แม้เราจะใช้ภาษาไทยกันอยู่ทุกวัน แต่ก็ยังคงมีคำถามเกิดขึ้นทุกวันเช่นกัน ว่าตกลงคำนี้อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร ใช้เมื่อไหร่ แล้วราชบัณฑิตฯ ว่าไว้แบบไหน
The MATTER เลยชวน ‘ครูทอม คำไทย’ มาสนทนาภาษาไทยในยุค ๔.๐ ว่าด้วยเรื่องต่างๆ อย่างภาษาวิบัติ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภาษา บทอาขยานยังจำเป็นอยู่ไหม รวมไปถึงว่าทำไมเราต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม
The MATTER : หนึ่งในประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับภาษา คือเรื่องของภาษาวิบัติ ครูทอมคิดว่าขอบเขตไหนถึงจะเรียกว่าภาษาวิบัติ
ครูทอม : โดยส่วนตัวคิดว่าภาษาวิบัติไม่มีอยู่จริง อย่างคำศัพท์ติดปากของวัยรุ่น เช่น ตะมุตะมิ โดนเท ลำไย ถ้าเราศึกษาเรื่องเกี่ยวกับภาษาศาสตร์มา เราก็จะเห็นว่าภาษามันต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือการที่เรามีคำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา มีคำบางคำหายไป ดังนั้นถ้ากลุ่มวัยรุ่นจะคิดคำแปลกๆ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่โดยส่วนตัวกลับมองว่ามันคือความสร้างสรรค์
จริงๆ แล้วจะมาเจาะว่าเด็กวัยรุ่น เด็กสมัยใหม่ก็ไม่ถูก เพราะคำเหล่านี้ก็มีมาทุกยุคทุกสมัย ถ้าเราลองนึกย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน เราก็มีคำว่า ‘เปิ๊ดสะกาด’ หรือคำว่า ‘จ๊าบ’ ซึ่งคำที่พูดมา เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ค่อยใช้กันแล้ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่าคำแปลกๆ ใหม่ๆ แต่ละยุคเนี่ยมันก็จะมีอายุของมัน ถ้ามันฮิตติดตลาด คนนิยมใช้กัน มันก็ใช้มาเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่ถึงจุดที่เขาไม่อยากใช้กันแล้ว เขาอาจจะเห็นว่าล้าสมัยหรือเชยไปแล้ว เราก็เลิกใช้กันไป
แต่ว่าเวลาจะใช้ ฝากถึงคนที่ใช้ภาษาเหล่านี้ เราต้องดูว่ากลุ่มคนที่เราใช้ภาษาแบบนี้ด้วยเขาเข้าใจหรือเปล่า เพราะคำแปลกๆ ใหม่ๆ แบบนี้ก็ค่อนข้างเป็นคำเฉพาะกลุ่มเหมือนกัน ถ้าเราจะไปคุยกับผู้ใหญ่มากๆ ท่านอาจจะไม่เข้าใจ เรามองในมุมของผู้ส่งสาร ต้องดูว่าเราใช้แบบนี้แล้วผู้รับสารเข้าใจหรือเปล่า ถ้าผู้รับสารไม่เข้าใจ ปัญหาจากการสื่อสารเกิดขึ้นแน่นอนเพราะอย่าลืมว่า เราใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
ถ้ามองในมุมของผู้รับสาร ถ้าสมมติว่าเราเป็นผู้ใหญ่ เราอยากเข้าใจเด็กๆ วัยรุ่น ก็เป็นหน้าที่ของเราที่เราจะต้องไปศึกษาคำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มเติม เพราะอย่างที่บอกว่ามีคำแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ถ้าเราในฐานะผู้รับสารอยากเข้าใจผู้ส่งสารให้หลากหลาย เราก็ต้องไปทำความเข้าใจเพิ่มเติมด้วย ซึ่งอย่างตรงนี้มันไม่มีใครถูกไม่มีใครผิดเลย เพียงแต่ว่าปัญหาจะเกิดก็ต่อเมื่อถ้าผู้ใช้และผู้รับไม่ตรงกัน
