กฎที่เที่ยงธรรมที่สุดในโลกใบนี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่คือกฎแห่งความตาย
‘ความตาย’ เป็นเรื่องที่สามารถนำขึ้นมาตั้งเป็นประเด็นในการพูดคุยได้เสมอ ในฐานะของเรื่องใกล้ตัวที่วันหนึ่งทุกคนต้องประสบ เพียงแค่ไม่มีใครทราบว่าพบเจอเมื่อไหร่
เราต่างถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องความตายโดยตั้งต้นจากพื้นฐานเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา และที่ขาดไม่ไปไม่ได้คือ ‘ศาสนา’
ศาสนาและความตายเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาอย่างแยกไม่ออก เป็นจุดเริ่มต้นของชุดคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวหลังความตายว่า ภายหลังจากที่ระบบภายในร่างกายของมนุษย์หยุดการทำงานโดยสิ้นเชิงแล้ว การดำเนินและการดำรงอยู่ของ ‘โลกแห่งความตาย’ เป็นเช่นไร
ถึงแม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ และคำอธิบายเหล่านี้มีทั้งเสียงยอมรับศรัทธาและการคัดค้าน สำหรับกลุ่มคนที่ยึดมั่นในความเชื่อเรื่องการผันผ่านไปยังอีกมิติที่จับต้องไม่ได้ พวกเขายังคงดำเนินการส่งท้ายผู้จากลาผ่านพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป
เมื่อมีพิธีกรรม ก็ย่อมมีคนที่รับหน้าที่ดำเนินงานพิธี เราคุยกับ ‘ผู้ดูแลความตาย’ ของศาสนาคริสต์ อิสลาม และพุทธในฐานะผู้ใกล้ชิดที่สุดกับร่างกายไร้ชีวิตของผู้วายชนม์ เกี่ยวกับการดำเนินขั้นตอนที่หลายคนไม่กล้าเข้ามายุ่งเกี่ยว รวมถึงคอยบริการจัดแจงให้พื้นที่พักผ่อนแห่งสุดท้ายในโลกมนุษย์เป็นไปโดยสวัสดิภาพที่สุดว่า พวกเขามีทัศนคติเกี่ยวกับความตายและการทำงานร่วมกับความตายอย่างไร
– คริสต์ (คาทอลิก) –
ผู้ช่วยเหลือที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา
ประตูรั้วสีขาวเปิดแง้มไว้เพียงเล็กน้อย ป้ายแขวนแจ้งขอความร่วมมือปิดบานรั้วให้เรียบร้อย และเสียงอธิบายทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ผ่านลำโพงจากตึกเรียนที่ตั้งอยู่ติดกัน พื้นที่พักผ่อนของผู้ล่วงลับ ณ สุสานนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน
ในช่วงกลางวันไร้ผู้คน จะมีก็เพียงชายคนหนึ่งที่เดินสำรวจพื้นที่โดยรอบเพื่อดูแลความเรียบร้อยเท่านั้น
สมชาย บางเรืองโรจน์ มาเป็นผู้ดูแลสุสานได้ 17 ปีแล้ว ช่วงนั้นเขาประกอบอาชีพเป็นพนักงานช่วงดึกในสังกัดกรุงเทพมหานคร เวลาว่างในช่วงกลางวันนำไปสู่คำชวนจากลุงสูงอายุ ผู้ดูแลสุสานคนก่อนให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลความเรียบร้อยในภาพรวม
ชายวัยใกล้เกษียณเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบสงบ ไม่แตกต่างจากบรรยากาศโดยรอบของพื้นที่ว่า เขาตกลงใจเข้ามาทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ด้วยเหตุผลว่าต้องการ ‘ช่วยเหลือ’ ทั้งคนเป็นและคนตายไปพร้อมกัน เพราะรู้ว่านอกจากลุงคนนี้แล้วก็ไม่มีคนอื่นที่คอยดูแลสุสานอีกแล้ว เมื่อไม่มีคนทำงาน ผู้เสียชีวิตก็จะไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่ออีกทอดหนึ่ง
“คือแต่ก่อนมีลุงคนหนึ่ง เขาอายุมากแล้ว เขาทำไม่ไหว เราก็มาช่วยทำงาน …ผมเป็นคนพุทธนะ แต่มันอยู่ที่ใจว่าเราช่วยเขาหรือเปล่า เราตั้งใจจะทำงานแบบไหน คือผมมาด้วยใจ งานผมก็มีอยู่แล้ว แต่ที่นี้เราเห็นว่าตรงนี้ไม่มีคนที่จะทำแบบนี้ เราเลยมาทำ”
