ความรู้สึกในการไปโรงเรียนของแต่ละคน เป็นอย่างไร? ตื่นเต้นที่จะได้เข้าเรียน หรือเบื่อหน่ายกับการท่องตำรา
ประสบการณ์ของแต่ละคน ทำให้นิยามของคำว่า ‘โรงเรียน’ แตกต่างกันออกไป แต่ผลลัพธ์ที่หลายคนคาดหวังจากโรงเรียน คือการเป็นสถานที่ที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขอย่างเต็มเปี่ยม
ขณะเดียวกัน ในช่วงหลังมานี้ ชื่อของ ‘โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์’ เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งเรื่องของหลักสูตร วิธีการสอน และพื้นที่เปิดให้นักเรียนได้เรียนรู้ความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย
The MATTER จึงไปพูดคุยกับ อ.อนุชาติ พวงสำลี ประธานโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่า ที่ผ่านมาโรงเรียนไทยพลาดเรื่องอะไรไปบ้าง และโรงเรียนควรเป็นพื้นที่แบบไหนกัน
คำว่าโรงเรียน สำหรับอาจารย์คืออะไร
โรงเรียนเป็นมากกว่าเรื่องการเรียนการสอนของนักเรียนเท่านั้น โรงเรียนคือสถานที่อาจจะมีทั้งในเชิงกายภาพ สิ่งแวดล้อม ห้องเรียนใดๆ แต่ว่าเวลาพูดถึงการทำโรงเรียน เราคิดว่าเราต้องมองเรื่องการพัฒนาคนอย่างเป็นระบบ นั่นคือสิ่งที่เราใช้คำว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ เวลาเราออกแบบโรงเรียนหนึ่งโรงเรียน เราจำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกันเข้ามาเป็นระบบนิเวศ
คำว่าระบบนิเวศในที่นี้ก็คือ ระบบของความสัมพันธ์ตั้งแต่ตัวผู้เรียน คุณครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ถ้ามองในสังคมองค์ใหญ่ไปอีกก็อาจจะเป็นตัวชุมชน สังคม ระบบวิธีคิดภายนอกที่เกี่ยวข้อง หรือในส่วนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนเองก็เป็นเรื่องสภาพแวดล้อม บรรยากาศ วิธีคิด วัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกัน เรียกว่าจะทุกมิติที่จำลองสภาพสังคมที่เป็นจริง ที่เราจะต้องเอามาพิจารณาเป็นองค์ประกอบว่าเราจะสร้างโรงเรียนขึ้นมาแบบไหน อย่างไร
แปลว่า การจะเป็นโรงเรียนขึ้นมาได้ ต้องอาศัยหลายมิติ หลายองค์ประกอบมารวมกัน
ใช่ มันถึงจะเป็นพื้นที่ที่มีความหมายกับการสร้างคนจริงๆ เพราะว่าโรงเรียนไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม แต่ว่าเป็นพื้นที่ที่จะบ่มเพาะคนให้มีการเติบโต ทีนี้เราอยากจะเห็นคนเติบโตอย่างไร เราก็ต้องสร้างสถานที่ที่เอื้อให้เขาเติบโตไปในทิศทางนั้นให้ได้ อันนี้ก็คือโจทย์
แต่อาจารย์ก็ไม่ถึงกับมีคำตอบว่าพื้นที่แบบนี้ควรจะเป็นยังไง หน้าตาจะออกมาเป็นยังไง เพราะว่ามันคงจะมีความแตกต่างหลากหลายกันในแต่ละบริบท ในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกันหรอก ขึ้นอยู่กับทรัพยากร ปัจจัย เงื่อนไขของแต่ละที่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายกันยังไง
แล้วพลเมืองที่โรงเรียนจะสร้างออกมานั้นจะเป็นอย่างไร
ขึ้นอยู่กับว่า เราจะตีโจทย์ว่าแต่ละโรงเรียนต้องการจะสร้างอัตลักษณ์ สร้างเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีหน้าตาเป็นอย่างไร นี่คือโจทย์ที่สำคัญว่าแต่ละที่ก็ต้องมีหลักคิดของตัวเอง ซึ่งแน่นอนถ้ามองเป็นวงๆ ก็จะต้องมีหลักคิดสากลแหละ แล้วก็ต้องมีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเราเอง
พอมองในวงหลักสากล ก็ต้องมาถามว่าชุดความรู้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ที่เราพอจะมองเห็นได้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาคนเพื่อจะไปเป็นกำลังสำคัญในอนาคตควรจะมีรูปร่าง หน้าตา มีลักษณะเป็นอย่างไร นี่เป็นโจทย์หนึ่ง แล้วโรงเรียนจะปั้นความเฉพาะด้านของตัวเองอะไรขึ้นมาอีก อันนี้ก็เป็นสองมิติที่เรากำลังคลี่ออกมาดู
จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา 5-6 ปี เราคิดว่า ในโจทย์ของการพัฒนาคนในอนาคต เราจะต้องสร้างพลเมืองที่มีความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกให้ได้ คนรุ่นใหม่จะต้องไปอยู่ในสังคมโลกให้ได้ ก็ต้องแปลว่า เราต้องเข้าใจว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว ถูก disrupt ถูกขยับด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เราจำเป็นที่จะต้องสร้างคนที่จะเท่าทัน และอยู่กับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วให้ได้ โลกในอนาคตจะไม่ใช่เป็นโลกที่นิ่งๆ แบนๆ อย่างที่ผ่านมาในอดีต อันนี้คือโจทย์ที่หนึ่ง
โจทย์ที่สองที่เราพบว่าเป็นสิ่งสำคัญ ก็คือ คนรุ่นใหม่จะมีการเติบโตของเขาขึ้นมาที่แตกต่างกับคนรุ่นก่อนๆ เราอาจจะเรียกว่าคนรุ่นใหม่เป็น gen z หรือ gen alpha แต่ว่าคนเหล่านี้ก็จะมีรูปแบบ วิธีการพัฒนาการของการเติบโต การถูกบ่มเพาะขึ้นมาในสังคม ในครอบครัวที่แตกต่างกันออกไปจากคนรุ่นเดิม ซึ่งจะพบว่า เขามีวิธีการการเรียนรู้ (learning style) เปลี่ยนไปแล้ว คำว่าเปลี่ยนไป มันก็เป็นโจทย์กับเราว่า แล้วเราจะสอนหนังสือเขาอย่างไรล่ะ เราจะอยู่กับเขายังไง เราจะพาเขาไปได้ยังไง จะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร ก็ต้องทำความเข้าใจว่าวิธีการเรียนรู้ วิธีการมองโลก ความใฝ่ฝันในอนาคต เป้าหมายในชีวิตของเขาจะเปลี่ยนไปหมด การที่เขาเติบโตมากับเทคโนโลยี เติบโตมากับโลกมือถือ โลกที่ข่าวสารทะลักทลายเข้าประชิดตัวเขา แปลว่าแบบแผนชีวิต ความใฝ่ฝัน passion ของเขามันจะเปลี่ยนไปหมด
ฉะนั้น ระบบการศึกษาก็ต้องตอบโจทย์ประมาณนี้ให้ได้ อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่สำคัญมากๆ ในฐานะคนที่จะสร้างการศึกษา หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เพราะว่าถ้าเราจัดระบบการศึกษาที่มันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาอยากจะได้ หรือความใฝ่ฝันของเขา มันก็จะเป็นพื้นที่ที่ขัดแย้งกันเอง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์คิดว่ามันเป็นโจทย์ที่สำคัญมากๆ
ทีนี้ในความเฉพาะด้านมีอะไรอีก ถ้าถอยมาที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราก็คิดว่าสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากๆ คือว่าการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลายหลายของผู้คนให้ได้ เราคิดว่าอันนี้คือ key message ที่สำคัญเลย ที่เราคิดว่าเขาปรับตัวกับโลกได้ ตอบโจทย์ตัวเองได้ แต่ถ้าอยู่ร่วมกันในสังคมที่หลากหลายไม่ได้ มันจะลำบากมาก ไม่ใช่ว่าเก่ง ดี แต่ไม่ใยดีกับสังคม หรือทำงานร่วมกับคนที่แตกต่างหลากหลายไม่ได้ ยิ่งมาจำลองภาพของสังคมไทยเรา เป็นสังคมที่ตอนนี้มันค่อนข้างมีความแตกแยกกันทางความคิดสูงมาก ทำอย่างไรถึงจะสร้างโจทย์หรือพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาแล้วอยู่กับความแตกต่างหลากหลายนี้ให้ได้ แล้วก็อยู่ร่วมกันโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาเห็นเหมือนกันนะ แต่ว่าให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เปิดใจ ทำงานไปด้วยกันได้
