‘Burn The Stage: The Movie’ หนังสารคดีของวงบอยแบนด์เกาหลีใต้ BTS เข้าโรงไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าในบ้านเราจะมีจำนวนโรงที่เข้าฉายอย่างจำกัด แต่ทุกรอบที่เปิดขายบัตรก็มียอดจองเกือบเต็มโรง ทั้งรายได้ในสหรัฐฯ ยังทำลายสถิติภาพยนตร์ที่มาจากการบันทึกคอนเสิร์ตของศิลปิน ด้วยยอดขายรวม 4 วันแรกที่ 3.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 117 ล้านบาท) และยังทำสถิติยอดผู้ชมทั่วโลก 1.4 ล้านคน
ความโด่งดังของวง BTS นอกจากจะสะท้อนออกมาจากยอดภาพยนตร์สารคดีที่เพิ่งเข้าฉายล่าสุดไปแล้ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เรายังได้เห็นวงบอยแบนด์หนุ่ม 7 คนนี้ ขึ้นไปโลดแล่นบนรายการเพลงของสหรัฐฯ ได้รับรางวัลจากเวทีบิลบอร์ด และไปไกลถึงการกล่าวสุนทรพจน์บนเวที UN
ในช่วงที่วง BTS กำลังไปได้ไกล เฉิดฉายในเวทีทั่วโลก เพลงฮิตติดชาร์ตบิลบอร์ด และแม้แต่ในเกาหลีใต้เองก็ยังคือเป็นที่นิยม จึงน่าสนใจว่าเพราะอะไร BTS จึงประสบความสำเร็จบนเวทีโลกขนาดนี้ และพวกเขาต่างจากวงอื่นๆ ที่เคยตีตลาดฝั่งตะวันตกอย่างไร
จุดเริ่มต้นคอนเซ็ปต์ ความเป็นบอยแบนด์ที่แตกต่าง
BTS หรือ ‘Bangtan Boys’ เป็นวงบอยแบนด์จาก ‘BigHit Entertainment’ ค่ายเพลงสังกัดเล็กๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยแต่ดูแลศิลปินแนวเพลงบัลลาด และแทบจะไม่มีประสบการณ์ในการฟอร์มวงบอยแบนด์มาก่อน ซึ่งเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบเด็กฝึกหัด และไอดอลที่เข้มงวด มีกฎระเบียบที่เข้มแข็ง มีสัญญาที่เคร่ง เพื่อผลิตไอดอลที่ในเกาหลีนิยามว่าคือ ‘ความเพอร์เฟ็กต์’ ที่ต้องได้ทักษะร้อง เต้น แร็ป การแสดง วาไรตี้ ไปจนถึงการมีรูปร่าง หน้าตาที่ดี และบางครั้งอาจต้องยอมสละพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกจำกัดใช้โซเชียลมีเดีย และการห้ามมีความรัก หรือแสดงออกถึงความรู้สึกส่วนตัว
แต่สำหรับวง BTS พวกเขาถูกฟอร์มวงด้วยรูปแบบที่แตกต่าง โดย บัง ชีฮยอก CEO ของค่าย ตั้งใจไว้ว่าจะปั้นกลุ่มไอดอล ที่มีความเป็นธรรมชาติ และสามารถแสดงออกถึงอารมณ์ของตัวเองผ่านเพลง และดนตรี ซึ่งจุดนี้ได้กลายเป็นองค์ประกอบหลักของวงตามชื่อ Bangtan Boys ที่แปลว่ากลุ่มเด็กชายกันกระสุน ที่บังต้องการให้พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีความอดทน และต่อสู้กับแรงกดดันของสังคม ทั้งยังเป็นวงที่ทำเพลงอย่างจริงใจ มีบุคลิกเป็นตัวเอง ท่ามกลางวัฒนธรรมไอดอลที่แข่งขันกันสูง
บัง ชีฮยอก เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนสร้างวง BTS เขาต้องการรักษาคุณค่าเอกลักษณ์ของ K-Pop ที่เกิดมาในช่วงยุค 90 และเป็นไอดอลที่เป็นเหมือนฮีโร่ ที่ให้คำปรึกษากับแฟนๆ ได้ด้วยเสียงเพลง เขาจึงตั้งใจสร้างไอดอลด้วยการไม่สร้างสัญญาที่เข้มงวด และไม่มีการจำกัดเคอร์ฟิว ให้สมาชิกมีอิสระรันทวิตเตอร์ และ Vlog ของวงด้วยตัวเอง สามารถถกเถียงประเด็นต่างๆ สื่อในเพลงอย่างเปิดเผย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเนื้อเพลงของพวกเขาจะเปิดกว้างขึ้นเกี่ยวกับแรงกดดันทางวัฒนธรรมที่วัยรุ่นเกาหลีต้องเจอ ทั้งการต้องทำงานให้ดี ความเครียด วิตกกังวล
เหมือนประโยคหนึ่งในสารคดี Burn the Stage ที่ RM หัวหน้าวงได้พูดว่า “บนเวที พวกเราเป็นศิลปิน เล่นคอนเสิร์ตให้แฟนๆ แต่พอกลับลงมาจากเวที พวกเราก็ยังเป็นเด็กวัยรุ่น อายุ 20 กว่าๆ” ซึ่งการสื่อสารถึงตัวตน และความรู้สึกของศิลปินนี้ทำให้แฟนเพลงรับรู้ความซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และเป็นธรรมชาติของวง อย่างที่เป็นเป้าหมายในการสร้างวงของ CEO ค่ายนี้
เมสเซจ การทำเพลงที่แสดงตัวตนในแบบ BTS
อย่างที่เล่าไปแล้วว่า BTS เป็นวงที่มีอิสระในการทำเพลง เพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มจึงเป็นเพลงที่สมาชิกในวงแต่ง และโปรดิวซ์ รวมไปถึงคิดคอนเซ็ปต์ต่างๆ ด้วย โดยสำนักข่าว Vox ของสหรัฐฯ ได้เขียนถึง 6 ข้อที่ทำให้วง BTS ประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับในตะวันตกไว้ว่า
- พวกเขามักเขียนเพลงและเนื้อเพลงของตัวเอง
- เนื้อเพลงของพวกเขามีจิตสำนึกทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอธิบายความกดดันของชีวิตวัยรุ่นที่ทันสมัยในเกาหลีใต้
- พวกเขาสร้างและจัดการตัวตนสื่อสังคมออนไลน์ของตนเองมากที่สุด
- พวกเขาไม่ได้เซ็น ‘สัญญาทาส’ หรือข้อตกลงที่มีข้อจำกัดที่ยากลำบากเหมือนไอดอลกลุ่มอื่นๆ
- พวกเขามักจะมุ่งเน้นไปที่การทำการตลาดทั้งอัลบั้ม แทนที่จะเป็นซิงเกิ้ลเดี่ยว
- พวกเขาพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการดิ้นรน และความวิตกกังวลในอาชีพของพวกเขาแทนการนำเสนอภาพที่สวยงามมากตลอดเวลา
ซึ่งนอกจากจะพูดถึงความเครียด ความกดดันของวัยรุ่นแล้ว เราจะเห็นแมสเซจในเพลงของวงที่มักให้กำลังใจ ให้วัยรุ่นเชื่อมั่นในตัวเอง ในพลังของคนรุ่นใหม่ อย่างเพลง Not Today ที่สื่อว่า “วันนี้ยังไม่ใช่วันที่จะต้องตาย ถึงจะบินไม่ได้ แต่ก็ยังคงมีสองเท้าให้ได้วิ่งต่อไป ถึงจะวิ่งต่อไม่ไหว แต่ก็ยังเดินไปได้ และถ้ายังเดินไม่ได้อีก คุณก็แค่คลานต่อไป เชื่อในผมนะ ผมที่ยืนข้างๆคุณตรงนี้เราไม่มีทางตายกันง่ายๆหรอก”