The MATTER : ครูสอนภาษาไทยสมัยนี้ต้องปรับตัวยังไงถึงจะตามสิ่งเหล่านี้ทัน
ครูทอม : แน่นอนว่าเราจะต้องเสพสื่อต่างๆ ให้มากขึ้นครับ เราจะอยู่แค่ในตำราไม่ได้ ดูว่ากลุ่มวัยรุ่นกลุ่มนักเรียนของเราเขาสนใจแบบไหน อย่าลืมครับว่า การใช้ภาษาคือการเลียนแบบ ตั้งแต่เด็กเลย เราพูดภาษาไทยได้ เราฟังภาษาไทยได้ เพราะว่าเราได้ยินเสียงคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองของเราพูดให้ฟัง ถ้าเราเกิดในสภาพแวดล้อมแบบไหน ก็มีโอกาสสูงมากที่เราจะใช้ภาษาแบบนั้น
ในฐานะครู ถ้าเราอยากรู้ว่าเด็กๆ ใช้ภาษากันแบบไหน เราก็ต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น เราต้องเข้าไปดูว่าเด็กชอบเสพอะไร สิ่งที่เด็กเสพนั้นใช้ภาษากันแบบไหน ถ้าเราเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เราจะได้นำมาสอนเด็กได้ว่าแบบนี้นะไม่ถูกต้อง แล้วที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างไร
แล้วที่สำคัญครูก็ต้องเปิดใจให้คำศัพท์แปลกๆ ใหม่ๆ ด้วย เพราะว่าผมเคยเจอครั้งหนึ่งครับ มีคุณครูภาษาไทย ท่านมาถามว่า “เนี่ย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเด็กสมัยนี้ใช้คำว่า ‘นะครัชๆ’ แบบที่เป็น ช. ช้าง สะกดมันแปลว่าอะไร” เราก็อยากจะถามครูกลับไปว่า “ครูไม่รู้จริงๆ หรอครับว่าแปลว่าอะไร” ถ้าครูไม่รู้จริงๆ ผมว่าครูมีปัญหาแล้วนะครับ ทำไมจะไม่รู้ล่ะ แค่เขาเปลี่ยน บ. ใบไม้ เป็น ช. ช้าง คุณจะแปลไม่ออกหรอว่าแปลว่าอะไร แปลออกอยู่แล้ว แต่คุณพยายามสร้างความอนุรักษ์นิยม เห็นชัดว่าคุณรับไม่ได้กับคำแปลกๆ ใหม่ๆ
กรณีคำว่า ‘นะครับ’ ‘นะครัช’ เห็นชัดว่าความหมายมันเหมือนกันแหละ แต่ที่ต่างก็คือระดับความเป็นทางการ ถ้าเราใช้ว่า ‘สวัสดีครับ’ แน่นอนว่าเป็นทางการ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็น ‘สวัสดีครัช’ หรือ ‘สวัสดีครัส’ มันชัดเลยว่าระดับความเป็นทางการมันต่างกัน ถ้าเราใช้แสดงว่าเราไม่อยากจะให้มันเป็นทางการ ถ้าเราบอกว่า ‘สวัสดีครัช’ หรือ ‘สวัสดีครัส’ ผิด อันนี้ก็ไม่ใช่ เพราะว่ามันทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์
The MATTER : แล้วอย่างสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ต้องปรับตัวอย่างไรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของภาษา
ครูทอม : ราชบัณฑิตฯ เองก็จะต้องหาข้อมูลไม่น้อยเลยครับ ต้องดูว่าปัจจุบันเขาใช้ภาษากันแบบไหน มีคำศัพท์คำไหนฮิตบ้าง แต่เราก็ต้องเข้าใจมุมของราชบัณฑิตฯ ด้วย ไม่ใช่ว่าทุกคำที่เกิดขึ้นมาแล้วต้องบัญญัติใส่พจนานุกรม ก็ต้องค่อยๆ พิจารณาไป อย่างถ้าเราไปเปิดดูในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปัจจุบัน เราก็จะเห็นเลยครับว่ามีบางคำที่เมื่อก่อนก็เป็นคำฮิตตามความนิยมในแต่ละยุค แต่พอคนนิยมใช้กันมากขึ้นก็ยังปรากฏในพจนานุกรมจนถึงปัจจุบัน เช่นคำว่า ‘โก้เก๋’