แล้วจะออกแบบโรงเรียนยังไงให้ได้ตามที่เล่ามา
ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนสาธิตฯ เป็นอะไรที่ถูกต้องที่สุด หรือเราประสบความสำเร็จ แต่ว่าเป็นความพยายาม ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของเราที่อยากจะทำ เรียกว่าปั้นโมเดลนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับระบบการศึกษาของประเทศ เพราะว่าแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค แต่ละจังหวัด อาจจะต้องมีการสร้างพื้นที่ตรงนี้ที่มีความแตกต่างกันออกไป อันนี้ก็ต้องพูดออกตัวไว้ก่อนว่าเราไม่ได้เคลมว่าเราถูกต้องที่สุด เราเป็นวิธีการเดียวที่จะตอบโจทย์ข้างหน้าได้ แต่ว่าด้วยสองวงที่เล่าไป แล้วเราตั้งใจทำงาน เราก็คิดว่าเราจะทำสิ่งนี้บนความตระหนักเรื่องนี้
เนื่องจากว่าเราเป็นโรงเรียนสาธิต ก็คล้ายๆ เป็น sand box เล็กๆ ของระบบการศึกษาที่เราอยากจะค้นคว้า ทดลองทำเพื่อจะเอาไปขยายผล เราไม่ได้ต้องการทำเพื่อจะโชว์ความเป็นเลิศหนึ่งเดียวในโลก แต่ว่าความหมายและคุณค่าของมันน่าจะถูกนำไปใช้ ถูกนำไปประยุกต์ให้กับที่อื่นๆ ได้ เพราะว่าเราตระหนักดีว่า โรงเรียนสาธิตก็ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายแบบหนึ่ง แต่ว่ายังมีเด็กด้อยโอกาส เด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่มีโอกาสเท่ากับเด็กสาธิตอีกเยอะแยะมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่เหล่านั้น โรงเรียนเหล่านั้นจะทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่ว่าวิธีคิดมันต้องปรับ ต้องเปลี่ยน อันนี้เป็นประเด็นที่เป็นแก่นๆ ของเรื่อง
วิธีในการออกแบบของเรา ต้องย้อนกลับไปสู่คำว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ เราก็พยายามจะชูสองเรื่องใหญ่ๆ อันที่หนึ่งในการทำโรงเรียนเรา เราพบว่า pain point ของระบบการศึกษาที่ผ่านมาด้วยเหตุปัจจัย ทั้งผู้เรียน ครู ผู้บริหาร ผอ.โรงเรียน ศึกษาธิการ ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการเขต รัฐมนตรี รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการ ล้วนแล้วแต่มีความทุกข์กับระบบการศึกษาทั้งสิ้น เพราะว่ามันไม่ได้ดั่งใจ เห็นได้จาก สถิติข้อมูลต่างๆ แล้วก็สิ่งที่มันเป็นผลผลิตออกมาในปัจจุบัน มันก็เป็นประจักษ์พยานให้เราเห็นว่า ยังมีปัญหาอยู่เยอะ ซึ่งทั้งหมดที่อาจารย์ตีความว่าระบบเหล่านี้มันพลัดพรากออกจากกันหมด
การพลัดพรากอธิบายได้อย่างไร ก็คือ ถ้าเราไปดูโรงเรียนต่างๆ จำนวนไม่น้อย เราจะได้เห็นข่าวคราวของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน การที่เด็กมีพัฒนาการที่ไม่ครบถ้วน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือความสัมพันธ์ของครูกับลูกศิษย์ก็ไม่ดี ครูก็ไม่รักเด็ก เด็กก็ไม่รักครู ครูก็ไม่ชอบกับผู้บริหาร ผู้บริหารหรือครู โรงเรียนก็ไม่ชอบผู้ปกครอง ต่างคนต่างเป็นศัตรูกันหมด ฝั่งรัฐบาล ฝั่งนโยบาย กับฝั่งที่รับปฏิบัติ โรงเรียน ก็ไม่ชอบซึ่งกันและกัน เหมือนเครื่องยนต์พลัดพรากออกจากกัน ไม่เป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลหรือไว้ใจกันและกัน
