ทุกอย่างเกี่ยวกับการเมือง รวมไปถึงสื่อบันเทิง
ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาการพูดถึงการเมืองเป็นเรื่องปกติสำหรับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะคุยกับเพื่อน กับครอบครัว หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้าบนโซเชียลมีเดีย หากสังเกตจากแบบสำรวจโดย Digital Research Lab เกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยในค.ศ. 2021 พบว่าฐานผู้ใช้คนรุ่นใหม่บนทวิตเตอร์นั้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเรื่องที่พวกเขาพูดถึงเยอะที่สุดหนึ่งเรื่องคือการเมือง
ฉะนั้นหากจะทำซีรีส์ที่เล็งไปหาคนรุ่นใหม่การพูดเรื่องการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องที่ขายไม่ออกอีกต่อไป ในทางกลับกันหลายๆ ครั้งการพูดถึงการเมือง โดยเฉพาะในมุมที่เชื่อมโยงกับความจริงที่สุดนั้นเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องผ่านเผยแพร่มันอย่างล้นหลามเมื่อมีใครสักคนพูด ว่าแต่สื่อพูดเรื่องเหล่านี้ได้ขนาดไหน? เราชวนมาดูสามเรื่องที่พูดเกี่ยวกับการเมืองแบบจังๆ กันดีกว่าว่าเขาพูดกันว่าอะไรบ้าง
หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์ : หันไปนอกกรุงเทพฯ ปัญหาเชิงระบบและการเมืองส่งผลยังไงกับคนต่างจังหวัด
ซีรีส์น้อยเรื่องนักที่จะเล่าเรื่องนอกไปจากชีวิตชนชั้นกลางกรุงเทพฯ แต่ใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เล่าวิถีชีวิตของเด็กนักเรียนกลางๆ ที่โรงเรียนโนนหินแห่ ที่แม้จะมีภาพที่ถูกขัดเกลาให้เป็นภาพยนตร์ เรื่องราวที่เล่านั้นกลับเรียลและเป็นจริงต่อคนที่อาศัยอยู่ที่นั่นจริงๆ
ภายใต้แสงสีและเวทีหมอลำ หน่าฮ่านพูดถึงความเจ็บปวดของวัยรุ่นอีสานจากระบบที่ห้ามประเทศพัฒนา เช่นการต้องระหกระเหินหางานทำเพื่อเอาชีวิตรอดวันต่อวันก่อนการตามหาฝันของตัวเองในตัวละครสิงโต ความต้องการที่จะออกจากจังหวัดตัวเองเพื่อเสาะหาความเจริญในตัวละคร แข่ว หรือจะเป็นการถามหาที่ยืนของตัวเองในระบบการศึกษาและความเท่าเทียมกันโดยไม่มีระบบเส้นสายของตัวละครเล็กๆ อย่างอ๋อย
และสุดท้ายคือการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่น้อยเรื่องจะพูดถึง นั่นคือเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ที่เป็นเหตุให้พ่อของยุพินเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น “เราต้องผลักสิ่งนั้นออกไป เปิดประตูบานนั้นให้คนได้เห็นว่าอย่าลืมนะ อย่าลืมเรื่องราวของคนเหล่านี้ มันอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เขาอยู่ตรงนี้และมีชีวิตอยู่ตรงนี้จริงๆ” ตั๊ก ฉันทนา ผู้กำกับหน่าฮ่าน เดอะซีรีส์กล่าวกับ The MATTER ในบทสัมภาษณ์ของเธอ
NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม : ถ่ายทอดการเคลื่อนไหวปัจจุบัน การอุ้มหาย ตำรวจและการบังคับใช้กฎหมาย
นอกจากจะเป็นซีรีส์วายเกี่ยวกับแก๊งนักกิจกรรม ศาลเตี้ยและอาชญากรรมแล้วยังเรียกได้ว่าเป็นซีรีส์รวมฮิตปัญหาสังคม การเมือง และการเคลื่อนไหวทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามการบังคับใช้กฎหมายไทยที่ไม่เคยใช้กับชนชั้นนำได้ แต่ไม่เคยพลาดกับชนชั้นรากหญ้า การใช้เส้นสายภายในระบบราชการ กฎหมายการผูกขาด ปัญหาของทุนนิยม สิทธิผู้พิการ การอุ้มหายนักกิจกรรม และอีกมากมาย