ราชบัณฑิตฯ เอง ก็เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ คำนึงถึงความนิยม ไม่ใช่ว่าจะอนุรักษ์แบบเดิมไว้อย่างเดียว เขาก็ดูว่าปัจจุบันการออกเสียงคำบางคำเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า มีความหมายของคำศัพท์คำไหนเพิ่มขึ้นมาไหม แต่บางอย่างเราก็รู้สึกว่า ทำไมราชบัณฑิตฯ จะต้องมาเปลี่ยนแปลง เช่นคำว่า ‘แซ่บ’ ที่แปลว่าอร่อย คำนี้ในพจนานุกรมก็ได้บัญญัติไว้ว่าเป็นคำภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งในภาษาอีสานจริงๆ เขาก็ออกเป็นเสียงยาวว่า ‘แ-ซ-บ’ ซึ่งเมื่อก่อนในพจนานุกรมก็บัญญัติว่า ‘แซบ’ แต่ในพจนานุกรมฉบับล่าสุด (พ.ศ. 2554) ได้เปลี่ยนการสะกดคำเป็น ‘แซ่บ’ ตามความนิยม จริงๆ มันไม่น่าจะต้องเปลี่ยนหรือเปล่า เพราะว่าคำนี้มันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นคำจากภาษาอีสานและในภาษาอีสานเดิมออกเสียงเป็นเสียงยาว
แต่คำบางคำที่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าราชบัณฑิตฯ ควรจะเปลี่ยนการสะกดก็ไม่เปลี่ยน เช่นคำว่า ‘โบ’ โบผูกผมน่ะครับ ตั้งแต่โบร่ำโบราณนานมาในพจนานุกรมระบุคำนี้ให้สะกดว่า ‘โบ’ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเขาเติม ‘ว์’ ไปด้วยเป็น ‘โบว์’ เพราะเขารู้ว่าคำนี้มาจากภาษาอังกฤษคำว่า ‘Bow’ และในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเองก็ระบุเอาไว้ว่าคำว่า ‘โบ’ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า ‘Bow’ ซึ่งมันก็ชัดเจนมากว่าควรจะมี ‘ว์’ แต่เราก็เข้าใจได้ว่าคำนี้บัญญัติไว้นานนมแล้ว
แต่ทีนี้เนี่ย พูดถึงเรื่องคำทับศัพท์ ราชบัณฑิตฯ เองก็มีหลักเกณฑ์การเขียนคำทับศัพท์ ซึ่งถ้าว่าตามหลักเกณฑ์การเขียนคำทับศัพท์เขาก็ระบุไว้ แบบนี้ก็ต้องมี ‘ว์’ ด้วย นั่นก็แปลว่ามันก็ขัดกันอยู่ระหว่างการสะกดคำแบบเดิมกับตามที่ปรากฏในหลักเกณฑ์การทับศัพท์
พูดถึงคำทับศัพท์ อีกคำที่เรารู้สึกว่าทำไมสะกดแบบนี้คือคำว่า ‘ออฟฟิศ’ (Office) การสะกดตั้งแต่เดิม ถ้าเป็น ‘-ce’ สะกด เขาจะใช้ ‘ศ’ กัน แต่ว่าถ้าเราสะกดตามหลักเกณฑ์การเขียนคำทับศัพท์ในปัจจุบัน ‘-ce’ ต้องใช้ ‘ซ’ เราก็เลยจะเห็นบางคนสะกด ‘ออฟฟิซ’ แต่ที่ถูกต้องจริงๆ ต้อง ‘ออฟฟิศ’ ด้วยเหตุผลว่าเขาบัญญัติไว้นานแล้ว แต่ก็มีความลักลั่นอย่างหนึ่งนะครับ ถ้าเราลองไปศึกษาดูในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2542 คือฉบับก่อนหน้านี้ เขามีวงเล็บไว้หลังคำว่า ‘ออฟฟิศ’ ว่า (เลิก) แปลว่าให้เลิกใช้คำนี้ แต่ปัจจุบันเขาเอาคำว่า (เลิก) ทิ้งไป เห็นไหมครับว่าเขาก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ
จริงๆ พอราชบัณฑิตฯ เปลี่ยนอะไรเรื่อยๆ มาแบบนี้ โดยส่วนตัวเนี่ยอยากเหลือเกินครับ อยากให้ราชบัณฑิตยสถานทำพจนานุกรมออกมา คือ ‘พจนานุกรมคำเปลี่ยน’ ครับ คือเปลี่ยนคำไหนช่วยบอกกูด้วย
The MATTER : แล้วอย่างบทกลอนหรือบทอาขยานที่ท่องกันมา ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคนี้
