การใช้ชีวิตคู่กับใครสักคนเป็นเรื่องที่อาศัยความคิดและการตัดสินใจที่ละเอียดอ่อนมาก
เรารู้จักกับแฟนของเราแค่เวลาที่ไปเที่ยวข้างนอกด้วยกัน เวลาอยู่ในที่อยู่อาศัยเดียวกันเขาเป็นคนยังไงนะ? เราที่นอนคนเดียวมาทั้งชีวิตจะอยู่กับเขาได้รึเปล่า? เขาล้างจานมั้ยเพราะเราไม่ชอบล้าง? เขามีหน้าอีกหน้าอยู่ใต้หน้ากากของเขารึเปล่า? คำถามเหล่านี้เป็นเพียงไม่กี่คำถามที่เราจะไม่อาจรู้ได้เลยหากเราไม่ได้อยู่ร่วมกับใครสักคนจริงๆ และมันเป็นคำถามที่นำไปยังคำถามต่อมา เราควรอยู่ก่อนแต่งกันมั้ย?
การอยู่ก่อนแต่งคือการใช้ชีวิตร่วมกันของคนรักในที่อยู่อาศัยเดียวกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือมีพิธีแต่งงาน แปลว่ามันคือความสัมพันธ์ที่หน้าตาคล้ายการแต่งงานอยู่กินกันในพื้นที่เดียวกันแต่ตัดเรื่องของเอกสารและจารีตของการแต่งงานออกไปนั่นเอง และแม้จะเรียกว่าอยู่ก่อนแต่ง ในความเป็นจริงแล้วการอาศัยชนิดนี้เรียกว่า ‘Cohabitation’ นี้ไม่จำเป็นต้องมีปลายทางเป็นการแต่งงานกันก็ได้
คำตอบของคำถามว่า ‘อยู่ก่อนแต่งดีมั้ย’ ดูน่าจะตรงไปตรงมาถ้าถามใครก็ตามในปัจจุบัน เราจะตกลงปลงใจไปอยู่กับคนที่เรายังไม่รู้จักกันมากเท่าที่ควรตลอดชีวิตได้ยังไง? ยังไงการอยู่ก่อนแต่งก็ต้องนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกว่าถูกหรือเปล่า? ลองไปดูหลักฐานรอบๆ ความสัมพันธ์ cohabitation แล้วเราอาจจะพบว่ามันอาจจะซับซ้อนกว่านั้น และมันอาจจะขึ้นอยู่กับว่า ‘ความมั่นคง’ ของแต่ละคนแปลว่าอะไร
สถิติว่ายังไงบ้าง?
การมีความสัมพันธ์แบบ cohabitation นั้นมีข้อดีสำหรับคนที่มีความต้องการจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ของตัวเองจากแฟนที่คบหากันให้กลายเป็นชีวิตแต่งงาน นั่นคือมันทำหน้าที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านให้กับคู่รักได้ มันสามารถตัดความรู้สึกปุบปับและกะทันหันของการก้าวข้ามเส้นการแต่งงานได้ เพราะแม้การอยู่ก่อนแต่งจะเป็นความสัมพันธ์ที่ยกระดับความทุ่มเทมากกว่าการเป็นแฟนเฉยๆ ในทางเทคนิคยังไม่มีตัวล็อคชื่อการสมรส ที่หากไม่ถูกใจการก้าวออกไปนั้นยุ่งยากกว่าแค่การเดินออกมา
ถ้าอย่างนั้นแล้วแปลว่าความสัมพันธ์แบบอยู่ก่อนแต่งสามารถการันตีชีวิตการแต่งงานที่มั่นคงกว่าได้จริงมั้ย? ถ้าถามสถิติแล้วอาจจะซับซ้อนกว่านั้น
งานวิจัย Cohabitation Experience and Cohabitation’s Association With Marital Dissolution โดยไมเคิล โรเซนเฟลด์ (Michael Rosenfeld) และแคทเธอรีน โรสเลอร์ (Katherine Roseler) นักวิจัยจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดรวบรวมสถิติจากคู่แต่งงานชาวอเมริกันตั้งแต่ปี 1970 – 2015 เพื่อมองหาความแตกต่างระหว่างคู่แต่งงานที่อยู่ก่อนแต่งและไม่อยู่ก่อนแต่งว่ามีความแตกต่างในระยะยาวบ้างหรือเปล่ามีคำตอบที่น่าสนใจอยู่
โดยงานวิจัยพบว่าทั้งสองรูปแบบความสัมพันธ์นั้นมีความแตกต่างกันจริง นั่นคือคู่ที่มีการอยู่ก่อนแต่งจะมีชีวิตแต่งงานปีแรกที่มั่นคงกว่าและมีโอกาสหย่าร้างกันน้อยกว่าคู่ที่ไม่ได้อยู่ แต่เพียงแค่ในปีแรกของความสัมพันธ์เท่านั้น เพราะเมื่อเวลาดำเนินไปพบว่าทั้งสองแบบมีโอกาสจะเลิกราหย่าร้างสูงกว่าในระยะยาวหลังจากแต่งงานกันไปแล้ว
แต่ทำไมกัน? ก็ถ้ารู้จักกันและกันมากขนาดนั้นจนสามารถอยู่ด้วยกันได้แล้วทำไมยังจะเลิกกันอยู่อีก?