ที่เห็นได้ชัดเจน จาก 3 อัลบั้มในชุด Love Yourself (Her, Tear และ Answer) ซึ่งมักมีข้อความบอกให้ทุกคนรัก และภูมิใจในตัวเอง โดย Colette Bennett นักข่าวบันเทิงเคยเขียนบทความลงเว็บไซต์ The Daily Dot ว่า BTS ได้เปลี่ยนวงการและทำให้ K-Pop ดีขึ้น ทั้งยังเล่าว่าเธอเห็นเพลงของ BTS ที่มีผลต่อเรื่องสุขภาพจิตและความคาดหวังจากวัยรุ่น
โดยในคอนสิร์ตของวง BTS ระหว่างการขึ้นโชว์เพลงฮิปฮอป Cypher 4 ของ RM, Sugar และ J-Hope 3 แร็ปเปอร์ประจำวง มีท่อนที่ร้องซ้ำๆ ว่า ‘I love I love I love myself’ และ ‘I know I know I know myself’ ซึ่งเธอเล่าว่า “ฉันมองไปรอบๆ ฉันเห็นวัยรุ่นหลายร้อยคน พวกเขาตะโกนเชียร์ทุกคำและฉันก็คิดว่า พระเจ้า! พวกเขากำลังใช้อิทธิพลของพวกเขาเพื่อสอนคนหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มที่จะต่อสู้กับความเกลียดชังตนเองให้เข้าใจว่าการรักตนเองหมายถึงอะไร”
ไม่ใช่เพียงแค่เพลง แต่ตัววง BTS ยังได้สร้างอิทธิพลให้กับวัยรุ่น เป็นตัวแทนของ UN และ Unicef สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็น วง K-pop วงแรกที่ขึ้นพูดสุนทรพจน์ในประชุมสมัชชาใหญ่ UN กระตุ้น ให้วัยรุ่นมีความมั่นใจในตัวเอง และต่อสู้กับแรงกดดัน ออกมาพูดเรื่องของตัวเอง ซึ่งคำว่า ‘Love myself, Love yourself’ มักกลายเป็นวลีให้กำลังใจที่วง BTS พูดกับแฟนๆ เสมอ เมื่อมีโอกาสขึ้นรับรางวัลบนเวที
ภาษาไม่ใช่อุปสรรคของเพลง
ในการตีตลาดตะวันตก ซึ่งถือเป็นตลาดที่หินที่สุดในการเข้าถึงของ K-Pop ภาษาอังกฤษได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญที่หลายวง พยายามทำเพลงในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษออกมา แต่สำหรับ BTS พวกเขามีความเชื่อว่า เพลงของพวกเขาสามารถสื่อสารกับแฟนๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไร
ด้วยความตั้งใจที่สร้าง BTS เพื่อคงเอกลักษณ์ของความเป็น K-Pop บัง ชีฮยอก มีแนวคิดแตกต่างออกไป ที่จะให้สมาชิกวงไปเรียนภาษา ทำเพลงเวอร์ชั่นอังกฤษออกมา หรือแม้แต่เซ็นสัญญากับค่ายอเมริกันเพื่อบุกตลาด ซึ่งเขามองว่า นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า K-Pop จริงๆ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภาษาเกาหลีคือภาษาที่ BTS สื่อสารและถ่ายทอดออกมาได้จริงใจที่สุด “แฟนๆ ที่เสพข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ BTS อย่างกระตือรือร้นและได้รับกำลังใจการปลอบประโลมใจ แปลความหมายของเนื้อเพลงและส่งต่อเพลงต่างๆไปทั่วโลก” เขากล่าว
ทั้ง BTS เอง ที่เป็นวงที่มีแนวเพลงของกลิ่นอายฮิปฮอป แนวเพลงที่กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งบัง ชีฮยอกเชื่อว่า การบอกเล่าเรื่องราว ประเด็นต่างๆ ไปในเนื้อเพลง กับกระแสเพลงฮิปฮอป จะเป็นตัวลดกำแพงในการเข้าถึงตลาดตะวันตกได้ “แนวเพลง K-Pop อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยในตลาดเพลงตะวันตก แต่ถ้าหากมีความคุ้นเคยกับแนวเพลงคนผิวสีหรือเพลงฮิปฮอปก็จะเข้าถึง K-Pop ได้ไม่ยากเลย”
ซึ่งในสารคดี Burn The Stage เราจะเห็นภาพการไปทัวร์คอนเสิร์ตของ BTS ที่ไปทั้งในละตินอเมริกา สหรัฐฯ ในเอเชีย หรือแม้แต่บ้านเราเอง ซึ่งเพลงที่พวกเขาร้องต่างก็เป็นภาษาเกาหลี ซึ่ง RM ก็ได้พูดไว้ในภาพยนตร์ว่า เราไปมาหลายที่ เราเจอหลากหลายวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาก แต่พวกเราเชื่อว่าสิ่งที่เราสื่อผ่านแฟนๆ ได้ก็คือดนตรีของพวกเรา
BTS และเป้าหมายประสบความสำเร็จในอนาคต
BTS เองยอมรับว่า แม้จะเดบิวต์มาได้ 5 ปีแล้ว แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่วงขึ้นถึงจุดประสบความสำเร็จสูงมาก ทั้งการเดบิวต์ ออกรายการในสหรัฐฯ และอังกฤษ มีเพลงติดชาร์ต เข้าร่วมงานและรับรางวัลในเวที Billboard Music Award 2 ปีซ้อนในปี 2017 และ 2018 ซึ่งในสารคดี สมาชิกวงซึ่งล้วนแต่เป็นวัยรุ่นในวัย 20 ปีกว่าๆ ต่างก็ตั้งคำถามกับความสำเร็จของตัวเอง ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีจริงไหม เพราะมันมาพร้อมความคาดหวัง ซึ่งในบางทีพวกเขาก็คิดว่ามันเป็นความคาดหวังที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่พวกเขาจะโตตามทัน
แต่ถึงอย่างนั้น ทั้ง บัง ชีฮยอก และ BTS ก็ยังคงตั้งเป้าหมายให้กับวงที่ใหญ่เอาไว้ โดย บังชี ฮยอก มองว่า BTS จะเป็นศิลปินต้นแบบ เพื่อที่จะทำให้ K-Pop และในรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นน้องได้เข้าสู่วงการเพลงตะวันตกมากขึ้น
ในขณะที่ BTS เองได้พยายามตั้งเป้าในตลาดตะวันตกที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดย Suga แร็ปเปอร์ของวงเคยให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายต่อไปของเขา คือการชนะรางวัล Grammy และได้ร่วมแสดงในช่วงครึ่งเวลาของ Super Bowl ซึ่งเป็นสนามจุผู้ชมได้กว่า 71,000 คน และมีผู้ชมทางบ้านกว่า 120 ล้านคน “เราต้องการแสดงให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เราเพียงต้องการแสดงให้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดของพวกเรา” จีมิน สมาชิกวง กล่าว
การทำลายสถิติของ BTS ทั้งในเรื่องของเพลง และภาพยนตร์สารคดี ทำให้น่าติดตามต่อไปว่า ในปี 2018 ที่จะมีงานประกาศรางวัลมากมาย และในปี 2019 วงบอยกรุ๊ปของเกาหลีวงนี้ จะประสบความสำเร็จได้อีกแค่ไหน เป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้ จะเป็นไปได้หรือไม่ รวมถึงเพลง และเมจเซจของพวกเขาที่ปลุกพลังวัยรุ่น จะมีพลังออกไปได้ขนาดไหน
อ้างอิงจาก
Illustration by Naruemon Yimchavee