ทั้งนี้เมื่อกล่าวว่าพื้นที่ปฏิบัติงานคือสุสาน อิทธิพลของคำบอกเล่าปากต่อปากหรือเรื่องราวที่ปรากฎตามสื่อก็สร้างภาพจำว่าที่นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องสยองขวัญ อาจจะถึงขั้นที่เรียกว่าเป็น ‘แหล่งรวมสิ่งเฮี้ยน’ ที่ไม่ควรเข้ามาเหยียบ แต่ความเชื่อเรื่องลี้ลับเหล่านี้ไม่เคยมีผลต่อการตัดสินใจลงมือทำงานของสมชายแม้แต่น้อย
เขาไม่เคยคิดถึงเรื่องความกลัว เพราะสิ่งสำคัญกว่าสำหรับเขาคือการบริการให้คนตายได้อยู่ในสุสานโดย ‘สบาย’ ที่สุด
“เราไม่ได้คิดอะไร เป็นการช่วยเหลือคนตาย ให้เขาสบาย เหมือนทำบุญอะไรอย่างนี้ ทำอะไรที่คนอื่นเขาทำไม่ได้ แต่เราทำได้ มองว่าเขานอนอึดอัด ไม่ได้ล้างอะไรให้เขา เราก็เก็บมาล้าง มาทำความสะอาดให้ มันก็สบายใจ มันก็ดี”
โดยการเรียนรู้ในเรื่องที่จำเป็นต่อการทำงานทั้งหมดเขาได้รับการถ่ายทอดมาจากลุงผู้มีประการณ์การทำงานสูง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการดูแลร่างผู้เสียชีวิตไปจนถึงการเก็บกระดูกมาทำความสะอาด ไม่มีการอบรมหรือว่าการเข้าเรียนภาคทฤษฎีแต่อย่างใด เมื่อลุงคนนั้นชราภาพลงจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้แล้ว สมชายก็เข้ารับหน้าที่ในการดูแลของสุสานแห่งนี้เต็มตัว
หน้าที่ของผู้ดูแลสุสาน
สำหรับความรับผิดชอบในตำแหน่งผู้ดูแลสุสาน มีทั้งในส่วนของการดูแลความเรียบร้อยในภาพรวมของพื้นที่ คอยกวาดใบไม้ ดูแลต้นไม้ นอกจากนี้ก็ยังรับผิดชอบในส่วนของพิธีศพ นำร่างผู้เสียชีวิตลงโลงเย็น ฝังร่างหรือเก็บร่างไว้ในสุสาน และเก็บกระดูกของผู้เสียชีวิตมาทำความสะอาด
สมชายไล่ให้ฟังตามลำดับเกี่ยวกับความเชื่อของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกว่า เมื่อวิญญาณเดินทางไปยังพื้นที่แห่งการพิพากษาบุญและบาป งานของเขาในการดูแลร่างกายที่ยังคงอยู่ จะต้องทำอะไรบ้าง
หากเป็นในกรณีที่เสียชีวิตตามธรรมชาติในบ้านพักของตนเอง งานของเขาสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่หลังจากที่แพทย์ได้ทำการวินิจฉัยถึงสาเหตุการตาย มีการออกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตเรียบร้อย สมชายจะทำการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ใส่ถุงน่อง ใส่รองเท้า ถึงจะน้อยครั้งแต่ในบางกรณีก็จะรวมถึงการแต่งหน้าให้สวยงาม จากนั้นก็นำร่างผู้เสียชีวิตลงโลง ลำเลียงมายังพื้นที่ประกอบพิธีทางศาสนาบริเวณโบสถ์ ซึ่งโดยเฉลี่ยมักประกอบพิธีกรรมเพียงแค่ 3 วัน
“พิธีกรรมก็ธรรมดา คือตายแล้วเอามาสวดที่ศาลา ทำพิธี แล้วแต่ 3 วัน 4 วัน 5 วัน แล้วแต่เจ้าภาพ”
สำหรับพิธีสวดศพในแต่ละวันจะเป็นการร้องเพลงสรรเสริญ อ่านพระคัมภีร์ รวมถึงมีการเทศนาบรรยาย ก่อนจะมีการเคลื่อนร่างสู่สุสานที่มีการติดต่อเอาไว้เพื่อเริ่มพิธีฝัง ในขั้นตอนนี้ หากทางญาติผู้เสียชีวิตติดต่อขอฝังร่างผู้ตายที่สุสานของทางวัด หน้าที่ของสมชายคือการขนย้ายนำโลงของผู้เสียชีวิตมายังที่พักหลังสุดท้าย ก่อนทำการปิดผนึกช่องด้วยปูนขาวเป็นอันสิ้นสุดงาน
สุสานเริ่มไม่เพียงพอต่อการรองรับความตาย
