่าเรื่องก็ค่อยๆ คลี่ปมปัญหาที่ตัวละครแต่ละตัวซ่อนเอาไว้ ที่บางอย่างก็ต้องกลับมากระทบกับความสัมพันธ์ของครอบครัวที่บ้านอย่างช่วยไม่ได้ กระนั้นปัญหาในครอบครัวไม่ว่าจะของบ้านนี้หรือบ้านไหน ก็อาจจะเกิดขึ้นมาเพื่อคลายปมให้คนในบ้านสามารถเข้าใจกันมากขึ้น และโคเรเอดะก็เป็นมือโปรในการถักทอเรื่องเหล่านี้ให้คนดูเข้าถึงและเห็นอกเห็นใจพี่น้องทั้งสี่คน รวมถึงได้เห็นว่าทำไมพี่น้องในบ้านนี้ถึงรักกันจนถ้าขาดใครคนใดคนหนึ่งไปบ้านหลังนี้คงไม่น่ารักขนาดนี้เป็นแน่
What Happened to Monday
ถึงสนิทเป็นฝาแฝด แต่ก็ยังต้องการความต่าง
เปลือกนอกของหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นหนังแอ็กชั่นดิสโทเปียที่เล่าถึงโลกในยุคที่ประชากรล้นโลก จนต้องมีนโยบายหนึ่งครอบครัวหนึ่งบุตรออกมาบังคับใช้ แต่ครอบครัวของตัวละครหลักกลับมีลูกฝาแฝดเจ็ดคน พวกเธอจึงต้องใช้ชีวิตปลอมตัวเป็นคนเดียวกันแล้วใช้วิธีออกจากบ้านวันละคนแทน ส่วนหนึ่งของเรื่องที่บอกเล่าได้น่าสนใจในช่วงแรกคือตอนที่แฝดทั้งเจ็ดยังเป็นเด็กและยังไม่เคยเผชิญหน้ากับโลกภายนอก คุณตาของฝาแฝดได้บอกว่าตัวเขาอยากให้แฝดแต่ละคนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และจุดนี้เองที่กลายเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายในเรื่อง จุดเล็กๆ นี้เองที่สะท้อนภาพมากขึ้นว่า บางทีก็ควรจะมีที่ว่างให้ความต่างบ้าง และในฉากส่งท้ายของเรื่องที่ตัวละครฝาแฝดมองโลกซึ่งเปลี่ยนไปอีกเล็กน้อยก็บ่งบอกได้ชัดเจนว่า ไม่ว่าใครก็อยากมีความเป็นตัวของตัวเองอยู่บ้าง
ส่วนที่ต้องชื่นชมของหนังเรื่องนี้คงไม่พ้นนักแสดงหลักสามคนคือ นูมิ ราเพซ และ คลารา รี้ด ที่รับบทแฝด 7 วัยผู้ใหญ่กับเด็ ที่สร้างลักษณะนิสัยของตัวละครของทั้งเจ็ดคนได้ออกมาดีพอสมควร แต่ก็ต้องยกความดีความชอบให้ วิลเลียม เดโฟ ที่รับบทเป็นคุณตาที่ทั้งเฮี้ยบ แต่ก็เปิดโอกาสให้กับเด็กๆ ทั้งยังรักกับเอ็นดูเด็กๆ อยู่เสมอด้วย และเหมือนว่านักแสดงคนนี้จะรุ่งกับบทผู้ปกครองไปแล้วเพราะหนัง The Florida Project ที่เขาก็ต้องรับบทเอ็นดูเด็กๆ ก็ได้รับคำชมอยู่มากเช่นกัน
The Sound of Music
พี่น้อง ผู้นำพา ‘ที่รัก’ มาสู่บ้าน
มนต์รักเพลงสวรรค์ เป็นภาพยนตร์คลาสสิกที่หลายๆ คนอาจจะนึกถึงฉากวิ่งออกไปทุ่งกว้าง (ที่ถูกแซวเป็น meme วิ่งไปในโลกสวย) กับความรักระหว่างผู้การฟอน ทรัปป์ นายทหารผู้เข้มงวด กับมาเรีย ไรเนอร์ นักบวชฝึกหัดช่างฝันที่มีเสียงเพลงอยู่เต็มในหัวใจ แต่ในเรื่องนี้ยังมีตัวละครสำคัญอีกกลุ่มใหญ่ นั่นก็คือลูกๆ ทั้งเจ็ดของกัปตัน ประกอบไปด้วย ลีเซิล ฟรีดริค ลุยซ่า เคิร์ต บริกิตต้า มาธาร์ และเกรเทิล
ในช่วงต้นเรื่องพี่น้องกลุ่มนี้เป็นเหมือนลูกน้องในบังคับบัญชาของผู้การฟอน ทรัปป์ แต่ความตึงจนเกินเลยนี้เองที่ทำให้เด็กๆ กลั่นแกล้งพี่เลี้ยงคนอื่น เมื่อถึงคราวที่มาเรียมารับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ หญิงสาวได้สอนเรื่องราวต่างๆ ให้กับเด็กทั้งเจ็ดด้วยเสียงเพลง ผลคือพี่น้องกลายเป็นเด็กที่สดใสสมวัยมากขึ้น เกิดความไม่พอใจแก่ผู้เป็นพ่อ จนเกือบจะไล่มาเรียออกจากตำแหน่ง และเมื่อมาเรียหายตัวไป พี่น้องทั้งเจ็ดคนก็ได้ร่วมกันเพื่อค้านพ่อของพวกเขา จนทำให้ผู้พ่อรู้ตัวโดยสมบูรณ์ว่าสิ่งที่ขาดไปในบ้านหลังนี้คือความอ่อนโยนและสดใสนั่นเอง