ในงานวิจัยมีการสันนิษฐานถึงเหตุผลที่ผลการสำรวจออกมาเป็นแบบนั้นว่าอาจจะมาจากประเภทคนที่จะเลือกใช้ชีวิตแบบ cohabitation นั้นอาจจะมีเหตุผลจากความไม่พร้อมทางการเงิน มักไม่ใช่คนเคร่งศาสนาหรือยึดถือจารีตประเพณี หรืออาจเป็นคนที่มีพบเห็นประสบการณ์ชีวิตคู่ของพ่อแม่ที่จบลงด้วยการหย่าร้าง ฯลฯ ซึ่งเมื่อลองดูลักษณะเหล่านั้น มันเป็นลักษณะของผู้คนที่อาจไม่ได้ให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์ระยะยาวเท่ากับอย่างอื่นในชีวิตของพวกเขา เหตุผลต่อมาคือการอยู่ก่อนแต่งสามารถเปลี่ยนมุมมองของคู่รักต่อการแต่งงานและการหย่าร้างได้ โดยคู่รักจะลดความรู้สึกภาคภูมิใจในการสมรส และยอมรับในการหย่าร้างมากกว่าคู่ที่แต่งงานกัน
เหตุที่อยู่ก่อนแต่ง
แต่การมีชีวิตคู่ไม่ใช่เพียงเรื่องของความสัมพันธ์และความรักเท่านั้น การเลือกจะเปลี่ยนวิธีที่ตัวเองจะใช้ชีวิตนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เราจะสามารถตัดสินได้เพียงจากแง่มุมว่าอยู่กันแบบไหนครองคู่กันได้นานที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเราพูดถึงชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ หน้า และการแต่งงานหลุดออกจากความสำคัญแรกไปไกลพอสมควรอยู่
ในการเก็บข้อมูลโดย Pew Research Center เกี่ยวกับมุมมองของคนในวัยต่างๆ ในประเด็นความสัมพันธ์ cohabitation แล้วมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น แม้ว่าความต้องการความรักและการมีคู่อยู่ด้วยกันจะเป็นเหตุผลหลักในการเลือกจะแต่งงานหรืออยู่ด้วยกัน สองเหตุผลที่มีคู่ cohabitation เลือกมากกว่าคู่สมรสอย่างเห็นได้ชัดคือความรู้สึกสะดวกสบายและความรู้สึกว่าเป็นเหตุเป็นผลมากกว่าในเชิงการเงิน
นอกจากนั้นในการสำรวจเดียวกันในประเด็นมุมมองต่อชีวิตและความเติมเต็มในชีวิต พบมีเพียง 16% ของผู้ชายและ 17% ของผู้หญิงมองว่าการแต่งงานนั้นจำเป็นต่อชีวิตที่เติมเต็ม ทั้งสองอยู่ในอันดับ 4 ซึ่งคือรองโหล่จากปัจจัยทั้งหมด โดยอันดับที่ 1 คือการมีอาชีพการงานที่มั่นคงและชอบที่จะทำ แต่อันดับ 2 น่าสนใจอย่างมากเพราะมันคือการมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงและทุ่มเท แปลว่ามีการแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างการแต่งงานและความมั่นคง สองอย่างไม่ได้ไปด้วยกันเสมอไป
ข้อมูลดังกล่าววาดภาพให้เราเห็นว่าในปัจจุบัน โฟกัสของคนคนหนึ่งในการใช้ชีวิตนั้นออกห่างจากการคงชีวิตคู่ตามธรรมเนียมปฏิบัติไปมากแล้ว เราจะคิดถึงการแต่งงานก่อนได้ยังไงในเมื่อเรายังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ในขณะที่ค่าจัดงานแต่งแพงขึ้นทุกวันๆ ? แรงกดดันที่มาจากการทำงานเพื่อเอาชีวิตรอดในโลกก็สูงมากเกินพอแล้ว การเพิ่มกฎเกณฑ์ที่บังคับเราเข้าไปอีกขั้นจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับเราแน่หรือเปล่า? แล้วเราจะเลือกแบบนั้นทำไมหากเราเลือกจะอยู่กันโดยไม่แต่งงานไปเลยก็ได้?
