“โอ๊ย เจ็บแผลผ่าคลอด รูปนี้น่ารักจังลูกแม่”
“น้องก็ตัวเท่านิ แค่ 3 ขวบครึ่งเอง เบบี๋ของหม่าม้า”
ประโยคเหล่านี้ ถูกกล่าวโดยสาวโสดวัย 20 ต้นๆ ที่กำลังเลื่อนทวิตเตอร์แล้วชื่นชมภาพของศิลปินเกาหลีที่เธอรักดั่งแก้วตาดวงใจ
ประโยคกล่อมหูที่ได้ยินมานานอย่าง ‘เลี้ยงลูกผ่านจอ’ ในสมัยนี้อาจไม่ได้หมายถึงพ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกอยู่กับโทรทัศน์ หรือมือถืออีกต่อไปแล้ว แต่อาจจะหมายถึง ‘มัมหมี’ หรือ บรรดาแฟนคลับที่รักและเอ็นดูศิลปินราวกับว่าเขาเป็นลูกของตัวเอง และไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เพศไหน สถานะใด ก็สวมบทบาท ‘แม่เทียม’ ที่สามารถกล่าวอ้างในโลกออนไลน์เชิงหยอกล้อว่าเป็นแม่แท้ๆ ของศิลปินที่เรารักได้เสมอ
จนตอนนี้หันไปทางไหนก็เจอแต่คนเป็นมัมหมีกันทั้งบ้านทั้งเมือง แล้วอะไรกันนะ ที่ทำให้จากแฟนคลับธรรมดา กลายร่างมาเป็นมัมหมีของศิลปินไปได้?
อะไรคือมัมหมี?
แท้จริงแล้วการเป็นมัมหมี เป็นการนิยามตัวเองของแฟนคลับที่รักและเอ็นดูศิลปิน เพียงแต่กำหนดบทบาทให้ว่าตัวเองนั้นเป็น ‘แม่’ ซึ่งอาจจะแตกต่างกับแฟนคลับกลุ่มอื่นๆ ตรงที่เลนส์และฟีลเตอร์การมองศิลปิน อะไรที่คนอื่นว่าเท่ ว่าหล่อ เราอาจมองว่าน่ารัก นุ้บนิ้บ นุ่มฟู เหมือนกับที่เราเอ็นดูเด็กตัวเล็กๆ ที่พยายามทำอะไรด้วยตัวเองจนสำเร็จ
สิ่งนี้ไม่ต่างอะไรกับการปักโพสิชั่นให้กับศิลปิน แต่เดิมเราอาจมองศิลปินว่า เป็นน้อง เป็นแฟน เป็นพี่ชาย แต่เมื่อโลกกว้างไกลขึ้น เราก็ขยับขยายขอบเขตฟีลเตอร์ในตาให้กว้างไกลยิ่งกว่า ด้วยการสรรสร้างบทบาทใหม่ให้กับศิลปินๆ เช่น ลูก แมว หมา กระต่าย หรือสัตว์อื่นๆ เท่าที่เราจะจินตนาการได้ ซึ่งสิ่งนี้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าเราโดนใครตก และสิ่งไหนทำงานกับความอุ๋งใจของเรา
ในอดีตมีคำคำหนึ่งที่อาจใกล้เคียงกับคำว่า ‘มัมหมี’ คือคำว่า ‘แม่ยก’ ที่มีไว้ใช้เรียกแฟนคลับ หรือกลุ่มคนที่สนับสนุนลิเก วงดนตรีลูกทุ่ง และคำว่าแม่ยกนี้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ‘การเป็นแฟนคลับและแม่’ ไม่ได้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นในห้วงเวลานี้ แต่มีมาแล้วนับสิบๆ ปี
เริ่มต้นจากการเป็นแฟนคลับ
หากจะหาต้นตอที่ทำให้เรามัมหมี สิ่งที่ขาดไม่ได้คือคำอธิบายทางจิตวิทยา ว่าอะไรที่ทำให้เราเลือกที่จะเป็น ‘แม่’ ของศิลปินสักคนหนึ่ง
คำอธิบายที่ง่ายที่สุด สำหรับความรู้สึกของการเป็นแฟนคลับที่รักศิลปินเหมือนลูก นั่นคือ Parasocial Relationship หรือ การมีปฏิสัมพันธ์แบบกึ่งสังคม ซึ่งคำนี้ได้รับการบัญญัติครั้งแรกในปี 1956 โดย โดนัลด์ ฮอร์ตัน (Donald Horton) และริชาร์ด โวห์ล (R. Richard Wohl)