ด้วยความเป็นหนังรักติดความน้ำเน่าเบาๆ ทำให้บทบาทพี่น้องทั้งเจ็ดในหนังอาจจะเหมือนบทสมทบ ถึงอย่างนั้น เราก็เห็นได้ว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพี่น้องในเรื่องทำให้พ่อของพวกเขาได้พบกับ ‘ที่รัก’ อีกครั้ง แล้วในช่วงท้ายที่ต้องหนีตายไปสวิตเซอร์แลนด์ ถ้าไม่มีความร่วมมือกันอย่างดี พวกเขาก็อาจจะไม่รอดชีวิตเช่นกัน
The Fighter
เชื่อใจจนชนะทั้งเวทีมวย และเวทีชีวิต
หนังเป็นการดัดแปลงชีวิตของนักมวยมิกกี้ วอร์ด (Micky Ward) และดิกกี้ เอ็ดลันด์ (Dicky Edlund) ในช่วงที่มิกกี้เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยเกษียนของนักกีฬา ฟอร์มก็อยู่ในช่วงตกต่ำจนเหมือนจะเป็นนักมวยแจกแต้มให้กับคนอื่นๆ แถมสถานการณ์ในบ้านก็ไม่ค่อยดีงามมากนัก อดีตภรรยาก็ไม่ยอมให้เขาพบกับลูกสาว ดิกกี้ผู้เป็นพี่ชาย ที่ปรับตัวเองจากยอดนักชกมาเป็นโค้ชช่วยฝึกน้องชายก็ติดยาอย่างหนัก แล้วยังมีช่องเคเบิลมาถ่ายสารคดี ซึ่งสุดท้ายก็ตัดต่อเอาภาพแย่ๆ ไปออกสื่ออีก เรียกว่าสถานการณ์ที่ทั้งสองคนเจอเป็นอะไรที่เละเทะสุดๆ
เมื่อทุกอย่างเสียงทรงไปจนเกือบทั้งหมด สิ่งที่มิกกี้ทำได้คือการฝึกฝนตัวเองให้พร้อมชม ส่วนดิกกี้ที่อยู่ในคุกและอยู่ในระหว่างการเลิกยาก็เริ่มรู้ตัวว่าเขาทำอะไรพลาดไป แล้วก็แนะนำแทคติกในระหว่างที่พี่น้องได้พบหน้ากันในคุก ด้วยความเชื่อในตัวของน้องชายว่ายังจะสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ที่ใครก็คิดว่าเก่งกว่าได้ สุดท้ายมิกกี้ก็คว้าชัยชนะที่ห่างหายไปนาน ส่วนดิกกี้ หลังจากออกจากคุกแล้วก็ตั้งใจมาเป็นเทรนเนอร์ให้น้องอีกครั้ง แต่ก็ยังมีอุปสรรคขัดขวางอยู่อีก เพราะหลายๆ คนยังไม่เชื่อว่าดิกกี้จะสามารถลาขาดจากยาเสพติดได้จริงๆ แต่ก็เป็นมิกกี้เองที่ยืนยันว่าแผนของดิกกี้นั้นถูกต้อง จนสามารถทำให้ทีมฝึกยอมใจให้พี่น้องกลับมาอีกครั้ง และสุดท้าย พวกเขาก็สามารถไปถึงชกครั้งใหญ่ค่าตัวมหาศาลได้ในที่สุด
เรื่องราวของสองพี่น้องคู่นี้ เรียกว่าต้องสู้กันทั้งในบ้านและบนเวทีมวย อีกทั้งยังมีคนไม่เชื่อถือในตัวเขาหลายต่อหลายครั้ง อย่างตัวมิกกี้ก็ไม่มีใครคิดว่าในวัย 35 ปี จะสามารถเอาชนะนักชกที่มีอายุน้อยและฟอร์มสดกว่า ส่วนตัวดิกกี้ก็ไม่เหลือคนเชื่อมั่นในความเฉียบคมของตัวเขาที่เคยทำได้ในสมัยนักมวย สุดท้ายแล้วก็มีแต่พวกเขาที่ลึกๆ ต่างเชื่อในความสามารถของกันและกัน แม้ว่าจะมีเรื่องอื่นมาคั่นขวางจิตใจก็ตาม และเมื่อท้ายเรื่องนำเอาภาพพี่น้องตัวจริงที่ตอนนี้สนิทสนมกันมาให้เราได้ชมก็ได้เห็นว่าทั้งคู่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนยากที่จะมีคนมาสั่นคลอนความศรัทธาในตัวพวกเขา
ในหนังเรื่องนี้ คริสเตียน เบล ที่รับบทดิกกี้ ลดน้ำหนักอย่างหนักเพื่อรับบทตามวิถีการแสดงของเขา แถมยังทำท่าทางและพูดจาคล้ายกับตัวจริงที่เราเห็นในท้ายเรื่อง จึงไม่แปลกที่เขาจะคว้ารางวัลออสการ์สาขาดาราสมทบชายไปครองจากการแสดงในเรื่องนี้