และสำหรับบางคู่ การอยู่โดยไม่แต่งนั้นเป็นตัวเลือกเดียว ในโลกที่ยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม การอยู่โดยไม่แต่งนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่เขาจะเลือกได้ และหากพูดถึงคน gen z ที่มีเปอร์เซ็นต์คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นคน LGBTQ สูงกว่ารุ่นใดๆ ก่อนหน้านี้ หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายและระบบ น้ำหนักและความสำคัญของการแต่งงานย่อมลดลงไปอย่างแน่นอน
ความหมายของ ‘ความมั่นคง’
ย้อนกลับไปยังสถิติชุดแรกที่บอกว่าการใช้ชีวิตอยู่ก่อนแต่งจะทำให้มีโอกาสที่หย่าร้างกันได้มากกว่าเมื่อคู่รักแต่งงานและชีวิตสมรสได้ดำเนินไปแล้วในระดับหนึ่ง ฟังผ่านๆ มันเหมือนกับการบอกว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้ดูมั่นคงน้อยกว่าอีกแบบรึเปล่า? สิ่งที่น่าชวนคุยกันตอนนี้คือความหมายของความมั่นคงและการหย่าร้างเสียมากกว่า?
ตลอดเวลาที่เราใช้ชีวิตมา การหย่ามักโดนมองเป็นเรื่องลบ เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด แต่นั่นจริงขนาดไหน? แน่นอนว่าการหย่าร้างมักเกิดขึ้นจากประสบการณ์แง่ลบอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ แต่หากเรามองมันในมุมกลับ การหย่าร้างในตัวของมันเองคือการรู้ตัวว่ามีอะไรบางอย่างที่กำลังไม่เป็นไปตามที่คนในความสัมพันธ์หวังไว้หรือต้องการ และหากมองอย่างนั้นมันจะเป็นประสบการณ์แง่ลบได้อย่างเดียวจริงหรือเปล่า?
และเราก็ไม่อาจการันตีได้ว่าการคงอยู่ในความสัมพันธ์ต่อไปโดยไม่เลิกรากันนั้นจะหมายความถึงความรักและความสัมพันธ์ที่ดี เพราะหากมองไปรอบๆ ตัวเรา เราเห็นคู่รักกี่คู่กันที่มีปัญหาและอยากเลิกรากันแต่มีการแต่งงานหรือความรับผิดชอบอันหลากหลายที่ค้ำคอพวกเขาเอาไว้? กี่คู่ที่อยู่ด้วยกันได้ผ่านการซุกปัญหาไว้ใต้พรม?
เช่นนั้นแล้วก่อนจะหาความมั่นคงในชีวิตคู่ สิ่งแรกที่เราอาจต้องหาคือหน้าตาของความมั่นคงที่ตามหา เพราะในความเป็นจริงความมั่นคงนั้นหน้าตาแตกต่างออกไประหว่างคนต่อคน บางคนอาจจะบอกว่ามันคือความสัมพันธ์ทอดยาวที่มีเพียงกันและกัน บางคนอาจจะหมายถึงคู่รักที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวแก่กันเมื่อพวกเขาเดินกลับบ้าน สำหรับบางคนคือรักที่ไม่กดดันกันและกันให้พื้นที่กันมากเพียงพอ
และหากการอยู่ก่อนแต่งหรืออยู่โดยไม่แต่งสามารถทำให้เรามีพื้นที่หายใจของตัวเองได้มากขึ้น ให้ยอมรับความเป็นไปได้ของการหย่าร้างมากขึ้น อาจจะเป็นเกราะป้องกันการเดินเข้าไปในความสัมพันธ์เป็นพิษแบบเดินถอยออกมาไม่ได้ และเป็นที่ให้เราได้เลือกความต้องการของตัวเองและคู่รักเหนือกว่าจารีตใดๆ
แบบนั้นจะเรียกว่าการอยู่ก่อนแต่งหรืออยู่โดยไม่แต่งไม่มั่นคงได้มากขนาดไหนในระยะยาว?
อ้างอิงข้อมูลจาก