ครูทอม : ถ้าถามว่าบทอาขยาน บทกลอนที่เราท่องกันยังจำเป็นอยู่ไหม เราก็ต้องกลับมาดูที่วัตถุประสงค์ที่ให้เด็กท่องครับ หลายคนจะคิดเสมอว่าท่องไปอย่างนั้น แต่โดยส่วนตัวที่เราเป็นครูเองเราก็มองว่าข้อดีของการท่องอาขยานมันก็มีอยู่ไม่น้อย
อย่างปัจจุบันเวลาเราใช้ภาษาไทยกัน เขียนอะไรก็แล้วแต่ เรามักจะเขียนเป็นบทร้อยแก้ว แต่อย่าลืมว่าการมีอยู่ของบทร้อยกรองก็ทำให้เราเห็นถึงความงามทางภาษา ถ้าเราได้ศึกษางานของสุนทรภู่ หรือว่ากวีหลายๆ ท่าน เราก็จะเห็นความสละสลวยสวยงาม มีสัมผัสนอกสัมผัสใน การที่เราให้เด็กๆ ท่องตรงนี้ มันก็ทำให้เด็กได้ซึมซับตรงนี้ด้วย
บทร้อยกรองหลายๆ บท ก็ให้ข้อคิดน่าสนใจ คือการที่เราจะให้ข้อคิดหรือให้ความรู้ต่างๆ แก่เด็กมันมีหลายวิธี การท่องอาขยานมันเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนครับว่าเรามีสำนวนว่า ‘ลางเนื้อชอบลางยา’ บางคนอาจจะคุ้นเคย แล้วก็จะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดีถ้าเป็นบทร้อยแก้ว แต่บางคนถ้าเป็นบทร้อยกรอง เขาก็จะท่องจำข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้น
ดังนั้นมันก็เหมือนเวลาเราสอนหนังสือ เราให้ความรู้กับคนต่างๆ วิธีหนึ่งอาจเหมาะกับเด็กคนหนึ่ง แต่อีกวิธีหนึ่งอาจจะเหมาะกับเด็กอีกคนหนึ่ง การที่เด็กบางคนไม่คุ้นเคยกับร้อยแก้ว เขาอาจจะคุ้นเคยกับร้อยกรอง แล้วก็สามารถจดจำเนื้อหา จดจำข้อคิดต่างๆ ได้จากบทร้อยกรองก็ได้ครับ
The MATTER : ในฐานะครูภาษาไทย คิดอย่างไรกับการที่นายกฯ แต่งกลอน
ครูทอม : ก็ถ้าให้คะแนน ก็อยากให้คะแนนเต็มสิบ ในส่วนของความพยายาม แค่ความพยายามนะครับ แต่ถ้าเป็นความถูกต้องของฉันทลักษณ์ ของการเลือกใช้คำเนี่ย บางบทก็น่าให้คะแนน แต่บางบทก็รู้สึกว่าควรจะเรียนเพิ่มก่อน
อย่างเช่นเรื่อง สัมผัสระหว่างบท (สัมผัสนอก) แน่นอนครับการที่เราจะแต่งกลอนให้สละสลวยสวยงาม มันต้องมีทั้งสัมผัสนอก สัมผัสใน เวลาแต่งกลอนแต่ละบทมันจะมีสัมผัสระหว่างบทอยู่ด้วยเพื่อความสละสลวย แต่กลอนของท่านนายกฯ หลายบทที่พยายามจะเชื่อมต่อกัน แต่มันไม่มีสัมผัสนอก เลยรู้สึกว่าอยากให้ปรับตรงนี้
ก็ขอเป็นกำลังใจให้ท่านนายกด้วยนะครับ เข้าใจว่ามีเจตนาดีในการที่จะสืบสาน เผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านบทร้อยกรอง แต่อย่าลืมครับว่าถ้าเราอยากจะสืบสาน เผยแพร่อะไร เราก็ควรจะเผยแพร่ในสิ่งที่ถูกต้องด้วย เพราะว่าจากที่เห็นตอนนี้บางหน่วยงานนำบทกลอนของท่านนายกฯ มาเผยแพร่ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือบางคนจะคิดว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือฉันทลักษณ์ที่ถูกต้อง แต่มันผิดไง พอเราเผยแพร่สิ่งที่ผิดๆ ออกไปแบบนี้อาจมีหลายคนที่แต่งกลอนตาม