ถ้าจะอธิบาย Parasocial Relationship ให้เข้าใจง่ายยิ่งไปกว่านั้น มันคือความผูกพันที่เกิดขึ้นจากการที่เรารู้จักเขาอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งติดตามผลงาน ติดตามเรื่องราวส่วนตัว ความชอบ ความรู้สึกนึกคิดใดๆ ที่เราตีความแทนเขาไปได้เสียหมด จนเกิดเป็นความรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับทั้งบุคคลที่มีตัวตนจริง หรือตัวละครใดตัวละครหนึ่งก็ได้เหมือนกัน และอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติของการเป็นแฟนคลับไปเสียแล้ว เพราะการเป็นแฟนคลับ ในขาหนึ่งก็คือการติดตามเรื่องราวของคนที่เรารัก บ่อยครั้งเข้าก็เกิดเป็นความเคยชินและผูกพัน
แล้วทำไมเราถึงเป็นมัมหมี?
ความรักและความชื่นชอบในตัวศิลปินนั้น หากมองในลึกลงไปในแง่มุมของจิตวิทยา การที่เรากำหนดบทบาทให้กับตัวเองว่าเป็น ‘แม่’ และมีศิลปินที่รักเป็น ‘ลูก’ อาจเกิดจากความไม่มั่นคงทางจิตใจ หรือสภาพสังคมที่มีส่วนสำคัญในการตีกรอบบทบาทให้กับเรา
ปฏิเสธได้ยากว่าแฟนคลับที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘มัมหมี’ นั้น โดยส่วนมากเป็นเพศหญิง และการเป็นเพศหญิงในสังคมไทย รวมไปถึงระดับเอเชียนั้น ถูกกดทับด้วยวัฒนธรรมการกดขี่ทางเพศ และสังคมปิตาธิปไตย การแสดงออกถึงการชื่นชอบ หรือรักใคร่ใครสักคนหนึ่ง อาจไม่สามารถทำได้อย่างเปิดเผยและเป็นอิสระเมื่อเทียบกับเพศชาย ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับทฤษฎีโครงสร้างความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ (Gender schema theory) ของ แซนดรา เบม (Sandra Bem) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่มองว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่เราแสดงออกนั้น เป็นกระบวนการที่เกิดจากการเรียนรู้ถึงความแตกต่างของบทบาททางเพศ และพยายามแสดงออกเพื่อให้อยู่ในบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดไว้
ดังนั้นเมื่อสังคมไม่เอื้อให้เพศหญิงได้แสดงออกอย่างอิสระ และยังยึดโยงคุณค่าบางส่วนของผู้หญิงไว้กับเรื่องการแสดงออกทางเพศ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แฟนคลับสักคนหนึ่งเลือกที่จะแสดงออกถึงความชอบที่มีในตัวศิลปินโดยใช้แสดงออกทางอ้อม อย่างการสวมบทบาทเป็น ‘แม่’ แทน
และความไม่มั่นคงที่เกิดจากการถูกวัฒนธรรมการกดขี่ทางเพศครอบไว้นั้น ยังอาจส่งผลถึงมุมมองความสัมพันธ์แบบคนรักอีกด้วย ทั้งที่เราสามารถเลือกที่จะชื่นชอบศิลปินแบบแฟนหนุ่มได้ แต่เรากลับเลือกที่จะรักเขาแบบลูกแทน นั่นอาจเป็นเพราะจิตใต้สำนึกของเราที่กลัวว่าความรักในเชิงคนรัก เชิงโรแมนติกนั้น จะมีวันเลือนหลายไปในสักวันหนึ่ง แต่ความรักของแม่ที่มีต่อลูก อย่างที่ได้ยินฝังหูกันมาตลอดว่าเป็นรักที่บริสุทธิ์ เป็นรักที่ไม่มีวันจางหาย ไม่ว่าลูกจะโตแค่ไหน แม่ก็ยังจะรักและรอชมทุกความสำเร็จของลูกอยู่เสมอ ทำให้เราเลือกที่จะรักและฟูมฟักศิลปินสักคนหนึ่งนั้น ด้วยความเป็นแม่