NOT ME เล่าเรื่องเกี่ยวกับ ไวท์ ลูกนักการทูตที่ปลอมตัวเป็น แบล็ค แฝดคนพี่ที่ถูกทำร้ายจนเข้าห้องไอซียู เข้าไปอยู่ในแก๊งนักกิจกรรมเพื่อสืบหาคนที่ทำร้ายพี่ชายของเขา ระหว่างทางเขาได้เจอเข้ากับผู้คนจากต่างชนชั้นและเห็นถึงการโดนกดขี่ของคนอื่นที่เขาในฐานะคนที่เกิดมาในบ้านค่าราชการระดับสูงไม่เคยสัมผัส
แม้ว่าจะเล่าแบบ romanticize เรื่องนี้ใช้งานสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองปัจจุบันในไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้นักกิจกรรมจริงๆ มาใช้เป็นนักแสดงในเรื่อง หรือมีงานศิลปะจากนักกิจกรรมจริงๆ มาใช้เล่าเรื่อง สุดท้ายในตอนที่ 14 ยังมีการนำภาพจากวิดีโอนักกิจกรรมโดนจับอยู่บนรถตำรวจใช้เป็นแรงบันดาลใจมาถ่ายทำใหม่
The Gifted นักเรียนพลังกิฟต์ : มองช่องว่างระหว่างชนชั้นและผู้นำเผด็จการผ่านภาพแทนโรงเรียน
ในขณะที่เรื่องนี้เซ็ตติ้งจะอยู่ในโรงเรียน The Gifted ถือโอกาสใช้การแบ่งห้องเรียนในระบบการศึกษาและพลังเหนือมนุษย์ของนักเรียนเป็นการเปรียบเทียบกับความเหลื่อมล้ำ การแบ่งชนชั้น การปกครองโดยเผด็จการ และการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดการเคลื่อนไหวที่ลึกและละเอียดเมื่อเทียบว่ามันออกฉายในปี 2018
The Gifted เล่าถึงเรื่องราวของนักเรียนห้องเรียนพิเศษ แต่ต่างจากในโลกจริงที่ความพิเศษมักวัดจากผลการเรียนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ ความพิเศษของพวกเขาคือพลังเหนือธรรมชาติที่ในเรื่องเรียกว่าศักยภาพที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มี
ตัวละครที่การเมืองที่สุดของเรื่องคือผู้อำนวยการ แสดงโดยพันเอกวันชนะ สวัสดี หรือผู้พันเบิร์ด ซึ่งเป็นตัวแทนและภาพแสดงประเด็นการเมืองในเรื่องทั้งหมดในตัวเดียว ในฉากที่ตัวละครเอก แปง เข้าไปคุยกับผอ.ด้วยคำถามว่าเหตุการณ์ภายในโรงเรียนที่นิชา นักเรียนห้องกิฟต์ฆาตกรรมนักเรียนห้องธรรมดาแล้วโดนปิดข่าวว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยเขามีความเห็นว่าเรื่องทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นหากโรงเรียนปฏิบัติต่อนักเรียนเท่าเทียมกันที่ทำให้ทั้งสองฝั่งเกลียดชังกันและกัน
ผอ. ตอบว่า ‘คุณก็รู้นี่ว่าบัวมันมีสี่เหล่า ต่อให้เราดีกับเขาแค่ไหน คนที่โดดเด่นขึ้นมาก็ถูกคนข้างล่างอิจฉาอยู่ดี สิ่งที่เราต้องทำคือกันคนเหล่านั้นออกมาแล้วดูแลเด็กเก่งให้ดีที่สุด…นิชาเป็นเด็กที่มีคุณค่ายังไงล่ะ ความแฟร์มีประโยชน์อะไร? อนาคตของนิชาสิมีประโยชน์มากกว่า ผมไม่ยอมให้เด็กที่มีศักยภาพต้องหมดอนาคตไปเพราะคนธรรมดาเด็ดขาด’ สะท้อนถึงมุมมอง ‘เสียงที่มีคุณภาพ’ และการทิ้งคนอื่นๆ ไว้ข้างหลัง
จุดนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อแปงถามว่าผอ. จะทิ้งนักเรียนธรรมดาทั้งโรงเรียนเพื่อเด็กกิฟต์ไม่กี่สิบคนจริงๆ หรือ ผอ. ตอบว่าอย่ามองว่ามันเป็นความไม่เท่าเทียมแต่เขาให้โอกาสคนที่คู่ควร เพื่อให้สักวันเด็กกิฟต์สามารถชี้นำคนที่ต่ำกว่าเพื่ออนาคตได้
สื่อบันเทิงไทยสามารถพูดอะไรมากกว่าที่เราคิด และซีรีส์เหล่านี้ถือเป็นเพดานใหม่ที่รอให้มีใครสักคนมาดันมันต่อ
อ้างอิงข้อมูลจาก