ตามความเชื่อของชาวคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก จะรักษาประเพณีในการฝังร่างเพื่อกลับสู่พื้นดิน สำหรับพื้นที่ภายในสุสานนักบุญฟรังซิสเซเวียร์สามารถแบ่งรูปแบบของหลุมฝังศพออกได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ
- หลุมพื้นราบ ฝังโลงหรือร่างลงใต้ดิน และปักแท่นไม้กางเขนเขียนชื่อของผู้วายชนม์เอาไว้
- หลุมตั้งบนพื้นดิน มีการออกแบบความสูงและวัสดุของโลงที่แตกต่างกันออกไป
- ชั้นตึก ทำจากปูนที่มีลักษะเป็นคอนโดซ้อนขึ้นไปสามชั้น
ปัจจุบันสุสานแห่งนี้ไม่มีการฝังลงดินแล้วเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ และต้องใช้เวลาในการขุด ส่วนที่ 2 จะใช้ในกรณีที่ผู้ตายหรือญาติแจ้งความประสงค์ให้ฝังร่างรายล่าสุดรวมกันกับผู้ร่วมสายเลือดที่เสียชีวิตก่อนหน้า ส่วนที่ยังพอมีว่างอยู่จะเป็นเพียงคอนโดสามชั้น
คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลออฟฟิศและสมชาย ให้ข้อมูลตรงกันว่า ความสามารถในการรองรับร่างผู้เสียชีวิตของสุสานใกล้จะเต็มจำนวนเข้าไปทุกที เจ้าหน้าที่ยังเปิดบัญชีรายละเอียดของช่องเก็บโลงในสุสานให้ดูว่าเวลานี้ (เดือนกันยายน 2565) เหลือราว 50 ช่องว่างเท่านั้นเอง
อย่างคุณป้าคนหนึ่งที่เดินทางมายังส่วนของออฟฟิศเพื่อติดต่อขอจองพื้นที่ เพราะตั้งใจไว้ว่าจะฝังร่างของตนเองไว้ในบริเวณเดียวกันกับพี่น้อง ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถดำเนินการจองให้ได้ หากคุณป้าต้องการพื้นที่ในส่วนนั้น คุณป้าจะต้องเสียชีวิตก่อนที่ช่องว่างที่เหลือจะถูกจับจองจากผู้ตายรายอื่น
ระยะหลัง ทางสุสานจะใช้วิธีการติดต่อไปยังญาติพี่น้อง เพื่อสอบถามและขออนุญาตรวบรวมโครงกระดูกของสมาชิกครอบครัวหรือว่าญาติพี่น้องที่เสียชีวิตมากกว่า 10 ปีไว้ด้วยกัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีพื้นที่รองรับร่างผู้เสียชีวิตรายใหม่ ในกรณีที่ได้รับคำตกลง สมชายก็จะเป็นคนจัดการเรื่องการเปิดโลง นำกระดูกออกมาล้างทำความสะอาด ตากแดดเพื่อป้องกันในเรื่องความชื้น ก่อนนำกระดูกห่อไว้ในผ้าขาว เตรียมพร้อมสำหรับการจัดเก็บรวมกัน
“กระดูกก็เก็บมาล้าง ทำความสะอาดให้เรียบร้อย ตากแดดให้แห้ง แล้วก็ห่อผ้า แล้วเอาไปใส่รวมกัน คือถ้าเราไม่ทำอย่างนี้ กระดูกก็จะป่นไปหมด ถ้าเราตากแดดแห้งแล้วเนี่ย 10 ปี 20 ปี 30 ปี มันก็ยังอยู่เหมือนเดิม กระดูกจะแข็งแรง ถ้าเราไม่ทำแบบนั้น กระดูกคนเรามันชื้น มันจะย่อย”
เมื่อพูดถึงเรื่องความตาย มันอดไม่ได้ที่จะถามถึงเรื่องลี้ลับ อย่างตำนานรุ่นต่อรุ่นของโรงเรียนที่อยู่ติดกัน ที่มีเรื่องราวน่าขนหัวลุกจำนวนมากให้เลือกเล่าได้ไม่จบสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นช่วงมือที่โผล่ขึ้นมาจากความมืดประคองจับสิ่งของที่กำลังจะหล่นจากขอบหน้าต่างห้องเรียน หรือรอยมือ และใบหน้าปริศนาที่ทิ้งร่องรอยไว้เต็มบานกระจกหน้าต่าง ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดในห้องเรียนในอาคารที่ติดกับสุสานแห่งนี้
สมชายส่ายหน้าก่อนตอบ “ไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็น คืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำดี สิ่งนั้นเขาก็จะไม่ทำเรา เราจะไม่เห็นเขา และเขาก็จะไม่เห็นเรา ไม่มาหลอกมาหลอน คือเราทำความดีให้เขา ให้เขาสบาย เหมือนช่วยเหลือเขา”
การช่วยเหลือของสมชายมีความหมายถึงการลงมือช่วยเหลือในทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง
แล้วสำหรับศาสนาอิสลามที่พิธีกรรมต่างๆ จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง จะมีตำแหน่งผู้ดูแลสุสานเช่นเดียวกันหรือไม่ เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ เราจึงเดินทางเข้าไปยังมัสยิดบ้านอู่ เจริญกรุง เพื่อทำความรู้จักและเข้าใจกับขั้นตอนการดูแลศพ พิธีศพ และหลุมศพ อันแสนกระชับตามหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม
– อิสลาม –
พิธีที่ไม่ข้ามวัน
สมคิด วีระพงศ์สกุล เหรัญญิกประจำมัสยิดบ้านอู่ เจริญกรุง อธิบายให้ฟังว่าสุสานหรือกุโบร์แห่งนี้ไม่ได้มีตำแหน่ง ‘ผู้ดูแล’ อย่างเป็นทางการ เมื่อได้รับการแจ้งข่าวเรื่องการเสียชีวิตของสมาชิก จะเป็นหน้าที่ของกรรมการประจำมัสยิดร่วมมือกัน คอยดูแลจัดแจงอำนวยความสะดวกในงานพิธี
หลักของศาสนาอิสลามเรื่องความตาย เมื่อเสียชีวิตแล้ววิญญาณจะไปอยู่อีกโลก ‘บัรซัค’ เพื่อรอคอยวันพิพากษาสุดท้าย ส่วนร่างของผู้เสียชีวิต ในกรณีทั่วไปจะต้องทำดำเนินพิธีกรรมทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อมีใครเสียชีวิต หน้าที่ของสมคิด คือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปโดยให้ราบรื่นที่สุด
โดยความรับผิดชอบ 3 ประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับงานศพ คือ
- การอาบน้ำศพ
- การละหมาดสวดส่งคนตาย
- การขุดหลุมฝังศพ
หากมีหญิงคนหนึ่งโทรมาหา แจ้งว่าตอนนี้สามีของตนเองเสียชีวิตที่บ้านพัก หน้าที่ของสมคิดก็คือการแจกแจงรายละเอียดว่าเธอคนนั้นจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไรบ้าง ให้รายงานไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการตรวจสอบทางกฎหมาย กรณีที่ต้องการให้สมคิดช่วยติดต่อในส่วนของรถขนศพก็แจ้งมาได้ หลังจากนั้นก็จะเป็นการนำร่างของผู้เสียชีวิตมายังมัสยิดเพื่อเริ่มพิธี
“พิธีก็ไม่มีอะไรมาก อย่างถ้าเป็นศพที่เขาเสียชีวิตในบ้าน พอไปตรวจจากโรงพยาบาล หรือบางที่โรงพยาบาลเขาก็มาตรวจให้ มาเสร็จเขาก็เข้าไปที่ศาลานู่น ศาลาอาบน้ำศพ แล้วเราก็จะนำเข้าพิธีละหมาดข้างในมัสยิด แล้วก็จะมีการสวด ทำพิธีเสร็จ จบปุ๊บก็ยกมาฝังลงหลุม พิธีง่าย สะดวก เร็ว ไม่ข้ามวัน”
มัสยิดไม่ข้องเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย
เมื่อมาถึงมัสยิดแล้ว ขั้นตอนแรกคือการอาบน้ำศพ หรือ ‘มานีมาญะ’ โดยการนำร่างของผู้เสียชีวิตไปอาบน้ำบริเวณศาลาด้านหลังสุดของมัสยิด ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ออกแบบให้เป็นพื้นที่โล่ง ทางเข้ากั้นเอาไว้ด้วยแผ่นพลาสติกหนาเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายร่าง รวมถึงเหตุผลด้านการรักษาความสะอาด
ผู้อาบน้ำศพจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานประจำของมัสยิดบ้านอู่ แต่เป็นญาติของผู้เสียชีวิตหรือเป็นผู้อาบน้ำศพที่รับเดินทางไปตามมัสยิดต่างๆ ตามที่ได้รับการติดต่อ เขาหรือเธอจะปฏิบัติตามขั้นตอนการอาบน้ำตามหลักของศาสนา อย่างเรื่องของการรีดเอาของเสียออกจากร่างกายผู้ตาย ส่วนน้ำอาบศพก็จะเป็นน้ำที่มีการผสมใบพุทรา ใบมะกรูด และการบูร
สมคิดเสริมว่า ตามความเชื่อของศาสนาอิสลามแล้ว ผู้รับหน้าที่อาบน้ำศพคือผู้ที่ได้รับบุญจากพระเจ้าเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นผู้กระทำการในขั้นตอนที่หลายคนไม่กล้าเข้ามายุ่งเกี่ยว
