“จะทำงานให้หนักขึ้นครับ/ค่ะ”
“จะเป็นคนที่ดีกว่านี้ครับ/ค่ะ”
“จะทำให้ทุกคนภูมิใจครับ/ค่ะ”
ใครที่ติดตามเหล่าไอดอลอยู่บ้างก็น่าจะพอคุ้นเคยกับประโยคที่ยกตัวอย่างมา เพราะแทบทุกครั้งที่ไอดอลไปออกรายการหรือขึ้นรับรางวัล คนแรกๆ ที่พวกเขาจะพูดถึงและกล่าวคำขอบคุณก็คือ แฟนๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้วงมีชื่อเสียงในวงการ
เป็นความจริงที่ว่าศิลปินทุกวง ทุกประเทศ มีแฟนคลับเป็นแรงซัพพอร์ตสำคัญ แต่ความหมายของ ‘ศิลปิน’ กับ ‘ไอดอล’ แตกต่างกันในรายละเอียดอย่างเห็นได้ชัด แฟนคลับของศิลปินจะเน้นไปที่การสนับสนุนผลงานเพลง สนับสนุนคอนเสิร์ตใหญ่ที่นานๆ ครั้งจะมีสักทีหนึ่ง แต่กลไกที่อุตสาหกรรมเคป๊อปสร้างให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างตัวไอดอลกับแฟนคลับก็คือ ‘ตัวตน’ ของศิลปินด้วย
หมุดหมายของอุตสาหกรรมเคป๊อป—ความแตกต่างที่สร้างมูลค่าไปทั่วโลก
อุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีใต้ หรือ ‘เคป๊อป’ คือหนึ่งในการส่งออกทางวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและสร้างรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ตามรายงานหัวข้อ ‘Global Music Report 2019’ ของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศหรือ International Federation of the Phonographic ระบุว่า วง BTS และวง BLACKPINK บอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดัง คือสองกลุ่มศิลปินที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีใต้
ในรายงานยังระบุต่อด้วยว่า ปี ค.ศ.2018 ตลาดเพลงเกาหลีใต้มีอัตราการเติบโตมากถึง 17.9% การเติบโตที่ขยายตัวรวดเร็วนี้ทำให้เคป๊อปได้รับการขนานนามว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจาก ‘กลุ่มคนที่มีศักยภาพ’ เป็น ‘ตัวแสดงอันทรงพลัง’
ขณะที่รายได้จากวงการเพลงในประเทศอื่นๆ ลดลงราวๆ 10.1% แต่เกาหลีใต้กลับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีส่วนทำให้เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านธุรกิจเพลงเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? บทวิเคราะห์ของสำนักข่าว Hindustan Times นิยามสายสัมพันธ์ระหว่างศิลปินเคป๊อปกับแฟนคลับว่าเป็น ‘a different kind of love’ หรือ รูปแบบความรักที่แตกต่างออกไป
สำนักข่าวพบว่า ความผูกพันระหว่างศิลปินไอดอลและแฟนคลับที่ค่อยๆ พัฒนาก่อตัวทำให้แฟนคลับ ‘ถอนตัวไม่ขึ้น’ จากการสนับสนุน ซึ่งองค์ประกอบที่ทั้งไอดอลและแฟนคลับแสดงต่อกันจะมีอยู่หลักๆ 2 อย่างคือ ความรัก และความกตัญญูซึ่งกันและกัน
พี อายุ 24 ปี ผู้มีความชื่นชอบและติดตามอุตสาหกรรมเคป๊อปอย่างใกล้ชิดมากว่า 10 ปีให้ความเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเคป๊อปมาไกลขนาดนี้มาจากการทำการตลาด ตั้งแต่การสร้างความผูกพันระหว่างไอดอลกับแฟนคลับที่แตกต่างไปจาก ‘นักแสดง’ โดยสิ้นเชิง แฟนคลับของศิลปินไอดอลที่ยุคนี้เรียกกันว่า ‘แฟนด้อม’ ส่วนใหญ่จะเริ่มติดตามให้การสนับสนุนไอดอลตั้งแต่ยังไม่มีชื่อเสียง หรือตั้งแต่วงเริ่มเดบิวต์เวทีแรกๆ
การเข้ามาเป็นแฟนคลับตั้งแต่เริ่มนั้น พีบอกว่าเหมือนกับ “เราเลือกแล้วว่าจะเดินไปตลอดเส้นทางเดียวกับพวกเขา” ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนี่งของการปลุกปั้นสรรสร้างศิลปินขึ้นมาด้วย
คำว่าเป็น ‘ส่วนหนึ่งของการปลุกปั้น’ พีขยายความให้ฟังว่า ต้องทำความเข้าใจกระบวนการของวงการเพลงเคป๊อปก่อน หลักๆ คือ อุตสาหกรรมเคป๊อปออกแบบให้วงที่ไม่มีแฟนคลับดังน้อยกว่าวงที่มีฐานแฟนคลับหนาแน่น
มาตรชี้วัดความสำเร็จของไอดอลอยู่ที่การไต่อันดับในชาร์ตเพลงและการแข่งขันในรายการเพลง ซึ่งชาร์ตเพลงหลักๆ ในเกาหลีตอนนี้มีราวๆ 7–8 ชาร์ต ทั้งหมดจะรวมเป็นชาร์ตใหญ่อีกทีที่เรียกว่า ‘iChart’ (ไอชาร์ต)
เป้าหมายในการปล่อยเพลงใหม่ทุกครั้งคือต้องทำให้เพลงทะยานขึ้นอันดับ 1 ให้ได้ หากแตะอันดับ 1 ทันทีที่ปล่อยเพลงจะเรียกว่า ‘all kill real time’ รักษาอันดับ 1 ไว้ได้ตลอดทั้งวันเรียกว่า ‘certified all kill’ และถ้ายังคงอันดับ 1 ไว้ได้ตลอดจนครบหนึ่งสัปดาห์เรียกว่า ‘perfect all kill’ ซึ่งการจะรักษาอันดับไว้ได้ต้องพึ่งพลังจากแฟนคลับทั้งหมด
รายละเอียดในการคำนวนคะแนนมีทั้งคำนวนจากจำนวนการสตรีมมิ่งเพลง ผลโหวตแบบเรียลไทม์ และคะแนนจาก ‘SNS’ หรือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแฟนคลับและศิลปินในรายการเพลง
“รางวัลที่ได้จากการโหวตสำคัญมากๆ มันแทบจะเป็นตัวชี้วัดได้เลยว่า วงนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน บางวงเดบิวต์มา 7-8 ปีไม่เคยได้รางวัลเลยก็มี แต่ถ้าได้ก็จะเป็นตัวชี้วัดว่า วงดังประมาณหนึ่งแล้ว มันก็ทำให้แฟนคลับต้องเข้ามา interact กับศิลปินตลอดเวลา รายการเพลงก็จะเปิดให้แฟนคลับเข้ามาดู เสียงแฟนคลับที่เราได้ยินระหว่างโชว์เรียกว่า ‘fanchant’
ถ้าเสียง fanchant ดังก็แปลว่าไอดอลกลุ่มนี้มีแฟนคลับเข้ามาให้กำลังใจเยอะ โหวตในรายการก็ต้องอาศัยแฟนคลับ และยังมีการคำนวนคะแนนจากยอดขายอัลบั้มอีก ต่อให้เพลงดีแค่ไหนถ้าฐานแฟนคลับน้อยก็ไม่มีทางที่จะดังเท่าวงที่มีแฟนคลับเยอะ นี่คือความแตกต่างที่เห็นได้ชัดมากระหว่างไอดอลและศิลปินนักร้องทั่วไป”
ไม่ใช่แค่ผลิตสินค้า แต่ไอดอลเองก็เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ด้วย
คอนเซปต์ของศิลปินทั่วไปจะมีการผลิตสินค้าออกมา 2 แบบ คือ ขายจากผลงานเพลง และขายด้วยเพอร์ฟอร์แมนซ์ ลักษณะนี้แบบนี้ทำให้การเข้าถึงตัวของศิลปินจึงไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราไปเชียร์ศิลปินนักร้องตามคอนเสิร์ต การจะขอจับมือหรือถ่ายรูปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่กับไอดอลวิธีการจะแตกต่างกัน
พีบอกว่า ไอดอลจะมีความ ‘close to’ กับแฟนคลับมากกว่าศิลปินทั่วไปมากๆ ไอดอลไม่เพียงผลิตสินค้าอย่างเพลง ซีดี หรือคอนเสิร์ต แต่ไอดอลเองยังเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าเหล่านั้นด้วย พีบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่มันคือวิธีการของอุตสาหกรรมเคป๊อป ความหมายก็คือ ทั้งตัวตน รูปร่างหน้าตา นิสัย ทัศนคติ และวิธีการแสดงออกทั้งหมดของไอดอลทำให้ความผูกพันระหว่างไอดอลและแฟนคลับเหนียวแน่นกันมากกว่าศิลปินทั่วไป
พียกตัวอย่างงานจับมือศิลปิน ซึ่งมีราคาที่ต้องจ่ายเพื่อที่ตัวแฟนคลับจะได้ใกล้ชิดกับไอดอลมากขึ้น โดยภายในงานอาจจะไม่ได้แค่จับมือ แต่ยังได้ใกล้ชิด พูดคุย สบตา
และยังมีสิทธิพิเศษที่แพ็กเกจมาพร้อมกับการซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่เรียกว่า ‘sent off’ คือ การจัดพื้นที่พิเศษให้แฟนคลับสามารถยืนรอพูดคุย-รับส่งศิลปินหลังแสดงคอนเสิร์ตจบได้ด้วย วิธีการแบบนี้ทำให้ตัวตนของไอดอลมีนัยสำคัญต่อความนิยมที่เกิดขึ้น
นอกจากความใกล้ชิดที่แฟนคลับได้รับแล้ว การสร้างคาแรคเตอร์ให้กับไอดอลแต่ละคนในวงก็เป็นสิ่งสำคัญ พีชวนให้เรานึกถึงคาแรคเตอร์ของไอดอลเกาหลีในยุคก่อนๆ ที่จะมีความชัดมากกว่าไอดอลยุคนี้ แต่หากถามว่าตอนนี้ยังมีอยู่ไหมก็อาจจะยังมีอยู่บ้าง แต่ลดน้อยลงและมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
“ไม่ใช่แค่เพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ต้องดี แต่ควบรวมไปถึงจริยวัตรด้วย มันเลยมีการขายคาแรคเตอร์เกิดขึ้น แต่ก่อนมีไอดอลชื่อดังวงหนึ่งโดนวางคาแรคเตอร์ให้เป็นคนเย็นชา เวลาไปออกรายการไหนก็จะไม่ค่อยพูด เงียบๆ
แต่หลังจากเดบิวต์มาหลายปีแล้วก็มีการสังเกตว่า พอไปออกรายการพิธีกรก็จะแซวว่า แต่ก่อนต้องทำหน้าแข็งออกรายการตลอดเลย คือทุกคนก็รู้กันหมดว่าเป็นคาแรคเตอร์ที่ค่ายวางไว้ บางคนถูกให้ไว้ผมยาวบ้าง ให้มีความเป็นเฟมินีน แต่ละคนต้องมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันเพราะจับ target คนละแบบ ถ้าคนในวงเหมือนกันหมดก็จับได้ target เดียว”
work hard ethics—สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จสูงสุด
แชนแนลของนักจิตวิทยารายหนึ่งวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ทำให้ศิลปินเคป๊อปประสบความสำเร็จว่า ลักษณะของไอดอลเคป๊อปมีความอ่อนโยน และมีความเป็นเฟมินีนมากกว่าศิลปินตะวันตก
สำหรับผู้หญิงที่อาศัยในสังคมชายเป็นใหญ่ในโลกตะวันตกแล้ว การได้เห็นผู้ชายที่มีความสดใส น่ารัก จึงมีส่วนช่วยปลอบประโลมความรู้สึกของแฟนๆ เหล่านี้ได้อีกทาง
‘work hard ethics’ หรือวัฒนธรรมการทำงานหนักของเกาหลี ทำให้แฟนๆ รับรู้ได้ถึงความตั้งใจในการผลิตผลงานออกมา เพราะแม้ศิลปินจะเดบิวต์มาหลายปีหรือมีชื่อเสียงแล้ว แต่พวกเขาไม่เคยลดละความพยายามในการไปข้างหน้า
เราจะสังเกตเห็นได้จากคำขอบคุณที่ศิลปินจะกล่าวเสมอเมื่อพวกเขาได้รับรางวัลในรายการเพลง “จะตั้งใจทำงานอย่างหนัก” “จะเป็นคนที่ทำให้แฟนๆ ภูมิใจ” นี่เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ส่งให้อุตสาหกรรมเคป๊อปประสบความสำเร็จ
เมื่อแฟนคลับเห็นว่าศิลปินของพวกเขาตั้งใจพัฒนาตัวเองเพื่อตอบแทนแฟนๆ พวกเขาจึงแสดงความรักต่อศิลปินตอบแทนด้วยการรวมตัวสนับสนุนเป็นกลุ่มที่เรียกว่า ‘แฟนเบส’ บางกลุ่มจะมีความตั้งใจในการโปรโมตศิลปินตามวาระด้วย ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นป้ายบิลบอร์ดกลางนิวยอร์ก ไทม์แสควร์ หรือบางครั้งก็มีการระดุมทุนทำงานการกุศลภายใต้ชื่อของศิลปิน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไอดอลที่พวกเขารักยิ่งๆ ขึ้นไป
ล่าสุด The Korea Foundation มีการประเมินฐานแฟนคลับศิลปินไอดอลเคป๊อปทั่วโลกว่า มีอยู่ราวๆ 89 ล้านคนใน 113 ประเทศ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า เคป๊อปยังมีที่ทางให้เติบโตมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
ไม่เพียงแต่ในเอเชียเท่านั้น เพราะจากปีที่ผ่านๆ มาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ที่ทางของอุตสาหกรรมนี้ยังไปได้อีกไกล และไปในระดับ ‘worldwide’ เรียบร้อยแล้วด้วย