ฉะนั้น หลักคิดในการออกแบบของเราในการทำโรงเรียนที่เรานั่งคุยกัน ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์คนเดียว หลายๆ คนที่ช่วยกันวางรากฐานตั้งแต่ต้น เราจึงคิดถึงเรื่องของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ขององคาพยพต่างๆ กลับมาให้ได้ เป็นพื้นฐานที่จะคุณจะเขียนอะไรยังไงก็ได้ แต่ว่าคุณต้องทำงานเรื่องนี้นะ ถึงที่สุดเด็กมาโรงเรียนต้องมีความสุข แปลว่าครูกับนักเรียน พลังงานในห้องเรียนต้องดี ต้องชวนให้เด็กตื่นเต้นกับการได้เรียนรู้ตลอดเวลา ครูก็สอนอย่างมีความสุข เด็กก็เรียนอย่างมีความสุข พ่อแม่ ผู้ปกครองก็เห็นลูก มีความสัมพันธ์กับลูกอย่างมีความสุข ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนี้คือการต้องทำงานกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบและวิธีการต่างๆ นานากัน
ยกตัวอย่างความขัดแย้งกันในความสัมพันธ์นี้อีกหน่อยได้ไหม ว่ามันจะส่งผลอย่างไร
ถ้าพูดจะยืดยาวเลย เช่น พ่อแม่มีความทุกข์ มีความคาดหวังกับลูก อาจจะกดดันลูก เพราะอยากเห็นความสำเร็จของลูก อยากเห็นลูกเป็นคนดี แต่พ่อแม่เองก็มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ เรื่องการทำมาหากิน ไม่มีเวลาทำมาหากิน แล้วก็มีข้อจำกัดเรื่องการทำความเข้าใจพัฒนาการของเด็ก การสื่อสารกับลูก แถมด้วยข้อจำกัดว่าลูกถึงวัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้แล้วจะพูดกับลูกอย่างไร
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ถึงที่สุดเราก็อยากทำงานกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเรื่องนี้คลี่คลายได้ก็จะช่วยทำให้ระบบความสัมพันธ์มันดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการสื่อสารระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองว่าเราจะไปในทิศทางไหน อยากจะเห็นปรัชญาไปยังไง เราจะร่วมมือกันยังไง การร่วมจับมือกันไปมันจึงมีความสำคัญ อันนี้เห็นไหมว่าไม่ต้องพูดเรื่องหลักสูตร เรื่องการสอนใดๆ ในมุมนี้เลย แต่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังต้องออกแบบโรงเรียนอย่างไรอีก เพื่อให้เด็กเติบโตได้อย่างมีศักยภาพจริงๆ
อีกเรื่องที่เราอยากเน้นย้ำ จากที่ประเมินสถานการณ์ในบ้านเรา เราเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายหลายอย่าง เราอยากจะทำโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก คำว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยก็คือเป็น safe zone ในความหมายที่ว่า ปลอดภัยทั้งในเชิงกายภาพ ในเชิงสภาพแวดล้อม ในเชิงระบบความสัมพันธ์
หมายความว่าเด็กจะรู้สึกว่าครูเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขาได้ นั่นคือ ยามที่เขามีปัญหา ยามที่เขามีข้อจำกัด มีคำถาม มีสิ่งที่เขาอยากจะพัฒนาต่อ คุณครูก็อาจจะต้องเป็นพื้นที่ให้กับเขาได้ เขากล้าที่จะเดินมาหาคุณครูได้ กล้าที่จะคุยกับคนที่เกี่ยวข้องได้ เพราะเขารู้สึกว่าปลอดภัยพอ เขาไม่ถูกตัดสิน เขาไม่ถูกตีตรา เราก็ใช้เรื่องนี้เป็นแก่นแกนในตัวที่สอง
ทั้งสองเรื่องก็จะนำไปสู่กระบวนการออกแบบการเรียนการสอนที่จะตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ที่เราจะสร้างพลเมืองไทย พลเมืองโลกที่เข้มแข็ง เราจะออกแบบยังไง เพราะว่าดูจากหลักสูตรเนื้อหา ตัวเนื้อหาของหลักสูตรเนี่ยมันไม่ได้มีประเด็นสักเท่าไหร่ แต่ว่าวิธีการจัดการเรียนรู้นี่สำคัญ จึงเป็นที่มาที่เราพยายามปรับปรุงรายวิชาใหม่ ปรับปรุงวิธีการสอนใหม่ ทำยังไงถึงให้การเรียนมีชีวิตชีวาขึ้น เรียนแล้วเอาไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เรียนแล้ว ท่องไปอีกหนึ่งปีก็ลืม แต่ว่ามันไม่ทำให้เขาเอาไปทำได้จริง จึงเป็นที่มาของการออกแบบรายวิชาใหม่ ออกแบบวิธีการเรียนการสอนใหม่