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการอาบน้ำ ก็จะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ให้กับร่างผู้ตาย ฟากร่างของผู้ชายก็จะสวมหมวก สวมโสร่ง ส่วนผู้หญิงก็คลุมฮิญาบเอาไว้ให้เรียบร้อย จากนั้นก็เป็นการนำร่างใส่โลง เข็นจากส่วนของพื้นที่อาบน้ำไปยังส่วนห้องละหมาด เพื่อเริ่มต้นการละหมาดคนตายหรือ ‘ละหมาดญะนาซะห์’
ความแตกต่างของการละหมาดส่งผู้เสียชีวิต มีความแตกต่างกับการละหมาดโดยทั่วไปคือพิธีนี้จะมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เข้าร่วม เป็นลักษณะของการยืดละหมาด ไม่มีการนั่ง ไม่มีการโค้งตัว ไม่มีการกราบ โดยพิธีนี้จะใช้เวลาราว 30 นาที จากนั้นก็เป็นการนำร่างของผู้ตายไปยังจุดที่ขุดหลุมไว้ ณ กุโบร์
ตามที่สมคิดได้อธิบายข้างต้นว่าหน้าที่ของเขาคือ ‘การประสานงาน’ เท่านั้น ส่วนประเด็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในการอาบน้ำหรือขุดหลุมฝังศพ เหรัญญิกรายนี้จะไม่รับเป็นกิจธุระ เป็นการตกลงระหว่างญาติผู้เสียชีวิตกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรง
“อย่างเรียกมาอาบน้ำ เราก็จะให้ญาติพี่น้องคนตาย คุยกับคนที่อาบน้ำเองว่า คิดเท่าไหร่ ค่าโลงเท่าไหร่ ค่าขุดหลุม คุยกันเอง ทางมัสยิดกลัวเข้าใจผิดว่าจะรับเงินเพิ่ม ที่นี่เลยเดินไปใส่ตู้เอง คุณจะใส่เท่าไหร่เรื่องของคุณ เราไม่รู้ แต่พระเจ้ารู้ พระเจ้าเห็น”
หากญาติผู้เสียชีวิตรายไหนไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายค่าอาบน้ำศพ ค่าโลง หรือค่าขุดหลุม ก็สามารถมาคุยกับทางกรรมการของมัสยิดเพื่อให้มัสยิดช่วยเหลือได้
พื้นที่ของพระเจ้าที่ไม่มีการจับจอง
จากการประเมินด้วยสายตาพบว่ากุโบร์บ้านอู่แห่งนี้ไม่ได้มีความกว้างมากเท่าไหร่นัก คำถามถัดไปจึงเป็นเรื่องของการวางแผนบริหารพื้นที่ว่า มัสยิดแห่งนี้มีระบบการจัดการเพื่อการรองรับผู้เสียชีวิตในอนาคตในรูปแบบไหน
สมคิดแจ้งว่า ตามความเชื่อทางศาสนาแล้ว ไม่มีพื้นที่ใดเป็นของตนเอง ทุกพื้นที่เป็นของพระอัลเลาะห์ มัสยิดบ้านอู่จึงไม่ได้มีการแบ่งล็อกหรือขีดเส้นแบ่งเอาไว้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของผู้ตายรายนี้เท่านั้น แต่จะเป็นลักษณะที่ว่า หากมีญาติรายอื่นฝังอยู่ก่อนแล้วก็มักจะนำร่างมาไว้ในพื้นที่เดียวกัน หรือถ้าพื้นที่ตรงไหนลองขุดลงไปแล้วไม่พบร่างหรือโครงกระดูก ก็สามารถฝังลงไปตรงนั้นได้เลยเช่นกัน
“ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ของเรา เป็นพื้นที่ของพระเจ้า ไม่มีการมาจอง”
ทางมัสยิดบ้านอู่อนุญาตให้มีการปักป้ายชื่อของผู้เสียชีวิตลงไปบริเวณที่มีการฝังร่างเอาไว้ โดยป้ายเหล่านี้ก็มีความแตกต่างกันไป บ้างก็เป็นไม้แท่งเดียวไม่มีการแกะสลัก บ้างก็ตกแต่งคล้ายกับทรงของลูกบิดประตู หรือบางส่วนก็เป็นป้ายหินอ่อนเจาะเป็นชื่อ
เหรัญญิกผู้ดูแลภาพรวมของสถานที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แผ่นป้ายเล่านี้มีไว้เพื่อความสะดวกของญาติพี่น้อง เมื่อเดินทางมาระลึกถึงจะได้ทราบว่าร่างของผู้ที่เราผูกพันฝังอยู่บริเวณไหน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ ส่วนที่เขาเคยเห็นตอนไปประเทศซาอุดิอาระเบีย จะไม่มีการปักไม้หรือป้าย เพื่อเป็นสัญลักษณ์โดยนัยว่าพื้นที่เหล่านี้จะไม่มีการจับจองเป็นของส่วนตน