เพราะ ‘แม่’ คือมายาคติ
เมื่อเราพิจารณาบทบาทความเป็น ‘แม่’ ในสังคมไทยแล้ว บทบาทนี้ถือเป็นหนึ่งในบทบาทที่จะทำให้ผู้หญิงในสังคมได้รับการยกย่องขึ้นมา ซึ่งต่างกับบทบาทของเมีย หรือผู้หญิงที่ยังไม่ได้เป็นแม่ เพราะทันทีที่เรากลายเป็นแม่เมื่อไหร่นั้น เราจะถูกมองว่ามีมีคุณค่าและได้รับมอบหมายหน้าที่ในการให้ความรักและเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งในเติบโตมาเป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือมายาคติที่สังคมสร้างขึ้น
ดังที่นักสตรีนิยม แอนน์ โอ๊คลีย์ (Ann Oakley) เคยเสนอความคิดหนึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเป็นแม่ของผู้หญิงไว้ว่า ความเป็นแม่ไม่ใช่เป็นวัฒนธรรมที่ผูกมากับผู้หญิงโดยกำเนิดหรือตามธรรมชาติ แต่มันคือมายาคติอย่างหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นทางวัฒนธรรม (Mommy Myth)
โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว การที่มายาคติเรื่องผู้หญิงกับคุณค่าของความเป็นแม่เหล่านี้ยังลอยฟุ้งอยู่ในสังคม ก็ไม่ต่างอะไรกับการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้กับเรา และเมื่อเราตัดสินใจที่จะรักศิลปินสักคนหนึ่งเหมือนลูก ก็อาจเป็นหนึ่งในการสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเราเองได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนอุ้มท้องเขามาก็ตาม
ความเป็นแม่เข้มข้น เพราะทุนนิยมที่ทำให้เราเห็นเขาเติบโต
นอกจากแนวคิดด้านจิตวิทยาและสังคมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้แฟนคลับธรรมดากลายมาเป็นมัมหมีได้นั้น ก็คือระบบทุนนิยมที่ค่ายของศิลปินเป็นคนสร้างขึ้น การเดบิวต์ศิลปินตั้งแต่ยังเรียนอยู่ประถม มัธยมต้น ขวบวัยเพียง 10 กว่าปี ทำให้เราไม่สามารถชื่นชอบเขาได้ในแบบแฟน เพราะมโนสำนึกของการรู้ผิดชอบชั่วดี เราจึงวางบทบาทของตัวเองด้วยการเป็น ‘แม่’ และเฝ้าดูการเติบโตของเขาเหล่านั้นด้วยรอยยิ้มแทน
ยิ่งประกอบกับภาพลักษณ์ที่ค่ายตั้งใจสร้างให้ศิลปิน เราก็ยิ่งติดกับความใสซื่อและบริสุทธิ์นั้นได้โดยง่าย และสิ่งนี้อาจสร้างความภักดีในฐานะของแฟนคลับกับศิลปินที่มั่นคงได้ในระยะยาว เราได้เห็นก้าวแรกก่อนเดบิวต์ของเขา จนวันที่เขาได้เดบิวต์ ขึ้นแสดงบนเวทีและรับรางวัล ซึ่งทั้งหมดนี้แทบไม่ต่างอะไรกับการที่แม่คนหนึ่งนับวันรอไปดูลูกแสดงโชว์ที่งานโรงเรียน