อย่างตัวอย่างที่ The MATTER ลงเรื่อง 7-8 วิชาในโรงเรียนเรา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราพยายาม แต่ว่ามันก็จะมีอีกเยอะแยะมากมายเลย ทั้งหมดทั้งปวงในภาษาของนักการศึกษาเรียกว่า pedagogy คือเรื่องของศาสตร์การสอน ซึ่งอันนี้มันก็เป็นองค์ความรู้ที่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาขึ้นมาอีกเยอะแยะมากมายว่าเราจะมีศิลปะในการสื่อสารกับเด็กยังไง สอนยังไงให้เด็กไม่เบื่อ ใช้สื่อการสอนแบบไหน เพราะฉะนั้นมันก็จะมีองค์ความรู้พวกนี้มากมาย
ตอนนี้คิดว่าเราห่างจากความเป็นพลเมืองโลกขนาดไหน แล้วการศึกษาไทยติดปัญหาตรงไหนบ้าง
เรื่องห่างไกลขนาดไหนนี่ตอบไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเป็นมาตรวัด แต่เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาก็จะมีสำนักที่เป็นตัวดัชนีชี้วัดที่เขาทำกันทั่วโลก เรื่องศักยภาพในการแข่งขันของประเทศทางด้านการศึกษา ประเทศไทยตกไปอยู่อันดับที่ 53 จาก 64 ประเทศ ก็อาจสะท้อนได้หรือเปล่าว่าเราห่างไกลอันดับโลกอยู่อีกเยอะมาก นี่พูดถึงสำนักที่เขาเชื่อเรื่องตัวชี้วัดนะ
ในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจจะพูดได้ว่า เราต้องมาดูกันว่าอะไรที่เป็นสมรรถนะของพลเมืองโลกในอนาคต เช่น หลายคนอาจจะบอกว่า เด็กต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มองอย่างเป็นระบบ คิดอย่างเป็นระบบ มีความคิดริเริ่มสร้างวรรค์ มีภาวะผู้นำ มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม ในการกำกับตัวเองได้ อันนี้ก็อาจจะเป็นนิยามที่สังคมจะต้องมาตกลงกัน หรือในแต่ละโรงเรียนจะต้องมานั่งคิดว่า เราอยากจะปั้นเด็กให้มีคุณลักษณะเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
แต่เรารู้ว่าวิธีการเรียนแบบเก่าอาจจะมีข้อจำกัด มันอาจจะถูกต้องกับยุคสมัยในอดีต แต่ในโลกอนาคต ผู้ประกอบการ บริษัท หรือหน่วยงานที่จะรับเด็กเราเข้าไปทำงาน เขาไม่ได้สนใจว่าเด็กเราเรียนเก่ง คะแนนเกรดดีแล้ว เขาต้องการเห็นเด็กเรามีทัศนะที่ดี ทำงานกับคนอื่นเป็น มีคุณลักษณะแบบนี้มากกว่า แปลว่า เราต้องตอบโจทย์เหล่านี้
คำถามก็คือว่า เราก็ต้องเปลี่ยนระบบวิธีการสร้างพื้นที่แบบใหม่ให้เขาเติบโตมาในแบบที่โลกต้องการใช่หรือไม่ อันนี้คือมุมของการวิ่งเข้าสู่ลู่ของการทำงาน แต่เราก็พบไปอีกว่า ความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่อาจจะไม่อยากวิ่งเข้าสู่ระบบตลาดแรงงานแบบบริษัท ห้าง ร้าน ระบบแบบนี้เสียทีเดียว เขาอยากจะเป็นนายตัวเอง เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นเจ้าของสถานประกอบการของเขาเอง เราก็ต้องมาตอบโจทย์อีกว่าแล้ว ถ้าความใฝ่ฝันเขาเป็นแบบนี้ ซึ่งก็อาจจะถูกด้วย อาจจะดีด้วย เราจะสร้างคุณลักษณะเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ให้เขาไปทำแบบนั้นได้อย่างไร สมรรถนะ หรือความสามารถ ทักษะที่พึงจะต้องมี ที่จะออกไปเป็นผู้ประกอบการมันคืออะไร แปลว่าวิชาต่างๆ มันต้องถูกปรับเปลี่ยนใช่หรือไม่ อันนี้ก็คือโจทย์ที่เราจะต้องมาคิดกันหมดเลย
ภาพรวมของโรงเรียนในประเทศ เขาตั้งเป้าหมายของการศึกษาไว้แบบไหน
ผมเชื่อว่า แต่ละโรงเรียนมีความพยายามในการปรับตัว มีความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง ครูทุกคนมีความตั้งใจอยากจะเป็นครูที่ดี โรงเรียนก็อยากจะเป็นโรงเรียนที่ดี อยากเห็นความสำเร็จของลูกศิษย์