การรวมญาติผู้วายชนม์
หากเป็นคนไทยเชื้อสายจีนก็คงจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของการไหว้บรรพบุรุษ หรือ เทศกาลเชงเม้ง ในส่วนของศาสนาอิสลามก็มีวันทางศาสนาที่พอใช้เปรียบเทียบกันได้ คือ การละหมาดครั้งใหญ่ในวันอีด (อีดิลฟิฏร์) เมื่อหลังจากที่ละหมาดเสร็จแล้ว ญาติพี่น้องก็จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีป้ายปักของผู้เสียชีวิตเอาไว้ เพื่อระลึกถึงผู้เดินทางไปยังโลกบัรซัค มีการอ่านพระคัมภีร์เป็นขอการคุ้มครองวิญญาณ ขอให้พวกเขาเป็นสุขหรือได้รับการทุเลาการลงโทษ
ผู้มีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตบางรายอาจนำดอกไม้มาวางเอาไว้หน้าป้าย หรือแขวนเอาไว้กับเสา บ้างก็เป็นพุ่มดอกไม้เติบโตอยู่รอบหมุดไม้บอกจุดฝัง ส่วนนี้สมคิดแจ้งให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า กฎระเบียบการวางดอกไม้ของกุโบร์แต่ละแห่งจะแตกต่างกันไป หลายแห่งก็ไม่อนุญาตให้วางของเพื่อรำลึกเด็ดขาด ตามหลักความเชื่อที่ว่าดวงวิญญาณของผู้ตายนั้นไม่ได้อยู่ในโลกนี้หรือพื้นที่แห่งนี้แล้ว แต่ไปรอการตัดสินของพระอัลเลาะห์อยู่อีกโลก ส่วนปัจจุบันทางมัสยิดบ้านอู่ยังคงอนุญาตให้มีการวางดอกไม้ได้ เพื่อเป็นการเคารพวิธีการแสดงออกส่วนบุคคล
“ความตายไม่ใช่เรื่องของคนเป็น เป็นเรื่องของคนตายกับพระเจ้า” สมคิดสรุป
– พุทธศาสนา –
จากพนักงานโรงงานสู่สัปเหร่อ
บทลงท้ายของการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจกับหน้าที่ของผู้รับผิดชอบพิธีกรรมสุดท้ายเมื่อมนุษย์ตายจากไป คือการคุยกับหัวหน้าสัปเหร่อประจำวัดเสมียนนารีอย่าง ชำนาญ พรหมสุวรรณ อายุสี่สิบปีเศษ เขาเล่าว่าตนเองพื้นเพเป็นคน จ.ระยอง เคยทำงานอยู่ในโรงงานที่จังหวัดบ้านเกิด โยกย้ายมายังโรงงานฝั่งตรงข้ามของวัดแห่งนี้ ขยับมาเป็นเจ้าหน้าที่วัด และตำแหน่งปัจจุบันคือหัวหน้าสัปเหร่อ
เขาประกอบอาชีพนี้มาร่วม 10 ปีนับตั้งแต่การชักชวนของลุงสัปเหร่อรุ่นก่อนในวงเหล้า ด้วยพื้นฐานที่เป็นคนไม่กลัวเรื่องความตายหรือสิ่งไม่สวยงามเป็นทุนเดิม ทำให้เขาไม่ต้องคิดพิจารณาอะไรมากนักกับการย้ายสายงานเช่นนี้
ประกอบกับความเชื่อในฐานะพุทธศาสนิกชนว่า การทำงานเหล่านี้เป็นการทำบุญในรูปแบบหนึ่ง เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะยินดีกับการทำงานเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้คนตายที่ไม่สามารถจัดการร่างกายตัวเองได้เอง
“ตอนนั้นเฉยๆ ไม่ได้กลัว ไม่ได้รู้สึกอะไรกับการมาทำงานกับร่างผู้เสียชีวิต หรือเก็บเผาศพ ก็มาช่วยเขายกศพใส่โลง ทำพิธี ยกศพใส่เตาเผา จนมันไม่ได้กลัวด้วย พอมาเจอก็ชิน เฉยๆ คิดว่า เออ เราก็ได้บุญไปอีกแบบหนึ่ง ได้ทำบุญกับผู้เสียชีวิต เพราะเขาไม่สามารถทำอะไรเองได้”
ดูแลทุกร่าง รวมถึงญาติตัวเอง
หน้าที่ของสัปเหร่อวัดเสมียนนารี เริ่มต้นจากวันที่ญาติผู้เสียชีวิตนำร่างของผู้ตายมายังวัด เขาก็จะนำศพขึ้นมาวางบนเตียง ห่มผ้าคลุมทั้งร่างกาย จัดแจงนำมือออกแบเตรียมพร้อมสำหรับการรดน้ำศพ หลังจากจบพิธี ก็นิมนต์พระมาทำพิธีขอขมาผู้เสียชีวิต เมื่อครบทุกขั้นตอนทางศาสนาแล้ว ชำนาญกับลูกทีมก็จะนำร่างลงโลง ปิดโลงให้เรียบร้อย และนำขึ้นแท่นพิธีบนศาลา
จากนั้นเมื่อครบกำหนดวันสวดที่ทางเจ้าภาพกำหนดไว้ ชำนาญก็จะเป็นคนดูแลในส่วนของยกโลงลงรถเข็นเคลื่อนไปยังบริเวณเมรุ เป็นผู้นำในพิธีแห่ศพเวียนเมรุ และคอยดูแลในส่วนของการนำโลงเข้าเตาเผาไฟฟ้า งานของทีมสัปเหร่อจะสิ้นสุดลงเมื่อนำส่งกระดูกของผู้เสียชีวิตให้กับครอบครัว
นับตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งสัปเหร่อมา ชำนาญไล่ประสบการณ์การทำงานว่าเขาเคยผ่านมาหมดแล้วทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะช่วงอายุไหน หรือว่าสาเหตุการตายคืออะไร เป็นการพิสูจน์คำสอนทางพุทธศาสนาด้วยตนเองว่า สังขารของเราเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายของเราเป็นสิ่งที่แน่นอน
ในวันนี้เขาทำหน้าที่จัดการร่างผู้เสียชีวิตคนอื่น ไม่ว่าช้าหรือเร็ว สักวันหนึ่งก็เป็นร่างกายเขาเองที่ต้องมานอนนิ่งรอให้คนอื่นช่วยจัดการไม่ต่างกัน
“พอมาทำก็คิดว่าปกติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความตายไม่ได้เลือกเพศ เลือกวัน เพราะผมทำมาหมดทุกกรณี ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เด็กในท้อง มาให้เผา ก็ผ่านมาหมด จน เออ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ เลยไม่ได้มีความรู้สึกอะไร ปลงว่า อีกหน่อยเราก็ต้องมานอนอย่างนี้ให้เขาทำ”
และคำที่ว่าเคยผ่านประสบการณ์มาแล้วทุกรูปแบบ ก็ไม่ผิดมากนัก เพราะแม้แต่ญาติพี่น้องที่รู้จักคุ้นหน้าค่าตากันมา ชำนาญก็เป็นผู้ดูแลให้ความสะดวกเป็นครั้งสุดท้าย
ผู้ชำนาญการดูแลพิธีศพ
อีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากการทำหน้าที่ดูแลผู้เสียชีวิต ก็ยังมีเรื่องของญาติพี่น้องจำนวนมากที่ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการพิธีหลังความตาย มาพึ่งพาและขอคำปรึกษากับสัปเหร่อ จนเรียกได้ว่า หน้าที่ของเขาไม่ใช่เพียงการบริการให้ความสะดวกสบายกับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย แต่ยังเป็นผู้สร้างความอุ่นใจให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ว่า พิธีกรรมทั้งหมดจะดำเนินไปตามหลักความเชื่อทางศาสนา
“ทำตามหน้าที่ ดูแลเขาให้ดี เพราะเขาทำอะไรเองไม่ได้ ยินดีที่เขามาใช้บริการเรา ไหนๆ เขาเลือกมาที่นี่ ที่จะมาให้เราจัดการบริการให้ เราก็ต้องทำให้เขาให้ดี ทำให้เขาครั้งสุดท้าย ให้พวกเขาไปดี”
ส่วนเรื่องของความกลัว ที่บางคนมองว่านี่คือการทำงานร่วมกับศพ ตั้งแต่นำร่างมาวาง ลงโลง เข้าเตาเผา เห็นแต่ของน่าเกลียดน่ากลัว ชำนาญบอกว่าสำหรับเขาแล้ว มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องกลัวเลยสักนิด คนทำงานเป็นสัปเหร่อย่อมรู้ว่านี่คือส่วนหนึ่งของเนื้องานที่ต้องทำให้ดี และการทำงานอย่างมืออาชีพคือการรับมือกับทุกสถานการณ์ให้ดีที่สุด
“ถามว่าทำเกี่ยวกับศพไม่กลัวเหรอ ทำเกี่ยวกับศพ มองเข้าไปเจอแสงไหม้ ตั้งแต่เริ่มไหม้ ตั้งแต่เป็นรูปร่างคนไหม้ เราก็ไม่กลัว เฉยๆ ไม่ติดตา ทำงานพอจบงานก็กลับบ้าน ไม่ได้ไปอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว ก็ไม่มีอะไรน่ากลัว”
แล้วการทำงานอยู่กับการสูญเสียตลอดเวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือไม่?
เขาเคยมีช่วงเวลาที่จมดิ่งจากการเจอความโศกเศร้าทับซ้อนต่อเนื่องไม่เคยหยุดพักหรือเปล่า?
“ไม่มีนะ ไม่มีติดความรู้สึกนั้น ไม่เคยเจอความรู้สึกติดตัว เอาจริงมันเหมือนว่าเป็นหน้าที่ เป็นงาน ทำจบก็คือจบ ก็เข้าใจว่าญาติเสียใจ แต่เราเป็นคนทำก็ปลงกับการเสียชีวิต ทุกอย่างเกิดขึ้น ดับไป สลายร่างด้วยการเผา” ชำนาญตอบ
ผู้ดูแลคนสุดท้าย
ภาพจำของอาชีพสัปเหร่ออาจเป็นชายร่างผอม มีอายุ ใส่เสื้อผ้าสีซีดที่ผ่านการใช้งานมาเป็นเวลานาน หากินกับคนตาย และเป็น ‘อาชีพต่ำต้อย’ ที่ไม่ได้รับการยอมรับในสังคมมากนัก
ส่วนในกรณีของชำนาญนั้นแตกต่างออกไป เขาเล่าว่า เมื่อบอกคนอื่นว่าตนเองทำอาชีพสัปเหร่อ คนส่วนใหญ่ไม่มีใครมองเขาและอาชีพนี้ในทางลบ กลับกันเขาได้รับคำชื่นชมและคำขอบคุณจำนวนมากที่เข้ามาทำหน้าที่ที่หาผู้สืบต่อได้ยากในปัจจุบัน
อย่างที่เห็นได้ชัดว่าเด็กรุ่นใหม่ที่อยู่ในระบบการศึกษามากขึ้น มีการศึกษาที่สูงขึ้น ก็มีมุมมองเรื่องของการประกอบอาชีพในอีกมุมหนึ่ง การผันตัวมาประกอบอาชีพดูแลคนตาย ทำอยู่กับศพ ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในแผนชีวิต
“เจอคนเขาบอกว่า ดี ถ้าไม่มีบุคลากรหรือว่าคนอย่างคุณ ใครจะมาทำตรงนี้ เพราะยุคสมัยนี้มันไม่มีใครอยากมาทำตรงนี้ มาทำกับศพ บางคนคือไม่แตะต้อง ไม่ยุ่งเลย เขาก็มองเป็นเรื่องบุญ น้อง (ชำนาญ) มาทำตรงนี้ได้บุญได้ด้วย ทำให้คนตายได้การดูแลที่ดี”
แล้วตัวเขาเองก็ไม่เคยมองอาชีพนี้ในทางไม่ดีเช่นกัน เพราะการช่วยเหลือให้ความสบายใจกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในยามโศกเศร้า ทำให้คนที่ยังมีลมหายใจอยู่มั่นใจได้ว่า การบอกลาครั้งสุดท้ายจะเป็นการลาจากที่เหมาะสมตามความเชื่อ เป็นเรื่องที่น่ายินดี
แม้ว่าชื่ออาชีพหรือตำแหน่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแลร่างคนตายจะแตกต่างกันไปในแต่ละศาสนา หนึ่งหัวใจสำคัญที่พวกเขาทั้งสามคนต่างเห็นตรงกันเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตรงนี้ คือการเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลครั้งสุดท้ายให้กับร่างกายที่หยุดการเคลื่อนไหว และประคับประคองใจคนมีชีวิตอยู่ไปพร้อมกัน
ทว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องขบคิดต่อ คือความไม่แน่นอนของผู้สืบทอดที่จะเข้ามาทำอาชีพนี้ในอนาคต ด้วยช่วงอายุของคนที่ทำงานกับความตายที่เริ่มแก่ตัวไปทุกขณะ และมีคนจำนวนน้อยที่เต็มใจก้าวเข้ามาข้องเกี่ยวกับการทำงานนี้
หากในวันหนึ่ง เราไม่มีคนกลุ่มนี้คอยจัดการพิธีแห่งความตายให้
การหลับตาครั้งสุดท้ายของเราจะเป็นเช่นไร