GameStop เป็นบริษัทร้านค้าขายปลีกเกม ที่ทำตลาดในสหรัฐอเมริกามานาน และปัจจุบันก็มีการถดถอยลงเนื่องจาก ลูกค้าทำการซื้อเกมผ่านช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้หุ้นของบริษัทดังกล่าวจึงถือว่าอยู่ในช่วงขาลง ไม่ได้น่าใส่ใจเท่าใดนัก จนกระทั่งนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของอเมริกากลุ่มหนึ่งหวังใช้กลเม็ดเด็ดพรายในการทำกำไรให้พวกเขาเอง
วิธีการที่นักลงทุนวนวอลล์สตรีทเลือกจะทำกำไรจากหุ้น GameStop ก็เป็นการใช้วิธีขายแบบชอร์ต (Short Sell) หรือการยืมหุ้นมาขายเพื่อลงทุนในทิศทางขาลง การขายประเภทดังกล่าว ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อธิบายไว้ว่า คือการที่ “นักลงทุนไม่จำเป็นต้องมีหุ้นตัวนั้นอยู่ในมือ แต่สามารถไปยืมหุ้นจากโบรกเกอร์ที่ตัวเองเปิดบัญชีซื้อขาย มาทำการขายออกไปก่อน หลังจากนั้นหากราคาหุ้นตัวนี้ปรับลดลงตามที่ประเมินเอาไว้ นักลงทุนก็จะทำการซื้อหุ้นตัวนั้นในกระดาน (ในราคาที่ต่ำกว่าตอนที่ยืมจากโบรกเกอร์) แล้วก็นำไปคืนให้โบรกเกอร์”
ถ้าเป็นสถานการณ์ทั่วไป การขายแบบชอร์ตนี้ ก็จะดึงดูดนักลงทุนรายย่อยให้เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มเติม และนักลงทุนรายใหญ่ก็ได้จะกำไรไปแบบสบายๆ ใจกลเม็ดการเงินที่วางไว้ แต่คราวนี้เรื่องไม่เป็นแบบนั้น หุ้น GameStop มีราคาทะยานขึ้นสูงต่อไป เพราะเหล่านักลงทุนรายย่อยที่รวมพลังกันและส่งสัญญาณซื้อขายแผ่นเว็บบอร์ดออนไลน์ Reddit ที่ปกติดูไม่ได้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเท่าใดนัก แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะกลุ่ม ‘แมงเม่า’ ทำให้นักลงทุนรายใหญ่เสียกระบวนไปเสียแล้ว
ที่เกริ่นมาเช่นนี้ ไม่ได้จะเสวนากันต่อนะครับว่าเหตุการณ์ GameStop จะจบอย่างไร (ส่วนนั้นแนะนำให้ติดตามต่อที่นี่ครับ) แต่จากเนื้อหาด้านบน ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจจะมีอาการมึน ปนกับมันส์อยู่ไม่น้อย ก็เลยอยากจะแนะนำภาพยนตร์กลุ่มหนึ่ง ที่มีเรื่องราวปั่นป่วนเศรฐกิจและการเงินกันสักเล็กน้อย เพราะหนังเหล่านี้ มากันครบทั้งความมันส์ในบท ความมึนจากกลเม็ดต่างๆ และสุดท้ายก็มีอะไรให้ไปคิดต่อหลังดูจบกันอีกด้วย
The Big Short
เวลาพูดถึงภาพยนตร์ที่มีเล่าเกี่ยวกับการปั่นป่วนธุรกิจ หลายท่านจะพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง The Big Short ทันที และถ้าท่านได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้สักครั้งก็จะเข้าใจเหตุผลทันทีว่าทำไมหลายคนถึงจดจำเรื่องนี้ได้แม่นนัก
เพราะนอกจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้อ้างอิงมาจาก เรื่องจริงของคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งเค้า ไปจนถึงจุดที่นักลงทุนหลายคนตั้งใจไปเก็งกำไรเพราะมั่นใจว่าฟองสบู่แตกแน่นอน และสุดท้ายเหตุการ์ วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (สินเชื่อด้อยคุณภาพ) หรือที่อาจจะรู้จักกันชื่อ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ก็เกิดขึ้น