แต่คำถามคือ แล้วทำไมเขาไปไม่ได้ ในตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ทำไมถึงขยับอะไรได้น้อย หรือมีข้อจำกัดมาก อันนี้เราก็ต้องมาตั้งคำถามใหญ่ต่อว่า อะไรคือข้อจำกัด การรวมศูนย์ การบริหารจัดการ การกระจายอำนาจที่ไม่เกิดขึ้นจริง ปัญหาการศึกษาที่ซ้ำซ้อนกับเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่แก้ได้ไม่ตกสักทีหนึ่ง คุณภาพของครูที่ผลิตออกมาเป็นยังไง ระบบราชการที่ใช้วิธีคิด มันไปตั้งแต่เรื่องกฎกติกาไปจนกระทั่งวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง ว่าเราจะใช้วิธีคิดยังไงในการออกแบบการศึกษา
เราเชื่อมั่นในเรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กไหม หรือเชื่อในเรื่องของการควบคุม ต้องผลิตออกมาให้เป็นตามแท่นพิมพ์แบบของเรา เด็กในอนาคตต้องมีหน้าตาเหมือนที่เราคาดหวัง แบบนี้ก็จะได้ผลผลิตอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราเปิดวิธีการอื่นๆ ออกมาก็จะได้หลายโมเดล คำถามก็คือ ทำไมมันไปไม่ได้
แปลว่า มันติดปัญหาหลายอย่างที่ทำให้หลายโรงเรียนยังไม่สามารถเป็นพื้นที่เพื่อเด็กได้จริงๆ
ใช่ ติดกันหลายบั๊กมากๆ และก็เป็นปัญหาลึกมาก แปลว่า มันต้องอาศัยกำลังของสังคมมาช่วยกันอย่างยิ่ง แล้วเราไม่อาจอาศัยแค่เจตนาดีได้ เราต้องใช้ศาสตร์ ใช้ความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ต่อเนื่อง เพราะมันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในเวลาชั่วข้ามคืนหรอก
ถ้าสมมติโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ปล่อยให้มีความคิดที่หลากหลาย จะเกิดอะไรขึ้น
ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้นของสังคม เพราะว่ามันก็จะปั้นคนที่คิดว่า ใครที่คิดต่างถือว่าผิด ในโลกแห่งความเป็นจริง
ผู้คนมีความแตกต่างหลากหลายกันในทุกมิติเลย ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม กายภาพของมนุษย์ แล้วไปถึงวิธีคิด มันไม่มีวันที่จะทำให้ทุกคนเป็นแท่นพิมพ์เดียวกันได้ ไม่ใช่ตุ๊กตาล้มลุกที่เหมือนกันหมด
อันนี้เป็นหลักคิด และเป็นโจทย์ที่ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจโรงเรียนเรา เราอยากจะปั้นพื้นที่ที่รองรับความแตกต่างหลากหลาย เราไม่ได้เอาอุดมการณ์ทางการเมืองของใครมาเป็นตัวตัดสิน แต่ว่าเราอยากจะให้พื้นที่นี้ให้เด็กได้เรียนรู้ในความแตกต่างหลากหลาย การปิดกั้นไม่ได้แปลว่าเขาจะจบลงแค่นั้น มันปิดไม่ได้ เขาก็ต้องดิ้นรนขวนขวายถ้าเขาอยากจะรู้ เขาก็แสวงหาความรู้ของเขาได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะต้องเอาขึ้นมาวางบนโต๊ะ แล้วทำให้เกิดการเรียนรู้กันไป
พูดถึงกระแสไม่พอใจที่เกิดขึ้น ตัวโรงเรียนโดนวิจารณ์ด้วยคำว่า ล้างสมอง ค่อนข้างเยอะ อยากพูดอะไรถึงเรื่องนี้ไหม
ต้องบอกเลยว่า ในฐานะคนที่ทำเรื่องการศึกษา คำนี้ไม่ได้อยู่ในสมองเราเลย เราไม่คิดว่า มีเด็กคนไหนถูกล้างสมองได้ เด็กเขาไม่ใช่ผ้าขาว นิยามอันนี้เป็นมายาคติ เด็กเขาไม่ได้เป็นผ้าขาว แต่เขาเติบโตมากับข้อมูลข่าวสารมากมาย มีความเป็นตัวของเขาเองมาก และเขาก็แสวงหาความรู้ต่างๆ มากพอสมควรแล้ว
อีกเรื่องคือ การที่จะล้างสมอง เหมือนกับว่าเรามีอุดมคติอันหนึ่งแล้วนำไปถ่ายทอดให้อีกคนหนึ่ง แล้วให้เชื่อเหมือนเรา อันนี้ก็ผิดหลักการในการจัดการศึกษาของเราอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าปรัชญาหลักของโรงเรียนเราคือ เคารพและเรียนรู้ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย เราทำเรื่องนี้มาเป็นปกติ เพราะฉะนั้นการเรียนประวัติศาสตร์ การเรียนศาสนาใดๆ ของเรา เราโอบอุ้มแล้วเรียนรู้กับทุกสำนัก ทุกวิธีคิดอยู่แล้ว เราไม่มีปฏิเสธ ที่โรงเรียนก็เรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องใดๆ ที่ตำราสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีไว้อยู่แล้ว ทุกคนเรียนหมด แต่เราไม่ปิดกั้นความเชื่ออื่น
ปัญหามันอยู่ที่ แนวคิดในการจัดการศึกษาบ้านเราเป็นแบบสารัตถนิยม (เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งตายตัว) หรือเปล่า
คิดว่าที่ผ่านมาเราเน้นแบบนั้นเยอะ ถ้าดูจากหลักสูตรแกนกลางของเราก็ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ผ่านมากี่ปีแล้ว มันควรต้องเปลี่ยนตามยุคสมัยไหม ไม่งั้นเราก็จะสอนคนด้วยความคิดของชุดเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่โลกมันเปลี่ยนทุกวัน
นี่คือโจทย์ที่สังคมจะต้องหาคำตอบ สังคมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า อยากจะผลิตคนเพื่อจะเอามาทำงานสำหรับ 20 ปีที่แล้ว หรือจะไปทำงานในอนาคต เราพูดถึงแม้กระทั่งชุดที่จะเอามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนจะเป็นยังไง แต่ว่าหลักสูตรก็คือหลักสูตร มันก็จะเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพ ซึ่งเราต้องทำงานกับเรื่องอื่นๆ ด้วยอีกเยอะมาก
ทำไมการที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ถึงเกิดขึ้นได้ยากในโรงเรียนไทยส่วนใหญ่ เกี่ยวกับสภาพการเมืองด้วยรึเปล่า
อันนี้ก็ตอบยาก แต่มันก็ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว เหมือนกับว่าเราติดหล่มอะไรบางอย่างอยู่ ขนาดเรารู้สึกว่าเราพยายามจะทำเพื่อตอบโจทย์ให้กับประเทศมากๆ แต่เรายังโดนแรงเสียดทานเยอะขนาดนี้ ก็น่าสะท้อนใจเหมือนกันว่าแล้วจะยังไง ก็ต้องตั้งคำถามกับสังคมว่าจะช่วยกันหลุดออกจากหล่มนี้ได้ไหม
ตัววิธีคิดของสังคมเราเอง ก็เป็นผลจากการจำกัดกรอบของระบบการศึกษาด้วยหรือเปล่า
มันซึ่งกันและกันเลยแหละ การศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาของประเทศ ที่ผ่านมาการศึกษาก็ได้งบประมาณเยอะที่สุด แต่ทำไมถึงแก้ไม่ได้ ต้องมาตั้งคำถามกันจริงๆ จังๆ แต่เรารู้สึกว่า ไม่อยากจะเอาเรื่องการศึกษาไปผูกกับการเมืองสักเท่าไหร่ เพราะมันจะทำให้หลักการบิดเบี้ยว
ฉะนั้นการที่เราจะต้องตั้งมั่นว่าเราจะสร้างพลเมืองแห่งอนาคตอย่างไร จึงสำคัญมาก ทีนี้มันไม่ได้แปลว่าใครจะมาล้างสมองใครได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปจำกัดให้คนคิดแบบนั้นแบบนี้ได้ ทุกคนก็ต้องเติบโตมาในวิถีที่เขาเป็น วิถีที่เขาเชื่อ ซึ่งโจทย์ก็คือ แล้วเราจะทำยังไงให้ความแตกต่างเหล่านี้มันอยู่ร่วมกันได้ อันนี้ต่างหากที่เป็นคุณภาพของสังคมเรา แต่ตอนนี้เราไม่ได้ไปถึงตรงนั้น
เห็นอาจารย์เคยบอกว่า “การศึกษาคือความทุกข์ของแผ่นดิน” อยากให้อาจารย์ขยายเรื่องนี้อีกหน่อย
คือทุกคนเป็นทุกข์หมด นักเรียนก็เป็นทุกข์ ครูก็เป็นทุกข์ พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ ผู้ประกอบการก็เป็นทุกข์ ผู้กำหนดนโยบายก็เป็นทุกข์ เราต่างเป็นทุกข์เพราะว่าความคาดหวังมันไม่สมปรารถนาซึ่งกันและกันเลย นักเรียนเป็นทุกข์เพราะมาโรงเรียนแล้วรู้สึกหดหู่ ไม่อยากเรียนหนังสือ ต้องท่อง วิธีการเรียนก็ไม่สนุก คุณครูก็เป็นทุกข์ เพราะแก้โจทย์เด็กไม่ได้ ไม่เข้าใจเด็ก พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ว่าลูกไปโรงเรียนแล้วจะมีอนาคตไหม เป็นชุดของความคาดหวังที่ไม่ตรงกันเลย ผู้ประกอบการก็เป็นทุกข์ ว่าได้คนมาไม่เป็นไปอย่างที่พึงได้
นั่นแปลว่า ถ้าทุกคนอยากจะลดความทุกข์ตัวเองก็ต้องจับมือกันช่วยเหลือกันทั้งหมด ต้องลงทุน ต้องช่วยกัน แล้วก็ปั้นขึ้นมาหลายๆ โมเดล ไม่จำเป็นต้องทำให้เหมือนกัน แต่ควรทำให้หลากหลาย
แต่ว่าต้องอนุญาตให้ทุกคนมีความแตกต่าง อนุญาตให้ทุกคนได้มีพื้นที่ที่จะปั้นโมเดล สร้างสรรค์ขึ้นมา ไม่งั้นเราก็จะเหลือแต่วิธีแบบเดียว
แต่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ที่ออกแบบการศึกษาเพื่อให้เป็นพื้นที่หลากหลายความคิด ก็มีค่าใช้จ่ายสูงเหมือนกัน
ถูกต้อง เพราะว่าเราต้องเลี้ยงตัวเอง ต้องลงทุนสูง ไม่ได้แปลว่า เราไม่คำนึงถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น แต่เราอยากจะสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ของคน เหมือนกับเราเป็นโรงงาน เป็นห้องแลปในการทดลองผลิตยาเพื่อมารักษาโรค ฉะนั้น การลงทุนทำห้องแลป การทำความรู้ให้เกิดขึ้นมันจึงต้องลงทุน
เราก็หวังว่า ระหว่างที่เราทำอยู่มันก็จะมีชุดนวัตกรรม ชุดความรู้ ชุดความเข้าใจ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอันนี้แปลว่าเราก็อยากจะนำสิ่งเหล่านี้ไปเผนแพร่ ไปประยุกต์ใช้กับโรงเรียนในบริบทอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีมาก มีน้อย แตกต่างกันออกไป แต่ละที่มันย่อมไม่เหมือนกัน
แต่ว่าการได้ความรู้ซึ่งเป็นหลักคิดที่สำคัญ หลักการทำงานที่สำคัญ วิธีการออกแบบการเรียนรู้ที่ดี มันเป็นอย่างไร แล้วก็อาจารย์เชื่อว่า หลายเรื่องเท่าที่เราสังเกตการณ์ดูก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องว่ามีเงินหรือไม่มีเงิน มันก็ทำได้ เช่น เราจะต้องสร้างโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก มันแทบจะไม่ต้องใช้งบประมาณเลย แต่ว่าหลักคิดมันต้องได้ ต้องทำความเข้าใจ อันนี้ก็พูดเวอร์ๆ ไว้ก่อนนะว่าไม่ต้องใช้เงิน แต่ก็ต้องใช้แหละ เพราะทุกอย่างมันมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
แต่ที่ผ่านมา ก็ต้องมาตั้งคำถามต่อว่า แล้วระบบงบประมาณมหาศาลของเราเรื่องการศึกษาทำไมถึงไม่ไปตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้ ในขณะที่โรงเรียนสาธิตฯ เองต้องพึ่งอยู่กับค่าเทอมของผู้ปกครอง แต่เราก็ยืนยันในแง่ว่าโรงเรียนเราไม่มีระบบเก็บแป๊ะเจี๊ยะ ไม่มีค่าแรกเข้า ไม่มีอะไรอย่างนี้ คือเราก็พยายามใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่ว่าทั้งหมดทั้งปวงมันก็เป็นงบประมาณที่เราต้องเอามาบริหารเพื่อจะทำภารกิจให้รอบด้านด้วย
เป็นไปได้ไหมที่เราจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่าย
เอาจริงๆ ตึกอาคารเรียนตอนนี้เราก็ได้งบประมาณจากรัฐบาล ถึงแม้ว่าจะยังไม่เพียงพอ หรือบุคลากรของเราส่วนหนึ่งก็ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลอยู่ เพราะมันผ่านมาทางมหาลัย แต่บุคลากรอีกส่วนหนึ่ง อีกเยอะเลยกว่า 60% ก็ต้องมาจากค่าเทอม เงินเดือนครูก็ต้องมาจากค่าเทอมเหล่านี้ หรือการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด วิธีการใดๆ ก็ต้องมาจากค่าเทอมทั้งหมด มันล้วนแล้วแต่มีต้นทุน ค่าใช้จ่าย กรณีของโรงเรียนในต่างจังหวัดจำนวนมากเขาก็ขาดแคลนทรัพยากรในมุมนี้แหละ งบประมาณที่เขาได้รับการจัดสรรมันก็ไม่เพียงพอ แต่ว่าค่าเทอมเขาก็ขยับไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ด้วย