ยิ่งไปกว่านั้น นอกเหนือจากการขายผลงานเพลงของศิลปินแล้ว โลกที่กำลังหมุนไปคอนเทนต์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหล่อเลี้ยงกระแสของศิลปินอยู่เสมอ และคอนเทนต์ที่ทำได้ง่ายก็เป็นการติดตามชีวิตของศิลปิน สิ่งนี้ยิ่งทำให้แฟนคลับได้เห็นศิลปินที่ตัวเองรักได้บ่อยยิ่งขึ้น และเมื่อมันเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน พื้นที่ส่วนตัวของศิลปินก็ค่อยๆ กะเทาะออกให้แฟนคลับได้เรียนรู้ จนบางครั้งก็สร้างปฏิสัมพันธ์กึ่งสังคมให้ทวีขึ้นมากกว่าเดิม
หรือในอีกแง่หนึ่งการเติบโตของศิลปินก็คือการเติบโตของเราด้วยเช่นกัน การเห็นเขาค่อยๆ เติบโตขึ้นท่ามกลางอุปสรรคมากมาย ยิ่งเร้ากระตุ้นให้เราอยากออกโรงปกป้องเขาจนถึงที่สุด และสิ่งเหล่านั้นหากมองเทียบกัน ก็ไม่ต่างอะไรกับตอนที่แม่พยายามปกป้องเราให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าแฟนคลับหลายคนเลือกที่จะสวมบทบาทของแม่ที่ต่อสู้เพื่อลูกของตัวเอง
และเมื่อรวมกลุ่มกัน จากมัมหมีเดียวดาย ก็กลายร่างเป็นกลุ่มมัมหมีที่ยิ่งใหญ่ การติดต่อสื่อสารและการรวมกลุ่มกัน บ่อยครั้งมักอยู่ในพื้นที่ของโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ทวิตเตอร์’ ที่เมื่อไหร่ก็ตามมีคอนเทนต์ คลิป หรือข้อมูลใดๆ ของศิลปินปล่อยออกมา กลุ่มแฟนคลับที่นิยามตัวเองว่าเป็นมัมหมี ก็จะมีการแสดงออกไปในทิศทางเดียวกัน จนอาจเรียกว่าสิ่งนั้นเป็น ‘อัตลักษณ์ของกลุ่มมัมหมี‘ เลยก็ว่าได้
ยกตัวอย่างเช่น การใช้คำเรียกแทนตัวเองว่า ‘แม่, หม่าม้า, หม่ามี้, มัมหมี’, การชื่นชมศิลปินด้วยข้อความเชิงเอ็นดู, การนำคำที่เกี่ยวข้องกับสายสัมพันธ์แม่ลูกมาใช้ เช่น คำว่า ‘เจ็บแผลผ่าคลอด’, การนำรูปปัจจุบันของศิลปินไปเทียบกับรูปสมัยเด็ก, การตัดต่อภาพของศิลปินกับชุดเด็กเล็ก หรือการใช้คำเรียกขานศิลปินที่แสดงถึงความเอ็นดู ซึ่งบางครั้งอาจเป็นคำที่เข้าใจกันในกลุ่มเฉพาะ เช่น การเรียกวง NCT Dream ว่า ‘น้องดรีม’ หรือมัมหมีของเจโน่ (NCT Dream) มักเรียกเจโน่ด้วยคำว่า ‘โน่, น่วน, น่อ, พิน่อ’ และมัมหมีของแจมิน (NCT Dream) มักเรียกแจมินด้วยคำว่า ‘นุเน้ก‘
การสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มมัมหมีนี้เอง เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่า ‘มัมหมี’ ไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเอง และมีอยู่จริงในสังคม รวมถึงมีชุมชนเป็นของตัวเองอีกด้วย
ท้ายที่สุดอย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าการเป็น ‘มัมหมี’ นั้น ไม่จำเป็นต้องอาศัยความสามารถพิเศษ คู่ครอง คนรัก พิธีสมรส หรือการอุ้มท้องใดๆ เพียงแค่อาศัย ‘หัวใจ’ ในการรักศิลปินสักคนหนึ่งเท่านั้น
และเมื่อใดก็ตามที่ตัดสินใจจะรักแล้ว เราก็จะมีรอยยิ้มของลูกน้อยคอยเยียวยาเราในวันที่เหนื่อยล้า ไปจนกว่าจะถึงวันที่เลิกรักเลยนะคุณแม่
อ้างอิงจาก