ด้วยความที่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์พลิกผันสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของอเมริกา ตัวภาพยนตร์เลยได้ดารานักแสดงมากฝีมือมาร่วมปล่อยของกันในเรื่อง ผสมรวมกับลีลาเล่าเรื่องของผู้กำกับที่ทำให้คนดูได้นั่งคิดตามกันตลอดเรื่อง ระดับที่กล้าบอกดื้อๆ ว่าบางฉากนั้น เป็นฉากที่ทำให้ดราม่ามากขึ้นสำหรับภายพนตร์ ไม่ได้ตรงกับความจริงแต่อย่างใด
นอกจากนั้นตัวผู้กำกับยังตั้งใจใส่ความตลกเกินจริงระดับทะลุกำแพงที่สี่กันเป็นว่าเล่น และถ้ารู้สึกว่าศัพท์ตลาดหุ้นมันยากเกินไป หนังก็มีแขกรับเชิญระดับเซเลปฮอลลีวูดหลายคน อย่าง มาร์ก็อต ร็อบบี้ (Margot Robbie) หรือเซลีนา โกเมซ (Selena Gomez) มาอธิบายศัพท์เหล่านั้นให้เข้าใจง่ายขึ้นและสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของดารารับเชิญ
แต่เมื่อเรื่องราวของภาพยนตร์จบลง มันก็ได้ทิ้งคำถามให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดต่อไปว่า แม้ว่าจะมีคนมองตลาดขาดแล้วได้เงินมหาศาลจากมันกลับไปก็จริง แต่สุดท้ายก็ยังมีประชาชนที่เสียผลประโยชน์อย่างมหาศาลอยู่ดี แล้วใครกันที่ควรรับผิดชอบเรื่องเหล่านั้น หรือในโลกทุนนิยม จะมีแค่นายทุนผู้มีอำนาจไปเสวนากับผู้มีอำนาจในด้านอื่น เพื่อหวังผลกำไรให้พวกตนเพียงเท่านั้น
Wall Street
ย้อนกลับไปในช่วงยุค 1980 ตอนที่ธุรกิจของสหรัฐอเมริกากำลังเติบโตอย่างเต็มที่ แต่คงไม่มีธุรกิจใดที่มีทั้งเงินและข้อมูลไหลเข้าออกอย่างอู้ฟู่ไปมากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยเล่าเรื่องสมมติของ Bud Fox โบรกเกอร์หุ้นหนุ่มที่เพิ่งเข้ามาทำงานในวงการนี้ไม่นาน และอยากจะผลักตัวเองไปให้ไกลมากกว่านี้ และสิ่งที่เขาทำคือการตามตื้อนักลงทุนระดับตำนาน Gordon Gekko
ซึ่งลูกตื้อของชายหนุ่มก็ได้ผล แต่ข้อมูลที่ชายหนุ่มรู้จักไม่ได้ดึงดูดใจนักลงทุนมือเก๋านัก จนกระทั่ง Bud พูดข้อมูลวงในว่าสายการบินที่พ่อเขาเป็นพนักงานอยู่ว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงภายใน และนั่นทำให้ Bud ได้เป็นโบรกเกอร์ของ Gordon
อย่างไรก็ตามความมือใหม่ของ Bud ไม่ทำให้เงินลงทุนของลูกค้างอกเงยเท่าใดนัก จนกระทั่ง Gordon ได้ทำการชี้ช่องทางให้กับชายหนุ่ม เพียงแค่ว่าช่องทางดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการไล่สะกดรอยตามคน, ส่งข่าวให้สื่อปั่นกระแส หรือตั้งใจบีบให้ใช้งานเพื่อนที่รู้จัก เพื่อทำการเปิดพอร์ทแบบนอมินี แต่เมื่อ Gordon ถือคิดว่า ‘ความโลภ คือ ความดี’ เขาจึงพยายามรีดเร้นกำไรคืนจาก Bud แบบรีดเร้นเข็นเลือดปูกันเลยทีเดียว
แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปี แต่การกระทำหลายอย่างในภาพยนตรก์ก็เป็นอะไรที่น่าจดจำสำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจการลงทุนได้อย่างดี โดยเฉพาะการกระทำสุ่มเสี่ยงที่เห็นในเรื่องนั้น ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแนวคิดการลงทุน แก้ตัวบทกฎหมายให้ลงโทษได้ชัดเจนขึ้น แต่ความโลภ ที่กลายเป็นของดีสำหรับบางคน ยังผลักดันให้พวกเขากระทำการลงทุนอันเป็นอันตรายต่อไป
The Wolf Of Wall Street
ภาพยนตร์ที่เอาชีวิตของจอร์แดน เบลฟอร์ (Jordan Belfort) มาบอกเล่าใหม่ด้วยมุมมองตลกร้าย เพราะเรื่องราวของ ‘หมาป่าแห่งวอลล์สตรีท’ คนนี้ แม้ภายหลังจะถูกจับกุมจากข้อหาฉ้อโกงการปั่นหุ้นแบบ Pumnp & Dunp (ปล่อยข่าวลวงให้นักลงทุนรายย่อยคิดว่าหุ้นดี แล้วลงทุนซื้อหุ้นให้ราคาขึ้น ระดับหนึ่ง เพื่อล่อกลุ่มแมงเม่าและรีบเทขายตอนจังหวะที่ราคาหุ้นสูงในระดับหนึ่ง ก่อนข้อเท็จจริงจะปรากฏ)
หรือแผนการขายสไตล์ Boiler Room (แผนการขายที่ตั้งใจปั้นข่าวลวงให้นักลงทุนไปซื้อหลักทรัพย์ที่ไม่มีมูลค่าตามคำกล่าวอ้าง) และมีการฟอกเงินผ่านเครือญาติกับกลุ่มคนสนิท แต่ชีวิตของเขาก่อนจะเข้าสู่วงการโกงก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ด้วยเหตุนี้ภาพยนตร์จึงย้อนเล่าเรื่องตั้งแต่ช่วงที่จอร์แดน เบลฟอร์ เข้ามาทำงานในวงการโปรกเกอร์และได้ซึมซับจากโบรกเกอร์รุ่นพี่ให้ใช้ทั้งยาเสพติด, ปั้นคำยั่วยวนลูกค้าให้ลงทุนเพิ่ม ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ วันจันทร์ทมิฬ ในช่วงปี ค.ศ.1987 ที่ทำให้จอร์แดนต้องโยกไปทำไปจนถึงช่วงที่เขาเริ่มเปิดบริษัท Stratton Oakmont ที่กลายเป็นฐานใหญ่ของจอร์แดนในการสร้างความร่ำรวยให้ตัวเอง ไปจนถึงช่วงเวลาที่เขาเริ่มถูกจับตามองจากภาครัฐ นำพาสู่การฟอกเงิน ตามต่อด้วยการจับกุม และลงท้ายด้วยชีวิตหลังจากนั้น
หากเทียบกับภาพยนตร์ที่มีฉากหลังอยู่ในช่วงเวลาใกล้กันอย่าง Wall Street แล้ว ภาพยนตร์ The Wolf Of Wall Street จะไปเล่าด้านที่มีการใช้ยา และเรื่องทางเพศเพิ่มเติมขึ้น และเป็นข้อเตือนใจให้กับคนดูไม่น้อยว่า แม้ว่าความกล้าบ้าบิ่นนั้นมีความจำเป็นต่อการไขว่คว้าความสำเร็จ แต่ก็ควรจะรักษาสมดุลให้อยู่บนความพอดี อย่าไปติดอะไรให้มากเกินไปนัก
ปัจจุบันนี้ จอร์แดน เบลฟอร์กลายเป็นนักพูดสอนคอร์สเกี่ยวกับการสร้างรายได้ แถมยังเคยมาเปิดเวทีในบ้านเรามาแล้วด้วยนะ
Moneyball
เปลี่ยนบรรยากาศจากตลาดหุ้นมายังตลาดกีฬากันบ้าง การแข่งขันกีฬาใช้ทักษะของนักกีฬาเป็นตัวตัดสินผลแพ้ชนะ และกลายเป็นการชี้วัดว่าทีมที่สังกัดอยู่จะมีชื่อเสียงหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงมีการลงทุนเงินตราจำนวนมากในการคว้าตัวนักกีฬาฝีมือดีมา แต่การเอาเงินฟาดหัวรัวๆ แบบนั้นมันจะได้ผลเสมอไปอย่างนั้นหรือเปล่า ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Moneyball บอกเล่าเรื่องนี้ได้อย่างสนุกเลยทีเดียว
Moneyball เล่าเรื่องแผนการสร้างทีมของ Billy Beane ผู้จัดการทั่วไปของทีม Oakland Athletics ที่กำลังประสบปัญหาในการรักษาตำแหน่งทีมให้อยู่ในระดับที่ดี เพราะทีม Oakland อันดับไม่ได้สูงมาก ทุนรอนจึงเหลือเฟือจะซื้อนักกีฬาฝีมือ ‘ครบเครื่อง’ ที่อยู่ในลีก แล้วก็ไม่สามารถรั้งนักกีฬาดาวรุ่งให้อยู่กับทีมไว้ได้นานนัก
จนกระทั่ง Billy Beane ได้พบกับ Peter Brand นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่เอาหลักวิชาสถิติมาผสมรวมกับฐานข้อมูลการเล่นของนักกีฬาแต่ละคน และโฟกัสที่ตัวเลขข้อมูลมากขึ้น แม้ว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้ประหยัดเงินของทีม
แต่ก็มีความขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทำงานรุ่นเก่า จนทำให้กลุ่มโค้ชของทีมเกิดความไม่พอใจ มิหนำซ้ำในช่วงแรกการทำทีมก็เกิดความขลุกขลักอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ทั้ง Billy และ Peter ก็ปรับกระบวนทีม จนสร้างความสำเร็จได้ในที่สุด
ตัวภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากหนังสือ Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game ที่อ้างอิงมาจากเรื่องจริงของ บิลลี บีน (Billy Beane) ที่ใช้แผนการทางเศรษฐศาสตร์ ในการทำแต้มมากกว่าโฟกัสทักษะที่เห็นชัดเจนหรือความงามของการออกท่าทางมากกว่า
อย่างไรก็ตาม Peter Brand ในเรื่องนั้นไม่ใช่บุคคลที่มีอยู่จริง แต่ดัดแปลงมาจากตัวตนของพอล เดโพเดสตา (Paul DePodesta) ที่ไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อและรูปลักษณ์ในภาพยนตร์ อย่างไรก็ตามผู้กำกับภาพยนตร์ Moneyball ระบุพอล เดโพเดสตาให้คำปรึกษาในการสร้างภาพยนตร์อย่างดี
ทั้งนี้ หลังจากที่บิลลี บีนใช้แผนการทำทีมแหกกรอบไปไม่นานนัก แผนการลักษณะดังกล่าวก็กลายเป็นเทรนด์จนถือว่าเป็นมาตรฐานของวงการเบสบอลมืออาชีพของอเมริกาในปัจจุบันไปแล้ว
Too Big To Fail
จากเหตุการณ์เข้าซื้อหุ้น Gamestop ของเหล่านักลงทุนรายย่อย ที่ทำให้นักการเงินรายใหญ่ในวอลล์สตรีทเกิดอาการเสียกระบวน และมีชาวเน็ตท่านหนึ่งให้คอมเมนต์ไว้ว่า ‘นี่เป็นการล้างแค้นจากเด็กยุควิกฤตซับไพรม์ยังไงล่ะ’ และภาพยนตร์ที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้ก็เสวนาเรื่องวิกฤตซับไพรม์เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากพูดถึงภาพยตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เน้นบันเทิง แต่เลือกจะจำลองเหตุการณ์ที่ (อาจจะ) เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับบุคลากรหลายภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตซับไพรม์โดยตรง มาทำให้ดราม่ามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า เหล่านักเวทการเงิน นักลงทุน บุคลากรภาครัฐในหลายประเทศ คิด เห็น และเลือกตัดสินใจทำอะไร ในช่วงที่วิกฤตกำลังพุ่งเข้ามาหา
แม้ว่าหลายท่านอาจจะเกิดอาการมึนงง หรือตึงเครียด ในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่การทำความเข้าใจว่าปัญหาธุรกิจการเงินหรือธุรกิจ แม้เพียงสักเล็กน้อย ก็เพื่อให้เราระวังภัยว่า จะมีใครมาเล่นกลเม็ดจนทำให้ผู้คนเดือดร้อนต่อไปในอนาคตหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก
Facebook Fanpage: วิเคราะห์บอลจริงจัง