สมมติถ้าเด็กแต่งกลอนมาแล้วไม่มีสัมผัสระหว่างบทแล้วพอคุณครูทัก แล้วเด็กบอกว่า นายกฯ ยังแต่งได้เลย อ้าว แบบนี้ยังไงอะ ปัญหาตกอยู่ที่ครูภาษาไทยอีกนะครับที่จะต้องมาคอยสอนเด็กว่าฉันทลักษณ์แบบไหนถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง
The MATTER : ทุกวันนี้ ภาษาไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมหรือเปล่า
ครูทอม : จริงๆ มันก็ทุกยุคทุกสมัยนะครับ การใช้ภาษาเนี่ย อย่างที่ย้ำมาตลอดว่าจุดประสงค์ของการใช้ภาษาคือเพื่อการสื่อสาร ดังนั้นเวลาเราจะวิเคราะห์วิพากษ์ข้อความใดๆ เราต้องดูให้ชัดเจนครับว่าผู้ส่งสารเป็นใคร ผู้รับสารเป็นใคร เราจะดูแค่ตัวคำศัพท์ไม่ได้ ต้องดูเจตนาให้ลึกกว่านั้น นั่นแปลว่าการใช้ภาษาไทยหรือภาษาไหนๆ ก็ตาม มันแสดงเจตจำนงค์ของผู้ส่งสารอยู่แล้ว
ดังนั้นถ้าเราอยากจะแตกฉานเรื่องการวิเคราะห์ต่างๆ เราก็ต้องดูบริบทด้วย ไม่ใช่แค่ดูไม่กี่คำ ดูไม่กี่ประโยค แล้วตีความทึกทักตามที่ตัวเองคิด ยกตัวอย่างเช่นทวิตเตอร์ หนึ่งข้อความหนึ่งทวีต เขากำหนดว่าใช้ข้อความได้ไม่เกิน 140 ตัวอักษร บางครั้งเราก็ต้องพยายามทำให้มันกระชับให้ได้แล้วก็ทวีตนึง บางครั้งเราก็อาจมีรีพลายใต้ทวีตนั้นๆ เป็นข้อความต่อเนื่อง แต่บางคนอ่านแค่ทวีตเดียวแล้วตีความไปอย่างที่ตัวเองอยากจะให้เป็น มันก็เลยเกิดดราม่าขึ้นมาเพราะไม่เข้าใจกันว่าจริงๆ แล้วจะสื่อสารอะไร
ปัญหาเกิดมาจาก 2 ส่วน อย่างแรกคือคนส่งสารเอง ทำให้ข้อความกระชับ แต่มันดันไม่ทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันได้ ถ้าเราคิดว่า เฮ้ย มีสิ่งยาวๆ มากๆ ที่อยากจะส่งสาร เราก็ไปใช้วิธีอื่นไหม ที่ไม่ใช่ทวิตเตอร์ ทางผู้รับสารเองก็มีปัญหาเหมือนกัน ก็คือคิดตีความไปอย่างที่คิด บางคนตีตราประทับไปที่คนทวีตแล้วว่าถ้าเป็นคนนี้ทวีต มันจะต้องเป็นใจความแบบนี้ มีทัศนคติขวางโลกแบบนี้แน่ๆ โดยที่ไม่ได้คิดถึงบริบทอื่นๆ ว่าเพราะเหตุใดเขาถึงทวีตข้อความนี้ออกมา นั่นแปลว่าการใช้ภาษาต้องดูบริบท คิดวิเคราะห์ให้รอบคอบก่อนวิพากษ์วิจารณ์ครับ
The MATTER : ในยุคของประเทศไทย 4.0 พื้นฐานภาษาไทยจำเป็นยังไงและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมประเทศไทย 4.0 ยังไง
ครูทอม : ถ้าเจาะมาที่ภาษาไทย โดยส่วนตัวคิดว่าแค่เราทุกคนใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ได้หมายความว่าเพียงแค่สะกดคำถูกต้อง อ่านถูกต้อง เรียบเรียงประโยคถูกต้องเท่านั้นนะครับ แต่ต้องให้ถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะด้วย คือต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรใช้ภาษาแบบไหน กับใคร ถ้าทุกคนเข้าใจตรงนี้ สามารถเลือกใช้คำ เลือกใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว การสื่อสารของเราก็จะมีประสิทธิภาพ
เราใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ถ้าเราอยากจะให้การสื่อสารของเรานั้นสัมฤทธิ์ผล ตรงตามสิ่งที่เราอยากจะสื่อ เราก็ต้องใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมตามกาละและเทศะนั่นเองครับ